เลือกหน้า

ประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 2/2565

ประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 2/2565

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.30 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 2/2565

โดยมี นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รองประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เข้าร่วมประชุมผ่านระบบเครือข่ายการประชุมทางไกล (Video Conference)
ณ ศูนย์ประชุมกระทรวงวัฒนธรรม ชั้น 8 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม

ภาพประกอบจาก : กระทรวงวัฒนธรรม

ทำไมคนรุ่นใหม่ไม่ดูละครโทรทัศน์?

สงสัย?

          ละครโทรทัศน์ไทยกลายเป็นประเด็นถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง จากเหตุการณ์ที่รายการ The Driver โดย โอ๊ต ปราโมทย์ ถามนักแสดง ต่อ ธนภพ ว่า ชอบมีคนมาถามเรา ทำไมซีรีส์บ้านเราถึงทำให้ดีมาก ๆ เหมือนซีรีส์เกาหลีไม่ได้ คำตอบของต่อ ธนภพ ในฐานะนักแสดงไทย ก็ยอมรับว่าละครไทยไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร

ในฐานะนักแสดง เจ็บใจนะ ผมจี๊ดทุกครั้งเวลาที่ใครก็ตามที่บอกว่า ฉันไม่ดูละครไทย ฉันไม่ดูหนังไทย คือบางครั้งแค่เป็นคำถามเล็ก ๆ ว่า เราผิดอะไร แบบไม่ดีอะไร คนรอบตัวเก่งหมดแล้วเก่งจริงด้วย แต่แบบมันมีบางอย่างที่คุณไม่รู้หรอกว่าเพราะอะไร ถ้าทำถึงตรงนั้นได้ เราก็อยาก

กลุ่มคนในสื่อสังคมออนไลน์ จึงตั้งคำถามอย่างสงสัยว่า “ทำไมละครไทยถึงไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร”

 เพื่อตอบคำถามนี้ Media Alert ได้สำรวจงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาสังเคราะห์หาข้อสรุป หรือพยายามตอบคำถาม “ทำไมละครไทยถึงไม่ได้รับความนิยม…..” ที่ยังเป็นคำถามในความสนใจในวันนี้

#ละครไทย #ต่อธนภพ

ผู้ผลิตกำหนด แล้วถามคนดูหรือยัง?

งานวิจัยเรื่อง พัฒนาการและสุนทรียทัศน์ในการสร้างสรรค์บทละครในโทรทัศน์ไทย ของ สรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์ (2554) ซึ่งทำการเก็บข้อมูลเอกสารของนักการละครโทรทัศน์รวมกว่า 50 คน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508-2553 ประกอบการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้สร้างสรรค์บทละครโทรทัศน์ยุคสมัยต่าง ๆ ทั้ง 5 ยุค ได้แก่ ยุคบุกเบิก ยุคภาพยนตร์โทรทัศน์ ยุคขยายตัว ยุคเฟื่องฟู และยุคโลกาภิวัตน์ ผลการวิจัยพบว่า พัฒนาการและสุนทรียทัศน์ในการสร้างสรรค์บทละครในโทรทัศน์ไทย มีผลสืบเนื่องมาจากบริบทของเทคโนโลยีการสื่อสาร ถึงแม้ว่ายุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ละครโทรทัศน์มีเทคโนโลยีการถ่ายทำที่ความเจริญก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ แต่เนื้อหาของบทละครโทรทัศน์ก็ยังคงวนเวียนกับละครแนวชีวิตที่มีแก่นเรื่องเกี่ยวกับความรัก และความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมคนไทยที่นิยมดูละครโทรทัศน์เพื่อ เอารสมากกว่า เอาเรื่องอันเป็นการผลิตซ้ำทางวัฒนธรรม

 

ในขณะที่ งานวิจัยเรื่อง ความพึงพอใจของผู้ชมและแนวโน้มของละครโทรทัศน์หลังข่าวของช่อง 7 สี ในเขตกรุงเทพมหานคร ของ ทิพาภัสสร์ คล้ายจันทร์ และธีรเดช ชื่นประภานุสรณ์ (2560) ประเด็นแนวโน้มหรือทิศ ทางในอนาคตของละครช่อง 7 สี พบว่า ด้านคุณภาพของละคร บริษัทผลิตละครหรือผู้จัดละครก็ต้องพัฒนาให้ทัน ทั้งอุปกรณ์การถ่ายทำละคร ภาพที่มีความคมชัดมากขึ้น เพราะการแพร่ภาพสมัยนี้ปรับเป็นระบบ HD ทั้งหมด นักแสดงต้องมีบุคลิกภายนอกที่เหมาะสมกับตัวละคร (Characters) ตามบทประพันธ์ ผู้กำกับหรือผู้จัดฯอาจจะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และมีชื่อเสียง แต่จะยังคงมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายหลักคือคนที่อยู่ต่างจังหวัด ด้านคุณค่าของละคร ละครจะมีแนวที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อทำให้กลุ่มเป้าหมายมีทางเลือกที่จะตัดสินใจเลือกรับชมตามความต้องการของตัวเอง และจะต้องมีการสอดแทรกคุณค่าและประโยชน์เข้าไปในเนื้อหาของบทละคร ส่งเสริมด้านคุณธรรม การปลูกฝัง ความสามัคคี การให้อภัยกัน หรือ อีกอย่างที่เรียกว่า ทำละครรับใช้สังคมให้เพิ่มมากขึ้น

