เลือกหน้า

สำรวจความสนใจโลกออนไลน์ ครึ่งแรกของปี 66 การเมือง-การเลือกตั้งนำลิ่ว ตามด้วยประเด็นบันเทิง

Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ Wisesight สำรวจการสื่อสารทางออนไลน์ของสังคมไทยช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2566 โดยใช้เครื่องมือ ZocialEye สำรวจจาก 4 แพลตฟอร์มออนไลน์ คือ Facebook, Twitter, Instagram และ YouTube เพื่อสรุป 10 ประเด็นที่พูดถึงมากที่สุดในแต่ละเดือน

สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 ประเด็นที่ได้รับ Engagement สูงสุด 10 อันดับแรกเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการเมืองโดยเฉพาะการเลือกตั้งและการปราศรัยของพรรคการเมืองต่าง ๆ รองลงมาเป็นประเด็นเกี่ยวกับสื่อบันเทิง เช่น กิจกรรม Outing ของดารานักแสดงบริษัท GMMTV ภายใต้ #GmmtvOuting2023, ละครเรื่องมาตาลดาที่มีเนื้อหาของกลุ่ม LGBTQ, กระแสป๊อปคัลเจอร์ของเพลงธาตุทองซาวด์ของยังโอมที่ทำให้การแต่งกายในยุค Y2K หรือการนำภาพในช่วง Y2K กลับมานิยมอีกครั้ง, การประกวด Miss Grand Thailand รอบสุดท้าย รวมไปถึงการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่ประเทศกัมพูชาทั้งในประเด็นดราม่าการจัดงาน การใช้นักกีฬาโอนสัญชาติ และการส่งแรงใจไปเชียร์นักกีฬาทีมชาติในการแข่งขันครั้งนี้

 

ประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุด 10 อันดับในสื่อสังคมออนไลน์ช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2566

อันดับที่ 1 ความเห็นต่อการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคก้าวไกล

ส่วนใหญ่มาจากโพสต์การปราศรัยตามจังหวัดต่าง ๆ และการโพสต์ภาพพิธา ลิ้มเจริญรัตน์บนเวทีหาเสียงที่ติด Hashtag พรรคก้าวไกล นอกจากนั้นเป็นการโพสต์หาเสียงของผู้สมัครอื่น เช่น รักชนก ศรีนอก, ชัยธวัฒน์ ตุลาธน, วาโย อัศวรุ่งเรือง เป็นต้น โดยผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์แสดงออกในเชิงชื่นชอบการหาเสียงและนโยบายที่เน้นแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง

อันดับที่ 2 การจัดดีเบตและเชิญชวนให้ไปเลือกตั้ง

เป็นการกล่าวถึงการจัดดีเบตในที่ต่าง ๆ แล้วติด Hashtag ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เช่น การโพสต์ของผู้สมัครรับเลือกตั้งเชิญชวนออกไปเลือกตั้ง การโพสต์ของประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม

อันดับที่ 3 พรรคก้าวไกลประกาศจัดตั้งรัฐบาล

หลังจากที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประกาศจัดตั้งรัฐบาลที่มีพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เป็นนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้ประเด็นดังกล่าวถูกพูดถึงมากทั้งจากสื่อต่าง ๆ และผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ทั่วไป โดยประเด็นที่พูดถึงมากที่สุดมาจากข่าวการประกาศจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล

อันดับที่ 4 ตำหนิ กกต. จัดการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส

ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ตำหนิการจัดการเลือกตั้งของ กกต. โดยเป็นการกล่าวถึงการทำงานที่ไม่โปร่งใสของ กกต. ในบางเขต การแอบอ้างนำบัตรประชาชนของชาวบ้านไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าที่จังหวัดอำนาจเจริญ การประกาศไม่นับคะแนนจากบัตรนอกราชอาณาจักรในจังหวัดฉะเชิงเทรา ทำให้เกิดกระแสการลงชื่อเพื่อถอดถอน กกต. ในสื่อสังคมออนไลน์

อันดับที่ 5 ความเห็นต่อนโยบายของพรรคเพื่อไทย

ส่วนใหญ่เป็นการกล่าวถึงนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท และการปราศรัยใหญ่ของพรรคเพื่อไทยที่เปิดตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและการกล่าวถึงการร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล

อันดับที่ 6 กิจกรรม #GmmtvOuting2023

Hashtag ดังกล่าวมาจากกิจกรรม Outing ในช่วงเดือนมีนาคมของดารานักแสดงในสังกัดบริษัท GMMTV ที่ส่งผลให้กลุ่มแฟนคลับดารานักแสดงเข้ามามีปฏิสัมพันธ์เป็นจำนวนมากจากการแชร์คลิปหรือภาพดาราที่ชื่นชอบ

