จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รุนแรงไปทั่วโลก ทำให้รัฐบาลต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรในช่วงต้นปี 2563 ตามมาด้วยคำสั่งปิดชั่วคราวของสถานประกอบการหลายประเภทที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโควิด-19 เช่น สถานบันเทิง สนามกีฬา มวย โรงมหรสพ นวดแผนโบราณ สปา ฟิตเนส รวมถึงแคมป์คนงานก่อสร้าง เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาด แต่ส่งผลกระทบครั้งใหญ่ต่อภาพรวมเศรษฐกิจและสังคม มีผู้ใช้แรงงานรวมทั้งลูกจ้างจำนวนมากถูกลดเงินเดือน มีคนตกงานต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม รัฐบาลจึงจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมเป็นจำนวน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยประชาชนทุกสาขาอาชีพ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพหรือผู้ประกอบการทุกสาขาอาชีพ ให้สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจได้ อันเป็นเหตุการณ์สำคัญทำให้ประเด็นมาตรการเยียวยาได้รับความสนใจสูง ดังข้อมูล Google Trends เดือนมิถุนายน 2564 ที่กลุ่มคำค้นเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ได้รับความสนใจมากที่สุดอันดับ 1 โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 รองลงมาคือ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้, การช่วยเหลือผู้ประกันตน มาตรา 40 ลดส่งเงินสมทบประกันสังคม รวมถึงการเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ผู้มีบัตรคนจน) จำนวน 200 บาทต่อคนต่อเดือน ระยะเวลา 6 เดือน
อย่างไรก็ตาม พบว่ายังมีประชาชนที่รู้สึกว่าการช่วยเหลือตามมาตรการเยียวยายังไม่ทันต่อสภาพปัญหาและไม่ตรงตามความต้องการ จึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปในทางลบ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาวิเคราะห์ความคิดเห็น อารมณ์ ความรู้สึก จากการสื่อสารในแพลตฟอร์มออนไลน์บุคคลทั่วไป ต่อมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 ของ Media Alert สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พบว่า กว่าร้อยละ 90 สะท้อนความรู้สึกเชิงลบต่อการเข้าถึงมาตรการ ต่อเงื่อนไขหรือข้อจำกัดของมาตรการ รวมถึงความคาดหวัง ความต้องการต่อมาตรการเยียวยา ที่ยังรู้สึกว่ามีความยุ่งยาก ซับซ้อน ไม่เพียงพอ ไม่ครอบคลุม เอื้อประโยชน์คนบางกลุ่ม ขาดการวางแผน และขาดความชัดเจน
เพราะเหตุใดผลการศึกษาความคิดเห็น อารมณ์ ความรู้สึกของการสื่อสารในออนไลน์ ต่อมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงออกมาในเชิงลบ
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุประการแรกว่า เป็นเรื่องจังหวะเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่โควิด-19 มีการแพร่ระบาดสูง รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น หากแต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ รัฐบาลเว้นช่วงเวลาในการสื่อสารกับประชาชนนานเกินไป ยกตัวอย่าง กรณีประกาศออกมาช่วงวันศุกร์ แต่ปฏิบัติการตามมาตรการกลับเป็นวันจันทร์หรือวันอังคาร ประกอบกับบางครั้งข้อความของการประกาศและการปฏิบัติไม่ตรงกัน ไม่ชัดเจน และล่าช้า ยกตัวอย่าง การประกาศว่าไม่มีการออกมาตรการที่เข้มงวด นอกจากเรื่องการปิดแคมป์คนงาน แต่พอวันถัดมากลับกลายเป็นว่ามีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวย่อมทำให้ประชาชนเกิดความกังวลใจ
ประการที่ 2 เป็นเรื่องของความชัดเจนและความทันสถานการณ์ ยกตัวอย่างกรณีประกาศเยียวยา 9 กลุ่มอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ ในพื้นที่ 13 จังหวัดสีแดงเข้ม โดยไม่มีการอธิบายที่มาที่ไป เงื่อนไขหรือขั้นตอนผู้ที่จะได้รับการเยียวยาควรเป็นอย่างไร จึงทำให้มีข้อสงสัยและคำถามตามมาว่า กลุ่มอื่น ๆ จังหวัดอื่น ๆ จะได้รับสิทธิ์ด้วยหรือไม่ หรือต้องสมัครประกันสังคมก่อนจึงจะได้รับความช่วยเหลือหรือไม่ ส่วนเรื่องการไม่ทันกับสถานการณ์ เช่น การประกาศปิดแคมป์คนงานก่อนออกมาตรการช่วยเหลือ จึงมีคนงานจำนวนหนึ่งอพยพโยกย้าย นำไปสู่การแพร่ระบาดในต่างจังหวัดในช่วงเวลาต่อมา ถ้าประกาศปิดแคมป์คนงานไปพร้อมกับมาตรการช่วยเหลือ แคมป์คนงานจำนวนหนึ่งจะไม่มีการอพยพออกไปจากนอกพื้นที่
