เลือกหน้า

กองทุนสื่อ จับมือ มศว. ประสานมิตร เปิดอบรมหลักสูตรพัฒนาผู้ผลิตสื่อระดับกลางหวังสร้างพลังบวกทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ของประเทศ

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดอบรมหลักสูตรพัฒนาผู้ผลิตสื่อระดับกลาง “WISE CREATORs…เรียนรู้ ร่วมสร้าง สื่อสร้างสรรค์” ระหว่างวันที่ 19- 27 พฤษภาคม 2566
ณ โรงแรม เดอะ พาลาสโซ รัชดา

โดยมีวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาถ่ายทอดองค์ความรู้ อาทิ  ผศ. ดร.สามมิติ สุขบรรจง อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.เจษฎา ศาลาทอง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ ประธานอนุกรรมการฝ่ายวิชาการสภาวิชาชีพข่าววิทยุ และโทรทัศน์ไทย และ ผศ.ดร.กฤชณัท แสนทวี อาจารย์ประจำวิชาเอกการสื่อสารเพื่อการจัดการนวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นต้น

ดร.ธนกร ศรีสุขใส  ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า การจัดอบรมหลักสูตรพัฒนาผู้ผลิตสื่อระดับกลาง WISE CREATORs : เรียนรู้ ร่วมสร้าง สื่อสร้างสรรค์ ผ่านระบบออนไลน์ ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพและพัฒนาผู้ผลิตสื่อในทุกระดับที่เข้าร่วมหลักสูตรนี้ จะสามารถนำองค์ควมารู้และทักษาที่ได้ไปใช้และพัฒนาต่อยอดให้เกิดการผลิตสื่ออย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้เกิดผลกระทบเชิงบวกทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ของประเทศ  การจัดอบรมฯ ครั้งนี้ ถือเป็นการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ในการพัฒนาสื่อและนิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประกอบกับ กองทุนฯ มีความมุ่งมั่นตั้งเป้าหมายหลัก คือ TMF Learning Center ศูนย์กลาง
การเรียนรู้สื่อครบวงจร โดยมุ่งพัฒนาเพิ่มศักยภาพผู้ผลิตสื่อในทุกระดับ ซึ่งครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจาก มศว ประสานมิตร ที่ได้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

จึงได้เปิดโอกาสให้ผู้สนใจที่ผลิตสื่อ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และ ภาคประชาชน เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ กว่า 40 คน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ร่วมกิจกรรมภาคปฏิบัติในการกำหนดเนื้อหา และกลุ่มเป้าหมายในการสื่อสาร
เพื่อเตรียมพร้อมสร้างสื่อพลังบวก ปลอดภัย และสร้างสรรค์” ดร.ธนกร กล่าว

สำหรับ หัวข้อหลักของการอบรม มีดังนี้
1. แนวทางการมองโลกเชิงสังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ นิเวศวิทยา และวัฒนธรรมโลกและการเปลี่ยนแปลงสมัยใหม่

  1. 2023… ภูมิทัศน์สื่อไทย
  2. กระบวนทัศน์ใหม่ของการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลเชิงสร้างสรรค์
  3. การวิพากษ์และประเมินผลกระทบของสื่อที่มีต่อชีวิตผู้คนและสังคมไทย
  4. ถอดรหัสชิ้นงานสื่อกับประเด็น “ความปลอดภัยและสร้างสรรค์” ผ่านกรณีศึกษา และเทคนิคการรับมือกับ “ภาวะวิกฤติเชิง จริยธรรม” อย่างสร้างสรรค์
  5. ถอดรหัสกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิ้นงานดิจิทัล
  6. HOW To TIPS : ผลิตสื่ออย่างไรให้ปลอดภัย ถูกกฎหมาย
  7. เทคนิคการสร้างสรรค์เนื้อหา StoryTelling อย่างไรให้ขายได้
  8. เทคนิคการสื่อสารเพื่อสร้างแรงบันดาลใจอย่างสร้างสรรค์
  9. กิจกรรมฝึกปฏิบัติการวิเคราะห์มุมมองผู้รับสารผ่านเครื่องมือ Social Listening
  10. Content Creator : How to Success
  11. ฝึกปฏิบัติการผลิตและน าเสนอผลงานสื่อ Digital Platform ให้เกิด impact
  12. กิจกรรมศึกษาดูงานองค์กรสื่อ

