เลือกหน้า

“อนุกรรมการนวัตกรรมสื่อ” กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แถลงผลการดำเนินงานปี 2564 และแผนปี 2565

(14 ธ.ค. 64) คณะอนุกรรมการนวัตกรรมสื่อ  กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แถลงข่าวการดำเนินงานโครงการตลอดปี 2564 และทิศทางการดำเนินงาน ปี 2565 พร้อมกิจกรรมการเสวนาในหัวข้อ “สื่อสร้างสรรค์: Media Transforming in Digital Disruption” ณ โรงแรมเดอะควอเตอร์ อารีย์ บาย ยูเอสจี

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์และความตั้งใจของกองทุนฯ ในการรณรงค์ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิต การส่งเสริมให้เด็กเยาวชนและครอบครัวมีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อและเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ การส่งเสริมการศึกษาวิจัย และการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน สนับสนุนให้ภาคีเครือข่ายได้พัฒนาสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ และสุดท้ายมุ่งหมายว่าสังคมไทยจะมีสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้ประชาชนได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์และประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้  ทั้งนี้ พรบ.กองทุนฯ ตามมาตรา 21 มีอนุกรรมการอยู่ 3 คณะ ได้แก่

1.อนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน

2.อนุกรรมการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์

3.อนุกรรมการนวัตกรรมสื่อ  ซึ่งเป็นผู้จัดงานในครั้งนี้

โดย ดร.ธนกร ได้กล่าว ชื่นชมคณะทำงานอนุกรรมการนวัตกรรมสื่อ ถึงแม้จะมีข้อจำกัดในสถานการณ์โควิด ๑๙ แต่ก็สามารถทำงานลุล่วงไปได้ด้วยดี และได้กล่าวถึงประเด็น Soft Power ประเทศไทยมีต้นทุนทางวัฒนธรรมมากมาย ถ้าวัฒนธรรมที่มีอยู่เหล่านั้นไม่ถูกนำมาผ่านกระบวนการปรุงหรือสร้างสรรค์ด้วยนวัตกรรม ก็จะเป็น Soft Power ไม่ได้ ฉะนั้นเรื่องของนวัตกรรมสื่อจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ดร.ธนกร กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ประธานคณะอนุกรรมการนวัตกรรมสื่อ กล่าวว่า “เมื่อโลกเปลี่ยนทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ คณะอนุกรรมการนวัตกรรมสื่อ มีเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างนวัตกรรมสื่อ เหตุเพราะทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ จากเครื่องมือที่มี โดยเฉพาะ เทคโนโลยีหรือสื่อออนไลน์ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องพัฒนาสื่อให้มีคุณภาพสร้างสรรค์ เพราะจะส่งผลต่อการพัฒนาความคิด ทักษะทางสังคม เพื่อทุกคนจะมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้น” ที่ผ่านมาคณะกรรมการนวัตกรรมสื่อ ได้มีการดำเนินการโครงการสำคัญไปหลายโครงการ ดังนี้

1.จัดทำนิยามนวัตกรรมสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์นั้นคือ ว่าการทำสื่อที่สร้างสรรค์และปลอดภัยเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ นิยามนวัตกรรมสื่อ คือ สื่อที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ หรือต่อยอดต่อสิ่งเดิม ซึ่งมีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชน และกลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงได้ง่าย ขณะที่ นิยามของนวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  คือ นวัตกรรมสื่อที่มีเนื้อหามุ่งเน้นให้เกิดผลดีต่อสังคม ทั้งด้านศีลธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม และความมั่นคง ความคิดสร้างสร้างสรรค์ การเรียนรู้ทักษะชีวิต การรู้เท่าทันสื่อ การใช้ประโยชน์จากสื่อในการพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคม โดยกลุ่มเป้าหมายของการดำเนินงาน คือ สื่อ ผู้ผลิตสื่อ และนักเรียน นิสิต นักศึกษา ตลอดจนกลุ่มผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ หน่วยงานรัฐเอกชน และภาคีเครือข่ายตลอดจนประชาชนทั่วไป

