เลือกหน้า

วิกฤตโควิด 19 และ การสื่อสาร : กรณีคลัสเตอร์ทองหล่อ ชนวนระบาดโควิด 19

วิกฤตโควิด 19 และ การสื่อสาร : กรณีคลัสเตอร์ทองหล่อ ชนวนระบาดโควิด 19

กว่า 2 ปีแล้ว ที่โลกต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ประเทศไทยก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้การระบาดใน 2 ช่วงแรก เราจะสามารถรับมือได้ดีในระดับหนึ่ง แต่เมื่อต้องเจอกับการระบาดของโควิด 19  สายพันธุ์ใหม่ ประจวบกับความย่อหย่อนของมาตรการทั้งจากภาครัฐ และผู้ประกอบการธุรกิจ  นำมาสู่ความสับสนทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดและการสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสื่อสารของภาครัฐ และการสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์ หรือ Social Media 

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในฐานะกำลังสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน จึงได้จัดให้มีการศึกษาวิเคราะห์สื่อและพฤติกรรมการสื่อสารต่อประเด็นการกลับมาระบาดของโควิด 19 กรณีคลัสเตอร์ผับย่านทองหล่อ “คริสตัลคลับ” ( Krystal Club) ซึ่งจากการสำรวจ Trend การสื่อสารในแพลตฟอร์มออนไลน์ เดือนเมษายน 2564   พบว่า เป็นหนึ่งในประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจในลำดับต้นๆ โดยการวิเคราะห์ความรู้สึกจากกลุ่มตัวอย่างบัญชีโซเชียลที่มีอิทธิพลทางความคิด จาก Facebook และกลุ่มตัวอย่างบัญชีโซเชียลของบุคคลธรรมดา/ทั่วไป จาก Twitter ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่เป็นการสื่อสารแสดงความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวในเชิงลบ

จากการสัมภาษณ์ ผศ. ดร.ทวิดา กมลเวชช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารสถานการณ์ภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉิน ต่อผลการวิเคราะห์ความรู้สึกจากกลุ่มตัวอย่างบัญชีโซเชียลมีเดีย ดังระบุข้างต้น

          ผศ. ดร.ทวิดา มีความเห็นว่า รายงานดังกล่าวสะท้อนความรู้สึกของประชาชนที่ต้องอยู่ในสถานการณ์ระบาดของโรคมายาวนาน และในระลอกที่ 3 ยังมีต้นตอจากผับทองหล่อ ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ประชาชนรู้สึกโกรธ เพราะต้นเหตุเกิดจากมาตรการของรัฐอีกรอบ และยังเกี่ยวกับกลุ่มที่แสดงถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าต้นเหตุของการระบาดคือใคร เมื่อรวมกับแผนการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลก็ยังทำได้ไม่ดีนัก จึงเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีข่าวดี เพื่อเรียกความมั่นใจให้กับประชาชน  

            ผศ. ดร.ทวิดา สะท้อนภาพวิกฤตทางการสื่อสารต่อไปว่า วิกฤตทางการสื่อสารเกิดมาก่อนเดือนเมษายน เพราะที่ผ่านมารัฐใช้การสื่อสารแบบคลุกฝุ่น แต่สิ่งสำคัญสำหรับการสื่อสารในภาวะวิกฤตนั้นจะต้องให้ความสำคัญในบางจุด เช่น การแจ้งข้อมูลควรเป็นการบอกให้ทราบ ไม่ใช่การสั่งสอน อีกทั้งวิธีการนำเสนอของรัฐก็ยังไม่สอดคล้องกับวิธีการเสพข้อมูลของคนรุ่นใหม่ แต่ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้คือมาตรการที่ดี เพราะหากเริ่มต้นจากมาตรการที่ดีแล้วการสื่อสารที่ดีย่อมจะตามมา ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาไม่แน่ใจว่าการที่รัฐไม่ได้สื่อสารออกมา เป็นเพราะทำแล้วแต่ไม่สื่อสาร หรือไม่ได้ทำจึงไม่มีข้อมูลให้สื่อสาร จนทำให้การสื่อสารหมดพลัง

