เลือกหน้า

คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประชุมครั้งที่ 1/2566

วันที่ 30 มกราคม 2566 เวลา 09.30 น. ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม              ประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานการประชุม             คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 1/2566

โดยมีคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เข้าร่วมประชุมผ่านระบบ เครือข่ายการประชุมทางไกล Microsoft Team

ณ ศูนย์ประชุมกระทรวงวัฒนธรรม ชั้น 8 อาคารวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

ภาพประกอบ : กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

กองทุนสื่อ ประกาศผลพร้อมมอบรางวัล ประกวดคลิปรณรงค์”หยุดเหยียดเกลียดศาสนา พูดร้ายทำลายกัน”

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงานประกาศผล และมอบรางวัลการประกวดคลิปรณรงค์โครงการ TMF STOP HATE SPEECH CLIP CONTEST หัวข้อ “หยุดเหยียดเกลียดศาสนา พูดร้ายทำลายกัน”  

โดยมี ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้เกียรติเป็นประธาน พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ  ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานของทั้ง 15 ทีม ที่ผ่านเข้ารอบฝ่าด่านการคัดเลือกมาจากผลงานที่ส่งมาทั่วประเทศ  พร้อมชมคลิปรางวัลชนะเลิศจากผลงานผู้ชนะ และร่วมเป็นเกียรติในพิธีมอบรางวัล เมื่อวันอังคารที่ 31 มกราคม 2566 เวลา 09.00 – 12.00 น.  ที่โรงแรมเดอ ไพรม์ รางน้ำ

ดร. ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า โครงการอบรมและประกวดการผลิตคลิปรณรงค์โครงการ TMF STOP HATE SPEECH CLIP CONTEST หัวข้อ “หยุดเหยียดเกลียดศาสนา พูดร้ายทำลายกัน” เพื่อยกระดับการผลิตสื่ออย่างสร้างสรรค์แบบมืออาชีพ  ทั้งยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้ถึงผลร้ายและการรับมือ Hate Speech ในโลกโซเชียล

โดย ผศ.ดร.ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการนวัตกรรมจัดการ นิด้า การผลิตสื่อเกี่ยวกับศาสนาและการรณรงค์ เทคนิคการตัดต่อ โดยมีคุณธนพงษ์ สนองเกียรติ, คุณอุษณะ สมานทรัพย์, คุณพวงเพชร สุพาวาณิชย์,  คุณศิววงศ์ แซ่ล้อ  โปรดิวเซอร์และผู้กำกับการแสดงชื่อดังมาให้ความรู้ ในการคิดสร้างสรรค์สังคมในอนาคตให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้อีกด้วย

ทั้งนี้หลังการอบรมเสร็จสิ้น ผู้เข้าร่วมอบรม ได้ส่งผลงานมาเข้าร่วมประกวด รวมถึงยังได้ผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน คือ

นายนที อณารัตน์ , นายมานัส ทารัตน์ใจ , ผศ.ดร.ศศิธร ยุวโกศล , นางสาวสุรัตนาวี ภัทรานุกุล ,นางวรินรำไพ ปุณย์ธนารีย์ ร่วมตัดสิน

โครงการประกวดคลิปรณรงค์การประทุษวาจาทางด้านศาสนา “TMF Stop Hates Speech Clip Contest หัวข้อ “หยุดเหยียดเกลียดศาสนาพูดร้ายทำลายกัน” จัดขึ้นเพื่อสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับประทุษวาจาและกระตุ้นให้เกิดการเฝ้าระวังปัญหาดังกล่าวในสังคมไทย โดยเฉพาะช่องทางสื่อออนไลน์ ทั้ง Facebook / Twitter / Instragram / Youtube โดยเปิดรับผลงานจากนักเรียน นักศึกษา เครือข่ายศาสนาและประชาชนทั่วไป มีผู้สนใจส่งคลิปเข้าประกวดรวมกว่า 20 ผลงานทั่วประเทศ

ซึ่งในปีนี้  สำหรับผู้ชนะเลิศอันดับที่ 1 รับเงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท ได้แก่ ทีม MOVING IMAGE  
สมาชิกในทีมได้แก่ อรุณกร พิค และ พัชราวดี พิค

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 – 20,000 บาท ได้แก่ นาย ศักดา ศรีสมุทรนาค

