เลือกหน้า

รองฯ วิษณุ ชื่นชมและให้กำลังใจ โอกาสที่ ผจก. และทีมงานกองทุนสื่อ เข้าเยี่ยมคารวะและขอบคุณที่ได้ร่วมงานกัน

(29 สิงหาคม 66 ) ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
นำคณะ เข้าพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี , ประธานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อขอขอบคุณ ที่ได้ร่วมทำงานขับเคลื่อนให้เกิดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามวัตถุประสงค์ของกองทุน

ประธานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวขอบคุณและชื่นชมต่อการทำงานของสำนักงาน ซึ่งร่วมงานด้วยความสบายใจ พร้อมให้กำลังใจผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ที่ได้ทำงานเต็มกำลังความสามารถ ตลอดเวลาที่ตนเองได้ทำหน้าที่นี้

ผู้จัดการกองทุนสื่อ ให้ความมั่นใจวุฒิสภา ผลงานกองทุนมีหลากหลาย ประชาชนเข้าถึงมาก

การจัดสรรทุน มีการกระจายตัวไปตามกลุ่มต่าง ๆ ส่วนภาพยนตร์พระร่วง พระราชาผู้ทรงธรรมอยู่ระหว่างการแก้ไขรอบสุดท้าย ปลายปี 2566 นี้ ได้รับชมแน่นอน

(28 ส.ค. 66) ที่ประชุมวุฒิสภาได้มีการพิจารณารายงานประจำปี 2565 ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ชี้แจงว่า การดำเนินงานของกองทุนย่างก้าวสู่ปีที่ 9

ซึ่งการดำเนินงานในปี 66 เป็นปีที่กองทุนได้ดำเนินงานใช้ยุทธศาสตร์กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ระยะที่ 2 โดยได้เพิ่มสาระหลักด้านการพัฒนาองค์กรไปสู่องค์กรที่มีสมรรถนะสูง เพื่อให้หน่วยงานสามารถรับมือกับสภาพการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

จากเดิมที่กองทุนมียุทธศาสตร์ 4 ด้านก็จะเพิ่มเป็น 5 ด้าน ประกอบด้วยการสร้างเสริมและสร้างคน , การสร้างภูมิคุ้มกัน , การสร้างองค์ความรู้ , การสร้างการมีส่วนร่วมและเครือข่าย และ สร้างองค์กรให้มีความพร้อมและเข้มแข็ง

ในปี 2565 มีงบประมาณจัดสรรทุนจำนวน 300 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ทุนเปิดรับทั่วไป ซึ่งมุ่งเปิดโอกาสให้ ผู้ที่ต้องการทำสื่อหน้าใหม่แต่ไม่มีแหล่งทุน ทุนเชิงยุทธศาสตร์ ที่มีการกำหนดประเด็นในปีนั้นๆที่กองทุนต้องการให้เกิดขึ้น และทุนประเภทความร่วมมือ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ซึ่งกองทุนทำหน้าที่เป็นภาคีในการสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆสามารถพัฒนาหรือสร้างสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้

นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สมาชิกวุฒิสภา , รองประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม
ศิลปะและวัฒนธรรม ได้อภิปรายรายงานฉบับดังกล่าวว่า ไม่ปรากฏผลการดำเนินงาน และความก้าวหน้าตามแผนยุทธศาสตร์กองทุนฯ ซึ่งหากมีการรายงานผลประจำปีตามตัวชี้วัดจะเป็นประโยชน์ต่อการทบทวนและความก้าวหน้าว่าบรรลุตัวชี้วัดใด อีกทั้งผลงานที่กองทุนสนับสนุน งบประมาณปี 2565 ไม่พบโครงการที่เป็นการ
เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ด้วยทุนวัฒนธรรม จึงเสนอแนะให้กองทุนฯ ทบทวน และพัฒนานิยามของสื่อปลอดภัย
และสร้างสรรค์ในมิติของสื่อศิลปะและวัฒนธรรมให้มีความชัดเจนเป็นรูปธรรมของการสนับสนุนในเชิงรุก

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา ได้อภิปรายตั้งข้อสังเกตว่า โครงการที่ใช้เม็ดเงินงบประมาณจำนวนมาก ทั้งโขนภาพยนตร์ หนุมาน ไวท์ มังกี้ , พระร่วง พระราชา ผู้ทรงธรรม เท่าที่ทราบ เป็นเรื่องราวที่ดี เพราะประชาชนจะได้รับรู้ราก , มรดกวัฒนธรรมของไทย แต่จะทำอย่างไรให้คนจำนวนมากได้เข้าถึงภาพยนตร์นี้

