เลือกหน้า

ภาพของเด็กหญิงซามีน่า ดีมาลย์ ลูกครึ่งไทย-แอฟริกันอเมริกัน เด็กผิวสี ผมหยิก ผิวคล้ำ ที่ตกเป็นเป้าสายตา มักถูกเพื่อน ๆ ในโรงเรียน ล้อเลียนทั้งเรื่องทรงผมและสีผิวอยู่เป็นประจำ บางวันก็ถูกเพื่อนขยำกระดาษปาใส่หน้า ด่าว่าอีดำ บางวันก็ถูกถ่ายรูปเอาไปล้อเลียนในโลกโซเชียล

“โห ตัวจริงดำกว่าในรูปอีกนะเนี่ย”
“เออจริงด้วยว่ะแก แชร์ต่อเลยสิ”
ซามีน่า ได้แต่นั่งมองเพื่อน ๆ ที่พากันขำและบูลลี่เธอ ซึ่งเธอรู้สึกไม่โอเค ที่คนรอบข้างมองเธอเหมือนเป็นตัวประหลาด เมื่อโดนล้อทุก ๆ วัน ก็ยิ่งรู้สึกเครียด เบื่อ และพยายามเฟดตัวเองออกจากกลุ่มเพื่อน เพื่อลดการปะทะให้ได้มากที่สุด

“แม่คะ หนูไม่อยากไปโรงเรียนแล้วค่ะ” ซามีน่าบอกแม่ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ
“โดนล้อมาอีกแล้วใช่ไหม แม่เข้าใจในสิ่งที่ลูกเจอมานะ แต่ในเมื่อเราเกิดมาเป็นแบบนี้ เราคงจะหนีมันไปไหนไม่ได้หรอกนะลูก แม่ไม่สามารถอยู่กับลูกได้ตลอดเวลา ถ้าลูกยอมแพ้ไม่ลุกขึ้นสู้ ลูกก็จะต้องถูกล้อถูกแกล้งไปตลอดชีวิต และคนที่จะปกป้องลูกได้ดีที่สุด ก็คือ ตัวลูกเองนะ”

คำพูดของแม่ ทำให้ซามีน่า ฮึดสู้ ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมเยอะมาก เพื่อที่ตัวเองจะได้ไม่ต้องไปหมกมุ่นอยู่กับคำล้อเลียนเหล่านั้น แต่เธอก็ยังโดนล้ออยู่ดี โดนล้อตั้งแต่ประถม มัธยม จนมหาวิทยาลัย และในสังคมที่ทำงาน สุดท้ายแล้ว ซามีน่า จะก้ามข้ามการถูกบูลลี่และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมให้มีความสุขได้อย่างไร สามารถไปหาชมกันต่อได้ในสารคดีเชิงละครสั้น ตอน “สี” ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องเล่าของ ซามีน่า ดีมาลย์ กับเหตุการณ์ที่ถูกล้อเลียนมาตั้งแต่เด็ก เป็นสารคดีสะท้อนปัญหาการบูลลี่ 1 ใน 6 ตอน จากโครงการหยุดซะ โปรเจกต์ 2 ที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อหยุดการกลั่นแกล้งกันในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นการต่อยอดมาจากโครงการหยุดซะโปรเจกต์แรก และได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปี 2565

วราวุธ ฉิมกิจ หัวหน้าโครงการหยุดซะ โปรเจกต์ 2 ที่ทำงานด้านโปรดักชั่นมาเกือบ 20 ปี มองเห็นแนวโน้มของปัญหาการบูลลี่ที่รุนแรงขึ้น และยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงผุดไอเดียใช้ความเชี่ยวชาญของตัวเอง และทีมงานบริษัทคิดดี อินฟินิตี้ จำกัด มาสร้างสรรค์สื่อเพื่อหยุดการกลั่นแกล้งกันในโลกออนไลน์ อีกครั้ง

