ตามที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานของผู้รับทุน ‘โครงการแกะดำในฝูงหมาป่าสีขาว’ และนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์รวมถึงการใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมต่อผู้รับทุน (บูลลี่) ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์นั้น กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอชี้แจงดังต่อไปนี้
1. ‘โครงการแกะดำในฝูงหมาป่าสีขาว’ เป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนประเภทเชิงยุทธศาสตร์ ในปี 2562 ประเด็นการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ (Cyberbullying) และการใช้ประทุษวาจา (Hate Speech) ในสื่อออนไลน์ที่สร้างความแตกแยกและเกลียดชังต่อผู้คนในสังคม ประเภทบุคคลธรรมดา ซึ่งในการคัดเลือกโครงการเป็นไปตามขั้นตอนและมาตรฐานการพิจารณาของทุกโครงการที่ส่งเข้าร่วม โดย นางสาวมัทรี ฉัตรแก้ววรวงศ์ เป็นการผลิตการ์ตูนคอมมิค “แกะดำในฝูงหมาป่าสีขาว” เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจแกะดำในฝูงหมาป่าสีขาว มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายตระหนักและรู้จักป้องกันตนเองจากการบูลลี่ เรียบเรียงข้อมูลที่ยาก ๆ ให้ตลกขบขัน ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมต่อการแก้ปัญหาในสังคมได้ต่อไป
2. ต่อมาโครงการได้ดำเนินการมาถึงขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เห็นว่าเป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์ในวงกว้าง จึงได้เชิญมาสัมภาษณ์ในรายการเล่าสื่อกันฟัง ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 8:30-8:55 น. ทาง พีเอสไอ สาระดี ช่อง 99 และเห็นสมควรให้ประชาสัมพันธ์โครงการให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง โดยได้นำเสนอภาพประกอบคำพูดส่วนหนึ่งของแขกรับเชิญมาเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ วันที่ 30 พฤษภาคม 2564
3. เมื่อภาพประกอบคำพูด จากทางทีมงานที่จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้ทำขึ้นนี้ ได้ถูกเผยแพร่ออกไป ปรากฏว่ามีผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิทั้งต่อผู้รับทุนและกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งข้อมูลที่นำไปวิพากษ์วิจารณ์หลายส่วนไม่ตรงกับสาระสำคัญของโครงการและข้อเท็จจริง
4. เมื่อเกิดปัญหาขึ้น งานสื่อสารองค์กร กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ยกเลิกข้อความดังกล่าว และได้หารือกับฝ่ายบริหารเพื่อไม่ก่อให้เกิดความสับสน อย่างไรก็ตามได้มีผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์นำข้อมูลภาพประกอบคำพูดไปเผยแพร่ต่อออกไปในวงกว้างจนไม่สามารถควบคุมได้
5. กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอชี้แจงว่าการตั้งชื่อโครงการแกะดำในฝูงหมาป่าสีขาว หมายถึง คนในโลกออนไลน์ที่อาจมีความคิดเห็นไม่ตรงกับคนส่วนใหญ่ที่แตกต่างกัน ซึ่งมีโอกาสที่จะถูกกระทำ (วิพากษ์วิจารณ์ด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม) ทั้งที่ความแตกต่างดังกล่าวอาจมิเป็นความผิดแต่ประการใด
6. กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีนโยบายแน่วแน่ในการรณรงค์ส่งเสริมต่อต้านการใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม คำด่า คำหยาบ หรือการระรานในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำ ทั้งนี้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์พร้อมน้อมรับคำติชมและวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลาย โดยขอให้หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำหยาบคาย และหากเป็นไปได้ขอให้แสดงตัวตนที่ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สามารถติดต่อได้เพื่อนำความคิดเห็นไปปรับปรุงการดำเนินงานต่อไป
7. กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ประสานงานทำความเข้าใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้รับทุนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ รวมทั้งได้ให้กำลังใจในการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขออภัยต่อนางสาวมัทรี และย้ำว่าผู้รับทุนรายดังกล่าวเป็นผู้รับทุนที่มีผลงานการดำเนินโครงการเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการตามที่กำหนด และผลงานเป็นที่น่าพอใจ
8. กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและผลกระทบทางจิตใจที่เกิดขึ้นกับผู้ถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ (Cyberbullying) แบบที่ทางผู้รับทุนได้ตกเป็นประเด็นถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ในครั้งนี้ ทางกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงใคร่ขอความร่วมมือกับผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ในการรับฟังและพิจารณาข้อมูลและข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนรอบด้านและขอให้การแสดงความคิดเห็นทั้งหลายอยู่ภายใต้กรอบกติกาของสังคมที่ยอมรับได้ เคารพสิทธิส่วนบุคคล และใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วยความรับผิดชอบและไม่ล่วงละเมิดต่อสิทธิผู้อื่น ดังนโยบายที่ทางกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในสังคมที่เชื่อมั่นว่าความพยายามนี้จะก่อให้เกิดผลของการเปลี่ยนแปลง การรับรู้และเรียนรู้ให้เกิดความเข้าใจ ประเด็นการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ (Cyberbullying) เพื่อลดการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ (Cyberbullying) อย่างกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้
วันที่ 8 มิถุนายน 2564
ความเห็นล่าสุด