เมื่อศึกษาถึงประเด็นของการเลือกเนื้อหาและการสร้างสรรค์บทละครโทรทัศน์ในประเทศไทย ก็พบงานวิจัย เรื่อง การเลือกเนื้อหาและการสร้างบทละครโทรทัศน์ในมุมมองของผู้ผลิตและผู้ชม ของ กษิดิ์เดช สุวรรณมาลี (2560) ซึ่งเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก ผู้บริหารฝ่ายละครโทรทัศน์ ผู้จัดละครโทรทัศน์ ผู้กำกับละครโทรทัศน์ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำละครโทรทัศน์ และคอละคร พบว่า 1) การเลือกเนื้อหาของผู้ผลิตละครโทรทัศน์จะเลือกจากพฤติกรรมของผู้รับชมละครและเลือกจากความสดใหม่ของเนื้อหา หรือเลือกเรื่องราวใกล้ตัว ซึ่งจะสอดคล้องกับ กลุ่มเป้าหมายของแต่ละสถานี 2) ละครโทรทัศน์ก็ยังจะคงอยู่คู่คนไทย แต่ถ้าหากเป็นละครเก่า คนดูอาจจะดูยากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ทำให้พฤติกรรมคนดูเปลี่ยนไป การทำละครเนื้อหาใหม่ ๆ จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด 3) ผู้ชมส่วนใหญ่รับชมละครโทรทัศน์เนื่องจากมีเวลาว่าง ต้องการผ่อนคลายความเครียด ส่วนใหญ่รับชมละครแนวดราม่าและละครแนวย้อนยุค โดยจะดูนักแสดงก่อน แล้วจึงดูเนื้อเรื่องของละครเรื่องนั้น ความบันเทิงและข้อคิดในการใช้ชีวิตเป็นสิ่งที่ผู้ชมได้รับจากการรับชมละคร ผู้ชมต้องการให้พัฒนาในเรื่องของบทละครให้มีความทันสมัย และต้องการให้พัฒนา คอมพิวเตอร์กราฟิกให้มีความสมจริงยิ่งขึ้น

ผลการศึกษาข้างต้นชี้ให้เห็นว่า แม้พัฒนาการของยุคสมัยจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม แต่ละครไทยในช่วง 45 ปีที่ผ่านมา ทั้งเนื้อเรื่องและเนื้อหาของบทละครโทรทัศน์ก็ยังคงวนเวียนกับละครแนวชีวิตที่มีแก่นเรื่องเกี่ยวกับความรัก และความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว แม้ว่าผู้สร้างหรือผู้ผลิตละครเองจะมีการคัดเลือกเนื้อหาที่คาดว่าผู้ชมจะสนใจอย่างไรแล้วก็ตาม แต่ตัวคนดูเองนั้นก็ยังคงไม่พอใจและต้องการให้ผู้สร้างหรือผู้ผลิตละคร พัฒนาเนื้อเรื่องให้มีทั้งความทันสมัยและมีเนื้อหาที่นำเสนอข้อคิดที่ผู้ชมควรได้รับจากการชมละครด้วยเช่นกัน   เพื่อทำให้กลุ่มเป้าหมายมีทางเลือกที่จะตัดสินใจเลือกรับชมตามความต้องการของตัวเอง และมีการสอดแทรกคุณค่าและประโยชน์เข้าไปในเนื้อหาของบทละคร

แต่…ละครโทรทัศน์ไทยไป เป็นที่นิยมในประเทศเพื่อนบ้าน

          แม้จะถูกวิเคราะห์ว่าเนื้อหาละครโทรทัศน์ไทย(ว่ามี)มีอาการ “วนในอ่าง”  แต่ละครโทรทัศน์ไทยกลับได้รับกระแสตอบรับที่ค่อนข้างดีจากประเทศเพื่อนบ้าน งานวิจัยของ ผศ.ดร. อัมพร จิรัฐติกร และคณะที่ทำการศึกษา “การบริโภคละครโทรทัศน์ไทยผ่านเว็บไซด์ในกลุ่มประเทศอาเซียนและจีน: กรณีศึกษาประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและจีน พบว่า