“พอมาศึกษาแล้ว เรื่องการบูลลี่มันมีหลายแง่มุมที่น่าสนใจและน่าเป็นห่วงมาก ๆ อย่างเรื่องCyberbullying สามารถแยกออกมาได้มากถึง 7 ประเภท เรื่อง Hate Speech ก็แยกย่อยได้อีก 8 ประเภท มีอะไรให้น่าค้นหาอีกเยอะแยะเลย แต่จะนำเสนอยังไงให้แตกต่างจากคนอื่น ก็เลยฉีกมาทำละครสั้นในโปรเจกต์แรก และพัฒนาต่อยอดมาเป็นสารคดีเชิงละครสั้น ในโปรเจกต์2 นี้”

สารคดีเชิงละครสั้นโครงการหยุดซะ โปรเจกต์ 2 มีทั้งหมด 6 ตอน ความยาวตอนละ 7-10นาที เผยแพร่ทางช่อง
ยูทูบ yutza โดยในแต่ละตอนที่นำเสนอ ล้วนได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องเล่าในชีวิตจริงของคนต้นเรื่องจาก
หลากหลายอาชีพที่ถูกกลั่นแกล้ง นอกจาก ซามีน่า ดีมาลย์ แล้ว ก็ยังมีเรื่องของคนทำงานโปรดักชัน ที่ไปด้อยค่าเพื่อนร่วมงานจนเขาลาออก เรื่องของนักร้องสาวอวบน้ำหนัก 100 กว่ากิโลกรัม ที่โดนล้อเรื่องสรีระมาตั้งแต่สมัยเรียน

เรื่องของเด็กมหาวิทยาลัยที่ถูกกีดกันออกจากลุ่มเพื่อน ใครคบจะถูกแบน เรื่องของอินฟลูเอนเซอร์ LGBTQ ที่โพสต์ขายของด้านเกษตร แล้วโดนโซเชียลกระหน่ำต่อว่าเรื่องรูปลักษณ์ และเรื่องของนักร้องที่เคยประกวดเดอะวอยซ์ พอมาไลฟ์ร้องเพลงในติ๊กต๊อก ก็ถูกโซเชียลบูลลี่เรื่องที่มีรูปร่างเตี้ย หาว่าตกอับเลยต้องมาหากินทางนี้

“ในทุก ๆ ตอน นอกจากเล่าปัญหาจากเรื่องราวชีวิตของคนต้นเรื่องแล้ว ในช่วงท้ายก่อนจบ จะมีจิตแพทย์มาช่วยอธิบายว่า สิ่งที่เขาเจอมันคืออะไร และควรจะแก้ไขยังไง เหมือนเป็นการช่วยสรุปให้อีกครั้ง พร้อมทั้งให้คำแนะนำเพิ่มเติม และในบางเรื่องก็จะมีทนายความมาให้ความรู้เกี่ยวกับการบูลลี่ด้วย ถ้าเป็นอะไรที่ไปโจมตีหรือหมิ่นประมาทคนอื่น ก็จะเข้าข่ายผิด พรบ.คอมพิวเตอร์”

แม้สารคดีเชิงละครสั้นจากแรงบันดาลใจของคนต้นเรื่องทั้ง 6 คน จะมีเสียงตอบรับค่อนข้างดี สะท้อนได้จากยอดวิวจำนวนหลายแสน แต่นั่นก็อาจยังไม่ได้ทำให้ วราวุธ ฉิมกิจ และทีมงาน มีความสุขมากเท่ากับการทำให้ผู้ชมได้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ถึงความรู้สึกของผู้ถูกกระทำ ว่าเขารู้สึกอย่างไร และนำไปสู่การหยุด หรือลดพฤติกรรมการ
บูลลี่ในสังคมให้น้อยลง

#กองทุนสื่อ #หยุดซะโปรเจกต์2
#เล่าสื่อกันฟัง #บทความเล่าสื่อกันฟัง
#ผลงานผู้รับทุนกองทุนสื่อ
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
#กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ติดตาม “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ได้ที่
Website : www.thaimediafund.or.th
Facebook : กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
Youtube : www.youtube.com/c/ThaiMediaFund
Line Official : @thaimediafund