เลือกหน้า

กองทุนสื่อ แถลงข่าวเปิดตัว #HATETAGtheproject โครงการหนังสั้นเพื่อรณรงค์การหยุด bully ในโลกออนไลน์ “หยุดระรานผ่านออนไลน์” ผลงานผู้รับทุนประเภทเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปี 2563

(27พ.ค.64) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ บริษัท กู๊ดธิงแฮพเพ่น จำกัด และ บริษัท หับโห้หิ้น บางกอก จำกัด แถลงข่าวเปิดตัว #HATETAGtheproject  โครงการหนังสั้นเพื่อรณรงค์การหยุด bully ในโลกออนไลน์  หยุดระรานผ่านออนไลน์” ผลงานผู้รับทุนประเภทเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปี 2563 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ The circus studio กทม.

#HATETAGtheproject  หนังสั้น 10 เรื่องจาก 5 ผู้กำกับคุณภาพมากฝีมือ นำทีมโดย โอ๋-ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ ผู้กำกับภาพยนตร์ Home Stay, พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรีส์, แคลร์-จิรัศยา วงษ์สุทิน ผู้กำกับซีรีส์ ONE YEAR 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ ร่วมด้วย 2 ผู้กำกับโฆษณามากความสามารถ  ต้น-วุฒิดนัย อินทรเกษตร และ บอม-นิทรรศ สินวัฒนกุล ที่จะมาร่วมถ่ายทอดมุมมอง ประเด็นเรื่องราวที่น่าสนใจของโซเชียลมีเดียทั้งในอดีตและปัจจุบัน ผ่านหนังสั้นทั้ง 10 เรื่อง ที่จะให้ผู้ชมได้รับอรรถรส ความสนุก และได้ย้อนกลับมามอง และตั้งคำถามกับตัวเองไปพร้อมๆกัน เพราะการบูลลี่คือการสร้างบาดแผลและผลกระทบต่อชีวิตผู้อื่น ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ แต่ผลนั้นร้ายแรงในระยะยาว

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  กล่าวว่า กองทุนฯ หวังว่าหนังสั้นทั้ง 10 เรื่องนี้จะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างกว้างขวาง และเป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่สังคม ที่จะเห็นโทษแล้วก็ผลกระทบของการ bully ในโลกออนไลน์  โดยใช้องค์ประกอบในการทำหนังสั้นหลายแบบ หนึ่งคือเราเอาเคสที่เกิดขึ้นจริงมาเขียนเป็นบท แล้วก็เอาประเด็นต่าง ๆ มากำหนดเป็นตอนที่มีความเชื่อมโยงกัน ต่อเนื่องกัน แล้วก็ไม่ซ้ำกัน และที่สำคัญก็คือการได้ใช้ศักยภาพและฝีมือของผู้กำกับ แล้วก็ได้เลือกใช้นักแสดงที่รู้จักและก็มีต้นทุนในเรื่องชื่อเสียง ในกลุ่มเป้าหมาย เพราะฉะนั้นถือว่าเป็น นวัตกรรมการสื่อสารที่คิดว่าน่าจะเหมาะกับยุคสมัย และด้วยความที่เป็นหนังสั้นก็ไม่ต้องใช้เวลามาก และแต่ละตอนก็จบในตอนของตัวเอง เพราะฉะนั้น อาจจะดูบ้างบางตอนและไม่ได้ดูบ้างบางตอน ตอนนี้ดูไปแล้วตอนนี้ยังไม่ได้ดูก็สามารถกลับมาดูใหม่ได้ ก็ถือว่าน่าจะเป็นรูปแบบการสื่อสารที่ดี แล้วก็น่าจะตรงกลุ่มเป้าหมายที่กองทุนฯ
ได้ตั้งไว้ รวมถึงบรรลุวัตถุประสงค์ที่กองทุนฯ ตั้งไว้ด้วย”

ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ประธานอนุกรรมการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า  ปัญหา Cyberbully เป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆในสังคมไทย โดยผู้กระทำและเหยื่อผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่ เป็นเยาวชน นักเรียน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ในระดับที่สูงมาก ดังนั้นจึงเป็นภารกิจ ความรับผิดชอบกองทุนสื่อในการช่วยรณรงค์ให้เยาวชนผู้ใช้สื่อออนไลน์ และสังคมโดยทั่วไป ได้มีความตระหนักถึงความร้ายแรงของปัญหา Cyberbullying ที่อาจไม่ยิ่งหย่อน หรืออาจจะมีผลร้ายแรงกว่าการกลั่นแกล้งในชีวิตจริงด้วยซ้ำ กองทุนสื่อจึงเปิดโจทย์ให้มีผู้เสนอโครงการทำสื่อต้าน Cyberbully ต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 2 ซึ่งได้รับข้อเสนอโครงการที่น่าสนใจและมีคุณภาพเข้ามาเป็นจำนวนมากและหลากหลายรูปแบบ ทั้งซีรีย์ หนังสั้น ละครเพลง และกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งหนังสั้นก็เป็นสื่อที่อยู่ในกระแสความนิยมของวัยรุ่นด้วย และมีข้อได้เปรียบตรงที่สามารถเผยแพร่ทางช่องทางออนไลน์ได้ง่าย และดูได้ง่าย ไม่ต้องใช้เวลานาน ไม่ต้องดูครบทุกเรื่องก็เข้าใจได้ จึงเชื่อว่าจะสามารถเข้าถึงกลุ่มเยาวชนได้เป็นอย่างดี

ติดตามชมหนังสั้นโปรเจกต์ #HATETAG ทั้ง 10 เรื่อง ได้แก่  

1. #saveตูดคอร์กี้, 2. #NextDoor, 3. #นักเกรียน (1), 4. #นักเกรียน (2), 5. #ImWithYou,

6. #แบนสิงโต, 7. #harass(com)ment, 8. #ครูต้นแบบ ,9. #influencer ,10. #CyberExposure

ได้ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 17.15 น. ทางอมรินทร์ทีวี HD ช่อง 34 เริ่มตอนแรก วันเสาร์ที่ 29 พ.ค. 2564 ดูออนไลน์ที่แรกบน LINE TV เท่านั้น เวลา 19.00 น. และ ติดตามรายละเอียดของโปรเจกต์ #HATETAG เพิ่มเติม ได้ที่ Facebook และ Twitter : @hatetagtheproject  และ Facebook : กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ประกาศการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กรรมการ กสทช.)

ประกาศการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กรรมการ กสทช.)

กองทุนสื่อฯแจง กระบวนการพิจารณาทุนปี ๖๔ เป็นไปด้วยความรอบคอบ ตามหลักเกณฑ์และวัตถุประสงค์ของกองทุน กรณีรายการ “ลายกนก”

กองทุนสื่อฯแจง กระบวนการพิจารณาทุนปี ๖๔ เป็นไปด้วยความรอบคอบ ตามหลักเกณฑ์และวัตถุประสงค์ของกองทุน กรณีรายการ “ลายกนก” เห็นว่าเนื้อหารายการมีความน่าสนใจ เป็นรายการสารคดีท่องเที่ยวชุมชนด้วยเรื่องราวอิงประวัติศาสตร์ที่เชื่อว่าจะสามารถเข้าถึงผู้ชมจำนวนมาก  

           

            ตามที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้ประกาศผลการพิจารณาโครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปี ๒๕๖๔ และ                รายการ “ลายกนก ยกสยามสัญจร” ของบริษัทท็อปนิวส์ดิจิตัลมีเดีย จำกัด (ช่องท็อปนิวส์)  ซึ่งได้การสนับสนุนงบประมาณ ๔.๘ ล้านบาทด้วย ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการพิจารณาที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากจุดประสงค์หลักของกองทุนฯ คือการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขณะที่สื่อท็อปนิวส์และพิธีกรในรายการดังกล่าว ถูกมองว่าไม่เป็น กลางและแสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างชัดเจน
กรณีดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มากในสื่อสังคมออนไลน์

              ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสรรค์กล่าวว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้ดำเนินการพิจารณาคัดเลือกโครงการหรือกิจกรรมที่ขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ด้วยความรัดกุม รอบคอบ เป็นไปตามระเบียบ    ข้อบังคับ ข้อกฎหมายและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุน ผลการพิจารณาขึ้นอยู่กับคณะทำงาน ๑๑ ชุด และคณะอนุกรรมการ๒ คณะ แต่ละคณะต่างก็มีเหตุผลสนับสนุนว่าทำไมควรได้หรือไม่ได้

         กรณีโครงการลายกนก ยกสยามสัญจร มีการให้เหตุผลในการพิจารณาของคณะทำงานและคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ อย่างชัดเจน กล่าวคือ ในชั้นคณะทำงานฯ ที่ประชุมเห็นว่าโครงการมีข้อเสนอที่ดี เนื่องจากเป็นการต่อยอดรายการเดิมที่มีอยู่แล้วของผู้ขอรับการสนับสนุนให้มีรายละเอียดและมีความสมบูรณ์มากขึ้น สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และยุทธศาสตร์ของกองทุนที่มุ่งส่งเสริมสนับสนุนการใช้สื่อเพื่อสร้างการเรียนรู้ ส่งเสริมการท่องเที่ยวและการพัฒนาชุมชน รวมทั้งการสอดแทรกสาระความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ มีฐานผู้ชมจำนวนมาก แต่เนื่องจากโครงการที่เสนอมีมูลค่าสูง เห็นควรให้สนับสนุนงบประมาณในวงเงินไม่เกิน ๕ ล้านบาท พร้อมกับมีข้อเสนอแนะให้การผลิตและเผยแพร่ให้มีความละเอียดเกี่ยวกับประเด็นประวัติศาสตร์มากขึ้น และหากได้รับการอนุมัติมีข้อเสนอให้ปรับลดงบประมาณ

ต่อมาในชั้นคณะอนุกรรมการกลั่นกรองและพัฒนาโครงการ ที่ประชุมเห็นควรสนับสนุนโครงการลายกนก ยกสยามสัญจร งบประมาณไม่เกิน ๕ ล้านบาทตามที่คณะทำงานฯ เสนอ และเมื่อโครงการเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารฯ ที่ประชุมมีมติอนุมัติให้โครงการลายกนก   ยกสยามสัญจร ได้รับงบประมาณสนับสนุน จำนวน  ๔.๘ ล้านบาท โดยมีเหตุผลในการอนุมัติว่า เป็นรายการมีความน่าสนใจ เป็นการต่อยอดรายการเดิมที่ผลิตสารคดีท่องเที่ยวชุมชน สอดแทรกเกร็ดความรู้ประเด็นประวัติศาสตร์ มานำเสนอในรูปแบบที่เข้าใจง่าย สนุกสนาน มีฐานผู้ชมจำนวนมาก ทั้งนี้รายการไม่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองจึงเห็นควรให้โอกาส

ผู้จัดการกองทุนกล่าวอีกว่า ทุกโครงการต้องผ่านกระบวนการพิจารณาตามลำดับชั้นเหมือนกันทุกโครงการ ตั้งแต่ชั้นต้น ชั้นกลาง และชั้นพิจารณาอนุมัติ ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งของกองทุนฯ ดังนี้

                    (๑) เมื่อได้รับคำขอ สำนักงานกองทุนฯ จะตรวจสอบแบบคำขอรับการสนับสนุน ข้อมูลเอกสาร และหลักฐานภายในสามสิบวันนับจากวันรับแบบคำขอรับการสนับสนุน และรวมทั้งหลักฐานเพื่อนำเสนอคณะอนุกรรมการกลั่นกรองและพัฒนาโครงการพิจารณา

                    (๒) กระบวนการพิจารณาขั้นต้นเริ่มจากคณะทำงานชุดต่างๆจำนวน ๑๑ คณะซึ่งสำนักงานแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่สอดคล้องกับประเด็นพิจารณา โดยรายชื่อคณะทำงานทุกคณะสำนักงานได้เสนอให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองและพัฒนาโครงการพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนมีคำสั่งแต่งตั้ง การพิจารณาเป็นไปตามแนวทางและหลักเกณฑ์ที่กองทุนกำหนดไว้อย่างชัดเจน