ในประเทศเวียดนาม ละครโทรทัศน์ไทยได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ถึงแม้จะไม่ใช่กระแสหลัก แต่ก็อยู่ในอันดับต้น ๆ ของสื่อบันเทิงจากเอเชีย ในขณะที่ประเทศจีน สามารถแบ่งความนิยมละครโทรทัศน์ไทยออกเป็น 2 ช่วง คือในยุคแรก ละครโทรทัศน์ไทยได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในช่วง พ.ศ. 2551-2554 แต่หยุดการเผยแพร่ในปีต่อมาเนื่องจากความอิ่มตัวในเนื้อหาละครไทยที่มีแต่แบบเดิม ๆ และเพิ่งจะกลับมาได้รับความนิยมผ่านการรับชมทางอินเตอร์เน็ต ในช่วงปี พ.ศ. 2557 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน  แต่ความนิยมละครโทรทัศน์ไทยในประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ยังมีความจำกัดอยู่        

 

          ผู้วิจัยวิเคราะห์ว่า เหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากผู้ชมในประเทศเวียดนามมาจากรากฐานวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับไทย ทำให้เปิดรับสื่อบันเทิงไทยได้ง่ายและเปิดรับแทบทุกรูปแบบ ในขณะที่ผู้ชมในประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และจีน มาจากบริบททางสังคมที่แตกต่างกันออกไป ทำให้ผู้ชมมองหาสิ่งแปลกใหม่หรือสิ่งที่ขาดหายไปในสังคมของตนเอง เช่นเรื่องราวในรั้วโรงเรียน หรือเรื่อง “ต้องห้ามที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศ

          ส่วนผู้ผลิตรายใหม่พยายามแสวงหารูปแบบละครที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อจับกลุ่มผู้ชมเฉพาะกลุ่มเช่น แนววัยรุ่นรักโรแมนติก แนวชายรักชาย แนว reality drama ผู้ผลิตมีการสร้าง application ของตัวเอง มีการร่วมมือกับผู้นำด้านเทคโนโลยีที่มีฐานผู้ใช้งานจำนวนมากเช่น LINE TV สำหรับตลาดต่างประเทศ และผู้ผลิตเองก็มีการปรับเปลี่ยนเชิงเนื้อหาที่มุ่งไปสู่ความเป็นสากลมากขึ้น จากการซื้อเนื้อหาละครจากต่างประเทศมาผลิตละครแนว รีเมครวมถึงผู้ผลิตเริ่มมองเห็นความสำคัญของกลุ่มผู้ชมนอกประเทศมากขึ้น

          จากงานการศึกษาที่นำมาสรุปเสนออาจแสดงให้เห็นได้ว่า ในกลุ่มประเทศที่มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับประเทศไทย ละครโทรทัศน์ไทยจึงได้รับความนิยมอย่างสูง แต่ขณะที่ประเทศที่มีบริบททางวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป ละครโทรทัศน์ไทยที่มีเนื้อหาในแบบเดิม ๆ อาจจะทำให้ไม่ได้รับความนิยม ยกเว้นการนำเสนอในประเด็นเรื่องต้องห้ามในประเทศนั้น ๆ ที่น่าสนใจคือ งานวิจัยนี้ พบการพยายามปรับตัวของผู้ผลิตรายใหม่ของไทย ทั้งการจับแนวทางความชอบ ความสนใจ ของกลุ่มเป้าหมายหลากหลาย การปรับเนื้อหาให้มีความเป็นสากล การผลิตละครแนว “รีเมคจากเนื้อหาที่ซื้อจากต่างประเทศ รวมทั้งการขยายช่องทางการเข้าถึงผ่านเทคโนโลยีออนไลน์ต่าง ๆ

ทำอย่างไรละครโทรทัศน์ของไทยจะเป็นที่นิยมเช่นของเกาหลีใต้

          ทำไมซีรีส์เกาหลีใต้จึงได้รับความนิยม และมักมีการเปรียบเทียบละครโทรทัศน์ไทยกับซีรีส์เกาหลีใต้ จากงานวิจัยเรื่อง “ภาพยนตร์ชุดเกาหลี : กรณีศึกษากระแสคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีในสังคมไทย” ของ นพดล อินทร์จันทร์ และคณะ (2555) ผลการศึกษาพบว่า ภาพยนตร์ชุดเกาหลีให้ความสำคัญกับการวางโครงเรื่อง มีเนื้อหาที่สามารถติดตามได้ง่าย ไม่ซับซ้อน มีปมปัญหาหลักเพียงปมเดียว วางโครงเรื่องอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่จุดสุดยอดของเรื่อง และมักจะเร้าอารมณ์ของผู้ชมให้เกิดการปลดปล่อยทางอารมณ์ โดยกระตุ้นให้เกิดความสงสาร โกรธ เกลียดชัง หรือรัก ผ่านการดำเนินเรื่องและการกระทำของตัวละคร เนื้อหาสาระมักเน้นย้ำการสะท้อนให้เห็นถึงความเหล่ือมล้ำทางสังคม การละเมิดสิทธิมนุษยชน การแบ่งชนชั้นในสังคม สิทธิสตรี มุ่งเสนอเนื้อหาของความเพ้อฝันเกินจริง ความรักต่างชนชั้น พรหมลิขิต และมีการสอดแทรกคติธรรมอย่างง่าย ๆ

