สิงหาคม 66 แม้โลกออนไลน์ของไทย สนใจบันเทิงเป็นอันดับต้น แต่โดยรวมสัดส่วนความสนใจในประเด็นการเมืองยังสูงกว่าเล็กน้อย ขณะที่ TikTok ขึ้นแท่นแพลตฟอร์มยอดนิยม
ประเด็นบันเทิงที่สังคมออนไลน์สนใจสูงสุดในเดือนสิงหาคม 66 คือ ละครมาตาลดาตอนจบ นอกนั้นเป็นเรื่อง เดบิวต์บอยแบนด์ในรายการ 789 Survival, The Grand Concert อิงฟ้า มหาชน ฯลฯ ส่วนประเด็นการเมืองที่ได้รับความสนใจในอันดับต้น ๆ คือ พรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลและพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน , ชื่นชม ช่อ พรรณิการ์ วานิช และ สส. พรรคก้าวไกล ฯลฯ โดยใน 10 อันดับที่ได้รับ Engagement มากที่สุดนั้น เป็นการเมือง 5 ประเด็น และบันเทิง 5 ประเด็น เท่ากัน แต่กลุ่มการเมืองมียอด Engagement ในสัดส่วนที่สูงกว่า คือ 53% ส่วนบันเทิง 47%
Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ Wisesight ศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยในเดือนสิงหาคม 2566 โดยใช้เครื่องมือ ZocialEye สำรวจจาก 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่ 1) Facebook 2) Twitter 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok หลังจากนั้นใส่คำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยประกาศจัดตั้งรัฐบาล, การทำงานของสส. พรรคก้าวไกล, เศรษฐา ทวีสินรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นต้น จากนั้นนำข้อมูลที่ได้จากเครื่องมือ ZocialEye มารวบรวมและเรียงลำดับตาม Engagement พบ 10 อันดับประเด็นที่โลกออนไลน์ให้ความสนใจในเดือนสิงหาคม 2566 คือ
- มาตาลดาตอนจบ
- พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลและพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน
- ชื่นชม ช่อ พรรณิการ์ วานิชและ สส. พรรคก้าวไกล
- เดบิวต์บอยแบนด์ในรายการ 789 Survival
- The Grand Concert อิงฟ้า มหาชน
- เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30
- การประชุมสภาเพื่อโหวตนายกฯ ครั้งที่ 3
- Gemini Fourth ConcertD1 ของคู่จิ้น เจมีไนน์- โฟร์ท
- ทักษิณกลับประเทศไทย
- การประกวด Miss Universe Thailand 2023 รอบ Final
10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจ มีการสื่อสาร และมีส่วนร่วมมากที่สุดในโลกออนไลน์ เดือนสิงหาคม 2566
อันดับที่ 1 มาตาลดาตอนจบ
หลังจากที่มาตาลดาได้สร้างกระแสบนโลกออนไลน์ต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน จนถึงตอนจบในวันที่ 15 สิงหาคม โดยความเห็นของผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือชื่นชอบละคร อินไปกับละคร รวมถึงการแคปเจอร์ฉากที่ประทับใจมาโพสต์
อันดับที่ 2 พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลและพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน
หลังจากพรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จึงให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทยเข้าร่วมกับพรรคอดีตรัฐบาล ส่งผลให้พรรคก้าวไกลต้องเป็นฝ่ายค้าน จนเกิดการต่อต้านจากประชาชนบางกลุ่มที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะกลุ่มอดีตมวลชนเสื้อแดงและกลุ่มทะลุวังที่รวมตัวกันประท้วงหน้าพรรคเพื่อไทย พบผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายสนับสนุนพรรคเพื่อไทยที่มองว่าหากไม่รวมกับพรรคอดีตรัฐบาลจะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ กับฝ่ายที่ตำหนิพรรคเพื่อไทยที่ไม่ยึดมั่นในอุดมการณ์
อันดับที่ 3 ชื่นชม ช่อ พรรณิการ์ วานิช และ สส. พรรคก้าวไกล
