เลือกหน้า

โนราไทยฟิต งดงามจากร่ายรำสู่ท่าออกกำลังกาย
.
“1 – 2 – 3 – 4 โดด 5 – 6 ซอยเท้า 7 – 8”
เสียงให้จังหวะออกกำลังกาย ด้วยท่วงท่าที่นำความอ่อนช้อยงดงามของรำไทยหลายรูปแบบ มาปรับใช้เป็นท่าการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กลายเป็นจุดเด่นในคลาสออกกำลังกายแบบไทยฟิต ที่ “มาดาพร น้อยนิตย์” หรือ “ครูเฟี้ยว” และ “ขจิตธรรม พาทยกุล” หรือ “ครูดิว” สองสาวผู้ก่อตั้ง Thai Fit Studio และประยุกต์นำนาฏศิลป์ไทย
ทั้งรำมาตรฐาน ระบำมาตรฐาน โฟล์ค นาฏศิลป์พื้นบ้าน เหนือ กลาง อีสาน ใต้ ไปจนถึงโขนและศิลปะป้องกันตัว
.
ซึ่งมีการเคลื่อนไหวและใช้กล้ามเนื้อแทบทุกส่วนของร่างกาย นำไปศึกษาร่วมกับแพทย์และนักวิทยาศาสตร์การกีฬา ออกแบบเป็นท่าออกกำลังกายที่แปลกใหม่ งดงาม สนุกสนาน ได้เหงื่อ ได้สุขภาพ จนได้รับความนิยมอย่างมากจากทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะโนราไทยฟิต ท่าออกกำลังกายจากมโนราห์ การแสดงพื้นบ้านจากภาคใต้ของไทย ที่ทั้งสองคนมีโอกาสได้ไปร่ำเรียนกับโนราชั้นครูของปัตตานี จนกลายมาเป็นโนราไทยฟิตที่ผู้คนรู้จักในวงกว้างมากขึ้น จากภาพยนตร์สารคดีสั้น ความยาว 37 นาที 19 วินาที แต่ใช้เวลาถ่ายทำนานถึง 1 ปีเต็ม โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปี 2565 และมีโอกาสฉายในโรงภาพยนตร์ ลิโด้ รวม 7 รอบ รวมทั้งออกอากาศทางทรูไอดีและเผยแพร่ในออนไลน์ ถ่ายทอดเรื่องราวของสองสาวจากกรุงเทพฯ ที่ลงไปเรียนรู้วิถีโนรา ที่ปัตตานี และจากที่ตั้งใจแค่ไปเรียนท่ารำมโนราห์ที่ถูกต้อง
เพื่อมาพัฒนาเป็นท่าออกกำลังกาย แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นความภูมิใจในชีวิตของทั้งสองคนเมื่อได้ก้าวเข้าสู่
โลกของโนรา
.
“ทั้งดิวและเฟี้ยว สนใจโนรากันอยู่แล้ว รู้สึกว่าเวลาดูท่ารำมโนราห์เนี่ย การใช้กล้ามเนื้อของเขาน่าสนใจ แต่เราทำท่าทำให้ถูกหลักทำไม่ถูกหรอก ก็คิดว่าถ้าเราได้เรียนจริงจัง แบบที่เรียนกับเจ้าของวัฒนธรรม ได้เรียนรู้ทั้งหมดเลยทั้งกระบวนการ วิธีการถ่ายทอด วิถีของโนรา มันอาจจะทำให้เราหยิบจับทุนวัฒนธรรมนี้ไปสร้างสรรค์ต่อได้”

