เลือกหน้า

โนราไทยฟิต ต่อยอดทุนวัฒนธรรม สู่คลาสออกกำลังกายเปิดใจสู่โลกโนรา

โนราไทยฟิต ต่อยอดทุนวัฒนธรรม สู่คลาสออกกำลังกายเปิดใจสู่โลกโนรา
.
ท่ามกลางเกลียวคลื่นที่ซัดหาดทรายขาวสะอาดบนชายหาดปัตตานี ครูเฟี้ยว-มาดาพร น้อยนิตย์ และครูดิว-ขจิตธรรม พาทยกุล สองสาวแห่ง Thai Fit Studio ที่ใช้ท่าร่ายรำนาฏศิลป์ไทยมาออกแบบเป็นท่าออกกำลังกาย ชวนให้ชาวปัตตานีที่สนใจได้สัมผัสการออกกำลังกายแบบไทยฟิตกันอย่างสนุกสนาน โดยมีพ่อครูเฉลิม และ แม่ครูประภา แห่งคณะมโนราห์เฉลิมประภา มโนราห์ชั้นครูของปัตตานี ที่เฟี้ยวและดิว ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ขอเรียนท่ารำมโนราห์ เพื่อนำมาปรับใช้เป็นท่าออกกำลังกาย เฝ้ามองท่าทางการออกกำลังกายที่ดูแปลกตาจากมโนราออกไป
.
“การที่เอาไปดัดแปลงออกกำลังกายนิ ดีลูก ดี พ่อเห็นด้วย จะได้สืบทอดไป ไปจากมโนราห์ท่านี้ท่าไหน” พ่อครูเฉลิม มโนราห์ชั้นครูของปัตตานีและภาคใต้ ให้ความเห็นไว้อย่างชื่นชมกับแนวคิดของทั้งสองสาวที่จะนำท่าร่ายรำของมโนราห์ไปปรับใช้เป็นท่าออกกำลังกายโนราไทยฟิต นั่นทำให้ทั้งสองสาวลดความกังวลใจ หากจะนำมโนราห์ออกไปสู่รูปแบบใหม่ ๆ ให้ผู้คนได้สัมผัสและรู้จักมโนราห์มากขึ้น

หลังจากที่ครูเฟี้ยวและครูดิว ฝากตัวเป็นศิษย์มโนราห์คณะเฉลิมประภา ที่ปัตตานี ได้เรียนรู้ ได้ฝึกฝนพื้นฐานการรำมโนราห์ที่ถูกต้อง รวมไปถึงขนบ และวิธีการสืบทอดโนรา จนได้รับโอกาสออกโรงแสดงมโนราห์เป็นครั้งแรกในชีวิต ซึ่งกลายเป็นความภูมิใจของเฟี้ยวและดิว ที่ได้เรียนรู้และสัมผัสเสน่ห์ศิลปะพื้นบ้านที่ทรงคุณค่าอย่างมโนราห์ พร้อมกับการก้าวสู่เป้าหมาย นำท่ารำโนราห์มาพัฒนาเป็นท่าออกกำลังกาย โดยร่วมกับนักวิทยาศาสตร์การกีฬา ปรับองศาท่าทางการเคลื่อนไหวของ มือ เท้า ศีรษะ ตามท่ารำโนรา ให้ร่างกายใช้กล้ามเนื้อทุกส่วนและให้คนทำตามได้ง่ายขึ้น ร้อยเรียงตั้งแต่อินโทรดักชั่น วอร์มอัพ เทรนนิ่ง คลูดาวน์ ใช้เวลาราว 50 นาที ช่วยเบิร์นได้ถึง 400 แคลอรี่
.
“คนที่เรียนจะค่อย ๆ จำท่า เรียกชื่อท่าที่เราไปเรียนจากคณะเฉลิมประภาเป็นตั้งแต่เขาควาย ช่อระย้า โคมเวียน พระรามข้ามสมุทร รูปวาดรูปเขียน ท่าเทพพนมเทียมบ่าเทียมภพ สอดสร้อย อะไรอย่างงี้ ทุกคนจะเริ่มเรียกชื่อท่าเป็น เข้าใจโนรา เข้าใจคนที่เขาเรียนโนรามา”
.
การออกกำลังกายโนราไทยฟิต ได้รับความสนใจมากขึ้น หลังเรื่องราวทั้งหมดถูกถ่ายทอดเป็นสารคดี ความยาวไม่ถึง 40 นาที แต่ใช้เวลาถ่ายทำ 1 ปี โดยได้รับทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปี 2565 และฉายในโรงภาพยนตร์ ออกอากาศทางทรูไอดี และเผยแพร่ทางออนไลน์ ผ่านสายตาผู้คนมากมาย

