เลือกหน้า

ผลงาน “จันทโครพ” คว้ารางวัลชนะเลิศประกวดสื่อสร้างสรรค์ โครงการ “Digi Camp ค่ายเยาวชนไทยรู้เท่าทันสื่อ”

(20 ก.ค. 66) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงานประกาศผลและมอบรางวัล โครงการประกวดสื่อสร้างสรรค์ สำหรับกลุ่มมัธยมศึกษา ภายใต้หัวข้อ “Digi Camp ค่ายเยาวชนไทยรู้เท่าทันสื่อ”

โดย คุณเพชรรัตน์ สายทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ให้เกียรติร่วมมอบรางวัล
ณ โรงเเรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า กองทุน ฯ จัดโครงการ
“Digi Camp ค่ายเยาวชนไทยรู้เท่าทันสื่อ” ขึ้นเนื่องจากตระหนักถึงภัยร้ายที่แฝงมากับสื่อและเทคโนโลยีการสื่อสารรูปแบบใหม่ จึงจำเป็นที่ต้องเพิ่มทักษะให้เด็กและเยาวชนมีทักษะการรู้เท่าทันสื่อ

การจัดประกวดตามโครงการดังกล่าว ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 โดยเปิดรับสมัคร ตั้งแต่วันที่
12 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมีเป้าประสงค์ที่จะเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนระดับชั้นมัธยมศึกษาจาก
ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ได้รับการส่งเสริมการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เสริมสร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อ เพื่อรับมือกับข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสม พร้อมกับส่งเสริมการใช้สื่อ เพื่อเป็นช่องทางในการศึกษา เรียนรู้ทักษะในการเข้าถึงสื่อ และสามารถ วิเคราะห์ ประเมินสื่อ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงการผลิตสื่อเพื่อสร้างสรรค์สังคม ตามยุทธศาสตร์ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

‘โครงการ “Digi Camp ค่ายเยาวชนไทยรู้เท่าทันสื่อ”ได้รับการตอบรับจากเยาวชนทั่วประเทศและส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจำนวนกว่า 2,338 คน ทั้งนี้มีชิ้นงานเข้าร่วมโครงการจำนวน 135 ผลงาน ตลอดระยะเวลาในการดำเนินโครงการ ได้มีการจัดอบรมให้ความรู้ในหัวข้อการรู้เท่าทันสื่อ ให้กับผู้ที่สนใจตามภูมิภาคต่างๆ (ทั่วประเทศ) รวมถึงโครงการยังได้คัดเลือกผลงานในรอบระดับภูมิภาค จำนวน 30 ผลงาน เพื่อเข้ารับการอบรมเสริมศักยภาพสร้างความรู้ความเข้าใจในด้านการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์’

ดร.ธนกร กล่าวว่า นอกจากนั้น การคิดวิเคราะห์แลกเปลี่ยนความรู้ เทคนิคการถ่ายทำ รวมถึงทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ สามารถนำสื่อไปใช้ในการพัฒนาตนเอง อีกทั้งยังสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ทักษะที่ได้รับไปยังกลุ่มนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาต่อไป เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการผลิตชิ้นงาน เพื่อส่งเข้าประกวดในรอบระดับประเทศและสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ผลการตัดสินคัดเลือกผลงาน จนได้ผู้ชนะการประกวดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งสิ้น 17 รางวัล

พร้อมรับโล่รางวัลจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เงินรางวัลรวม 420,000 บาท ดังนี้

รางวัลชนะเลิศ จำนวน 1 รางวัลๆ ละ 100,000 บาท พร้อมโล่รางวัล ได้แก่
ผลงานชื่อ “จันทโครพ” จากทีม N.M.T ENTERTAINMENT ภาคใต้

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 2 รางวัลๆ ละ 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัล ได้แก่
ผลงานชื่อ “Who dark” จากทีม Thungsong Hometown ภาคใต้

และ ผลงานชื่อ “Oh My Password” จากทีม HookHook Team ภาคตะวันออก

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 3 รางวัลๆ ละ 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัล ได้แก่
ผลงานชื่อ “คุณเลือกได้ Choose Your Life” จากทีม 7-11 Team Studio ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

และ ผลงานชื่อ “ผีโพง” จากทีม Ckk Junior Studio ภาคเหนือ และ ผลงานชื่อ “เราอยู่ใกล้กัน” จากทีม BC Studio
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