“นอกจากจะให้เงินโครงการใหญ่แล้ว เม็ดเงินควรต้องกระจายให้ไปอยู่ในมือของคนเล็กคนน้อย เพื่อจะได้สร้างสื่อที่ดีมากลบสื่อที่ไม่ดีได้”

ทั้งนี้ สมาชิกวุฒิสภา ต่างได้เสนอแนะให้มีการจัดทำแพลตฟอร์มของกองทุน ฯ รวมถึงให้ขยายไปช่องอื่นๆเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น สมาชิกวุฒิสภา หลายราย ก็ได้ให้กำลังใจผู้บริหาร ที่ได้จัดทำรายงานมาเข้าใจง่าย รวมถึงได้เสนอแนะ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการที่จะร่วมพัฒนาและสร้างสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น

ภายหลัง สมาชิกวุฒิสภาได้อภิปรายทั้งตั้งข้อสังเกต และเสนอแนะอย่างกว้างขวาง
ประธานวุฒิสภา ได้ให้โอกาสชี้แจง

โดย ดร.ธนกร ได้กล่าวขอบคุณสมาชิกวุฒิสภา พร้อมระบุว่า ผลงานที่สมาชิกวุฒิสภาเคยเสนอมา ขณะนี้หลายโครงการกำลังดำเนินซึ่งอาจจะเป็นผลงานเหลื่อมปี โดยรับปากทุกข้อสังเกต , ทุกข้อเสนอแนะ จะเสนอคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้รับทราบ

“ในส่วนของโขนภาพยนตร์ ไวท์ มังกี้ ที่สมาชิกมีความกังวลว่าคนต่างจังหวัดไม่มีสิทธิ์เข้าถึงนั้น ยืนยันว่าในอนาคต จะได้ชมผ่านหลายแพลตฟอร์ม ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการที่หารืออยู่ หลังจากผ่านการจัดฉายในโรงภาพยนตร์แล้ว ซึ่งทั้งกองทุนและผู้ผลิต ต่างมีลิขสิทธิ์ร่วมกันส่วนภาพยนตร์ พระร่วง พระราชาผู้ทรงธรรม แม้จะได้งบประมาณของปีนั้นมาจัดสร้าง แต่กระบวนกว่าจะสร้างเสร็จ ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ซึ่งยืนยันว่า หลังจากส่งมอบและจัดฉายผ่านโรงภาพยนตร์แล้ว ก็จำเป็นต้องจัดหาแพลตฟอร์มอื่น เพื่อให้ประชาขนเข้าถึงอย่างมากที่สุดด้วย”

นอกจากนั้น ดร.ธนกร กล่าวว่า ห้วงที่ผ่านมา กองทุนฯ ได้ทำ MOU กับหลายหน่วยงานทั้ง อสมท. ,สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ,สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

จึงเชื่อมั่นว่าหลังจากนี้ประชาชนจะมีช่องทางในการเข้าถึงสื่อของกองทุนที่หลากหลายมากขึ้น นอกจากแพลตฟอร์มของผู้รับทุน ที่ได้เสนอผ่านช่องทางที่หลากหลายแล้ว

โอกาสและความท้าทายของกองทุนสื่อ ภายใต้รัฐบาลใหม่

เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 66 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายของกองทุนสื่อ ภายใต้รัฐบาลใหม่”

โดยมีนักวิชาการ นักวิชาชีพ ด้านสื่อสารมวลชน และคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เข้าร่วม

ณ โรงแรม Away Bangkok Riverside Kene กทม.

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า การดำเนินงานของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์กำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 9

จากการประเมินผลการทำงานของคณะกรรมการประเมินผลฯ
ที่ผ่านมา กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีผลลัพธ์การดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจตามวัตถุประสงค์ที่มุ่งสนับสนุน ให้เกิดการสร้างสื่อที่ปลอดภัยสำหรับกลุ่มเยาวชนและครอบครัว

การมุ่งสนับสนุนสื่อที่มีคุณค่าในเชิงวัฒนธรรมที่เป็นการผลักดันในเกิดชอฟท์พาวเวอร์ ซึ่งเป็นปัจจัย สำคัญที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ความท้าทายหลากหลายเรื่องในการขับเคลื่อนให้ถึงความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กองทุนตั้งเป้าหมายไว้