 อันดับที่ 7 ดราม่าในการแข่งขันซีเกมส์ที่กัมพูชา

ส่วนใหญ่มาจากการสรุปเหรียญรางวัล การกล่าวถึงเจ้าภาพกัมพูชาที่จ้างนักกีฬาโอนสัญชาติมาแข่งกีฬา เพื่อให้ได้เหรียญทองมากที่สุดและประเด็นดราม่าอื่น ๆ เช่น การตะลุมบอนกันระหว่างนักฟุตบอลทีมชาติไทยกับทีมชาติอินโดนีเซีย ความไม่พร้อมของหมู่บ้านนักกีฬา

อันดับที่ 8 มาตาลดา ละครน้ำดีในช่วง Pride Month

ละครเรื่องมาตาลดาถูกกล่าวถึงอย่างมากในช่วงเดือนมิถุนายนที่เป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองกลุ่ม LQBTQ ทำให้ละครซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นเดียวกันนี้ถูกพูดถึงไปด้วย โดยกระแสส่วนใหญ่จะเป็นการตัดคลิปสั้น ๆ ที่เป็น Highlight ของละครมาโพสต์ในช่องทางต่าง ๆ

อันดับที่ 9 เพลงธาตุทองซาวด์กับแฟชั่นยุค Y2K

เพลงธาตุทองซาวด์ที่ถูกโพสต์ในช่วงเดือนเมษายน ส่งผลให้ได้รับความนิยมเป็นจำนวนมากและยังสร้างกระแส Y2K ต่อเนื่อง มีการโพสต์ภาพของตนเองในอดีตหรือภาพการแต่งกายในแฟชั่น Y2K เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นเพลงนี้ยังโด่งดังไกลไปต่างประเทศอย่างประเทศเกาหลีใต้ที่นำเพลงดังกล่าวไปเปิดในผับ

อันดับที่ 10 การประกวด Miss Grand Thailand รอบสุดท้าย

การประกวดรอบสุดท้ายของ Miss Grand Thailand ส่งผลให้ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นแฟนคลับการประกวดนางงามเข้ามามีปฏิสัมพันธ์จำนวนมาก รวมไปถึงดราม่าของผู้ประกวดบางคนอย่างเฌอเอม ชญาธนุส ศรทัตต์ ที่ปฏิเสธกิจกรรมการดูดวงบนเวทีต่อหน้าคุณณวัฒน์ อิสรไกรศีล ผู้จัดการประกวด เป็นต้น

สัดส่วนหมวดหมู่ประเด็นที่ได้รับความสนใจในช่วงครึ่งปีแรก

เมื่อนำ 10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในแต่ละเดือน รวม 60 ประเด็นมาจัดหมวดหมู่ โดยวิธีการอ้างอิงจากเนื้อหาสำคัญ (Content Based) ของประเด็นนั้น ๆ ตามด้วยการตรวจสอบสามเส้าด้านผู้วิเคราะห์ข้อมูล ได้เป็น 23 หมวดหมู่ พบหมวดหมู่ที่ได้รับความสนใจสูงสุด 3 อันดับแรก คือ

หมวดหมู่ เรื่องเกี่ยวข้องกับรัฐ (Politics) คือ เนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับสถานภาพความเป็นรัฐ เรื่องเกี่ยวกับรัฐ สัญลักษณ์ของรัฐ นโยบายสาธารณะ นิติบัญญัติ กฎหมาย การเลือกตั้ง การหาเสียงเลือกตั้ง ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สงคราม ความสัมพันธ์ภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงการรณรงค์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับรัฐ และความเคลื่อนไหวทาง

การเมือง เช่น การวิพากษ์วิจารณ์ ข้อพิพาททางการเมือง การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ การชุมนุมทางการเมือง ซึ่งในบริบทของการศึกษาในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งปี 2566

หมวดหมู่ สื่อ สิ่งบันเทิง (Media & Entertainment) คือ เนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับสื่อและสิ่งบันเทิง

หมวดหมู่ กีฬา (Sport) คือ เนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับกีฬา การแข่งขันกีฬา และทิศทางความสนใจในกีฬาชนิดต่าง ๆ

ทั้งนี้ หมวดหมู่เรื่องเกี่ยวข้องกับรัฐ (Politics) ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเป็นประเด็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่มีมากถึง 66% โดยส่วนใหญ่มาจากพรรคการเมือง การปราศรัยของพรรคต่าง ๆ หมวดหมู่สื่อสิ่งบันเทิง (Media & Entertainment) มาจากกิจกรรม #GmmtvOuting2023 กระแสความนิยมของละครมาตาลดา และการประกวด Miss Grand Thailand รอบสุดท้าย, หมวดหมู่ กีฬา (Sport) ส่วนใหญ่มาจากการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่ประเทศกัมพูชาที่มีประเด็นดราม่าจากการที่เจ้าภาพใช้นักกีฬาโอนสัญชาติในการแข่งขัน ความไม่พร้อมของสถานที่พักและกรรมการในการตัดสิน หมวดหมู่การขับเคลื่อนทางสังคม (Social Movement) เป็นการที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่ยกให้ละครมาตาลดาเป็นละครน้ำดีที่นำเสนอเกี่ยวกับ LGBTQ, ประเด็นส่วยทางหลวงที่พรรคก้าวไกลนำมาเสนอต่อสาธารณะทำให้กลายเป็นกระแสสังคมต่อเนื่องซึ่งในตอนแรกเป็นประเด็นเฉพาะส่วยรถบรรทุก แต่เมื่อได้รับความสนใจมากขึ้นทำให้ขยายไปในการทุจริตอื่น ๆ เช่น ส่วยแท็กซี่ ส่วยล็อตเตอรี่ เป็นต้น ส่วนหมวดหมู่อาชญากรรมและอุบัติเหตุ (Crime & Accidents) เป็นประเด็นเกี่ยวกับการรั่วไหลของ ซีเซียม – 137 ที่จังหวัดปราจีนบุรี