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 – 10,000 บาท ได้แก่ ทีม แกงเขียวหวานไก่  สมาชิก นางสาวปนัดดา  มากชิต และ
นายแวมูหาหมัด แวแซ

รางวัลชมเชย 3 รางวัล รางวัลละ 5,000 บาท ได้แก่ 1.นางสาวอัสสียะห์ อาแว, 2.นายทศพร ตุ้ยเล็ก, 3. ทีม Try Again Film สมาชิกในทีม ยุทธการ ศรีเขียวพงษ์, อัครเดช สมศรี, ภัทรมน สุคนธทรัพย์, ธนภัทร บุญธรรม, ธรรมสรณ์ วงศ์สิงห์

กองทุนสื่อเปิดตัวละคร “นักสืบสายรุ้ง Season2” (Finding Joy) สื่อสร้างสรรค์เพื่อก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำในสังคม

 

“นักสืบสายรุ้ง Season 2” (Finding Joy) เดินทางถึงโค้งสุดท้ายในการถ่ายทำ ชูแนวคิดการอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติในพหุวัฒนธรรมและความหลากหลายในสังคม  ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในฐานะหน่วยงานผู้สนับสนุนโครงการ ได้ร่วมเยี่ยมชมการผลิตละคร และย้ำถึงแนวคิดหลักของละครเรื่องนี้ คือการอยู่ร่วมกันในสังคมที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นทางวัฒนธรรม   ชนชั้น คนต่างรุ่น รวมถึงประเด็นการค้ามนุษย์
โดยมีฉากเป็นยุคสมัยหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้นักแสดงมากฝีมือทั้งรุ่นใหญ่รุ่นเล็กร่วมถ่ายทอดเรื่องราว รับประกันความเข้มข้นของโปรดักชั่นจากฝีมือการกำกับของผู้กำกับมืออาชีพคุณนนทรีย์ นิมิบุตร 

(29 ม.ค.2566) ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  ได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมกองถ่าย
“ละครนักสืบสายรุ้ง Season 2 (Finding Joy)”  ผลิตโดย บริษัทแฟลทไฟว์ อินเตอร์ มีเดีย จำกัด บริษัทผู้รับทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ประจำปี 2565 โดย ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อฯ ได้เผยว่าสังคมในวงกว้างจะได้รับทั้งความเพลิดเพลินและประโยชน์จากละครเรื่องนี้ในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (Post Covid-19) ที่ทำให้ประเด็นความเหลื่อมล้ำต่างๆ ในสังคมเกิดขึ้นอย่างชัดเจน

ในขณะเดียวกันละครนักสืบสายรุ้ง Season 2 ยังคงความสนุกสนานและครบรส เป็นสื่อปลอดภัยที่สามารถดูได้ทุกเพศทุกวัย ตัวเนื้อหาของละคร ได้ตอบโจทย์การอยู่ร่วมกันในความแตกต่างในหลายมิติ ทั้งเรื่องของวัฒนธรรมที่หลากหลายในชุมชน การกลั่นแกล้งในรั้วโรงเรียน (Bully) และการทำความเข้าใจเรื่องมาตรฐานด้านความงาม(Beauty standard) ในช่วงวัยรุ่นตอนต้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับเส้นแบ่งความยากจนที่ทำให้เกิดชนชั้นในสังคม  รวมถึงช่องว่างระหว่างวัยที่ก่อให้เกิดความไม่เข้าใจกัน เนื้อหาหลักของละครได้นำเสนอปมขัดแย้งเพื่อคลี่คลายไปสู่การแก้ปัญหาเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

