สงสัย?
ละครโทรทัศน์ไทยกลายเป็นประเด็นถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง จากเหตุการณ์ที่รายการ The Driver โดย โอ๊ต ปราโมทย์ ถามนักแสดง “ต่อ ธนภพ” ว่า “ชอบมีคนมาถามเรา ทำไมซีรีส์บ้านเราถึงทำให้ดีมาก ๆ เหมือนซีรีส์เกาหลีไม่ได้” คำตอบของต่อ ธนภพ ในฐานะนักแสดงไทย ก็ยอมรับว่าละครไทยไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร
“ในฐานะนักแสดง เจ็บใจนะ ผมจี๊ดทุกครั้งเวลาที่ใครก็ตามที่บอกว่า ฉันไม่ดูละครไทย ฉันไม่ดูหนังไทย คือบางครั้งแค่เป็นคำถามเล็ก ๆ ว่า เราผิดอะไร แบบไม่ดีอะไร คนรอบตัวเก่งหมดแล้วเก่งจริงด้วย แต่แบบมันมีบางอย่างที่คุณไม่รู้หรอกว่าเพราะอะไร ถ้าทำถึงตรงนั้นได้ เราก็อยาก”
กลุ่มคนในสื่อสังคมออนไลน์ จึงตั้งคำถามอย่างสงสัยว่า “ทำไมละครไทยถึงไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร”
เพื่อตอบคำถามนี้ Media Alert ได้สำรวจงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาสังเคราะห์หาข้อสรุป หรือพยายามตอบคำถาม “ทำไมละครไทยถึงไม่ได้รับความนิยม…..” ที่ยังเป็นคำถามในความสนใจในวันนี้
#ละครไทย #ต่อธนภพ
ผู้ผลิตกำหนด แล้วถามคนดูหรือยัง?
งานวิจัยเรื่อง พัฒนาการและสุนทรียทัศน์ในการสร้างสรรค์บทละครในโทรทัศน์ไทย ของ สรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์ (2554) ซึ่งทำการเก็บข้อมูลเอกสารของนักการละครโทรทัศน์รวมกว่า 50 คน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508-2553 ประกอบการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้สร้างสรรค์บทละครโทรทัศน์ยุคสมัยต่าง ๆ ทั้ง 5 ยุค ได้แก่ ยุคบุกเบิก ยุคภาพยนตร์โทรทัศน์ ยุคขยายตัว ยุคเฟื่องฟู และยุคโลกาภิวัตน์ ผลการวิจัยพบว่า พัฒนาการและสุนทรียทัศน์ในการสร้างสรรค์บทละครในโทรทัศน์ไทย มีผลสืบเนื่องมาจากบริบทของเทคโนโลยีการสื่อสาร ถึงแม้ว่ายุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ละครโทรทัศน์มีเทคโนโลยีการถ่ายทำที่ความเจริญก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ แต่เนื้อหาของบทละครโทรทัศน์ก็ยังคงวนเวียนกับละครแนวชีวิตที่มีแก่นเรื่องเกี่ยวกับความรัก และความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมคนไทยที่นิยมดูละครโทรทัศน์เพื่อ ‘เอารส’ มากกว่า ‘เอาเรื่อง’ อันเป็นการผลิตซ้ำทางวัฒนธรรม
ในขณะที่ งานวิจัยเรื่อง ความพึงพอใจของผู้ชมและแนวโน้มของละครโทรทัศน์หลังข่าวของช่อง 7 สี ในเขตกรุงเทพมหานคร ของ ทิพาภัสสร์ คล้ายจันทร์ และธีรเดช ชื่นประภานุสรณ์ (2560) ประเด็นแนวโน้มหรือทิศ ทางในอนาคตของละครช่อง 7 สี พบว่า ด้านคุณภาพของละคร บริษัทผลิตละครหรือผู้จัดละครก็ต้องพัฒนาให้ทัน ทั้งอุปกรณ์การถ่ายทำละคร ภาพที่มีความคมชัดมากขึ้น เพราะการแพร่ภาพสมัยนี้ปรับเป็นระบบ HD ทั้งหมด นักแสดงต้องมีบุคลิกภายนอกที่เหมาะสมกับตัวละคร (Characters) ตามบทประพันธ์ ผู้กำกับหรือผู้จัดฯอาจจะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และมีชื่อเสียง แต่จะยังคงมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายหลักคือคนที่อยู่ต่างจังหวัด ด้านคุณค่าของละคร ละครจะมีแนวที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อทำให้กลุ่มเป้าหมายมีทางเลือกที่จะตัดสินใจเลือกรับชมตามความต้องการของตัวเอง และจะต้องมีการสอดแทรกคุณค่าและประโยชน์เข้าไปในเนื้อหาของบทละคร ส่งเสริมด้านคุณธรรม การปลูกฝัง ความสามัคคี การให้อภัยกัน หรือ อีกอย่างที่เรียกว่า ทำละครรับใช้สังคมให้เพิ่มมากขึ้น