 

          นอกจากนี้ ในประเด็นเรื่องวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อสังคมไทย ผลการวิจัยพบว่า ภาพยนตร์ชุดเกาหลีในประเทศไทยมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมใน 3 ปัจจัย คือ 1) นำเสนอและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ 2) ส่งถ่ายวัฒนธรรมเกาหลีสู่ประเทศไทย 3)เปลี่ยนแปลงความเชื่อและสุนทรียภาพ

อิทธิพลเหล่านี้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทัศนะความเชื่อในแง่สุนทรีภาพของคนดูละครโทรทัศน์ไทย ทำให้เกิดความนิยมชมชอบในความเป็นแบบฉบับอย่างเกาหลีมากขึ้น งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์ชุดของเกาหลีได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงละครโทรทัศน์ไทย ด้านรูปแบบการนำเสนอที่แตกต่างออกไป การสอดแทรกเนื้อหาที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ชมในประเทศไทย

บทความเรื่อง “ทุบๆ จุดไหนที่ละครไทย ด้อยกว่าซีรีส์เกาหลี” โดย ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 18 ก.พ. 2565 ได้นำเสนอบทสัมภาษณ์ของนักแสดง ผู้ผลิตละคร และผู้เกี่ยวข้องกับละครไทย

 

นักแสดงมากความสามารถอย่าง “ป๊อก ปิยะธิดา มิตรธีรโรจน์” ได้กล่าวว่า บอกตรง ๆ เลยว่า พล็อตละครไทยเรา ไม่ค่อยกล้าฉีกแนว เราอาจจะกลัวเพราะมีข้อจำกัดในการทำ หรือบางทีในบางแง่ เราคิดแทนคนดูเยอะเกินไปว่าทำแบบนี้ออกมาแล้ว คนจะไม่ดู ละครอย่าไปรีเมกอะไรบ่อย ๆ เพราะคนดูเดาได้แล้ว จะดูละครไม่สนุก เรามีความสามารถ เราทำอะไรได้มากกว่าที่เราคิด ถ้าเราทำละครให้สนุก เดายาก คนดูก็ชอบ อยากติดตาม แค่นั้นเอง”

เช่นเดียวกับ แดนนี่ พิชาพัฒน์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ นายแบบ-พิธีกร-ผู้ประกาศข่าว ให้ข้อมูลเชิงลึกไว้ว่า การแข่งขันในวงการนี้ คือการนำเสนอความแตกต่าง ที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน สิ่งที่จะตรึงใจคนดูได้คือ ความไม่เหมือนใครและสิ่งที่จะทำให้เกิดความแตกต่างได้ในละคร คือ บทละครที่ดี ต่อให้คุณมีนักแสดงแถวหน้าของประเทศ แต่หากบทของคุณไม่ดี น่าเบื่อ ซ้ำซาก เดาง่าย คนดูก็ไม่ดูอยู่ดี

 

ความแตกต่างของเนื้อหาในละครโทรทัศน์ไทย เป็นเรื่องสำคัญที่คนในแวดวงการละครให้ความสำคัญ และมองว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้ละครโทรทัศน์ไทยกลับมาได้รับความนิยม และสามารถทัดเทียมกับซีรีส์ในประเทศเกาหลีใต้ได้

เดินทางไหนดี…

          สุดท้ายแล้วอาจตอบคำถาม “ทำไมซีรีส์บ้านเราถึงทำให้ดีมาก ๆ เหมือนซีรีส์เกาหลีไม่ได้”    ว่า…เพราะเนื้อหาที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจากอดีต การนำเสนอแต่ประเด็นเดิม ๆ ขาดการนำเสนอเรื่องคุณค่าชีวิต หรือข้อคิดที่สำคัญไปกว่าความรักของตัวละคร รวมไปถึงการไม่นำเสนอประเด็นที่มีความหลากหลาย คือยังเน้นเนื้อหาที่มีความเฉพาะตัว ทำให้ละครโทรทัศน์ไทยยังคงนำเสนอเรื่องราวซ้ำ ๆ และจำเจ