ภาษาไทยวันละคำ กับ Joojee and Friends

จากความชอบส่วนตัวที่หลงใหลการวาดการ์ตูนมาตั้งแต่เด็ก ทำให้คุณนภัสญาณ์ นาวาล่อง ตัดสินใจเปิด
แฟนเพจเฟซบุ๊กชื่อว่า “Joojee World” เพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่ความชื่นชอบผ่านรูปแบบตัวการ์ตูนซึ่งเป็นตัวละครสมมติบนโซเชียลมีเดีย ให้ผู้ที่มีความชอบในลักษณะเดียวกันได้เข้ามามีส่วนร่วม โดยที่ผ่านมาเคยจัดทำเป็นสื่อเสริมความรู้ในรูปแบบของปฏิทินจำนวน 365 วัน เพื่อบอกเล่าว่าแต่ละวันมีความสำคัญอย่างไร เช่น
วันดื่มนมโลก, วันแห่งแมวเหมียว รวมถึงวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งสื่อในรูปแบบปฏิทินนั้นได้มีโอกาสไปจัดแสดงที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย

ต่อมามีรุ่นพี่ที่เคยเสนอผลงานเพื่อขอรับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แนะนำให้ลองเสนอโครงการต่อกองทุนฯ จึงตัดสินใจเขียนโครงการ “ภาษาไทยวันละคำ กับ Joojee and Friends” เพราะส่วนตัวนอกจากชอบการวาดการ์ตูนแล้ว ยังชอบภาษาไทย ชอบอ่านหนังสือ และชอบอ่านการ์ตูน ประกอบกับเล็งเห็นว่าในปัจจุบันความนิยมใช้สื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียมีมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการใช้ภาษาไทยบนสื่อเหล่านั้นกลับวิบัติมากขึ้น และเนื่องจากโซเชียลมีเดียเป็นสื่อที่ส่งต่อข้อมูลได้รวดเร็ว ดังนั้นการใช้ภาษาไทยที่ผิดตั้งแต่ต้น
ก็อาจจะถูกเผยแพร่ออกไปให้ผู้รับสาร ซึ่งเป็นเด็ก เยาวชน หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ จดจำคำที่ผิด ๆ ไปใช้

          สำหรับโครงการ “ภาษาไทยวันละคำ กับ Joojee and Friends” เป็นผลงานประเภทเปิดรับทั่วไป (Open Grant) ประจำปี 2564 เป็นการผลิตสื่อการเรียนรู้จำนวน 200 ภาพ และรวบรวมเป็นอีบุ๊ก นำเสนอผ่านภาพวาดการ์ตูน “Joojee and Friends” ที่มีคาแรกเตอร์น่ารัก บอกเล่าเกี่ยวกับคำศัพท์ภาษาไทยที่มักสะกดผิด หรือถูกใช้ผิดความหมาย เพื่อให้ผู้รับสารสามารถเข้าใจและจดจำคำศัพท์ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องและถูกความหมาย โดย
จะเผยแพร่ผ่านทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ ชื่อว่า “Joojee and Friends”

          คุณนภัสญาณ์ ยังบอกอีกว่า ก่อนที่จะเขียนโครงการเสนอต่อกองทุนฯ ได้ค้นคว้าหาข้อมูลบนสื่อออนไลน์ เช่น เว็บบอร์ด และทวิตเตอร์ พบว่าปัญหาการใช้ภาษาไทยผิดในเด็กและเยาวชนมีอยู่จริง และมีจำนวนค่อนข้างมาก

“คำว่า “ขี้เกียจ” ส่วนตัวเข้าใจว่าไม่น่าจะมีคนเขียนผิด แต่จริง ๆ แล้วมีเด็กรุ่นใหม่เขียนเป็น “ขี้เกลียด” ซึ่งน้องก็เข้าใจว่าเขียนแบบนี้จริง ๆ มาจากเกลียดที่จะทำ เลยเป็น “ขี้เกลียด” เหมือนกับเด็กมีชุดความคิดอีกแบบหนึ่ง
เราก็เลยมั่นใจว่าเป็นปัญหาของเด็กจริง ๆ จึงน่าจะทำสื่อเพื่อให้เด็กได้จดจำคำที่ถูกต้องเอาไว้ เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ เป็นเอกลักษณ์ ก็ควรอนุรักษ์ไว้เพราะเราเป็นคนไทย โดยสื่อที่จะทำก็อยากให้มีสีสันสดใส เข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย น่าดึงดูดมากขึ้น ทำให้เรื่องที่น่าเบื่อสามารถดึงดูดให้เด็กรุ่นใหม่ หรือคน
วัยทำงาน สามารถอ่านสื่อชุดนี้ได้”

