เลือกหน้า

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ตอกย้ำพันธกิจผลิตสื่อสร้างสรรค์ แถลงข่าวเปิด “สานศาสตร์” โครงการงานถ่ายทอดองค์ความรู้จากศิลปินต้นแบบสู่คนรุ่นใหม่ ผ่านบทเรียนออนไลน์ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

อีกครั้งของการผลิตสื่อสร้างสรรค์ และสร้างตำนานความเป็นอมตะของศิลปินที่มี “ศาสตร์” ชั้นครู!กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แถลงข่าวเปิด โครงการงานถ่ายทอดองค์ความรู้จากศิลปินต้นแบบ สู่ผู้ผลิตหน้าใหม่ หรือ สานศาสตร์” มีเป้าหมายเพื่อเป็นการรวบรวมความรู้ของศิลปินชั้นครู ที่ผ่านประสบการณ์ สะสมคุณค่า ประสบการณ์ชีวิต สืบสานองค์ความรู้ จากศิลปินชั้นครู มาถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่ โดยจัดเก็บความรู้แบบบทเรียนออนไลน์ ในแบบทันสมัยและน่าสนใจเพื่อต่อยอดสู่การสร้างศูนย์กลางองค์ความรู้ สืบสานศาสตร์องค์ความรู้ จากคนชั้นครู เบื้องต้นผ่านศาสตร์ความรู้ 2 แขนง ได้แก่ ศาสตร์บทประพันธ์ และ ศาสตร์การแสดง เปิดให้เรียนฟรีแล้วทาง www.tmfsansart.com

ภายในงานเปิดโครงการฯ ได้รับเกียรติจาก ศิลปินชั้นครูและผู้แทนทั้งสองศาสตร์ อาทิ คุณคเณศ เค้ามูลคดี หรือ รอง เค้ามูลคดี ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง, คุณนนทกร ทวีสุข ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย, คุณกุณฑล ศิริไพบูลย์ (ตัวแทนคุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ หรือ แม่ทมยันตี), คุณรักชนก นามทอน บรรณาธิการ สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม เข้าร่วมงานพร้อมเสวนาฯ (วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2565 วิภาวดีพาเลซ ซอยวิภาวดี 64 กรุงเทพมหานคร)

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า

ภารกิจประการหนึ่งของ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ คือ สนับสนุนและกระตุ้น ให้เกิด “สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” สร้างนวัตกรรมสื่อแบบต่าง ๆ เพื่อทลายกรอบการผลิตเนื้อหาแบบเดิม ๆ เพิ่มเนื้อหาที่เป็นทางเลือกในการรับรู้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้มากขึ้นและนำเสนอข้อมูลที่จำเป็นต้องรู้ในมิติ ที่คนต้องการเพื่อการเล่าเรื่องที่รอบด้านหลากหลายแง่มุม และขับเคลื่อนประเด็นที่เป็นประโยชน์สู่การมีส่วนร่วมของคนในสังคมได้พร้อมทั้งสร้างฐานความรู้ด้านต่าง ๆ ในการสนับสนุนการสร้างสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เหตุผลดังกล่าว จึงเป็นที่มาของโครงการงานถ่ายทอดองค์ความรู้จากศิลปินต้นแบบ สู่ผู้ผลิตหน้าใหม่ ที่มีเป้าหมายในการดำเนินโครงการเพื่อเป็นการรวบรวมความรู้ของศิลปินชั้นครู ที่ผ่านประสบการณ์ สะสมคุณค่า ประสบการณ์ชีวิต สืบสานองค์ความรู้ จากศิลปินชั้นครู ถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่ โดยจัดเก็บความรู้แบบบทเรียนออนไลน์ ในแบบทันสมัยและน่าสนใจเพื่อต่อยอดสู่การสร้างศูนย์กลางองค์ความรู้ สืบสานศาสตร์องค์ความรู้ จากคนชั้นครู ผ่านศาสตร์ความรู้ 2 แขนง ได้แก่ ศาสตร์บทประพันธ์ และ ศาสตร์การแสดง เพื่อต่อยอดสู่การสร้างศูนย์กลางองค์ความรู้ โดยเราคาดหวังจะเป็น TMF มหาวิทยาลัยออนไลน์ สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” สำหรับคนทุกกลุ่ม