สำหรับงานโปรดักชั่นของละครนักสืบสายรุ้ง Season 2 รับประกันคุณภาพโดยผู้กำกับมากฝีมือ
คุณนนทรีย์ นิมิบุตร ที่กำกับการแสดงมาตั้งแต่นักสืบสายรุ้ง
Season 1  โดยความพิเศษของนักสืบสายรุ้ง Season 2 คือเนื้อหาที่เข้มข้นมากขึ้น มีทีมนักแสดงทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นเล็กอย่างคับคั่ง
เช่น ขวัญฤดี กลมกล่อม
, นรินทร ณ บางช้าง, พศิน เรืองวุฒิ รวมทั้งนักแสดงจาก Season 1
ยังคงร่วมฝากฝีมืออย่างครบทีม ทั้ง ตี๋-ดอกสะเดา (บุญทอง หาญจางสิทธิ์) อีกทั้งยังมี
นักแสดงรับเชิญ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ซึ่งยังเป็นที่ปรึกษาให้กับโครงการฯ ละครเรื่องนี้อีกด้วย
และขาดไม่ได้เลยสำหรับทีมนักแสดงรุ่นเด็ก   “แก๊งนักสืบสายรุ้ง” 
ทั้ง 5 คน    
ด.ญ.แก้วกล้า พิพัฒน์โรจนกมล
, ด.ญ.ศิรินทร์ชญา บุญสุวรรณ, ด.ญ. ธมกร เมอไกวร์,
ด.ช. พงศ์พิสิฏฐ์เพ็ชรโยธิน และ ด.ช. วิกร ธนากรอัครกุล
ร่วมด้วยนักแสดงหน้าใหม่อีกมากมาย

ละครนักสืบสายรุ้ง Season 2(Finding Joy) จึงเป็นละครที่ตอบโจทย์ของสังคมในช่วงเวลานี้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการอยู่ร่วมกันในพหุวัฒนธรรมและความหลากหลายในสังคม ย้ำในเรื่องความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคม โดยมีกำหนดการออกอากาศราวเดือนเมษายน 2566 ซึ่งทีมงานจะประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางหลักของโครงการ ติดตามได้ที่ Facebook Fan page และ ช่อง YouTube นักสืบสายรุ้ง – Rainbow kids series

“คลื่นลูกใหม่ของซีรีส์จีน” บุกตลาดแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งและคนดูรุ่นใหม่ในเอเชีย

การเข้ามาของระบบแพลตฟอร์ม OTT (Over-the-top หมายถึง เนื้อหาจากสื่อรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ วีดิโอ ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น YouTube หรือ Netflix (กฤษณ์ กำจาย, 2564)) ทำให้คนไทยได้รับชมภาพยนตร์ หรือซีรีส์จากนานาชาติได้หลากหลายและมากยิ่งขึ้น บทความจาก กสทช. (2562) เรื่อง “คาดการณ์จำนวนผู้ชมทีวีออนไลน์ OTT เปรียบเทียบสภาพตลาดโลกและ OTT ไทย (2019-2023)” เสนอผลสำรวจจำนวนผู้ชมวิดีโอสตรีมมิ่งแบบ SVOD (Subscription Video on Demand ซึ่งเป็นบริการรับชมคอนเทนต์ ทีวีออนไลน์ แบบเรียกเก็บค่าสมาชิก) อยู่ที่ 1.13 ล้านราย และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.91 ล้านรายในปี 2023 ซึ่งข้อมูลข้างต้นนี้เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มทำให้ตลาดผู้ชมวิดีโอสตรีมมิ่งอาจมีจำนวนมากกว่านี้

ในปี 2563 – 2565 ที่ผ่านมา ตลาดแพลตฟอร์ม OTT มีการแข่งขันกันสูงมากขึ้น ข้อมูลล่าสุดจากเว็ปไซต์ Brand Buffet (2566) พบว่า ในช่วง 3 ปีที่นี้หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย พบว่า ผู้ชมรับชม ทีวี 75% ลดลง 5% (ก่อนโควิด 80%) ออนไลน์ 80% เพิ่มขึ้น 10% (ก่อนโควิด 70%) และสื่อนอกบ้าน (OOH) 35% (ก่อนโควิด 35%) ข้อมูลยังพบว่า คนไทยกว่า 26 ล้านคน หรือคนไทย 1 ใน 3 ดู Video on demand หรือแอพพลิเคชั่น    และวิดีโอสตรีมมิ่งผ่าน OTT ซึ่งจำนวนผู้ชมเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ของ กสทช. ในปี 2562 กว่า 13 เท่า 