เมื่อได้เริ่มต้นทำโครงการแล้ว คุณนภัสญาณ์ เล่าว่า มีความสุขและสนุกกับสิ่งที่ได้ทำ ทั้งเรื่องการสร้างคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนแล้ววาดออกมาให้สามารถอธิบายคำศัพท์ต่าง ๆ ที่มักจะมีผู้สะกดผิด หรือใช้ผิดความหมาย โดยสอดแทรกมุกตลกขบขัน เพื่อสร้างความบันเทิงให้กับผู้อ่าน เรียกว่าเป็นการทำเรื่องยากให้ย่อยง่าย เข้าใจง่าย แต่ทั้งนี้ก็มีสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะการเผยแพร่ผลงานผ่านทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งปัจจุบันมีการปิดกั้นการมองเห็นมากขึ้น แต่จุดนี้ได้แก้ปัญหาด้วยการส่งข้อความไปหาเพื่อนและเครือข่ายที่เป็นครูในโรงเรียนประถมศึกษา เพื่อขอให้ช่วยกันแชร์ผลงานออกไป รวมทั้งนำไปสอนนักเรียนในโรงเรียนด้วย เพื่อเพิ่มการรับรู้ไปสู่วงกว้างมากขึ้น

ส่วนความท้าทายในการทำโครงการอยู่ที่การคิดคำศัพท์ คิดเนื้อหาให้สนุกสนานสอดคล้องกัน และวาดออกมาให้เข้าใจง่าย แปลกใหม่ ไม่น่าเบื่อ กว่าจะครบทั้ง 200 คำ ก็ทำให้ได้ฝึกสมองไปในตัว ซึ่งคุณนภัสญาณ์ บอกว่า โชคดีที่ได้รับคำแนะนำจากทางกองทุนฯ ที่ช่วยชี้แนะรายละเอียดที่อาจจะมองข้ามไป

“คณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการฯ จะแนะนำทีละจุดในส่วนที่เรามองพลาดไป เช่น การเว้นวรรค จะให้ความรู้เราเยอะมาก และมีประโยชน์กับเราด้วย เพราะเราสนใจแต่เรื่องคำศัพท์ ความหมายของคำศัพท์อย่างเดียว แต่ลักษณะการเว้นวรรค การเคาะคำ เราไม่ได้สนใจ ทำให้เรากลับมาคิดว่าตรงนี้ก็เป็นจุดที่เราควรสนใจ และอีกเรื่องที่ไม่คิดว่าจะเป็นอย่างนั้น เช่น เราคิดว่าการทำอีบุ๊กน่าจะเหมาะกับสมัยนี้มากกว่า  เพราะยุคนี้ยุคใหม่เป็นยุคอินเทอร์เน็ต แต่คณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการฯ บอกว่าควรทำเป็นหนังสือรูปเล่มด้วย แม้จะเป็นยุคสมัยใหม่แล้ว แต่คนยังต้องการหนังสืออยู่ ซึ่งตอนแรกเราก็คิดค้านในใจว่าไม่น่าจะใช่ แต่พอทำออกมาจริง ๆ ตอนปล่อยอีบุ๊กออกไป เราได้รับคอมเมนต์กลับมาเยอะมากว่าอยากให้ตีพิมพ์เป็นหนังสือ อยากให้เป็นกระดาษให้ได้จับด้วย เราก็ค่อนข้างประทับใจ ซึ่งส่วนตัวก็ชอบแบบที่เป็นกระดาษอยู่แล้ว แต่พอมาทำโครงการกลับคิดไปเองว่าเด็กยุคใหม่อาจจะชอบสไลด์ดูในไอแพด แต่จริง ๆ แล้วเด็กยุคใหม่ก็ยังชอบที่เป็นกระดาษเช่นเดียวกัน”