“ฟีดแบ็กค่อนข้างดี เราทำแบบสอบถามด้วย ส่วนใหญ่บอกว่ารู้สึกดูแล้วอิ่ม ได้รับรู้ ได้เข้าใจ ได้นำไปใช้ หลายคนอยากรู้จักโนราให้มากกว่านี้” และมีผู้ชมอีกไม่น้อยที่สนใจไปออกกำลังกายคลาสโนราไทยฟิต และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะเป็นเหมือนก้าวแรกให้ผู้คนได้รู้จักมโนราห์ของไทย และค่อย ๆ เรียนรู้ ส่งต่อกระแสอนุรักษ์มโนราห์ในวันข้างหน้า เหมือนที่โนราเฟี้ยวพูดไว้ในช่วงท้ายของสารคดีเรื่องนี้
.
“คิดว่าจะเป็นคลาสที่เปิดโลก เปิดใจ และทำให้รู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของโนราได้ทุกคน”
.
#กองทุนสื่อ #โนราไทยฟิต #เล่าสื่อกันฟัง
#บทความเล่าสื่อกันฟัง #ผลงานผู้รับทุนกองทุนสื่อ
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
#กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

โนราไทยฟิต งดงามจากร่ายรำสู่ท่าออกกำลังกาย

โนราไทยฟิต งดงามจากร่ายรำสู่ท่าออกกำลังกาย
.
“1 – 2 – 3 – 4 โดด 5 – 6 ซอยเท้า 7 – 8”
เสียงให้จังหวะออกกำลังกาย ด้วยท่วงท่าที่นำความอ่อนช้อยงดงามของรำไทยหลายรูปแบบ มาปรับใช้เป็นท่าการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กลายเป็นจุดเด่นในคลาสออกกำลังกายแบบไทยฟิต ที่ “มาดาพร น้อยนิตย์” หรือ “ครูเฟี้ยว” และ “ขจิตธรรม พาทยกุล” หรือ “ครูดิว” สองสาวผู้ก่อตั้ง Thai Fit Studio และประยุกต์นำนาฏศิลป์ไทย
ทั้งรำมาตรฐาน ระบำมาตรฐาน โฟล์ค นาฏศิลป์พื้นบ้าน เหนือ กลาง อีสาน ใต้ ไปจนถึงโขนและศิลปะป้องกันตัว
.
ซึ่งมีการเคลื่อนไหวและใช้กล้ามเนื้อแทบทุกส่วนของร่างกาย นำไปศึกษาร่วมกับแพทย์และนักวิทยาศาสตร์การกีฬา ออกแบบเป็นท่าออกกำลังกายที่แปลกใหม่ งดงาม สนุกสนาน ได้เหงื่อ ได้สุขภาพ จนได้รับความนิยมอย่างมากจากทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะโนราไทยฟิต ท่าออกกำลังกายจากมโนราห์ การแสดงพื้นบ้านจากภาคใต้ของไทย ที่ทั้งสองคนมีโอกาสได้ไปร่ำเรียนกับโนราชั้นครูของปัตตานี จนกลายมาเป็นโนราไทยฟิตที่ผู้คนรู้จักในวงกว้างมากขึ้น จากภาพยนตร์สารคดีสั้น ความยาว 37 นาที 19 วินาที แต่ใช้เวลาถ่ายทำนานถึง 1 ปีเต็ม โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปี 2565 และมีโอกาสฉายในโรงภาพยนตร์ ลิโด้ รวม 7 รอบ รวมทั้งออกอากาศทางทรูไอดีและเผยแพร่ในออนไลน์ ถ่ายทอดเรื่องราวของสองสาวจากกรุงเทพฯ ที่ลงไปเรียนรู้วิถีโนรา ที่ปัตตานี และจากที่ตั้งใจแค่ไปเรียนท่ารำมโนราห์ที่ถูกต้อง
เพื่อมาพัฒนาเป็นท่าออกกำลังกาย แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นความภูมิใจในชีวิตของทั้งสองคนเมื่อได้ก้าวเข้าสู่
โลกของโนรา
.
“ทั้งดิวและเฟี้ยว สนใจโนรากันอยู่แล้ว รู้สึกว่าเวลาดูท่ารำมโนราห์เนี่ย การใช้กล้ามเนื้อของเขาน่าสนใจ แต่เราทำท่าทำให้ถูกหลักทำไม่ถูกหรอก ก็คิดว่าถ้าเราได้เรียนจริงจัง แบบที่เรียนกับเจ้าของวัฒนธรรม ได้เรียนรู้ทั้งหมดเลยทั้งกระบวนการ วิธีการถ่ายทอด วิถีของโนรา มันอาจจะทำให้เราหยิบจับทุนวัฒนธรรมนี้ไปสร้างสรรค์ต่อได้”

