เลือกหน้า

“ร้อยเอ็ด สถานที่แห่งความทรงจำ” คว้ารางวัลชนะเลิศ โครงการสร้างสรรค์ไทย ปี 2

(16 มีนาคม 2566)  นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รองประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พร้อมด้วย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แถลงข่าวผลการประกวดสื่อสร้างสรรค์สําหรับเด็กและเยาวชนในหัวข้อ “เยาวชนสร้างสรรค์สื่อ
สื่อสร้างสรรค์วัฒนธรรม” ภายใต้โครงการ สร้างสรรค์ไทย ปี 2 (Creative Thai) เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชน ได้รับการส่งเสริมการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่บอกเล่าเรื่องราวทางวัฒนธรรมที่สร้างความสนใจ ความรู้ และต่อยอดวัฒนธรรมท้องถิ่นไปสู่ระดับชาติและระดับนานาชาติ

ซึ่งได้รับการตอบรับจากเยาวชนทั่วประเทศและส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในโครงการฯ จำนวนมาก โดยผลงานเรื่อง “ร้อยเอ็ดสถานที่แห่งความทรงจำ” จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คว้ารางวัลชนะเลิศ พร้อมโล่เกียรติคุณ และเงินรางวัลมูลค่า  50,000 บาท ไปครอง สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 1 รางวัล, รองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 2 รางวัล, รางวัลชมเชย จำนวน 2  รางวัล และรางวัล Popular Vote  จำนวน 1 รางวัล รวมทั้งสิ้น 7 รางวัล เงินรางวัลรวมมูลค่า 200,000 บาท

นายอิทธิพล คุณปลื้ม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมและกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกันจัดทำโครงการ สร้างสรรค์ไทย (Creative Thai) ขึ้นเป็นปีที่ 2 เนื่องจากได้ผลการตอบรับจากเด็กและเยาวชนจากการจัดโครงการฯ ในปีแรกอย่างล้นหลาม ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีที่เด็กและเยาวชนให้ความสนใจ และตระหนักถึงการสร้างสรรค์สื่อไปพร้อม ๆ กับการส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อเสริมสร้างค่านิยม จิตสำนึกให้คนในสังคมตระหนักถึงความสำคัญของวัฒนธรรมท้องถิ่น และภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หรือ Soft Power โดยนำผลงาน
มาเผยแพร่ผ่านสื่อที่ทันสมัย เข้าถึงได้ง่ายในรูปแบบของคลิปวิดีโอ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการมีส่วนร่วมของ
ทุกภาคส่วนในการนําต้นทุนทางวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่มาช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากชุมชนผ่านสื่อดิจิทัล
มาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรริเริ่มปลูกฝังวัฒนธรรมทางความคิดที่ดีงาม
ถูกต้องและเหมาะสมตั้งแต่ยังเป็นเด็กและเยาวชน

ดร.ธนกร ศรีสุขใส กล่าวว่า การจัดประกวดโครงการ สร้างสรรค์ไทย 2 (Creative Thai) ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2565 – วันที่ 20 มกราคม 2566 โดยโครงการฯ
มีเป้าประสงค์ที่จะเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้รับการส่งเสริมการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในการสร้างความตระหนักรู้ในวัฒนธรรมอันดีงามของคนในชุมชน สังคม และเพื่อรณรงค์เสริมสร้างค่านิยม จิตสำนึกให้คนในสังคมเห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรม ทั้งภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (
Intangible cultural heritage) หรือมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ (Tangible cultural heritage) รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัฒนธรรม ใน
รูปแบบการจัดประกวดคลิปสื่อสร้างสรรค์ส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชน จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ มีโอกาสนำของดีหรือเรื่องเล่าภายในแต่ละชุมชนไปต่อยอดผ่านกระบวนการบอกเล่าเรื่องราวทางวัฒนธรรมของชุมชนและสังคม ในรูปแบบของการผลิตสื่อวีดิทัศน์ หรือคลิปวิดีโอ นำมาเผยแพร่อย่างสร้างสรรค์ สร้างความตระหนักรู้ในวัฒนธรรมอันดีงาม และต่อยอดวัฒนธรรมท้องถิ่นสู่ระดับชาติและระดับนานาชาติต่อไป

ทั้งนี้มีชิ้นงานเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 116 ผลงาน โดยตลอดระยะเวลาในการดำเนินโครงการฯ ได้มีการจัดอบรมบทเรียนอิเล็กทรอนิคส์ (e-learning) หลักสูตรการผลิตสื่อวีดิทัศน์ ผ่านระบบออนไลน์ จากวิทยากรสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น การผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, เสน่ห์วัฒนธรรม, การสร้างสรรค์บท, การคัดสรรเลือกสรรและตัดต่อ มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อให้ผู้สนใจสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างมีคุณภาพ และตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ

นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ มาร่วมทำการตัดสินคัดเลือกผลงาน จนได้ผู้ชนะการประกวดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งสิ้น 7 รางวัล พร้อมรับโล่รางวัลจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยเเละสร้างสรรค์ เงินรางวัลรวม 200,000 บาท ดังนี้

รางวัลชนะเลิศ จำนวน 1 รางวัลๆ ละ 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัล ได้แก่ ผลงานชื่อ “ร้อยเอ็ดสถานที่แห่งความทรงจำ” จากทีมฮาโหลววว PRODUCTION ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 1 รางวัลๆ ละ 40,000 บาท ได้แก่ ผลงานชื่อ “ซิ่นน่าน…ผ่านกาลเวลา”
จากทีม NAN FOREVER ภาคเหนือ

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 2 รางวัลๆ ละ 30,000 บาท ได้แก่ ผลงานชื่อ “ย่านอยู่เย็น สายธารชีวิต เศรษฐกิจที่รุ่งเรือง” จากทีม นักสืบสานภูมิปัญญาPRC ภาคเหนือ และผลงานชื่อ “ชาวอุบล” จากทีมมิดมี่
โปรดักส์ชั่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัลๆ ละ 10,000 บาท ได้แก่ ผลงานชื่อ “มนต์เสน่ห์ แห่งชาติพันธุ์กะเหรี่ยง” จากทีมเย่อ-เม่-เกอะ-ญอ-โพ (ฉันเรียกตัวเองว่า ปว่าเกอะญอ) ภาคเหนือ และ ผลงานชื่อ บ้านผมเรียกว่า “ซามารอเด็ง” จากทีมห้องแห่งความลับ ภาคใต้ และ รางวัล Popular Vote จำนวน 1 รางวัลๆ ละ 30,000 บาท ได้แก่ ผลงานชื่อ “ย่านอยู่เย็น สายธารชีวิต เศรษฐกิจที่รุ่งเรือง” จากทีม นักสืบสานภูมิปัญญา PRC ภาคเหนือ 

สามารถรับชมผลงานการผลิตคลิปวิดีโอส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นในหัวข้อ
“เยาวชนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์วัฒนธรรม” ภายใต้โครงการ สร้างสรรค์ไทย 2 (Creative Thai)
 
และติดตามข่าวสารและกิจกรรมประกวดต่าง ๆ ของโครงการ ผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ : กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และเฟซบุ๊กเพจ : สร้างสรรค์ไทย หรือเพิ่มเพื่อนผ่านไลน์แอด: @creativethai

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมหารือการผลักดันความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

(15 มี.ค.66) ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พร้อมผู้บริหาร ร่วมหารือการผลักดันความร่วมมือ (MOU)

โดยมี รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้การต้อนรับ และ รศ.วิทยา ด่านธำรงกูล
ผู้อำนวยการ TU-RAC พาคณะเข้าเยี่ยมชม อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ทั้งนี้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ต้องการจะพัฒนาองค์กรเข้าสู่ระบบสำนักงานดิจิทัล และแนวทางการดำเนินงานวิจัยร่วมกัน ให้มีเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์สังคม

งานมหกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กองทุนฯ ครบรอบ 8 ปี

งานมหกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กองทุนฯ ครบรอบ 8 ปี

พบกับมหกรรมผลงานสื่อปลอดภัยเเละสร้างสรรค์มากกว่า 50 ผลงาน กิจกรรมเสวนาและการเเสดง
เเชร์ประสบการณ์ สร้างเเรงบันดาลใจ Infinite x Inspiration (Fill Fun Fund) ตลอดทั้ง 3 วัน

วันที่ 24 – 26 มีนาคม 2566 เวลา 12.00-20.00 น. ณ ลิโด้ คอนเน็คท์ ชั้น 1

“อาหารไทย มีเสน่ห์ มีเรื่องราว บอกเล่าวิถีชีวิต”