นอกจากนี้ยังได้ทำแบบสอบถามเพื่อวัดผลว่าโครงการที่ทำนี้สามารถเข้าถึงเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ และคนในครอบครัวหรือไม่ ผลปรากฏว่ามีผู้ตอบแบบสอบถามกลับมาค่อนข้างเยอะมากว่าได้นำสื่อชุดนี้ไปใช้ในห้องเรียนจริง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ภาคภูมิใจมาก เนื่องจากผลงานที่ทำตลอด 1 ปี ไปถึงผู้รับสารจริง มีผู้ที่ได้อ่านและได้ความรู้จริง ทำให้หายเหนื่อยและดีใจที่ได้ทำโครงการนี้

คุณนภัสญาณ์ยังได้ฝากเชิญชวนผู้ที่อยู่ในแวดวงศิลปะ นักคิด นักเขียน นักสร้างคอนเทนต์ หากมีผลงานที่สามารถต่อยอดองค์ความรู้ที่หลากหลาย อาจไม่ได้ให้ความบันเทิงเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้แง่คิดต่าง ๆ ผ่านผลงานศิลปะ หรือดนตรี สามารถทำให้ผลงานของเรามีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อทุกคนมากขึ้น ด้วยการส่งโครงการเข้ามาขอรับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อร่วมกันผลิตสื่อสร้างสรรค์ออกสู่สาธารณชนในวงกว้างมากขึ้น

          สามารถติดตามผลงาน “ภาษาไทยวันละคำ กับ Joojee and Friends” ได้ทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ “Joojee and Friends” และสามารถดาวน์โหลดอีบุ๊กได้ที่ https://www.thaimediafund.or.th/download/joojee-and-friends/

น้ำหนึ่งไทยเดียว

“น้ำหนึ่งใจเดียว” เป็นคำที่หลายคนเคยได้ยินและเข้าใจความหมายอย่างถ่องแท้ ว่าหมายถึงความสมัครสมานสามัคคี แต่คำนี้ถูกนำมาประยุกต์ใหม่เป็น “น้ำหนึ่งไทยเดียว” หนึ่งในโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Grant) ประจำปี 2564

ซึ่งคุณกฤติกา เกลี้ยงกลม หัวหน้าโครงการ มองว่า ปัจจุบันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้ต่างคนต่างอยู่ และ
อยู่ในสภาวะที่ไม่ค่อยได้คุยกัน จึงอาจมีความเห็นที่ขัดแย้งกัน นำไปสู่การขาดความสามัคคีในที่สุด จึงได้คิดริเริ่มโครงการนี้ขึ้น โดยเน้นสร้างความสามัคคีจากคนกลุ่มเล็ก เริ่มต้นในครอบครัว ชุมชน แล้วขยายผลความสามัคคี
สู่สังคมระดับประเทศ

เมื่อได้รับการสนับสนุนทุนจากกองทุนฯ แล้ว ทีมงานจึงได้เริ่มต้นโครงการ แต่เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้บางชุมชนที่มีความโดดเด่นเรื่องความสามัคคีต้องปิดชุมชน ทีมงานจึงไม่สามารถเข้าไปถ่ายทำรายการได้ จำเป็นต้องหาชุมชนสำรองและนำเสนอต่อคณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการฯ เพื่อพิจารณาใหม่ ส่วนบางชุมชนที่ไม่ติดปัญหาเรื่องโควิด 19 แต่เป็นชุมชนที่ผ่านพ้นปัญหามานานแล้ว โดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจและความสามัคคีในอดีต จนกระทั่งก้าวข้ามปัญหาต่าง ๆ มาได้ ทำให้ภาพที่จะสื่อออกมาเป็นรูปธรรมค่อนข้างยาก เพราะปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ไม่มีอยู่แล้ว เช่น ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า เขาหัวโล้น ปัญหาน้ำท่วม
ภัยแล้ง ซึ่งตรงนี้จะติดขัดเรื่องภาพของปัญหา ทีมงานจึงจำเป็นต้องไปค้นหาแฟ้มภาพ หรือบางปัญหาเป็นเรื่องยาเสพติด บุคคลที่เคยทำเรื่องดังกล่าวไม่อยู่แล้ว เพราะปัญหาได้รับการแก้ไขแล้ว ทีมงานก็ต้องไปค้นคว้า
หาข้อมูลที่เป็นต้นกำเนิดในการแก้ปัญหาเหล่านั้น เพื่อนำมาสื่อสารสู่สาธารณะ

