เลือกหน้า

เรียนรู้กฎหมายฉบับคนรุ่นใหม่ สู้ภัยกลโกงมิจฉาชีพ เพื่อจะไม่เสีย “ฆ่าโง่”

(18 มกราคม 2566) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับรายการ “ฆ่าโง่”
โดยบริษัท เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
จัดกิจกรรมเสวนาด้านกฎหมายภายใต้หัวข้อ “กฏหมายฉบับคนรุ่นใหม่ สู้ภัยกลโกงมิจฉาชีพ”
ณ Auditorium Room 1 ชั้น 14 อาคาร 11 มหาวิทยาลัยศรีปทุม บางเขน

รวมถึงผ่านช่องทางออนไลน์ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์และ TERO Digital เพื่อให้ความรู้ทางกฎหมายแก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้รู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพในปัจจุบันที่มีหลากหลายรูปแบบ และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า

“สื่อ” เป็นเครื่องมือที่มีพลังอย่างมาก แต่ท้ายที่สุดแล้วสื่อนั้นอยู่ได้ด้วยเงิน
และวิธีการซึ่งนำมาซึ่งเงิน คือ การเรียกเรตติ้ง ให้สูง ๆ ซึ่งวิธีการอาจจะไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกต้อง
เช่น การนำเสนอความรุนแรง ทำให้ทุกวันนี้สื่อที่ถูกผลิตออกมาจึงมีอยู่มากมายเต็มไปหมด ตามความต้องการของตลาดหรือนายทุน แต่คำถามคือ สื่อเหล่านั้นได้สร้างให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม หรือทำให้เราได้ตระหนักรู้ถึงหน้าที่ของการเป็นพลเมืองที่ดีหรือไม่ อย่างไร

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงเปรียบเสมือนสะพานที่เชื่อมระหว่างเยาวชนคนรุ่นใหม่
กับการสร้างสรรค์สื่อที่ปลอดภัย และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ภายในสังคม ตั้งแต่ระดับจุลภาค ไปจนถึงระดับมหภาค

โดยใช้ “สื่อ” เป็นเครื่องมือ เพื่อทำให้สังคมที่เราอยู่มีการพัฒนาไปในทางที่ดียิ่งขึ้นไป

ทนายสงกาญ์ อัจฉริยะทรัพย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม
ได้ตอบคำถามและให้ความรู้ทางกฎหมายแก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนภายในงานเสวนา และกล่าวเพิ่มเติมว่า
หัวใจสำคัญของการผลิตสื่อ ต้องผลิตให้เข้าใจง่าย และการเป็นนักศึกษากฎหมายเองก็สามารถผลิตสื่อขึ้นมาได้
เพียงสั้น ๆ 2-3 นาที เพื่อประโยชน์ของสังคมต่อไป

ผศ.เจียมจิต สุวรรณน้อย คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
กล่าวว่า ทางคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม มีช่องทางช่วยเหลือสังคม 2 ด้าน
ด้านแรกคือการใช้บุคลากรทำงานอยู่ภายใน ให้บริการและความช่วยเหลือแก่ประชาชนทางกฎหมาย โดยสามารถเข้ามาปรึกษากับคลินิกกฎหมายของมหาวิทยาลัยได้

อีกด้านหนึ่งคือการให้บุคลากรภายในมหาวิทยาลัย ให้ความรู้และพูดคุยกับประชาชนผ่านเฟซบุ๊ก “คลินิกกฎหมายศรีปทุม” นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกและชุมชนอีกด้วย
‘การเสพสื่อในยุคปัจจุบันมีความต่างจากเดิมมาก ข่าวทุกอย่างอยู่บนมือของทุกคน โดยข่าวสารเหล่านั้น
มีทั้งส่วนดีและไม่ดี ในการใช้สื่อที่ถูกต้อง ต้องมีการระมัดระวัง ใช้วิจารณญาณ ติดตามข่าวสารอยู่เสมอ
ไม่เพียงเฉพาะสื่อบันเทิงเท่านั้น เพื่อเป็นเกราะป้องกันของตนเอง’