ประการที่ 3 ในทางเศรษฐศาสตร์ ควรแยกมาตรการเยียวยากับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกจากกัน เพราะทั้งสองมาตรการมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันในส่วนของมาตรการเยียวยา คือการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบให้พ้นจากความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจโดยไม่สนใจเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ คือการทำให้เศรษฐกิจโดยรวมมีการขยายตัว และทำให้ทุกคนได้รับโอกาสทางเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ในขณะที่เศรษฐกิจกำลังหดตัว ประชาชนประสบปัญหาเดือดร้อน ไม่มีอำนาจซื้อ และต้องการได้รับการเยียวยา แต่รัฐบาลกลับประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สิ่งที่รัฐบาลคิดอาจไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่อาจจะผิดที่ช่วงจังหวะเวลา
ดร.เดชรัต กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลควรสื่อสารเรื่องการควบคุมกับการเยียวยาไปพร้อมกัน หากแต่วิธีการสื่อสารของรัฐบาลในช่วงเดือนมิถุนายน มักจะออกมาตรการควบคุมก่อนมาตรการเยียวยา ทั้งบางครั้งเป็นการส่งสัญญาณที่ยังไม่ได้รับการตัดสินใจจากผู้ที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ ดร.เดชรัต วิเคราะห์ว่า ปัญหาการสื่อสารของภาครัฐกับประชาชนเกิดจาก 2 ส่วน คือ ส่วนของเทคโนโลยีระบบลงทะเบียนมีความยุ่งยากซับซ้อน สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยก็ยากขึ้นกว่าเดิม ส่วนเรื่องของภาษานั้น รัฐบาลมักใช้ภาษาที่เป็นทางการ ขาดการอธิบาย เมื่อประชาชนไม่เข้าใจ ไม่ชัดเจน จึงเกิดความกังวล ส่งผลให้บรรยากาศการสื่อสารภาพรวมทวีความรู้สึกที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้เสมือนว่ารัฐบาลไม่ได้ตั้งใจมากพอที่จะช่วยให้ประชาชนส่วนหนึ่งสามารถเข้าถึงกระบวนการเยียวยา
ข้อเสนอแนะต่อการสื่อสารมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
ดร.เดชรัต เสนอว่า ประเด็นแรกที่รัฐบาลต้องเข้าใจคือ ข้อจำกัดของการสื่อสารที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ซึ่งไม่ใช่เรื่องระยะสั้นที่จบไปพร้อมกับโควิด-19 แต่เป็นเรื่องระยะยาว จึงควรมีการเก็บข้อมูลการใช้งานเพื่อประโยชน์ในการวางแผนต่อไป แต่การใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงมาตรการเยียวยาจำเป็นต้องคำนึงถึงคนที่เข้าไม่ถึงหรือคนที่ไม่ถนัด ด้วยการจัดให้มีคนกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่เป็นลักษณะ Face to Face สื่อสารกันโดยตรง เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในระยะหนึ่ง ซึ่งในระยะยาว ผู้ช่วยกลุ่มนี้ สามารถมีส่วนร่วมในเชิงนโยบายผ่านระบบดิจิทัลได้
ดร.เดชรัต เห็นว่า อสม. สามารถช่วยเรื่องสื่อสารได้ดี แต่ในภาพใหญ่ อสม. ถูกมองเป็นปลายทางที่สุดของกระบวนการสื่อสาร ทั้งที่ อสม. ควรอยู่ในสมการการสื่อสารตั้งแต่แรก โดยก่อนที่รัฐบาลจะทำการสื่อสารกับประชาชน ควรทำความเข้าใจหรือเตรียมความพร้อมกับ อสม. หลังจากนั้นให้ อสม. อธิบายทำความเข้าใจกับประชาชนก่อน เพื่อลดช่องว่างของความไม่เข้าใจกัน
ในเรื่องการสื่อสารเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน ดร.เดชรัต เสนอแนะว่า เมื่อรัฐบาลจะประกาศอะไร ควรนำด้วยคำอธิบายให้ประชาชนเข้าใจก่อน จากนั้นจึงสื่อสารการประกาศที่เป็นทางการ ไม่ใช่ประกาศด้วยภาษาทางการก่อนแล้วอธิบายเพิ่มเติมทีหลังอย่างที่ทำมา รวมถึงควรปรับปรุงเทคโนโลยีให้ใช้ง่าย มีการจัดเก็บข้อมูลเพื่อใช้กำหนดนโยบายในอนาคต และจัดให้มี “ผู้ช่วย” หรือ “สื่อบุคคล” เพื่อช่วยเหลือในการเข้าถึงและเข้าใจมาตรการเยียวยาสำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ
สำหรับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ดร.เดชรัต ให้ความเห็นว่า สื่อมวลชนทำงานลำบาก เพราะยากที่จะรู้สิ่งที่อยู่ในใจรัฐบาลทั้งหมด การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนจึงทำได้อย่างจำกัด เมื่อประกอบกับการไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากรัฐบาล จึงทำให้ประชาชนมีความกังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ยิ่งถ้าสื่อไม่สามารถช่วยหาคำตอบให้ได้ ความไม่พอใจของประชาชนก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ปัญหาจึงย้อนกลับไปที่ช่องทางการสื่อสารระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ที่ควรทำให้สื่อสารกันได้ดีกว่านี้ ดังนั้นสิ่งที่สื่อมวลชนควรทำคือ การสร้าง “ความเข้าใจ” ในข้อมูลที่รัฐบาลสื่อสารไม่ชัดเจน การตั้งคำถามและหาคำตอบให้ประชาชน รวมถึงการสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของประชาชนสู่รัฐบาล เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันในสังคม
ความเห็นล่าสุด