การรายงานข่าวความขัดแย้งและสภาวะสงครามควรเป็นแบบไหน ?
บทความเรื่อง “ฝ่ายเสรีภาพสื่อฯ TJA แนะแนวทางรายงานข่าว ‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน” เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 นายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แสดงความเห็นต่อกรณีการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนในขณะนี้ว่า สถานการณ์ดังกล่าวเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนและประชาชนจำนวนมากทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย จึงขอเสนอแนวทางสำหรับสื่อมวลชนไทย ในการรายงานข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวิกฤติสงครามในประเทศยูเครน เพื่อให้มีความเป็นกลาง มีวิจารณญาณ และตั้งอยู่บนจริยธรรมของวิชาชีพสื่อมวลชน สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
ระมัดระวังในการใช้ภาพและคลิปจากโซเซียลมีเดีย สื่อมวลชนควรตรวจสอบรูปภาพ คลิปวิดิโอ และสื่อต่าง ๆ ในโซเชียลมีเดียที่อ้างว่าเป็นภาพการสู้รบในประเทศยูเครนให้รอบคอบ ก่อนที่จะนำเสนอในช่องทางของสำนักข่าวตนเอง ในกรณีที่สื่อมวลชนทราบภายหลังว่าได้เผยแพร่คลิปหรือภาพที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ควรปรับแก้เนื้อข่าวและชี้แจงข้อเท็จจริงกับผู้อ่านหรือผู้ชมโดยไม่ชักช้า
นำเสนอข่าวสารทางการจากฝ่ายต่าง ๆ อย่างรอบคอบ สื่อมวลชนควรตระหนักว่า ข้อมูลจากทางการในยามสงคราม มิได้เป็นข้อเท็จจริงเสมอไป และเมื่อสื่อมวลชนเสนอข่าวสารที่อ้างอิงจากข้อมูลทางการต่าง ๆ ควรระบุให้ชัดเจนว่าเป็นคำอ้างของหน่วยงานใด ฝ่ายใด และคำกล่าวอ้างนั้น ๆ มีหลักฐานใด ๆหรือไม่
เน้นเสนอข่าวเกี่ยวกับประชาชนที่ประสบภัยสงคราม สื่อมวลชนไม่ควรนำเสนอข่าวเกี่ยวกับสงครามเฉพาะในแง่แสนยานุภาพ กำลังอาวุธหรือยุทธวิธีอย่างเดียว แต่ควรเน้นนำเสนอชะตากรรมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม ไม่ว่าจะเป็นพลเรือน ผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ ตลอดจนการประท้วงต่อต้านสงครามของประชาชนในประเทศต่าง ๆ นอกจากนี้ สื่อมวลชนควรนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับบทบาทของหน่วยงานด้านมนุษยธรรมต่างๆ ในการช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยสงคราม
การเสนอภาพข่าวความสูญเสียในสงคราม ย่อมกระทำได้ แต่ควรยึดเอาจริยธรรมสื่อมวลชนเป็นสำคัญ อย่างอยู่ในขอบเขตของความพอดี หลีกเลี่ยงภาพหรือคลิปที่อุจาดตาหรือหวาดเสียวเกินความจำเป็น และไม่นำเอาความสูญเสียในสงครามมาเป็นเครื่องมือกระตุ้นเรตติ้งหรือยอดคลิกจนเกินงาม