นอกจากนี้ ผศ. ดร.ทวิดา ยังวิเคราะห์ถึงสิ่งที่รัฐบาล สังคม และสื่อ ควรทำแต่อาจจะไม่ได้ทำในช่วงเวลาดังกล่าวว่า สำหรับภาครัฐสิ่งที่ไม่ได้ทำคือการแก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาด โดยอาจใช้วิธีนำเสนอเรื่องดี ๆ ที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาวัคซีน เช่น การระบุข้อมูลที่ชัดเจนเรื่องจำนวนวัคซีน ทั้งขั้นตอนการจอง และยอดฉีดของแต่ละวันให้ชัดเจน เป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐทราบแล้วว่าปัญหาอยู่ที่ไหน

          ส่วนภาคสังคมนั้นประกอบด้วยคนหลายกลุ่ม กลุ่มแรกคือ นักวิชาการ สิ่งที่ทำส่วนใหญ่คือการชี้ให้เห็นปัญหาว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แต่อาจลืมเสนอแนวทางการแก้ไข หรือไม่ได้ให้ความเข้าใจว่ารัฐอาจมีข้อจำกัดบางอย่าง หรือกฎระเบียบบางอย่างทำให้ไม่สามารถจัดการเรื่องดังกล่าวได้

           กลุ่มต่อมาคือ กลุ่มคนที่รับข้อมูลในโซเชียลและส่งต่ออย่างรวดเร็ว สิ่งที่ไม่ได้ทำคือการกลับไปแก้ไขข้อมูล หากข้อมูลที่แชร์เป็นข้อมูลที่ผิดพลาด ซึ่งอาจเกิดจากการไม่สนใจกลับไปแก้ไข หรือไม่อยากรับรู้ข้อมูลที่ขัดแย้งกับความรู้สึกตนเอง ซึ่งอาจทำให้คนที่รับข้อมูลแบบผ่าน ๆ อาจเข้าใจผิดพลาด

          ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มคนที่ต้องทำงานหนัก จนไม่มีเวลาตรวจสอบข้อมูล ทำให้ส่วนใหญ่เป็นผู้รับสารเพียงอย่างเดียว สิ่งที่ต้องทำคงเป็นเรื่องของการป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด แม้จะเป็นสิ่งที่ยาก แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อความปลอดภัยของตนเองและครอบครัว

          ประเด็นถัดมาคือ ในส่วนของสื่อ ที่ควรนำเสนอข้อเท็จจริงทั้ง 2 ข้าง และสื่อบางแห่งมักไม่ทำตัวเป็นผู้ให้ความรู้ แต่เป็นเพียงผู้สื่อสารข้อมูลที่เน้นความรวดเร็วเป็นหลัก นอกจากนี้ยังต้องเป็นผู้ประสานงานเมื่อเกิดวิกฤต เนื่องจากสื่อเป็นช่องทางที่เข้าถึงประชาชนได้ง่ายที่สุด และต้องใช้รูปแบบการสื่อสารโดยแจ้งให้ผู้ชมติดตามข้อมูลต่อเนื่องหากข้อมูลยังไม่ชัดเจน เพื่อเป็นประโยชน์ในการจัดการกับความไม่แน่นอนของข้อมูล            

          ผศ. ดร.ทวิดา เปรียบเทียบการสื่อสารของรัฐ สังคม และสื่อ ในช่วงเดือนเมษายน กับปัจจุบัน ว่า ทุกวันนี้พบว่ารัฐเปลี่ยนแปลงการสื่อสารค่อนข้างมาก มีการใช้กราฟิกนำเสนอข้อมูลให้ตรง

ใจผู้รับสารมากขึ้น เริ่มเข้าใจการเผยแพร่ข้อมูลให้รู้สึกถึงความขัดแย้งน้อยลง และใช้คำพูดลักษณะสั่งสอนน้อยลง แต่ติดตรงที่บางครั้งข้อเท็จจริงที่สื่อสารออกมาอาจยังออกมาไม่สุด แต่มาได้ระดับนี้ก็ถือว่ารัฐมีความพยายามสูงมากในการปรับตัว ในมุมของหัวหน้าที่อยู่ในกลุ่มคนรุ่นเก่า