นั่นเป็นจุดพลิกผันในสารคดี ที่พาไปดูเรื่องราวของทั้งสองสาว ที่เดินทางลงใต้ ไปสัมผัสวิถีชีวิตท้องถิ่น ทั้งผู้คน การแต่งกาย และภาษาที่แตกต่าง แต่งดงามของเมืองปัตตานี ซึ่งทั้งเฟี้ยวและดิวหอบความตั้งใจไปเต็มเปี่ยม แม้จะกังวลว่าจะสามารถเรียนรู้จากโนราชั้นครูได้แค่ไหน จนได้ขึ้นขัน ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของพ่อครูเฉลิมและแม่ครูประภา มโนราห์คณะเฉลิมประภา โนราชั้นครูของปัตตานี ซึ่งเป็นเหมือนผู้ให้กำเนิดและเปิดโลกให้ทั้งสองคนก้าวเข้าไปสัมผัสโนราได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น จนความกังวลลดลงและอบอุ่นในหัวใจมากขึ้น
.
“ที่ประทับใจ คือตอนมอบขัน ให้ขันแล้ว ณ ตอนนี้ก็ยังรู้สึกแบบเราเป็นคนแปลกหน้ามาก ๆ แต่เขาก็ให้ความเมตตาเรามาก ๆ เลยรู้สึกว่าเรามาถึงจุดที่มาเจอของจริง สุดท้ายแล้วมันเป็นบรรยากาศที่ไม่ได้คิดมาก่อนด้วย ว่าจะมีความศักดิ์สิทธิ์ มีความขลัง และมีการต้อนรับแบบนี้อยู่” เฟี้ยวเล่าความรู้สึกด้วยน้ำเสียงที่สั่นเครือ เมื่อพูดถึงวินาทีนั้น ไว้ในช่วงหนึ่งของสารคดีเรื่องนี้
.
พร้อม ๆ กับการเดินเรื่อง เริ่มต้นการเรียนรำมโนราห์ของทั้งสองคน จากพ่อครู แม่ครู และพี่มล ครูผู้ช่วยสอนจากพื้นฐานด้วยบทสอนรำ ซึ่งเต็มไปด้วยท่ารำโนรามากมาย ทั้งเขาควาย ช่อระย้า โคมเวียน ซึ่งต้องฝึกก้าว เก็บเท้า กระโดด และลีลาที่เคลื่อนไหวไปตามจังหวะดนตรีปี่กลองของมโนราห์ ใช้เวลาเรียน 5 วันเต็ม พร้อมกับบททดสอบของโนรามือใหม่ ที่เรียนแล้วต้องขึ้นแสดงบนเวทีจริง

