“ได้มีโอกาสเจอเด็กที่เข้า ป.1 แล้ว แต่ยังอ่านหนังสือไม่ได้ มีเยอะมาก ก็เก็บความสงสัยอยู่ตั้งนาน เราจะพยายามแก้ไขอย่างไรให้คนอ่านหนังสือได้ และเกิดคำถามว่าเด็กอ่านหนังสือไม่ได้ตามเกณฑ์มาจากปัญหาอะไร”
.
ประโยคข้างต้นนอกจากจะเป็นคำถามที่ผุดขึ้นในใจคุณทัทยา อนุสสรราชกิจ หัวหน้าโครงการ “นิทานดีดีเพื่อน้องแอลดี” แล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการนี้อีกด้วย เนื่องจากเธอทำงานด้านส่งเสริมการอ่านอยู่แล้ว และมีโอกาสได้พูดคุยกับคนสนิทที่ตั้งคำถามว่า “เราจะใช้หนังสือนิทานเล่มไหนกับเด็กแอลดี หรือเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ได้บ้าง” นี่จึงถือเป็นโจทย์สำคัญนำมาสู่การค้นคว้าว่ามีสื่อประเภทใดบ้างที่เหมาะกับเด็กแอลดี ซึ่งก็พบว่ามีอยู่หลายสื่อ แต่ไม่มี “นิทาน” อยู่เลย
“นิทานมีจุดแข็งอยู่ที่เด็กจะสนุก จะเพลิดเพลินกับการอ่าน เขาไม่ได้ถูกบังคับให้อ่าน ดังนั้นพอเราคิดอันนี้ขึ้นมาเราก็เริ่มตั้งโจทย์ว่าเป็นไปได้ไหมที่เราจะทำหนังสือนิทานที่เหมาะกับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้โดยเฉพาะ และเราก็ไปพบโครงการของกองทุนฯ ซึ่งเขามีกลุ่มผู้พิการอยู่ พอเราไปศึกษาข้อมูลพบว่าในหนึ่งปีมีเด็กแอลดีเกิดขึ้นเกือบ 400,000 คนในระบบการศึกษา ถือเป็นปัญหาใหญ่ พอเราเริ่มศึกษาก็พบว่าต้นทางของความเป็นแอลดี อาจจะทำให้เด็กมีปลายทางที่ไม่ค่อยสดใสนัก เป็นเพราะเขาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เขาจะถูกผลักตั้งแต่ต้นทาง ดังนั้นเราจึงรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องที่เราต้องมีส่วนร่วม ต้องหาทางทำสื่อนิทานเฉพาะให้กับพวกเขา จึงเป็นที่มาที่เราอยากทำโครงการนิทานดีดีเพื่อน้องแอลดี”
.
หลังจากนั้นคุณทัทยาจึงเสนอโครงการนี้ต่อกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อขอรับทุนสนับสนุนประจำปี 2564 ประเภทเปิดรับทั่วไป (Open Grant) และเป็นที่น่ายินดีที่คณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการฯ มีวิสัยทัศน์และให้โอกาสสื่อเล็ก ๆ เพราะในโลกของสื่อส่วนใหญ่คนจะมองอะไรที่เคลื่อนไหว เป็นสื่อสมัยใหม่ แต่หนังสือนิทานมักไม่ค่อยถูกพูดถึงในโลกของสื่อ ซึ่งทีมงานก็สามารถทำให้เห็นว่าสื่อนิทานจะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้อย่างไร จึงได้รับโอกาสให้ค้นหานวัตกรรมใหม่เพื่อจะทำหนังสือนิทานขึ้นมาทดลองว่าจะใช้หนังสือเล่มนี้แก้ปัญหาแอลดีได้หรือไม่
.
