“อาหารไทย มีเสน่ห์ มีเรื่องราว บอกเล่าวิถีชีวิต” ถือเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ “อีดิเบิ้ล สตอรี่ ไทยแลนด์” ดินแดนแห่งความอร่อยของอาหารไทย ที่คุณละมัย สีสุระ หัวหน้าโครงการ รวมถึงทีมงาน หยิบมาเป็นจุดขายเพื่อนำเสนอเสน่ห์และอัตลักษณ์ของอาหารไทยให้ชาวไทยและชาวโลกได้รู้จักมากขึ้น นำเสนอผ่านพิธีกรชาวต่างชาติมากฝีมือที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมายาวนาน อย่างคุณแดเนียล เฟรเซอร์ ทำหน้าที่สื่อสารและพาผู้ชมเดินทางไปเรียนรู้เรื่องราวอันน่าสนใจ รวมทั้งสัมผัสกับวัตถุดิบ กรรมวิธีการผลิต วิถีชีวิต และวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อให้รู้ว่านอกเหนือจากต้มยำกุ้ง ผัดไท และอาหารขึ้นชื่อแล้ว ยังมีอีกหลากหลายเมนูจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศที่น่าสนใจ มีเรื่องราวและมีที่มาที่ไปซึ่งซ่อนอยู่ภายใต้อาหารไทยแสนอร่อย นี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้ตัดสินใจเสนอโครงการนี้เข้ารับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทเปิดรับทั่วไป (Open Grant) ประจำปี 2564
โดยโครงการ “อีดิเบิ้ล สตอรี่ ไทยแลนด์” นำเสนอในรูปแบบรายการสารคดีอาหารไทย ถ่ายทอดเอกลักษณ์ของอาหารพื้นถิ่น ผสานกับเสน่ห์ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นออกมาเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ สอดแทรกวิถีความเป็นอยู่ การสืบเสาะหาวัตถุดิบสำคัญของแต่ละเมนู พร้อมบอกเคล็ดลับการปรุงอาหารอีกด้วย นับเป็นการส่งเสริมการทำอาหารไทยสำหรับชาวต่างชาติ ซึ่งตรงกับกลุ่มเป้าหมายของรายการมากที่สุด เนื่องจากชาวต่างชาติมองว่าอาหารไทยมีมนต์เสน่ห์ เป็นองค์ความรู้ และยิ่งได้สัมผัสเรื่องราวในกระบวนการทำอาหารตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้ชาวต่างชาติอยากทำอาหารไทย รวมทั้งเดินทางมาลิ้มลองเมนูต่าง ๆ เหล่านั้นมากขึ้น ถือเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศได้อีกทางหนึ่ง
คุณละมัย ยังเล่าอีกว่า ด้วยความที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคสำคัญ คือการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้การถ่ายทำรายการต้องล่าช้าออกไป จึงจำเป็นต้องขยายระยะเวลาทำสัญญา บวกกับทีมงานไม่ต้องการให้พิธีกรใส่หน้ากากอนามัยขณะดำเนินรายการ เพื่อให้เห็นรอยยิ้มและแววตาที่ต้องการสื่อสารออกไป แต่เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคจึงจำเป็นต้องปฏิบัติตาม ซึ่งทุกอย่างก็ผ่านไปได้
ส่วนเรื่องของข้อมูลที่นำเสนอนั้น จำเป็นต้องมีที่ปรึกษาโครงการที่เป็นผู้รอบรู้เรื่องอาหารไทยในแต่ละภูมิภาคมาให้คำแนะนำ โดยก่อนที่จะเริ่มต้นโครงการ “อีดิเบิ้ล สตอรี่ ไทยแลนด์” เทปแรก ได้ประชุมร่วมกับคณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการฯ ซึ่งแต่ละท่านจะให้ข้อคิดเห็นและคำแนะนำเกี่ยวกับภาพรวมของสิ่งที่จะต้องนำเสนอผ่านรายการ ขณะที่ผู้ประสานงานโครงการก็คุ้นเคยกับทีมงานเป็นอย่างดี ทำหน้าที่ให้ข้อมูลและแนวทางที่ชัดเจน ทำให้การทำงานราบรื่น เป็นระบบ มีกรอบระยะเวลา ทีมงานสามารถบริหารจัดการทุกขั้นตอนได้ตามที่กำหนด
และถ้าถามถึงความสุขจากการทำงานและการร่วมงานกับกองทุนฯ คุณละมัย บอกว่า ในฐานะผู้ผลิตสื่อ ความสุขอย่างหนึ่ง คือการได้เสนอไอเดียนอกกรอบ ไม่ต้องถูกจำกัดความคิด ทำให้ทีมงานแต่ละคนรู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้ทำงาน
“ความสุขของผู้ผลิต ถ้าเราทำงานด้าน production กองทุนสื่อฯ ถือเป็นหน่วยงานที่เราสามารถเสนอไอเดียที่ไม่มีกรอบ เป็นไอเดียที่ไม่ได้บอกว่าต้องทำแบบนี้ ๆ เป็นไอเดียที่มาจากทีม สามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ในการทำสื่อดี ๆ ที่อยากนำเสนอออกไปทั้งภาพ เสียง วิธีการ เราได้เป็นอิสระในการทำงาน เราจะเล่าเรื่องต่าง ๆ ออกมาได้อย่างเต็มที่ และพอผลงานออกมาแล้วความสุขอีกอย่างหนึ่งก็คือคำชม คณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการฯ จะชมตั้งแต่เทปแรกเลยว่าภาพสวย วิธีการเล่าเรื่อง เพลงประกอบลงตัว หลังจากนั้นเทป 2, 3, 4 ก็ไม่ติดอะไร ซึ่งคำชมนี้เองที่ทำให้ทีมงานมีกำลังใจที่อยากจะผลิตสื่อดี ๆ อีกในอนาคต”
นอกจากนี้ทีมงานยังได้ประเมินผลของโครงการ “อีดิเบิ้ล สตอรี่ ไทยแลนด์” หลังออกอากาศครบ 8 ตอน จากตอนแรกที่การันตีกับคณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการฯ ไว้ว่าจะมียอดการรับรู้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติประมาณ 3 ล้านครั้ง แต่หลังออกอากาศจนจบโครงการปรากฏว่ายอดการรับรู้พุ่งสูงถึง 13 ล้านครั้ง ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และเป็นกำลังใจอีกอย่างหนึ่งของคนทำงาน
สามารถรับชม “อีดิเบิ้ล สตอรี่ ไทยแลนด์” ได้ที่ Facebook : Daniel B. Fraser และ YouTube : Edible Story Thailand
ความเห็นล่าสุด