“มันเหมือนเป็นโกล เรียนอะไรสักอย่างหนึ่งและมีโอกาสแสดง” เฟี้ยวบอกหลังได้รับโอกาสให้ขึ้นแสดงโนราครั้งแรกในฐานะศิษย์คณะเฉลิมประภา ในงานฉลองกฐินที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือ มอ. ซึ่งในสารคดีถ่ายทอดให้เห็นถึงความทุ่มเท ความพยายาม และความอบอุ่นจากพ่อครู แม่ครู ที่สวมสังวาลย์ ใส่สร้อย กำไลและนำเทริด (เชิด) เครื่องประดับศีรษะโนรา จากบนหิ้งสวมหัว พร้อมอวยพรก่อนขึ้นแสดง ซึ่งผ่านพ้นไปได้ด้วยดี พร้อม ๆ กับความรู้สึกของทั้งสองคนที่รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของความเป็นโนราที่ก่อขึ้นในใจ
.
“คนหนึ่งคน ได้ถูกปรุงแต่งกับศาสตร์ใหม่ แล้วเราก็ไม่ใช่ศิษย์ไม่มีครู ช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แต่หล่อหลอมให้ทั้งสองสาว กลายเป็นโนราเฟี้ยวและโนราดิว ที่มาพร้อม ๆ กับการนำการร่ายรำที่สวยงามของมโนราห์ไทย สู่ท่วงท่าออกกำลังกายโนราไทยฟิต ได้อย่างเต็มภาคภูมิ เปิดโลกให้ผู้คนได้เริ่มต้นเรียนรู้โนราด้วยท่าการออกกำลังกาย และพร้อมจะขยายให้ผู้คนทั่วโลก ไม่ว่าเชื้อชาติใด ได้สัมผัสเสน่ห์ของโนราไทยได้ง่ายขึ้นและกว้างขึ้นในอนาคตด้วย
.
#กองทุนสื่อ #โนราไทยฟิต #เล่าสื่อกันฟัง
#บทความเล่าสื่อกันฟัง #ผลงานผู้รับทุนกองทุนสื่อ
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
#กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

กองทุนสื่อ มอบเกียรติบัตรสำหรับผู้เข้าร่วมอบรมในโครงการค่ายเยาวชนไทยรู้เท่าทันสื่อ Digi camp

วันนี้ 23 มิถุนายน 2566 ดร.ธรกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ให้เกียรติมอบเกียรติบัตรสำหรับผู้เข้าร่วมอบรมในโครงการค่ายเยาวชนไทยรู้เท่าทัน Digi camp จำนวน 165 คน
ทางโครงการฯหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ที่เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้จะนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
และสามารถต่อยอดให้ตนเองเป็นนักผลิตสื่ออย่างสร้างสรรค์ในอนาคตต่อไป

ประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 4/2566

วันที่ 22 มิถุนายน 2566 เวลา 13.30 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 4/2566

โดยมี นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รองประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เข้าร่วมประชุมผ่านระบบเครือข่ายการประชุมทางไกล (Microsoft team)

ณ ศูนย์ประชุมกระทรวงวัฒนธรรม ชั้น 8 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม

ภาพประกอบจาก : กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

ผู้เฒ่ากับดาวรุ่ง (ตอนที่ 2)

