เลือกหน้า

SME D Bank – กองทุนพัฒนาสื่อฯ – ISMED  ผนึกพลังสร้าง “Soft Power” ในพื้นที่ EEC “เติมทุนคู่พัฒนา” ขึ้นแท่นแหล่งท่องเที่ยว หนุนเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เติบโตยั่งยืน

SME D Bank – กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ – ISMED ผนึกพลังยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และคนในชุมชน สร้าง “Soft Power” ในพื้นที่ EEC ขึ้นแท่นเป็นท่องเที่ยวใหม่  ผ่านกระบวนการ “เติมทุนคู่พัฒนา” สร้างสื่อสร้างสรรค์ ชูอัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่น ดึงบุคคลมีชื่อเสียงช่วยให้ปัง ก่อประโยชน์เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เติบโตยั่งยืน 

 

(30 กันยายน 2565) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อยกระดับและพัฒนาพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ผ่านโครงการสื่อการสอนสร้างสรรค์ สร้างมูลค่าเพิ่มทางวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยทั้ง 3 หน่วยงานจะร่วมกันสร้าง Soft Power ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนสร้างการมีส่วนรวมของคนในชุมชนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่ EEC ช่วยกันพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน ตลอดจน พัฒนาสินค้า บริการ และอาหาร เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้ชุมชน  นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank มอบหมาย นายโมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ SME D Bank กล่าวในพิธีว่า การสร้าง “คุณค่าจากต้นทุนทางวัฒนธรรม และสังคม”  หรือ “Soft Power”  มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อโลกเศรษฐกิจอนาคต เพราะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มหาศาล  โดยพื้นที่ EEC   นอกเหนือจากความสำคัญของการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว  ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม พร้อมพัฒนาสร้าง Soft Power   รองรับเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ที่ผสมผสานอย่างลงตัว ระหว่างภาคอุตสาหกรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน

 

ดังนั้น SME D Bank พร้อมจะสนับสนุนผ่านกระบวนการ “เติมทุนคู่พัฒนา” โดยด้านการเงิน จัดเตรียมสินเชื่อไว้ให้บริการ  เช่น  “สินเชื่อ SMEs Re-Start”  วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้น 5.5% ต่อปี ผ่อนนานสูงสุด 12 ปี เพื่อลงทุน เสริมสภาพคล่อง ยกระดับสินค้าหรือบริการ  และ “สินเชื่อธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” (BCG Loan) วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้น 3.99% ต่อปี ผ่อนนานถึง 12 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 2 ปี  เพื่อนำไปใช้ยกระดับธุรกิจตามแนวทาง BCG   ควบคู่ด้าน “การพัฒนา” ผ่านโครงการ “SME D Coach” โดยโค้ชมืออาชีพ  ให้คำปรึกษาธุรกิจครบวงจรฟรี ช่วยยกระดับธุรกิจ  โดยเฉพาะมาตรฐานการท่องเที่ยว รองรับการเติบโตในอนาคต

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่ EEC นอกจากการสนับสนุนด้านการลงทุนแล้ว ในภาคของประชาชนและชุมชนในพื้นที่ต้องเติบโตตามไปด้วย   บทบาทของกองทุนพัฒนาสื่อฯ จะดำเนินการสร้างการรับรู้ด้วยการประชาสัมพันธ์ ผ่านบุคคลที่มีชื่อเสียงในรูปแบบออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้บุคคลสาธารณะสามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยใช้ Soft Power มาพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมให้กับชุมชนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่ สร้างการรับรู้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการถ่ายทอดอัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่นไปสู่การยกระดับการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ บริการ และเมนูอาหาร สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างโอกาส และสร้างรายได้ให้กับชุมชน 

นายนราวิทย์ เปาอินทร์ ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) กล่าวว่า ทั้ง 3 หน่วยงานจะร่วมกันดำเนินการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่ รวมถึงชุมชนที่มีศักยภาพ โดยจะวิเคราะห์และคัดเลือกพื้นที่นำร่องที่มีศักยภาพ นำมาพัฒนาและต่อยอดจนเกิดผลสัมฤทธิ์ โดยใช้ความเชี่ยวชาญของ ISMED ที่มีโครงการ หลักสูตร และเครือข่ายการพัฒนาที่หลากหลาย ส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการ การพัฒนาชุมชน พร้อมกับกำหนดแนวทางการพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางวัฒนธรรมให้ชุมชนในพื้นที่นำร่อง เช่น การยกระดับผลิตภัณฑ์สินค้า บริการ และอาหารโดยชุมชน นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม ควบคู่กับการสนับสนุนด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ ให้เข้าถึงกลุ่มตลาดเป้าหมายที่มีศักยภาพ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ และสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ EEC

