

ดร. ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดเผยว่า
“ยินดีมากที่ได้เห็นการผนึกกำลังกันในการพัฒนาของกองทุนสื่อฯ และการเกิดขึ้นของกองทุนสื่อฯ ตั้งแต่ปี 2558 เราได้เห็นเจตนาในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งกองทุนนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อประชาชน ในการมีส่วนร่วมของประชาชนจึงเป็นก้าวแรกของการพัฒนากองทุนสื่อ การจัดงานนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ เราอยากให้เห็นภาพการทำสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้มากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนให้เห็นสื่อสีขาว ซึ่งการเปิดเวทีนี้เราจะเปิดการรับข้อคิดเห็นซึ่งจะพัฒนาประเทศได้ต่อไป “


ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เผยว่า
“หนึ่งในการศึกษาสื่อสารมวลชนที่สำคัญที่สุด คือการศึกษาด้านวัฒนธรรม เพราะสื่อมักผลิตซ้ำทางด้านความคิด ถ้าเราดูสื่อด้านไหนบ่อย ๆ พฤติกรรมเราจะเปลี่ยนไปตามสื่อที่เราซึมซับไว้ ซึ่งสิ่งที่ลึกที่สุดของสื่อคือเรื่องวัฒนธรรมของสื่อ เมื่อวัฒนธรรมเปลี่ยน สังคมก็เปลี่ยนไปด้วย ซึ่งก่อนหน้าที่จะเข้ามารับตำแหน่งก็ได้ศึกษาข้อกฎหมายต่าง ๆ ยอมรับว่ากฎหมายเขียนออกมาได้เข้าใจบริบททางสังคมเป็นอย่างมากเลยทีเดียว เขียนอย่างเข้าใจในสภาวการณ์ของสื่อ และเขียนได้เข้าใจธรรมชาติของสื่อในการสร้างผลกระทบของประชาชน “



ลัดดา ตั้งสุภาชัย ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์
” เราถูกปลูกฝังให้ต้องเฝ้าระวังวัฒนธรรมซึ่งเป็นมรดกของชาติ ซึ่งแต่ละภาคมีจุดเด่นที่ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นการเฝ้าระวังเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาสื่อ ซึ่งสื่อเป็นสิ่งสำคัญในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก การมีสื่อที่ดีจะส่งผลกระทบในแง่บวก ประกอบไปด้วย สร้างศีลธรรมอันดี สร้างความสามัคคี สร้างความอบอุ่นในครอบครัว ไม่ขัดต่อกฎหมาย เช่นเดียวกับสื่อที่มีปัญหาในเรื่องเพศ และครอบครัว คือขยะของสังคม เราต้องการทิ้งและพัฒนาสื่อที่ดีต่อสังคม เราต้องการเห็นเด็กที่ดีในสังคม เราจึงต้องขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อที่ดี เพื่อทำให้เด็กและเยาวชนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อสังคมได้ดีขึ้นด้วย ”
ธวัชชัย ไทยเขียว กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเด็กและเยาวชน
” เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ย่อส่วน ถ้าเรามองแบบนั้นแสดงว่าเรากำลังเอาประสบการณ์มายัดใส่เด็ก ซึ่งไม่ใช่ผลดีต่อเด็ก คนที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนก็ต้องเข้าใจอย่างน้อยคือพัฒนาการของเด็ก ซึ่งปัจจุบันทุกคนเป็นคนสร้างสื่อกันหมด เด็กในวันนี้ความรู้มีมากกว่าแต่วุฒิภาวะเขายังไม่ได้พัฒนา เราจึงต้องใช้วิธีการสอนการคิด วิเคราะห์ให้กับเด็กและเยาวชนมากขึ้น โดยเฉพาะการแชร์ข้อมูลที่ต้องอาศัยประสบการณ์ การแชร์เร็วไม่ได้หมายความว่าจะถูกต้องและชนะ ”
ภายในงานมีกิจกรรมเสวนาวิชาการ การสร้างสื่ออย่างสร้างสรรค์ด้านพลังการมีส่วนร่วม ในหัวข้อ TMF Power Fusion กองทุนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์สังคม หลังจากนั้นการอบรมเชิงปฏิบัติการ และประชุมระดมสมองแบ่งห้องย่อย ดังนี้ ห้องที่หนึ่ง : เฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ และ การรู้เท่าทันสื่อ ห้องที่สอง : การส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ การเรียนรู้ (Media Lab) ห้องที่สาม : อบรมเชิงปฏิบัติการ จัดทำฐานข้อมูลเครือข่ายการทำงานด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์และด้านการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล สำหรับทุกกลุ่มประชากร
สำหรับเวที TMF Power Fusion กองทุนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์สังคม จะสัญจรต่อเนื่องไปอีก 3 ครั้ง
ครั้งที่ 3 วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ณ โรงแรมสุนีย์แกรนด์ จ.อุบลราชธานี
ครั้งที่ 4 วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ณ โรงแรมบางแสนเฮอริเทจ จ.ชลบุรี
ครั้งที่ 5 วันพุธที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ








ความเห็นล่าสุด