เมื่อศึกษาถึงประเด็นของการเลือกเนื้อหาและการสร้างสรรค์บทละครโทรทัศน์ในประเทศไทย ก็พบงานวิจัย เรื่อง การเลือกเนื้อหาและการสร้างบทละครโทรทัศน์ในมุมมองของผู้ผลิตและผู้ชม ของ กษิดิ์เดช สุวรรณมาลี (2560) ซึ่งเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก ผู้บริหารฝ่ายละครโทรทัศน์ ผู้จัดละครโทรทัศน์ ผู้กำกับละครโทรทัศน์ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำละครโทรทัศน์ และคอละคร พบว่า 1) การเลือกเนื้อหาของผู้ผลิตละครโทรทัศน์จะเลือกจากพฤติกรรมของผู้รับชมละครและเลือกจากความสดใหม่ของเนื้อหา หรือเลือกเรื่องราวใกล้ตัว ซึ่งจะสอดคล้องกับ กลุ่มเป้าหมายของแต่ละสถานี 2) ละครโทรทัศน์ก็ยังจะคงอยู่คู่คนไทย แต่ถ้าหากเป็นละครเก่า คนดูอาจจะดูยากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ทำให้พฤติกรรมคนดูเปลี่ยนไป การทำละครเนื้อหาใหม่ ๆ จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด 3) ผู้ชมส่วนใหญ่รับชมละครโทรทัศน์เนื่องจากมีเวลาว่าง ต้องการผ่อนคลายความเครียด ส่วนใหญ่รับชมละครแนวดราม่าและละครแนวย้อนยุค โดยจะดูนักแสดงก่อน แล้วจึงดูเนื้อเรื่องของละครเรื่องนั้น ความบันเทิงและข้อคิดในการใช้ชีวิตเป็นสิ่งที่ผู้ชมได้รับจากการรับชมละคร ผู้ชมต้องการให้พัฒนาในเรื่องของบทละครให้มีความทันสมัย และต้องการให้พัฒนา คอมพิวเตอร์กราฟิกให้มีความสมจริงยิ่งขึ้น
ผลการศึกษาข้างต้นชี้ให้เห็นว่า แม้พัฒนาการของยุคสมัยจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม แต่ละครไทยในช่วง 45 ปีที่ผ่านมา ทั้งเนื้อเรื่องและเนื้อหาของบทละครโทรทัศน์ก็ยังคงวนเวียนกับละครแนวชีวิตที่มีแก่นเรื่องเกี่ยวกับความรัก และความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว แม้ว่าผู้สร้างหรือผู้ผลิตละครเองจะมีการคัดเลือกเนื้อหาที่คาดว่าผู้ชมจะสนใจอย่างไรแล้วก็ตาม แต่ตัวคนดูเองนั้นก็ยังคงไม่พอใจและต้องการให้ผู้สร้างหรือผู้ผลิตละคร พัฒนาเนื้อเรื่องให้มีทั้งความทันสมัยและมีเนื้อหาที่นำเสนอข้อคิดที่ผู้ชมควรได้รับจากการชมละครด้วยเช่นกัน เพื่อทำให้กลุ่มเป้าหมายมีทางเลือกที่จะตัดสินใจเลือกรับชมตามความต้องการของตัวเอง และมีการสอดแทรกคุณค่าและประโยชน์เข้าไปในเนื้อหาของบทละคร
แต่…ละครโทรทัศน์ไทยไป เป็นที่นิยมในประเทศเพื่อนบ้าน
แม้จะถูกวิเคราะห์ว่าเนื้อหาละครโทรทัศน์ไทย(ว่ามี)มีอาการ “วนในอ่าง” แต่ละครโทรทัศน์ไทยกลับได้รับกระแสตอบรับที่ค่อนข้างดีจากประเทศเพื่อนบ้าน งานวิจัยของ ผศ.ดร. อัมพร จิรัฐติกร และคณะที่ทำการศึกษา “การบริโภคละครโทรทัศน์ไทยผ่านเว็บไซด์ในกลุ่มประเทศอาเซียนและจีน: กรณีศึกษาประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและจีน” พบว่า