ประชาสัมพันธ์สำนักงานยุวกาชาด และอาสาสมัครกาชาด สภากาชาดไทย ขอเชิญเยาวชน อายุ 18-30 ปี ที่มีใจรักในงานจิตอาสามาเป็นตัวแทนเยาวชนทำงานกับกาชาด ในโครงการ”สรรหากุลบุตร และกุลธิดากาชาด ประจำปี 2565”

เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง องค์สภานายิกาสภากาชาดไทย พระชนมพรรษา 90 พรรษา สำนักงานยุวกาชาดและอาสาสมัครกาชาด สำนึกใน พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมี ต่อกิจการสภากาชาดไทย จึงกำหนดจัด โครงการสรรหา “กุลบุตรและกุลธิดากาชาด” ระหว่างวันที่ 10 – 12 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์ฝึกอบรมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จังหวัดฉะเชิงเทรา โดย มีวัตถุประสงค์เพื่อสรรหาเยาวชนอายุระหว่าง 18 – 30 ปี ที่มีจิตอาสามาทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการเผยแพร่ภารกิจของ สภากาชาดไทย และมีความพร้อมที่จะปฏิบัติงานด้านจิตอาสากับสภากาขาดไทยซึ่งเป็นองค์กรการกุศลที่มีภารกิจ ในการช่วยเหลือประชาชนและผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่สภากาชาดไทยจัดขึ้น

ในการนี้ สำนักงานยุวกาชาดและอาสาสมัครกาชาดใคร่ขอความอนุเคราะห์จากท่านสนับสนุน โครงการฯ ดังกล่าวโดยประชาสัมพันธ์เชิญชวนเจ้าหน้าที่และบุคลากรในสังกัดของท่านสมัครเข้าร่วมโครงการฯด้วย โดยมีรายละเอียดตามเอกสารที่แนบมาพร้อมนี้

สมัครทางออนไลน์หรือสแกน QR Code

https://forms.gle/NWRXmTP6tSpaCx5P7  รับสมัครตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 2 ตุลาคมนี้

ประชาสัมพันธ์โครงการฝึกอบรมระยะสั้น หลักสูตร “เทคนิคการออกแบบ Infographic เพื่อการสื่อสารในองค์กร” รุ่นพี่ 4

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประชาสัมพันธ์โครงการฝึกอบรมระยะสั้น หลักสูตร “เทคนิคการออกแบบ Infographic เพื่อการสื่อสารในองค์กร” รุ่นที่ 4

ในวันที่ 14 – 15 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09.00 – 16.00 น. ระยะเวลา 2 วัน (จำนวน 12 ชั่วโมง)

หลักสูตรอบรมทาง online ผ่านระบบ Zoom

สมัครได้ตั้งแต่บัดนี้ – 1 พฤศจิกายน 2565 ค่าลงทะเบียนท่านละ 3,500 บาท

Road to Creators ครั้งที่ 1 ภาคตะวันออก จ.ระยอง กองทุนสื่อ ติวเข้ม ก่อนถึงวันเปิดรับข้อเสนอ ปี 66

(24 กันยายน 2565) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเวทีงาน “Road To Creators สื่อสร้างสรรค์ โอกาสสำหรับทุกคน” ครั้งที่ 1 ภาคตะวันออก จ.ระยอง ประชาสัมพันธ์การเปิดรับข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมสำหรับการให้ทุน ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปี 2566 วงเงินงบประมาณ 300 ล้านบาท ณ โรงแรมโกลเด้น ซิตี้ จ.ระยอง

 

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวเปิดงานพร้อมบรรยายหัวข้อ “สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม” และ Concept Idea จุดประกายความคิดชวนยื่นขอทุนผลิตสื่อกับกองทุน ที่กำลังจะเปิดให้ยื่นในวันที่ 1-31 ตุลาคม 2565 ผ่านระบบออนไลน์ www.thaimediafund.or.th 

 

ดร.ธนกร กล่าวว่า ภารกิจหลักที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ดำเนินการมาโดยตลอดคือการสนับสนุนทุนให้กับทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาให้เกิดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  เป้าหมายสำคัญในการให้ทุนคือการสร้างสรรค์และสนับสนุนให้เกิดสื่อดีมีคุณภาพ ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามัคคี ใช้ชีวิตในสังคมที่มีความหลากหลายอย่างเป็นสุข และขจัดสื่อร้ายที่สร้างความเกลียดชัง ไม่ปลอดภัย ไม่สร้างสรรค์ให้น้อยลง พร้อมทั้งค้นหาผู้ผลิตสื่อที่มีความสามารถและศักยภาพเพื่อสร้างสรรค์นิเวศสื่อที่ดีสืบไป กองทุนสื่อ เป็นของทุกคน ภารกิจของกองทุนจะไม่สามารถสำเร็จลุล่วงไปได้หากขาดความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ

