ประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับประเด็นการดูแลสุขภาพของประชาชนมาอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการรักษาฟรี การส่งเสริมสุขภาพในระดับท้องถิ่น ฯลฯ แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมการดูแลสุขภาพทั้งหมด โดยเฉพาะเมื่อบริบทของสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาวะของคนในประเทศ ในขณะเดียวกันการทำงานของภาครัฐที่มีข้อจำกัดในหลายส่วนจึงอาจะไม่สามารถรับมือหรือแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ดังนั้น การสร้างสรรค์ “นวัตกรรมบริการด้านสุขภาพและสวัสดิการเพื่อสังคม” จึงต้องมีการแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรภาคเอกชน องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร รวมถึงภาคประชาชนที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมกระบวนการหรือแนวคิดใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ นวัตกรรมไม่เพียงแต่ถูกนำมาใช้เพื่อต่อสู้กับโรคระบาดเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการพัฒนาแนวทางเพื่อดูแลสุขภาพผู้ป่วยทุกอาการให้ปลอดภัยที่สุด จากข้อมูลของนิตยสาร Forbes สรุป 10 ตัวอย่างนวัตกรรมการดูแลสุขภาพ ที่เกิดขึ้นในยุคโควิด 19 ระบาด ดังนี้
1. โดรนขนส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่ง Novant Health บริษัทผู้ให้บริการทางการแพทย์ในรัฐแคโรไลน์น่า สหรัฐอเมริกา ร่วมกับ Zipline สร้างโดรน (drone) ขนส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นในการตรวจรักษาผู้ป่วยโควิด 19 เช่น ชุด PPE โดยการบินโดรนไปยังจุดหมายแล้วปล่อยร่มชูชีพพร้อมอุปกรณ์ลงไปยังพื้นที่ ซึ่งเป็นการขนส่งที่ปราศจากการสัมผัสโดยสิ้นเชิง
2. ResMed ใช้งานการมอนิเตอร์การใช้เครื่องช่วยหายใจ (CPAP) บนคลาวด์ โดยบริษัทผลิตเครื่องช่วยหายใจ ResMed เปิดตัวซอฟต์แวร์การจัดการข้อมูลผู้ป่วย AirView เพื่อให้บริการผู้ป่วยได้ดีขึ้นในช่วงการระบาด ซึ่งจะส่งข้อมูลจาก cellular chips ในเครื่องช่วยหายใจไปยังเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพผ่านระบบคลาวด์ และเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเครื่องจากระยะไกลได้ตามความเหมาะสม ทำให้สามารถมอนิเตอร์ผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ที่บ้านได้ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาล
3. แอปพลิเคชั่น Docdot สามารถตรวจจับโควิด-19 ได้จากระยะไกล โดยแอปพลิเคชั่น Docdot ขับเคลื่อนด้วยระบบ AI ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจสอบสัญญาณชีพของผู้ป่วย และตรวจหาอาการของโควิด-19 ได้อย่างแม่นยำ ด้วยการแปลงแสงที่สะท้อนจากเส้นเลือดบนใบหน้าเพื่อวัดอัตราการเต้นของหัวใจและระดับออกซิเจนในเลือดแบบเรียลไทม์ โดยสามารถประมวลผลลัพธ์จากการวินิจฉัยโรคโควิด-19 และอาการอื่นๆ ได้ภายใน 45 วินาที นอกจากแพทย์จะสามารถวินิจฉัยโรคจากทางไกลได้แล้ว ยังสามารถเก็บข้อมูลของผู้ป่วยโควิดได้อีกด้วย
4. Tytocare ใช้หูฟังทางการแพทย์แบบใหม่เพื่อมอนิเตอร์ผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงกักตัว โดยบริษัท TytoCare พัฒนาหูฟังทางการแพทย์ที่นอกจากจะได้สามารถฟังเสียงหัวใจของผู้ป่วยได้แล้ว ยังส่งภาพปอดไปยังแพทย์ได้ ผู้ป่วยเพียงนาบหูฟังลงบนอกตนเอง แพทย์จะได้รับข้อมูลแบบเรียลไทม์ คุณสมบัติของ AI จะช่วยตรวจจับความผิดปกติ ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการได้จากภาพและเสียงที่ผู้ป่วยส่งให้จากที่บ้าน ในช่วงที่มีการจำกัดการสัมผัสและการติดต่อ
