ใครจะคิดว่า วัดโสมนัสราชวรวิหาร ริมคลองผดุงกรุงเกษม ในกรุงเทพมหานครของไทย จะมีความคล้ายคลึงกับทัชมาฮาล จนเปรียบเสมือนอนุสรณ์ความรักแห่งสยามประเทศ ยิ่งเปิดประตูสู่พระวิหาร ด้านในเต็มไปด้วยความวิจิตรบรรจงของจิตรกรรมฝาผนัง ที่บอกเล่าเรื่องราวของปัญจราชาภิเษก หรือการอภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนใต้หน้าต่างและช่องว่างระหว่างหน้าต่างทั้งหมดในพระวิหาร กลับเป็นจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวของวรรณคดีเรื่องอิเหนาทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ
จิตกร บุษยา นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านการนำชมจิตรกรรมฝาผนังของไทยมาเกือบ 20ปี ผู้ผลิตและทำหน้าที่พิธีกรดำเนินรายการในสารคดีชุด “ปริศนาฝาผนัง” ตอน“อิเหนาและภาพเงาของความรัก” พาผู้ชมเข้าไปสัมผัสความหมายอันลึกซึ้ง พร้อมถอดรหัสที่แฝงเร้นอยู่ในจิตรกรรมฝาผนังเรื่องอิเหนาของที่นี่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯให้สร้างวัดแห่งนี้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนวดี พระมเหสี ที่ทรงสถาปนาเป็นพระมเหสีองค์แรก และทรงให้นำวรรณคดีเรื่องอิเหนามาเป็นส่วนหนึ่งของจิตรกรรมฝาผนัง เพื่อสื่อสารถึงความผูกพันที่มีต่อสมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนวดี ซึ่งพระองค์ท่านทรงฝึกหัดคณะละครส่วนพระองค์ และทรงเตรียมละครเรื่องอิเหนาไว้ถวายรัชกาลที่4 ในพระราชพิธีสมโภชน์ช้างเผือก แต่สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนวดีสิ้นพระชนม์ไปก่อน
“รัชกาลที่4 จึงทรงสานต่อความมุ่งหมายของสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนวดี ด้วยการเขียนภาพอิเหนา เหมือนเป็นการเล่นมหรสพที่ซ้อมไว้ แล้วยังไม่ได้เล่น ให้คนดู และดูมาเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว ดูมาจนถึงรุ่นเรา นี่คือความรักที่พระองค์ท่านทรงมีต่อสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนวดี เพราะการสร้างวัดนี้ สร้างเป็นอนุสรณ์ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระนางเจ้าโสมนัส ที่สิ้นพระชนม์ในวัยไม่มาก พระองค์ท่านทำทุกอย่างเป็นความผูกพันกันหมด ที่หน้าบันมีรูปมงกุฎก็คือพระองค์ท่าน และรูปโสมนัส ก็คือสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี”
“มันคือภาพเงาของความรัก คือถ้าไม่นั่งดูเงาที่เป็นหนังใหญ่เล่นบนจอ ความรักมันจะไม่หวนคืนกลับมา และสิ่งที่รัชกาลที่4ฉายไว้บนจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ มันคือภาพเงาแห่งความรักที่พระองค์ท่านทรงมีต่อสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสฯ”
