เลือกหน้า

“ตราบใดที่ผมยังมีชีวิตอยู่ ผมจะอนุรักษ์บาตรไทยและมรดกไทยเอาไว้ให้พ่อแม่พี่น้องคนไทยทั่วประเทศ ได้ดูได้เห็น เราถวายชีวิตไว้แล้วว่า บาตรเป็นมรดกของคนไทยทั่วประเทศ แล้วอาชีพตรงนี้ ผมจะสู้จนกว่าจะหมดลมหายใจ” ครูหิรัญ เสือศรีเสริม ช่างตีบาตรชุมชนบ้านบาตร เขตป้อมปราบศรัตรูพ่าย กรุงเทพฯ
.
“การทำหนังตะลุง แม้จะเหนื่อยแค่ไหน แต่ผมมีความสุขที่ได้บอกเล่ามรดกของบรรบุรุษ” ครูเล็ก กิตติทัต ศรวงศ์ ช่างทำหนังตะลุง จังหวัดพัทลุง
“ต่อยอดแล้วก็อนุรักษ์ เพื่อรักษาไว้ ไม่ให้กลองมังคละ มันสาบสุญ” ครูประโยชน์ ลูกพลับ ช่างทำกลองมังคละ จังหวัดพิษณุโลก
“เราจะเห็นคุณค่าเมื่อหัวผีตาโขนหายไป เราจะรอถึงเวลานั้นจริงๆใช่ไหม” ครูนิพนธ์ ทับสุริ ช่างทำผีตาโขน จังหวัดเลย
“การทำหัวโขนแม้จะเหนื่อยแค่ไหน แต่ผมมีความสุขที่ได้บอกเล่ามรดกของบรรพบุรุษ ที่สร้างสรรค์และจินตนาการมา” ครูประทีป รอดภัย ช่างทำหัวโขน
“งานแกะสลักก็เหมือนการเขียนพงศวดาร แค่เปลี่ยนกระดาษเป็นไม้เท่านั้นเอง” ครูพรชัย เกิดเปี่ยม ช่างแกะสลักไม้
“เครื่องดนตรีไทย แค่ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ทำไมผมต้องอนุรักษ์” ครูสมชัย ชำพาลี ช่างทำเครื่องดนตรีไทย

7 คมความคิดของสุดยอดครูช่างไทย 7 คน ที่สร้างสรรค์งานศิลป์ไทย 7 แขนง ในสารคดีชุดช่างไทย สืบสานงานศิลป์แผ่นดินไทยทั้ง 7 ตอน สะท้อนมุมมองความคิดและการอุทิศชีวิตเพื่อการอนุรักษ์งานศิลป์ไทยในแต่ละสาขาที่สืบทอดกันมาหลายร้อยปี แต่กำลังถูกท้าทายจากกาลเวลา ด้วยคำว่าสูญหาย
.
สารคดีน้ำดีจากฝีมือ อภิชัย หาญกล้า หัวหน้าโครงการ และควบคุมการผลิตสารคดี รวมทั้งการเขียนบทด้วย ทำให้เขาเข้าใจมุมมองของช่างไทย ที่ต้องต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลง เพื่อการอนุรักษ์สิ่งที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ซึ่งช่างไทยหลายคนต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว
.
หลังได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทเชิง
ยุทธศาสตร์ ประจำปี 2563 อภิชัยและทีมงานก็ค้นคว้าหาข้อมูลอย่างเข้มข้น ถ่ายทำอย่างละเมียด ใช้เวลานานถึง 1 ปี 6 เดือน ก่อนเผยแพร่ในยูทูบและเฟซบุ๊กช่างไทยสืบสานงานศิลป์แผ่นดินไทย
.
“ความสุขของผม คือผมมองสารคดีชุดนี้เป็นศิลปะ ทั้งการถ่ายทำและการเล่าเรื่อง ทุกอย่างเป็นศิลปะ ผมไม่ได้ทำงานกันแบบบู๊ล้างผลาญ แต่จะรอจังหวะเพื่อให้ได้ภาพที่ดีในแต่ละshot ออกมา มันคือศิลปะของมัน นี่คือความสุขของผมแล้ว”