“อาหารไทย มีเสน่ห์ มีเรื่องราว บอกเล่าวิถีชีวิต” ถือเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ “อีดิเบิ้ล สตอรี่ ไทยแลนด์” ดินแดนแห่งความอร่อยของอาหารไทย ที่คุณละมัย สีสุระ หัวหน้าโครงการ รวมถึงทีมงาน หยิบมาเป็นจุดขายเพื่อนำเสนอเสน่ห์และอัตลักษณ์ของอาหารไทยให้ชาวไทยและชาวโลกได้รู้จักมากขึ้น นำเสนอผ่านพิธีกรชาวต่างชาติมากฝีมือที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมายาวนาน อย่างคุณแดเนียล เฟรเซอร์ ทำหน้าที่สื่อสารและพาผู้ชมเดินทางไปเรียนรู้เรื่องราวอันน่าสนใจ รวมทั้งสัมผัสกับวัตถุดิบ กรรมวิธีการผลิต วิถีชีวิต และวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อให้รู้ว่านอกเหนือจากต้มยำกุ้ง ผัดไท และอาหารขึ้นชื่อแล้ว ยังมีอีกหลากหลายเมนูจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศที่น่าสนใจ มีเรื่องราวและมีที่มาที่ไปซึ่งซ่อนอยู่ภายใต้อาหารไทยแสนอร่อย นี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้ตัดสินใจเสนอโครงการนี้เข้ารับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทเปิดรับทั่วไป (Open Grant) ประจำปี 2564

          โดยโครงการ “อีดิเบิ้ล สตอรี่ ไทยแลนด์” นำเสนอในรูปแบบรายการสารคดีอาหารไทย ถ่ายทอดเอกลักษณ์ของอาหารพื้นถิ่น ผสานกับเสน่ห์ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นออกมาเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ สอดแทรกวิถีความเป็นอยู่ การสืบเสาะหาวัตถุดิบสำคัญของแต่ละเมนู พร้อมบอกเคล็ดลับการปรุงอาหารอีกด้วย นับเป็นการส่งเสริมการทำอาหารไทยสำหรับชาวต่างชาติ ซึ่งตรงกับกลุ่มเป้าหมายของรายการมากที่สุด เนื่องจากชาวต่างชาติมองว่าอาหารไทยมีมนต์เสน่ห์ เป็นองค์ความรู้ และยิ่งได้สัมผัสเรื่องราวในกระบวนการทำอาหารตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้ชาวต่างชาติอยากทำอาหารไทย รวมทั้งเดินทางมาลิ้มลองเมนูต่าง ๆ เหล่านั้นมากขึ้น ถือเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศได้อีกทางหนึ่ง

          คุณละมัย ยังเล่าอีกว่า ด้วยความที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคสำคัญ คือการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้การถ่ายทำรายการต้องล่าช้าออกไป จึงจำเป็นต้องขยายระยะเวลาทำสัญญา บวกกับทีมงานไม่ต้องการให้พิธีกรใส่หน้ากากอนามัยขณะดำเนินรายการ เพื่อให้เห็นรอยยิ้มและแววตาที่ต้องการสื่อสารออกไป แต่เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคจึงจำเป็นต้องปฏิบัติตาม ซึ่งทุกอย่างก็ผ่านไปได้

          ส่วนเรื่องของข้อมูลที่นำเสนอนั้น จำเป็นต้องมีที่ปรึกษาโครงการที่เป็นผู้รอบรู้เรื่องอาหารไทยในแต่ละภูมิภาคมาให้คำแนะนำ โดยก่อนที่จะเริ่มต้นโครงการ “อีดิเบิ้ล สตอรี่ ไทยแลนด์” เทปแรก ได้ประชุมร่วมกับคณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการฯ ซึ่งแต่ละท่านจะให้ข้อคิดเห็นและคำแนะนำเกี่ยวกับภาพรวมของสิ่งที่จะต้องนำเสนอผ่านรายการ ขณะที่ผู้ประสานงานโครงการก็คุ้นเคยกับทีมงานเป็นอย่างดี ทำหน้าที่ให้ข้อมูลและแนวทางที่ชัดเจน ทำให้การทำงานราบรื่น เป็นระบบ มีกรอบระยะเวลา ทีมงานสามารถบริหารจัดการทุกขั้นตอนได้ตามที่กำหนด

          และถ้าถามถึงความสุขจากการทำงานและการร่วมงานกับกองทุนฯ คุณละมัย บอกว่า ในฐานะผู้ผลิตสื่อ ความสุขอย่างหนึ่ง คือการได้เสนอไอเดียนอกกรอบ ไม่ต้องถูกจำกัดความคิด ทำให้ทีมงานแต่ละคนรู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้ทำงาน