รางวัลชมเชย จำนวน 10 รางวัลๆ ละ 10,000 บาท พร้อมโล่รางวัล ได้แก่
ผลงานชื่อ “นายฮ้อยคำผาน กับการป้องกันตัวจากศาสตร์มืด” จากทีม หลานสมเด็จย่า ภาคกลาง

ผลงานชื่อ “ADVISER” จากทีม COOL KIDS NEVER SLEEP ภาคกลาง

ผลงานชื่อ “อีโต้” จากทีม สมุยตุ้ย ภาคใต้

ผลงานชื่อ “เรื่องเล่า” จากทีม ๗๓๖ มุ้บมิ้บ STUDIO ภาคกลาง

ผลงานชื่อ “Outcast” จากทีม แป้งเย็น ภาคตะวันออก
ผลงานชื่อ “infoolencer (อินฟูลเอนเซอร์)” จากทีม The SMP ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ผลงานชื่อ “SMS SK1” จากทีม Engineer SK1 ภาคใต้
ผลงานชื่อ “kk game” จากทีม kangkangproduction ภาคกลาง

ผลงานชื่อ “สังคมที่ล่มสลาย” จากทีม Odlgos ภาคเหนือ

และ ผลงานชื่อ “อย่าเชื่อ Don’t Believe” จากทีม เยาวชนพลเมืองSKP ภาคเหนือ

ส่วน รางวัล Popular Vote จำนวน 1 รางวัลๆ ละ 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัล ได้แก่
ผลงานชื่อ “กินกับก้อง” จากทีม ผักหวาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

YAKLAND : เมื่อหน้ายักษ์กลายเป็นน่ารักในยักษ์แลนด์ ตอนที่ 2

การเข้าวัดทำบุญไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป และไม่ได้เป็นเรื่องของผู้สูงวัย รุ่นลุงป้าน้าอา คุณตาคุณยาย เท่านั้น การเข้าวัดของคุณจะเปลี่ยนไปเมื่อดาวน์โหลดเกม YAKLAND เกมที่จะให้คุณสัมผัสความดุร้ายของหน้ายักษ์กลายเป็นน่ารักไปทันที
.
อย่างที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือที่รู้จักกันในชื่อวัดโพธิ์ วัดประจำรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี แต่ละวันจะมีผู้คนที่ไปร่วมทำบุญ และชมความสวยงามของวัดจำนวนมาก แต่ช่วงนี้บรรยากาศการเที่ยวชมวัดคึกคักและสนุกสนานมากขึ้น หลังจากมีทั้งเด็ก ๆ วัยรุ่น และผู้สูงวัย รุ่นคุณตา คุณยาย อีกหลายคน ดาวน์โหลดเกม YAKLAND มาเล่นและร่วมผจญภัย ออกตามหาเหล่ายักษ์แสนน่ารักจากเกม YAKLAND เริ่มจากการเช็คอินที่วัด แล้วค่อยออกเดินตามหายักษ์น้อยใหญ่ ไปตามแผนที่จนเกือบทั่ววัด เพื่อเช็คพอยท์ให้ครบทั้ง 5 จุด ถึงจะมีโอกาสได้พบกับ “ยักษ์อัสนีย์” ยักษ์ผู้ว่องไวและมีความจริงใจ แล้วก็ต้องตอบคำถามให้ถูกต้อง จึงจะสามารถไล่จับและนำยักษ์อัสนีย์กลับไปเลี้ยงได้ เช่นเดียวกับที่วัดอรุณฯ วัดระฆัง วัดสุทัศน์ และวัดสระเกศ ซึ่งมีเหล่ายักษ์ภูผา ยักษ์เมฆา ยักษ์อัคคี และยักษ์วารีซ่อนตัวอยู่