5. ทหารสหรัฐฯ ผลิตเครื่องช่วยหายใจราคาประหยัดสำหรับการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ดำเนินการโครงการ Hack-a-Vent Innovation Challenge ซึ่งสมาชิกประกอบด้วย
นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรการทหารในการผลิตเครื่องช่วยหายใจที่ราคาต่ำกว่า 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ และประกอบใช้งานง่าย เพื่อใช้ในโรงพยาบาลและพื้นที่สนาม โดยเฉพาะพื้นที่ชนบทที่ห่างไกล เครื่องช่วยหายใจนี้ใช้เวลาผลิตสำเร็จในไม่กี่สัปดาห์ ต่างจากเครื่องช่วยหายใจแบบปกติที่ใช้เวลาผลิตระดับปี
6. โรงพยาบาลใช้ VR ในการเทรนนิ่งบุคคลาการทางการแพทย์ โดยศูนย์การแพทย์ Cedars-Sinai ใช้ Virti ในการฝึกอบรมบุคลาการทางแพทย์ในการดูแลผู้ป่วย การใช้ AR, VR และ AI ทำให้แพทย์และพยาบาลรู้สึกเหมือนได้อยู่ในห้องเดียกับผู้ป่วยจริงๆ และทุกการตัดสินใจที่เกิดในระบบจำลองจะแสดงผลแบบเรียลไทม์ เทคโนโลยีนี้ช่วยให้บุคลากรทางแพทย์ยังคงฝึกฝนการปฏิบัติงานได้ ในขณะเดียวกันก็รักษาระยะห่างเพื่อความปลอดภัยทางสุขภาพด้วย
7. เทคโนโลยี 3D Printing ผลิตชุดตรวจโควิดแบบแหย่จมูก จากการประสบปัญหาการขาดแคลนชุดตรวจโควิดเกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้บริษัท AI ซอฟแวร์ Axial3D ออกแบบชุดตรวจโควิดแบบแหย่จมูกด้วยเทคโนโลยี 3D Printing โดยชุดตรวจโควิดนี้ไม่เพียงใช้เวลาในการผลิตเร็วกว่าเดิม แต่ยังสามารถเก็บตัวอย่างได้ดีกว่าแบบเดิมอีกด้วย
8. Mayo Clinic ข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้ (de-identfied data) เพื่อคิดค้นการรักษา โดย Mayo Clinic ร่วมกับบริษัท AI inference ในการสร้าง Clinical Data Analytics Platform ประวัติผู้ป่วยที่ไม่สามารถระบุตัวต้นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้ มากกว่า 12.5 ล้านคน รวมถึงผลตรวจจากห้องปฏิบัติการ ค่าสัญญาณชีพ และบันทึกทางคลินิก นักวิจัยใช้ข้อมูลดังกล่าวในการวิเคราะห์เพื่อค้นหาความเชื่อมโยง และทำการวิจัยทางการแพทย์ ปัจจุบัน Mayo Clininc ใช้แพล็ตฟอร์มนี้เพื่อทำการศึกษาวิจัยจำนวนมากเกี่ยวกับโควิด 19 และพัฒนาวิธีการรักษาใหม่ๆ
9. โรงพยาบาลใช้หุ่นยนต์ในการขนส่งอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ป่วย เมื่อคนป่วยเริ่มล้นโรงพยาบาลจากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 โรงพยาบาลจึงหันมาใช้ความช่วยเหลือจากหุ่นยนต์ Moxi หุ่นยนต์แขนเดียวที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลืองานในโรงพยาบาล โดยเน้นไปที่การส่งมอบชุด PPE, ตัวอย่างในห้องแล็บ ผลทดสอบโควิด 19 และรับส่งของจากผู้ป่วยด้วย เพื่อลดการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่การแพทย์และผู้ป่วยในโรงพยาบาล
10. Sutter Health ขยายการให้บริการ ChatBot ครอบคลุมถึงโควิด 19 โดย Sutter Health เพิ่มโควิด 19 ลงในโปรแกรมการตรวจสอบอาการ ChatBot ระบบ algorithm จะประเมินจากประวัติการรักษา ปัจจัยเสี่ยง และอาการของผู้ป่วยเพื่อให้คำแนะนำด้านสุขภาพ นับตั้งแต่เกิดโรคระบาด ปริมาณการใช้ ChatBot ของ Sutter Health เพิ่มขึ้นเป็นประมาณสามเท่า โดยข้อความกว่าครึ่งหนึ่งเข้ามาในช่วงนอกเวลาทำการปกติ
และนี่เป็นเพียงตัวอย่างของนวัตกรรมการดูแลสุขภาพในยุคโควิด 19 ระบาด ซึ่งได้มีการใช้แล้วในต่างประเทศ หากประเทศไทยเรา ได้นำมาพัฒนาและใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ โดยให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในบ้านเรา ก็คงจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของคนไทยได้ดีที่สุด
ความเห็นล่าสุด