ในประเทศเวียดนาม ละครโทรทัศน์ไทยได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ถึงแม้จะไม่ใช่กระแสหลัก แต่ก็อยู่ในอันดับต้น ๆ ของสื่อบันเทิงจากเอเชีย ในขณะที่ประเทศจีน สามารถแบ่งความนิยมละครโทรทัศน์ไทยออกเป็น 2 ช่วง คือในยุคแรก ละครโทรทัศน์ไทยได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในช่วง พ.ศ. 2551-2554 แต่หยุดการเผยแพร่ในปีต่อมาเนื่องจากความอิ่มตัวในเนื้อหาละครไทยที่มีแต่แบบเดิม ๆ และเพิ่งจะกลับมาได้รับความนิยมผ่านการรับชมทางอินเตอร์เน็ต ในช่วงปี พ.ศ. 2557 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่ความนิยมละครโทรทัศน์ไทยในประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ยังมีความจำกัดอยู่
ผู้วิจัยวิเคราะห์ว่า เหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากผู้ชมในประเทศเวียดนามมาจากรากฐานวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับไทย ทำให้เปิดรับสื่อบันเทิงไทยได้ง่ายและเปิดรับแทบทุกรูปแบบ ในขณะที่ผู้ชมในประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และจีน มาจากบริบททางสังคมที่แตกต่างกันออกไป ทำให้ผู้ชมมองหาสิ่งแปลกใหม่หรือสิ่งที่ขาดหายไปในสังคมของตนเอง เช่นเรื่องราวในรั้วโรงเรียน หรือเรื่อง “ต้องห้าม” ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศ
ส่วนผู้ผลิตรายใหม่พยายามแสวงหารูปแบบละครที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อจับกลุ่มผู้ชมเฉพาะกลุ่มเช่น แนววัยรุ่นรักโรแมนติก แนวชายรักชาย แนว reality drama ผู้ผลิตมีการสร้าง application ของตัวเอง มีการร่วมมือกับผู้นำด้านเทคโนโลยีที่มีฐานผู้ใช้งานจำนวนมากเช่น LINE TV สำหรับตลาดต่างประเทศ และผู้ผลิตเองก็มีการปรับเปลี่ยนเชิงเนื้อหาที่มุ่งไปสู่ความเป็นสากลมากขึ้น จากการซื้อเนื้อหาละครจากต่างประเทศมาผลิตละครแนว “รีเมค” รวมถึงผู้ผลิตเริ่มมองเห็นความสำคัญของกลุ่มผู้ชมนอกประเทศมากขึ้น
จากงานการศึกษาที่นำมาสรุปเสนออาจแสดงให้เห็นได้ว่า ในกลุ่มประเทศที่มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับประเทศไทย ละครโทรทัศน์ไทยจึงได้รับความนิยมอย่างสูง แต่ขณะที่ประเทศที่มีบริบททางวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป ละครโทรทัศน์ไทยที่มีเนื้อหาในแบบเดิม ๆ อาจจะทำให้ไม่ได้รับความนิยม ยกเว้นการนำเสนอในประเด็นเรื่องต้องห้ามในประเทศนั้น ๆ ที่น่าสนใจคือ งานวิจัยนี้ พบการพยายามปรับตัวของผู้ผลิตรายใหม่ของไทย ทั้งการจับแนวทางความชอบ ความสนใจ ของกลุ่มเป้าหมายหลากหลาย การปรับเนื้อหาให้มีความเป็นสากล การผลิตละครแนว “รีเมค” จากเนื้อหาที่ซื้อจากต่างประเทศ รวมทั้งการขยายช่องทางการเข้าถึงผ่านเทคโนโลยีออนไลน์ต่าง ๆ
ทำอย่างไรละครโทรทัศน์ของไทยจะเป็นที่นิยมเช่นของเกาหลีใต้