ด้วยจำนวนผู้ชมที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ตลาดซีรีส์และภาพยนตร์ในระบบ OTT จึงเริ่มมีการแข่งขันกันสูงและ ด้วยมูลค่าทางการตลาดที่สูงมากขึ้น ข้อมูลจาก Market Think (2565) ระบุ ในปี 2021 ประเมินว่ากลุ่มบริการ Video on demand (เช่น Netflix, LINE TV, Viu, Disney+) มีรายได้รวมอยู่ที่ 11,186 ล้านบาท โดยมูลค่าหลักมาจากการสมัครสมาชิก ขณะที่กลุ่มบริการ Video Sharing (เช่น YouTube, Twitch) ถูกประเมินว่ามีรายได้รวมอยู่ที่ 4,934 ล้านบาท โดยมูลค่าหลักมาจากการเก็บค่าโฆษณา ด้วยมูลค่าส่วนแบ่งการตลาดที่สูง ทำให้หลายประเทศต่างมุ่งหน้าสู่ระบบสตรีมมิ่งทั้งสองรูปแบบ รวมถึง “ซีรีส์จีน” ด้วยเช่นกัน

ในอดีต การแข่งขันของบริการสตรีมมิ่งมักอยู่ระหว่างชาติตะวันตก คือตลาดวิดีโอขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ละตินอเมริกา และ อินเดีย ยกเว้นประเทศจีน ที่มีข้อกำหนดทางด้านกฎหมายทำให้บริษัทต่างชาติไม่สามารถเข้าไปให้บริการได้ แม้ว่าตลาดจีนจะมีกำลังซื้อที่สูง และมีประชากรที่มากที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม ในปี 2020 บริษัทสตรีมมิ่งของจีน เริ่มขยายตลาดไปสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า จำนวนนาทีการรับชมสตรีมมิ่งต่อสัปดาห์ในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และประเทศไทย เพิ่มขึ้นถึง 60% (TV Digital Watch, 2020 ; https://www.tvdigitalwatch.com/special-diney-vs-netflix-2-8-63/)

ซีรีส์จีนดูเหมือนเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดวิดีโอสตรีมมิ่งผ่าน OTT แต่ในความรู้สึกและความทรงจำของผู้รับชมละครชุดจีน หรือซีรีส์ที่ใช้ภาษาจีนทั่ว ๆ ไปในไทยนั้น ต่างมีความคุ้นเคยกับซีรีส์จีนมานานแล้ว โดยหนึ่งในละครชุดจีน ที่หลายคนอาจจะนึกถึงเป็นลำดับแรกๆ ก็คือ  “องค์หญิงกำมะลอ (Princess Returning Pearl) ที่ออกอากาศปี 1998 และได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง โดยมีการสร้างภาคต่อทั้งหมดถึง 3 ภาคในปี 1998, 1999, 2003 และยังมีการหยิบมารีเมกใหม่อีกครั้งในปี 2011 โดยประเทศไทยได้นำเข้ามาฉายออกอากาศทางช่อง 3 ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2542 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 16.25 น. และได้นำกลับมาออกอากาศซ้ำ และออกอากาศจนถึงภาคสาม (จากบทความเรื่อง 10 ซีรีส์จีนระดับตำนาน ที่ได้รับความนิยมทั้งในและนอกประเทศ โดย Sanook (2022) และข้อมูลจากวิกิพีเดีย)

นอกจากองค์หญิงกำมะลอ ยังมีละครชุดจีนอีกหลายเรื่องที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย เช่น ละครชุดตำนานรักดอกเหมย (2536) ที่เป็นการนำละครหลาย ๆ เรื่องมาออกอากาศในช่วงเวลาเดิม จนกลายเป็นชื่อช่วง ต่อเนื่องยาวนานกว่า 20 ปี  รวมทั้งซีรีส์ในตำนานอย่าง รักใสใสหัวใจ 4 ดวง (Meteor Garden หรือ F4) ที่ออกอากาศปี 2001 ทั้งนี้ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ในยุคแรก ๆ นั้นซีรีส์จีนที่ได้รับความนิยมในไทยส่วนใหญ่มักสร้างโดยไต้หวัน หรือฮ่องกง เพราะในเวลานั้นจีนแผ่นดินใหญ่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับตลาดของซีรีส์หรือภาพยนตร์เท่าที่ควร จนกระทั่งจีนแผ่นดินใหญ่เริ่มพัฒนาแพลตฟอร์ม OTT อย่าง WeTV และบุกเข้าตลาดไทยในปี 2562 ตั้งแต่ช่วงนั้นเป็นต้นมา ซีรีส์จีนแผ่นดินใหญ่ก็ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น และจากข้อมูลในโลกออนไลน์ พบว่าในช่วงปี 2558 เป็นต้นมา ซีรีส์ไต้หวันได้รับความนิยมน้อยลงเพราะความน่าเบื่อของเนื้อหา และขาดความสนุกสนานของเนื้อเรื่อง (บทความเรื่อง 10 ซีรีส์จีนระดับตำนาน ที่ได้รับความนิยมทั้งในและนอกประเทศ โดย Sanook (2022) และ Market Think, 2021 ; https://www.marketthink.co/17602)