ด้าน ผศ.ดร. ช้องนาง วิพุธานุพงษ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กข่าวเสริมว่า การที่เราจะรอดพ้นจากการเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ หรือการเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง คือ เราต้องมีสติอยู่ตลอดเวลาขณะใช้สื่อออนไลน์

ทั้งนี้ สามารถติดตามชมรายการ “ฆ่าโง่” ทุกวันจันทร์-ศุกร์
เวลา 11.15-11.25 น. ทางช่อง 7HD และช่องทางออนไลน์ของ TERO Digital

กองทุนสื่อ เชิญชวนเข้าร่วมอบรม และผลิตคลิปสร้างสรรค์ ชิงเงินรางวัลโครงการ “ค่ายเยาวชนไทยรู้เท่าทันสื่อ”

(12 มกราคม 2566)  กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (THAI MEDIA FUND) จัดแถลงข่าว การประกวดสื่อสร้างสรรค์ สำหรับกลุ่มมัธยมศึกษา
ภายใต้หัวข้อ “ ค่ายเยาวชนไทยรู้เท่าทันสื่อ ” (
Digi Camp) โดย นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รองประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้เกียรติร่วมแถลง

นายอิทธิพล คุณปลื้ม กล่าวว่า การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมช่วยดูแล โดยภัยร้ายที่แฝงมากับสื่อและเทคโนโลยีการสื่อสารรูปแบบใหม่ เป็นอีกเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังและใส่ใจ  ดังนั้นคงจำเป็นที่ต้องเพิ่มทักษะความเข้าใจ ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีอย่างปลอดภัย

สามารถใช้สื่อในการดูแลตนเอง และสังคมต่อไป ‘ทุกวันนี้ผู้คนใช้ชีวิตอยู่กับการสื่อสารผ่านสื่อดิจิทัล ซึ่งสื่อออนไลน์มีกระบวนการทำงานที่ ซับซ้อนและยาก

ต่อการควบคุม การจัดการกับข้อมูลเพื่อให้มีเนื้อหาที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง เด็กและเยาวชนจึงกลายเป็นกลุ่มเปราะบางที่อาจได้รับผลกระทบเชิงลบ

จากการเปิดรับข้อมูลข่าวสารในชีวิตประจำวัน’  เพื่อส่งเสริมทักษะให้เด็กและเยาวชนมีทักษะการรู้เท่าทันสื่อ เพื่อรับมือกับข้อมูลข่าวสารที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม พร้อมกับส่งเสริมการใช้สื่อเป็นช่องทางในการศึกษาเรียนรู้ทักษะในการเข้าถึงสื่อ และสามารถ วิเคราะห์ ประเมินสื่อ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.ธนกร ศรีสุขใส กล่าวว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างคนให้เป็นบุคลากรที่ดีและมีคุณภาพ สร้างสื่อ สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการรับสื่อที่เป็นอันตราย กองทุนฯ เป็นเพียงผู้เริ่มต้นแต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการผลักดันให้เกิดสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์

โครงการค่ายเยาวชนไทยรู้เท่าทันสื่อ เป็นโครงการที่ต้องการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชน เนื่องจากในสังคมปัจจุบันทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อได้อย่างง่ายดาย จึงจำเป็นต้องมีภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน ตามยุทธศาสตร์ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

โครงการนี้เกิดขึ้นเพราะต้องการให้เกิดทักษะในโลกยุคใหม่ อีกทั้งยังเปิดพื้นที่ เพิ่มโอกาสในการแสดงออก และนำเสนอผลงาน สนับสนุนให้ทุกคนเรียนรู้ และพัฒนาตนเอง โดยมีการจัดอบรมทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมมีทักษะการรู้เท่าทันสื่อ และผลิตผลงานที่สร้างแรงบันดาลใจเป็นสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ของสังคม