จิตกร อธิบายความลึกซึ้งของจิตกรรมฝาผนัง ที่วัดโสมนัสราชวรวิหาร และยังมีจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามและมีความหมายลึกซึ้งอีกหลายสิบแห่ง ที่ จิตกร พาไปสัมผัสความสวยงามพร้อมถอดปริศนาที่แฝงไว้ได้อย่างน่าชม ในสารคดีชุดปริศนาฝาผนังทั้ง 20 ตอน ความยาวตอนละ 25 นาที ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปี 2565 เผยแพร่ทางช่องยูทูบ เฟซบุ๊กและติ๊กต็อก ซึ่งได้รับเสียงตอบรับหลากหลายและยังช่วยให้วัดและชุมชนบางแห่งต่อยอดสู่การท่องเที่ยวด้วย
“หนักสุดคือ คนอยากไปดูจิตรกรรมฝาผนังของจริงและอยากให้เราพานำชม มีรายการวิทยุส่งเสริมเพลงลูกทุ่งส่งเสริมความเป็นไทย ติดต่อถามเข้ามาว่า ผู้ฟังของเขาได้ดูรายการปริศนาฝาผนังแล้วชอบมาก รู้สึกว่าเรามีหัวใจเดียวกัน ก็เลยอยากให้พาคนไปดู บางชุมชนก็บอกว่า ในชุมชนของเขาก็มีวัดที่มีจิตรกรรมฝาผนัง อยากให้รายการมาช่วยถอดรหัสและถ่ายทำบ้าง ส่วนวัดบางแห่ง เช่นวัดโสมนัสฯ ก็เกิดตลาดชุมชนแบบทดลอง
หลังมีคนที่ดูรายการแล้วสนใจเข้ามาดูจิตรกรรมของจริงที่นี่กันมากขึ้น ทางวัดเลยต่อยอดทดลองให้คนในชุมชนทำอาหาร ทำขนม มาลองวางขายในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพราะว่าถ้าเขามาดูจิตรกรรมฝาผนังเสร็จแล้วกลับไปเฉย ๆ ชุมชนก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร ชุมชนควรมาเกื้อหนุนจากความเข้มแข็งของต้นทุนที่มี จึงคิดทำตลาดชุมชนขึ้น ส่วนอาจารย์คณะโบราณคดีก็ชื่นชมและนำบางตอนไปใช้สอนนักศึกษาด้วย”
จิตกร เล่าด้วยความภูมิใจในเสียงตอบรับจากสารคดี “ปริศนาฝาผนัง” ซึ่งแม้จะไม่ได้มียอดวิวที่ถล่มทลาย แต่กลับได้ในเชิงคุณภาพจากแวดวงวิชาการ พระสงฆ์ และประชาชนทั่วไปที่สนใจและเริ่มเห็นคุณค่าจิตรกรรมฝาผนังของไทย
“เราภาคภูมิในการเป็นประเทศพระพุทธศาสนาและความเป็นไทย และท่านก็ทำไว้แล้ว ซึ่งไม่สามารถตีเป็นมูลค่าได้เลย จิตรกรรมร้อยปี ร้อยกว่าปี หรือเกือบสองร้อยปี ทุก ๆ ที่ที่รวบรวมมา คุณดูสารคดีชุดนี้ คุณจะเห็นน้ำ
พระราชหฤทัยของผู้นำประเทศในสมัยก่อน ก็คือพระเจ้าแผ่นดิน จะเห็นคุณค่าของประเทศที่มีศิลปินฝีมือดีภูมิใจ
ได้ และเรื่องราวที่นำมาถ่ายทอดก็เป็นเรื่องราวที่มุ่งหมายให้คนค้นพบความสุขทั้งสิ้น พ้นทุกข์ พบสุข นั่นคือความตั้งใจ”
จิตกร ทิ้งท้ายถึงผู้ชมที่ใฝ่หาความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ใฝ่หาความสุข ใฝ่หาความเพลิดเพลิน ร่วมท่องเที่ยวสัมผัสความสวยงามและค้นหาปริศนาจากลายเส้นบนฝาผนังไปด้วยกันได้ ในสารคดีชุด “ปริศนาฝาผนัง”
#กองทุนสื่อ #ปริศนาฝาผนัง
#เล่าสื่อกันฟัง #บทความเล่าสื่อกันฟัง
#ผลงานผู้รับทุนกองทุนสื่อ
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
#กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ติดตาม “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ได้ที่
Website : www.thaimediafund.or.th
Facebook : กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
Youtube : www.youtube.com/c/ThaiMediaFund
Line Official : @thaimediafund
ความเห็นล่าสุด