          “ความสุขของผู้ผลิต ถ้าเราทำงานด้าน production กองทุนสื่อฯ ถือเป็นหน่วยงานที่เราสามารถเสนอไอเดียที่ไม่มีกรอบ เป็นไอเดียที่ไม่ได้บอกว่าต้องทำแบบนี้ ๆ เป็นไอเดียที่มาจากทีม สามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ในการทำสื่อดี ๆ ที่อยากนำเสนอออกไปทั้งภาพ เสียง วิธีการ เราได้เป็นอิสระในการทำงาน เราจะเล่าเรื่องต่าง ๆ ออกมาได้อย่างเต็มที่ และพอผลงานออกมาแล้วความสุขอีกอย่างหนึ่งก็คือคำชม คณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการฯ จะชมตั้งแต่เทปแรกเลยว่าภาพสวย วิธีการเล่าเรื่อง เพลงประกอบลงตัว หลังจากนั้นเทป 2, 3, 4 ก็ไม่ติดอะไร ซึ่งคำชมนี้เองที่ทำให้ทีมงานมีกำลังใจที่อยากจะผลิตสื่อดี ๆ อีกในอนาคต”

นอกจากนี้ทีมงานยังได้ประเมินผลของโครงการ “อีดิเบิ้ล สตอรี่ ไทยแลนด์” หลังออกอากาศครบ 8 ตอน จากตอนแรกที่การันตีกับคณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการฯ ไว้ว่าจะมียอดการรับรู้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติประมาณ 3 ล้านครั้ง แต่หลังออกอากาศจนจบโครงการปรากฏว่ายอดการรับรู้พุ่งสูงถึง 13 ล้านครั้ง ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และเป็นกำลังใจอีกอย่างหนึ่งของคนทำงาน

          สามารถรับชม “อีดิเบิ้ล สตอรี่ ไทยแลนด์” ได้ที่ Facebook : Daniel B. Fraser และ YouTube : Edible Story Thailand

กองทุนสื่อ ครบรอบ 8 ปี จัดมหกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ “สร้างแรงบันดาลใจ ไม่มีที่สิ้นสุด” 24-26 มี.ค. 66

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รองประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย จัดตั้งตามพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.2558  เพื่อส่งเสริมสนับสนุนภาคีเครือข่ายและประชาชนทุกภาคส่วนให้สามารถผลิตและเผยแพร่สื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์  โดยสนับสนุนให้ผู้รับทุนได้ทำผลิต ทำประโยชน์ รวมถึงเผยแพร่ขยายผลซ้ำถึงเรื่องราวดี เรื่องราวปลอดภัย เรื่องราวสร้างสรรค์ มาอย่างต่อเนื่อง

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า โอกาสที่ครบรอบ 8 ปี การจัดตั้งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กองทุนฯ ได้กำหนดจัดงาน มหกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ภายใต้ชื่อ “งานมหกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กองทุนฯ ครบรอบ 8 ปี” ใน Theme Infinite X Inspiration สร้างแรงบันดาลใจ ไม่มีที่สิ้นสุด (Fill Fun Fund) ระหว่างวันที่ 24-26 มีนาคม 2566 เวลา 12.00 – 20.00 น. ณ บริเวณ ลิโด้ คอนเน็คท์ ชั้น 1 โดยภายในงานมหกรรมดังกล่าว มีนิทรรศการแสดงผลงาน เวทีที่รวบรวมผลงาน ความคิดสร้างสรรค์ หลากหลายมิติ พบกับศิลปินมีชื่อเสียง กิจกรรม การแสดง ชมเพลิดเพลินตลอดทั้งงาน ทั้ง 3 วัน นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมเสวนาที่จะเติมแรงบันดาลใจ รวมถึงลุ้นรับของรางวัลอีกมากมาย  “ผลงานความคิดสร้างสรรค์หลากหลายมิติ ทั้ง 5 ยุทธศาสตร์ และผลงานเด่นของกองทุนฯ รวมกว่า 70 ผลงานสร้างสรรค์ โดยเป็นการเปิดท่องสื่อสร้างสรรค์ ทั้งในรูปแบบ On ground และ Online ในรูปแบบ Virtual exhibition”

ดร.ธนกร กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลัก การจัดงานมหกรรมในครั้งนี้ เพื่อเผยแพร่ผลงานสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึงเปิดพื้นที่สาธารณะ ขยายช่องทางการสื่อสาร สร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้รับการสนับสนุนกับประชาชนที่สนใจการผลิตและการดำเนินการเกี่ยวกับสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ อย่างเป็นรูปธรรม “ปีนี้ กองทุนฯ ครบรอบ 8 ปี และภารกิจหลักของเราคือการสร้างสรรค์สื่ออย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ
ผู้สร้างสื่อได้ผลิตสื่อน้ำดีสู่สังคม สร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ให้ประชาชน อันนำไปสู่ความยั่งยืนของสังคมต่อไป” ดร.ธนกร กล่าว