สำหรับการร่วมงานกับกองทุนฯ นั้น คุณทัทยา บอกว่า นอกจากได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้ว คณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการฯ ยังเห็นคุณค่าของคนทำงาน และที่ถือว่าเป็นจุดแข็งอีกอย่างหนึ่งคือทางกองทุนฯ ใจกว้างพอที่จะรับฟังและเปิดโอกาสให้เสมอ นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่ามีจุดไหนที่ต้องเพิ่มเติมบ้าง เพื่อเป็นการอุดช่องว่างให้งานออกมาดีที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทีมงานทุกคนประทับใจ เพราะเมื่อไรก็ตามที่ผู้เกี่ยวข้องในระดับนโยบายเข้าใจสิ่งที่เรากำลังทำ หรือเปิดโอกาสให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนและหาทางออกร่วมกัน ถือว่าเป็นจุดแข็งที่ควรจะเกิดขึ้นในระบบการทำงาน
.
ส่วนความสุขที่ได้รับจากโครงการ “นิทานดีดีเพื่อน้องแอลดี” นั้น เริ่มตั้งแต่วันแรกที่ได้ทำงาน เพราะได้เชิญผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับปัญหาเด็กอ่านไม่ออกมาถอดองค์ความรู้ เมื่อได้นวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่จึงจัดการประกวดนิทาน ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละคนก็พร้อมนำวัตถุประสงค์ที่ตั้งขึ้นมาเป็นเป้าหมาย ทำให้งานประสบความสำเร็จ สามารถช่วยเหลือและแก้ปัญหาสังคมได้
.
ขณะเดียวกันทีมงานยังมีความภาคภูมิใจที่โครงการจากสื่อเล็ก ๆ ได้รับรางวัลนวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จากทางกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และยังได้นำหนังสือนิทานที่ผลิตขึ้นไปมอบให้กับคุณครูในโรงเรียนได้ลองใช้กับเด็กจริง ๆ ผลปรากฏว่าเด็กที่อ่านไม่ได้ เมื่อได้ทดลองเปิดนิทานแล้วสามารถอ่านและเขียนได้ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่พิสูจน์แล้วว่าสื่อที่เราทำนั้นใช้งานได้จริง และที่สำคัญมีหลายคนที่อยากให้ผลิตสื่อนิทานต่อจนจบ ทีมงานจึงรู้สึกดีใจว่าสิ่งที่ทุกคนไม่คิดว่าจะมีอยู่ กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนคาดหวังและรอคอยว่าจะเกิดประโยชน์กับสังคม
.
คุณทัทยายังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า หากจะให้คะแนนโครงการ “นิทานดีดีเพื่อน้องแอลดี” ขอประเมินไว้ที่ 9.5จากคะแนนเต็ม 10 เนื่องจากเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าพอใจ ทำแล้วสามารถแก้ปัญหาสังคมได้จริง แต่ก็ยังมีส่วนที่ต้องแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นในอนาคต
.
สำหรับโครงการ “นิทานดีดีเพื่อน้องแอลดี” เริ่มต้นจากการถอดองค์ความรู้โดยผู้เชี่ยวชาญ และผู้ที่มีประสบการณ์ ทั้งด้านส่งเสริมการอ่าน ด้านเด็ก และด้านเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ หรือแอลดี มาร่วมกันศึกษาและกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำสื่อนิทานเพื่อเด็กแอลดี จากนั้นจึงมีการเปิดรับสมัครผู้สนใจส่งนิทานเข้าประกวด จนได้นิทานที่ตรงกับวัตถุประสงค์มากที่สุด จึงนำมาผลิตเป็นรูปเล่มในชื่อ “ยากจัง ตอบไม่ได้” โดยคุณ
สวิดา ศุภสุทธิเวช นอกจากนี้ยังได้จัดเวทีฝึกอบรมหลักสูตร การใช้สื่อนิทานสำหรับเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้ โครงการ “นิทานดีดีเพื่อน้องแอลดี” เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ที่ค้นพบด้วย
ความเห็นล่าสุด