จากความชอบส่วนตัวที่หลงใหลการวาดการ์ตูนมาตั้งแต่เด็ก ทำให้คุณนภัสญาณ์ นาวาล่อง ตัดสินใจเปิด
แฟนเพจเฟซบุ๊กชื่อว่า “Joojee World” เพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่ความชื่นชอบผ่านรูปแบบตัวการ์ตูนซึ่งเป็นตัวละครสมมติบนโซเชียลมีเดีย ให้ผู้ที่มีความชอบในลักษณะเดียวกันได้เข้ามามีส่วนร่วม โดยที่ผ่านมาเคยจัดทำเป็นสื่อเสริมความรู้ในรูปแบบของปฏิทินจำนวน 365 วัน เพื่อบอกเล่าว่าแต่ละวันมีความสำคัญอย่างไร เช่น
วันดื่มนมโลก, วันแห่งแมวเหมียว รวมถึงวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งสื่อในรูปแบบปฏิทินนั้นได้มีโอกาสไปจัดแสดงที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย
ต่อมามีรุ่นพี่ที่เคยเสนอผลงานเพื่อขอรับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แนะนำให้ลองเสนอโครงการต่อกองทุนฯ จึงตัดสินใจเขียนโครงการ “ภาษาไทยวันละคำ กับ Joojee and Friends” เพราะส่วนตัวนอกจากชอบการวาดการ์ตูนแล้ว ยังชอบภาษาไทย ชอบอ่านหนังสือ และชอบอ่านการ์ตูน ประกอบกับเล็งเห็นว่าในปัจจุบันความนิยมใช้สื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียมีมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการใช้ภาษาไทยบนสื่อเหล่านั้นกลับวิบัติมากขึ้น และเนื่องจากโซเชียลมีเดียเป็นสื่อที่ส่งต่อข้อมูลได้รวดเร็ว ดังนั้นการใช้ภาษาไทยที่ผิดตั้งแต่ต้น
ก็อาจจะถูกเผยแพร่ออกไปให้ผู้รับสาร ซึ่งเป็นเด็ก เยาวชน หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ จดจำคำที่ผิด ๆ ไปใช้
สำหรับโครงการ “ภาษาไทยวันละคำ กับ Joojee and Friends” เป็นผลงานประเภทเปิดรับทั่วไป (Open Grant) ประจำปี 2564 เป็นการผลิตสื่อการเรียนรู้จำนวน 200 ภาพ และรวบรวมเป็นอีบุ๊ก นำเสนอผ่านภาพวาดการ์ตูน “Joojee and Friends” ที่มีคาแรกเตอร์น่ารัก บอกเล่าเกี่ยวกับคำศัพท์ภาษาไทยที่มักสะกดผิด หรือถูกใช้ผิดความหมาย เพื่อให้ผู้รับสารสามารถเข้าใจและจดจำคำศัพท์ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องและถูกความหมาย โดย
จะเผยแพร่ผ่านทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ ชื่อว่า “Joojee and Friends”
คุณนภัสญาณ์ ยังบอกอีกว่า ก่อนที่จะเขียนโครงการเสนอต่อกองทุนฯ ได้ค้นคว้าหาข้อมูลบนสื่อออนไลน์ เช่น เว็บบอร์ด และทวิตเตอร์ พบว่าปัญหาการใช้ภาษาไทยผิดในเด็กและเยาวชนมีอยู่จริง และมีจำนวนค่อนข้างมาก
“คำว่า “ขี้เกียจ” ส่วนตัวเข้าใจว่าไม่น่าจะมีคนเขียนผิด แต่จริง ๆ แล้วมีเด็กรุ่นใหม่เขียนเป็น “ขี้เกลียด” ซึ่งน้องก็เข้าใจว่าเขียนแบบนี้จริง ๆ มาจากเกลียดที่จะทำ เลยเป็น “ขี้เกลียด” เหมือนกับเด็กมีชุดความคิดอีกแบบหนึ่ง
เราก็เลยมั่นใจว่าเป็นปัญหาของเด็กจริง ๆ จึงน่าจะทำสื่อเพื่อให้เด็กได้จดจำคำที่ถูกต้องเอาไว้ เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ เป็นเอกลักษณ์ ก็ควรอนุรักษ์ไว้เพราะเราเป็นคนไทย โดยสื่อที่จะทำก็อยากให้มีสีสันสดใส เข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย น่าดึงดูดมากขึ้น ทำให้เรื่องที่น่าเบื่อสามารถดึงดูดให้เด็กรุ่นใหม่ หรือคน
วัยทำงาน สามารถอ่านสื่อชุดนี้ได้”
