เลือกหน้า

ประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 5/2564

วันที่ 24 มิถุนายน 2564 เวลา 13.30 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 5/2564  โดยมี นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รองประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม  ประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เข้าร่วมประชุมผ่านระบบเครือข่ายการประชุมทางไกล (Video Conference) ณ ศูนย์ประชุมกระทรวงวัฒนธรรม ชั้น 8 กระทรวงวัฒนธรรม

 

ภาพประกอบจาก : กระทรวงวัฒนธรรม

“กองทุนสื่อฯ” จับมือ “นิด้า” นำเสนองานวิจัย “Quality Rating” หวังต่อยอดเป็นเกณฑ์วัด “สื่อคุณภาพ”

ทีมนักวิจัยจาก “นิด้า” นำเสนองานวิจัย “Quality Rating” ตั้งเป้ามุ่งสร้างแนวทางการวัดเรตติ้งแบบใหม่เพื่อวัด “คุณภาพ” ของรายการทีวี ภายใต้การเก็บข้อมูลทั้งจากผู้ชมและโลกออนไลน์ ด้าน “กองทุนสื่อฯ” หวังนำผลจากงานวิจัยไปต่อยอดสร้างระบบการวัดเรตติ้งแบบใหม่ที่เน้นเรื่องคุณภาพรายการ หลังระบบเรตติ้งปัจจุบันเน้นแต่จำนวนยอดผู้ชม

กรุงเทพมหานคร 21 มิถุนายน 2564 โครงการวิจัยการพัฒนาระบบการวัดคุณภาพของสื่อที่นำเสนอต่อสังคม (Quality Rating) โดยการสนับสนุนของ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้จัดการเสวนาออนไลน์ “เวทีเสวนาเพื่อการพัฒนาระบบการวัดคุณภาพของสื่อที่นำเสนอต่อสังคม (Quality Rating)” พร้อมด้วย “พิธีมอบใบรับรองให้แก่รายการที่เข้าร่วมโครงการวิจัยการพัฒนาระบบการวัดคุณภาพของสื่อที่นำเสนอต่อสังคม” ขึ้น โดยมีคณะผู้วิจัย ตัวแทนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และตัวแทนจากรายการต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ เข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้

การจัดเวทีเสวนาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการวิจัยการพัฒนาระบบการวัดคุณภาพของสื่อที่นำเสนอต่อสังคม (Quality Rating)” มีขึ้นเพื่อให้ตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับงานวิจัยดังกล่าว รวมทั้งมีการทำพิธีมอบรางวัลให้กับรายการข่าว และรายการเพื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว รวม 6 รายการ ที่ตกลงเข้าร่วมรับการประเมินคุณภาพรายการ ในขั้นตอนการทดลองใช้เกณฑ์ประเมินคุณภาพกับรายการจริง จนได้ผลการประเมินคุณภาพซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยดังกล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ นิด้า และหัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนาระบบการวัดคุณภาพของสื่อที่นำเสนอต่อสังคม (Quality Rating) เปิดเผยถึงที่มาของโครงการวิจัยว่า ศูนย์บริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ โดยมีบริษัท Backyard จำกัด เป็นผู้ช่วยด้านการเก็บข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ และได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ภายใต้เป้าหมายที่ต้องการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับระบบการวัดคุณภาพของสื่อ หรือ Quality Rating เพื่อนำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบว่าการประเมินคุณภาพสื่อคืออะไร และเหตุใดเรื่องดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ควรนำมาใช้กับการวัดเรตติ้งรายการในประเทศไทย รวมทั้งค้นหาวิธีการสร้างหลักเกณฑ์สำหรับใช้ในการประเมินคุณภาพของรายการโทรทัศน์ในอนาคต

“การศึกษาวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาตัวชี้วัดในการวัดคุณภาพของสื่อ แล้วนำเกณฑ์ดังกล่าวไปทดลองใช้ประเมินคุณภาพรายการในสองกลุ่ม ได้แก่ รายการข่าว และรายการเพื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว ที่เข้าร่วมโครงการ ก่อนจะนำผลการศึกษาที่ได้มาเปิดรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตรายการที่เข้าร่วมโครงการ นักวิชาการ นักวิชาการ องค์กรกำกับดูแลสื่อ และผู้ผลิตสื่อ จากนั้นจึงนำข้อคิดเห็นและคำแนะนำที่ได้มาสรุปผลการวิจัย และนำเสนอต่อกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อนำไปพัฒนาให้เกิดการนำเกณฑ์ดังกล่าวไปใช้จริงอย่างเป็นรูปธรรม” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนัญสรา กล่าว