คุณกุณฑล ศิริไพบูลย์ ตัวแทน คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ หรือ แม่ทมยันตี กล่าวว่า ตลอดเวลาการทำงานเขียนหนังสือของคุณแม่ มานานถึง 65 ปี คุณแม่เคยบอกว่าวันนึงท่านก็จะไม่อยู่ สิ่งที่ท่านอยากทำให้กับนักเขียนรุ่นใหม่คือวิธีคิด ว่าการที่จะเป็นนักเขียนที่ดี ต้องมีวิธีคิดเริ่มต้นอย่างไร จึงอยากถ่ายทอดคำว่า ทมยันตี DNA” ไม่ใช่เป็นการก็อปปี้ทมยันตี แต่เป็นการนำแนวทางและวิธีคิดมาปรับใช้ให้เป็นแนวทางของแต่ละคน ภาษาที่นำมาเขียนต้องสื่อได้ถึงสิ่งที่นักเขียนเห็น ให้ผู้อ่านเห็นภาพตามที่นักเขียนต้องการจะสื่อสาร และสิ่งสุดท้าย การเขียนหนังสือคือการเขียนด้วยหัวใจ และใช้หัวใจตัวเองลงไปเขียน ใส่อารมณ์และความรู้สึกของผู้เขียนลงไป ถ้าถามว่าใครจะต้องรู้สึกกับเรื่องราวที่เขียนก่อน นั้นก็คือตัวนักเขียนเอง

 

คุณรักชนก นามทอน บรรณาธิการ สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม กล่าวว่า วันนี้เราได้รับโอกาสจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มาสร้างโครงการสานศาสตร์ ที่เป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์ ทำให้เราสามารถเรียนรู้ศาสตร์ได้อย่างหลากหลาย เข้าถึงได้ง่าย เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ และสืบทอดต่อได้ในอนาคต

 

คุณรอง เค้ามูลคดี ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง  กล่าวว่า ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไร คุณต้องรักในอาชีพนั้นก่อน การเป็นนักแสดงก็เช่นกัน ต้องใช้จิตวิญญาณ เพื่อเดินทางไปสู่ความฝันที่ตั้งใจไว้ เมื่อโครงการนี้ติดต่อมา ผมรีบรับทันที เพราะอยากทำให้ทุกคนทราบว่ากว่าที่จะก้าวเข้ามาถึงในจุดนี้ต้องผ่านอุปสรรคมามากมายขนาดไหน คนดังมีมากมายแต่คนดังยังไงก็สู้คนดีไม่ได้ คนดีคือคนที่ทุ่มเทชีวิตให้กับงานที่คุณทำ คุณมีวินัยให้เกียรติกับทุกคน และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือสัมมาคารวะ ถ้าคุณมีทุกอย่างแล้ว รับรองได้ว่าคุณจะก้าวไปสู่ความฝันที่คุณตั้งไว้แน่นอน  

 

คุณนนทกร ทวีสุข ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย  กล่าวว่า อาชีพนักแสดงในปัจจุบัน ระเบียบวินัย กฏกติกาต่างๆในวงการบันเทิง ขาดหายไปเยอะมาก ทั้งเรื่องการทบทวนงานที่ได้รับมอบหมาย หรือการเตรียมตัวสำหรับการแสดง  ทำให้คุณขาดความพร้อมที่จะสื่อสารให้กับคนดู ซึ่งจะส่งผลกระทบให้กับทุกคน โดยเฉพาะตัวนักแสดงเอง จึงอยากฝากให้เด็กรุ่นใหม่ทบทวนงาน มีสมาธิกับบทบาท และเชื่อมั่นในตัวละคร เหมือนที่คุณแม่ทมยันตีเชื่อมั่นในงานเขียน