เมื่อได้เริ่มต้นทำโครงการแล้ว คุณนภัสญาณ์ เล่าว่า มีความสุขและสนุกกับสิ่งที่ได้ทำ ทั้งเรื่องการสร้างคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนแล้ววาดออกมาให้สามารถอธิบายคำศัพท์ต่าง ๆ ที่มักจะมีผู้สะกดผิด หรือใช้ผิดความหมาย โดยสอดแทรกมุกตลกขบขัน เพื่อสร้างความบันเทิงให้กับผู้อ่าน เรียกว่าเป็นการทำเรื่องยากให้ย่อยง่าย เข้าใจง่าย แต่ทั้งนี้ก็มีสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะการเผยแพร่ผลงานผ่านทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งปัจจุบันมีการปิดกั้นการมองเห็นมากขึ้น แต่จุดนี้ได้แก้ปัญหาด้วยการส่งข้อความไปหาเพื่อนและเครือข่ายที่เป็นครูในโรงเรียนประถมศึกษา เพื่อขอให้ช่วยกันแชร์ผลงานออกไป รวมทั้งนำไปสอนนักเรียนในโรงเรียนด้วย เพื่อเพิ่มการรับรู้ไปสู่วงกว้างมากขึ้น
ส่วนความท้าทายในการทำโครงการอยู่ที่การคิดคำศัพท์ คิดเนื้อหาให้สนุกสนานสอดคล้องกัน และวาดออกมาให้เข้าใจง่าย แปลกใหม่ ไม่น่าเบื่อ กว่าจะครบทั้ง 200 คำ ก็ทำให้ได้ฝึกสมองไปในตัว ซึ่งคุณนภัสญาณ์ บอกว่า โชคดีที่ได้รับคำแนะนำจากทางกองทุนฯ ที่ช่วยชี้แนะรายละเอียดที่อาจจะมองข้ามไป
“คณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการฯ จะแนะนำทีละจุดในส่วนที่เรามองพลาดไป เช่น การเว้นวรรค จะให้ความรู้เราเยอะมาก และมีประโยชน์กับเราด้วย เพราะเราสนใจแต่เรื่องคำศัพท์ ความหมายของคำศัพท์อย่างเดียว แต่ลักษณะการเว้นวรรค การเคาะคำ เราไม่ได้สนใจ ทำให้เรากลับมาคิดว่าตรงนี้ก็เป็นจุดที่เราควรสนใจ และอีกเรื่องที่ไม่คิดว่าจะเป็นอย่างนั้น เช่น เราคิดว่าการทำอีบุ๊กน่าจะเหมาะกับสมัยนี้มากกว่า เพราะยุคนี้ยุคใหม่เป็นยุคอินเทอร์เน็ต แต่คณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการฯ บอกว่าควรทำเป็นหนังสือรูปเล่มด้วย แม้จะเป็นยุคสมัยใหม่แล้ว แต่คนยังต้องการหนังสืออยู่ ซึ่งตอนแรกเราก็คิดค้านในใจว่าไม่น่าจะใช่ แต่พอทำออกมาจริง ๆ ตอนปล่อยอีบุ๊กออกไป เราได้รับคอมเมนต์กลับมาเยอะมากว่าอยากให้ตีพิมพ์เป็นหนังสือ อยากให้เป็นกระดาษให้ได้จับด้วย เราก็ค่อนข้างประทับใจ ซึ่งส่วนตัวก็ชอบแบบที่เป็นกระดาษอยู่แล้ว แต่พอมาทำโครงการกลับคิดไปเองว่าเด็กยุคใหม่อาจจะชอบสไลด์ดูในไอแพด แต่จริง ๆ แล้วเด็กยุคใหม่ก็ยังชอบที่เป็นกระดาษเช่นเดียวกัน”
นอกจากนี้ยังได้ทำแบบสอบถามเพื่อวัดผลว่าโครงการที่ทำนี้สามารถเข้าถึงเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ และคนในครอบครัวหรือไม่ ผลปรากฏว่ามีผู้ตอบแบบสอบถามกลับมาค่อนข้างเยอะมากว่าได้นำสื่อชุดนี้ไปใช้ในห้องเรียนจริง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ภาคภูมิใจมาก เนื่องจากผลงานที่ทำตลอด 1 ปี ไปถึงผู้รับสารจริง มีผู้ที่ได้อ่านและได้ความรู้จริง ทำให้หายเหนื่อยและดีใจที่ได้ทำโครงการนี้
คุณนภัสญาณ์ยังได้ฝากเชิญชวนผู้ที่อยู่ในแวดวงศิลปะ นักคิด นักเขียน นักสร้างคอนเทนต์ หากมีผลงานที่สามารถต่อยอดองค์ความรู้ที่หลากหลาย อาจไม่ได้ให้ความบันเทิงเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้แง่คิดต่าง ๆ ผ่านผลงานศิลปะ หรือดนตรี สามารถทำให้ผลงานของเรามีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อทุกคนมากขึ้น ด้วยการส่งโครงการเข้ามาขอรับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อร่วมกันผลิตสื่อสร้างสรรค์ออกสู่สาธารณชนในวงกว้างมากขึ้น
สามารถติดตามผลงาน “ภาษาไทยวันละคำ กับ Joojee and Friends” ได้ทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ “Joojee and Friends” และสามารถดาวน์โหลดอีบุ๊กได้ที่ https://www.thaimediafund.or.th/download/joojee-and-friends/
ความเห็นล่าสุด