‘ยกตัวอย่างเมื่อเราทำเป้าหมายเชิงสังคมได้แล้ว เราจะสามารถทำเป้าหมายเชิงเศรษฐกิจได้หรือไม่ ในเรื่องของการสร้างสื่อที่มาจากต้นทุนทางวัฒนธรรม ความเป็นไทย จากสิ่งที่เป็นวิถีชีวิต ภูมิปัญญา

เรื่องเล่าประวัติศาสตร์ เราจะแปลงสิ่งที่มีคุณค่านี้ไปสู่มูลค่าทางเศรษฐกิจได้หรือไม่

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ยังให้ความสำคัญกับการเติบโตของสังคมดิจิทัล เพราะสื่อดิจิทัลในปัจจุบันมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้และใช้งานของผู้คนในสังคมเพิ่มขึ้น

ยุคที่กระแสของโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้คนใช้เวลาอยู่กับสื่อต่าง ๆ และเข้าถึงสื่อได้อย่างรวดเร็ว เราจะเตรียมพร้อมรับมือและปรับใช้สื่อดิจิทัลในชีวิตประจำวันที่มีคุณอนันต์และโทษมหันต์ได้อย่างไรนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล และความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ล้วนทำให้การดำเนินงานของกองทุนสื่อในปัจจุบันและอนาคตเกิดความท้าทายเป็นอย่างมาก’

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า หวังว่ารัฐบาลใหม่ ,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมคนใหม่ ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนจะแอคทีฟมากขึ้น

เมื่อฝ่ายการเมืองแอคทีฟ ฝ่ายกองทุนเองก็ต้องแอคทีฟตามไปด้วย เมื่อตอนที่กองทุนสื่อ ได้เข้าไปนำเสนอรายงานประจำปีต่อสภาผู้แทนราษฏร ก็มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ มีหลายส่วนที่ต้องนำมาคิดและปรับวิธีการทำงานของกองทุนสื่อ รวมถึงการขยายขอบเขตภารกิจของกองทุนสื่อ เน้นสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อทำเรื่องทุนสนับสนุนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic grant)
ให้ทั่วถึงประชาชน รวมถึงปัญหาใหญ่เรื่องงบประมาณของกองทุนสื่อ ที่มาจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)

ซึ่งงบประมาณปี 2566 กว่าที่ กทปส. จะอนุมัติงบประมาณมาที่กองทุนสื่อ ก็ล่าช้ามาถึงไตรมาส 3 ต้องรอดูนโยบายของรัฐมนตรีคนใหม่ว่าจะมีเจตจำนงทางการเมืองต่อเรื่องนี้อย่างไร

การเสนอแก้กฏหมาย งบประมาณต้องชัดเจน เพื่อให้แก้ไขข้อจำกัดเหล่านี้ ให้ตรงและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนสื่อ

ขณะที่ด้านนายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ที่ปรึกษาพิเศษ บริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กองทุนสื่อถูกตั้งมาให้เป็นองค์กรอิสระ ไม่ขึ้นกับการเมือง ไม่ขึ้นกับกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ตามเจตนารมณ์แรกของการขับเคลื่อนให้เกิดกองทุน
ช่วงที่ผ่านมาบทบาทของกองทุนสื่อก็มีมากในบริบทของสื่อไทย

ในขณะเดียวกันฝ่ายการเมืองก็ถือว่ากองทุนสื่ออยู่ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งโดยเจตนารมย์ไม่ใช่ ถ้าการส่งเสริมสื่อไม่ได้อยู่ในบรรยากาศที่เป็นอิสระพอ ก็จะไม่ได้สื่อที่มีความสร้างสรรค์พอ ถ้าฝ่ายการเมือง รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม มีแรงผลักดันมากกว่านี้จะช่วยได้มาก กฏหมายจะไม่เป็นอุปสรรค และสื่อมันมีความหมายที่กว้าง การจะส่งเสริมเรื่อง ซอฟท์พาวเวอร์ ก็ต้องใช้สื่อ ดังนั้นก็จะไปเกี่ยวพันธ์กับหลายกระทรวง เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และอยากเห็นบทบาทของกองทุนสื่อในรัฐบาลชุดใหม่ที่มีนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟท์พาวเวอร์ ดีไซน์หลักสูตร ดีไซน์คอสเรียน เพื่อสร้างคนที่ผลิตคอนเท้นต์ใหม่ ๆ จะเป็นการยกระดับของกองทุนสื่อ