2.การมอบทุน

เป็นการพิจารณามอบทุนให้กับผู้ที่ต้องการสร้างนวัตกรรมสื่อ หรือต่อยอดจากโครงการเดิมไม่ว่าจะ Open Grant หรือ Strategic Grant หรือมอบทุนในลักษณะความร่วมมือหรือ Collaborative Grant

3.การวิจัยถอดองค์ความรู้นวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โครงการนี้ ได้ส่งผลให้เกิดแนวทางการพัฒนานวัตกรรมสื่อสำหรับผู้ผลิตสื่อ เกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมและแนวทางการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนา รวมถึงข้อเสนอเชิงกลยุทธ์ต่อกองทุนในการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมสื่อ

4.การมอบรางวัลนวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (Safe & Creative Media Innovation Awards)

คณะอนุกรรมการนวัตกรรมสื่อฯ ได้ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) มอบรางวัลนวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 2 ประเภท ดังนี้

1.ประเภทเยาวชน

Innovation: การพัฒนาบอร์ดเกมเพื่อเพิ่มทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ได้

Innovator (นวัตกร): นางสาวภณิดา แก้วกูร Website: https://www.newmeeple.com/ FB: https://www.facebook.com/NewMeeple/ เกม “The Rumor Villages” สร้างขึ้นเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และทักษะการรู้เท่าทันสื่อแก่ เยาวชน โดยเนื้อหาในบอร์ดเกม เกิดจากแนวคิดการตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact check) จากคู่มือภาคปฏิบัตินักตรวจสอบข้อเท็จจริง

2.ประเภทบุคคลทั่วไป

Innovation: การพัฒนาการตรวจจับข่าวปลอมโดยการเรียนรู้ของเครื่องและการตรวจสอบข้อเท็จจริงของประชาชน

Innovator (นวัตกร): คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย รศ.ดร.พนม คลี่ฉายา Website: https://www.thaidimachine.org/ โครงการพัฒนาต้นแบบเว็บแอปพลิเคชันสำหรับการตรวจจับข่าวปลอมและตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ใช้เป็น กลไกการป้องกัน และแก้ปัญหาข่าวปลอมสำหรับประชาชน

5.การพัฒนาตัวชี้วัดนวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

โดยมีคณะอนุกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ หรือคณะอนุกรรมการนวัตกรรมสื่อ ดำเนินการโดยมีเป้าหมายการพัฒนาสื่อผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ได้แก่ การสร้างนวัตกร (Innovator) สื่อในทุกระดับ, การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์, การต่อยอดผลงาน, การสร้างเครือข่าย, การเปิดเวทีระดมความคิดเห็น, การเผยแพร่นวัตกรรมสื่อ และการสร้างเครื่องมือและองค์ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมสื่อ

 

นอกจากนี้ ประธานคณะอนุกรรมการนวัตกรรมสื่อฯ ยังได้เผยถึงผลการดำเนินโครงการปี 2564 ดังนี้

1.โครงการ “เก๋าชนะ”: ทุนประเภทความร่วมมือ (Collaborative Grant)

รูปแบบรายการ “เก๋าชนะเป็นการ ตอบคำถามออนไลน์ และออฟไลน์ ผ่านแอปพลิเคชั่น Zoom โดยแข่งขันทางระบบออนไลน์ ผ่าน zoom ความยาวไม่เกิน 10 นาที จำนวน 16 ตอน มีผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 16 ทีม โดยผู้ชนะเลิศ ได้รับเงินและถ้วยรางวัล

2.iTOP แพลตฟอร์มสำหรับการค้นหา Micro Influencer (ระยะเวลาดำเนินการ 2564-2565)

เป็นการอบรมเพื่อการสร้างรายได้ผ่านเทคโนโลยี ซึ่งทำให้เห็นว่า iTOP เป็นมากกว่าแพลตฟอร์มที่ค้นหา Micro Influencer แต่สามารถค้นหา นักเล่าเรื่องระดับประเทศได้ด้วย

