กองทุนสื่อ ผนึกพลังเครือข่าย 24 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ปั้นโครงการ “รางวัลเชิดชูเกียรติสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” รางวัลของคนทำสื่อดี
(2 ก.ย.63) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ จัดแถลงข่าวโครงการเวทีรางวัลเชิดชูเกียรติสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พร้อมทั้งลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับมหาวิทยาลัย 24 แห่งจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายคัดเลือกสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ 10 ประเภทสื่อ รวม 37 สาขารางวัล ณ โรงแรมบันยันทรี ถนนสาทรใต้ กรุงเทพมหานคร
(นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และรองประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวในการเป็นประธานเปิดงานว่า โครงการเวทีเชิดชูเกียรติสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะเป็นกลไกส่วนหนึ่งที่รณรงค์ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ด้วยกระบวนการการสร้างกำลังใจ กระตุ้นให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ผู้ผลิตมีความภาคภูมิใจ และมีแนวโน้ม
ในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ต่อไป โดยในโครงการนี้ กองทุนฯ ให้ความสำคัญกับการสร้างภาคีเครือข่าย โดยลงนามความร่วมมือกับภาควิชาการ คือ มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จำนวน 24 แห่ง ให้เป็นผู้ร่วมปฏิบัติการร่วมกันเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ต่อไป
นางสาวลัดดา ตั้งสุภาชัย ประธานคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนเข้าถึงสื่อได้ง่าย ขณะเดียวกันก็มีสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์มากขึ้น เช่น เว็บการพนัน เว็บลามก การสร้างข่าวปลอม คลิปความรุนแรง ฯลฯ สื่อเหล่านี้นับเป็นปัญหาสำคัญ ที่ส่งผลกระทบต่อความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน ซึ่งนอกจากการจัดการกับสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์แล้ว ก็จำเป็นต้องมีการกระตุ้นให้เกิดทางเลือกที่ดีสำหรับเด็กและเยาวชน โดยการส่งเสริมให้เกิดสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งโครงการเวทีเชิดชูเกียรติฯ นี้
เป็นกระบวนการยกย่องเชิดชูเกียรติคนทำสื่อดีให้เป็นแบบอย่างแก่สังคม และเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยหวังว่าสถาบันการศึกษาที่ให้ความร่วมมือในครั้งนี้ จะสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของเยาวชน โดยอาจารย์เป็นผู้ให้คำปรึกษา และเกิดการต่อยอด นำองค์ความรู้เกี่ยวกับสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ไปขยายผลในสถาบัน ส่งผลให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า สำนักงานกองทุนฯ พร้อมที่จะขับเคลื่อนความร่วมมือร่วมกับมหาวิทยาลัยทั้ง 24 แห่ง ในการต่อยอดความรู้ และการดำเนินการร่วมกัน โดยจะได้นำนโยบาย แนวคิด และหลักการของการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ของคณะกรรมการกองทุนฯ และคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังฯ ไปสู่การปฏิบัติเพื่อการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนทั่วไป ได้รู้จักกับสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พร้อมที่จะส่งเสริมและชื่นชม เลือกที่จะรับสื่อที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง มีทักษะการรู้เท่าทัน และร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมด้วยการมีส่วนร่วมกับสื่อได้อย่างเหมาะสม“วันนี้ทุกคนเป็นสื่อได้ แต่จะเป็นสื่อที่ดี สื่อที่มีคุณค่า ไม่ใช่ใครทุกคนที่จะทำได้ เวทีรางวัลเชิดชูเกียรติสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงเป็นเวทีที่กองทุนสื่อ มีความตั้งใจสนับสนุนคนทำสื่อดี สื่อที่มีคุณภาพ เพื่อให้สื่อที่ดีไปสร้างคุณค่าให้กับสังคม” ดร.ธนกร กล่าว
นางรัตนากร ทองสำราญ ประธานคณะทำงานโครงการเวทีรางวัลเชิดชูเกียรติสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้เปิดเผยรายละเอียดว่า ในการดำเนินโครงการเวทีรางวัลเชิดชูเกียรติฯ คณะทำงานได้เชิญคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่ทำการสอนสาขา นิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ และด้านการสื่อสาร จำนวน 24 สถาบันในทุกภูมิภาคของประเทศ เข้าร่วมกำหนดเกณฑ์และคัดเลือกสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อให้รางวัล 10 ประเภทสื่อ ได้แก่ สื่อวิทยุ, สื่อโทรทัศน์, สื่อภาพยนตร์, สื่อสิ่งพิมพ์, สื่อออนไลน์, สื่อบุคคล, สื่อท้องถิ่น, สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์, นวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และสื่อในโครงการผู้รับทุนของกองทุนสื่อ รวม 37 สาขารางวัล โดยเกณฑ์การให้คะแนนยึดหลักความปลอดภัยและความสร้างสรรค์ โดยใช้คำว่า “+6 -3” และ +1 สื่อที่น่าสนใจ ซึ่ง -3 ได้แก่ เพศ ภาษา ความรุนแรง ที่สื่อไม่ควรนำเสนอ หรือมีได้เฉพาะในบริบทที่จำเป็นและเหมาะสม ส่วน +6 คือ 6 เรื่องสร้างสรรค์ ได้แก่ ส่งเสริมให้เกิดระบบวิธีคิด ส่งเสริมความรู้วิชาการ ส่งเสริมจริยธรรม ส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะชีวิต ส่งเสริมความเข้าใจเรื่องความหลากหลาย ส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัวและบุคคล ส่วน +1 อีกเรื่องที่จะนำมาพิจารณา คือ กระบวนการผลิต และชิ้นงานสื่อที่มีความน่าสนใจ สามารถเข้าถึงได้ มีกระบวนการสร้างสรรค์เข้าถึงประชาชน ซึ่งสื่อที่ได้รับรางวัลจากเวทีนี้ อาจไม่ใช่สื่อที่ได้รับความนิยม มีเรตติ้งสูง แต่เป็นสื่อที่มีความปลอดภัยและสร้างสรรค์ตามเกณฑ์ +6-3+1 โดยกระบวนการหลังการลงงนาม MOU มหาวิทยาลัยเครือข่าย 24 สถาบัน จะร่วมกับนักศึกษาของตนเองคัดเลือกสื่อ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คาดว่าจะประกาศผลรางวัลได้ภายในต้นปี 2564
โครงการเวทีรางวัลเชิดชูเกียรติสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ นอกจากมี 24 มหาวิทยาลัยเครือข่ายเข้าร่วมแล้ว ยังมี รองศาสตราจารย์ ดร.พนา ทองมีอาคม ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วม ของประชาชน และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรัชญ์ ครุจิต ประธานอนุกรรมการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นอีก 2 คณะอนุกรรมการหลักในการขับเคลื่อนกิจกรรมของกองทุนสื่อ ร่วมเป็นที่ปรึกษาด้วย
ความเห็นล่าสุด