ด้าน ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวถึงบทบาทการสนับสนุนโครงการวิจัยว่า การศึกษาวิจัยดังกล่าวเป็นหัวข้อที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 25612565) ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ในการพัฒนาสื่อและนิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยจะเป็นทั้งองค์ความรู้และนวัตกรรมสื่อที่สำคัญในอนาคต รวมทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การสร้างระบบการวัดเรตติ้งเชิงคุณภาพให้เกิดขึ้นได้จริง

“แวดวงสื่อสารมวลชนของไทยมีการหารือกันเกี่ยวกับประเด็นการวัดคุณภาพของสื่อหรือ Quality Rating ถึงความเป็นไปได้ที่จะมีองค์กรกลาง หรือเครื่องมือสำหรับใช้วัดคุณภาพของสื่อในประเทศมาอย่างยาวนาน เนื่องจากทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าการวัดเรตติ้งที่ใช้อยู่ในปัจจุบันให้ความสำคัญการวัดปริมาณของผู้ชมรายการเพียงอย่างเดียว เพราะตัวเลขดังกล่าวมีผลต่อการทำการตลาดหรือการลงโฆษณา ทำให้สื่อต่างๆ ตั้งเป้าผลิตรายการโดยมุ่งไปที่การได้เรตติ้งและความนิยมจากผู้ชมรายการเป็นหลัก จนละเลยความสำคัญของการผลิตรายการให้มีเนื้อหาที่ดีและมีคุณภาพไป  ทางกองทุนฯ หวังว่าการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ จะนำไปสู่การเกิดขึ้นของระบบการวัดคุณภาพของสื่อที่สามารถใช้งานได้จริง รวมทั้งนำไปสู่การผลักดันให้ระบบการวัดคุณภาพ ถูกนำไปใช้เป็นเกณฑ์สำคัญในการวัดเรตติ้งของสื่อในประเทศต่อไป” ดร.ธนกร กล่าว

ทั้งนี้ในการเสวนา ผู้เข้าร่วมการเสวนาได้แสดงความคิดเห็นถึงแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาระบบการวัดคุณภาพของสื่อ เพื่อให้เกิดการนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไปในอนาคต โดย ดร.โชคชัย เอี่ยมฤทธิไกร Group Director : Online Business and Ticketing บริษัท TERO Entertainment กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ผลิตสื่อต่างก็มีช่องทางที่จะติดตามดูผลตอบรับจากผู้ชมรายการ แต่ยังขาดคนกลางที่จะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลทั้งหมด พร้อมทั้งทำการประเมินและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้เห็นผลในภาพรวมจากหลายแพลตฟอร์ม ส่วน คุณนพดล ศรีหะทัย บรรณาธิการบริหาร รายการข่าวค่ำมิติใหม่ทั่วไทย ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานที่กำหนดมาตรฐานกลางสำหรับการวัดคุถภาพของรายการ แต่ถ้ากองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จะรับหน้าที่ดังกล่าว เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะทุกพสื่อต้องการระบบที่เป็นมาตรฐานกลางสำหรับการประเมินคุณภาพอยู่แล้ว

