(ทำนองลำทางล่อง – ลพเต้ย)
‘โอ่ย… หันเอ๋ยหันมาฟังทางนี้หมอลำมีเรื่องราวฟ้าวบอกให้ฮู้ก่อน
เรื่องโควิดสายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน
อันตรายต่อชีวิตพี่น้อง อย่ามองข้ามเบิ่งให้ดี
ฟ้าวป้องกันให้ถูกวิธี…ละน้า’
.
เสียงทำนองคำกลอนอีสานของ แม่ราตรี ศรีวิไล วัย 70 ปี นายกสมาคมหมอลำ แห่งศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย จังหวัดขอนแก่น ยังคงกังวานแม้ในวันที่สถานการณ์โรคระบาดยังไม่ดีขึ้น กลอนหมอลำถ่ายทอดเรื่องราวของโควิด 19 ลงในโลกออนไลน์ มียอดไลก์ และแชร์มากกว่าหนึ่งหมื่นไลก์ในคืนเดียว
.
I เมื่อหมอลำต้องปรับตัวสู่วิถี New Normal
“แม่เรียนหมอลำตั้งแต่อายุ 13 จนป่านนี้ อายุ 70 ปี ไม่เคยเห็นสถานการณ์ไหนรุนแรงเท่านี้มาก่อนเลย โรคระบาดโควิดไม่ได้แพร่ระบาดแค่ในประเทศไทยแต่ไปทั่วโลก ไม่มีใครไม่ลำบากในเหตุการณ์นี้ ทุกคนได้รับผลกระทบโดยเฉพาะอาชีพที่ต้องพบปะผู้คนมากมายต้องหยุดทำงาน หลายคนล้ม อีกหลายคนท้อ”
.
“เราจึงเริ่มคิดว่าทำอย่างไรให้คนที่ล้ม คนที่ท้อ เขาสามารถลุกขึ้นมาพยุงตัวเองได้ เราก็บอกตัวเองว่าเรามีความรู้ในเรื่องกลอนลำภูมิปัญญาไทยอีสาน เราก็นำสิ่งที่ถนัดมาเผยแพร่ในช่องทางใหม่ ๆ อย่างออนไลน์ แต่ช่วงแรกก็ติดปัญหาเรื่องเทคนิคว่าจะทำอย่างไรดี เพราะคนรุ่นเก่าจะให้มาใช้เทคโนโลยีทันทีก็ต้องปรับตัวกันบ้าง”
.
“ช่วงแรกก็มีความยาก แต่ถ้าเราจะลงมือทำอย่างจริงจังก็เชื่อว่าทำได้ และมีคนมากมายรอบตัวเราพร้อมช่วยเหลือ ยิ่งเขารู้ว่าสิ่งที่เราจะทำคือการร้องกลอนลำเพื่อให้ความรู้เรื่องโควิดและความสนุกสนาน เขายินดีมาช่วยเหลือทันทีเลย เรื่องเทคโนโลยีเด็กรุ่นใหม่เขาจะเก่งกว่าเรา ก็ให้บรรดาลูกศิษย์เขาช่วยดู เป็นสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างครูและลูกศิษย์ไปพร้อมกัน”
.
“จะพูดว่าเป็นการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย New Normal ไปด้วยก็ได้ กลอนลำถ้าแต่งเฉย ๆ ไม่เผยแพร่ออกไปก็ไม่เกิดประโยชน์ เมื่อเราร้องเพลงลำลงออนไลน์ ให้เขาเห็นสาระเนื้อหากลอนลำ เผื่อเขาอยากนำไปเผยแพร่ต่อ แล้วเราบันทึกเสียงออกไปเป็นไกด์ทำนอง ให้ผู้คนได้รู้ว่าเราร้องหมอลำเกี่ยวกับโควิดเพื่อให้กำลังใจและให้ความรู้ไปพร้อมกัน อีกอย่างบันทึกลงออนไลน์ไม่เหมือนลงเทปสมัยก่อนที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เทปจะหาย แต่บันทึกลงออนไลน์ไม่ว่าจะกี่ปีก็ยังอยู่”
.
“คืนที่ลงคลิปร้องเพลงกลอนหมอลำไป ปรากฏว่ามียอดไลก์และแชร์ไปมากมาย แม่ก็ตกใจเหมือนกัน ขนาดคนรู้จักก็โทรมาทันทีเลยว่ากดแชร์ กดไลก์ให้แล้วนะ เราก็ดีใจที่มีคนหันมาสนใจศิลปวัฒนธรรมของไทยอย่างกลอนลำและหวังว่าคนฟังได้ความรู้และความสนุกสนานไปด้วย”
(ลำเต้ยพม่า)
‘ขอเชิญพี่น้องทั่วไทย มาสร้างความเข้าใจเรื่องโควิดกันหนา
โควิดสายพันธุ์ใหม่เข้ามา ที่เรียกกันว่าโควิดโอไมครอน
ป้องกันไว้ก่อนเป็นดี ทำตามวิธีให้ถูกขั้นตอน
เบื้องต้นป้องกันไว้ก่อน คือเว้นระยะห่าง สวมแมสก์และล้างมือ’
.