          ส่วนของสังคมนั้น เชื่อว่าสังคมมีการพัฒนาไปก่อนหน้านี้ที่จะเกิดวิกฤตแล้ว เนื่องจากคนไทยไม่ได้โง่และทราบว่าต้องสืบค้นข้อมูลจากที่ไหน และมีการพัฒนาเรื่องการเช็กข้อมูลเพื่อการรับรู้ข่าวสารอย่างเท่าทัน ยกเว้นกรณีที่มีความเกลียดชัง ความไม่ชอบส่วนตัว ไปขัดขวางการรับรู้ข่าวสาร

          ส่วนของสื่อ พบว่าบางแห่งเริ่มให้ข้อมูลทั้ง 2 ด้านในการนำเสนอ รวมถึงในส่วนของโซเชียลมีเดียก็ตามเริ่มมีการนำข้อมูลเปรียบเทียบกันมากขึ้น ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมาในอดีต แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีสื่อบางแห่งที่มีการนำเสนอข้อมูลข้างเดียวอยู่เช่นเดิม ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

ผศ. ดร.ทวิดา กล่าวข้อเสนอแนะทิ้งท้ายว่า รัฐควรรวบรวมข้อมูล หาความเสี่ยงในการเกิดวิกฤตให้เจอ พร้อมตั้งทีมสื่อสารในภาวะวิกฤตขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อรับมืออย่างเหมาะสม และควรพัฒนาการใช้สื่อโซเชียลให้เป็นประโยชน์ในการให้ความรู้ และการขอความร่วมมือในเวลาเดียวกัน โดยนำเสนอให้เข้าใจง่าย ไม่ใช่รูปแบบเอกสารราชการ

สำหรับประชาชน ปัจจุบันที่สังคมมีความเซนซิทีฟเพิ่มขึ้น บางบริบทอาจฟังผ่าน ๆ โดยเอาแต่ใจความหลักของผู้สื่อสาร โดยบนพื้นฐานของการทำความเข้าใจกันทั้งผู้พูดและผู้ฟัง เพราะในอดีตสังคมไทยเคยใจดีมากกว่านี้ ไม่ทราบว่าปัจจุบันนี้สิ่งนั้นหายไปไหน

คำค้น Google Trends ประจำปีสะท้อนอะไร?

คำค้น Google Trends ประจำปีสะท้อนอะไร?

 

            ช่วงการอำลาปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ มักเป็นช่วงเวลาของการทบทวน ประมวลเหตุการณ์ที่ประสบพบเจอในช่วงปีที่ผ่านมา วันนี้ Media Alert จะชวนย้อนเวลาทบทวน Trends หรือความนิยม จาก “คำค้น” ยอดนิยมใน Google ช่วงปีที่กำลังจะผ่านไป

            ช่วงปลายปี 2564 Google ได้เปิดผล Google Trends ในแต่ละประเด็นได้แก่ คำค้นหายอดนิยม ข่าว ต้นไม้ บริจาค บุคคล ร้านค้า และสถานที่เที่ยว โดยในหมวดคำค้นยอดนิยมนั้นพบว่าผู้ใช้สื่อออนไลน์ส่วนใหญ่ให้ความสนใจข้อความที่เกี่ยวกับโรคระบาดโควิด 19 มากที่สุด ได้แก่ เราชนะ, คนละครึ่ง, วัคซีนโควิด, ม.33 เรารักกัน, โควิดวันนี้ และอาการโควิด  รองลงมาเป็นประเด็นเกี่ยวกับความบันเทิงและประเด็นอื่น ๆ เช่น ละคร เกม และลอยกระทง

            งานการสำรวจสถานการณ์การสื่อสารทางออนไลน์ของ Media Alert ช่วงเดือน เม.ย. ถึง มิ.ย.64 ได้นำผล Google Trends มาสรุปประเด็นเนื้อหาที่มีการสืบค้นมากสุด จาก Google Trends ในภาพรวม เป็นกลุ่มประเด็นและคำสืบค้น ดังนี้  

1) ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล เลขเด็ด

2) กีฬา

3) สถานการณ์โควิด-19 

โดยพบว่า มีการสืบค้นข้อมูลที่เกี่ยวกับผลสลากกินแบ่งรัฐบาล เลขเด็ด เป็นอันดับแรก ทั้งในเดือน เม.ย. และ พ.ค. ยกเว้นเดือน มิ.ย. ที่พบว่ามีการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด 19 มากที่สุด ทำให้เรื่องผลสลากกินแบ่งรัฐบาล เลขเด็ด และเรื่องกีฬา ตกลงไปอยู่ในอันดับ 2 และ 3

