เลือกหน้า

“อันดามัน ชาติพันธุ์มิใช่ความต่าง”
“เราต่างมีศาสตร์ศิลป์ ทุกท้องถิ่นเป็นเอกลักษณ์”
“ตันหยง ตันหยง….”
“ยิ่งพอได้รู้จัก ยิ่งหลงรักในกันและกัน”
“ยอมรับความหลากหลาย มัดหัวใจความเหมือนให้มั่น”
“หลอมรวมชาติพันธุ์ กลายเป็นเธอกับฉัน รักกันตลอดไป”
“ลัล ลัล ลา ลัล ล้า….ลัล ลัล ลา ลัล ล้า…ลัล ลัล ลา ลัล ล้า…..”
.
เนื้อร้องและท่วงทำนองของบทเพลง “เธอกับฉันรักกันตลอดไป” จากบทเพลงลอยเรือ ล้อเล่นไปกับเกลียวคลื่นในท้องทะเลอันดามันอันกว้างใหญ่ ที่ถ่ายทอดผ่านไลน์ดนตรีเกือบ 60 แทร็ค จากความหลากหลายที่มารวมเป็นหนึ่งเดียวกัน อยู่ในบรรทัด 5 เส้น ภายในเวลา 5 นาที กลายเป็นเหมือนเส้นด้ายร้อยเรียงเรื่องราวในภาพยนต์สารคดีชุด “อันดามัน ชาติพันธ์มิใช่ความต่าง” ทั้ง 3 ตอนเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน แม้จะเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธ์ 3 กลุ่ม ทั้งชาวมอแกลน บ้านทับตะวัน พังงา ชาวอูรักลาโว้ย หาดราไวย์ ที่ภูเก็ต และพี่น้องชาวมอแกน บนเกาะพยาม ที่ระนอง กลุ่มชาติพันธ์บนคาบสมุทรอันดามันของไทย ให้โลกได้รู้จักตัวตนพวกเขามากขึ้น โดยบทเพลงนี้ ดร.จุมพล ทองตัน หรือ โกไข่ ศิลปินนักร้องและนักแต่งเพลงชื่อดัง ลงพื้นที่ไปเก็บเสียงรำมะนาและเสียงเครื่องดนตรีพื้นถิ่น มาสร้างสรรค์เป็นบทเพลงด้วยตัวเอง
.
“สิ่งที่ผมตั้งใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ ก็เพื่อสร้างบทเพลงให้ชาวอันดามันทั้งปวง ไม่ว่าจะสืบเชื้อสายมาจากชาติพันธุ์ใด ๆ ได้เห็นว่า เราชาวอันดามันมีความเสมอภาคและเท่าเทียมกันในแง่มุมต่างๆ”
.
บทเพลง “เธอกับฉันรักกันตลอดไป ” กลายเป็นพลังสำคัญนำผู้ชมให้เข้าไปสัมผัส เรื่องราวสารคดีทั้ง 3 ตอน ซึ่งแต่ละตอน จะมี Pain Point หรือประเด็นหลักในการสื่อสารเรื่องความเท่าเทียมในแง่มุมที่แตกต่างกันออกไป ตามวิถีของชาวเลในแต่ละพื้นที่ ผ่านมุมมองของเยาวชนคนรุ่นใหม่ อย่างตอนแรก เป็นเรื่องราวของชาวมอแกลน บ้านทับตะวัน ที่ จ.พังงา ที่พยายามจะลุกขึ้นมาหาวิธีสื่อสารกับสังคมในรูปแบบใหม่ ๆ ที่ดูนุ่มนวลและที่น่าสนใจมากขึ้น จากเดิมที่เคยถูกมองว่าเป็นพวกหัวรุนแรง และไม่รู้ว่าจะสื่อสารอย่างไร โดยมี “ต้นกล้า” เยาวชนในหมู่บ้าน ที่มองเห็นถึงวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปและกำลังจะสูญหาย เข้ามาช่วยถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ และถ่ายทอดเรื่องราวของพวกเขาลงในโซเชียลมีเดีย