ด้าน รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รัฐบาลใหม่น่าจะมีนโยบายเชิงรุก ในประเด็น Soft Power ส่งออกเชิงวัฒนธรรมผ่านสื่อ มีแนวโน้มว่าน่าจะมีการบูรณาการการทำงานกันมากขึ้น ในเชิงของการใช้วัฒนธรรม การใช้สื่อและการสร้างเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์เพื่อหาเงินเข้าประเทศ

ซึ่งกองทุนสื่อเป็นเครื่องมือที่ช่วยผลักดันให้เกิดชอฟท์พาวเวอร์ โดยปรับตำแหน่ง ในการส่งเสริมด้านสื่อ ว่าควรจะยืนในทิศทางใด เพราะปัจจุบันมีหลายองค์กรที่ช่วยกันผลักดันในเรื่องนี้ เพื่อเป็นการบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

รวมถึงการกำหนดบทบาทภายใต้ระบบนิเวศสื่อที่มีการเปลี่ยนแปลง การสร้างแพลตฟอร์มต่างๆ ให้เข้ากับยุคสมัย กองทุนสื่อควรจะเป็นเครื่องมือในการผลักดันเรื่องนี้ เพราะสถาบันการศึกษามีขั้นตอนที่ค่อนข้างเยอะ ทำให้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันท่วงที

นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล ประธานกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และคณะ ต่างให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยระบุว่า การทำคอนเทนต์เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งยังต้องพัฒนาอีกมาก

‘การพัฒนาคอนเท้นต์ ครีเอเตอร์เป็นเรื่องสำคัญ ที่เกาหลีมีกองทุน ที่ทำเรื่องการพัฒนาบุคลากรโดยเฉพาะ รัฐบาลเกาหลีให้อิสระกับองค์กร ผลิตบุคลากรในวงการสื่อได้ทุกแขนงได้อย่างดีน่าชื่นชม

การทบทวนแก้ไข พรบ. กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ความท้าทายและโอกาสของกองทุนสื่อจะมีอย่างมหาศาล’

รับชมงานเสวนา “โอกาสและความท้าทายของกองทุนสื่อ ภายใต้รัฐบาลใหม่”ย้อนหลัง ได้ที่ https://fb.watch/mEtFiTutaZ/?mibextid=cr9u03

ร่วมผลักดัน บูรณาการเครือข่าย จัดการข่าวปลอม

(24 ส.ค.66) ที่โรงแรมเอส สุขุมวิท 31 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงานเสวนาวิชาการและแถลงความร่วมมือเพื่อบูรณาการและเสริมพลังการทำงานของเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริง (Thai Fact – Checking Network)

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า

ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้พฤติกรรมการบริโภคข่าวสารของสังคมได้เปลี่ยนไปอย่างมากนิยมบริโภคข่าวสารผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือไลน์ มากขึ้น

สื่อมวลชนกระแสหลักก็ต้องยิ่งปรับตัวเพื่อแข่งขันให้เท่าทันกับสื่อสังคมออนไลน์

ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า 1 ในปัญหาสำคัญที่มาพร้อมกับความรวดเร็วในการเปิดรับ และส่งต่อข่าวสารนั้น คือเรื่องของคุณภาพและความถูกต้อง อันเป็นช่องว่างในการแพร่กระจายของข่าวลวง (Fake News)

ที่ผ่านมา หน่วยงานต่าง ๆ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้มีความพยายามในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวสาร ทั้งจากภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ สื่อมวลชน และภาคสังคม

อาทิ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย, ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ โดยสำนักข่าวไทย, โคแฟค (Cofact) ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายทั้งในประเทศ และระดับนานาชาติอย่างเครือข่ายการตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับนานาชาติ (International   Fact Checking Network หรือ IFCN)

รวมถึงความพยายามในการบริหารจัดการกับข่าวปลอมจากเจ้าของแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์ เป็นต้น

 ซึ่งแต่ละภาคส่วนล้วนมีจุดแข็งและความถนัดในการทำงานที่แตกต่างกัน รวมถึงอาจยังมีช่องว่างในการทำงาน ที่ต้องการกลไกในการช่วยเชื่อมร้อย บูรณาการ และสนับสนุน