มาจากคลิป Highlight ช่อ พรรณิการ์ ออกรายการเปิดปากช่องไทยรัฐทีวีและ คลิปเหตุการณ์สภาล่มในวันที่ 31 สิงหาคม ที่พรรคก้าวไกลเสนอให้ประธานสภานับองค์ประชุม พบว่ามีผู้แสดงตนเพียง 96 คน โดยความเห็นผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่ชื่นชมการปฏิบัติงานของพรรคก้าวไกลที่ยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์แม้จะถูกผลักให้ไปเป็นพรรคฝ่ายค้านก็ตาม
อันดับที่ 4 เดบิวต์บอยแบนด์ในรายการ 789 SURVIVAL
รายการ 789 SURVIVAL รายการ Reality ทางช่อง One31 เพื่อหา Idol กลุ่มใหม่ที่มีความสามารถ เหตุที่รายการในเดือนส.ค.ได้รับความสนใจมากที่สุด เนื่องจากการประกาศขายบัตรคอนเสิร์ต 789 SPECIAL STAGE THE TIME CAPSULE และข่าวการปล่อยข้อมูลเท็จการรับงานของศิลปินพร้อมช่องทางการติดต่อ ที่ทำให้ทางค่าย SONRAY MUSIC ต้องออกมาชี้แจงอย่างเป็นทางการ
อันดับที่ 5 The Grand Concert อิงฟ้า มหาชน
ส่วนใหญ่เป็นการโปรโมทคอนเสิร์ตของอิงฟ้า ภาพในงานคอนเสิร์ตจากกลุ่มแฟนคลับและ การกล่าวถึงแขกรับเชิญพิเศษ เช่น ชาลอต ออสติน, ณวัฒน์ อิสรไกรสิน เป็นต้น
อันดับที่ 6 เศรษฐา ทวีสิน ได้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30
ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ตั้งคำถามถึงพรรคเพื่อไทยที่ได้เป็นรัฐบาลและความเหมาะสมที่เศรษฐา ทวีสิน รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 โดยบางส่วนกล่าวถึงการที่นายเศรษฐาไม่เคยแสดงวิสัยทัศน์ ไม่เคยไปดีเบตทางสื่อต่าง ๆ รวมถึงไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง แต่กลับได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี มีการติดแฮชแท็ก #นายกคนที่30 #นายกส้มหล่น #โหวตนายกครั้งที่3
อันดับที่ 7 ประชุมสภาเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3
การประชุมสภาเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3 ในวันที่ 22 สิงหาคม พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคอดีตฝ่ายรัฐบาล คือ พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ ทำให้ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์สนใจว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ จะฝ่าด่านสำคัญอย่าง สว. ได้หรือไม่ โดยสุดท้ายแม้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่พรรคเพื่อไทยก็ต้องเสียมวลชนบางส่วนไป
อันดับที่ 8 Gemini Fourth ConcertD1 ของคู่จิ้น เจมีไนน์- โฟร์ท
เจมิไนน์ นรวิชญ์ และ โฟร์ท ณัฐวรรธน์ โด่งดังจากซีรีย์เรื่อง แฟนผมเป็นประธานนักเรียน ที่ออกอากาศทางช่อง GMM25 จากกระแสความโด่งดังของนักแสดงทั้งสอง จึงมีการจัดคอนเสิร์ตของทั้งคู่ขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันที่ 27 สิงหาคม 2566 โดยคำสนทนาส่วนใหญ่ในสื่อสังคมออนไลน์เป็นของกลุ่มแฟนคลับ และเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่จัดคอนเสิร์ต
อันดับที่ 9 ทักษิณกลับประเทศไทย
แม้อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร จะเลื่อนการกลับประเทศไทยมาหลายครั้ง แต่ยังคงมีมวลชนที่เฝ้ารอการกลับมาของอดีตนายกฯทักษิณ กระทั่งในเช้าวันที่ 22 สิงหาคม เครื่องบินส่วนตัวของทักษิณได้ลงจอดที่สนามบินดอนเมือง สิ่งที่สื่อและประชาชนให้ความสนใจมากที่สุดคือ การปรากฏตัวของทักษิณที่สนามบินดอนเมือง และการก้มกราบพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ก่อนถูกนำตัวไปศาลฎีกา เพื่อการพิจารณาโทษ
อันดับที่ 10 การประกวด Miss Universe Thailand 2023 รอบ Final
โพสต์ส่วนใหญ่จะมาจากแฟนคลับที่เชียร์นางงามที่ชื่นชอบ, โพสต์จากสื่อสังคมออนไลน์ของผู้เข้าประกวดโดยเฉพาะ วีนา ปวีนา ซิงห์ ผู้เข้าประกวดจากจังหวัดภูเก็ต แม้ว่าสุดท้าย แอน แอนโทเนีย โพซิ้ว ผู้เข้าประกวดจากจังหวัดนครราชสีมา จะได้รับตำแหน่งไป