ทำไมซีรีส์เกาหลีใต้จึงได้รับความนิยม และมักมีการเปรียบเทียบละครโทรทัศน์ไทยกับซีรีส์เกาหลีใต้ จากงานวิจัยเรื่อง “ภาพยนตร์ชุดเกาหลี : กรณีศึกษากระแสคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีในสังคมไทย” ของ นพดล อินทร์จันทร์ และคณะ (2555) ผลการศึกษาพบว่า ภาพยนตร์ชุดเกาหลีให้ความสำคัญกับการวางโครงเรื่อง มีเนื้อหาที่สามารถติดตามได้ง่าย ไม่ซับซ้อน มีปมปัญหาหลักเพียงปมเดียว วางโครงเรื่องอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่จุดสุดยอดของเรื่อง และมักจะเร้าอารมณ์ของผู้ชมให้เกิดการปลดปล่อยทางอารมณ์ โดยกระตุ้นให้เกิดความสงสาร โกรธ เกลียดชัง หรือรัก ผ่านการดำเนินเรื่องและการกระทำของตัวละคร เนื้อหาสาระมักเน้นย้ำการสะท้อนให้เห็นถึงความเหล่ือมล้ำทางสังคม การละเมิดสิทธิมนุษยชน การแบ่งชนชั้นในสังคม สิทธิสตรี มุ่งเสนอเนื้อหาของความเพ้อฝันเกินจริง ความรักต่างชนชั้น พรหมลิขิต และมีการสอดแทรกคติธรรมอย่างง่าย ๆ
นอกจากนี้ ในประเด็นเรื่องวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อสังคมไทย ผลการวิจัยพบว่า ภาพยนตร์ชุดเกาหลีในประเทศไทยมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมใน 3 ปัจจัย คือ 1) นำเสนอและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ 2) ส่งถ่ายวัฒนธรรมเกาหลีสู่ประเทศไทย 3)เปลี่ยนแปลงความเชื่อและสุนทรียภาพ
อิทธิพลเหล่านี้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทัศนะความเชื่อในแง่สุนทรีภาพของคนดูละครโทรทัศน์ไทย ทำให้เกิดความนิยมชมชอบในความเป็นแบบฉบับอย่างเกาหลีมากขึ้น งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์ชุดของเกาหลีได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงละครโทรทัศน์ไทย ด้านรูปแบบการนำเสนอที่แตกต่างออกไป การสอดแทรกเนื้อหาที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ชมในประเทศไทย
บทความเรื่อง “ทุบๆ จุดไหนที่ละครไทย ด้อยกว่าซีรีส์เกาหลี” โดย ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 18 ก.พ. 2565 ได้นำเสนอบทสัมภาษณ์ของนักแสดง ผู้ผลิตละคร และผู้เกี่ยวข้องกับละครไทย
นักแสดงมากความสามารถอย่าง “ป๊อก ปิยะธิดา มิตรธีรโรจน์” ได้กล่าวว่า บอกตรง ๆ เลยว่า พล็อตละครไทยเรา ไม่ค่อยกล้าฉีกแนว เราอาจจะกลัวเพราะมีข้อจำกัดในการทำ หรือบางทีในบางแง่ เราคิดแทนคนดูเยอะเกินไปว่าทำแบบนี้ออกมาแล้ว คนจะไม่ดู ละครอย่าไปรีเมกอะไรบ่อย ๆ เพราะคนดูเดาได้แล้ว จะดูละครไม่สนุก เรามีความสามารถ เราทำอะไรได้มากกว่าที่เราคิด ถ้าเราทำละครให้สนุก เดายาก คนดูก็ชอบ อยากติดตาม แค่นั้นเอง”
เช่นเดียวกับ แดนนี่ พิชาพัฒน์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ นายแบบ-พิธีกร-ผู้ประกาศข่าว ให้ข้อมูลเชิงลึกไว้ว่า การแข่งขันในวงการนี้ คือการนำเสนอความแตกต่าง ที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน สิ่งที่จะตรึงใจคนดูได้คือ “ความไม่เหมือนใคร” และสิ่งที่จะทำให้เกิดความแตกต่างได้ในละคร คือ บทละครที่ดี ต่อให้คุณมีนักแสดงแถวหน้าของประเทศ แต่หากบทของคุณไม่ดี น่าเบื่อ ซ้ำซาก เดาง่าย คนดูก็ไม่ดูอยู่ดี
ความแตกต่างของเนื้อหาในละครโทรทัศน์ไทย เป็นเรื่องสำคัญที่คนในแวดวงการละครให้ความสำคัญ และมองว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้ละครโทรทัศน์ไทยกลับมาได้รับความนิยม และสามารถทัดเทียมกับซีรีส์ในประเทศเกาหลีใต้ได้
เดินทางไหนดี…