I ยิ่งเป็นหมอลำยิ่งต้องหนักแน่นในข้อมูล
“ในอีสานมีความเชื่อว่าหมอลำคือผู้มีความรู้ ไม่ว่าเราจะร้องจะใส่เนื้อหาอะไรในเพลงคนฟังเขาก็จะเชื่อ ดังนั้นเรื่องนี้เป็นจุดที่แม่ให้ความสำคัญมาก ยิ่งในโลกออนไลน์เป็นเหมือนดาบ 2 คม เพราะมีหลายข้อมูลที่บางอย่างอาจไม่ถูกต้อง แม่บอกตลอดว่าอาจจะต้องใจเย็น ๆ ดูข้อมูลให้ถูกต้องก่อนจึงค่อยเชื่อ หรือทางที่ดีถามจากคนที่น่าเชื่อถือจะดีกว่า เพราะโลกออนไลน์เป็นสังคมที่รวดเร็ว บางข้อมูลจึงจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังก่อนจะเชื่อ”
.
“กลอนของแม่ที่แต่งเกี่ยวกับโควิดให้ความสำคัญกับ 3 สิ่ง โดยสิ่งแรกคือการให้ความรู้ ข้อมูลที่ถูกต้อง เราเป็นหมอลำจะพูดสิ่งผิด ๆ ไปไม่ได้เด็ดขาด ปกติแม่แต่งกลอนให้กับทางหน่วยงานของจังหวัดเพื่อไปทำรณรงค์ในสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในกระแสสังคม เช่น การไม่กินอาหารที่ไม่ถูกสุขอนามัย การใส่หมวกขับขี่ปลอดภัย เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่สำคัญคือเรื่องของข้อมูล เราต้องไปหาข้อมูลที่ถูกต้องไม่ว่าจะเป็นที่สาธารณสุขจังหวัด หรือ โรงพยาบาล เมื่อเสร็จแล้วเราก็ส่งให้ทางหน่วยงานตรวจสอบก่อนว่าข้อมูลแบบนี้ถูกต้องหรือไม่ ก่อนที่เราจะมาร้องเผยแพร่ออกไปในออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การใส่หน้ากากอนามัย การฉีดวัคซีน การดูแลตัวเอง เป็นต้น”
.
“ต่อมาคือความสนุกสนานของจังหวะแบบหมอลำ ที่ใครได้ยินมีอันต้องเซิ้ง ลุกขึ้นมาฟ้อนทุกราย อย่างน้อยช่วยให้คนฟังได้คลายเครียดให้ความบันเทิงเล็ก ๆ และ สิ่งสุดท้ายคือการปลอบใจและให้กำลังใจระหว่างกัน แม่เชื่อว่า 3 สิ่งนี้คือความสำคัญที่อยู่ในกลอนโควิดของแม่ทุกชิ้น”
.
(ปิดท้ายด้วยลำเต้ยธรรมดา)
‘ถือเป็นกิจวัตรเอาไว้ อย่าพากันเข้าไปในชุมชนกลุ่มเสี่ยง
ให้เข้าใจอันใดควรหลีกเลี้ยง ป้องกันไว้ให้ฮู้ทั่วกัน
โควิดทุกสายพันธุ์ให้ ป้องกันไว้ก่อน เดียวนี้โอไมครอนมาแฮงฮ้าย….’
.
I ทำไมศิลปินหมอลำต้องลุกมาทำทั้ง ๆ ที่ตัวเองยังคงลำบากไม่แพ้อาชีพอื่น ๆ
“เพราะเราเป็นคนของสังคม เป็นศิลปินมีหน้าที่จรรโลงสังคม ให้ความสุขซึ่งเวลานี้ทุกคนกำลังทุกข์กับเรื่องโรคระบาด ดังนั้นถ้าเราสามารถช่วยสังคมตรงนี้ได้เราก็อยากทำ เราอยากใช้ความรู้ภูมิปัญญาที่เรามีให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในส่วนที่เราพอทำได้ เราจึงอยากมอบความสุขเล็ก ๆ ที่พอช่วยได้ และพวกเขาก็จะได้รับฟังกลอนหมอลำสนุกสนานไปพร้อมกับได้รับความรู้การป้องกันโควิด ดีกว่าเรามานั่งอยู่เฉย ๆ”
.
“ผลตอบแทนคือไม่หวังอะไรเลย แม่คิดตลอดว่าทำไปแล้วเราสบายใจก็พอแล้ว ตามที่คนโบราณว่า ทำอะไรแล้วสบายใจโดยไม่มีใครเดือดร้อนก็ทำ ยิ่งทำแล้วเกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นยิ่งดี”
.
“แต่มีลูกศิษย์ที่ต่างจังหวัดเขาโทรมาบอกเราว่า มีคนมาจ้างงานเขาไปร้องหมอลำเพราะเห็นคลิปจากเราที่ร้องเพลงกลอนลำได้สนุกสนาน เขาจึงอยากจ้างลูกศิษย์เราไปร้องบ้าง อย่างน้อยเราก็สามารถสืบสานต่อลมหายใจของวัฒนธรรมหมอลำ เขาอาจจะไม่ต้องจ้างเราไปร้อง จ้างลูกศิษย์เราก็ได้ แค่นี้เราก็ดีใจมากแล้ว”
.
สิ่งที่แม่ครูบอกกับเราอยู่เสมอคือ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามขอให้มีความตั้งใจ และความตั้งใจจะตอบแทนโดยที่เราไม่รู้ตัว เหมือนกับความสิ่งที่แม่ครูมีความตั้งใจที่อยากจะเผยแพร่วัฒนธรรมหมอลำพื้นบ้านอีสานให้เป็นที่รู้จักขณะเดียวกันก็สามารถสร้างรอยยิ้ม เสียงหัวเราะและความรู้ไปพร้อมกัน ให้กับคนดูการแสดงผ่านโลกออนไลน์ นั่นก็คือความสุขและความภาคภูมิใจของแม่ครูในวัยเกษียณคนหนึ่งแล้ว
ความเห็นล่าสุด