โดยสรุป ทิศทางการสื่อสารในโลกออนไลน์ของเดือนสิงหาคม 2566 จาก 5 แพลตฟอร์มที่เป็นหน่วยการศึกษา คือ 1) Facebook 2) Twitter 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok พบว่าประเด็นทางการเมืองยังคงได้รับ Engagement สูง คือ 53% ของ 10 ประเด็นที่ได้รับ Engagement มากที่สุด
จาก 10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจและมีการสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุดในเดือนสิงหาคม 66 สามารถจำแนกหมวดเนื้อหาได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเนื้อหาทางการเมือง 5 ประเด็นได้แก่ พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลและพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน, ชื่นชม ช่อ พรรณิการ์ วานิช และ สส. พรรคก้าวไกล, เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30, การประชุมสภาเพื่อโหวตนายกครั้งที่ 3, ทักษิณกลับประเทศไทย และประเด็นสื่อ สิ่งบันเทิง อีก 5 ประเด็น ได้แก่ มาตาลดาตอนจบ, เดบิวต์บอยแบนด์ในรายการ 789 SURVIVAL, The Grand Concert อิงฟ้า มหาชน, Gemini Fourth ConcertD1 ของคู่จิ้น เจมีไนน์- โฟร์ท, การประกวด Miss Universe Thailand 2023 รอบ Final โดยเมื่อพิจารณาการมีส่วนร่วม หรือ Engagement พบว่า กลุ่มประเด็นเนื้อหาการเมืองมี 155,569,064 Engagement คิดเป็น 53%
ในกลุ่มการเมือง พบว่า กลุ่มผู้ส่งสารที่มีอิทธิพลหรือสามารถสร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) มากที่สุด คือกลุ่ม สื่อที่ 45% รองลงมาได้แก่ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ 32% ผู้ใช้งานทั่วไป 20% พรรคการเมือง 2% และอื่น ๆ 1% ตามลำดับ โดย TikTok เป็นช่องทางที่มี Engagement มากที่สุดที่ 35% รองลงมาได้แก่ Facebook 33% Twitter 18% Instagram 8% YouTube 5% ตามลำดับ
กลุ่มสื่อ สิ่งบันเทิง มี 136,016,290 Engagement คิดเป็น 47% โดยมีกลุ่มผู้ส่งสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมมากที่สุดคือ ผู้ใช้งานทั่วไป 76% รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ 22% และสื่อ 2% ตามลำดับ โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุด ที่ 43% รองลงมาได้แก่ Twitter 24% Instagram 17% Facebook 15% YouTube 1% ตามลำดับ
เห็นได้ว่า Engagement ส่วนใหญ่จะมาจากสองช่องทางหลัก คือ Facebook 38% และ TikTok 32% โดยประเด็นที่มี Engagement มากที่สุด 3 อันดับแรกมาจากผู้ใช้งาน TikTok บัญชี nathanatanitthies โดยเนื้อหาของคลิปเป็นการเผาเสื้อและปฏิทินของคนเสื้อแดง โพสต์ดังกล่าวได้รับ 437,500 Engagement อันดับสองบัญชี sparkupdate มีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้มาตรา 112 เป็นข้ออ้างในการไม่ร่วมงานกับพรรคก้าวไกล ได้รับ 430,342 Engagement ส่วนอันดับที่ 3 จากบัญชี ratsadonnews112 โพสต์วิดีโอในวันที่มีการประท้วงหน้าที่ทำการพรรคเพื่อไทย หลังทราบข่าวพรรคเพื่อไทยร่วมมือกับพรรคที่เป็นอดีตรัฐบาลได้รับ 321,947 Engagement
ด้านผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับประเด็นของพรรคเพื่อไทยหลังจากประกาศจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีพรรคก้าวไกล เมื่อแยกตามประเภทผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ พบว่า สื่อหรือสำนักข่าวสามารถสร้างการมีส่วนร่วมมากถึง 25.1 ล้าน Engagement รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ 21.1 ล้าน ผู้ใช้งานทั่วไป 11.6 ล้าน พรรคการเมือง 1.2 ล้าน และอื่น ๆ ประมาณ 21,000 Engagement ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่แสดงความผิดหวังต่อพรรคเพื่อไทย และบางส่วนแสดงความเห็นว่าจะเลือกพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งหน้า