            เมื่อแจกแจงข้อความที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่ Google จัดรวบรวมไว้ นำเสนอเป็นกราฟ ได้ดังนี้

 

จะเห็นได้ว่า แม้ว่าคำว่า ตรวจหวย กับ หวย จะถูกค้นหาอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน แต่คำว่าเราชนะ และ คนละครึ่ง ก็มีช่วงเวลาที่ถูกค้นหามากที่สุด และสูงกว่าคำ ตรวจหวย หรือ หวย ทำให้เห็นได้ชัดว่าความนิยมของคำค้นขึ้นอยู่สถานการณ์ ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เมื่อเลยช่วงเวลานั้นแล้วความสนใจก็ลดลงไป จึงทำให้คำว่าเราชนะ และ คนละครึ่งกลายเป็นคำค้นยอดนิยมของปี 2564  การที่คำค้นยอดนิยมที่สุดคือ เราชนะ คนละครึ่ง รวมไปถึง ตรวจหวย และหวย เหล่านี้กำลังสะท้อนอะไรจากผู้ใช้สื่อออนไลน์

แสดงให้เห็นว่า ในช่วงปี 2564 คนไทยที่ใช้สื่อออนไลน์ ให้ความสนใจในสองประเด็นที่มีความแตกต่างกันตามช่วงเวลา และเมื่อเจาะจงไปในพื้นที่หรือจังหวัดที่ผู้ใช้สื่อออนไลน์ค้นหาคำเหล่านี้ พบว่า มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน

จากข้อมูลข้างต้นแสดงว่าคำค้นหาที่เกี่ยวกับ เราชนะ นั้น ส่วนใหญ่เป็นการค้นหาจากกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร แตกต่างจากคำค้นที่เกี่ยวกับการ ตรวจหวย พบว่า มีการค้นหาจากทั่วทั้งประเทศ เมื่อพิจารณารายจังหวัด พบว่า อันดับ 1-5 ได้แก่ จังหวัด ลำพูน แพร่ อำนาจเจริญ อุทัยธานี และสุโขทัย และเมื่อพิจารณาในภาพใหญ่ระดับประเทศนั้น พบว่า คนไทยให้ความสนใจในประเด็น หวย หรือ สลากกินแบ่งรัฐบาล ตามผลการศึกษาเรื่อง “Trends and Tweets: ความสนใจ ความคิดเห็น และอารมณ์ในโลกออนไลน์ ในช่วงเดือนเมษายน พฤษภาคม และ มิถุนายน 2564” ของ Media Alert (2564)

หากพิจารณาลงลึกไปถึงที่มาที่ไปของคำค้นเหล่านี้ พบว่า เป้าหมายของคำค้นเหล่านี้สะท้อนปัญหาทางเศรษฐกิจ เหตุเพราะทั้งคำค้น “เราชนะ” “คนละครึ่ง” “ตรวจหวย” “หวย” ล้วนเกี่ยวข้องกับการเงิน ดังส่วนหนึ่งในบทวิเคราะห์ของ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์สาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเวทีเสวนาเรื่อง “Trends and Tweets: ความสนใจ ความคิดเห็นและอารมณ์ในโลกออนไลน์” จัดเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2564

“……..ผมคิดว่าผลการนำเสนอการศึกษาครั้งนี้ สะท้อนสถานการณ์ทางสังคมที่คนสิ้นหวังท้อแท้มากขึ้น เช่น การสนใจเรื่องหวย เรื่องผลสลากกินแบ่ง เป็นความรู้สึกของชนชั้นกลางระดับล่างที่เจอกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ ต้องการความหวังในการใช้ชีวิตและขยับสถานะทางเศรษฐกิจของตนเองให้ดีขึ้น แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร…….”