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจ สามารถส่งผลงานการผลิตคลิปสร้างสรรค์ ภายใต้หัวข้อ “ค่ายเยาวชนไทยรู้เท่าทันสื่อ” (Digi Camp) ความยาว 3-5 นาที
ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวม 420,000 บาท  โดยโครงการฯ เริ่มเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าร่วมค่ายเยาวชนไทยรู้เท่าทันสื่อ
พร้อมส่งผลงานเข้าประกวดตั้งแต่วันนี้ – 13 กุมภาพันธ์ 2566  โดยมีคณะกรรมการ คัดเลือก 30 สุดยอดผลงาน เพื่อลุ้นรางวัลชนะเลิศ ในเดือนเมษายน 2566 นี้

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ Facebook : Digi Camp หรือสามารถสอบถามได้ที่เบอร์ 093-525-7090 , 063-994-4434

ลิขสิทธิ์ ความสร้างสรรค์ และความเป็นธรรมของคนทำเพลง

25 ธันวาคมของทุกปีเป็นช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองเทศกาล “คริสต์มาส” และที่มักมาพร้อมกับเทศกาลนี้คือบทเพลงในตำนาน “All I Want For Christmas Is You” ของ Mariah Carey ที่สามารถขึ้นชาร์ตเพลงอันดับ 1 ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสแทบทุกปี จนหลายคนเรียกเพลงนี้ว่าเป็นเพลงบำนาญตลอดกาลของ Mariah Carey ข้อมูลจาก Celebrity Net Worth (CNW) เว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลสินทรัพย์และกิจกรรมทางการเงินของเหล่าคนดัง เปิดเผยว่าในเดือนธันวาคมของทุก ๆ ปี Mariah Carey ทำเงินจากลิขสิทธิ์เพลง All I Want For Christmas Is You ราว 600,000-1,000,000 เหรียญสหรัฐ หรือราว 20-40 ล้านบาท (Kingploy Nathomtong, 2022)

ในบ้านเรา เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ที่ผ่านมา “เต็งหนึ่ง คณิศ” หนึ่งในสมาชิกบอยแบรนด์วง B.O.Y. ได้ออกมาโพสต์ข้อความทวิตเตอร์ บอกว่าตนได้รับส่วนแบ่งลิขสิทธิ์เพลงจากค่ายเพลง GMM GRAMMY ซึ่งหลังจากแบ่งกับสมาชิกในวงทั้ง 4 คนแล้ว ได้ค่าลิขสิทธิ์เพลงจำนวน 74 บาท !!

จากกรณีส่วนแบ่งลิขสิทธิ์เพลงของนักร้องในประเทศไทยข้างต้น เห็นได้ว่าสัดส่วนค่าตอบแทนที่แตกต่างกันมากกับนักร้องในระดับสากลที่มีตลาดผู้ฟังมากกว่า แต่ที่สำคัญคือ อาจมีการจัดการด้านค่าตอบแทนของผลงานหรือมูลค่าลิขสิทธิ์ที่แตกต่างกัน

ความหมายของ “ลิขสิทธิ์เพลง” หมายถึงผลงานที่เกิดจากการใช้สติปัญญา ความรู้ ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นหนึ่งขึ้นมา โดยที่ไม่ได้ลอกเลียนงานสร้างสรรค์ของผู้อื่น จึงถือว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอีกประเภทหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 โดยลิขสิทธิ์จะให้สิทธิ์แก่เจ้าของแต่เพียงผู้เดียว โดยมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ ที่เกี่ยวกับงานเพลงที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นมา ดังนี้ (ZORT, 2022)

  1. ทำเพลงซ้ำหรือดัดแปลง
  2. อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิเพลงได้
  3. ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์ผู้อื่น
  4. นำมาสตรีมหรือเผยแพร่เพลงต่อสาธารณะ
  5. ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานเพลงให้บุคคลอื่น

“ลิขสิทธิ์เพลง” เป็นข้อถกเถียงในเรื่องของการจัดสรร แบ่งปัน และความเป็นธรรม บทความเรื่อง หนุนเดินหน้าร่าง พ.ร.บ. แก้ปัญหา “ลิขสิทธิ์เพลง” จัดสรร-แบ่งปัน-เป็นธรรม โดย ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “เมื่อศิลปินนักร้องนักดนตรีที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากผลงานเพลงในอดีต เมื่อย้ายสังกัดหรือเป็นศิลปินอิสระ จะไม่สามารถนำเพลงที่เคยโด่งดังในอดีตกลับมาร้องได้อีก เพราะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของเจ้าของค่ายเพลงหรือนักแต่งเพลงนั้น ๆ”