อภิชัยพูดถึงความรู้สึกที่มีโอกาสได้ทำสารคดีชุดนี้ขึ้นมาเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของช่างไทย และหลังสารคดีชุดนี้เผยแพร่ออกไป เริ่มแสดงพลังกระตุ้นการอนุรักษ์ หนังตะลุงที่พัทลุง ก็มีเยาวชนมาเรียนรู้การแกะหนังตะลุงมากขึ้น จนฟื้นศูนย์เรียนรู้ขึ้นมาได้ การทำหัวผีตาโขน แบบโบราณ เริ่มมีคนสนใจมากขึ้น หลายคนขอให้ครูช่างในสารคดีเรื่องนี้ช่วยทำหัวผีตาโขนโบราณให้
“ฟีดแบค ส่วนตัวผมว่าดี เพราะว่ามีทั้งเด็กที่ได้ดู ยกตัวอย่างหนังตะลุง หลังนำเสนอไป ก็มีเด็กอยากกลับมาเรียนกันเยอะขึ้น จนกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ไปแล้ว ถ้ามองเป็น 2 มุม ผลลัพธ์จริงๆเราต้องการให้เยาวชนดูแล้วได้อะไรบ้างจากตัวโปรเจกต์นี้ ให้คิดถึงมัน รำลึก แต่ผลพลอยได้ที่ดีที่สุด คือ เขาได้มาลงมือทำด้วย ซึ่งมีเหมือนกันที่พัทลุง ส่วนที่ 2 คือช่างเหล่านี้ ถ้าไม่มีเงินเขาก็อยู่ไม่ได้ เขาก็ได้มีอาชีพไปด้วย เมื่อคนดูสารคดีแล้วเห็นว่าช่างคนนี้เก่ง ก็มีคนติดต่อเข้ามาจ้างงานเพิ่มขึ้น นี่เป็นสิ่งที่เราเห้นได้ชัดสุด”
.
อภิชัยเล่าถึงกระแสความเปลี่ยนแปลงที่แปรเปลี่ยนเป็นกำลังใจให้กับช่างไทยในการอนุรักษ์งานศิลป์ในแต่ละแขนงหลังเผยแพร่สารคดีชุดนี้
.
“อยากให้ดู จะชอบหรือไม่ชอบในศิลปะนั้น แต่ถ้าได้ดูแล้วคุณจะรู้ทันทีว่า สิ่งที่คนไทยสร้างมา หรือัตลักษณ์ต่าง ๆ มันถูกหล่อหลอมมาพอสมควรแล้ว ถ้าอีกสัก 2 ปี 5 ปี มันสูญหายไป ทั้ง ๆ ที่มันอยู่กับมือเราแท้ ๆ ทำไมเราไม่รักษาเอาไว้ อยากให้ทุกคนได้ดู คือไม่จำเป็นต้องทำ หรือไปซื้อของชิ้นนั้น แค่คุณดูว่ามันเป็นไทยแค่ไหน เพราะมันคือความภูมิใจของคนไทย”
.
อภิชัย ทิ้งท้ายถึงสารคดีชุดช่างไทย สืบสานงานศิลป์แผ่นดินไทย ทั้ง 7 ตอน สารคดีที่อยากให้คนไทยทุกคนได้ดู เพื่อร่วมภาคภูมิใจในงานศิลป์ของไทยที่สืบทอดกันมา แม้วันหนึ่งจะไม่สามารถต้านทานความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่จนสูญหายไป แต่อย่างน้อยวันนี้เรายังได้ร่วมภูมิใจและช่วยส่งต่อกำลังใจให้กับช่างไทย ให้มีแรงอนุรักษ์งานศิลป์ไทยไว้ให้ได้นานที่สุด
.
#กองทุนสื่อ #ช่างไทยสืบสานงานศิลป์แผ่นดินไทย
#เล่าสื่อกันฟัง #บทความเล่าสื่อกันฟัง
#ผลงานผู้รับทุนกองทุนสื่อ
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
#กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
.
ติดตาม “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ได้ที่
Website : www.thaimediafund.or.th
Facebook : กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
Youtube : www.youtube.com/c/ThaiMediaFund
Line Official : @thaimediafund