สุดท้ายแล้วอาจตอบคำถาม “ทำไมซีรีส์บ้านเราถึงทำให้ดีมาก ๆ เหมือนซีรีส์เกาหลีไม่ได้” ว่า…เพราะเนื้อหาที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจากอดีต การนำเสนอแต่ประเด็นเดิม ๆ ขาดการนำเสนอเรื่องคุณค่าชีวิต หรือข้อคิดที่สำคัญไปกว่าความรักของตัวละคร รวมไปถึงการไม่นำเสนอประเด็นที่มีความหลากหลาย คือยังเน้นเนื้อหาที่มีความเฉพาะตัว ทำให้ละครโทรทัศน์ไทยยังคงนำเสนอเรื่องราวซ้ำ ๆ และจำเจ
แตกต่างไปจากละครโทรทัศน์เกาหลีใต้ที่มีความหลากหลายคาดเดาเนื้อเรื่องไม่ได้ มีเนื้อหาและการนำเสนอที่สามารถเข้าถึงผู้ชมกลุ่มใหญ่หรือระดับนานาชาติได้ดีมากกว่า จึงทำให้ซีรีส์เกาหลีกลายเป็นที่นิยมอย่างมากทั่วโลก
แม้จะมีผู้ผลิตและผู้สร้างละครโทรทัศน์ไทยที่บอกว่าได้พัฒนาเต็มที่แล้วก็ตาม แต่เมื่อยังมีผู้บริโภคหรือคนดู ที่บอกว่า ยังไม่ดีพอ ยังไม่ชวนติดตาม ไม่ชวนคาดเดา ยังไม่มีความเป็นสากลมากพอ ฯลฯ “ทำเต็มที่แล้ว” จึงไม่น่าเป็นคำตอบสุดท้าย
สุดท้ายแล้วใครควรมีบทบาทในการปรับปรุง พัฒนาให้ละครโทรทัศน์ไทย เป็นที่นิยมของดนดูทั้งในประเทศ ในต่างประเทศ ในทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ในสังคมยุคใหม่ (“คนรุ่นใหม่”อาจไม่ผูกขาดกับคนกลุ่มวัยใด แต่เป็นคนที่ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยได้อย่างเหมาะสม)
พัฒนาละครโทรทัศน์ไทย ภารกิจร่วมของ ผู้ชม ผู้สร้าง/ผู้ผลิต สังคม ไปถึงภาครัฐ
หากเชื่อว่า ละครโทรทัศน์ไทย ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตการรับสื่อของคนในสังคมยุคนี้ หากเห็นว่า ละครโทรทัศน์ไทยควรเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมที่ข้ามพรมแดนประเทศ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการสร้าง (Production) และการรับชมละคร (Consumption) อาจต้องช่วยกันออกความเห็น แสดงข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาละครโทรทัศน์ไทย ในด้านต่าง ๆ เช่น โครงเรื่อง เนื้อหา บท การแสดง เทคนิคการนำเสนอ ฯลฯ อย่างตระหนักในเงื่อนไขสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไปในกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ เช่น วิธีคิด แบบแผนชีวิตและพฤติกรรม โดยเฉพาะการรับและการใช้สื่อ ความคาดหวังในละครโทรทัศน์ ที่ไม่เพียงตอบสนองอารมณ์ แต่ควรให้แง่คิด มุมมองที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง ละครโทรทัศน์ไม่ควรมีคุณค่าเพียงความบันเทิงที่ผ่านตาหรือเพื่อฆ่าเวลาอย่างที่เป็นมา ยิ่งถ้าทั้งผู้สร้าง ผู้ผลิต รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องหรือแม้แต่คนดู คาดหวังให้ละครโทรทัศน์ไทยได้รับชมจากคนดูในต่างประเทศ การช่วยกันให้คำแนะนำ ข้อเสนอแนะ เพื่อยกระดับละครโทรทัศน์ไทย ทั้งด้านคุณค่าและคุณภาพ น่าจะเป็นโจทย์หรือเป้าหมายร่วมกันของคอสื่อละครโทรทัศน์หรือซีรีส์ ไม่ว่าไทยหรือเทศ เมื่อพบเจอคำตอบหรือข้อเสนอ เพื่อบรรลุความต้องการพัฒนาละครโทรทัศน์ไทยแล้ว
การเปรียบเทียบว่าใครดีกว่าหรือแย่กว่า ไทย vs เกาหลีใต้ จะไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไป
ความเห็นล่าสุด