ตัวอย่างเช่น ตั๊กแตน ชลดา และใบเตย อาร์สยาม ที่ไม่สามารถนำเพลงของตนเองมาร้องได้ โดย “เอ ศุภชัย ศรีวิจิตร” ได้ซื้อลิขสิทธิ์เพลงมาให้ตั๊กแตน ชลดา ซึ่งเป็นการเช่าซื้อ 1 ปี  ในขณะที่ใบเตย อาร์สยาม ตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์ทุกเพลงจาก “อาร์สยาม” มาเป็นเจ้าของเพียงผู้เดียว (ผู้จัดการออนไลน์, 2565)   ซึ่งต่างจากกรณีของปาน ธนพร ที่เคยขอลิขสิทธิ์เพลงที่ตัวเองเคยร้องเพื่อมาใช้ในคอนเสิร์ต แต่ทางอดีตต้นสังกัดของปานไม่อนุญาต จึงไม่สามารถนำมาร้องได้ (ผู้จัดการออนไลน์, 2560)

โดยทั่วไปแล้ว การละเมิดลิขสิทธิ์ มี 2 ลักษณะคือ

  1. การละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรง ได้แก่ การทำซ้ำโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของลิขสิทธิ์ รวมถึงการห้ามมิให้ดัดแปลง หรือเผยแพร่สิ่งบันทึกเสียง ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาต
  2. การละเมิดสิทธิ์โดยอ้อม คือ การกระทำทางการค้าหรือการกระทำการที่มีส่วนสนับสนุนให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์

ศิลปินนักร้องบางคนมีหน้าที่ร้องอย่างเดียว ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในการแต่งเนื้อร้องหรือทำนองเลย เป็นแค่คนที่เจ้าของค่ายจ้างให้มาร้องเพลงเท่านั้น ดังนั้น ลิขสิทธิ์เพลงจึงเป็นของเจ้าของค่ายเพลง ส่วนถ้าศิลปินนักร้องอยากร้องเพลงตัวเอง ก็ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์เสียก่อน ไม่เช่นนั้นอาจจะมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์เพลงได้ (บทความเรื่อง “ไขข้อข้องใจทุกข้อสงสัย ลิขสิทธิ์เพลง เรื่องใกล้ตัวทุกคนควรรู้ !!” จากเว็ปไซต์ ZORT, 4 สิงหาคม 2565)

การแบ่งสรรปันส่วนรายได้จากลิขสิทธิ์เพลงในประเทศไทยนั้นยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาความเป็นไปได้ และการหารือเรื่องความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โดย พรบ. ฉบับใหม่ที่ทำการร่าง ควรจะจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมา 1 หรือ 2 องค์กรเพื่อดูแลลิขสิทธิ์เหล่านี้โดยเฉพาะ ไม่ใช่มีองค์กรหลายสิบองค์กรที่วิ่งแสวงหาประโยชน์ด้านลิขสิทธิ์อย่างในปัจจุบัน และองค์กรที่จัดตั้งขึ้นต้องเป็นองค์กรอิสระที่จัดสรรปันส่วนในเรื่องของผลประโยชน์ให้กับทั้งค่ายเพลง นักแต่งเพลง ศิลปิน (ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล, 2565)

ก่อนหน้านี้ในปี 2558 ในบทความเรื่อง “ลิขสิทธิ์เพลง” พื้นที่สีเทาของการคอร์รัปชัน? ได้กล่าวถึงค่าย Black Sheep ที่ตอนนั้นอยู่ในเครือของ Sony Music