“ในปัจจุบันอุตสาหกรรมบันเทิงจีนมีการพัฒนาอย่างมากด้วยรัฐบาลจีนสนับสนุนอย่างเต็มที่ผ่านกลยุทธ์รุกตลาดโลกด้วยวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ซึ่งจากการผลักดันนี้ทำให้ซีรีส์จีนคนเริ่มนิยมไปทั่วโลก” (ภากร กัทชลี (อ้ายจง), 2565)

อุตสาหกรรม“บันเทิงจีน”มีการพัฒนาเป็นอย่างมากภายใต้การสนับสนุนจากทางรัฐบาลจีนในรูปแบบของ Creative Cultural Industry อุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ โดยเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมบันเทิง การผลิตซีรีส์ และภาพยนตร์จีน  แนวทางหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ พัฒนาและส่งออกไปสู่นอกประเทศจีน แต่ยังคงอยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมและความเป็นจีน (ภากร กัทชลี (อ้ายจง), 2565) จนมาถึงปรมาจารย์ลัทธิมาร (The Untamed) ออกอากาศปี 2019 ที่สร้างกระแสไปทั่วโลก ถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปฉายในประเทศทั่วเอเชีย และ Netflix ซื้อลิขสิทธิ์ไปสตรีมเกือบทุกประเทศทั่วโลก ครอบคลุมไปถึงทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย รวมถึงประเทศไทย-ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ไม่ว่าจะทั้งชื่อซีรีส์หรือนักแสดง ล้วนติดเทรนด์อันดับ 1 ในทวิตเตอร์ไทย (Sanook, 2022 ; https://www.the1.co.th/en/the1today/articles/3372)

ละครโทรทัศน์จีนแผ่นดินใหญ่  มีความคล้ายคลึงกับละครโทรทัศน์ในอเมริกาเหนือแต่มักจะมีจำนวนตอนที่มากกว่า จีนผลิตละครโทรทัศน์มากกว่าประเทศอื่น ๆ คือ มีจำนวนมากกว่า 15,000 ตอน ในปี 2014 ประเภทของละครที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศจีนคือ โรแมนติก – แฟนตาซี โดยมี 47 จาก 50 เรื่องที่มีคนดูมากที่สุดในประเทศ ในปี 2016 ละครโทรทัศน์ของจีนเป็นที่นิยมและออกอากาศทางทีวีทั่วเอเชีย โดยเฉพาะใน เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา และกัมพูชา (Wikipedia, nd. ; https://th.wikipedia.org/wiki/ละครโทรทัศน์จีน)

จุดเริ่มต้นที่ทำให้ซีรีส์จีนและประเทศภายใต้การปกครองโดยจีน เริ่มได้รับความนิยมในประเทศไทยมากขึ้น มาจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในประเทศจีน ทำให้รัฐบาลจีนมีนโยบายลดการผลิตซีรีส์ย้อนยุคลง และเพิ่มซีรีส์แนวสมัยใหม่ขึ้น เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ทันสมัย และเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมจีนในปัจจุบันให้เป็นสากล ในปี 2018 ที่ผ่านมา มีซีรีส์จีนถูกผลิตออกมารวมกว่า 962 เรื่อง ในขณะที่ปี 2019 ลดลงเหลือ 784 เรื่อง โดยซีรีส์ส่วนใหญ่ที่ถูกลดลง จะเป็นแนวย้อนยุค ส่วนซีรีส์ที่เพิ่มเข้ามาแทนคือ แนวคนเมือง, รักวัยรุ่น, สายอาชีพต่างๆ รวมทั้งซีรีส์รีเมก และในปัจจุบันมีช่องทางออนไลน์ต่างๆ เกิดขึ้นเพื่อให้คนไทยได้รับชมซีรีส์จีนโดยเฉพาะ เช่น WeTv แอป Video Streaming ของบริษัท Tencent ประเทศไทย หรือช่อง Mango TV บน YouTube (Market Think, 2019 ; https://www.marketthink.co/520)

