เลือกหน้า

“กะปิเอฟเฟค”…บ้านแทบแตก ปะทะแนวคิดสองวัย หนึ่งในสารคดีแสนประทับใจแห่งยุคสมัย
ใครจะคิดว่าเครื่องแกงอย่าง “กะปิ” ที่มีอยู่คู่ทุกครัวไทย จะทำให้แม่ลูกคู่หนึ่ง ที่อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง ต้องขัดแย้งกันแทบบ้านแตก หมางเมินกันไปนาน 2-3 เดือน
.
เรื่องของเรื่อง เริ่มต้นขึ้นเมื่อ “กวาง” ลูกสาวกลับจากอังกฤษหลังใช้ชีวิตที่นั่นมา 7 ปี กลับคืนสู่บ้านเกิด มาอยู่กับแม่ม่อน ซึ่งทำกะปิไปขายที่ตลาดมาหลายปีดีดัก แต่กวางที่เป็นคนรุ่นใหม่ก็อยากต่อยอดอาชีพของแม่ให้ดีขึ้น อยากทำให้กะปิในกระปุกกลายเป็นซอสกะปิสำเร็จรูปที่ใช้ทำอาหารทั้งผัด แกง ทอด ได้ง่าย ๆ ส่งขายได้ทั่วโลก แต่เจอการคัดค้านสุดลิ่มทิ่มประตูจากแม่ม่อน ด้วยความเป็นห่วง ไม่อยากให้ลงทุนเป็นหนี้เป็นสิน แค่ขายกะปิอย่างที่เคยทำมา ก็อยู่ได้แล้ว จนเกิดการปะทะคารมและความคิดของทั้งสองฝ่าย โดยมีคุณยายยินดี เป็นกรรมการคอยบอกให้ลูกและหลานใจเย็น ๆ

แต่เมื่อต่างฝ่ายต่างยึดถือความคิดของตัวเอง ความขัดแย้งจึงรุนแรงถึงขั้นหมางเมินไม่พูดคุยกันนานถึง 2-3 เดือน ก่อนที่กวางจะใช้เวลาใคร่ครวญและกลับมาเปิดใจคุยกับแม่ ค่อย ๆ อธิบายถึงกรรมวิธี และความเป็นไปได้ในการทำซอสกะปิ และขอโอกาสในการพัฒนากะปิของแม่ ส่วนแม่ก็เปิดใจรับฟังแนวคิดการทำกะปิสมัยใหม่ของลูกสาว
.
ตัดภาพเวลาผ่านมาเกือบ 3 ปี แม่ม่อนที่ยังไปขายกะปิที่ตลาด ยิ้มด้วยความภูมิใจทุกครั้งที่ลูกค้าชมความเก่งของลูกสาว ที่ผลิตซอสกะปิ “เคยนิคะ” ที่เริ่มออกสู่ตลาด จากความเข้าใจ
สู่ความร่วมมือ แม่ม่อนโชว์ทำกับข้าวด้วยซอสกะปิ ออกทางออนไลน์และรายการโทรทัศน์ ความสุขและความอบอุ่นกลับคืนสู่ครอบครัวอีกครั้งด้วยความรักและความเข้าใจ
.
เรื่องราวทั้งหมดถูกถ่ายทอดเป็นสารคดีตอน “กะปิเอฟเฟค” หนึ่งในสารคดีชุด “ผู้เฒ่ากับดาวรุ่ง” ซึ่ง สุริยนต์ จองลีพันธุ์ มือเขียนสารคดีอันดับต้น ๆ ของเมืองไทยและทีมงานป่าใหญ่ ครีเอชั่น ผู้ผลิตสารคดีชุดนี้ บอกว่า เป็นหนึ่งในเรื่องราวที่เขาประทับใจมากที่สุดตอนหนึ่ง
.
“แม้จะเป็นแค่เรื่องกะปิธรรมดาที่เราเห็น แต่เมื่อพัฒนามาเป็นซอสกะปิ มันก็จะใช้ปรุงอาหารได้ง่าย สะดวกขึ้น เอาไปต่างประเทศได้ แต่ครอบครัวนี้ถึงกับทะเลาะกันบ้านแทบแตก แม่ยังอยากขายกะปิในรูปแบบเดิม ๆ แต่ลูกสาวจะทำซอสกะปิ ทะเลาะกัน กว่าจะลงเอยกันได้ มันเลยทำให้เรื่องมีสีสัน”