ตอนที่ 2 สะท้อนมุมมองแนวคิดของกลุ่มเยาวชนชุมชนราไวย์ จ.ภูเก็ต ที่สื่อสารเรื่องราวความรักและความภาคภูมิใจในแผ่นดินเกิดของตัวเอง หลังจากได้ศึกษารากเหง้าทางวัฒนธรรม ผ่านด้วยวิชาศิลปะ การทำแผนที่ชุมชน จนทำให้พวกเขารู้สึกว่ามีตัวตน และสามารถสื่อสารกับคนอื่นได้
.
และตอนที่ 3 ถ่ายทอดเรื่องราวของชาวมอแกน ที่เกาะพยาม จ.ระนอง ผ่านกีฬาเซิร์ฟบอร์ด ที่เยาวชนมอแกนตั้งใจฝึกซ้อมและเข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งท้ายที่สุดแม้พวกเขาจะไม่ได้รับชัยชนะ แต่แค่มีโอกาสได้เล่นและแข่งขันกีฬามันก็ทำให้พวกเขารู้สึกเท่าเทียมกับทุกคน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนไทยเท่านั้นที่มองเห็น ชาวต่างชาติก็รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน
.
ภาคภูมิ ประทุมเจริญ หัวหน้าโครงการฯ และผู้ควบคุมการผลิตภาพยนตร์สารคดีชุด “อันดามัน : ชาติพันธุ์มิใช่ความต่าง” เล่าถึงความโชคดีของการผลิตงานชิ้นนี้ ว่านอกจากได้รับทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในประเภทเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปี 2564 แล้ว บริษัท ภาคภูมิใจเสมอ จำกัด ยังได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิชุมชนไท ที่ทำงานอยู่กับกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลมายาวนาน รวมถึงผู้กำกับสารคดีมากฝีมืออย่าง พัฒนะ จิระวงศ์ และดร.จุมพล ทองตัน หรือ โกไข่ นักประพันธ์เพลงชื่อดัง มาร่วมออกแบบและสร้างสรรค์ผลงานด้วย
.
ทุกคนล้วนตั้งใจใช้ความสามารถและความถนัดที่มีมาช่วยกันผลิตสารคดีชุดนี้ ซึ่งใช้เวลานานกว่า 1 ปี เพราะติดปัญหาสถานการณ์โควิด19 และเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลก็มีข้อมูลค่อนข้างเยอะ จึงต้องทำการบ้านกันอย่างหนัก แต่เมื่อนำสารคดีไปเผยแพร่ทางช่อง ช่อง 9 MCOT HD และช่องยูทูบ Andaman Short film ก็มีกระแสตอบรับอย่างดี โดยเฉพาะจากการนำกลับไปฉายหนังกลางแปลง ให้พี่น้องชาวเลได้ชม ในพื้นที่อันดามัน ทั้งที่ พังงา ภูเก็ต ระนอง กระบี่ และเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ทำให้พวกเขาภูมิใจ รู้สึกว่ามีตัวตนและมีคุณค่า สะท้อนได้จากแววตาที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง ไม่ต้องโดดเดี่ยว หรือเดินเพียงลำพังอีกต่อไป

“พี่น้องหลายคน บอกว่า เมื่อก่อนเวลาเราไปไหนต่อไหน เราไปพูด มันเหมือนเราไปตักอาหารเสริ์ฟให้เขา ไปพูดเรื่องวัฒนธรรม แต่เขาไม่กิน แต่สารคดีชิ้นนี้มันเหมือนออเดิร์ฟชวนให้คนมาลิ้มลอง และมาร่วมรับรู้วัฒนธรรมเดียวกับเรา อันนี้คือสิ่งที่เกิดในพื้นที่”
.
ส่วนเพลง “เธอกับฉันรักกันตลอดไป” ที่ใช้ประกอบสารคดีทั้ง 3 ตอน คนในพื้นที่ก็นำไปร้องเป็นเพลงประจำถิ่นในกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในเวอร์ชั่นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี เพราะเป็นเพลงที่ “โกไข่” แต่งมารากฐานวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ ผสมผสานสิ่งเก่าและสิ่งใหม่เข้าด้วยกัน จนทำให้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องราวของพวกเขาจริง ๆ และนอกจากความเพลิดเพลินแล้ว สารคดีชุดนี้ยังเป็นสื่อกลางช่วยสร้างพื้นที่ในการชวนคิดชวนคุย และยกระดับสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมในรูปแบบต่าง ๆ ได้อีกด้วย โดยเฉพาะการผลักดัน พ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่พวกเขาเรียกร้องกันมานาน
.
“ภูมิใจ ที่หลายๆครั้ง มูลนิธิชุมชนไท มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เขาก็หยิบเอาสารคดีชุดนี้ไปเปิดเป็น orientation ในการเริ่มต้นพูดคุย หรือสื่อสารในเวทีต่างๆ ฉะนั้นสื่อชุดนี้มันไม่ตาย ไม่ได้แค่ถูกฉายออนแอร์แล้วจบไป หรือต้องรอให้คนมาดูในยูทูบ แต่มันยังเป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์พี่น้องชาติพันธุ์ชาวเล และถูกขยายผลออกไปเรื่อยๆ”
.
ภาพยนตร์สารคดีชุด “อันดามัน : ชาติพันธุ์มิใช่ความต่าง” จึงไม่ได้เป็นเพียง สื่อกลางที่บอกเล่าเรื่องความเท่าเทียมอย่างนุ่มนวลและจริงใจ แต่ยังช่วยปลุกความหวังของพี่น้องชาติพันธุ์ชาวเล ที่อยากสื่อสารให้สังคมเข้าใจถึงความหลากหลายทางอัตลักษณ์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของพวกเขา เหมือนช่วงท้ายของบทเพลง “เธอกับฉันรักกันตลอดไป” ในสารคดีชุดนี้ ที่ยังดังก้องอยู่ในใจของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์อันดามัน และหวังว่ามันจะเริ่มดังอยู่ในใจของผู้คนบนโลกใบนี้ ที่ได้ชมสารคดีชุดนี้ด้วย
.
“ลัล ลัล ลา ลัล ล้า….ลัล ลัล ลา ลัล ล้า…” “ตันหยง ตันหยง…”
“ลัล ลัล ลา ลัล ล้า….ลัล ลัล ลา ลัล ล้า…” “หยงไรล่ะน้อง”
“ลัล ลัล ลา ลัล ล้า….ลัล ลัล ลา ลัล ล้า…” “หยงความเท่าเทียม”
.
#กองทุนสื่อ #อันดามันชาติพันธุ์มิใช่ความต่าง
#เล่าสื่อกันฟัง #บทความเล่าสื่อกันฟัง
#ผลงานผู้รับทุนกองทุนสื่อ
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
#กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์