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในช่วงปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งจึงสะท้อนให้เห็นผ่านคำค้นในช่วงปีที่ผ่านมา ที่ทุกคนให้ความสนใจใน คำค้น “เราชนะ” “คนละครึ่ง” อันเป็นมาตรการที่รัฐบาลได้มอบเงินเยียวยาแก่ประชาชน ทั้งยังรวมไปถึงการ “เสี่ยงโชค” หรือ “สลากกินแบ่งรัฐบาล” ที่คนไทยให้ความสนใจอยู่เสมอ ทำให้ข้อมูลทั้ง 2 ส่วนนี้เป็นอันดับต้น ๆ จาก “คำค้น” ในช่วงปี 2564 ของประเทศไทย

ผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 โดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนอยู่ที่ 28,454 บาท ขณะค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนคือ 22,325 บาท แสดงให้เห็นว่าแต่ละครัวเรือนจะเหลือเงินเก็บต่อครัวเรือนที่ 6,000 บาท แต่ทว่าครัวเรือนไทยมีหนี้สินเฉลี่ยที่ 208,733 บาท ข้อมูลเหล่านี้ แสดงชัดว่า ครัวเรือนไทยจำนวนมาก มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ จึงไม่น่าแปลกใจที่คำค้นในออนไลน์ที่เกี่ยวกับการเงิน จึงได้รับความสนใจสูงสุด

สื่อมวลชนประเทศไทย ก็เช่นกัน ต่างก็ให้ความสำคัญในเรื่อง “การเสี่ยงโชค” และ “การใบ้หวย” จากงานการศึกษาเรื่อง “ความเชื่อทางไสยศาสตร์ในรายการข่าวโทรทัศน์” ของ Media Alert (2564) พบว่า มีการนำเสนอข่าวทางโทรทัศน์เกี่ยวกับความเชื่อทางไสยศาสตร์ ในช่วง 2 สัปดาห์ มีการนำเสนอถึง 102 ข่าว และความยาวอยู่ที่ 218 นาที งานการศึกษานี้ยังชี้ให้เห็นว่า ส่วนใหญ่ของข่าวโทรทัศน์ที่ศึกษาได้นำเสนออย่างเชื่อมโยงความเชื่อทางไสยศาสตร์กับ หวย ตัวเลข และการเสี่ยงโชค

 

จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นว่า สื่อมวลชนก็เป็นช่องทางสำคัญในการกระตุ้นให้คนสนใจใน  ประเด็น “การเสี่ยงโชค” ผสมผสานไปกับ “ความเชื่อทางไสยศาสตร์” สาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการนำเสนอเช่นนี้ทางสื่อ อาจเป็นดังที่  ระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ได้กล่าวในงานเสวนาเรื่อง “Trends and Tweets: ความสนใจ ความคิดเห็นและอารมณ์ในโลกออนไลน์” เมื่อ 23  พ.ย. 64  ตอนหนึ่งว่า

องค์กรสื่อเองก็ต้องอยู่ได้ด้วยกลไกทางตลาด (ไม่ใช่ด้วยเงินบริจาค) จึงต้องผลิตเนื้อหาเพื่อนำเสนอให้คนสนใจ ซึ่งอาจมีผลต่อเรื่องจริยธรรมในการนำเสนอ ผมจึงอยากให้องค์กรรัฐสนับสนุนการผลิตเนื้อหาขององค์กรสื่อที่สะท้อนภาพของสังคมและช่วยกันพัฒนาสังคมได้

ในสภาวะความยากลำบากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด 19 ที่สะท้อนผ่าน Google Trends ในช่วงปีที่ผ่านมานี้ แสดงให้เห็นว่า ประชาชนจำเป็นต้องพึ่งพาทั้งการเยียวยาและการช่วยเหลือจากรัฐบาล ทั้งยังรวมไปถึง การเสี่ยงโชคจากสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ผ่านมา การรายงานข่าวความเชื่อทางไสยศาสตร์ก็มีสัดส่วนมากขึ้น อันอาจเป็นการสร้าง การผลิตซ้ำ มาตรฐานการทำงาน หรือสูตรสำเร็จของการรายงานข่าว ที่ใช้วิธีเชื่อมโยงข่าวต่าง ๆ กับความเชื่อทางไสยศาสตร์ และโชคลาง เพื่อเรียกความสนใจจากผู้รับชม อันส่งผลต่อเรตติ้งรายการ แต่เป็นการลดทอนมาตรฐานเชิงคุณค่า ของรายการข่าวที่มีบทบาทกำหนดวาระทางสังคม ผู้ผลิตรายการข่าวจึงไม่ควรจัดกระทำให้ข่าวเชื่อมโยงกับความเชื่อทางไสยศาสตร์ อย่างมุ่งกระตุ้นความสนใจ ที่อาจเป็นการตอกย้ำ ผลิตซ้ำ หรือทำให้เป็นความเชื่อที่งมงายด้วยไร้เหตุผล ไม่สร้างประโยชน์ อาจทำให้ติด การเสี่ยงโชค (Media Alert, 2564)

