เลือกหน้า

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 4 ภาคตะวันออก

นาย อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาในเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค
“TMF POWER FUSION” ครั้งที่ 4 ภาคตะวันออก ณ โรงแรมบางแสนเฮอริเทจ อำเภอเมืองชลบุรี จ.ชลบุรี

นายนริศ นิรามัยวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวต้อนรับ และขอบคุณกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่จัดกิจกรรมด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ส่งเสริมการมีส่วนร่วม
ให้กับประชาชนในภาคตะวันออก

โดยมี รศ.ดร. พนา ทองมีอาคม ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และภาคีเครือข่าย เข้าร่วมงาน

โดยเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค “TMF POWER FUSION”มีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนทุกภูมิภาคได้เข้ามาเป็นภาคีเครือข่าย
กับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อร่วมแรงร่วมใจเผยแพร่ความรู้และแนวคิดด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์สร้างโอกาสในการทำงานร่วมกัน สนับสนุนซึ่งกันและกันภายใต้หลักการส่งเสริมการมีส่วนร่วมสำหรับ กิจกรรม TMF Power Fusion จะจัดขึ้นอีกครั้งในวันพุธที่ 9 ธันวาคม 2563 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์คอนเวนชั่น กรุงเทพฯผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมงานได้ที่ https://tmfpowerfusion.com/

เวทีรับฟังความคิดเห็นภาคอีสาน เสนอให้กองทุนสื่อพิจารณาประเด็นเชิงพื้นที่ ในการจัดสรรทุนปี 64

ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ไคซ์ จังหวัดขอนแก่น สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่องแนวทางและหลักเกณฑ์การจัดสรรทุน สำหรับปีงบประมาณ 2564 ‘TMF Public Hearing : Grants For Change 2021 จ.ขอนแก่น

โดยได้รับเกียรติ จาก รศ.ดร.พนา ทองมีอาคม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อมวลชน ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวเปิดงาน ทั้งนี้ ภายในงาน ได้จัดเสวนาแนวทางการจัดสรรทุนสำหรับปีงบประมาณ 2564 โดย รศ.ดร.พนา ทองมีอาคม นางสาวลัดดา ตั้งสุภาชัย ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน , นายนคร วีรประวัติ ผู้ทรงคุณวุฒิ ในกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมเป็นวิทยากร

โดยผู้ทรงคุณวุฒิ ต่างถึงบอกความจำเป็นที่จะต้องมี พรบ.และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่ทั้งเพื่อให้เกิดความมั่นคงของประเทศ ตลอดจนความสงบสุขของสังคม ซึ่งต้องยอมรับว่า การจัดสรรทุนห้วงปีที่ผ่านมา ผู้เข้ามาขอรับทุนสนับสนุนจำนวนมากต่างคาดหวัง แต่ต้องเข้าใจถึงข้อจำกัด ระเบียบ กระบวนการ ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ด้วย
‘การเปิดรับฟังความคิดเห็นทั่วทุกภูมิภาค ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะเปิดประตูให้ทุกคน ผู้มีส่วนได้เสีย ได้รับทั้งยุทธศาสตร์และการร่วมมือทำงานในอนาคต’

นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า เนื้อหาจากผู้เข้าร่วมเสวนาของภาคอีสาน ที่สะท้อนมา ข้อเสนอให้พิจารณาเชิงพื้นที่ เป็นอีก 1 ประเด็น ในการจัดสรรทุนปี 64 ด้วย ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ต่างได้สะท้อนทั้งภาพรวมการจัดการทุนที่อยากเห็น ความร่วมมือในการทำงานร่วมกันในลักษณะภาคีเครือข่าย รวมถึงการทำงานร่วมกัน ที่ให้เห็นภาพ วิถีชีวิต วัฒนธรรมชุมชนในการที่จะเดินไปสู่จุดหมายปลายทาง ในการที่จะร่วมสร้างเพื่อให้สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์กระจายในวงกว้างในท้ายที่สุด

‘ความเป็นเครือข่าย เชื่อมโยง ในการทำงานเพื่อสังคม สร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมได้’

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 3 ภาคอีสาน

เพื่อส่งเสริมให้ประชาชน 5 ภูมิภาค ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันสื่อและผลิตสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคม “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์”

นำโดย รศ.ดร. พนา ทองมีอาคม ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เปิดเวทีให้นักศึกษาและประชาชนทั่วไปที่สนใจได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมในครั้งนี้ ภายใต้แนวคิด “TMF Power Fusion กองทุนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์สังคม” โดยมี นายเกริกชัย ผ่องแผ้ว รองผู้ว่าราชการอุบลราชธานี พร้อมด้วย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, นายสมชาย เจริญอำนวยสุข รองประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน, นางสาวลัดดา ตั้งสุภาชัย ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ และ ผศ.ดร. วรัชญ์ ครุจิต ประธานอนุกรรมการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เข้าร่วมงาน เมื่อเร็ว ๆ นี้ (วันที่ 13 พ.ย. ณ โรงแรมสุนีย์แกรนด์ อำเภอเมือง จ.อุบลราชธานี)

นายเกริกชัย ผ่องแผ้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี
รู้สึกมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นจังหวัดที่เป็นเจ้าภาพในการจัดงานในครั้งนี้ ในการจัดเวทีในครั้งนี้ จังหวัดอุบลราชธานีถือว่าเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ ถ้าพูดถึงประชากรถือว่าเป็นอันดับ 3 ของประเทศ ในขณะเดียวกันเป็นศูนย์รวมด้านอินโดจีนฝั่งตะวันออก ฉะนั้นการรับสื่อนอกจากในประเทศแล้ว เรายังรับสื่อจากลาวและกัมพูชาด้วย เพราะฉะนั้นความหลากหลายจะเยอะ ในพื้นที่ทั้งหมด 2,880 หมู่บ้านทั้งหมด การรับรู้ผ่านสื่อได้ครอบคลุมทุกช่องทาง

ทั้งนี้จังหวัดอุบลราชธานี ถือเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรม ถือเป็นจังหวัดที่วัดมากที่สุดอันดับ 2 ของประเทศ เรามีวัฒนธรรมประเพณีที่หลากหลาย เราจึงคำนึงการสร้างความปลอดภัยและการมีส่วนร่วมในการสร้างสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทั้งในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดรอบข้าง ทั้งนี้ เพื่อจะเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ เพื่อสร้างสรรค์สื่อที่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เพื่อนำไปพัฒนาสื่อที่ดีและสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

รศ.ดร.พนา ทองมีอาคม ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน
งานวันนี้ถือว่าจัดขึ้นเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับกองทุนสื่อฯ มีโอกาสร่วมแสดงความคิดเห็นและวางแผนกับกองทุนสื่อฯ เพื่อให้ประสานความร่วมมือในครั้งนี้เกิดประโยชน์ โดยการสร้างภาคีเครือข่าย การเฝ้าระวังและรู้เท่าทันสื่อ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น สร้างนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อการดำเนินงาน โดยภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเป็นเจ้าของร่วมกัน

กิจกรรมครั้งนี้จัดเพื่อให้ผู้ที่มีเจตนารมณ์และมีศักยภาพ มาร่วมแสดงความคิดเห็นและสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ร่วมเผยแพร่แนวคิดของการสร้างสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สร้างการทำงานร่วมกัน รวมไปถึงการให้ข้อเสนอแนะ ให้ความร่วมมือ และเสริมอำนาจแก่ประชาชน นับจากนี้ไปเราเชื่อว่าจะมีผู้ที่สนใจมาร่วมกับกองทุนสื่อมากขึ้น เราถือว่าท่านเป็นเครือข่ายของกองทุนแล้ว เราเชื่อว่าทุกท่านต้องการให้เกิดสื่อที่ดี และมีนิเวศสื่อที่ดีอย่างยั่งยืน

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ทุกคนมีสื่ออยู่ในมือ เราเรียนรู้โลกผ่านสื่อ สื่อก็เสมือนเป็นตัวกลางสัญญะความหมายจากที่หนึ่งไปสู่ที่หนึ่ง แต่ตอนนี้รูปแบบการสื่อสารมันถูกเปลี่ยนไปแล้ว ทุกคนเป็นสื่อได้ ถ่ายรูปและโพสต์ไปได้ในทุกๆ แพลตฟอร์มทันที เราใช้ Facebook มากที่สุดในประเทศไทย แต่เราเป็นคนผลิตสื่อที่ดีหรือไม่? ทุกคนเริ่มไม่แน่ใจใช่ไหมครับ? ในสมัยก่อนเราจะถูกสอนมาว่าเราต้องเรียนรู้เรื่องสื่อ กว่าจะออกมาผลิตได้ แต่ทุกวันนี้เราถูกว่ากล่าวจากใครก็ไม่รู้ ฉะนั้นสื่อมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง

ท้ายสุด รศ.ดร. พนา ทองมีอาคม กล่าวว่า “ท่ามกลางเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดส่งผลให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมทั่วโลก ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีดังกล่าวก็ส่งผลกระทบต่อการรับสื่อของประชาชนที่จะต้องเสพข้อมูลข่าวสารทั้งด้านสาระและบันเทิงอย่างมหาศาลและรวดเร็ว ก่อให้เกิดปัญหาการแพร่ระบาดของข่าวปลอม (Fake news) การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) รวมทั้งการใช้วาจาที่ไม่เหมาะสมในอินเทอร์เน็ต (Hate speech) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ผู้เสพสื่อ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนเกิดการรับรู้ที่ผิดไปจากความเป็นจริง ฉะนั้นผู้เสพสื่อ หรือผู้รับสื่อโดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนจึงจำเป็นต้องมีองค์ความรู้และทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล เพื่อให้ตนเองมีวิจารณญาณในการรู้เท่าทันสื่อ และนำองค์ความรู้เหล่านั้นไปใช้ในชีวิตประจำวัน ให้พวกเขาสามารถปฏิเสธสื่อที่ไม่ดี และเลือกรับสื่อที่ดี ที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้ด้วยเหตุนี้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จึงพร้อมจะผลักดัน เผยแพร่ความรู้และแนวคิดด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล รวมถึงพร้อมที่จะสนับสนุนผู้ผลิตสื่อที่ดี สื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งทำประโยชน์เพื่อสังคมอย่างแท้จริง ดังนั้น โครงการจัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาคในครั้งนี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการขับเคลื่อนสังคมสู่การพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนในทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดนิเวศสื่อที่ดี ที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน ร่วมกันครับ”

ด้านรายละเอียดภายในงานครั้งนี้มีกิจกรรม TMF Talks ในหัวข้อ “การบูรณาการแผนพัฒนาด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ระยะที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๖๓ – ๒๕๖๕)” โดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และมีเวทีเสวนาวิชาการ การสร้างสื่ออย่างสร้างสรรค์ด้านพลังการมีส่วนร่วม ในหัวข้อ TMF Power Fusion กองทุนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์สังคม ผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายสมชาย เจริญอำนวยสุข รองประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน, นางสาวลัดดา ตั้งสุภาชัย ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ และ ผศ.ดร. วรัชญ์ ครุจิต ประธานอนุกรรมการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ หลังจากนั้นต่อด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการ และประชุมระดมสมองแบ่งห้องย่อย ดังนี้ ห้องที่หนึ่ง : เฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ และ การรู้เท่าทันสื่อ ห้องที่สอง : การส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ การเรียนรู้ (Media Lab) ห้องที่สาม : อบรมเชิงปฏิบัติการ จัดทำฐานข้อมูลเครือข่ายการทำงานด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์และด้านการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล สำหรับทุกกลุ่มประชากร

เวที TMF Power Fusion กองทุนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์สังคม จะสัญจรต่อเนื่องไปอีก 2 ครั้ง ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม ฟรี !!! https://tmfpowerfusion.com/
ครั้งที่ 4 วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ณ โรงแรมบางแสนเฮอริเทจ จ.ชลบุรี
ครั้งที่ 5 วันพุธที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน สัญจร 5 ภูมิภาค ครั้งที่ 2 ภาคใต้

วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ณ โรงแรม ทวินโลตัส จ.นครศรีธรรมราช ดร. ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานเปิดเวทีเสวนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โครงการจัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค ภายใต้แนวคิด “TMF POWER FUSION” กองทุนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์สังคม เพื่อขยายเครือข่ายการทำงานด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และด้านการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศและดิจิทัล ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการเผยแพร่ความรู้และแนวคิดด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การจัดงานครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง สัญจรลงภาคใต้ มี นายธนกร ศรีสุขใส, รศ.ดร. พนา ทองมีอาคม, นายสมชาย เจริญอำนวยสุข, นางสาวลัดดา ตั้งสุภาชัย เข้าร่วม

ดร. ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดเผยว่า
“ยินดีมากที่ได้เห็นการผนึกกำลังกันในการพัฒนาของกองทุนสื่อฯ และการเกิดขึ้นของกองทุนสื่อฯ ตั้งแต่ปี 2558 เราได้เห็นเจตนาในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งกองทุนนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อประชาชน ในการมีส่วนร่วมของประชาชนจึงเป็นก้าวแรกของการพัฒนากองทุนสื่อ การจัดงานนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ เราอยากให้เห็นภาพการทำสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้มากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนให้เห็นสื่อสีขาว ซึ่งการเปิดเวทีนี้เราจะเปิดการรับข้อคิดเห็นซึ่งจะพัฒนาประเทศได้ต่อไป “

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เผยว่า
“หนึ่งในการศึกษาสื่อสารมวลชนที่สำคัญที่สุด คือการศึกษาด้านวัฒนธรรม เพราะสื่อมักผลิตซ้ำทางด้านความคิด ถ้าเราดูสื่อด้านไหนบ่อย ๆ พฤติกรรมเราจะเปลี่ยนไปตามสื่อที่เราซึมซับไว้ ซึ่งสิ่งที่ลึกที่สุดของสื่อคือเรื่องวัฒนธรรมของสื่อ เมื่อวัฒนธรรมเปลี่ยน สังคมก็เปลี่ยนไปด้วย ซึ่งก่อนหน้าที่จะเข้ามารับตำแหน่งก็ได้ศึกษาข้อกฎหมายต่าง ๆ ยอมรับว่ากฎหมายเขียนออกมาได้เข้าใจบริบททางสังคมเป็นอย่างมากเลยทีเดียว เขียนอย่างเข้าใจในสภาวการณ์ของสื่อ และเขียนได้เข้าใจธรรมชาติของสื่อในการสร้างผลกระทบของประชาชน “

ลัดดา ตั้งสุภาชัย ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์
” เราถูกปลูกฝังให้ต้องเฝ้าระวังวัฒนธรรมซึ่งเป็นมรดกของชาติ ซึ่งแต่ละภาคมีจุดเด่นที่ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นการเฝ้าระวังเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาสื่อ ซึ่งสื่อเป็นสิ่งสำคัญในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก การมีสื่อที่ดีจะส่งผลกระทบในแง่บวก ประกอบไปด้วย สร้างศีลธรรมอันดี สร้างความสามัคคี สร้างความอบอุ่นในครอบครัว ไม่ขัดต่อกฎหมาย เช่นเดียวกับสื่อที่มีปัญหาในเรื่องเพศ และครอบครัว คือขยะของสังคม เราต้องการทิ้งและพัฒนาสื่อที่ดีต่อสังคม เราต้องการเห็นเด็กที่ดีในสังคม เราจึงต้องขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อที่ดี เพื่อทำให้เด็กและเยาวชนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อสังคมได้ดีขึ้นด้วย ”

ธวัชชัย ไทยเขียว กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเด็กและเยาวชน
” เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ย่อส่วน ถ้าเรามองแบบนั้นแสดงว่าเรากำลังเอาประสบการณ์มายัดใส่เด็ก ซึ่งไม่ใช่ผลดีต่อเด็ก คนที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนก็ต้องเข้าใจอย่างน้อยคือพัฒนาการของเด็ก ซึ่งปัจจุบันทุกคนเป็นคนสร้างสื่อกันหมด เด็กในวันนี้ความรู้มีมากกว่าแต่วุฒิภาวะเขายังไม่ได้พัฒนา เราจึงต้องใช้วิธีการสอนการคิด วิเคราะห์ให้กับเด็กและเยาวชนมากขึ้น โดยเฉพาะการแชร์ข้อมูลที่ต้องอาศัยประสบการณ์ การแชร์เร็วไม่ได้หมายความว่าจะถูกต้องและชนะ ”

ภายในงานมีกิจกรรมเสวนาวิชาการ การสร้างสื่ออย่างสร้างสรรค์ด้านพลังการมีส่วนร่วม ในหัวข้อ TMF Power Fusion กองทุนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์สังคม หลังจากนั้นการอบรมเชิงปฏิบัติการ และประชุมระดมสมองแบ่งห้องย่อย ดังนี้ ห้องที่หนึ่ง : เฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ และ การรู้เท่าทันสื่อ ห้องที่สอง : การส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ การเรียนรู้ (Media Lab) ห้องที่สาม : อบรมเชิงปฏิบัติการ จัดทำฐานข้อมูลเครือข่ายการทำงานด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์และด้านการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล สำหรับทุกกลุ่มประชากร

สำหรับเวที TMF Power Fusion กองทุนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์สังคม จะสัญจรต่อเนื่องไปอีก 3 ครั้ง

ครั้งที่ 3 วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ณ โรงแรมสุนีย์แกรนด์ จ.อุบลราชธานี
ครั้งที่ 4 วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ณ โรงแรมบางแสนเฮอริเทจ จ.ชลบุรี
ครั้งที่ 5 วันพุธที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