นางสาวพัชรพร พงษ์ทัดศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ บรรยายหัวข้อ “ขอทุนกับกองทุนสื่อ แบบไหน? อย่างไร?” แนะนำทุนในประเภทต่างๆ กรอบระยะเวลาและกระบวนการพิจารณา

 

โดยแนะนำว่า หลักในการเขียนโครงการขอทุนกับกองทุน ควรสรุปรายละเอียดของทั้งโครงการให้กระชับแต่อ่านแล้วเข้าใจ  ครบถ้วน ตอบโจทย์ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความน่าเชื่อถือ ความเป็นไปได้ โดยยึดหลัก 5 W 1 H = What-When-Where-Why-How  สอดคล้องกับโจทย์ของผู้ให้ทุน คุ้มค่ากับงบประมาณโดยจะต้องสอดคล้องเหมาะสมกับสิ่งที่ได้รับ

 

โดยแนวทางการให้ทุนในปีงบประมาณ 2566 นี้จะยังคงรูปแบบภายใต้งบประมาณรวมทั้งหมด 300 ล้านบาท ด้วยการแบ่งประเภททุนเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

  1. ทุนประเภทเปิดรับทั่วไป (Open Grant) งบประมาณ 90 ล้านบาท หรือการให้ทุนผลิตสื่อเพื่อตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชน ประชาชนทั่วไป ผู้สูงอายุ และผู้พิการผู้ด้อยโอกาส
  2. ทุนประเภทยุทธศาสตร์ (Strategic Grant) งบประมาณ 170 ล้านบาท เปิดให้ผู้ยื่นขอรับการสนับสนุนผลิตสื่อใน 7 ประเด็นตามที่กองทุนกำหนด
  3. ทุนประเภทความร่วมมือ (Collaborative Grant) งบประมาณ 40 ล้านบาท เปิดให้กับภาคีเครือข่าย ผู้ที่เคยร่วมงานกับกองทุน

 

นอกจากนี้ในงานยังมีเวทีเสวนาหัวข้อ “แนะแนวคิด แชร์ประสบการณ์ จากผู้รับทุนกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” จากผู้ที่เคยได้รับทุนจากกองทุนร่วมแชร์ประสบการณ์ ได้แก่

– นายประสาน อิงคนันท์ ผู้รับทุนโครงการ The O I(dol) พลังบันดาลใจวัย O ปี 2564

– ดร.กัณฐรัตน์ เหลืองอ่อน ผู้รับทุนโครงการ Metaverse กับ สุขภาพจิต ปี 2565

– นายดนัย โชติแสง ผู้รับทุนโครงการสร้างสรรค์ ส่งเสริม และผลิตสื่อปลอดภัยในภาคตะวันออก ปี 2563

ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ศรัญญ์ทิตา ชนะชัยภูวพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรม Road to Creators ในภูมิภาคต่าง ๆ ดังนี้

– ครั้งที่ 2 วันที่ 1 ต.ค. 65 ณ โรงแรมน่านตรึงใจ จ.น่าน

– ครั้งที่ 3 วันที่ 8 ต.ค. 65 ณ โรงแรมฟอร์จูน ริเวอร์วิว จ.นครพนม

– และครั้งที่ 4 วันที่ 15 ต.ค. 65 ณ โรงแรมเอสหาดใหญ่ จ.สงขลา

 

ลงทะเบียนร่วมงานได้ที่ https://shorturl.asia/xRFBw

ผู้ที่สนใจขอรับทุนสนับสนุนสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ www.thaimediafund.or.th  

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 02-273-0116-9

และ Facebook : กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

กองทุนสื่อ จับมือ กมธ.การศาสนา วุฒิสภา สมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้า ร่วมผลิตสื่อส่งเสริมคุณธรรม

(22 ก.ย. 65) ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และคณะผู้บริหารกองทุนฯ ให้การต้อนรับ นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา  ดร.ธิติมา หล่อพิพัฒน์ นายกสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้า และคณะฯ  ในการหารือแนวทางความร่วมมือในการผลิตสื่อร่วมกัน

พร้อมกันนี้ยังได้มอบสื่อวิดิทัศน์พิธีแสดงมุทิตาจิตไหว้ครูที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา ร่วมกับสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้า เพื่อเผยแพร่เป็นสาธารณะประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติต่อไป

ดร.ธนกร กล่าวว่า ขอขอบคุณและยินดียิ่งที่กองทุนได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สื่อที่จะช่วยส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ศาสนา วัฒนธรรม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อไป