สุนิสา ศรีพลทัศน์ ทีมผู้พัฒนาเกมและแอปพลิเคชัน จากบริษัท บราเธอร์ พิคเจอร์ จำกัด เล่าถึงบรรยากาศที่แสนประทับใจ ในวันที่ทีมงานไปออกบูธเปิดตัวเกมและแอปพลิเคชัน YAKLAND ที่วัดโพธิ์ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก เช่นเดียวกับตอนไปโรดโชว์ที่วัดอรุณฯ วัดระฆัง วัดสุทัศน์ และวัดสระเกศ ที่มียักษ์อีก 4 ตน ซึ่งถูกปรับคาแรกเตอร์ใหม่ แปลงโฉมจากยักษ์ใหญ่ตัวร้าย หน้าตาน่ากลัวและน่าเกรงขาม จากหน้ายักษ์กลายมาเป็นเหล่ายักษ์ผู้น่ารัก ที่มีบุคลิกและนิสัยแตกต่างกัน ซึ่งแอบซ่อนตัวอยู่ ตามวัดทั้ง 5 แห่ง
.
“มีคนมาร่วมกิจกรรมเยอะมาก เขาโหลดแอปไปลองเล่น ถ่ายรูปกับยักษ์ แฮปปี้มากเลย หลายคนโหลดแอปได้ปุ๊บ ก็เดินไปหายักษ์ในวัดทันที ซึ่งเราก็แปลกใจที่คนให้ความสนใจกันขนาดนี้ หลังจากจับยักษ์ได้ เขาก็ดีใจเดินกลับมาบอกเราว่าจับยักษ์ได้แล้ว มันเกินความคาดหมายจริง ๆ”
.
และที่เกินความคาดหมายมากยิ่งขึ้นไปอีก ก็คือ กลุ่มผู้ใหญ่และผู้สูงวัยจำนวนมาก ที่ต่างตื่นเต้นเข้ามาสอบถามว่าเทคโนโลยี AR คืออะไร เขาต้องดาวน์โหลดและเล่นอย่างไร มาต่อคิวขอให้ทีมงานช่วยสอนกันอย่างคึกคัก
.
“ตอนแรกเราคิดว่า ผู้สูงอายุ คงไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลัก น่าจะสนใจกันน้อย เพราะมีความยากในเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยี เขาอาจไม่เข้าใจ แต่กลับกลายเป็นว่า กลุ่มผู้สูงอายุที่มาวัด คุณป้า คุณน้า คุณอา ต่างยื่นโทรศัพท์ให้เราช่วยกดโหลดแอปให้เกือบทุกคนเลย จาก 100% เรียกได้ว่ามีถึง 80% ที่สนใจให้เราช่วยโหลดเกมให้”
.
ส่วนกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่ทีมงานอยากให้เกมนี้เป็นสื่อกลางชวนพวกเขามาเที่ยววัดให้มากขึ้น ก็ให้ความสนใจไม่น้อย เช่นเดียวกับกลุ่มเด็กเล็ก ที่ต่างขอให้คุณพ่อคุณแม่มาดาวน์โหลดเกม YAKLAND ซึ่งมีทั้งเวอร์ชันภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ไปเล่นไล่ตามจับยักษ์กันสนุกสนาน
.
สุนิสา บอกว่า เมื่อได้ฟังฟีดแบ็ก ทีมงานก็รู้สึกชื่นใจและหายเหนื่อย หลายคนบอกว่าไอเดียที่เราทำมันดีมาก ช่วยให้การมาวัดของเขาไม่น่าเบื่อ หลังไหว้พระทำบุญเสร็จ ก็ยังไม่อยากกลับ อยากอยู่เล่นเกมและทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่วัดต่อ ทำให้เขาได้ใช้เวลาอยู่ในวัดมากขึ้น และได้เดินดูสถาปัตยกรรมชมความงามภายในวัดได้นานขึ้น ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนใหญ่ก็ชอบคาแรกเตอร์ของยักษ์ที่ดูน่ารักแปลกตา หลายคนอยากได้ เข้ามาถามถึงวิธีการเล่นว่าต้องทำอย่างไร พอดาวน์โหลดสำเร็จเขาก็รู้สึกอะเมซิงมาก รีบออกไปตามจับยักษ์กันใหญ่ นอกจากนี้เขายังชอบฟีเจอร์แชทบอทช่วยตอบข้อสงสัย ที่เป็นเสมือนไกด์ช่วยให้เข้าถึงการท่องเที่ยวของไทยได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

