เลือกหน้า

กองทุนสื่อ จับมือ ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (EEC) จัดกิจกรรมค่ายเยาวชน “เรารักษ์บ้านเรา” สร้างเยาวชนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แสดงอัตลักษณ์ท้องถิ่น

(27 พ.ย. 64) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาประเทศไทย หรือ EEC Thailand  เปิดกิจกรรมค่ายเยาวชน “เรารักษ์บ้านเรา” โดยมี ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวเปิดกิจกรรมค่าย พร้อมให้กำลังใจผู้เข้าอบรมการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตสื่อให้กับเด็กและเยาวชน ให้สามารถนำอัตลักษณ์ของชุมชนมาถ่ายทอดเป็นผลงานสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ออกสู่สังคมในมิติเชิงการอนุรักษ์ ให้คนกลับมารักษ์ถิ่นฐานบ้านเกิดของเรา

หลักสูตร “เรารักษ์บ้านเรา” เป็นหลักสูตรที่ให้ความสำคัญในการส่งเสริมเด็กและเยาวชนท้องถิ่นพัฒนาสื่อแสดงอัตลักษณ์ของชุมชน เป็นผู้ผลิตสื่อหน้าใหม่ที่มีศักยภาพ ซึ่งได้จัดกิจกรรม 2 ครั้งในจังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 12 – 14 พ.ย. 64 ที่ผ่านมา และจังหวัดกาญจนบุรี ในวันที่ 27 – 29 พ.ย. 64 นี้ ผู้เข้าอบรมจะได้รับการฝึกฝนทักษะอย่างรอบด้านกับผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ อาทิ อเล็กซ์ เรนเดลล์ ผู้ก่อตั้งศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาประเทศไทย,นายสัตวแพทย์ ดร.บริพัตร  ศิริอรุณรัตน์ กรรมการผู้จัด ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาประเทศไทย,ภาคภูมิ ประทุมเจริญ โปรดิวเซอร์และผู้กำกับ และสิปปกิจ ดวงแก้วใหม่ นักออกแบบ และผู้กำกับ ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และฝึกทักษะกระบวนการเรียนรู้ สิ่งแวดล้อมศึกษา หลักการผลิตสื่ออย่างสร้างสรรค์ และวิธีการหาและการตรวจสอบข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในงาน รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะสื่อที่ไม่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ หลังจบหลักสูตรผู้เข้าร่วมการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตร ซึ่งในครั้งนี้จัดขึ้น ณ ศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมวิมานดิน อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี 

 ภาพประกอบจาก : EECTHAILAND

5 หัวใจสำคัญของเนื้อหาที่ผู้ผลิตสื่อสำหรับเด็กเล็กต้องรู้!

จากการศึกษาวิจัย และองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นในโครงการพัฒนาผู้ผลิตสื่อสำหรับเด็กปฐมวัย (3-6 ปี) นอกจากจะมีรายละเอียดที่ต้องออกแบบให้สอดคล้องกับพัฒนาการ ทั้งทางกาย ทางอารมณ์ ทางสังคมแล้ว เรื่องการออกแบบเนื้อหายังต้องอยู่บนแกนสาระสำคัญ โดยวันนี้เรามีเช็คลิสต์ง่ายๆที่ต้องจำขึ้นใจ 5 ข้อ ซึ่งเป็นหัวใจหลัก เป็นจุดเริ่มต้นในการผลิตสื่อสำหรับเด็กเลยก็ว่าได้

  1. กระตุ้นจินตนาการและ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ( creative thinking & imagination) : มีเนื้อหาที่เปิดโลกจินตนาการ ให้เด็กฝึกคิดในแง่มุมใหม่ ยืดหยุ่นและเปิดมุมมองด้านความคิดสร้างสรรค์ อาจเพิ่มทักษะการสังเกต หรือตั้งคำถามในเชิงสร้างสรรค์…. เรียกง่ายๆว่า กระตุ้นต่อมเอ๊ะ!
  2. พัฒนาทักษาทางสังคม (social skills) : ช่วยเพิ่มทักษะที่สำคัญในโลกยุคใหม่นี้ ทำให้เด็กๆ มีทัศนคติที่ดี มีพลังบวก การมีน้ำใจ ช่วยเหลือเพื่อนๆ หรือคนในครอบครัว ทำให้เด็กๆ เข้าใจการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น มีความเข้าอกเข้าใจ และส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น
  3. สะท้อนและเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน ( relate daily life) เพื่อให้เด็กเข้าใจ เข้าถึง และอินกับเนื้อหาได้ง่าย เช่นเรื่อง ปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ ที่เด็กๆต้องเจอในชีวิตประจำวันซึ่งสามารถเพิ่มเติมเนื้อหาการแก้ปัญหาอุปสรรคในเชิงบวกให้เด็กๆไปด้วยได้
  4. ส่งเสริมความเข้าใจ และความภูมิใจในตัวเอง (self esteem) การรู้จักรักและภาคภูมิใจในตนเองเป็นพื้นฐานสำคัญของความมั่นใจ การตัดสินใจ ทำให้เด็กมีความเข้าใจโลกและมีความสุข มีสุขภาพจิตที่ดี อาจมีเนื้อหาที่ทำให้เข้าใจอารมณ์ความรู้สึก  การรู้จักเคารพในสิทธิของตัวเองและผู้อื่น โดยเลือกเนื้อหาที่เข้าใจง่ายเหมาะกับช่วงวัย
  5. สอดแทรกบริบทแวดล้อมให้เหมาะกับสังคมไทย (cultural context)  สามารถสอดแทรกเรื่องราวของบริบทสังคมไทยเข้าไป ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ เรื่องวัฒนธรรม วิถีของสังคมไทยได้อย่างง่าย เช่น การเคารพผู้ใหญ่ การปฏิบัติตัวอย่างมีมารยาทในสังคม

    ซึ่งหลักการ 5 ข้อนี้ จะช่วยให้มีจุดตั้งหลักในการคิดเนื้อหา ผู้ผลิตสื่อสำหรับเด็กก็จะมีแผนที่ที่ชัดเจน ที่จะสร้างสื่อเด็กที่ปลอดภัย สร้างสรรค์เหมาะกับเด็กๆ แต่ละช่วงวัยได้  แต่รับรองว่าเนื้อหาไม่ได้มีแค่นี้ เพราะกระบวนการพัฒนาผู้ผลิตสื่อสำหรับเด็กยังมีเนื้อหาต่างๆที่น่าสนใจอีกมากให้ได้ติดตามกันต่อไป รับรองว่าสนุกและได้ความรู้อัดแน่นแน่ๆ

    ”ความคิดเห็นต่อผลการศึกษาของ Media Alert เรื่อง การรายงานข่าวการฆ่าตัวตายในสื่อ” โดย รศ.ดร นิธิดา แสงสิงแก้ว อาจารย์ประจําคณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    ความคิดเห็นของแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข” ต่อผลการศึกษาเรื่อง “การรายงานข่าวฆ่าตัวตายในสื่อโทรทัศน์” ของ Media Alert