                    (๓) คณะอนุกรรมการกลั่นกรองและพัฒนาโครงการ พิจารณาโครงการหรือกิจกรรมที่ผ่านการพิจารณาชั้นต้นมาจากคณะทำงาน โดยคณะอนุกรรมการกลั่นกรองและพัฒนาโครงการอาจเห็นพ้องหรือเห็นต่างกับคณะทำงานก็ได้ แล้วสรุปผลการพิจารณาเสนอต่อคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อพิจารณาอนุมัติ

                    (๔) คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนฯ ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายในการอนุมัติโครงการหรือกิจกรรมที่ขอรับการสนับสนุน ได้พิจารณาโครงการหรือกิจกรรมที่ผ่านการเห็นชอบจากอนุกรรมการกลั่นกรองและพัฒนาโครงการ โดยได้พิจารณาลงในรายละเอียดรายโครงการ มุ่งเน้นประเด็นต่างๆ อาทิ ขอบเขตการดำเนินงานหรือกิจกรรม งบประมาณ และความเป็นไปได้ในการติดตามประเมินซึ่งจะนำไปกำหนดเป็นตัวชี้วัดผล รวมตลอดถึงความเสี่ยง และความน่าเชื่อถือของผู้รับทุน 

                    (๕) เมื่ออนุกรรมการบริหารพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติโครงการหรือกิจกรรมเสร็จสิ้นแล้ว สำนักงานกองทุนฯ จัดทำวาระเสนอต่อคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อทราบต่อไป

               กระบวนการต่างๆข้างต้นนี้จะเห็นว่าการพิจารณามีกระบวนการและขั้นตอนที่ชัดเจน ซึ่งการพิจารณาข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมที่ขอมาในปีนี้ใช้เวลาตั้งแต่วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ถือเป็นระยะเวลาที่เพียงพอในการสอบทานให้เกิดความรอบคอบ

“กองทุนฯ ขอยืนยันว่า การพิจารณาอนุมัติโครงการหรือกิจกรรมการให้ทุนทุกประเภทได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ กฎ กติกา ตามที่คณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์กำหนดและปฏิบัติถูกต้องตามข้อบังคับซึ่งเป็นวิธีการและกลไกที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แล้ว” ผจก.กองทุนสื่อฯ กล่าว

จัดสรรทุนปี 64 กองทุนสื่ออนุมัติ 98 โครงการ 264 ล้านบาทภาพยนตร์เรื่อง พระร่วงพระราชาผู้ทรงธรรม ได้รับการพิจารณาผ่านโครงการขนาดใหญ่

ดร. ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม 2564 ได้รับทราบผลการพิจารณาอนุมัติข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรม ประจำปี 2564  หลังผ่านกระบวนการพิจารณาในขั้นตอนต่างๆ  ดังนี้

1.โครงการหรือกิจกรรมประเภทเปิดรับทั่วไป  อนุมัติ  51 โครงการ   90,000,000 บาท

2.โครงการหรือกิจกรรมประเภทเชิงยุทธศาสตร์ อนุมัติ 42 โครงการ  153,920,000 บาท

3.โครงการหรือกิจกรรมประเภทความร่วมมือ อนุมัติ  5 โครงการ     20,438,660  บาท

(รวม 98  โครงการ วงเงิน  264,358,660 บาท)

แบ่งเป็นประเภทผู้ยื่น

  • บุคคลธรรมดา 38 โครงการ
  • นิติบุคคล 38 โครงการ
  • องค์ชุมชน 1 โครงการ
  • สมาคม /มูลนิธิ 5 โครงการ
  • องค์กรสาธารณประโยชน์ 2 โครงการ
  • สถาบันการศึกษาของรัฐ 12 โครงการ
  • สถาบันการศึกษาเอกชน 1 โครงการ
  • หน่วยงานของรัฐ 1 โครงการ