          สำหรับความท้าทายในการทำโครงการ “น้ำหนึ่งไทยเดียว” คุณกฤติกา เล่าว่า ในฐานะคนทำรายการโทรทัศน์จะต้องทำอย่างไรให้สิ่งที่จะสื่อออกมาเป็นภาพมีความสนุกและน่าสนใจ เพราะรายการมีความยาวประมาณ 25 นาที จึงต้องทำให้คนดูไม่รู้สึกเบื่อ ต้องดึงคนดูให้อยู่กับเราตั้งแต่เริ่มต้น และเนื่องจากปัญหาหลายอย่างได้รับการแก้ไขแล้ว ทำให้ภาพที่จะสื่อออกมาต้องจำลองขึ้นมาบ้าง เช่น ปัญหาเด็กติดยา มีการขนส่งยาในพื้นที่มุมอับ ก็ต้องเซ็ตสถานที่ขึ้นมา แต่ต้องทำอย่างไรให้ดูไม่ปลอม นอกจากนี้ยังต้องนำเสนอภาพเชิงสัญลักษณ์ ต้องมีวิธีการเล่าให้คนดูคล้อยตาม เช่น ปัญหาผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับการเหลียวแล แต่ปัจจุบันปัญหานี้ไม่มีอยู่แล้ว จำเป็นต้องจำลองเหตุการณ์ที่สื่อถึงความโดดเดี่ยว อยู่คนเดียวในอดีต ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นความท้าทายคนทำงานเป็นอย่างมาก

          ส่วนการร่วมงานกับกองทุนฯ นั้น ทีมงานมีความประทับใจมาก เพราะผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านให้ความเป็นกันเอง และให้มุมมองที่เป็นประโยชน์ บางครั้งทีมงานต้องการนำเสนอภาพของปัญหาให้ชัดเจน เช่น ปัญหาหนี้สินรุมเร้าจนเกิดคิดสั้นฆ่าตัวตาย ประเด็นอยู่ที่การร่วมกันแก้ปัญหาหนี้สินให้หมดไป แต่คณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการฯ มองว่าการนำเสนอเรื่องการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่อ่อนไหว จึงให้นำเสนอในมุมอื่นแทน
เพื่อไม่ให้คนดูรู้สึกหดหู่หรือหมดกำลังใจตามไปด้วย     

นอกจากนี้ยังรู้สึกอิ่มเอมใจทุกครั้งที่ได้ทำโครงการ “น้ำหนึ่งไทยเดียว” โดยเฉพาะตอนที่ได้ลงพื้นที่ไปในชุมชน
ทุกคนจะต้อนรับขับสู้อย่างดี บอกเล่าเรื่องราวและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ให้ข้อมูลเชิงหลักการและเหตุผล หรือแม้แต่การเข้าไปถ่ายทำในพื้นที่ที่ไม่สามารถไปได้ คนในชุมชนก็จะคอยช่วยประสานจนงานทุกอย่างผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

          ขณะเดียวกันยังมีความภาคภูมิใจที่รายการได้เผยแพร่ทั้งทางออนแอร์และออนไลน์ โดยออกอากาศทางช่อง 9 MCOT HD ทุกวันอาทิตย์ เวลา 09.30 น. ” ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม 2565 – วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน 2565 และทางเพจเฟซบุ๊ก “น้ำหนึ่งไทยเดียวซึ่งทั้ง 2 ช่องทางมีคนดูเข้ามาแสดงความคิดเห็นให้กำลังใจ ส่วนคนในชุมชนก็ขอบคุณทีมงานที่นำเสนอเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

          และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่ได้ตั้งโครงการดี ๆ อย่างนี้ขึ้น ทำให้ทีมงานได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ชุมชนให้มีต้นแบบ หรือมีตัวอย่างของชุมชนที่ดี เพื่อให้เขาสามารถนำไปใช้กับชุมชนอื่น ๆ ที่มีปัญหาได้ ทั้งในระดับครอบครัว ระดับสังคม และระดับประเทศ ก็สามารถนำไปใช้ได้ทั้งหมด