นั่นเป็นจุดพลิกผันในสารคดี ที่พาไปดูเรื่องราวของทั้งสองสาว ที่เดินทางลงใต้ ไปสัมผัสวิถีชีวิตท้องถิ่น ทั้งผู้คน การแต่งกาย และภาษาที่แตกต่าง แต่งดงามของเมืองปัตตานี ซึ่งทั้งเฟี้ยวและดิวหอบความตั้งใจไปเต็มเปี่ยม แม้จะกังวลว่าจะสามารถเรียนรู้จากโนราชั้นครูได้แค่ไหน จนได้ขึ้นขัน ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของพ่อครูเฉลิมและแม่ครูประภา มโนราห์คณะเฉลิมประภา โนราชั้นครูของปัตตานี ซึ่งเป็นเหมือนผู้ให้กำเนิดและเปิดโลกให้ทั้งสองคนก้าวเข้าไปสัมผัสโนราได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น จนความกังวลลดลงและอบอุ่นในหัวใจมากขึ้น
.
“ที่ประทับใจ คือตอนมอบขัน ให้ขันแล้ว ณ ตอนนี้ก็ยังรู้สึกแบบเราเป็นคนแปลกหน้ามาก ๆ แต่เขาก็ให้ความเมตตาเรามาก ๆ เลยรู้สึกว่าเรามาถึงจุดที่มาเจอของจริง สุดท้ายแล้วมันเป็นบรรยากาศที่ไม่ได้คิดมาก่อนด้วย ว่าจะมีความศักดิ์สิทธิ์ มีความขลัง และมีการต้อนรับแบบนี้อยู่” เฟี้ยวเล่าความรู้สึกด้วยน้ำเสียงที่สั่นเครือ เมื่อพูดถึงวินาทีนั้น ไว้ในช่วงหนึ่งของสารคดีเรื่องนี้
.
พร้อม ๆ กับการเดินเรื่อง เริ่มต้นการเรียนรำมโนราห์ของทั้งสองคน จากพ่อครู แม่ครู และพี่มล ครูผู้ช่วยสอนจากพื้นฐานด้วยบทสอนรำ ซึ่งเต็มไปด้วยท่ารำโนรามากมาย ทั้งเขาควาย ช่อระย้า โคมเวียน ซึ่งต้องฝึกก้าว เก็บเท้า กระโดด และลีลาที่เคลื่อนไหวไปตามจังหวะดนตรีปี่กลองของมโนราห์ ใช้เวลาเรียน 5 วันเต็ม พร้อมกับบททดสอบของโนรามือใหม่ ที่เรียนแล้วต้องขึ้นแสดงบนเวทีจริง

“มันเหมือนเป็นโกล เรียนอะไรสักอย่างหนึ่งและมีโอกาสแสดง” เฟี้ยวบอกหลังได้รับโอกาสให้ขึ้นแสดงโนราครั้งแรกในฐานะศิษย์คณะเฉลิมประภา ในงานฉลองกฐินที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือ มอ. ซึ่งในสารคดีถ่ายทอดให้เห็นถึงความทุ่มเท ความพยายาม และความอบอุ่นจากพ่อครู แม่ครู ที่สวมสังวาลย์ ใส่สร้อย กำไลและนำเทริด (เชิด) เครื่องประดับศีรษะโนรา จากบนหิ้งสวมหัว พร้อมอวยพรก่อนขึ้นแสดง ซึ่งผ่านพ้นไปได้ด้วยดี พร้อม ๆ กับความรู้สึกของทั้งสองคนที่รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของความเป็นโนราที่ก่อขึ้นในใจ
.
“คนหนึ่งคน ได้ถูกปรุงแต่งกับศาสตร์ใหม่ แล้วเราก็ไม่ใช่ศิษย์ไม่มีครู ช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แต่หล่อหลอมให้ทั้งสองสาว กลายเป็นโนราเฟี้ยวและโนราดิว ที่มาพร้อม ๆ กับการนำการร่ายรำที่สวยงามของมโนราห์ไทย สู่ท่วงท่าออกกำลังกายโนราไทยฟิต ได้อย่างเต็มภาคภูมิ เปิดโลกให้ผู้คนได้เริ่มต้นเรียนรู้โนราด้วยท่าการออกกำลังกาย และพร้อมจะขยายให้ผู้คนทั่วโลก ไม่ว่าเชื้อชาติใด ได้สัมผัสเสน่ห์ของโนราไทยได้ง่ายขึ้นและกว้างขึ้นในอนาคตด้วย
.
#กองทุนสื่อ #โนราไทยฟิต #เล่าสื่อกันฟัง
#บทความเล่าสื่อกันฟัง #ผลงานผู้รับทุนกองทุนสื่อ
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
#กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์