ทั้งนี้กระบวนการพิจารณานับจาก ประกาศเปิดรับข้อเสนอโครงการ  18 มกราคม 2564  , เปิดรับข้อเสนอออนไลน์  20 มกราคม-19 กุมภาพันธ์ 2564  ประกอบด้วย กระบวนการพิจารณาโครงการหรือกิจกรรมตามลำดับ ดังนี้

1)  สำนักงานฯ ตรวจสอบเอกสารและคุณสมบัติเบื้องต้นก่อนนำเสนอคณะทำงานแต่ละชุดพิจารณา

2)  คณะทำงานจำนวน 11 คณะ แต่งตั้งโดยมติคณะอนุกรรมการกลั่นกรองและพัฒนาโครงการจากผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่สอดคล้องกับประเด็นที่พิจารณา ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองเบื้องต้น สรุปรายงานพร้อมข้อเสนอแนะ

3 ) อนุกรรมการกลั่นกรองและพัฒนาโครงการซึ่งแต่งตั้งโดยมติคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พิจารณาข้อเสนอและรายงานของคณะทำงานชุดต่างๆ ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ตามข้อ 19 แห่งข้อบังคับกองทุนฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินแก่โครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินฯ (ฉบับที่2) พ.ศ.2561

4) คณะอนุกรรมการบริหารฯ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 23 แห่ง พรบ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 2558 ทำหน้าที่พิจารณาอนุมัติโครงการหรือกิจกรรมที่สมควรได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ

5) คณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีมติรับทราบผลการพิจารณาอนุมัติโครงการหรือกิจกรรม พร้อมให้ข้อสังเกต ข้อเสนอแนะ และให้สำนักงานดำเนินการต่อไป

(ใช้กระบวนพิจารณา ระหว่างวันที่ 19 กุมภาพันธ์  – 13 พฤษภาคม 2564)

สำหรับโครงการขนาดใหญ่ที่ได้รับการพิจารณา  งบประมาณตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป มีจำนวน 2 โครงการ คือ ภาพยนตร์เรื่อง พระร่วง พระราชาผู้ทรงธรรม ผู้ขอรับทุน บริษัท เดอะวิน ออแกไนเซอร์ จำกัด งบประมาณ 30,000,000 บาท , ละครส่งเสริมจิตอาสาและหน้าที่พลเมือง ชุด “ใจอุทิศจิตอาสา”  ตอน เธอและฉันใต้ฟ้าผืนเดียวกัน  We own the sky  ผู้ขอรับทุน บริษัท มายน์แอทเวิร์คส์ จำกัด งบประมาณ  14,400,000  บาท  

โดยสามารถติดตามประกาศผลรายชื่อผู้ได้รับทุนทั้งหมดได้ทาง https://www.thaimediafund.or.th/download/tmfannouncegrants2021/ และเฟซบุ๊กแฟนเพจ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ดร.ธนกร  กล่าวว่า การพิจารณาโครงการ/กิจกรรมในปีนี้ ทุกกระบวนการเป็นไปด้วยความเข้มข้น รอบคอบ ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับและกฎหมายกองทุนฯ  ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายจึงมั่นใจว่าการใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ในการจัดสรรทุน จะก่อให้เกิดผลงานคุณภาพ ที่ยังประโยชน์ให้เกิดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ เกิดผลลัพธ์ผลผลิตที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของกองทุนฯ  ซึ่งมุ่งประสงค์จะส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์หลังจากประกาศรายชื่อผู้ได้รับทุนแล้ว   ผู้จัดการกองทุนกล่าวว่าเป็นธรรมดาที่การพิจารณาจัดสรรทุนแต่ละครั้ง จะมีทั้งผู้สมหวังและผู้ผิดหวัง ซึ่งกองทุนสื่อมีเงินน้อยแต่มีผู้ขอทุนจำนวนมากจึงมีผู้ผิดหวังมากเช่นกัน ทั้งนี้   สำนักงานน้อมรับความคิดเห็นต่างๆ นำเสนอผู้เกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์หาข้อสรุปประกอบแนวทางการดำเนินงานต่อไป