          นอกจากนี้คณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการฯ ยังได้รวบรวมโครงการ “น้ำหนึ่งไทยเดียว” จัดทำเป็นนิตยสารนำไปวางไว้ที่กองทุนฯ เพื่อที่ใครผ่านไปผ่านมาจะได้หยิบอ่าน ถือเป็นการขยายการรับรู้ให้กว้างขวางมากขึ้น แม้โครงการจะจบลงแล้ว แต่สิ่งที่ต้องการถ่ายทอดเกี่ยวกับ “ความสามัคคี” ยังคงอยู่ต่อไป

ประกาศผลการพิจารณาทุนปี 2566 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประกาศผลการพิจารณาโครงการหรือกิจกรรม ที่ได้รับการสนับสนุนเงิน จากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ประจำปีงบประมาณ 2566 สำนักงานกองทุนฯ พร้อมเดินหน้าทำสัญญาเพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการได้ทันที และไม่ส่งผลกระทบต่อความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณ

วันนี้ (9 พฤษภาคม 2566) กองทุนได้เผยแพร่ประกาศผลการพิจารณาโครงการหรือกิจกรรม ที่ได้รับการสนับสนุนเงิน จากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปี 2566 โดยมีจำนวนผู้รับสมัครขอรับทุน ประจำปีงบประมาณ 2566 มีจำนวนมากถึง 939 โครงการ ยอดการยื่นขอรับการสนับสนุนทุน รวมทั้งสิ้นกว่า 4,023 ล้านบาท แบ่งเป็นประเภทดังนี้ 

  • ประเภทเปิดรับทั่วไป วงเงินไม่เกิน 90 ล้านบาท จำนวน 470 โครงการ
    ยอดเงินรวม 1,591 ล้านบาท
  • ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ วงเงินไม่เกิน 170 ล้านบาท จำนวน 455 โครงการ
    ยอดเงินรวม 2,372 ล้านบาท
  • ประเภทความร่วมมือ วงเงินไม่เกิน 40 ล้านบาท จำนวน 14 โครงการ
    ยอดเงินรวม 58 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ กระบวนการยื่นสมัครขอรับทุน มีการเปิดรับตั้งแต่ 1 ตุลาคม – 31 ตุลาคม พ.ศ. 2565 และนำเสนอเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรอง ของคณะอนุกรรมการบริหาร และคณะกรรมการกองทุน เพื่อทำการพิจารณาโครงการหรือกิจกรรมที่ควรได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปี 2566 ตั้งแต่ พฤศจิกายน 2565 – 3 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นระยะเวลา 3 เดือน และสามารถประกาศผลได้ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 นี้

โดยผลการพิจารณาโครงการหรือกิจกรรม ที่ได้รับการสนับสนุนเงิน มีโครงการที่ได้รับการอนุมัติทุนจำนวน
103 โครงการ วงเงิน 270,182,000 บาท  แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่

 

  1. โครงการประเภทเปิดรับทั่วไป (Open Grant) จำนวน 39 โครงการ รวม 89,988,000 บาท
  2. โครงการประเภทเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Grant) จำนวน 57 โครงการ
    รวม 158,194,000 บาท
  3. โครงการประเภทความร่วมมือ (Collaborative Grant) จำนวน 7 โครงการ
    รวม 22,000,000 บาท

แบ่งเป็น  บุคคลธรรมดาจำนวน 29 โครงการ  คิดเป็น 28.16 % โครงการ
งบประมาณ
47,431,900 บาท และคิดเป็น 17.56 % งบประมาณ

องค์กรเอกชนจำนวน (ไม่แสวงหาผลกำไร) 12 โครงการ  คิดเป็น 11.65 % โครงการ
งบประมาณ
31,735,000 บาท และคิดเป็น 11.75 % งบประมาณ

สถานศึกษาของรัฐจำนวน 11 โครงการ คิดเป็น 10.68 % โครงการ
งบประมาณ
29,673,000 บาท และคิดเป็น 10.98 % งบประมาณ

และนิติบุคคลจำนวน 51 โครงการ คิดเป็น 49.51 % โครงการ
งบประมาณ 161
,342,100 บาท  และคิดเป็น 59.72 % งบประมาณ

 