การเปลี่ยนแปลงของ Engagement แต่ละหมวดหมู่ในช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2566

นอกจากการจำแนกให้เห็นหมวดหมู่ประเด็นที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ให้ความสนใจในภาพรวม 10 อันดับแรก ตลอดช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 แล้ว เมื่อสำรวจความเคลื่อนไหวของ Engagement ในแต่ละกลุ่มประเด็น พบความสนใจในการสื่อสารและการมีส่วนร่วมของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในประเด็นการเมืองเริ่มเพิ่มมากขึ้นในสัดส่วนที่มากกว่าประเด็นอื่น ๆ ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม เป็นต้นมา

จากแผนภาพที่ 3 เห็นได้ว่า ความสนใจในประเด็นเกี่ยวข้องกับภาครัฐ โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่ได้รับความสนใจอย่างมากนั้น แบ่งได้เป็น 4 ช่วง ได้แก่

1. ก่อนวันเลือกตั้ง ในช่วงเดือนมกราคมจนถึงวันที่ 20 มีนาคม หรือวันที่ประกาศยุบสภา เห็นได้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นประเด็นเกี่ยวกับสื่อบันเทิงต่าง ๆ

2. โค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง ในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงช่วงก่อนวันที่ 14 พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงการหาเสียง การดีเบตตามเวทีต่าง ๆ โดยพรรคก้าวไกลถูกกล่าวถึงอย่างมากเกี่ยวกับนโยบายที่เน้นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคม ส่วนพรรคเพื่อไทยเป็นนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท

3. วันเลือกตั้ง วันที่ 14 พฤษภาคม เป็นการโพสต์ว่าไปเลือกตั้งโดยผู้ใช้งานทั่วไป การโพสต์เชิญชวนให้ไปเลือกตั้งโดยดารา ผู้มีอิทธิพลบนสื่อสังคมออนไลน์ หน่วยงาน ฯลฯ การให้ร่วมสังเกตการณ์การนับคะแนนการเลือกตั้งโดยกลุ่มรณรงค์เคลื่อนไหวการมีส่วนร่วมของประชาชน

4. หลังการเลือกตั้ง ช่วงหลังวันที่ 14 พฤษภาคม การพูดถึงการเลือกตั้งจะลดลง เนื่องจากเป็นช่วงที่รอ กกต. รับรองผลการเลือกตั้ง และเป็นช่วงที่พรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมาก ทำการเจรจาทางการเมืองกับพรรคอื่น เพื่อเตรียมจัดตั้งรัฐบาล

หมวดหมู่สื่อ สิ่งบันเทิง ได้รับความสนใจต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน มาจากการจัดกิจกรรม Outing ของบริษัท GMMTV ภายใต้ #GmmtvOuting2023 และในเดือนเมษายนมาจากการประกวด Miss Grand Thailand รอบสุดท้าย แต่กระแสจะตกไปในช่วงเดือนพฤษภาคม

ส่วนหมวดหมู่การขับเคลื่อนทางสังคม ในเดือนมิถุนายน มาจากกระแส Pride Month และละครเรื่องมาตาลดาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ LGBTQ

กล่าวโดยสรุป ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน 2566 ความสนใจของสื่อสังคมออนไลน์มีความสอดคล้องกับเหตุการณ์บ้านเมือง กล่าวคือ ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จะให้ความสนใจในการปราศรัยหาเสียง การเลือกตั้ง และท่าทีของพรรคการเมืองที่ตนเลือกหลังจากประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว แต่หลังการเลือกตั้ง พบว่า กระแสความสนใจในเรื่องการเมืองลดลง เนื่องจากเป็นช่วงรอ กกต. รับรองผลการเลือกตั้ง จึงเป็นที่น่าสนใจว่าในสถานการณ์สำคัญทางการเมือง เช่น ช่วงโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และหลังจากได้นายกรัฐมนตรีแล้ว สื่อสังคมออนไลน์จะมีทิศทางและลักษณะความสนใจในการเมืองอย่างไร จะมีการสื่อสารถกเถียงกันในประเด็นหรือหมวดหมู่ใด อย่างไร ที่สำคัญคือการสื่อสารดังกล่าวจะสร้างแรงกระเพื่อมและสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในด้านใด

Media Alert และ Wisesight จะรายงานผลการสำรวจการสื่อสารของสื่อสังคมออนไลน์ให้ทราบอย่างต่อเนื่อง ต่อไป