ควรเลือกแปลข่าวสารจากสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือได้เท่านั้น สื่อมวลชนไทยที่มีหน้าที่แปลข่าวต่างประเทศควรตระหนักว่า สำนักข่าวต่างประเทศมีความน่าเชื่อถือและคุณภาพแตกต่างกันไป นักข่าวไทยจึงควรเลือกแปลข่าวสารจากสำนักข่าวประเภท “wire service” ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการสื่อมวลชนสากลในแง่ของความเป็นกลาง ข้อมูลเที่ยงตรง และตั้งอยู่บนหลักจริยธรรม และ สื่อมวลชนควรตระหนักด้วยว่า สำนักข่าวที่ควบคุมโดยรัฐบาลต่างๆ ย่อมเสนอข่าวสารที่มีลักษณะเป็นโฆษณาชวนเชื่อ แตกต่างจากสำนักข่าวที่ดำเนินการโดยอิสระ
มองสื่อไทยรายงานข่าวสงครามรัสเซีย-ยูเครน
บทความเรื่อง “สงครามข้อมูลข่าวสาร รัสเซีย-ยูเครน” โดย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ (2565) ได้ถอดประเด็นการพูดคุยจากรายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม 2565 อากาศทางสถานีวิทยุ FM 100.5 อสมท. รศ.ดร.นรินทร์ นำเจริญ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะการสื่อสารมวลชน ได้วิเคราะห์การรายงานข่าวสงครามรัสเซีย-ยูเครน ของสื่อมวลชนไทย ในมิติ แหล่งข่าว มุมมองการรายงาน สรุปได้ดังนี้
แหล่งข่าว ข้อมูลข่าวสารการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่สื่อไทยนำมาใช้และนำเสนอในครั้งนี้ ส่วนใหญ่มักมีที่มาจากสื่อตะวันตก เช่น จากสำนักข่าว CNN หรือสำนักข่าว BBC ขณะที่ข่าวสารจากทางรัสเซียที่ผู้รับสารจะได้เห็นจากสื่อไทย มักจะมีเฉพาะข่าวที่มาจากการแถลงของนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย
มุมมองการรายงานข่าว รศ.ดร.นรินทร์ นำเจริญ กล่าวย้อนดูการรายงานข่าวของเว็ปไซต์บีบีซีไทย พบว่า มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนในหลากหลายแง่มุม แต่ส่วนใหญ่ให้ความสนใจไปที่ยูเครนเป็นฝ่ายถูกกระทำ เช่นในบทความเรื่อง “รัสเซีย ยูเครน : ดูทีวีรัสเซียรายงานสงคราม เรื่องราวที่ถูกกลับด้านโดยสิ้นเชิง” วันที่ 3 มีนาคม 2565 โดยมีช่วงหนึ่งได้นำเสนอไว้ว่า
ผู้ประกาศหญิงของรอสสิยา 1 ก็เน้นย้ำถึงจุดประสงค์ในการเข้าไปในยูเครนว่า “เป็นการปกป้องตัวเองของรัสเซียจากพวกตะวันตก ซึ่งใช้ประชาชนยูเครนในการเผชิญหน้ากับมอสโก” และเพื่อเป็นการตอบโต้กับบรรดาข่าวปลอม ข้อมูลบิดเบือนที่แพร่หลายในอินเตอร์เน็ต รัฐบาลรัสเซียจึงได้ตั้งเว็บไซต์ใหม่ที่ให้แต่ข้อมูลจริงเท่านั้น
ขณะที่การนำเสนออีกส่วนหนึ่งของบีบีซีไทยแสดงความเห็นใจกับประชาชนในยูเครน เช่น ในบทความเรื่อง “รัสเซีย ยูเครน : เข้าสัปดาห์ที่ 3 ผู้ลี้ภัยสงครามมีมากแค่ไหน และหนีการรุกรานไปที่ใดบ้าง” วันที่ 11 มีนาคม 2565 โดยมีช่วงหนึ่งได้นำเสนอไว้ว่า
UNHCR เชื่อว่ามีพลเรือนกว่า 1 ล้านคนที่ต้องอพยพออกจากบ้านของตัวเองเพื่อหนีภัยการสู้รบไปอยู่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ประเมินว่ามีประชาชนในยูเครนราว 12 ล้านคนที่ต้องการความช่วยเหลือ
สำรวจข่าวสงครามรัสเซีย-ยูเครนในสื่อมวลชนไทย
ในเชิงปริมาณ
ผลการศึกษาล่าสุดของ Media Alert (2565) พบว่า 4 รายการข่าวยอดนิยม ที่ออกอากาศในช่วงเวลา 19.00 น. คือ ข่าวค่ำมิติใหม่ (ช่อง Thai PBS) ไทยรัฐนิวส์โชว์ (ช่องไทยรัฐทีวี ) ทุบโต๊ะข่าว (ช่อง อัมรินทร์ทีวี) และข่าวแหกโค้ง (ช่อง GMM25) โดยทำการศึกษาเฉพาะวันที่ 11, 13 และ 15 มีนาคม 2565 พบว่าสัดส่วนการนำเสนอข่าวสงครามรัสเซีย-ยูเครน มีความยาวเวลาการนำเสนอรวมของทั้ง 4 รายการจาก 4 สถานีที่ศึกษา คือ 75 นาที (1 ชั่วโมง 15 นาที) จากเวลาการนำเสนอรวมทั้งหมด 3 วันที่ทำการศึกษาคือ 21 ชั่วโมง 58 นาที หรือ การนำเสนอข่าวสงครามรัสเซีย-ยูเครน คิดเป็นสัดส่วนเพียง 5.85% ของเวลาการนำเสนอข่าวทั้งหมดของ 4 สถานี และการรายงานข่าวส่วนใหญ่นั้นมาจากรายการข่าวค่ำมิติใหม่ ทางช่อง Thai PBS โดยไม่พบในรายการไทยรัฐนิวส์โชว์ และทุบโต๊ะข่าว ซึ่งเป็นรายการที่ได้รับเรตติ้งสูงของรายการเล่าข่าวในช่วงเวลาที่เลือกศึกษา
งานการศึกษาของ Media Alert หากสรุปในเชิงปริมาณ กล่าวได้ว่า สื่อหลักเช่นสื่อโทรทัศน์ ในภาพรวม เสนอข่าวสถานการณ์สงคราม รัสเซีย-ยูเครน ในจำนวนที่น้อยเมื่อเทียบกับข่าวอื่นๆ
ส่วนประเด็นที่รายการข่าวโทรทัศน์ที่ Media Alert ศึกษา ได้นำเสนอนั้นไม่แตกต่างไปจากบทวิเคราะห์ที่นำเสนอไปข้างต้นมากนัก คือ มีการนำเสนอในประเด็นเกี่ยวกับ ความเห็น/บทสัมภาษณ์ หรือการสื่อสารของผู้นำของทั้งสองประเทศคู่สงคราม สถานการณ์สงคราม ทหารในสงคราม เช่น สงครามเคมี-ชีวภาพ ในยูเครน?, ขบวนกองทัพรัสเซียห่างจากกรุงเคียฟ 25 กิโลเมตร, รัสเซียถล่มศูนย์ฝึกร่วมของนาโต้ในยูเครน, ผู้นำยูเครนเชื่อมั่น รัสเซียไม่มีทางชนะ, จับตาทหารร่วมรบในยูเครน, ทหารอาสาต่างชาติในยูเครน ถูกกฎหมายหรือไม่? และ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ต่อภูมิศาสตร์โลก เป็นต้น ประเด็น สงครามส่งผลกระทบต่อประชาชน เช่น ยูเครนประกาศเคอร์ฟิวเมืองหลวง 36 ชั่วโมง และชาวยูเครนทยอยกลับประเทศ เป็นต้น ประเด็น สงครามส่งผลกระทบต่อการกีฬา เช่น อูซิก ลั่นไม่คิดคืนสังเวียนจนกว่าสงครามจะสงบ และสงครามรัสเซียส่งผลกระทบทุกวงการ ไม่เว้นแม้กระทั่งวงการกีฬา เป็นต้น สุดท้ายคือประเด็น สงครามส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศไทย เช่น วิกฤติรัสเซีย-ยูเครน คาดทำราคาน้ำมันขึ้น-สินค้าอื่นขึ้นตาม และสงครามกระทบห่วงโซ่อาหารสัตว์วอนรัฐเร่งหาทางออก เป็นต้น
ในเชิงเนื้อหา
เมื่อสำรวจบทความข่าวและเนื้อหาการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนไทยที่ปรากฎในสื่อออนไลน์ พบว่า ยังคงเน้นไปที่เป้าหมายและรูปแบบของสงคราม ความรุนแรงของสงครามในแง่ของการทำลายสิ่งปลูกสร้าง ฯลฯ ยกตัวอย่างชื่อบทความจากหลาย ๆ แหล่ง เช่น
รัสเซีย-ยูเครน สงครามยุคใหม่ ใครจะชนะ ? โดย ประชาชาติธุรกิจ
ยูเครน – รัสเซีย : รัสเซียโจมตีศูนย์ฝึกทหารในยูเครนใกล้พรมแดนโปแลนด์ โดย บีบีซีไทย
ด่วน! รัสเซียถล่ม “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์” ในยูเครน โดย ข่าวไทยพีบีเอส
สงครามสื่อยุคใหม่ เป็นอันตรายกว่า‘สงครามนิวเคลียร์’ โดย แนวหน้า
“วิกฤตยูเครน” ทำไมถึงขัดแย้งหนักจนอาจจุดชนวน “สงคราม” โดย ฐานเศรษฐกิจ
บทบาทภาคสังคมต่อการทำหน้าที่ของสื่อหลักและการสื่อสารออนไลน์ ในช่วงข่าวสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ในช่วงราว 1 เดือนที่ผ่านมา มีรูปธรรมเหตุการณ์ด้านสื่อและการสื่อสารในสังคมไทยที่เกี่ยวข้องกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน เช่น
กรณีมีผู้ร้องเรียนต่อองค์กรวิชาชีพสื่อว่า รายการ ‘เล่าข่าวข้น’ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2565 นำคลิปจากสื่อสังคมมาเสนอว่าฝ่ายยูเครนจัดฉากศพพลเรือนผู้เสียชีวิตนับร้อยศพจากการถูกทหารรัสเซียรุกรานและสรุปว่าเป็น ‘ข่าวลวง’ (fake news) ซึ่งต่อมามีการชี้แจงจากรายการว่าความผิดพลาดจากการนำเสนอเพราะเชื่อถือในผู้เผยแพร่ และสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ได้สื่อสารขอโทษในความผิดพลาด
กรณีการไลฟ์ขายของเมื่อ 6 มีนาคมที่ผ่านมาของแม่ค้าออนไลน์ชื่อดัง พิมรี่พาย ซึ่งถูกสังคมทวิตเตอร์โจมตีอย่างหนักในเรื่องของการเอาสงครามที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตาย ความสูญเสียของผู้คนมาเล่นเป็นมุกตลกในการขายของ อีกทั้งยังมีเสียงเอฟเฟคต์ตลกประกอบ ผู้ใช้ทวิตเตอร์ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย โดยมองว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ในขณะที่ชาวโลกต่างสะเทือนใจกับสงคราม แต่มีคนดังชาวไทยเอาเรื่องนี้มาพูดเล่น
กรณีไทยโพสต์ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 นำโพสต์แสดงความเห็นในโซเชียลมีเดีย ซึ่งกล่าวหาว่านาย เซเลนสกี ใส่เสื้อยืดที่มีเครื่องหมายสวัสดิกะของนาซี-ฮิตเลอร์ มารายงานเป็นข่าว ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เครื่องหมายดังกล่าวเป็นเครื่องหมายตราสัญลักษณ์กองทัพยูเครน จนมีผู้ทักท้วงถึงความผิดพลาด
กรณี วันที่ 21 มีนาคม 2565 ทีมผู้บริหารสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.5) ได้เข้าพบกับเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทยเพื่อร่วมกันหารือสร้างความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันระหว่าง ททบ.5 กับสำนักข่าวรัสเซียโดยจะเน้นตาม ‘ข้อเท็จจริง’ ทุกด้านเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการบริโภคข่าวสารของประชาชน ให้เป็นไปตามความถูกต้อง แม่นยำ และทันสถานการณ์ โดยจะมีการลงนามให้ความร่วมมือในเร็วๆ นี้
โดยก่อนหน้านี้ทาง ททบ.5 ได้ลงนามความร่วมมือกับสำนักข่าวจีน China Media Group และสำนักข่าวของอิหร่าน
ต่อมาวันที่ 23 มีนาคม 2565 เวลาประมาณ 21.30 น. สถานีโทรทัศน์กองทัพบก ททบ.5 แจ้งสื่อมวลชนว่า ขอยกเลิกการแถลงข่าว กรณีร่วมมือ รัสเซีย-จีน-อิหร่าน ในวันพรุ่งนี้ (24 มีค.) ช่วง 1400 น. โดยไม่ได้ให้เหตุผลว่าทำไมจึงยกเลิกการแถลงข่าว แต่มีรายงานข่าวว่า กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ททบ.5 มีกำหนดที่จะไปพบหารือกับ เอกอัครราชทูตยูเครน ประจำประเทศไทย ในวันพรุ่งนี้ (24 มีค. จึงทำให้มีการวิเคราะห์ว่า อาจเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกวิจารณ์ว่าไม่เป็นกลาง ในกรณีสงคราม รัสเซีย-ยูเครน
