“อันดามัน ชาติพันธุ์มิใช่ความต่าง”
ท่ามกลางเกลียวคลื่นและผืนน้ำกว้างบนท้องทะเลอันดามัน ที่เป็นเหมือนบ้านของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ผู้คนและสังคมแทบไม่รู้จักตัวตนและวิถีของพวกเขา ทั้งที่อยู่บนแผ่นดินเดียวกัน ทั้งชาวมอแกลนบ้านทับตะวัน ที่พังงา ชาวอูรักลาโว้ย ที่หาดราไวย์ ในภูเก็ต และชาวมอแกน บนเกาะพยาม ที่ระนอง ซึ่งพวกเขาพยายามสื่อสารให้คนบนโลกนี้เห็นตัวตนและเคารพสิทธิของพวกเขาด้วยความเท่าเทียม
.
“ก่อนหน้านี้ พวกเราใช้การรณรงค์ เดินไปรณรงค์ในจังหวัด ในอำเภอ แล้วก็ไปกรุงเทพฯ ไปทำอาหารให้เขาเห็นรสชาติของความเป็นมอแกลน แต่การรณรงค์ มันดูคล้ายเหมือนกับว่าเป็นการประท้วง สังคมก็จะมองว่าพวกเรารุนแรงอะไรอย่างนี้ แต่ว่าพวกเราเนี่ยไม่มีความรู้ ไม่รู้จะทำอย่างไร”
”หญิง” อรวรรณ หาญทะเล ชาวมอแกลนบ้านทับตะวัน อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา บอกเล่าแนวทางที่พี่น้องเครือข่ายชาติพันธุ์ชาวเล เคยใช้สื่อสารกับสังคม แต่ผลตอบรับยังไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ เธอกับชาวมอแกลนในชุมชนและเครือข่าย จึงพยายามลุกขึ้นมาพัฒนาชุมชนมอแกลนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว และใช้โซเชียลมีเดีย สื่อสารกับสาธารณะในรูปแบบใหม่ ๆ ให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น
.
คลิปวิดีโอจากฝีมือของ “ต้นกล้า” อารักษ์ เทพส่ง ลูกชายของเธอที่ถ่ายภาพเล่าเรื่องราววิถีชีวิตที่พึ่งพาตัวเอง การอยู่กับธรรมชาติและท้องทะเลของชาวมอแกลน ถ่ายทอดลงผ่านเพจ The Moklan Tour มอแกลนพาเที่ยว ทำให้ผู้คนเริ่มเห็นถึงภูมิปัญญาและความรู้อีกมากมาย ทั้งการใช้สมุนไพร การจักสาน และการรำรองเง็ง วัฒนธรรมการละเล่นอันเก่าแก่ของชาวมอแกลน รวมถึงความคิดความเชื่อ คำสอนของบรรพบุรุษที่สืบทอดกันมาบนแผ่นดินเกิดและเป็นแผ่นดินตายของพวกเขา
.
“พวกเรามีที่ดินเพื่ออยู่อาศัย ที่ดินเป็นของส่วนรวม ไม่มีสิทธิ์ครอบครองเป็นเจ้าของ เมื่อตายไปก็ต้องให้ลูกหลานอาศัยต่อ มีเพียงที่ดินผืนเดียวที่เราเป็นเจ้าของ นั่นก็คือ ที่ดินที่เป็นสุสาน”
.
ความตั้งใจของเยาวชนชาวมอแกลนบ้านทับตะวัน พังงา ที่ถ่ายคลิปวิดีโอเล่าเรื่องราวตัวตนของพวกเขา รวมถึงเรื่องราวของเยาวชนชาวอูรักลาโว้ย หาดราไวย์ ภูเก็ต และเยาวชนชาวมอแกน ที่เกาะพยาม ระนอง ที่พยายามทำให้สังคมเข้าใจวิถีชาติพันธุ์อันดามันมากขึ้น กลายเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์สารคดีชุด “อันดามัน : ชาติพันธุ์มิใช่ความต่าง” สารคดีชีวิตชาติพันธุ์แห่งอันดามัน ทั้ง 3 ตอน ให้ผู้คนบนโลกนี้ได้รู้จักตัวตนพวกเขามากขึ้น
.