บทความเรื่อง “เจาะลึก! ซีรีส์จีน วัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-จีน ด้วยแว่นทฤษฎี Cultural Soft Power” โดย ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ นักวิจัยด้านวัฒนธรรม ความมั่นคงใหม่ และอุตสาหกรรมบันเทิงระหว่างประเทศ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ปรากฏการณ์ความนิยมซีรีส์จีนเริ่มเด่นชัดในสังคมไทยช่วงต้นทศวรรษ 2560 เป็นต้นมา โดยข้อมูลเชิงสถิติพบว่าบริการของ WeTV Thailand ปี พ.ศ. 2564 สามารถสร้างยอดผู้ใช้งานต่อเดือนที่ 13 ล้านคน มีผู้ใช้งานต่อวันเพิ่มขึ้น 13% ราว 2 ใน 3 เป็นผู้ใช้งานเพศหญิง การชมคอนเทนต์จากประเทศจีนโดยเฉพาะซีรีส์เติบโตสูงถึง 137% บ่งบอกความนิยมซีรีส์จีนในหมู่ผู้ชมหญิง ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการฉายเนื้อหาเกี่ยวกับความรักและ/หรือการเป็นคอนเทนต์แบบซีรีส์วาย แต่ผู้ชมชายจะเลือกบริโภคงานกลุ่มกำลังภายในโดยเฉพาะงานที่ดัดแปลงมาจากบทประพันธ์คลาสสิกของ Jin Yong และ Gu Long (กรุงเทพธุรกิจ, 2565 ; https://www.bangkokbiznews.com/social/1000497)

นอกจากเนื้อหาของซีรีส์จีนที่ส่งผลให้คนไทยเลือกชม แล้ว คนไทยบางกลุ่มเสนอว่า รูปลักษณ์แบบจีนคือความน่าใฝ่ฝัน ต่างจากในอดีตซึ่งรูปลักษณ์อย่างตะวันตกเป็นที่นิยมมากกว่าจนนักแสดงสายเลือดตะวันตกได้รับโอกาสในวงการบันเทิงไทย สำหรับมิติทางวัฒนธรรม ชาวจีนเคยถูกค่อนขอดว่า ขาดมารยาทสากล ไร้วินัย แต่เมื่อเวลาผ่านไป การสนทนาในหลายฟอรั่มเริ่มเจือพื้นที่ให้กับความแปลกใหม่ด้านศิลปวัฒนธรรม (กรุงเทพธุรกิจ, 2565 ; https://www.bangkokbiznews.com/social/1000497) ด้วยนักแสดงไทยในปัจจุบันมีความนิยมลูกครึ่งหรือมีหน้าตาคล้ายคนตะวันตก ทำให้ซีรีส์จีนที่มีรูปลักษณ์ไม่เหมือนซีรีส์เกาหลีใต้หรือตะวันตก กลายเป็นความน่าใฝ่ฝันของกลุ่มผู้ชมไทย

ทั้งนี้วัฒนธรรมไทยและจีนที่มีการถ่ายทอดมาอย่างยาวนาน จากที่ไทยและจีนมีสัมพันธไมตรีและติดต่อค้าขายระหว่างกันมาช้านานกว่า 700 ปี ส่งผลให้วัฒนธรรมและประเพณีของจีนผสมผสานกับของไทยจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีคนเชื้อสายจีนอยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้คนไทยและคนจีนมีความใกล้ชิดคุ้นเคยกันดั่งเครือญาติ จนมีคำกล่าวว่า “จีน-ไทย ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” (สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง, มปป. ; https://thaiembbeij.org/th/republic-of-china/thai-relations-china/) ทำให้บทบาทของซีรีส์จีนในการสร้างอิทธิพลทางวัฒนธรรมพร้อมกับป้อนทัศนะเชิงบวกตามหลักทฤษฎีอิทธิพลของภาพยนตร์และ Cultural Soft Power ซีรีส์ช่วยสร้างภาพจำใหม่ ๆ ผ่านองค์ประกอบอย่างความงามทางวัฒนธรรม บทประพันธ์ และความน่าหลงใหลของตัวละคร (กรุงเทพธุรกิจ, 2565 ; https://www.bangkokbiznews.com/social/1000497)