““5+5” คือโมเดลที่ค่ายนี้ใช้ตกลงผลประโยชน์กัน ซึ่งหมายความว่าต้องแบ่งออกเป็น “5 ปีแรก” กับ “5 ปีหลัง” โดยในช่วง 5 ปีแรก ทางค่ายเพลงนั้น ๆ มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดการมาสเตอร์เพลง ส่วนช่วง 5 ปีหลัง เรียกว่าศิลปินและค่ายเพลงถือร่วมกัน โดยรวมแล้ว ลิขสิทธิ์เพลงจะถืออยู่กับค่ายประมาณ 10 ปี หลังจากนั้นลิขสิทธิ์ทุกอย่างจะคืนกลับมายังศิลปิน ยกเว้นตัวมาสเตอร์ของเพลงที่ยังเป็นของค่ายไปตลอด” (ผู้จัดการออนไลน์, 2558)

แม้ปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์เพลงยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอน และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ในฐานะผู้ฟัง หรือผู้เสพสื่อเพลงเอง ก็ต้องเข้าใจประเด็นการนำเพลงมาใช้เช่นเดียวกัน และต้องไม่ลืมเรื่องของลิขสิทธิ์และการเคารพทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ผลิต โดย มนต์ทิพา วิโรจน์พันธุ์ เจ้าของบทความเรื่อง ศิลปินควรปกป้องสิทธิ์งานดนตรีของตัวเองอย่างไร? ระบุไว้ว่า “การกระทำที่ไม่ได้รับการยินยอมหรือขออนุญาตจากเจ้าตัว หรือต้นสังกัดที่มีข้อตกลงกับตัวศิลปินอยู่ จริง ๆ แล้วก็เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของพวกเขาเอง”

ปัจจุบันระบบของสื่อออนไลน์หลายแหล่งเข้ามามีบทบาทสำคัญในการควบคุมหรือรักษาสิทธิ์ให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์เพลง “ในช่วงล็อกดาวน์ COVID-19 ที่ผ่านมา เราอาจจะเคยเห็นดีเจมา Live stream เปิดเพลงให้เราฟังกันสด ๆ แต่พอฟังไปได้สักพักก็ถูกตัดจบไปแบบดื้อ ๆ นี่คือส่วนหนึ่งในกระบวนการที่ช่วยรักษาสิทธิ์ให้กับเจ้าของเพลงที่อาจถูกนำไปเผยแพร่ หรือสร้าง Engagement ทำกำไรได้ในอนาคต เพราะช่วงนี้ Facebook มีนโยบาย Monetize เช่นเดียวกับสตรีมมิงอย่าง YouTube หรือ Twitch ที่เปลี่ยนยอดวิวมาเป็นเงินได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นระบบที่แจ้งให้ทราบว่า คุณกำลังใช้ลิขสิทธิ์เพลงของคนอื่นอยู่ในการเปิดเพลง โดยปกติถ้ามีปัญหานี้เกิดขึ้น เจ้าของลิขสิทธิ์เองสามารถแจ้ง Distributor ให้เอาออกให้ได้” (มนต์ทิพา วิโรจน์พันธุ์, 2563)

ในยุคนี้การสนับสนุนศิลปินนักร้องที่ชื่นชอบนั้น ผู้ฟังทุกคนต้องมีความเข้าใจในเรื่องของลิขสิทธิ์เพลง และต้องเคารพผู้สร้างสรรค์ การสนับสนุนจึงรวมไปถึงการไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ โดยการอ้างเหตุผลรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ในการลอกเลียน เผยแพร่ หรือดัดแปลงเพลงด้วยวิธีการใด ๆ ก็ตามที่ขาดความยินยอมจากเจ้าของลิขสิทธิ์

นอกจากการไม่ละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยผลักดันวงการเพลงไทยคือ การพัฒนาระบบให้ผลตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อแก่ผู้สร้างสรรค์งานเพลง  รวมไปถึงนักร้องซึ่งอาจไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการแต่งเพลง แต่มีบทบาททำให้เพลงดังกล่าวได้รับความนิยมหรือเป็นที่รู้จัก ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการต่อยอดการสร้างสรรค์ และพัฒนาวงการเพลงของไทยให้ทัดเทียมกับวงการเพลงนานาชาติ