3.โครงการ Landlab (ระยะเวลาดำเนินการ 2564-2565)

LANDLAB (แลนด์แลป) เป็นพื้นที่เรียนรู้ด้านเกษตรและวิถีชุมชน เพื่อครอบครัวยุคใหม่ เพื่อพัฒนาพื้นที่เกษตรดั้งเดิม สู่การสร้างเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวและการเรียนรู้ใกล้เมือง จากชุมชนสู่ครอบครัวรุ่นใหม่ ทั้งไทยและต่างประเทศ

4.โครงการปฏิบัติธรรมออนไลน์ ทุกวันพระ (ระยะเวลาดำเนินการ 2564-2565)

สามารถเข้าไปเลือกกิจกรรมที่สนใจ ได้แก่ ทำวัตรเช้า/สวดมนต์ ฟังเทศน์ กิจกรรมฝึกนั่งสมาธิเบื้องต้น ทำวัตรเย็น/สวดมนต์ ผ่านระบบออนไลน์

5.insKru (ระยะเวลาดำเนินการ 2564-2565)

เมื่อคลิกเข้าไปที่ www.inskru.com จะพบกับคลังไอเดียการสอนสดใหม่จากครูทั่วประเทศ โดย insKru มีที่มาจาก inspire + Kru เริ่มจากภาพห้องเรียนที่เราวาดฝันอยากให้เป็น คือ ห้องเรียนที่เด็กๆ เรียนรู้กันอย่างมีความสุข และมีประสิทธิภาพ ทีม insKru มีความเชื่อว่าครูที่มีไอเดียดี กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทางทีมจึงสร้าง online learning community เพื่อให้ครูกว่า 5 แสนคนทั่วประเทศ ได้มาแลกเปลี่ยนไอเดียการสอนดีๆ เพื่อเปิดมุมองในการสอนและขยายไอเดียการสอนดีๆ สู่ห้องเรียนทั้งประเทศ

 

“คณะอนุกรรมการนวัตกรรมสื่อ เรายังคงมุ่งมั่น ในการดำเนินงานโครงการ ตามยุทธศาสตร์และการทำงานเชิงรุก ตลอดจนการทำงานประสานกับภาคีเครือข่ายที่มีเป้าประสงค์เดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อเด็กและเยาวชน ตลอดจนพี่น้องประชาชนจะรู้เท่าทัน และเสพสื่ออย่างปลอดภัย” ผศ.ดร.วรัชญ์ กล่าว

นอกจากนี้ ภายในงานยังได้จัดให้มีการเสวนาในหัวข้อ “สื่อสร้างสรรค์: Media Transforming in Digital Disruption” โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ประธานคณะอนุกรรมการนวัตกรรมสื่อ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, จอห์น รัตนเวโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สแพลช อินเทอร์แอ็คทีฟ จำกัด และซี-ฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซ
เชียลแล็บ จำกัด  ผู้ที่ได้รับทุนโครงการ iTOP แพลตฟอร์มค้นหา Micro Influencer จากทางกองทุนฯ

 

สำหรับประชาชนที่สนใจ และต้องการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นวัตกรรมสื่อ สามาถเข้าร่วมงาน นวัตกรรมสื่อสร้างสรรค์ “Media Innovations Showcase & Forum 2022 ซึ่งจะจัดขึ้นทั้งในกรุงเทพมหานครและภูมิภาคต่างๆ ในวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ที่จังหวัดนครราชสีมา วันที่ 14 มกราคม 2565 ที่จังหวัดเชียงใหม่ และวันที่ 28 มกราคม 2565 ที่กรุงเทพฯ พบกับการนำเสนอผลงานนวัตกรรมสื่อ ผลการวิจัย การเสวนา และรายละเอียดการเปิดรับทุนปี 2565 นี้ รวมถึง Workshop เปิดรับฟังความคิดเห็นแนวทางการส่งเสริมนวัตกรรมสื่อสร้างสรรค์