          แตกต่างไปจากละครโทรทัศน์เกาหลีใต้ที่มีความหลากหลายคาดเดาเนื้อเรื่องไม่ได้ มีเนื้อหาและการนำเสนอที่สามารถเข้าถึงผู้ชมกลุ่มใหญ่หรือระดับนานาชาติได้ดีมากกว่า จึงทำให้ซีรีส์เกาหลีกลายเป็นที่นิยมอย่างมากทั่วโลก

          แม้จะมีผู้ผลิตและผู้สร้างละครโทรทัศน์ไทยที่บอกว่าได้พัฒนาเต็มที่แล้วก็ตาม แต่เมื่อยังมีผู้บริโภคหรือคนดู ที่บอกว่า ยังไม่ดีพอ ยังไม่ชวนติดตาม ไม่ชวนคาดเดา ยังไม่มีความเป็นสากลมากพอ ฯลฯ “ทำเต็มที่แล้ว” จึงไม่น่าเป็นคำตอบสุดท้าย

          สุดท้ายแล้วใครควรมีบทบาทในการปรับปรุง พัฒนาให้ละครโทรทัศน์ไทย เป็นที่นิยมของดนดูทั้งในประเทศ ในต่างประเทศ ในทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ในสังคมยุคใหม่  (“คนรุ่นใหม่”อาจไม่ผูกขาดกับคนกลุ่มวัยใด แต่เป็นคนที่ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยได้อย่างเหมาะสม)

 

พัฒนาละครโทรทัศน์ไทย ภารกิจร่วมของ ผู้ชม  ผู้สร้าง/ผู้ผลิต สังคม ไปถึงภาครัฐ

          หากเชื่อว่า ละครโทรทัศน์ไทย ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตการรับสื่อของคนในสังคมยุคนี้ หากเห็นว่า ละครโทรทัศน์ไทยควรเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมที่ข้ามพรมแดนประเทศ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการสร้าง (Production) และการรับชมละคร (Consumption) อาจต้องช่วยกันออกความเห็น แสดงข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาละครโทรทัศน์ไทย ในด้านต่าง ๆ เช่น โครงเรื่อง เนื้อหา บท การแสดง เทคนิคการนำเสนอ ฯลฯ อย่างตระหนักในเงื่อนไขสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไปในกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ เช่น วิธีคิด แบบแผนชีวิตและพฤติกรรม โดยเฉพาะการรับและการใช้สื่อ ความคาดหวังในละครโทรทัศน์ ที่ไม่เพียงตอบสนองอารมณ์ แต่ควรให้แง่คิด มุมมองที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง ละครโทรทัศน์ไม่ควรมีคุณค่าเพียงความบันเทิงที่ผ่านตาหรือเพื่อฆ่าเวลาอย่างที่เป็นมา ยิ่งถ้าทั้งผู้สร้าง ผู้ผลิต รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องหรือแม้แต่คนดู คาดหวังให้ละครโทรทัศน์ไทยได้รับชมจากคนดูในต่างประเทศ การช่วยกันให้คำแนะนำ ข้อเสนอแนะ เพื่อยกระดับละครโทรทัศน์ไทย ทั้งด้านคุณค่าและคุณภาพ น่าจะเป็นโจทย์หรือเป้าหมายร่วมกันของคอสื่อละครโทรทัศน์หรือซีรีส์ ไม่ว่าไทยหรือเทศ เมื่อพบเจอคำตอบหรือข้อเสนอ เพื่อบรรลุความต้องการพัฒนาละครโทรทัศน์ไทยแล้ว

 

การเปรียบเทียบว่าใครดีกว่าหรือแย่กว่า ไทย vs เกาหลีใต้ จะไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไป

ประชุมคณะอนุกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 2/2565

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 09.30 น. ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 2/2565 (ประชุมทางไกล ผ่านระบบ Microsoft Teams)

โดยมี คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กองทุนฯ เข้าร่วมประชุม
ณ ศูนย์ประชุมกระทรวงวัฒนธรรม ชั้น 8 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม

ภาพประกอบจาก : กระทรวงวัฒนธรรม

ข้อดี-ข้อเสีย การฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง

ปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนอยู่ 2 แบบ คือ การฉีดเข้าผิวหนัง และ ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ จากการวิจัยพบว่า “การฉีดเข้าผิวหนัง เสี่ยงต่ำกว่า ผลข้างเคียงน้อยกว่า ภูมิคุ้มกันเทียบเท่า” และยังมีการยืนยันว่า การฉีดเข้าชั้นผิวหนังก็สามารถจัดการสายพันธ์เดลต้าได้ มาดูข้อดี และข้อเสียของแต่ละแบบกัน