Engagement ส่วนใหญ่มาจาก TikTok 59% ตามด้วย Facebook 25% Instagram 13% โดยประเด็นที่มี Engagement มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ บัญชี iu_jameji ที่เป็นคลิปของเจมส์ จิรายุ ซึ่งเป็นนักแสดงนำของละคร ได้รับ 1,119,161 Engagement, บัญชี maker_family โพสต์ Highlight ละคร 1,008,661 Engagement, บัญชี jirayu.jj6 โพสต์คลิปเจมส์ จิรายุ แล้วติด #มาตาลดา ได้รับ 978,414 Engagement
ด้านผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับมาตาลดาตอนจบ แยกตามประเภท พบว่า เป็นผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ทั่วไปมากถึง 47.7 ล้าน Engagement รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ 22.4 ล้าน Engagement สื่อ สำนักข่าว ประมาณ 400,000 Engagement และ อื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ ภาครัฐ 434 Engagement โดยส่วนใหญ่เป็นการโพสต์ของกลุ่มแฟนคลับละครที่โพสต์ฉากหรือนักแสดงที่ตนชื่นชอบ รวมไปถึงนักแสดงที่ใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ในการโปรโมตละครและแฟนคลับเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ในโพสต์ดังกล่าว
โดยสรุป ในเดือนสิงหาคม 2566 ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ยังคงให้ความสนใจในประเด็นทางการเมืองมากถึง 5 จาก 10 ประเด็น โดยประเด็นที่ได้รับความสนใจ คือ พรรคเพื่อไทยประกาศจัดตั้งรัฐบาลและพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน, ชื่นชม ช่อ พรรณิการ์ วานิชและ สส. พรรคก้าวไกล, เศรษฐา ทวีสิน ได้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30, ประชุมสภาเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3และทักษิณกลับประเทศไทย ส่วนประเด็นสื่อ สิ่งบันเทิงที่ได้รับความสนใจ ได้แก่ มาตาลดาตอนจบ, เดบิวต์บอยแบนด์ในรายการ 789 Survival, The Grand Concert อิงฟ้า มหาชน, Gemini Fourth ConcertD1 ของคู่จิ้น เจมีไนน์- โฟร์ท และการประกวด Miss Universe Thailand 2023 รอบ Final
ในภาพรวม ผู้ส่งสารส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้งานทั่วไป รองลงมาเป็นผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ สื่อ สำนักข่าว แบรนด์ และภาครัฐ ตามลำดับ แต่เมื่อนำมาวิเคราะห์ร่วมกับประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในเดือนสิงหาคม 66 ความสนใจของสื่อสังคมออนไลน์ยังเป็นประเด็นทางการเมืองโดยแสดงออกด้วยการใช้แฮชแท็ก เช่น #นายกคนที่30 #นายกส้มหล่น #notmypm #โหวตนายกครั้งที่3 #ประชุมสภา อย่างไรก็ตามผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ยังคงให้ความสนใจในสื่อบันเทิงด้วยการสร้างกลุ่มที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน เช่น กลุ่มของแฟนคลับดาราที่แชร์คอนเทนต์แล้วติดแฮชแท็กที่เกี่ยวกับละครหรือนักแสดงที่ตนชื่นชอบร่วมกัน
ขณะที่ TikTok ยังคงเป็นช่องทางหลักที่สร้างปฏิสัมพันธ์ได้เป็นอันดับ 1 เช่นเดียวกับเดือนกรกฎาคม 66 ที่ผ่านมา สำหรับเดือนสิงหาคมพบประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้ใช้งาน TikTok ส่วนใหญ่ เป็นผู้ใช้งานทั่วไปมากถึง 60% ของ Engagement ทั้งหมดของ TikTok เมื่อเปรียบเทียบกับ แพลตฟอร์มหลักอย่าง Facebook ที่มีสัดส่วนผู้ใช้งานทั่วไปเพียง 14% ของ Engagement ทั้งหมดของ Facebook นับเป็นการตอกย้ำถึงความนิยมของ TikTok ทั้งนี้ อาจด้วยเหตุที่ใช้งานง่าย จนเข้าถึงผู้ใช้งานได้ทุกเพศ ทุกวัย
ความเห็นล่าสุด