เลือกหน้า

TMF Power Fusion กองทุนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์สังคม สัญจร 5 ภูมิภาค

(22 ต.ค. 2563) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค เพื่อขยายเครือข่ายการทำงานด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และด้านการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศและดิจิทัล ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในเผยแพร่ความรู้และแนวคิดด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึงสร้างโอกาสในการทำงานสร้างสรรค์ร่วมกับกองทุนฯ ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่าสังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงของสื่อ ที่เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีทางการสื่อสาร ทำให้เกิดทั้งสิ่งที่เป็นประโยชน์เกิดความก้าวหน้าทั้งเศรษฐกิจและสังคม แต่ขณะเดียวกันเราก็กำลังเผชิญกับปัญหาในการใช้งานสื่อในมิติต่างๆ สังคมจึงจำเป็นต้องใช้องค์ความรู้และทักษะในการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล จึงได้จัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค เพื่อเผยแพร่ความรู้และแนวคิดด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์และด้านการรู้เท่าทัน สื่อสารสนเทศและดิจิทัลไปยังภาคีเครือข่าย

ดร.ธนกร กล่าวว่า นอกจากนั้นการจัดเวที TMF Power Fusion กองทุนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์สังคม จะทำให้ภาคีเครือข่ายได้เข้าใจถึงภารกิจของกองทุน อีกทั้งยังเป็นการขยายเครือข่ายการทำงานด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในระดับประเทศ

“ทั้งนี้เวทีฯ ได้กำหนดกรอบเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ เปิดพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วม รับฟังความคิดเห็น รวบรวมแนวคิดเพื่อกลั่นกรองเป็นข้อเสนอต่อคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนของประชาชน เพื่อสร้างกระบวนการทำงานและผลักดันให้เกิดการพัฒนานิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์”

บนเวทีเสวนาวิชาการ การสร้างสื่ออย่างสร้างสรรค์ด้านพลังการมีส่วนร่วม หัวข้อ TMF Power Fusion กองทุนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์สังคม ดำเนินรายการโดย นางวรินรำไพ ปุณย์ธนารีย์ รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รศ.ดร.พนา ทองมีอาคม ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวว่า กองทุนสื่อมีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างสรรค์สื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ รวมถึงส่งเสริมการสร้างความร่วมมือและสร้างความเป็นเครือข่ายให้เข้มแข็ง การสร้างเครือข่ายจะช่วยให้เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายในทุกภาคส่วน เพื่อเพิ่มโอกาสและได้ใช้ศักยภาพในการผลิตสื่อเพื่อสังคมที่ดีขึ้น

นางสาวลัดดา ตั้งสุภาชัย ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ กล่าวว่า “สื่อมีอิทธิพลต่อการพัฒนาคนในประเทศบทบาทคณะอนุกรรมการการเฝ้าระวังและรู้เท่าทันสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ สื่อปลอดภัยคือสื่อที่ไม่ผิดกฎหมาย ไม่มีผลกระทบในเชิงลบของวัฒนธรรม ได้แก่เรื่องของเพศ ภาษา ความรุนแรง การที่จะทำสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ไม่สามารถทำได้คนเดียวจำเป็นต้องมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่จะทำให้เกิดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อลูกหลานเราในอนาคตได้เข้าใจวิถีชีวิตและมรดกทางวัฒนธรรมผ่านสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์อันจะเป็นประโยชน์ประเทศและสังคมโลกต่อไป”

ผศ.ดร. วรัชญ์ ครุจิต ประธานอนุกรรมการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้อธิบายถึงนิยามของนวัตกรรมสื่อว่า “สื่อเป็นนวัตกรรมได้ โดยที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการฯ มีบทบาทหน้าที่ในการช่วยส่งเสริมและขยายวงของนวัตกรรมสื่อให้กว้างขึ้น กระตุ้นให้เกิดกระบวนการแนวคิดใหม่ๆ โดยเป็นสื่อที่เกิดจากการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่หรือต่อยอดจากสิ่งเดิม แต่จะต้องมีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงได้โดยง่าย โดยในปีงบประมาณ 2563 กองทุนได้สนับสนุนทุนในรูปแบบของทุน Collaborative Grant เป็นทุนให้สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในภาคของประชาชน โดยให้ยึดหลัก 3P ประกอบด้วย 1. People เป็นนวัตกรรมสื่อที่ก่อให้เกิดกระตุ้นหรือสร้างแรงบันดาลใจ 2. Product สื่อที่ก่อให้เกิด สิ่งใหม่ๆ 3. Process กระบวนการสื่อสารในรูปแบบใหม่ในเรื่องเดิม ได้แก่ method วิธีการสื่อสารเนื้อหาเดิมในรูปแบบใหม่ และ mass communication ทำอย่างไรให้การสื่อสารเข้าถึงประชาชนได้ดีขึ้นในรูปแบบใหม่

