เลือกหน้า

ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 6/2564

วันที่ 17 มิถุนายน 2564 เวลา 13.30 น. ดร. ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 6/2564 ผ่านระบบ Online Conference – Microsoft Teams
โดยมี คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ดร. ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กองทุนฯ เข้าร่วมประชุม
ศูนย์ประชุมกระทรวงวัฒนธรรม ชั้น 8 กระทรวงวัฒนธรรม

 

ภาพประกอบจาก : กระทรวงวัฒนธรรม

 

 

กองทุนสื่อ แจงกรณีโครงการแกะดำในฝูงหมาป่าสีขาว นำไปสู่การใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสมต่อผู้รับทุน

ตามที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานของผู้รับทุน โครงการแกะดำในฝูงหมาป่าสีขาว และนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์รวมถึงการใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมต่อผู้รับทุน (บูลลี่) ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์นั้น กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอชี้แจงดังต่อไปนี้

1. ‘โครงการแกะดำในฝูงหมาป่าสีขาว เป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนประเภทเชิงยุทธศาสตร์ ในปี 2562 ประเด็นการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ (Cyberbullying) และการใช้ประทุษวาจา (Hate Speech) ในสื่อออนไลน์ที่สร้างความแตกแยกและเกลียดชังต่อผู้คนในสังคม ประเภทบุคคลธรรมดา ซึ่งในการคัดเลือกโครงการเป็นไปตามขั้นตอนและมาตรฐานการพิจารณาของทุกโครงการที่ส่งเข้าร่วม โดย นางสาวมัทรี ฉัตรแก้ววรวงศ์ เป็นการผลิตการ์ตูนคอมมิค “แกะดำในฝูงหมาป่าสีขาว” เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจแกะดำในฝูงหมาป่าสีขาว มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายตระหนักและรู้จักป้องกันตนเองจากการบูลลี่ เรียบเรียงข้อมูลที่ยาก ๆ ให้ตลกขบขัน ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมต่อการแก้ปัญหาในสังคมได้ต่อไป

2. ต่อมาโครงการได้ดำเนินการมาถึงขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เห็นว่าเป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์ในวงกว้าง จึงได้เชิญมาสัมภาษณ์ในรายการเล่าสื่อกันฟัง ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 8:30-8:55 น. ทาง พีเอสไอ สาระดี ช่อง 99 และเห็นสมควรให้ประชาสัมพันธ์โครงการให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง โดยได้นำเสนอภาพประกอบคำพูดส่วนหนึ่งของแขกรับเชิญมาเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ วันที่ 30 พฤษภาคม 2564

3. เมื่อภาพประกอบคำพูด จากทางทีมงานที่จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้ทำขึ้นนี้ ได้ถูกเผยแพร่ออกไป ปรากฏว่ามีผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิทั้งต่อผู้รับทุนและกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งข้อมูลที่นำไปวิพากษ์วิจารณ์หลายส่วนไม่ตรงกับสาระสำคัญของโครงการและข้อเท็จจริง

4. เมื่อเกิดปัญหาขึ้น งานสื่อสารองค์กร กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  ได้ยกเลิกข้อความดังกล่าว  และได้หารือกับฝ่ายบริหารเพื่อไม่ก่อให้เกิดความสับสน อย่างไรก็ตามได้มีผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์นำข้อมูลภาพประกอบคำพูดไปเผยแพร่ต่อออกไปในวงกว้างจนไม่สามารถควบคุมได้

5. กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอชี้แจงว่าการตั้งชื่อโครงการแกะดำในฝูงหมาป่าสีขาว หมายถึง คนในโลกออนไลน์ที่อาจมีความคิดเห็นไม่ตรงกับคนส่วนใหญ่ที่แตกต่างกัน ซึ่งมีโอกาสที่จะถูกกระทำ (วิพากษ์วิจารณ์ด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม) ทั้งที่ความแตกต่างดังกล่าวอาจมิเป็นความผิดแต่ประการใด

6. กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีนโยบายแน่วแน่ในการรณรงค์ส่งเสริมต่อต้านการใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม คำด่า คำหยาบ หรือการระรานในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำ ทั้งนี้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์พร้อมน้อมรับคำติชมและวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลาย โดยขอให้หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำหยาบคาย และหากเป็นไปได้ขอให้แสดงตัวตนที่ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สามารถติดต่อได้เพื่อนำความคิดเห็นไปปรับปรุงการดำเนินงานต่อไป

7. กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ประสานงานทำความเข้าใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้รับทุนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ รวมทั้งได้ให้กำลังใจในการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขออภัยต่อนางสาวมัทรี และย้ำว่าผู้รับทุนรายดังกล่าวเป็นผู้รับทุนที่มีผลงานการดำเนินโครงการเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการตามที่กำหนด และผลงานเป็นที่น่าพอใจ

8. กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและผลกระทบทางจิตใจที่เกิดขึ้นกับผู้ถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ (Cyberbullying) แบบที่ทางผู้รับทุนได้ตกเป็นประเด็นถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ในครั้งนี้ ทางกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงใคร่ขอความร่วมมือกับผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ในการรับฟังและพิจารณาข้อมูลและข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนรอบด้านและขอให้การแสดงความคิดเห็นทั้งหลายอยู่ภายใต้กรอบกติกาของสังคมที่ยอมรับได้ เคารพสิทธิส่วนบุคคล และใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วยความรับผิดชอบและไม่ล่วงละเมิดต่อสิทธิผู้อื่น ดังนโยบายที่ทางกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในสังคมที่เชื่อมั่นว่าความพยายามนี้จะก่อให้เกิดผลของการเปลี่ยนแปลง การรับรู้และเรียนรู้ให้เกิดความเข้าใจ ประเด็นการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ (Cyberbullying) เพื่อลดการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ (Cyberbullying) อย่างกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

วันที่ 8 มิถุนายน 2564

รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์คนใหม่ “ร้อยโท ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ หรือ ดร. อาร์ต”

ร้อยโท ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี (นบ.) จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโท (Master of Laws) จาก The University of Auckland ประเทศนิวซีแลนด์ และปริญญาเอก (Doctor of Philosophy) ด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยีสารสนเทศ จาก The University of Southampton ประเทศอังกฤษ โดยเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลไทย (ทุน ก.พ.) (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอุปนายกสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย)

ร้อยโท ธนกฤษฏ์ฯ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (ซึ่งครอบคลุมด้านลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร ความลับทางการค้า และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) โดยมีประวัติการทำงานในหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง เช่น ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการสำนักเครื่องหมายการค้า หัวหน้ากลุ่มงานจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ (เป็นผู้วางระบบการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศของไทย) หัวหน้ากลุ่มงานความร่วมมืออาเซียน เอเปค และจีน ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา เข้าร่วมคณะทำงานเจรจา FTA ไทย-อินเดีย และ WTO ขณะดำรงตำแหน่งนักวิชาการพาณิชย์ ณ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และมีประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศ โดยดำรงตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์ ณ กรุงบรัสเซลส์ รับผิดชอบภาพรวมนโยบายด้านการค้าของไทยกับสหภาพยุโรป รวมทั้งมีประสบการณ์การทำงานในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ณ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โดยรับผิดชอบการจัดตั้งบริษัทลูกของ AOT เพื่อดำเนินการด้านการขนส่งสินค้าเน่าเสียง่ายผ่านช่องทางพิเศษ ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานการขนส่งสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล เป็นต้น

ในทางวิชาการ ร้อยโท ธนกฤษฏ์ฯ เป็นอาจารย์พิเศษและกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกหลายมหาวิทยาลัย อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นต้น และเป็นวิทยากรหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หลักสูตรทนายความผู้ทำคำรับรองลายมือชื่อและเอกสาร หลักสูตรภาษาอังกฤษสำหรับนักกฎหมายของสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ร้อยโท ธนกฤษฏ์ฯ จะเข้ามาดูแลงานระบบบริหารจัดการภายใน ระบบไอที และงานลิขสิทธิ์และการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา โดยจะเริ่มปฏิบัติงานที่กองทุนฯ อย่างเป็นทางการในวันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป

คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอต้อนรับ “ร้อยโท ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ” รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์คนใหม่ พร้อมเป็นกำลังใจและสนับสนุนการทำงานให้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ของกองทุน

กองทุนสื่อปฐมนิเทศออนไลน์ โครงการที่ได้รับการสนับสนุนประจำปี 2564

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดปฐมนิเทศโครงการที่ได้รับการสนับสนุนประจำปี 2564

ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้เกียรติเปิดงานและมอบแนวทางการทำงาน ให้กับบุคคล/โครงการ ที่ได้รับทุนสนับสนุน ประจำปี 2564 ในการจัดปฐมนิเทศแบบออนไลน์

โดย ดร.ยุพา ได้กล่าวแสดงความยินดี กับ 98 โครงการ ที่ผ่านการพิจารณาได้รับทุน เพราะทุกโครงการมีประโยชน์กับสังคม เป็นสื่อที่มีประโยชน์ที่ส่งผลกระทบและเกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมในเชิงบวก

ด้าน ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้กล่าวขอบคุณทุกองคาพยพที่มีส่วนสำคัญยิ่ง ในทุกกระบวนการของการพิจารณาให้ทุนได้ลุล่วงและเกิดความสำเร็จ และแสดงความยินดีกับทุกโครงการที่ได้รับการพิจารณาอนุมัติ ซึ่งต่อจากนี้ภายใน 1 ปี ขอให้ทุกท่าน ทุกโครงการ ร่วมทำงานแบบกัลยาณมิตรกับกองทุน เพื่อให้ผลงานเกิดประสิทธิภาพ มีความภาคภูมิใจ ที่ทั้งต่อตนเอง สังคมส่วนรวม ได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด