ทำไมถึงต้องเป็นแค่ความรักชาย-ชาย เมื่อชีวิตจริงหลากหลายกว่านั้น
LGBT เป็นคำที่หลาย ๆ คนรู้จัก แต่แท้ที่จริงแล้วนิยามความหมายของคนหลากหลายทางเพศไม่ได้มีเพียงแค่นั้น แต่ยังรวมไปถึง QIAN+ แล้วทำไมซีรีส์ไทยถึงให้ความสำคัญแค่ความรักของชาย–ชายเท่านั้น ในเมื่อยังมีกลุ่มคนหลากหลายทางเพศที่มากกว่าความรักชาย–ชาย
ในบทความเรื่อง “เปิดจักรวาลภาพยนตร์ ‘หญิงรักหญิง’ เมื่อพวกเธอถูกมองข้ามจากกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ” โดย Peeranat Chansakoolnee (2564) กล่าวว่า เพราะอะไรกันที่ทำให้ภาพยนตร์แนวหญิงรักหญิงยังไม่เป็นที่นิยมเทียบเท่าสื่อบันเทิงแนวชายรักชาย… อนึ่ง โลกสมมติอย่างโลกภาพยนตร์ได้แรงบันดาลใจมาจากโลกจริง และโลกแห่งความจริงก็ได้รับอิทธิพลมาจากภาพยนตร์เช่นเดียวกัน เมื่อ 2 สิ่งสะท้อนหาซึ่งกันและกันเช่นนี้แล้ว หากในโลกแห่งความเป็นจริงที่เลสเบี้ยน และความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิงยังคงถูกมองข้าม ลืมเลือน และยังไม่เป็นที่คุ้นชินเหมือนดั่งความสัมพันธ์แบบชายรักชาย ก็เป็นไปได้ที่ความนิยมในภาพยนตร์ และสื่อบันเทิงที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิงก็จะแปรผันตามกัน
เป็นไปได้หรือไม่ที่จะสามารถนำเสนอความหลากหลายทางเพศที่มีความหลากหลายจริง ๆ ในซีรีส์เรื่องเดียว บทความเรื่อง “Heartstopper ซีรีส์โอบรับความหลากหลายผ่านการค้นหาและยอมรับตัวตนของวัยรุ่น” โดย กุลธิดา สิทธิฤาชัย (2565) ได้หยิบยกเรื่องราวของตัวละครในซีรีส์เรื่อง Heartstopper ที่ซีรีส์นี้นำเสนอตัวแทนความหลากหลายทางเพศผ่านตัวละคร อย่างที่รู้ว่าชาร์ลี คือตัวแทนของเกย์ (Gay) และเพื่อน ๆ ของเขา ไม่ว่าจะเป็น เทา ซวี (วิลเลียม เกา) ตัวแทนของคนที่ชอบเพศตรงข้าม (Straight) แม้จะอยู่ภายใต้บุคลิกออกสาว แอลล์ อาร์เจนท์ (ยัสมิน ฟินนีย์) ตัวแทนของคนข้ามเพศ (Transgender) และไอแซค แฮนเดอร์สัน (โทบี้ โดโนแวน) ตัวแทนของคนที่ไม่ฝักใฝ่ทางเพศ (Aesexual) พวกเขาคือคนที่คอยให้คำปรึกษาและเป็นเซฟโซนให้กับชาร์ลีจนสามารถผ่านเรื่องร้ายๆ มาได้ นอกจากนี้ยังมี ทารา โจนส์ (คอรินนา บราวน์) และดาร์ซี่ โอลซ์สัน (คิซซี่ เอ็ดเจล) เป็นตัวแทนของเลสเบี้ยน (Lesbian) ด้วย
การขับเคลื่อนและสร้างความเสมอภาคทางเพศให้เกิดขึ้นในสังคมไทยที่สำคัญ คือการสร้างความสำคัญและความหมายทางเพศให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน การสร้างความปกติให้กับความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุด แต่เมื่อมองผ่านการสร้างสรรค์ของสื่อที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ ภาพยนตร์ หรือละครไทย จะวายหรือไม่วายนั้น ส่วนใหญ่พยายามชูประเด็นความรักเพศเดียวกัน มาเป็นจุดขายให้กับเรื่องนั้น ๆ หรือช่วงชิงอัตลักษณ์ทางเพศมาเป็นสินค้าในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เพียงกลุ่มคนบางกลุ่ม มากกว่าการทำให้เรื่องดังกล่าวกลายเป็นเรื่องปกติให้ผู้ชมได้ซึมซับและรับรู้ได้ถึงการมีอยู่ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ
แม้จะมีจุดขายเรื่องความรักชาย-ชาย แต่สิ่งที่ซีรีส์วายอาจทำได้ คือการไม่ละทิ้งกลุ่มคนหลากหลายทางเพศไว้ข้างหลัง หรือเลือกนำเสนอเพียงนักแสดงที่เป็น ‘สเตรต’ (Straight) เท่านั้น เพราะการบอกเล่าเรื่องราวจากกลุ่มคนหลากหลายทางเพศจริง ๆ อาจสร้างการขับเคลื่อนและความเสมอภาคทางสังคมได้ดีกว่า หรือการพูดคุยอัตลักษณ์ทางเพศอื่น ๆ ที่มากกว่าชาย-ชาย ที่อยู่ในสังคมเช่นเดียวกันก็เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน
สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นช่องว่างที่สื่อยังขาดการหยิบยกขึ้นมานำเสนอหรือบางเรื่องที่สื่อทำได้ดีแล้วแต่ยังไม่หนักแน่นเพียงพอ หากสื่อยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศและรูปแบบความสัมพันธ์ที่หลากหลายตั้งแต่ต้นทางการสร้างสรรค์ อาจเป็นหนทางในการลดอคติทางเพศ รวมไปถึงเป็นหนทางที่สร้างความเสมอภาคและเท่าเทียมที่ดีได้จะไม่เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
ความเห็นล่าสุด