“กะปิเอฟเฟค”…บ้านแทบแตก ปะทะแนวคิดสองวัย หนึ่งในสารคดีแสนประทับใจแห่งยุคสมัย
ใครจะคิดว่าเครื่องแกงอย่าง “กะปิ” ที่มีอยู่คู่ทุกครัวไทย จะทำให้แม่ลูกคู่หนึ่ง ที่อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง ต้องขัดแย้งกันแทบบ้านแตก หมางเมินกันไปนาน 2-3 เดือน
.
เรื่องของเรื่อง เริ่มต้นขึ้นเมื่อ “กวาง” ลูกสาวกลับจากอังกฤษหลังใช้ชีวิตที่นั่นมา 7 ปี กลับคืนสู่บ้านเกิด มาอยู่กับแม่ม่อน ซึ่งทำกะปิไปขายที่ตลาดมาหลายปีดีดัก แต่กวางที่เป็นคนรุ่นใหม่ก็อยากต่อยอดอาชีพของแม่ให้ดีขึ้น อยากทำให้กะปิในกระปุกกลายเป็นซอสกะปิสำเร็จรูปที่ใช้ทำอาหารทั้งผัด แกง ทอด ได้ง่าย ๆ ส่งขายได้ทั่วโลก แต่เจอการคัดค้านสุดลิ่มทิ่มประตูจากแม่ม่อน ด้วยความเป็นห่วง ไม่อยากให้ลงทุนเป็นหนี้เป็นสิน แค่ขายกะปิอย่างที่เคยทำมา ก็อยู่ได้แล้ว จนเกิดการปะทะคารมและความคิดของทั้งสองฝ่าย โดยมีคุณยายยินดี เป็นกรรมการคอยบอกให้ลูกและหลานใจเย็น ๆ

แต่เมื่อต่างฝ่ายต่างยึดถือความคิดของตัวเอง ความขัดแย้งจึงรุนแรงถึงขั้นหมางเมินไม่พูดคุยกันนานถึง 2-3 เดือน ก่อนที่กวางจะใช้เวลาใคร่ครวญและกลับมาเปิดใจคุยกับแม่ ค่อย ๆ อธิบายถึงกรรมวิธี และความเป็นไปได้ในการทำซอสกะปิ และขอโอกาสในการพัฒนากะปิของแม่ ส่วนแม่ก็เปิดใจรับฟังแนวคิดการทำกะปิสมัยใหม่ของลูกสาว
.
ตัดภาพเวลาผ่านมาเกือบ 3 ปี แม่ม่อนที่ยังไปขายกะปิที่ตลาด ยิ้มด้วยความภูมิใจทุกครั้งที่ลูกค้าชมความเก่งของลูกสาว ที่ผลิตซอสกะปิ “เคยนิคะ” ที่เริ่มออกสู่ตลาด จากความเข้าใจ
สู่ความร่วมมือ แม่ม่อนโชว์ทำกับข้าวด้วยซอสกะปิ ออกทางออนไลน์และรายการโทรทัศน์ ความสุขและความอบอุ่นกลับคืนสู่ครอบครัวอีกครั้งด้วยความรักและความเข้าใจ
.
เรื่องราวทั้งหมดถูกถ่ายทอดเป็นสารคดีตอน “กะปิเอฟเฟค” หนึ่งในสารคดีชุด “ผู้เฒ่ากับดาวรุ่ง” ซึ่ง สุริยนต์ จองลีพันธุ์ มือเขียนสารคดีอันดับต้น ๆ ของเมืองไทยและทีมงานป่าใหญ่ ครีเอชั่น ผู้ผลิตสารคดีชุดนี้ บอกว่า เป็นหนึ่งในเรื่องราวที่เขาประทับใจมากที่สุดตอนหนึ่ง
.
“แม้จะเป็นแค่เรื่องกะปิธรรมดาที่เราเห็น แต่เมื่อพัฒนามาเป็นซอสกะปิ มันก็จะใช้ปรุงอาหารได้ง่าย สะดวกขึ้น เอาไปต่างประเทศได้ แต่ครอบครัวนี้ถึงกับทะเลาะกันบ้านแทบแตก แม่ยังอยากขายกะปิในรูปแบบเดิม ๆ แต่ลูกสาวจะทำซอสกะปิ ทะเลาะกัน กว่าจะลงเอยกันได้ มันเลยทำให้เรื่องมีสีสัน”

