เลือกหน้า

“ท้าสู้เท็จ” เกมออนไลน์เพื่อสร้างเสริมวิจารณญาณในการรับข่าวสารจากสื่อและโซเชียลมีเดียสำหรับเยาวชนทั่วไป และเยาวชนผู้พิการทางการได้ยินและสี

          ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันนี้ความนิยมใช้โซเชียลมีเดียแพร่หลายมากขึ้นในคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งสามารถเปิดรับสื่อหรือข้อมูลต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นเพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียว แต่ผลที่ตามมาคือข่าวสารที่ได้รับมานั้นอาจไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ เรื่องนี้มีข้อมูลจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2565 ระบุว่า ร้อยละ 70 ของข่าวสารที่แพร่กระจายบนโซเชียลมีเดีย คือ “ข่าวปลอม”    

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงเปิดรับข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ โดยมีประเด็นเรื่องการรับมือกับปัญหาข่าวปลอม คุณชูพล ศรีเวียง ครีเอทีฟ /นักโฆษณา/นักร้อง/นักแต่งเพลง จึงได้ชักชวนคุณเสริมยศ เฉลิมศรี ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการทำเกม มาร่วมกันทำโครงการ
ท้าสู้เท็จเกมออนไลน์เพื่อสร้างเสริมวิจารณญาณในการรับข่าวสารจากสื่อและโซเชียลมีเดียสำหรับเยาวชนทั่วไป และเยาวชนผู้พิการทางการได้ยินและสี

โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือต้องการให้เด็กและเยาวชนมีภูมิคุ้มกันในการเสพข่าวปลอม นอกจากนี้ยังขยายโอกาสอย่างเท่าเทียมในกลุ่มเยาวชนผู้พิการทางการได้ยินและสี ในการพัฒนาทักษะทางความคิดให้รู้เท่าทันและเข้าใจสื่ออย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์

“เราใช้เกมเป็นตัวกลางที่เข้าถึงเด็กได้ง่ายเพราะเด็กเล่นเกมกัน ถ้าทำให้เกมเป็นลักษณะของการศึกษา เล่นเกมแล้วได้ภูมิคุ้มกันในการป้องกันข่าวปลอมด้วยก็เป็นเรื่องที่ดี ให้เด็กได้ทำแบบทดสอบจำลองของการเสพข่าว ได้รู้รูปแบบว่าทำแบบนี้เวลาเจอข่าวปลอมต้องมีวิธีรับมือแบบนี้นะ ได้ฝึกทักษะ พูดง่าย ๆ คือเป็นการสร้างทักษะในการรับมือข่าวปลอมผ่านเกม”

 จากจุดประสงค์ของโครงการที่ต้องการให้เด็กและเยาวชนผู้พิการทางการได้ยินและการมองเห็นสี ได้มีภูมิคุ้มกันในการรับมือข่าวปลอมด้วย แต่เนื่องจากติดขัดปัญหาบางประการทำให้ไม่สามารถพัฒนาเกมให้ตรงกับกลุ่มเยาวชนผู้พิการทางการมองเห็นสีได้ จึงจำเป็นต้องหาทางออกด้วยการให้คุณเกียรติศักดิ์ อุดมนาค หรือเสนาหอย นักแสดงและพิธีกรมากฝีมือ มาร่วมในเกมออนไลน์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้เกิดความน่าสนใจ โดยนำคาแรกเตอร์ของเสนาหอยมาเป็นหัวหน้าเหล่าร้าย อยู่ในด่านสุดท้ายของเกมที่ผู้เล่นจะต้องเจอ

 “เรามีการวัดผล เพราะที่คุณเสริมยศวางแผนในตัวเกมเล่นจากด่าน 1 ไปด่านสุดท้าย เรื่องการเรียนรู้ของเด็กก็เหมือนการสอบย่อย สอบไฟนอล รูปแบบการเรียนรู้เป็นแบบนี้อยู่แล้ว เท่ากับว่าการที่เด็กเล่นไปถึงด่านสุดท้ายคือเด็กได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ ถ้าวัดเป็นตัวเลขทางสถิติเกิน 70% ถ้าไปถึงด่านสุดท้ายคือเด็กได้พัฒนาการเรียนรู้ เพราะด่านสุดท้ายออกแบบให้เป็นการตอบแบบสอบถามเป็นข้อสอบไฟนอล ค่อนข้างยากนิดหนึ่ง”

คุณชูพลยังได้พูดถึงความตั้งใจของทีมงานว่าอยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กและเยาวชนได้มีภูมิคุ้มกันในการเสพสื่อ และถ้าเด็ก ๆ สามารถเรียนรู้และมีทักษะในการป้องกันข่าวปลอมได้ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี

“เราได้ไปเห็นเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินมีปฏิกิริยาที่ดี มีความพยายามในการเล่นก็รู้สึกดีใจ ซึ่งอาจารย์ยังบอกเลยว่าดีใจที่มีคนพัฒนาเกมแล้วคิดถึงพวกเขา ดีใจที่มีคนพัฒนาสื่อแล้วนึกถึงคนเหล่านี้ และเด็ก ๆ ก็มีความสุขมากที่ได้เล่นและตั้งใจมากที่ได้เล่น กลายเป็นว่าเด็กที่มีฟีดแบ็กกับเราคือเด็กหูหนวก เด็ก ๆ ถามว่าจะมีเวอร์ชัน 2 ไหม จะอัปเดตอีกไหม อยากกำจัดตัวร้ายให้สิ้นซาก ทำให้เรารู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เขาได้เรียนรู้อย่างมีความสุข”  

ขณะที่คุณเสริมยศ ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเกมในโครงการนี้ บอกว่า หลังจากได้เริ่มโครงการแล้วพบว่ามีปัญหาและอุปสรรคที่ทีมงานจะต้องแก้ไข โดยในฝั่งของการพัฒนาเกมจะมีปัญหาเรื่องเครื่องมือพัฒนาเกม (Unity Engine) ที่มักจะอัปเดตและเปลี่ยนเวอร์ชันทุก 3 เดือน 6 เดือน ทำให้ต้องวนกลับไปแก้ไขในส่วนที่ดำเนินการไปก่อนแล้ว
จึงอาจเกิดความล่าช้าบ้าง

แม้ตลอดระยะเวลา 1 ปีของการดำเนินโครงการจะพบปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้าง แต่คุณเสริมยศ บอกว่า หลังดำเนินโครงการเสร็จสิ้นรู้สึกมีความสุขมาก โดยเฉพาะตอนที่นำเกมออกไปให้เด็กและเยาวชนจากโรงเรียนคน
หูหนวกได้ทดลองเล่น ได้เห็นรอยยิ้ม และรับรู้ว่าเด็กเหล่านั้นมีความสุขที่ได้เล่นเกม ถือเป็นความประทับใจของทีมงานมาก

ตะลุยหวือหวาธานีในเกมสู้เท็จกันได้แล้ววันนี้ที่ http://www.tasutet.com

ดาวน์โหลดสำหรับมือถือและแท็บเล็ตแอนดรอยด์ Google Play Store: https://bit.ly/3tM8P4r

ดาวน์โหลดสำหรับไอโฟนและไอแพ็ด: https://apple.co/3MBtXmy

ดาวน์โหลดสำหรับคอมพิวเตอร์ : https://bit.ly/361MVSx