แต่ที่สำคัญกว่านั้น ทำให้เราได้เห็นถึงความรักระหว่างแม่กับลูก เมื่อเปิดใจรับฟังความเห็นของคนต่างวัย ความรักในครอบครัวก็กลับคืนมา เหมือนที่ กวาง บอกไว้ตอนหนึ่งในสารคดีชุดนี้ว่า “สุดท้ายแล้วครอบครัวไม่ใช่ศัตรู”
.
สารคดีชุด “ผู้เฒ่ากับดาวรุ่ง” ทั้ง 12 ตอน ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทเปิดรับทั่วไป (Open Grant) ประจำปี 2565 ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวความขัดแย้งทางความคิดของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป กลายเป็นการดีเบตกันของคนต่างวัย แต่ความรักและความเข้าใจ ทำให้หาจุดร่วมและออกจากความขัดแย้งได้
.
แม้แต่นายทุนกับชาวนาในตอน “โรงสีขวัญใจชาวนา” ที่แม้ไม่ได้เป็นเครือญาติหรือครอบครัวเดียวกัน และมีความแย้งทางความคิด เมื่อบิ้ก เจ้าของโรงสีมือใหม่ที่เชียงราย ที่ไม่เคยมีความรู้เรื่องข้าวแต่อยากให้ชาวนามีชีวิตดีขึ้น อยากส่งเสริมให้ชาวนาที่ใช้สารเคมีมา 50 ปี เปลี่ยนมาทำข้าวอินทรีย์ จนเกิดขัดแย้งในความคิด แต่ด้วยความตั้งใจและจริงใจต่อกัน ก็ค่อย ๆ สร้างความเชื่อมั่น ฝ่าฟันอุปสรรค สุดท้ายเราก็ได้เห็นรอยยิ้มของชาวนา
.
สุริยนต์ บอกว่า การผลิตสารคดีชุดนี้ ทั้ง 12 ตอน มีความท้าทายอย่างมาก ในการตามหาเคสแต่ละตอน เพื่อนำเสนอเรื่องราวความต่างระหว่างวัย และความขัดแย้งทางความคิด ให้มีความต่างแต่น่าสนใจ จึงอยากให้คนไทยยุคนี้ได้ชม
“ต้องขอบคุณ คณะกรรมการติดตามเเละประเมินผลโครงการฯ ตอนตรวจงาน เราเกร็งกันมากเลยว่างานจะผ่านไหม แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการฯ ชอบมาก มีการช่วยแนะนำให้เพิ่มตรงนั้นตรงนี้ ทำให้เราโล่งอก และทำงานได้อย่างสบายใจ”
.
และน่าจะยิ่งสบายใจขึ้น เมื่อสารคดีชุด “ผู้เฒ่ากับดาวรุ่ง” ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทุกวันเสาร์ เวลา 07.00 – 07.30 น. รวมทั้งที่เผยแพร่ทางออนไลน์ ในเพจเกษตรไทยไอดอล และเพจคนหัวใจแกร่ง มีเสียงตอบรับล้นหลาม หลายตอนยอดวิวพุ่งทะลุหลักหลายล้านเพียงแค่ไม่กี่วัน กลายเป็นสารคดีแห่งชีวิต ที่อยากให้คนไทยได้ดู และได้ข้อคิดจากชีวิตจริง หลายเรื่องราวเข้มข้นยิ่งกว่าละคร
.
สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ : https://www.facebook.com/watch/230498977397325/574331461120791
.
#กองทุนสื่อ #เล่าสื่อกันฟัง
#ผู้เฒ่ากับดาวรุ่ง
#ผลงานผู้รับทุนกองทุนสื่อ
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
#กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์