 

สุดท้าย Google Trends ประจำปีอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการค้นหาความสนใจในโลกออนไลน์ของประชาชนแค่ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง และพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง  ซึ่งไม่อาจสรุปความคิดหรือความรู้สึกของประชาชนทั่วประเทศไทยได้ทั้งหมด  แต่ “คำค้น” เหล่านี้เป็นเสียงสะท้อนจากประชาชนที่แสดงให้เห็นถึงความสนใจที่ผูกโยงกับความต้องการทั้งด้านปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต การอุปโภคบริโภค ทัศนคติ และบริบทของสังคมในขณะนั้น แม้สื่อมวลชนจะมี “สิทธิ” ในการคัดเลือกนำเสนอข้อมูล หรือจัดวาระสำคัญของข่าวสารต่าง ๆ ตาม Rating หรือ Trending เพื่อตอบโจทย์ความสนใจของคน  แต่ในขณะเดียวกัน “สื่อมวลชน” ก็มี “หน้าที่และความรับผิดชอบ”  ในการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง มีสาระประโยชน์  ช่วยแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง เพื่อยกระดับความคิด และคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยเช่นกัน

ความสวย ทำไมต้องมีมาตรฐาน?

ความสวย ทำไมต้องมีมาตรฐาน?

เมื่อรูปร่างหน้าตามีบรรทัดฐานความงามควบคุม

 

            #RealSizeBeauty วาทกรรมทางความงามชุดใหม่ที่มาพร้อมกับเวทีการประกวด Miss Universe 2021 เมื่อความงามไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปร่าง ผอมเพรียว ผิวเนียนสวย หรือมีหน้าอกใหญ่ อีกต่อไป “แอนชิลี สก๊อต-เคมมิส” ตัวแทนประเทศในการประกวดครั้งนี้ ได้สร้างกระแสการเปลี่ยนนี้ให้เกิดขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทย ในรอบการประกวด preliminary บทเวที Miss Universe Thailand แอนได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า  

ฉันมายืนอยู่ตรงนี้เพื่อเป็นตัวแทนของพวกคุณทุกคน ทุกคนที่เคยรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่ง รู้สึกถูกตัดสินและรู้สึกเจ็บปวด เพราะเรามีความสวยที่ไม่เหมือนกับมาตรฐานกำหนดไว้ โดยเฉพาะ young girls เพื่อที่พวกคุณจะได้เฉลิมฉลองความเป็นตัวเอง ความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ฉันมองเห็นพวกคุณทุกคน ฉันได้ยินเสียงของพวกคุณ และฉันมาที่นี่เพื่อพวกคุณ

            แอนชิลีได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในวงการประกวดนางงามประเทศไทย เมื่อเธออยู่นอกเหนือจากมาตรฐานความงามในแบบที่ทุกคนรับรู้ เธอไม่ใช่คนผอมเพรียวตามแบบมายาคตินางงามที่เคยมีมา จนนำมาสู่การปลุกกระแส #RealSizeBeauty ขึ้นมาในสังคมไทย

 

            เมื่อการนิยามความงามที่ผ่านมาในอดีตจนถึงปัจจุบันนั้นขึ้นอยู่กับอำนาจทางสังคม และรูปแบบสังคมที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา จนกระทั่งในศตวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา วาทกรรม “ความสวย” ในสังคมตะวันตก ได้ถูกโยงเอาค่านิยมความสวย ไว้กับความผอมยิ่งกว่าความผอม และได้กลายเป็นปัญหาของผู้หญิงที่พยายามทำตามค่านิยมนั้น (อุ่นใจ เจียมบูรณะกุล, 2562) 80’s จุดเริ่มต้นของยุคนางแบบ หญิงสาวถูกปักป้ายบนมาตรฐานความสวยแบบสูง ผอม ผิวแทน แต่เฟิร์มแบบนักกีฬา สะโพกต้องเล็กลงและหน้าอกใหญ่ อิทธิพลของนางแบบในสื่อทำให้สาว ๆ พยายามผอมลง ในขณะที่นางแบบนั้นยิ่งผอมกว่าคนปกติลงไปอีก (อาภาภัทร ธาราธิคุณ, 2564)