ด้าน คุณรินรดา รวีเลิศ ผู้ประกาศข่าวและบรรณาธิการข่าว ช่องเวิร์คพอยท์ กล่าวว่า หากการวัดคุณภาพสื่อเกิดขึ้น จะเป็นข้อมูลอีกด้านสำหรับสื่อ นอกเหนือจากการวัดเรตติ้งที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และเป็นข้อมูลที่รายการสามารถนำมาใช้พัฒนาคุณภาพของรายการให้ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ ในปัจจุบันผู้ชมมีการชมรายการจากแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น จึงอยากให้การวัดคุณภาพมีการวัดจากทุกแพลตฟอร์มเพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจน ขณะที่ คุณนนยนฎฐ จงจรูญ Strategy Marketing Manager ฝ่ายข่าวช่องวัน 31 ให้ความเห็นว่า หากนำระบบการวัดคุณภาพสื่อมาใช้จริง ควรทำการประเมินคุณภาพรายการจากทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการออกอากาศทางโทรทัศน์ การชมผ่านช่องทางออนไลน์ และการสำรวจจากกลุ่มผู้ชม เพื่อให้ได้คำตอบว่ารายการที่ผู้ชมชอบหรือไม่ชอบนั้นเกิดจากอะไร ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตรายการสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปปรัปปรุงให้รายการมีคุณภาพมากขึ้น

คุณวิไลภรณ์ จงกลวัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสาธารณะเพื่อเด็กและครอบครัว องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย เห็นว่าที่ผ่านมาผลการวัดเรตติ้ของรายการเด็กจะมีจำนวนผู้ชมค่อนข้างน้อยมาโดยตลอด เนื่องจากการไม่ใช่รายการยอดนิยม และรายการเด็กยังแบ่งตามช่วงอายุ เรตติ้งที่ได้จึงอาจไม่ได้วัดจากผู้ที่ชมรายการจริงๆ การนำระบบการวัดคุณภาพสื่อมาใช้จะช่วยให้รายการเด็กได้รับผลการประเมินคุณภาพที่เป็นจริงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอแนะว่า เพื่อให้ได้ผลที่ชัดเจน ควรมีการแบ่งแยกช่วงอายุของผู้ชมรายการในขั้นตอนการวัดคุณภาพด้วย

ด้าน คุณชำนาญ งามมณีอุดม ผู้เชี่ยวชาญ รักษาการแทนผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ระบบการวัดคุณภาพสื่อเป็นสิ่งที่กองทุนฯ จะหาทางพัฒนาต่อเพื่อให้เกิดการนำไปใช้ เพราะทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า ระบบการวัดเรตติ้งที่ใช้อยู่ในปัจจุบันซึ่งเน้นผลเชิงปริมาณนั้นยังไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะทำให้ระบบการวัดคุณภาพสื่อหรือ Quality Rating เป็นจริงได้นั้น จำเป็นต้องผลักดันให้เรื่องดังกล่าวเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง โดยเฉพาะการทำให้สังคมเกิดการยอมรับและทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของระบบการวัดคุณภาพสื่อและการมีสื่อคุณภาพ เพราะถ้าประชาชนยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ ก็ยากที่การวัดคุณภาพสื่อจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้

กองทุนสื่อ – อย. ลงนาม MOU สร้างนักสื่อสารสุขภาพสกัดข่าวปลอมออนไลน์

กองทุนสื่อ – สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ลงนามความร่วมมือด้านการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ สร้างนักสื่อสารสุขภาพสกัดข่าวปลอมออนไลน์

วันที่ 21 มิ.ย. 64 ดร. ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อกับ นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ในรูปแบบ Digital Signature ภายใต้โครงการ “คนไทยผนึกกำลังเฝ้าระวังข่าวปลอมออนไลน์” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของข่าวปลอมออนไลน์ และสร้างความตระหนักรู้ในการป้องกันตนเองไม่ให้หลงเชื่อข่าวปลอมด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายและร่วมกันดำเนินงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการเตือนภัยและเฝ้าระวังข่าวปลอมในระบบออนไลน์

กองทุนสื่อ “ปันรักปันสุข” รวมพลังจิตอาสาบริจาคของบ้านนนทภูมิและบ้านภูมิเวทเพื่อสาธารณะประโยชน์

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ “TMF ปันรักปันสุข” เนื่องในวันคล้ายวันวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี 3 มิถุนายน 2564 บริจาคสิ่งของ เครื่องอุปโภคบริโภค ของใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน อาทิ ข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง นม ยารักษาโรค และเครื่องอุปโภคอื่น ๆ ให้แก่สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านนนทภูมิ และสถานแรกรับเด็กชายปากเกร็ด (บ้านภูมิเวท) จังหวัดนนทบุรี ได้ใช้ประโยชน์ต่อไป