โดยสารคดีชุดนี้บริษัทภาคภูมิใจเสมอ จำกัด ร่วมกับ มูลนิธิชุมชนไท ซึ่งขับเคลื่อนทำงานอยู่กับกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลมากว่า 30 ปี ร่วมกันผลิตขึ้น มี พัฒนะ จิระวงศ์ ผู้กำกับสารคดีมากฝีมือ และดร.จุมพล ทองตัน หรือที่รู้จักกันในชื่อโกไข่ ศิลปินนักร้องและนักแต่งเพลงชื่อดังมาสร้างสรรค์งานเพลงประกอบสารคดีแห่งชีวิตชุดนี้ด้วย โดยได้รับทุนสนับสนุนและส่งเสริมความเท่าเทียมจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในประเภทเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปี 2564
ภาคภูมิ ประทุมเจริญ หัวหน้าโครงการฯ และผู้ควบคุมการผลิตภาพยนตร์สารคดีชุด “อันดามัน : ชาติพันธุ์มิใช่ความต่าง” บอกว่า สารคดีชุดนี้ พูดถึงความเท่าเทียมอย่างนุ่มนวลผ่านการเล่าเรื่องอย่างจริงใจ พาผู้ชมไปทำความรู้จักกับวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ในคาบสมุทรอันดามัน ผ่านเยาวชนคนรุ่นใหม่ในแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างความตระหนักในความหมายของ “คน” ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ยิ่งเรารู้จักวัฒนธรรมของคนอื่นมากเท่าไหร่ เราจะยิ่งเห็นความเป็นคนเท่ากันมากขึ้นเท่านั้น
.
“ในสารคดีทั้ง 3 ตอน เราเล่าเรื่องถึงความภาคภูมิใจของชาวเลในแต่ละพื้นที่ เอกลักษณ์ วัฒนธรรม และคุณค่าในความหมายของเขา เมื่อเราพูดถึงความเท่าเทียม มันจะมีความเท่าเทียมหลายระดับ 1.เขาต้องยอมรับก่อนว่าเขามีความเท่าเทียม 2.คนในสังคมเขาต้องมีความเท่าเทียม 3.ในมุมมองของคนภายนอกหรือต่างประเทศ เขามองเห็นความเท่าเทียมอย่างไร ฉะนั้นเราจึงเอาเรื่องของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์เป็นภาพยนตร์ ผ่านการเล่าเรื่องจากเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งพวกเขามีความคลาสสิคที่แตกต่างกัน”
.
ภาพยนตร์สารคดีชุด “อันดามัน : ชาติพันธุ์มิใช่ความต่าง” ใช้เวลาผลิตกว่า 1 ปี เพิ่งเผยแพร่ผ่านทางช่อง 9 MCOT HD ไปเมื่อไม่นานมานี้ สามารถชมย้อนหลังได้ที่ช่องยูทูบ Andaman Short film ขณะเดียวกันทีมผู้ผลิตยังนำไปฉายหนังกลางแปลง ให้พี่น้องชาวมอแกลน มอแกน และอูลักละโว้ย ในพื้นที่อันดามัน ทั้งที่ พังงา ภูเก็ต ระนอง กระบี่ รวมถึงเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล พื้นที่ที่พึ่งเกิดปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดิน ให้ได้รับชมกันด้วย ซึ่งอย่างน้อยก็ช่วยให้พวกเขาได้รับรู้ถึงการมีตัวตน มีคุณค่า มีความภูมิใจ ที่เสียงของพวกเขาที่อยากตะโกนให้เพื่อนร่วมโลกรับรู้ถึงการมีอยู่ของชาติพันธุ์ในทะเลอันดามัน ประเทศไทย เริ่มมีคนได้ยินบ้างแล้ว
.
#กองทุนสื่อ #อันดามันชาติพันธุ์มิใช่ความต่าง
#เล่าสื่อกันฟัง #บทความเล่าสื่อกันฟัง
#ผลงานผู้รับทุนกองทุนสื่อ
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
#กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ความเห็นล่าสุด