จากกระแสตอบรับที่เกิดขึ้น ทำให้ตอนนี้เกมและแอปพลิเคชัน YAKLAND มียอดดาวน์โหลดทะลุกว่า 20,000 ราย และยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กว่าที่จะมาถึงวันนี้ได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หลังทีมบราเธอร์ พิคเจอร์ฯ นำไอเดียการพัฒนาเกมพาท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแนวใหม่ ไปเสนอกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จนได้รับทุนประเภทเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปี 2563 แล้วก็ต้องมาเจอกับพิษโควิด 19 สถานที่ท่องเที่ยว โดยเฉพาะวัดดังทั้ง 5 แห่งที่กำหนดไว้ในเกมก็ปิดทั้งหมด ทีมงานไม่สามารถลงพื้นที่ไปเช็กแผนที่ เทสระบบ พัฒนาจุด และปักหมุดโลเคชั่นได้
.
“ช่วงนั้นทำงานกันยากมาก เราลงพื้นที่จริงไม่ได้ ทำได้เพียงแค่ดู Google Map จากในออนไลน์ แต่ระยะต่าง ๆ ที่ไปวัดสเกลพื้นที่มันไม่ได้แม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้การทำงานล่าช้าไปจากที่เราวางแผนไว้ ขยายเป็น 1 ปี 6 เดือน กว่าที่งานจะออกมาสมบูรณ์”
.
เกมและแอปพลิเคชัน YAKLAND จากฝีมือคนไทย จึงเป็นความภูมิใจที่ทีมผู้พัฒนา อยากให้ทุกคนได้ลองดาวน์โหลดมาเล่น เพราะนอกจากจะได้ผจญภัยสนุกกับการตามจับยักษ์แสนน่ารักในวัดดังของไทยทั้ง 5 แห่งแล้ว ยังได้เรียนรู้ได้ชมความงามของสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สำคัญ จากหน้ายักษ์เป็นน่ารักในยักษ์แลนด์ ของยักษ์ทั้ง 6 ตน จะช่วยดึงดูดผู้คนจากทุกมุมโลกให้มาสัมผัสความน่ารักของพวกเขา สัมผัสเสน่ห์ความเป็นไทยและส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบน่ารัก ๆ ได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย
.
#กองทุนสื่อ #ยักษ์ไทย #YakLand #เกมออนไลน์
#โครงการส่งเสริมคุณค่าวัดไทยโดยยักษ์ไทย
#เล่าสื่อกันฟัง #บทความเล่าสื่อกันฟัง
#ผลงานผู้รับทุนกองทุนสื่อ
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
#กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

กองทุนสื่อ ร่วมจัดฉายสารคดี Duck Academy หลังกวาดหลายรางวัลในเวทีโลก

(18 ก.ค. 66) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ร่วมสนับสนุน ในการเปิดตัวและจัดฉายสารคดี Duck Academy ที่เป็นสารคดีจากบริษัทป่าใหญ่ ครีเอชั่น จำกัด ผลิตเพื่อจำหน่ายในตลาดโลก

โดยได้รับรางวัล Best ASEAN Project Pitch จากเทศกาล Asian Side of the Docs (2561) และ Best Short Documentary จาก Devour! The Food Film Fest ที่ประเทศแคนาดา(2562)

นอกจากนี้ยังฉายในเทศกาลสารคดีนานาชาติและสถานีโทรทัศน์หลากหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี สวิสเซอร์แลนด์ โปแลนด์ โครเอเชีย เม็กซิโก แคนาดา ไอร์แลนด์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน

รวมทั้งสถานีโทรทัศน์ที่เผยแพร่ทั่วโลก เช่น Deutsche Welle และ NHK Worldฯลฯ

Duck Academy เป็นเรื่องราวของโรงเรียนกินนอนสอนเป็ด สารคดีที่เกี่ยวกับความมุ่งมั่นในการผลิตอาหารปลอดภัยของชาวนาไทยที่ไม่ยอมใช้สารเคมีในการทำนา แต่ฝึกเป็ดจำนวนกว่า 3,000 ตัว ให้เป็นผู้ช่วยกำจัดศัตรูพืชและให้ปุ๋ยอินทรีย์ ที่ผสานการเล่าเรื่องอย่างน่ารัก สนุกสนาน

จนได้รับคำชมจากคณะกรรมการเทศกาลสารคดีที่ประเทศแคนาดาว่า “มีเทคนิคเล่าเรื่องที่แปลกใหม่ “น่ารัก” และน่าทึ่ง”