ข้อดี-ข้อเสีย การฉีด “วัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง”
CVC กลางบางซื่อ โพสต์ข้อความเรื่อง “ทางเลือกเข็มกระตุ้นรูปแบบพิเศษ” โดยระบุว่า ทางเลือกเข็มกระตุ้นรูปแบบพิเศษชนิดวัคซีนไฟเซอร์ (เข็มที่ 3, 4) เป็นไปด้วยความสมัครใจ โดยมี 2 รูปแบบ คือ
1. ฉีดเข้ากล้ามเนื้อครึ่งโดส ขนาดยา 15mcg/dose (0.15 ml)
2. ฉีดเข้าชั้นผิวหนังขนาดยา 10 mcg/dose(0.1 ml)

การฉีดเข้าชั้นผิวหนัง
ข้อดี คือ ประสิทธิภาพการกระตุ้นภูมิฯ ใกล้เคียงกับรูปแบบปกติเต็มโดส แต่จะมีอาการไม่พึงประสงค์เชิงระบบเช่น มีไข้
ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ น้อยกว่ารูปแบบปกติ
ข้อเสีย คือการฉีดเข้าชั้นผิวหนัง อาจจะมีอาการเจ็บบริเวณที่ฉีดมากกว่าฉีดเข้ากล้ามเนื้อ

ประโยชน์ที่สำคัญคือในเรื่องของความปลอดภัยและผลแทรกซ้อน
1.การฉีดเข้าชั้นผิวหนังจะใช้ปริมาณน้อยมาก ดังนั้น การกระตุ้นทำให้เกิดผลแทรกซ้อน หรือผลข้างเคียงจะน้อยกว่า
2.ยังสามารถอธิบายได้จากการที่การฉีดเข้าชั้นผิวหนังนั้น กลไกในการกระตุ้นภูมิจะแยกออกอีกสายที่เรียกว่าเป็น Th2 ในขณะที่การฉีดเข้ากล้ามการกระตุ้นจะเป็นสาย Th1 และสาย Th1 นี้เอง ที่เป็นขั้นตอนกระบวนการของโควิด ที่ทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง ต่อจากเม็ดเลือดขาว นิวโตรฟิล และต่อเนื่อง จนกระทั่งเกิดมีลิ่มเลือดอุดตัน หรือเนื้อเยื่อและอวัยวะอักเสบทั่วร่างกาย รวมกระทั่งถึงกล้ามเนื้อหัวใจและสมองอักเสบ ที่เราเรียกว่ามรสุมภูมิวิกฤติ (cytokine storm)
3.ทั้งนี้เราทุกคนต้องไม่ลืมว่าวัคซีนนั้น คือร่างจำลองของไวรัสโควิดนั่นเองและส่วนที่วัคซีนทุกยี่ห้อนำมาใช้นั้นจะมีส่วนหรือชิ้นของไวรัสที่เกาะติดกับเซลล์มนุษย์ และเป็นตำแหน่งเดียวกันกับที่ทำให้เกิดการอักเสบ จาก ACE2 รวมกระทั่งถึงการทำให้มีความเบี่ยงเบน ขาดสมดุลระหว่าง Th1 และTh2 โดยออกไปทาง Th1 และ ต่อด้วยอีกหลายสายย่อย รวมทั้ง 17 เป็นตัน รวมทั้งกระตุ้นการสร้างภูมิที่กลายเป็นตัวไวรัสจำแลง anti-idiotypic antibody

ผลข้างเคียงที่พบจากการ “ฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง”

1.การฉีดเข้าชั้นผิวหนังไม่ต่ำกว่า 400 ราย ได้ผลดีและมีผลข้างเคียงเป็นเฉพาะที่ตุ่มแดง หรือคัน โดยผลข้างเคียงรุนแรงไข้ปวดหัวปวดเมื่อย และอาการร้ายแรงอื่น ๆ ไม่ปรากฏ หรือน้อยมาก
2.ประสบการณ์การศึกษาของ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และจากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ก็ได้แสดงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในลักษณะเดียวกัน โดยผลข้างเคียงที่เกิดแก่ระบบทั่วร่างกาย ต่ำกว่าการฉีดเข้ากล้าม 10 เท่าหรือมากกว่า

สรุปประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนเข้าในชั้นผิวหนัง
จากผลการศึกษาพบว่า ค่าเฉลี่ยของค่าภูมิคุ้มกันหลังฉีด 2 สัปดาห์นั้น สูงถึง 17,662.3 AU/ml เลยทีเดียว และปฏิกิริยาทั่วร่างกายที่เกิดขึ้นก็น้อยกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ

การศึกษาในอาสาสมัครจำนวน 30 คน โดยทีมนักวิจัยจากเนเธอร์แลนด์ ทดสอบการฉีด Moderna Vaccine ใหม่ โดยแทนที่จะฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular Injection: IM) 2 เข็มห่างกัน 4 สัปดาห์ เปลี่ยนเป็นฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง  (Intradermal Injection: ID) 2 เข็มห่างกัน 4 สัปดาห์แทน จากนั้น ได้ทำการวัดระดับแอนติบอดี้ เมื่อฉีดครบ 2 สัปดาห์แล้ว พบว่า ระดับ anti-spike และ anti-RBD สูงเทียบเท่ากับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ โดยที่ผลข้างเคียงแทบไม่ต่างกันเลย

สอดรับกับ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็ได้กล่าวถึงผลการวิจัยภูมิคุ้มกันและความปลอดภัย จากการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข้าชั้นผิวหนัง ซึ่งเป็นการวิจัยที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยฉีด “วัคซีนเข็ม 3” หรือบูสเตอร์โดส ให้กับอาสาสมัครที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มมาแล้ว 4 – 8 สัปดาห์ และ 8 – 12 สัปดาห์ ซึ่งเปลี่ยนจากการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เป็นฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง หลังจากนั้น 14 วัน ได้เจาะเลือดเพื่อตรวจผลข้างเคียงและการเกิดภูมิคุ้มกัน พบว่า เกิดอาการเฉพาะที่หรือจุดที่ฉีดมากกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เช่น อาการปวด บวม แดง คลำแล้วเป็นไ
อาการทั่วไปของร่างกายที่มีปฏิกิริยาเกิดขึ้น เช่น ไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย น้อยลง เมื่อเทียบกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ

การตอบสนองภูมิคุ้มกัน สำหรับส่วนของภูมิทั่วไป พบว่า หากฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ในภาพรวมจะมีภูมิขึ้นมาประมาณหนึ่ง แต่หากฉีดกระตุ้นไม่ว่าจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือชั้นผิวหนัง และไม่ว่าจะเป็นระยะเวลา 4 – 8 สัปดาห์ หรือหลังจากนั้นเล็กน้อย พบว่าเกิดภูมิเพิ่มขึ้นมาค่อนข้างสูงใกล้เคียงกัน

ขณะที่การยับยั้งโควิด 19 สายพันธุ์เดลตา พบว่า หากฉีด 2 แบบเปรียบเทียบกัน ได้ผลไม่แตกแต่งกันมาก ดังนั้น ยืนยันว่า การฉีดเข้าในชั้นผิวหนังสามารถจัดการสายพันธุ์เดลตาได้เช่นกัน

อ้างอิง : กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย

อย. แจงอนุมัติขยายชิโนแวค-ชิโนฟาร์ม

วันที่ 6 ก.พ.65 นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงการอนุมัติทะเบียนวัคซีนซิโนแวค-ซิโนฟาร์มเพิ่มเติมในเด็กอายุ 6 – 17 ปี ว่า ผู้ผลิตได้ยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนใช้วัคซีนตั้งแต่อายุ 3 – 17 ปี

การประเมินของ อย. จะดู 2 อย่าง คือ ความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีน ซึ่งในส่วนของเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไป จากข้อมูลที่ส่งมาถือว่ามีความปลอดภัย แต่การศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีน ผู้ผลิตมีข้อมูลชัดเจนในผู้ที่มีอายุ 6 – 17 ปี ผู้เชี่ยวชาญจึงมีความเห็นว่าควรใช้วัคซีนเริ่มต้นในเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไปก่อน และรอผู้ผลิตนำผลการศึกษาประสิทธิภาพในเด็กอายุ 3 – 5 ปีมายื่นเพิ่มเติม จึงประเมินการขอขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมภายหลัง

“การศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนในต่างประเทศ เริ่มฉีดในอายุ 12 – 17 ปี และอายุ 5 – 11 ปี ไล่ตามลำดับ ซึ่งการจะดูว่าฉีดแล้วมีภูมิต้านทานมากน้อยอย่างไร ต้องรอ 1 เดือนหลังฉีด ดังนั้น ข้อมูลในเด็ก 3 – 5 ปี เพิ่งเริ่มฉีดไป ข้อมูลส่วนนี้จึงยังไม่เสร็จ” นพ.สุรโชค กล่าว