            ในงานศึกษาเรื่อง วาทกรรมความงามและชุดว่ายน้ำ ที่ผ่านมาของ Media Alert ได้กล่าวถึงแนวคิดเรื่องวาทกรรมไว้ตอนหนึ่งว่า อุดมการณ์เกี่ยวกับ ผู้หญิง และ ความงาม ที่ถูกกําหนดผ่านสังคมและมีแนวโน้มที่จะถูกผลิตซ้ำและเผยแพร่ โดยสื่อมวลชนสู่สังคมในวงกว้าง โดยจากการทบทวนการศึกษาเกี่ยวกับวาทกรรมความงามของผู้หญิงไทยผ่านสื่อ ทั้งงานวิจัยของณัฐพร พานโพธิ์ทอง (2551) รัชนินท์ พงศ์อุดม (2548) ศิริพร ภักดีผาสุข (2552) รวมถึง นันทนา วงษ์ไทย (2556) พบข้อสรุปเกี่ยวกับอุดมการณ์ และลักษณะความงามที่พึงประสงค์ของหญิงไทยที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือการมีรูปร่างผอมเพรียวดูอ่อนเยาว์ผิวขาวกระจ่างใสหน้าอกใหญ่ตึงและได้รูปทรง

            มาตรฐานความงามที่ถูกกำหนดโดยสื่อมวลชน การนําเสนอความงามผ่านสื่อมวลชนประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรายการโทรทัศน์ประเภทส่งเสริมให้คนทําศัลยกรรม หรือ งานโฆษณาที่มักนําเสนอว่าความสวยคือจุดเด่นของผู้หญิงที่ทําให้เป็นที่ต้องตาต้องใจของเพศตรงข้าม ในขณะที่คนไม่สวยหรือคนหน้าตาไม่ดีตามค่านิยมของสังคมจะกลายเป็นคนที่ไม่มีที่ยืนในสังคม (สหภาพ พ่อค้าทอง, 2563) ในบทความเรื่อง “แบบนั้นสวย แบบนี้หล่อ? เมื่อ ‘มาตรฐานความงาม ของสังคมสร้างความบอบช้ำให้ผู้คน” โดย The Matter (2563) ได้กล่าวว่าสื่อโฆษณาชี้นำให้ผู้คนคิดว่า จะต้องมีผิวแบบนั้น หุ่นแบบนี้ เพื่อนำไปสู่การบริโภคสินค้าของแบรนด์ตนเอง เวทีประกวดต่าง ๆ ที่ใช้รูปร่างหน้าตาเป็นเกณฑ์ ซึ่งเมื่อตัดสินผู้ชนะในตอนสุดท้าย ก็ถือเป็นการเคาะสรุปว่า หน้าตาที่สวยหล่อควรจะเป็นแบบไหน

            เมื่อสื่อประกอบสร้างมายาคติความงาม ในงานศึกษาเรื่อง “สื่อสร้างสวย” มายาคติจากการอบรมบ่มเพาะจากสื่อ ของ สหภาพ พ่อค้าทอง (2563) ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า สื่อ เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อทัศนคติ พฤติกรรม และวิถีชีวิตของคนทุกเพศทุกวัยในสังคมไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่น หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ จนทำให้สื่อกลายมาเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อผู้รับสารในหลาย ๆ ด้าน วาทกรรมความงามเป็นการประกอบสร้างภายใต้อำนาจของชนชั้นในสังคมที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละยุคสมัยที่ต่างกัน ตามแนวคิดขั้นตอนและกระบวนของวาทกรรม

รูปภาพ 1 ขั้นตอนและกระบวนของวาทกรรม
ที่มา : วิธีวิทยาวิเคราะห์วาทกรรมแนววิพากษ์ในการศึกษาการพัฒนา. (2558). น.114 ทฤษฎี ระเบียบวิธีวิจัย (methodology) และหน่วยในการศึกษาวาทกรรม