ทั้งนี้ ผู้ได้รับการการสนับสนุนเงิน จากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปีงบประมาณ 2566
จะได้รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณา เพื่อให้มาทำสัญญาตามแบบที่คณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย
และสร้างสรรค์กำหนดภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้ง

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับผู้ผ่านการคัดเลือกทุกโครงการ และขอเป็นกำลังใจให้ผู้ที่ยื่นข้อเสนอแต่ยังไม่ได้รับการคัดเลือก ขออย่าเพิ่งท้อถอยหรือหมดกำลังใจและขอเชิญชวนให้ยื่นข้อเสนอโครงการอีกในครั้งต่อไป สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยว่าโครงการของคนไม่ผ่านเพราะเหตุใดสามารถเข้าไปดูข้อมูล
ที่สำนักงานกองทุนได้ ซึ่งสำนักงานยินดีที่จะให้ข้อมูลและชี้แจงข้อสงสัย

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ สำนักงานกองทุนจะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกได้รับทราบอีกครั้งหนึ่ง
พร้อมกำหนดจัดประชุมปฐมนิเทศเพื่อชี้แจงแนวทางการบริหารโครงการและเตรียมการทำสัญญาเพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการได้ทันที และไม่ให้กระทบต่อความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณซึ่งสำนักงานได้เตรียมการทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว

 

โดยรายละเอียดจำแนกรายโครงการของผลการพิจารณาโครงการหรือกิจกรรม ที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปีงบประมาณ 2566 สามารถเข้าไปดูได้ในเว็ปไซต์กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ตามลิ้งค์ https://www.thaimediafund.or.th/download/tmf-project-2566/ หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-273-0116

 

องคมนตรี ชื่นชม โครงการสร้างสรรค์งานศิลปะให้กับเยาวชน ทำให้เกิดความยั่งยืนต่อชุมชน

เมื่อวันที่ 5 พค. 66 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดนิทรรศการโอกาสปิดโครงการ
Art for Youth and community ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ผ่านงานศิลปะให้กับเยาวชนและชุมชนในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ด้วยองค์ความรู้ในพื้นที่อย่างยั่งยืน ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพมหานคร

พลเรือเอกพงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี เปิดงานนิทรรศการ โดยกล่าวว่า
โครงการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ผ่านงานศิลปะให้กับเยาวชนและชุมชนในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์
ด้วยองค์ความรู้ในพื้นที่อย่างยั่งยืน โดย สมาคมดิจิทัลเพื่อการศึกษาไทย

โดยยึดหลัก “ลดความเหลื่อมล้ำ” ด้านการศึกษา รายได้สังคม และ “ทำให้เกิดความยั่งยืน” ต่อตัวเด็ก โรงเรียน และชุมชน ดังนั้น หลักในการทำงาน จึงเลือกที่จะสร้างองค์ความรู้ให้ เกิดขึ้นภายในโรงเรียน และไม่สร้างภาระด้านค่าใช้จ่ายให้แก่ตัวเด็กและโรงเรียน โดยการจัดให้มีการผลิตสีธรรมชาติขึ้น มาใช้งานเอง และการจัดอบรมให้ทำงานศิลปะที่ใช้วัสดุและสีจากธรรมชาติรวมทั้งการทำวีดิโอสื่อการสอนมอบให้ โรงเรียนไว้ใช้ต่อไป

ร้อยโท ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นทุนประเภทความร่วมมือ ประจำปี 2565 ประเด็นเรื่องการ ลดความเหลื่อมล้ำและ สร้างความยั่งยืน รวมถึงแนวทางการดำเนินโครงการที่ยึดหลัก บวร บ้าน วัด โรงเรียน ในการทำงานเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน “จากการได้ชมนิทรรศการและรับชมการแสดงเห็นนักเรียนที่เข้าร่วมอบรมมีความสามารถ มีความคิดสร้างสรรค์ และผลงานที่แสดงออกมายังสามารถนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย”

ทั้งนี้ภายในงาน มีการแสดงมโนราห์ Art for youth จาก ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ศิลปินแห่งชาติประจำปี 2564 สาขาการแสดง นักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 33 จังหวัดลพบุรี  โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 32 จังหวัดอุบลราชธานีโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 49 จังหวัดตราด โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 23 จังหวัดพิษณุโลก และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 12 จังหวัดสุราษฎร์ธานี