นายธวัชชัย ไทยเขียว กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเด็กและเยาวชน ฝากถึงภาคีเครือข่ายภาคเหนือว่า “ความสำคัญของสื่อในมิติของเด็กและเยาวชนคือ สื่อที่เหมาะสมตามวัย ผู้ใหญ่จะทำอย่างไรให้เด็กรู้เท่าทันสื่อและมีกระบวนการคิดวิเคราะห์เกี่ยวกับการใช้สื่อ โดยกองทุนพร้อมที่จะสนับสนุนให้เกิดกระบวนการพัฒนานวัตกรรมสื่อ อยากให้ภาคีภาคเหนือร่วมกันสร้างกระบวนการดังกล่าวให้เกิดขึ้นเพื่อเยาวชนของชาติ ในฐานะตัวแทนคณะกรรมการกองทุน อยากได้รับความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วนทั่วประเทศเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตามเวที TMF Power Fusion กองทุนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์สังคม จะสัญจรไปยังอีก 4 ภูมิภาคของประเทศ โดยเวทีถัดไปครั้งที่ 2 วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ณ โรงแรมเดอะทวิน โลตัส จ.นครศรีธรรมราช, ครั้งที่ 3 วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ณ โรงแรมสุนีย์แกรนด์ จ.อุบลราชธานี, ครั้งที่ 4 วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ณ โรงแรมบางแสนเฮอริเทจ จ.ชลบุรี และ ครั้งที่ 5 วันพุธที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นแนวทางและหลักเกณฑ์การจัดสรรทุนสำหรับปีงบประมาณ 2564

(12 ต.ค.63) ห้องวิภาวดี บอลรูม โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ
สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน จัดงานประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่องแนวทางและหลักเกณฑ์การจัดสรรทุนสำหรับปีงบประมาณ 2564 “TMF Public Hearing: Grants for Change 2021”

ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประธานเปิดงาน กล่าวว่างานวันนี้เป็นโอกาสอันดีที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนให้ประชาชนได้เสนอแนะแนวทาง เพื่อให้ทางกองทุนนำไปทำหลักเกณฑ์พิจารณาการให้ทุน กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มีเจตนารมย์ที่ดี ในการที่จะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีโอกาสมาขอรับทุนอย่างเท่าเทียมกัน

เวทีนี้เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้แสดงความคิดเห็น ข้อแนะนำใดที่เกิดประโยชน์แก่สังคม เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม กระทรวงวัฒนธรรมและสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พร้อมจะอยู่เคียงข้างและรับฟังทุกความคิดเห็น

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่าเป็นโอกาสดีที่กองทุน จะได้ร่วมกระบวนการจัดสรรทุนประจำปี 2564 อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วน ได้มีส่วนร่วมในการคิดร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์กติการ่วมกัน
โดยการจัดงานในครั้งนี้ทางกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มีวัตถุประสงค์หลัก 4 ประการ

1.ต้องการที่จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแนวทางและหลักเกณฑ์การจัดสรรทุน ประจำปี 2564 ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และบรรลุตามวัตถุประสงค์ของกองทุนอย่างแท้จริง

2.มีระยะเวลาในการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์การเปิดรับและกิจกรรมการให้ทุน ประจำปี 2564

3.เสริมสร้างศักยภาพและเตรียมความพร้อมให้กับผู้สนใจขอรับทุนมีความพร้อมและมีความเข้าใจใน การเขียนโครงการ และข้อควรปฏิบัติต่างๆ

4.เผยแพร่แนะนำภารกิจ วัตถุประสงค์ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้เป็นที่รู้จักเพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรม และร่วมขับคลื่อนงานของกองทุนไปพร้อมๆ กันอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งภายในปีนี้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะจัดงานรับฟังความคิดเห็น เรื่องแนวทางและหลักเกณฑ์การจัดสรรทุนสำหรับปีงบประมาณ 2564 “TMF Public Hearing: Grants for Change 2021” ขึ้นอีกใน 3 ภูมิภาค คือ จ.ขอนแก่น 16 พ.ย.63 , จ.สุราษฎร์ธานี 4 ธ.ค.63 , จ. เชียงใหม่ 18 ธ.ค.63

อย่างไรก็ตาม ในเดือนมกราคม 2564 ทางกองทุนจะเปิดรับข้อเสนอโครงการในระบบ มีระยะเวลาการเปิดรับไม่น้อยกว่า
30 วัน

เดือนกุมภาพันธ์ 2564 คณะทำงานภายใต้ความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองและพัฒนาโครงการ จะดำเนินการพิจารณาคัดเลือกโครงการ ซึ่งจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 30 วันอีกเช่นกัน

คาดว่าในเดือนมีนาคม 2564 ทางกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จะสามารถประกาศผลการให้ทุนได้
สำหรับการจัดการรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้มีผู้ทรงคุณวุฒิ ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ และเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการจัดสรรทุน ประจำปีงบประมาณ 2564

โดยมีประชาชนจากหลายภาคส่วน ร่วมแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ต่อการจัดสรรทุนในปีงบประมาณ 2564 ด้วย

จดหมายข่าวคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ฉบับที่ 6 ปี 2563