ล่าสุดวันที่ 25 มีนาคม 2565 กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ททบ.5 กล่าวในรายการ “เจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์” ในส่วนนโยบายงานข่าวของททบ.5 ว่า ช่อง 5 จะเข้าไปอยู่ในสงครามข่าวสาร ข่าวสารใดที่รัสเซีย ยูเครน จีน อิหร่าน คิดว่าไม่ถูกต้อง และต้องการให้คนไทยรู้ว่า สิ่งที่ถูกต้อง คือ อะไร ให้ส่งมาที่ ททบ.5 โดยได้สั่งการว่า ห้ามบิดเบือนข่าว ให้ออกทุกอย่างเหมือนกับที่ทางการ 4 ประเทศส่งมา เพราะเป็นข่าวที่สถานทูตรับรอง เพื่อคนไทยสามารถฟังทั้งสองฝั่ง และไปพิจารณาเองว่า ใครเสนอข่าวเท็จ ใครเสนอข่าวจริง
บทสรุป
หลักการสำคัญในการนำเสนอข่าวสงครามรัสเซีย-ยูเครน ของทั้งสื่อหลักและสื่อออนไลน์ทั่วไป คือ ต้องสื่อสารอย่างคำนึงถึงจริยธรรม โดยเฉพาะความถูกต้อง เที่ยงตรงของข้อมูล ด้วยการอ้างถึงหรือนำเสนอข่าวจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้แล้ว ยังมีเรื่องของหลักสิทธิมนุษยชน และ หลักมนุษยธรรมที่สื่อต้องคำนึงถึงด้วย ขณะเดียวกัน ภาคสังคมผู้รับสื่อก็ควรจะร่วมมีบทบาทในการตรวจสอบ ทักท้วงสื่อ รวมถึงการสื่อสารออนไลน์ที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ในเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน
สงครามคือความเศร้า ความสูญเสีย แม้พลเมืองโลกส่วนใหญ่คงอยากให้ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยุติ ลงโดยเร็ว แต่ในความเป็นจริงก็ยากที่จะระบุว่าสงครามครั้งนี้ จะยุติลงเมื่อไร จะสร้างความสูญเสีย ความเสียหาย ต่อประชาชนและประเทศคู่สงคราม และสร้างผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ฯลฯ ให้กับประเทศต่างๆ ไปอีกนานแค่ไหน เพียงใด แต่ในหลักการการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์แล้ว ถ้าสื่อและนักสื่อสารออนไลน์ ยึดมั่นใน ความถูกต้อง ความเที่ยงตรงของข้อมูล หลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน ควบคู่ไปกับ การนำเสนอหรือการวิเคราะห์เพื่อหาทางออกจากสงคราม เพื่อลดความสูญเสีย ไม่มุ่งเสนอเพียงความขัดแย้ง สถานการณ์การสู้รบ การวิเคราะห์ว่าใครจะแพ้ใครจะชนะ หรือการเสนอข่าวอย่างฝักใฝ่หรือถือข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะนั่นคือการสื่อสารอย่างขาดจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งที่ ในความเป็นมนุษย์ หากเห็นคุณค่าชีวิตผู้อื่น เช่นชีวิตตนเอง สงครามคือการพลัดพราก การสูญเสีย ความเสียหาย ทั้งต่อชีวิต และอื่นๆมากมาย ดังนั้น ความขัดแย้งรุนแรงในสงครามทุกครั้ง ควรเป็นบทเรียนต่อมนุษยชาติในการร่วมสร้างศักยภาพความร่วมมือในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ก่อนนำไปสู่ความรุนแรงของสงคราม
ความเห็นล่าสุด