“บัดนั้น หนุมาน ชาญสมร
ราญรอน เชิดนอก เข้าออกสู้
แคนนอน ยักษ์พลั้ง ครั้งพันตู
จึงยึดอยู่ เมตะเวิร์ส เลิศฤทธิไกร”
กล่าวคือ เมื่อหนุมาน ทหารเอกของพระราม ซึ่งเป็นดังตัวแทนมนุษย์ ได้บุกเข้ายึดโลกเมตาเวิร์สดนตรีไทยจากยักษ์ สู้รบกันด้วยเสียงเพลง หนุมานใช้บทเพลง “เชิดนอก” ส่วนยักษ์ใช้บทเพลง “Canon Rock” ท้ายที่สุด หนุมานเป็นฝ่ายชนะ เข้ายึดนครเมตะดนตรีไทยได้สำเร็จ
บทกลอนเสภา โหมโรงเปิดจักรวาลเมตะดนตรีไทย ระนาดไทยในเมตาเวิร์ส นำเข้าสู่เรื่องราวของมิวสิกวิดีโอเพลง “เชิดนอก” ปะทะ “Canon Rock” สองบทเพลงที่มีการใส่กลเม็ดการเดี่ยวระนาดเอกไทยเอาไว้มากมาย เช่น กรอ เก็บ สะบัด สะเดาะ ขยี้ รัว และคาบลูกคาบดอก โชว์ให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของดนตรีไทย
ในฉากสวนเสมือน โซนด้านหน้าของเมตาเวิร์สที่เปรียบเสมือนประตูเมือง และลานบรรเลง ซึ่งเป็นเสมือนตัวเมืองชั้นใน ที่ใช้จัดคอนเสิร์ตดนตรีไทยด้วยเทคโนโลยี immersive เป็นมิวสิกวิดีโอ 1 ใน 3 คลิป ที่ “ฟีโน่ ระนาดเอก” หรือ ปาเจร พัฒนศิริ อาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ อินฟลูเอนเซอร์ระนาดเอกร่วมสมัย และทีมที่เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทยและเทคโนโลยีการสื่อสาร ร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้น ด้วยความตั้งใจ ที่อยากจะนำเทคโนโลยีมาช่วยผลักดันให้ดนตรีไทย เป็นซอฟต์พาวเวอร์ เข้าถึงคนไทยและชาวต่างชาติได้ง่ายขึ้น
“เราพยายามคิดหาวิธีเข้าถึงกลุ่มคนที่ไม่ได้สนใจดนตรีไทย ซึ่งบางคนก็มองว่าดนตรีไทยน่ากลัว ดูโบราณ มีขนบธรรมเนียม ไม่สามารถมาโยกหัวได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันทำได้ เราเลยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อให้เห็นความว๊าวของดนตรีไทย ทำให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น และการจะทำให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ ก็ไม่ควรเห็นกันเองแค่ในเมืองไทย แต่มันควรเผยแพร่ออกไปข้างนอก ไปไกลกว่าในประเทศ ก็เลยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย”
ดนตรีไทยในเมตาเวิร์ส เฟสแรกนี้ แม้จะยังไม่ได้สร้างให้เป็นเมตาเวิร์สเต็มรูปแบบ แต่ทีมผู้ผลิตก็พยายามทำให้เห็นไอเดีย หน้าตาของฉากในโลกเมตาเวิร์ส และฟังชั่นการทำงาน ว่าสามารถทำได้จริง โดยในโครงการเมตะดนตรีไทย ระนาดไทยในเมตาเวิร์ส ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปี 2565 มีมิวสิกวิดีโอทั้งหมด 3 บทเพลง ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านฉากที่สร้างขึ้นในโลกเมตาเวิร์ส และความยิ่งใหญ่ของการเดี่ยวระนาดเอก
ได้แก่ เพลง “เชิดนอก” รบ “Canon Rock” บทเพลงที่กล่าวไปในข้างต้น เพลง “คำหวาน” เพลงช้า ๆ ที่เล่นกับซอ อยู่ในสวนเสมือนของเมตาเวิร์ส โชว์ให้เห็นว่าสามารถให้คนอีกคนImmersive เข้ามาฟีเจอริ่งกับ ฟิโน่ ผู้เล่นระนาดเอก อยู่ในเฟรมเดียวกันได้ และ เพลง “ค้างคาวกินกล้วย Symphony”
บทเพลงที่โชว์ศักยภาพดนตรีไทย ว่าถ้านำนักดนตรีไทยหลาย ๆ คน จากหลาย ๆ ที่ มาเล่นด้วยกัน โดยไม่ต้องเห็นหน้า จะออกมาเป็นยังไง อยู่ในฉากที่เป็นพิพิธภัณฑ์เรือนตระการในโลกเมตาเวิร์ส ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาชมได้ในลักษณะเป็นตัวอวตาร
“เรามีทีมงานกันแค่ 5 คน เฟสนี้ยังไม่ได้เป็นเมตาเวิร์สเต็มรูปแบบ แต่เราพยายามจะทำให้เขาเห็นจินตนาการของเราว่า ฉากหน้าตาจะเป็นยังไง และลองจำลองออกมาว่าฟังชั่นต่าง ๆ ทำงานยังไง เป็นการโชว์ให้เขาเห็นว่ามันสามารถทำได้จริง เราสามารถนำเทคโนโลยีมาช่วยผลักดันให้ดนตรีไทยดูร่วมสมัยและเป็นที่รู้จักได้”
ดนตรีไทยในเมตาเวิร์ส ทั้งสามบทเพลง “เชิดนอก รบ Canon Rock” “คำหวาน” และ “ค้างคาวกินกล้วย Symphony” มีความยาวคลิปละ 5-6 นาที เผยแพร่อยู่ในช่องยูทูบและติ๊กต็อก Fino the Ranad ช่องของอินฟลูเอนเซอร์ดนตรีไทย ที่เล่นระนาดเอกโคฟเวอร์เพลงร่วมสมัยมานานกว่า 10 ปี
“สำหรับกลุ่มที่สนใจดนตรีไทยอยู่แล้ว อยากให้เปิดใจและมาดูว่า ดนตรีไทยที่เป็นแนวสร้างสรรค์และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยผลักดัน มันจะพัฒนาต่อยอดอย่างไรได้บ้าง ส่วนคนที่ไม่ได้สนใจดนตรีไทยมาก่อน หรือไม่ชอบดนตรีไทย ก็อยากให้มาดูคลิปของเรา จะได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และได้ไปในที่ที่ไม่เคยไปจากโลกเมตาเวิร์ส” ฟีโน่ ระนาดเอก กล่าวทิ้งท้าย เชิญชวนให้คนไทยมาร่วมภาคภูมิใจและประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ของดนตรีไทยไปด้วยกัน
ความเห็นล่าสุด