ผู้เฒ่ากับดาวรุ่ง ความขัดแย้งระหว่างวัย…สู่สารคดีอุ่นหัวใจของ “สุริยนต์ จองลีพันธ์”
แม่ : “เก็บดอกของฉันไปหมด แล้วฉันจะเอาที่ไหนขาย”
อ้อ : “ไอ ด้อนท์ แคร์”
แม่ : “จะไปขายใคร ขายใครเขาจะเอา”
อ้อ : “แตงกวากิโลหนึ่ง 20 บาท ตัดดอกละ 1 บาท ขายดอกแตงกวา 20 ดอก ก็ได้แล้ว”
.
บทสนทนาโต้แย้งกันของแม่กับลูกสาว ในสวนผักแห่งหนึ่ง ที่ตำบลสวนหลวง อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเกิดขึ้นแทบทุกครั้ง เมื่อ “อ้อ” ผู้เป็นลูกจะเก็บดอกของผักนานาชนิดไปขาย แต่แม่อยากให้ติดดอกออกผลก่อนค่อยเก็บขาย กลายเป็นปมขัดแย้งของแม่ลูกคู่นี้ ซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนของคนสองวัยในสังคม ถูกถ่ายทอดเรื่องราวอยู่ในสารคดี “บัลลังก์ดอกผัก” ผ่านมุมมองของ “สุริยนต์ จองลีพันธ์” นักเขียนและคนทำสารคดีมากฝีมือ พร้อมทีมงานบริษัท ป่าใหญ่ ครีเอชั่น จำกัด
ซึ่งจุดประกายจากความขัดแย้งทางความคิดระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ที่มีช่องว่างระหว่างวัย ขยายกว้างขึ้นในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง กลายเป็นความขัดแย้งจากความเห็นต่าง จนหลายครอบครัวแทบอยู่ร่วมกันไม่ได้ ซึ่งพบเห็นได้มากมายในสังคมไทยกลายเป็นจุดสนใจของสุริยนต์ ที่เริ่มค้นหาเรื่องราวความเห็นต่างระหว่างวัย ที่กลายเป็นความขัดแย้งในครอบครัวและชุมชน ที่สำคัญจะก้าวออกจากความขัดแย้งได้อย่างไร จึงนำไอเดียเสนอโครงการต่อกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จนได้รับทุนประเภทเปิดรับทั่วไป ประจำปี 2565 ให้ผลิตสารคดีชุด “ผู้เฒ่ากับดาวรุ่ง” รายการที่พาผู้ชมเข้าไปพบกับคนรุ่นใหม่ที่พยายามเรียนรู้และปรับเปลี่ยนวิธีคิด การทำงานกับคนรุ่นก่อนในชุมชน เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมให้เข้ากับยุคสมัย แก้ไขความขัดแย้ง ค้นหาทางออกการอยู่ร่วมกันของคนต่างวัยที่กำลังถูกท้าทาย โดยมีความอยู่รอดและความยั่งยืนของชุมชนเป็นเดิมพัน
.
แต่กว่าที่จะผลิตออกมาเป็นสารคดีชุด “ผู้เฒ่ากับดาวรุ่ง” ทั้ง 12 ตอน 12 เหตุการณ์ ผ่านตัวละครคู่ขัดแย้งมีทั้งที่เป็นเครือญาติกัน พ่อหรือแม่กับลูก ตายายกับหลาน หรือแม้แต่ความต้องการที่ต่างกันของชาวนากับนายทุน สุริยนต์ เล่าว่า ทีมงานต้องทำการบ้านกันหนักมาก ต้องเฟ้นหาประเด็นที่ว้าว เรื่องราวที่เข้มข้น นำเสนอในรูปแบบใหม่ ๆ ที่มีเส้นเรื่องมีจุดพีคดึงความสนใจ ให้ผู้ชมรู้สึกสนุกและอยากติดตามดูจนจบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก
.
สารคดีชุดนี้ใช้เวลาผลิตนานหลายเดือน ระหว่างทางได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการติดตามเเละประเมินผลโครงการฯ จนสารคดีชุดนี้เสร็จสมบูรณ์ และนำออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอส ช่วงเวลา 07.00-07.30น. ทุกวันเสาร์ และยังนำเสนอเป็นคลิปแบบสั้น ๆ ให้ชมย้อนหลัง ผ่านสื่อออนไลน์ใน “เพจเกษตรไทยไอดอล” และ “เพจคนหัวใจแกร่ง” อีกด้วย
.