ด้าน โครงการงานถ่ายทอดองค์ความรู้จากศิลปินต้นแบบ สู่ผู้ผลิตหน้าใหม่ หรือ สานศาสตร์” เป็นคอร์สเรียนออนไลน์ฟรี แบ่งเป็น ศาสตร์บทประพันธ์ ศาสตร์ความรู้ชั้นครูจาก คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ นามปากกาว่า “ทมยันตี” จำนวน 10 บทเรียน (ผู้สอนคือ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ นามปากกาว่า “ทมยันตี”  นักประพันธ์นวนิยายชาวไทย มีผลงานเด่น เช่น คู่กรรม, ทวิภพ, ค่าของคน, อุบัติเหตุ, ดาวเรือง, ล่า, เวียงกุมกาม, พิษสวาท, ดั่งดวงหฤทัย, คำมั่นสัญญา, พี่เลี้ยง, เลือดขัตติยา, ใบไม้ที่ปลิดปลิว, รอยมลทิน, โสมส่องแสง และอื่น ๆ ซึ่งมีการสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายยุคหลายสมัย จนได้รับการแต่งตั้งเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2555) หลักสูตรแต่ละหัวข้อ ดังนี้
1. ก้าวแรกสู่ดวงดาว
2. การสร้างพล็อตเรื่องตอนที่ 1
3. การสร้างพล็อตเรื่องตอนที่ 2
4. การวางพล็อตเรื่องตามประเภทของนิยายและเรื่องของการใช้นามปากกา
5. การวางพล็อตเรื่องของนิยายเล่มแรก
6. การสร้างตัวละคร
7. ภาษาการเขียนในบทประพันธ์
8. ฉากและสถานการณ์
9. เสื้อ ผ้า หน้า ผม
10. บทสรุปวิธีการเขียนหนังสือ และ ซ่อนไว้ในนิยาย

ศาสตร์การแสดง  ศาสตร์ความรู้ชั้นครูจาก พ่อรอง เค้ามูลคดี ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง จำนวน    10 บทเรียน (ผู้สอนคือ ศาสตร์ความรู้ชั้นครูจาก คเณศ เค้ามูลคดี หรือ รอง เค้ามูลคดี นักแสดงชายชาวไทย ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์-ละครโทรทัศน์) ประจำปี พ.ศ. 2560 นักแสดงอาวุโส และนักพากย์ มีชื่อเสียง ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย และผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น เนื่องในปีรณรงค์การใช้ภาษาไทย เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550, รางวัลราชบัณฑิตยสถานสรรเสริญ สาขานักแสดงประกอบชาย จากเรื่อง “ปู่ณัฐ” ประจำปี พ.ศ. 2555, ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.) พ.ศ. 2564) หลักสูตรแต่ละหัวข้อ ดังนี้
1. จริยธรรมและวินัยในการแสดง
2. ศึกษาบทบาทและการแสดง
3. พฤติกรรมมนุษย์คือครูของนักแสดง
4. การเรียนรู้ไม่มีวันจบ
5. ตีบทให้แตก รักให้จริง
6. การสื่อสารผ่านท่าทางการแสดง
7. สมาธิในการแสดง
8. บทตลกและบทชีวิต
9. การใช้น้ำเสียงในการสื่อสาร
10. การรับส่งอารมณ์ในการแสดง เพื่อทำงานร่วมกับนักแสดงท่านอื่น

ทั้งนี้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีพันธกิจในการส่งเสริมสนับสนุนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการผลิตและพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้ประชาชน เข้าถึงเข้าใจและใช้ประโยชน์จากสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์อย่างทั่วถึง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้เพิ่มขึ้นได้เรียนรู้พัฒนาตนเองและพัฒนางานสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากการถอดบทเรียนจากศิลปินต้นแบบไปพัฒนางานการผลิตสื่อต่อไป จึงได้กิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้ผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้ โดยเฟสแรก เมื่อทุกคนเรียนครบ 10 VDO จะได้รับใบประกาศนียบัตร นอกจากนี้ในเฟสสอง ผู้ผ่านการเรียนออนไลน์ มีสิทธิ์เข้าร่วม อบรมเชิงปฏิบัติการฯ (Workshop) 2 วัน 1 คืน กับวิทยากรมืออาชีพ ปิดรับสมัครเข้าร่วม Workshop วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 จำกัดจำนวน ศาสตร์ละ 30 คน เท่านั้น อบรมฟรี!! ไม่มีค่าใช้จ่าย

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.tmfsansart.com