เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ทรงเจริญพระชันษาครบ 8 รอบ 96 ปี คณะศิษยานุศิษย์และภาคีเครือข่ายจึงมีดำริที่จะจัดสร้างหอพระประวัติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขึ้นที่ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพระองค์ท่าน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางพระพุทธศาสนา การปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา รวมทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนา และที่พักผ่อนของประชาชน โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2556
ภายในมีนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์ท่านทั้งหมด โดยเฉพาะหลักคำสอนที่ใช้ภาษาเรียบง่ายและงดงาม ชวนให้น้อมนำเข้ามาสู่ จิตใจของผู้คน ตลอดจนแบบอย่างความเป็นระเบียบและการมีวินัย ความมีจิตสาธารณะที่ควรยกย่องและถ่ายทอดให้แก่สาธารณชน
พระกิตติสุวัฒนาภรณ์ ประธานมูลนิธิหอพระประวัติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
สกลมหาสังฆปริณายก เปิดเผยว่า เมื่อเวลาผ่านไปถึงกำหนดที่จะต้องปรับปรุงชุดนิทรรศการให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย และยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป จึงได้ยื่นเสนอต่อกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อขอรับทุนในการจัดทำและปรับปรุงสื่อชุดนิทรรศการการเรียนรู้ในชื่อโครงการ “ธรรมอย่างสังฆราชา สื่อนิทรรศการเพื่อสร้างวินัยและจิตสำนึกสาธารณะ” ประเภทเปิดรับทั่วไป (Open Grant) ประจำปี 2563 นำเสนอพระประวัติ
และหลักธรรมคำสอนของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ผ่านรูปแบบนิทรรศการการเรียนรู้ที่ทันสมัย โดยใช้สื่อมัลติมีเดียผสมผสานกับกลไก ลูกเล่นต่าง ๆ ให้มีความน่าสนใจ กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ ก่อให้เกิดความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา
สำหรับอุปสรรคในระหว่างดำเนินโครงการนั้น พระกิตติสุวัฒนาภรณ์ กล่าวว่า คงจะคล้ายกับอีกหลายโครงการ เพราะเป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งทีมงานและภาคีเครือข่ายต้องปรับแผนการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น การประชุมนำเสนอ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันทางออนไลน์ ส่วนการเดินทางเข้าไปยังพื้นที่เพื่อทำงานก็มีข้อจำกัดในช่วงการผลิตและติดตั้งงานสื่อ รวมถึงการปรับรูปแบบการเผยแพร่สื่อนิทรรศการหลังจากจัดทำเรียบร้อยแล้ว แต่ทั้งหมดนี้ก็ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับการระดมความคิดเห็นเพื่อออกแบบหาวิธีการสื่อสารเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และเรื่องราวคำสอนของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ให้เหมาะกับสถานการณ์และกลุ่มคนยุคใหม่ที่เราต้องการสื่อสารให้พวกเขามาสนใจพระพุทธศาสนามากขึ้น ซึ่งความตั้งใจอันเปี่ยมล้นของภาคีเครือข่ายในการสร้างสรรค์ พร้อมส่งต่อสื่อสร้างสรรค์และมีคุณภาพให้แก่สังคมเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในครั้งนี้
ส่วนการร่วมงานกับกองทุนฯ นั้น รู้สึกประทับใจและชื่นชมการทำงานครั้งนี้ เนื่องจากการดำเนินโครงการที่ผ่านมาเหมือนเป็นการทำงานร่วมกันแบบ “เพื่อนคู่คิด” โดยที่คณะทำงานและภาคีเครือข่ายไม่ได้รู้สึกว่ากองทุนฯ เป็นผู้ให้ทุน และทีมงานจะต้องทำงานให้ได้ตามที่แหล่งทุนต้องการ แต่เป็นการเอื้ออำนวย ยืดหยุ่น และสนับสนุนให้ได้คิดสร้างสรรค์งานร่วมกัน เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายในการผลิตสื่อสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพและเผยแพร่แก่สาธารณะ
นอกจากนี้ทางกองทุนฯ ยังช่วยประชาสัมพันธ์และสนับสนุนให้เกิดงาน โดยการเข้าร่วมกิจกรรมในงานพิธีเปิดที่จัดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นเหมือนการตีฆ้องร้องป่าวให้ประชาชนได้ทราบถึงการเปิดเข้าชมนิทรรศการอย่างเป็นทางการ ทำให้เมื่อผ่านช่วงสถานการณ์โควิด 19 มีผู้คนสนใจและเข้ามาชมนิทรรศการชุดนี้จำนวนมาก ทีมงานและภาคีเครือข่ายทุกคนจึงรู้สึกมีความสุข อิ่มอกอิ่มใจที่ได้ร่วมกันสานต่อโครงการ รวมทั้งส่งต่อและเผยแพร่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และหลักธรรมคำสอนของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ในรูปแบบสื่อนิทรรศการที่มีความทันสมัยแบบสากลและน่าสนใจ อีกทั้งยังสุขใจที่ได้ทำหน้าที่ให้สอดคล้องกับแหล่งเรียนรู้ ซึ่งทางมูลนิธิฯ ตั้งใจที่จะสร้างแหล่งเรียนรู้แห่งนี้ให้เป็นอุทยานการเรียนรู้พระพุทธศาสนาในระดับนานานาชาติ สามารถเดินตามเจตนารมณ์ที่พระองค์ท่านได้เคยดำเนินไว้ในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา
สำหรับนิทรรศการ “ธรรมอย่างสังฆราชา” ตั้งอยู่ที่อุทยานการเรียนรู้พระพุทธศาสนานานาชาติ หอพระประวัติสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เปิดให้เข้าชมทุกวันอังคาร – วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.30 – 16.30 น.
ความเห็นล่าสุด