ปัจจุบันต้องยอมรับว่าศักยภาพงานสร้างสรรค์ด้านเพลงและดนตรีของศิลปินไทยไม่ได้น้อยไปกว่าต่างชาติ หากแต่วงการเพลงของไทยยังขาดแรงสนับสนุนที่ดี ที่จะผลักดันผลงานเพลงให้ประสบความสำเร็จทั้งด้านความคิดสร้างสรรค์ ความนิยม ลิขสิทธิ์ และรายได้ โดยเฉพาะการขยายคนฟังในต่างประเทศ ซึ่งก็มีนักร้องของไทยที่ทำได้แล้ว เช่น SPRITE และ GUYGEEGEE ที่มีผลงานขึ้นชาร์ตบิลบอร์ด (BillBoard Chart) ชาร์ตจัดอันดับเพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก หรือกรณีของลิซ่านักร้องชาวไทยที่ประสบความสำเร็จในฐานะสมาชิกเกิร์ลกรุ๊ปของเกาหลีที่โด่งดังระดับโลก ความสำเร็จดังกล่าว ต้องสนับสนุนโดยหลายองค์ประกอบ ทั้งหน่วยงานภาครัฐในบทบาท เช่น ด้านข้อกฎหมาย ด้านการกำหนดยุทธศาสตร์ขยายตลาดผลงานเพลงของไทย โดยร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ธุรกิจเพลง เจ้าของแพลตฟอร์มระบบสตรีมมิ่ง สถาบันการศึกษาด้านเพลงและดนตรี ฯลฯ รวมถึงผู้บริโภค ที่นอกจากชื่นชอบ ชื่นชมแล้ว ยังต้องเข้าใจในสิทธิ ในผลประโยชน์จากผลงาน ทั้งต้องเคารพลิขสิทธิ์ทางความคิดสร้างสรรค์ซึ่งไทยก็มีนักร้องที่มีความสามารถไม่ต่างจากนานาประเทศ

 

อ้างอิง

– Kingploy Nathomtong. 2022. All I Want For Christmas Is You เพลงบำนาญตลอดกาลของ Mariah Carey ทำเงินเฉียด 40 ล้านทุกปี. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 ที่ https://workpointtoday.com/how-much-does-mariah-carey-earn-from-all-i-want-for-christmas/.

– ZORT. 2022. ไขข้อข้องใจทุกข้อสงสัย ลิขสิทธิ์เพลง เรื่องใกล้ตัวทุกคนควรรู้ !!. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 ที่ https://zortout.com/blog/music-copyright.

– ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล. 2565. หนุนเดินหน้าร่าง พ.ร.บ. แก้ปัญหา “ลิขสิทธิ์เพลง” จัดสรร-แบ่งปัน-เป็นธรรม. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 ที่ https://www.thansettakij.com/news/general-news/548721

– ผู้จัดการออนไลน์. 2565. ร้องไม่ถึง 7 คำ ก็อาจ “ละเมิดลิขสิทธิ์” ได้! ดรามาร้อน “เพลงตั๊กแตน” แค่เช่าซื้อ ไม่ได้ขายขาด. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 ที่ https://mgronline.com/entertainment/detail/9650000073435

– ผู้จัดการออนไลน์. 2560. ไม่ใช่ไม่ขอ แต่ขอแล้วไม่ให้!! “เจ๊ฉอด” เปิดใจทำไม “ปาน” ถึงไม่ร้องเพลงของตัวเอง. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 ที่ https://mgronline.com/entertainment/detail/9600000051243

– ผู้จัดการออนไลน์. 2558. “ลิขสิทธิ์เพลง” พื้นที่สีเทาของการคอร์รัปชัน?. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 ที่ https://mgronline.com/live/detail/9580000070627

– มนต์ทิพา วิโรจน์พันธุ์. 2563. ศิลปินควรปกป้องสิทธิ์งานดนตรีของตัวเองอย่างไร?. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 ที่ https://www.creativethailand.org/new/article/howto/32610/th#musicMP3