            วาทกรรม “ความสวย ความงาม” ถูกประกอบสร้างมาอย่างช้านาน เช่นเดียวกับเวทีประกวด Miss Universe ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1952 หรือ 69 ปีมาแล้ว การนิยามความหมายของความงามขึ้นอยู่กับทั้งผู้จัดงาน คณะกรรมการ หรือแม้กระทั่งผู้มีอำนาจตัดสิน แสดงออกมาผ่านผู้ได้รับรางวัลในแต่ละปี จนนำมาซึ่งการปฏิบัติงานของวาทกรรมนั้น ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดความงามในรูปแบบของเวทีประกวด Miss Universe ที่กลายเป็นบรรทัดฐานให้ผู้หญิงทั่วโลก บรรทัดฐานความงามชุดนี้ได้ประสานและกลายเป็นค่านิยมหลักของสังคมโลกไปในที่สุด

วาทกรรมชุดใหม่ #RealSizeBeauty ได้เข้ามาทำหน้าที่ผลิตสร้างความหมายใหม่ (resignification) ของความงาม ที่เกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่มี ความคิด ความเชื่อ หรือรูปร่างหน้าตา ไม่ตรงตามมาตรฐานความงามที่ได้กำหนดไว้แต่เดิม นำไปสู่การผลิตสร้างความหมายใหม่ทางวาทกรรมของผู้ตกเป็นเหยื่อ เป็นฝ่ายเสียเปรียบ เป็นผู้ถูกกระทำและเป็นเสียงที่ไม่มีใครได้ยินให้ปรากฏขึ้นในสังคม โดยการผลิตสร้างความหมายใหม่ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (social movement)

สุดท้ายแล้ว การเคลื่อนไหวทางสังคมในการเปลี่ยนแปลงมายาคติความงามกับวาทกรรม #RealSizeBeauty นี้ จะมีพลังสามารถต่อสู้ต่อรองกับมายาคติความงามชุดหลักของสังคมได้หรือไม่ หรือการเริ่มต้นนี้จะเป็นเพียงแค่กระแสสังคมเพียงชั่วข้ามคืน ยังคงต้องติดตามกันต่อไปถึงข้อถกเถียงชุดนี้ว่าจะเกิดขึ้นต่อไปหรือไม่ หรือจะหายไปตามกาลเวลา

 

ที่มา

สหภาพ พ่อค้าทอง. (2563). “สื่อสร้างสวย” มายาคติจากการอบรมบ่มเพาะจากสื่อ. วารสารสหศาสตร์ศรีปทุม ชลบุรี, 6(1), 12-21.

อาภาภัทร ธาราธิคุณ. (2564). Beauty Standard ส่องวิวัฒนาการมาตรฐานความงามที่ไม่ควรมีมาตรฐาน. สืบค้นจาก https://www.modernist.life/18747/?fbclid=IwAR3-C24UkSEZ2Hq-nMET0wKosntlDxKk54YHsinqQFqiDVfXx-OVstfFukE

อุ่นใจ เจียมบูรณะกุล. (2562). วาทกรรม “ความสวย” และการต่อรองอัตลักษณ์วัฒนธรรมบริโภค. Journal of Social Sciences, Faculty of Social Sciences, Chiang Mai University, 18(1), 133-167.

Media Alert. (2564). วาทกรรมความงามผ่านเรือนร่างคนดังในชุดว่ายน้ำตามวาระสื่อในฤดูร้อน. สืบค้นจาก https://www.thaimediafund.or.th/mediaalert-factsheet07/

The Matter (2563). “แบบนั้นสวย แบบนี้หล่อ? เมื่อ ‘มาตรฐานความงาม’ ของสังคมสร้างความบอบช้ำให้ผู้คน. สืบค้นจาก https://thematter.co/social/beauty-standard/120141

ประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 10/2564

ประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 10/2564

วันที่ 24 ธันวาคม 2564 เวลา 10.00 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 10/2564

โดยมี นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รองประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เข้าร่วมประชุมผ่านระบบเครือข่ายการประชุมทางไกล (ผ่านระบบ Microsoft team)

ณ ศูนย์ประชุมกระทรวงวัฒนธรรม ชั้น 8 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม

ภาพประกอบจาก : กระทรวงวัฒนธรรม