หลังจากที่ซีรีส์จีนได้รับความนิยมในประเทศไทยมากขึ้น มุมมองคนไทยต่อประเทศจีนก็เปลี่ยนไป จากเดิมที่มีการมองจีนเป็นชาติด้อยอารยธรรมหรือ กระหายในผลประโยชน์ผู้ชมเริ่มพูดคุยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีนมากขึ้นพร้อมเสนอบทวิเคราะห์เจาะลึกซึ่งทำให้ผู้ร่วมสนทนาได้เห็นวิถีความเป็นจีน  ความต้องการเรียนภาษา รู้วัฒนธรรมจีนในกลุ่มประชากรรุ่นใหม่ก็เป็นอีกปรากฏการณ์สืบเนื่องมาจากการชมซีรีส์ จากเดิมที่เชื่อว่า ภาษาจีนคือโอกาสทางเศรษฐกิจ ผู้เรียนกลับเลือกเรียนด้วยความรู้สึกชมชอบเป็นการส่วนตัว ซีรีส์จีนมีส่วนสำคัญในการช่วยละลายกำแพงระหว่างไทย-จีน รวมทั้งอคติหลายอย่างให้ลดเลือนไป ความหวาดกลัวจีนในทางการเมืองก็เบาบางลงอย่างที่เห็นในการใส่ความจีนเรื่องการเป็นต้นตอวิกฤตโควิด-19 ผู้ชมจำนวนไม่น้อยหันไปติดตามข่าวสารเกี่ยวกับจีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยีอวกาศ พัฒนาการคอมพิวเตอร์ การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ การค้า/การลงทุน สิ่งแวดล้อม ฯลฯ การมองจีนในมุมใหม่ยังมาจากเนื้อหาซีรีส์ที่พยายามสะท้อนความเป็นมืออาชีพของชาวจีนในการยกระดับตนเอง (ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์, 2565)

ไม่ว่าจะเป็นทั้งความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมระหว่างไทย-จีน หรือการเล่าเรื่องชวนให้ผู้ชมรู้สึกอบอุ่น รู้สึกประทับใจในความสู้ชีวิตของชาวจีนแล้ว ฝีมือการแสดงของผู้เล่นทุกคนก็สะดุดตา การลงทุนด้านฉาก จำนวนผู้แสดง ชุดเสื้อผ้า อุปกรณ์ประกอบฉาก/การแสดง การจัดแสงของซีรีส์จีน ล้วนทำให้ซีรีส์จีนได้ความนิยมเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้แล้วการเลือกเปิดรับชมซีรีส์ไม่ว่าจะเป็นชาติใดก็ตาม ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบส่วนบุคคลของผู้ชมแต่ละคน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าซีรีส์จีนได้กลายมาเป็นผู้เล่นในตลาดสตรีมมิ่งที่มีความน่ากลัว เพราะการพัฒนาทั้งด้านเนื้อหาทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตร่วมสมัย รวมทั้ง เทคนิค องค์ประกอบต่างๆ และคุณภาพการแสดง ทำให้ซีรีส์จีนขึ้นมาตีคู่กับซีรีส์นานาชาติได้ การศึกษาการพัฒนาซีรีส์จีนจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ หากซีรีส์ไทยคิดจะเข้าสู่สนามแข่งขันนี้ เพื่อเป็นซีรีส์ชั้นนำของโลก โดยใช้โมเดลของนานาชาติเป็นฐานในการสร้างอนาคตของซีรีส์ไทยที่มีคุณภาพ สู่ตลาดสากล

กองทุนจัดอบรมบุคลากรเพื่อเตรียมความพร้อมในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส (ITA)

 23 มกราคม 2566 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
จัดอบรมบุคลากรเพื่อเตรียมความพร้อมในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส (ITA)
โดยได้รับเกียรติจากคุณชนิดา อาคมวัฒนะ จากสำนักงาน ปปช.มาเป็นวิทยากร
ทั้งนี้ สำนักงานกองทุนมุ่งหวังให้การปฏิบัติงานตามมาตรฐาน ITA เป็นวัฒนธรรมองค์กรของกองทุน
ที่บุคลากรทุกฝ่ายพร้อมใจกันปฏิบัติด้วยความเต็มใจ ทำแล้วมีความสุข เกิดความยั่งยืน