แต่ที่สำคัญกว่านั้น ทำให้เราได้เห็นถึงความรักระหว่างแม่กับลูก เมื่อเปิดใจรับฟังความเห็นของคนต่างวัย ความรักในครอบครัวก็กลับคืนมา เหมือนที่ กวาง บอกไว้ตอนหนึ่งในสารคดีชุดนี้ว่า “สุดท้ายแล้วครอบครัวไม่ใช่ศัตรู”
.
สารคดีชุด “ผู้เฒ่ากับดาวรุ่ง” ทั้ง 12 ตอน ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทเปิดรับทั่วไป (Open Grant) ประจำปี 2565 ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวความขัดแย้งทางความคิดของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป กลายเป็นการดีเบตกันของคนต่างวัย แต่ความรักและความเข้าใจ ทำให้หาจุดร่วมและออกจากความขัดแย้งได้
.
แม้แต่นายทุนกับชาวนาในตอน “โรงสีขวัญใจชาวนา” ที่แม้ไม่ได้เป็นเครือญาติหรือครอบครัวเดียวกัน และมีความแย้งทางความคิด เมื่อบิ้ก เจ้าของโรงสีมือใหม่ที่เชียงราย ที่ไม่เคยมีความรู้เรื่องข้าวแต่อยากให้ชาวนามีชีวิตดีขึ้น อยากส่งเสริมให้ชาวนาที่ใช้สารเคมีมา 50 ปี เปลี่ยนมาทำข้าวอินทรีย์ จนเกิดขัดแย้งในความคิด แต่ด้วยความตั้งใจและจริงใจต่อกัน ก็ค่อย ๆ สร้างความเชื่อมั่น ฝ่าฟันอุปสรรค สุดท้ายเราก็ได้เห็นรอยยิ้มของชาวนา
.
สุริยนต์ บอกว่า การผลิตสารคดีชุดนี้ ทั้ง 12 ตอน มีความท้าทายอย่างมาก ในการตามหาเคสแต่ละตอน เพื่อนำเสนอเรื่องราวความต่างระหว่างวัย และความขัดแย้งทางความคิด ให้มีความต่างแต่น่าสนใจ จึงอยากให้คนไทยยุคนี้ได้ชม
“ต้องขอบคุณ คณะกรรมการติดตามเเละประเมินผลโครงการฯ ตอนตรวจงาน เราเกร็งกันมากเลยว่างานจะผ่านไหม แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการฯ ชอบมาก มีการช่วยแนะนำให้เพิ่มตรงนั้นตรงนี้ ทำให้เราโล่งอก และทำงานได้อย่างสบายใจ”
.
และน่าจะยิ่งสบายใจขึ้น เมื่อสารคดีชุด “ผู้เฒ่ากับดาวรุ่ง” ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทุกวันเสาร์ เวลา 07.00 – 07.30 น. รวมทั้งที่เผยแพร่ทางออนไลน์ ในเพจเกษตรไทยไอดอล และเพจคนหัวใจแกร่ง มีเสียงตอบรับล้นหลาม หลายตอนยอดวิวพุ่งทะลุหลักหลายล้านเพียงแค่ไม่กี่วัน กลายเป็นสารคดีแห่งชีวิต ที่อยากให้คนไทยได้ดู และได้ข้อคิดจากชีวิตจริง หลายเรื่องราวเข้มข้นยิ่งกว่าละคร
.
สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ : https://www.facebook.com/watch/230498977397325/574331461120791
.
#กองทุนสื่อ #เล่าสื่อกันฟัง
#ผู้เฒ่ากับดาวรุ่ง
#ผลงานผู้รับทุนกองทุนสื่อ
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
#กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์