เมื่อถามถึงการใช้ขนาดวัคซีนและระยะห่างระหว่างเข็มในเด็ก นพ.สุรโชค กล่าวว่า วัคซีนซิโนแวคและซิโนฟาร์มที่ขึ้นทะเบียนในเด็ก 6 – 17 ปี เป็นตัวเดียวกับของผู้ใหญ่ ขนาดการใช้อยู่ที่ 0.5 มล.เท่ากัน ส่วนระยะห่างระหว่างเข็ม 1 และ 2 ประมาณ 21 – 28 วัน เท่ากับผู้ใหญ่เช่นกัน เนื่องจากวัคซีนเชื้อตาย มีสารตั้งต้นและวิธีผลิตวัคซีนเหมือนกัน เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่มีเทคนิคการผลิตและใช้ปริมาณเท่านี้ ที่สำคัญคือ เมื่อศึกษาการใช้วัคซีนปริมาณเท่ากันตามระยะของอายุแล้ว พบว่า ใช้วัคซีนเท่ากันในเด็กและผู้ใหญ่ภูมิต้านทานไม่สูงมากกว่ากันเท่าไร

ถามว่า เด็กรับวัคซีนโดสเท่าผู้ใหญ่จะทำให้พบอาการข้างเคียงมากกว่าหรือไม่ นพ.สุรโชค กล่าวว่า ความปลอดภัยมีข้อมูลอยู่แล้ว ในประเทศจีนฉีดเด็กไปกว่า 235 ล้านโดส พบว่า มีความปลอดภัย ไม่มีปัญหามากกว่าผู้ใหญ่ อาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดก็ใกล้เคียงกัน คือ ปวดแขน เป็นไข้ ปวดเมื่อย ส่วนผลข้างเคียงรุนแรงเช่น แพ้วัคซีนพบได้อยู่แล้วไม่ต่างกับวัคซีนอื่นๆ แต่พบว่าเจอไม่มาก เมื่อเทียบกับวัคซีนโควิดอื่นๆ หรือไฟเซอร์ หรือวัคซีนเชื้อตายอื่นๆ ผู้เชี่ยวชาญดูแล้วว่าอัตราการเกิดก็ไม่ต่างกัน ในแง่ความปลอดภัยไม่มีปัญหา เมื่อเทียบกับไฟเซอร์ที่พบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่อันนี้อาจมีเส้นประสาทอักเสบคล้ายผู้ใหญ่ เช่น อาการชา

เมื่อถามว่าผู้ปกครองอาจกังวลและไม่เข้าใจเรื่องการใช้โดสวัคซีนเด็กเท่ากับผู้ใหญ่ นพ.สุรโชค กล่าวว่า เราดูจากผลการศึกษา แต่ที่เราขึ้นทะเบียนให้ฉีดในเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไปก่อน ก็ไม่ได้แปลว่าถ้าใช้ในเด็ก 3 – 5 ปีแล้วจะไม่ปลอดภัย ส่วนปริมาณที่ใช้ในเด็กเท่ากับผู้ใหญ่ ก็อ้างอิงมาจากการใช้วีคซีนเชื้อตายที่ใช้ขนาดเท่านี้มาอยู่แล้วที่ 0.5 มล. ไม่จำเป็นต้องลดโดสเหมือนกับวัคซีน mRNA ที่ต้องเข้าไปกระตุ้นเซลล์ให้สร้างโปรตีน ซึ่งปริมาณที่ฉีดว่ามากหรือน้อยมีผลกับการกระตุ้นภูมิต้านทาน แต่กับวัคซีนเชื้อตายเรื่องปริมาณไม่มีผลกับการกระตุ้นภูมิฯ

“การฉีดเชื้อตายก็เหมือนกับเอาเชื้อที่อ่อนฤทธิ์มาสร้างภูมิฯ ในร่างกาย ดังนั้นจะรับวัคซีนเข้าไปมากหรือน้อยก็ไม่มีผลในเรื่องของการกระตุ้นภูมิฯ ส่วนสารที่เป็นองค์ประกอบก็มีปริมาณเท่ากับที่ใส่ในวัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนพิษสุนัขบ้าอยู่แล้ว” นพ.สุรโชค กล่าว

นพ.สุรโชค กล่าวว่า หากเทียบกับการใช้วัคซีนชนิด mRNA คือ ไฟเซอร์ กับโมเดอร์นา ที่เมื่อเอาไปฉีดในเด็กต้องลดปริมาณจากของผู้ใหญ่ ไฟเซอร์ใช้ 1 ใน 3 แต่โมเดอร์นาใช้ 1 ใน 2 ทั้งนี้ ก็เกิดจากสารที่เป็นองค์ประกอบของวัคซีนที่ใช้กระตุ้นภูมิฯ ส่วนเชื้อตายที่ศึกษาในต่างประเทศ ใช้ขนาดเท่าผู้ใหญ่แต่เด็กได้ภูมิฯ สูงกว่าเล็กน้อย ดังนั้น ไม่ใช่ว่าใช้ปริมาณเท่ากันแล้วเด็กมีภูมิฯ พุ่งกว่าผู้ใหญ่ เป็นคำตอบว่าทำไมเราถึงไม่ต้องลดโดสในเด็ก

อ้างอิง : องค์การอาหารและยา