“โอ้โห!! ตื่นเต้นกันมาก เทปแรกออกไป เราได้ 1 ล้านวิว ภายใน 3 วัน เราก็ตกใจ นี่มันคือเทปแรกเลยนะ” สุริยนต์ เล่าด้วยแววตาเป็นประกาย น้ำเสียงตื่นเต้นปนรอยยิ้ม
.
เมื่อนึกย้อนไปถึงวันที่สารคดี “บัลลังก์ดอกผัก” ออกอากาศเป็นตอนแรกและมีกระแสตอบรับดีเกินคาด เขามองว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเนื้อหาแปลกใหม่ มีการนำเสนอที่โดนใจคน เรื่องราวของแม่ลูกที่ขัดแย้งกัน เพราะแม่ไม่เชื่อว่าดอกของพืชผักในสวนจะขายได้ราคาดีกว่าการขายผลผลิตแบบที่เคยทำมา แต่ลูกก็ค้นพบความเปลี่ยนไปของตลาดที่ต้องการดอกผักใช้จัดแต่งจานอาหาร ซึ่งขายได้เร็วและราคาดีกว่า ล่าสุดมียอดรับชมเกือบ 4 ล้านวิวแล้ว ในขณะที่ลูกสาวที่เก็บดอกไม้ขายในเรื่อง ก็ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรให้หลายหน่วยงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำผลงานไปเผยแพร่ และนำความรู้เรื่องนี้ไปบรรจุเป็นนโยบายด้วย
.
ส่งผลให้สารคดีอีก 11 ตอน ซึ่งล้วนแต่มีเรื่องราวที่น่าสนใจแตกต่างกันไป ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน อย่างตอน “ผ้าดอยติดดาว” เรื่องราวของเด็กสาวที่เรียนจบด้านการออกแบบเสื้อผ้า และกลับมาสานต่องานผ้าทอกะเหรี่ยงสีธรรมชาติ ของกะเหรี่ยงโผล่ง ที่ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ แต่พ่อไม่เห็นด้วย เพราะขัดกับวัฒนธรรมประเพณี เธอจะทำอย่างไรให้พ่อเข้าใจ สารคดีตอนนี้ เผยแพร่ไปไม่ถึง 3 วัน มียอดรับชมทะลุ 1 ล้านวิว ตอนนี้ไปไกลกว่า 4 ล้านวิวแล้ว ขณะที่ยอดขายผ้าทอกระเหรี่ยงของครอบครัวนี้ก็เพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 40%
.
“ผลตอบรับดีมาก ทีมงานฉลองแล้วฉลองอีก รอลุ้นทุกตอนที่ออนแอร์ ว่าตอนนี้จะปังไหม ตื่นเต้นกันมาก ดีใจ เราเองก็ไม่ได้มีงานที่ปัง ๆ แบบนี้มานานแล้ว ด้วยความที่งานสารคดีมันเงียบ ๆ ไปในยุคหนึ่ง”
.
นอกจากความสุขของคนทำงานแล้ว สุริยนต์และทีมงาน ก็อยากให้สารคดีผู้เฒ่ากับดาวรุ่งทั้ง 12 ตอน เป็นสื่อกลางสะท้อนความสัมพันธ์ของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นก่อนในการสร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อให้ตัวเอง ครอบครัว และชุมชนอยู่รอดอย่างยั่งยืน
.
เมื่อภูมิปัญญาท้องถิ่น ถูกท้าทาย…ด้วยคนรุ่นใหม่ การเปลี่ยนผ่านแห่งความหวังจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ร่วมพิสูจน์เรื่องราวจุดเริ่มต้นจากความขัดแย้ง แต่ปลายทางอาจจะทำให้หลายคนใจฟูและเต็มไปด้วยไออุ่น ลุ้นทางออกของทุกความขัดแย้งได้ในสารคดี “ผู้เฒ่ากับดาวรุ่ง” อีกหนึ่งสารคดีที่อาจจะเปลี่ยนมุมมองของคนทั้งสองวัยในยุคนี้
.
#กองทุนสื่อ #เล่าสื่อกันฟัง
#ผู้เฒ่ากับดาวรุ่ง
#ผลงานผู้รับทุนกองทุนสื่อ
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
#กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ความเห็นล่าสุด