คุณยุพา เพ็ชรฤทธ์ กรรมการสมาคมผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดีไทย อดีตนักข่าวจาก บริษัท แปซิฟิกอินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น Producer สารคดี Duck Academy กล่าวว่า ขอบคุณคนไทยที่ให้ความสนใจสารคดีเรื่องนี้ สารคดี Duck Academy ได้เผยแพร่ไปแล้วทั่วโลก ทั้งยุโรป อเมริกา และเอเชีย แต่ที่เกิดฮือฮาขึ้นมาอีกครั้งเพราะที่ประเทศญี่ปุ่นมีคนชอบเป็นจำนวนมาก จึงเกิดการทวิตจนเป็นกระแสโด่งดัง เราเห็นถึง

‘ความต้องการของผู้คนที่สนใจรับชมสารคดี จึงมีการจัดฉายสารคดีนี้ขึ้น ขอขอบคุณกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการจัดฉายสารคดี Duck Academy ในครั้งนี้’

คุณสุริยนต์ จองลีพันธ์ ผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้ กล่าวว่า “Duck Academy” เป็นเรื่องราวของ food safety ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่มากในประเทศไทยและทั่วโลก เรื่องนี้เป็นเรื่องของลุงคนหนึ่งในจังหวัดลพบุรี ที่มีความคิดต่อต้านการใช้สารเคมีในการทำนา จึงได้เลี้ยงเป็ดเพื่อลงไปกำจัดแมลงศัตรูพืชแทนการใช้ยาฆ่าแมลง

‘วิธีการเลี้ยงเป็ดของลุงนั้นไม่เหมือนใครเพราะแกใช้นกหวีดมาช่วยดูแลเป็ดทำให้เรื่องนี้สนุกมาก เพราะการฝึกเป็ดตั้ง 3,000 ตัวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ดูแล้วจะเห็นความน่ารักของเป็ดและความผูกพันของคนกับเป็ด เรื่องนี้เป็นที่ชื่นชอบทั้งในยุโรป อเมริกา รวมถึงเอเชีย หวังว่าคนไทยเจ้าของประเทศก็จะชื่นชอบด้วยเช่นกันครับ’

ทั้งนี้ สารคดีนี้ จะจัดฉายรอบทั่วไป 20 กค.-3 สค.66
ณ โรงภาพยนตร์ House (ชั้น 5) สามย่านมิตรทาวน์

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ช่องทางสื่อสาร

https://www.facebook.com/p/Duck-Academy-100067783624132/

คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประชุมครั้งที่ 5/2566

(18 กรกฎาคม 2566) เวลา 13.30 น. ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
ประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 5/2566

โดยมีคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
เข้าร่วมประชุมผ่านระบบเครือข่ายการประชุมทางไกล (Microsoft team)

ณ ศูนย์ประชุมกระทรวงวัฒนธรรม ชั้น 8 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม
ภาพประกอบจาก : กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

YAKLAND : เมื่อหน้ายักษ์กลายเป็นน่ารักในยักษ์แลนด์

ใครจะคิดว่า “ยักษ์” เขี้ยวใหญ่ คิ้วหนา หน้าตาถมึงทึง รูปร่างใหญ่โต ที่เห็นเป็นรูปปั้นถือกระบองคอยเฝ้าอยู่ตามวัดวาอาราม ท่าทางน่าเกรงขาม แม้จะอยู่ในวรรณคดี ก็ได้แค่บทตัวร้ายที่รักเธอ แถมสำนวนสุภาษิตไทยยังกล่าวหาว่าเจ้าชู้ยักษ์ ซึ่งหมายถึงพวกคนเจ้าชู้ที่ไม่ได้ดังใจ ก็จะใช้กำลังหักหาญ ดูโหดร้ายไปหมด ไม่คิดว่าจะปรับโหมดจากหน้ายักษ์เป็นน่ารัก โลดแล่นอยู่ในเกมและแอปพลิเคชัน “YAKLAND” ที่พัฒนาจากฝีมือคนไทย จากแรงบันดาลใจที่ต้องการจะส่งเสริมให้สถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมอันสวยงามของไทย ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ผ่านยักษ์ที่แปลงโฉมเป็นยักษ์ผู้น่ารักทั้ง 6 ตน ที่มีนิสัยใจคอแตกต่างกัน ทั้ง
.
อสุรสี ยักษ์พี่ใหญ่ผู้รักความสงบ ตัวแทนความยุติธรรม ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน
ภูผา ยักษ์เขียวผู้มีเมตตา เสียสละ และมีพละกำลังไว้เป็นที่พึ่งให้กับทุกคน
เมฆา ยักษ์ผู้รักในความอิสระ ช่างคิด ช่างสงสัย และใฝ่เรียนรู้
อัคคี ยักษ์แดงผู้กล้าหาญ รักการผจญภัย ชอบความท้าทายใหม่ ๆ
วารี ยักษ์ฟ้าผู้มีเหตุผล ใจเย็น มีแบบแผน มองส่วนรวมก่อนเสมอ
.
อัสนีย์ ยักษ์ที่ว่องไว และมีความจริงใจ
สุนิสา ศรีพลทัศน์ ทีมผู้พัฒนาเกมและแอปพลิเคชัน จากบริษัท บราเธอร์ พิคเจอร์ จำกัด เล่าถึงไอเดียแรกเริ่มของการพัฒนาเกม YAKLAND ที่นำไปเสนอต่อกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จนได้รับทุนสนับสนุนประเภทเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปี 2563 โดยเกมนี้อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีและฟีเจอร์หลากหลายที่เชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นฟีเจอร์เกมเทคโนโลยี AR (Augmented reality) เทคโนโลยีการโต้ตอบอัตโนมัติ (Chatbot) ที่เป็นเสมือนไกด์พาเที่ยว รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาผสานระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงกับโลกเสมือนจริงเข้าด้วยกัน และการสะสมแต้มเพื่อแลกส่วนลดกับร้านค้าต่าง ๆ ที่เข้าร่วมรายการ

นอกจากความสนุกที่ได้จากการไปตามไล่จับยักษ์และนำมาเลี้ยงให้โตแล้ว ภายในแอปพลิเคชัน YAKLAND ยังมีฟีเจอร์ให้ถ่ายรูปคู่กับแอนิเมชั่นยักษ์แสนน่ารักทั้ง 6 ตน มีมินิเกมยักษ์ขี่รถตุ๊กตุ๊กไล่ตามยักษ์ต่าง ๆ ให้เล่นเก็บแต้มแบบใส่สกอริ่งในยามว่าง และมีโหมด Chatbot เป็นเสมือนไกด์พาเที่ยว คอยตอบข้อสงสัยที่เกี่ยวข้องกับวัด สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง ร้านอาหาร เรื่องราวต่าง ๆ หรือเส้นทาง ซึ่ง สามารถกดลิงก์ Google Map พาไปยังสถานที่เป้าหมายได้ทันที

เกมและแอปพลิเคชัน YAKLAND เล่นได้ทั้งเวอร์ชันภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพิ่งเปิดตัวไปได้ไม่นาน จากความมุ่งหวังของทีมผู้พัฒนาเกม ที่อยากส่งเสริมให้วัยรุ่นและนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่เข้าวัดมากขึ้น แต่กระแสตอบรับกลับดีเกินคาด ไม่เพียงแต่เด็กและวัยรุ่นเท่านั้น วัยทำงาน ผู้สูงอายุ และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ต่างก็ให้ความสนใจจนมียอดดาวน์โหลดทะลุกว่า 20,000 รายไปแล้ว กับการมาร่วมผจญภัยกับเหล่ายักษ์สุดน่ารัก ใน YAKLAND ดินแดนยักษ์ เกมพาท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแนวใหม่ที่พร้อมที่จะให้ผู้คนจากทุกมุมโลกได้สัมผัสความน่ารักในยักษ์แลนด์ ที่เต็มไปด้วยความสวยงามของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของวัดสำคัญในไทย ไปพร้อมกับความสนุกสนานกับพี่น้องยักษ์สัญชาติไทยทั้ง 6 ตน ที่กำลังได้รับความนิยมจากผู้คนทุกเพศทุกวัย ที่ต่างบอกต่อ ยักษ์แลนด์ หน้ายักษ์ น่ารัก น่าเล่น รับรองลองแล้วจะติดใจ
.
#กองทุนสื่อ #ยักษ์ไทย #YakLand #เกมออนไลน์
#โครงการส่งเสริมคุณค่าวัดไทยโดยยักษ์ไทย
#เล่าสื่อกันฟัง #บทความเล่าสื่อกันฟัง
#ผลงานผู้รับทุนกองทุนสื่อ
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
#กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์