‘ภารกิจสำคัญของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ คือ ส่งเสริมและสนับสนุน ตลอดจนการสร้างการมีส่วนร่วมของสังคม ให้มีการศึกษาวิจัย อบรม พัฒนาองค์ความรู้และการสร้างนวัตกรรมด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ได้เล็งเห็นความสำคัญในการเชื่อมร้อยภาคีเครือข่าย และกลไกตรวจสอบข่าวปลอมจากภาคส่วนต่าง ๆ  โดยเห็นควรให้มีการดำเนินโครงการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานภาคีศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม 

ดังนั้นเพื่อเป็นการเสริมพลัง ตลอดจนพัฒนาแนวทางการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนของสังคมที่เกี่ยวข้องในการรับมือกับปัญหาข่าวปลอม ผ่านการศึกษาตามหลักวิชาการ และการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีต่อหน่วยงานภาคีศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมในแต่ละภูมิภาค’

สเตฟาน เดลโฟร์ หัวหน้าสำนักข่าว Agence France-Presse (เอเอฟพี) ประจำกรุงเทพ ประเทศไทยรายงานผลการศึกษา “แนวทางการทำงาน และออกแบบระบบสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อบูรณาการและเสริมพลังภาคีเครือข่ายหน่วยงานตรวจสอบข้อเท็จจริง”

จาก 2 สถาบันชั้นนำ คือ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  

วงเสวนา”ถอดบทเรียนการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเทศไทย สู่การสร้างความร่วมมือของภาคีเครือข่าย”

โดย กุลธิดา สามะพุทธิ  Fact checker ประจำกองบรรณาธิการ Co-Fact ประเทศไทย,

พีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท,

ดร.สันติภาพ เพิ่มมงคลทรัพย์ รองผู้อํานวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

และ ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ร่วมสรุปในเวทีเสวนา

“สถานการณ์ข่าวลวงในปัจจุบันได้เลวร้ายลงมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนรวมถึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม มีความพยายามในการแก้ปัญหาข้อมูลข่าวปลอม การโฆษณาชวนเชื่อ ข้อมูลบิดเบือนที่มีการเผยแพร่ไปอย่างรวดเร็วมาก

สิ่งที่องค์กรสื่อชั้นนำทั่วโลก กำลังทำอยู่คือพัฒนาแนวทางเทคนิคการตรวจสอบโดยเทคโนโลยีดิจิตอล และมีการทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงทางดิจิตอล หลักการสำคัญคือ การคัดกรองข้อมูลที่จะสามารถสร้างผลกระทบได้ในวงกว้าง และข้อมูลที่จะสามารถสร้างความเสียหายได้อย่างรุนแรง

สื่อที่ดีคือสื่อที่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และสำนักข่าวทุกแห่งต้องการที่จะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน  การทำงานเป็น Fact Checker หรือผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง”

ขณะที่ ผลการศึกษาวิจัย ด้านแผนงานบูรณาการการทำงานของหน่วยงานภาคีเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าต้องมีแนวทางในการจัดการปัญหาข่าวปลอม  โดยการตรวจสอบแหล่งที่มา รายละเอียดข้อเท็จจริงและให้ความรู้กับประชาชน

ในการใช้เครื่องมือแอปพลิเคชั่นที่มีอยู่แล้ว และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ Social Listening Tool  มีการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อตรวจสอบระหว่างแพลตฟอร์ม และหากเป็นไปได้ควรมีองค์กรกลางที่เชื่อมประสานแพลตฟอร์มต่างๆ รวมถึงการออกข้อกฎหมายควบคุมให้เกิดการรับผิดชอบต่อข้อมูล

สำหรับแนวทางในการพัฒนากลไกการตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น ต้องมีการผลักดันทั้งทางด้านนโยบาย ให้ความสำคัญเป็นวาระแห่งชาติ มีการจัดตั้งหน่วยงานอิสระที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบโดยตรง ไปจนถึงการสร้างภาคีเครือข่ายทำงานร่วมกันทั้ง รัฐ เอกชน และประชาชน

ควรจัดตั้งเป็นคณะกรรมการทำงานร่วมกัน และมีกฏหมายที่ชัดเจนมารองรับ ควรมีแพลตฟอร์มให้ประชาชนจัดทำระบบคัดกรองและกำกับดูแล จัดทำฐานข้อมูล (Database) สร้าง Application ในการตรวจสอบ สร้างเว็บไซต์ มีช่องทางในการร้องเรียน แจ้งปัญหา ให้ประชาชนเข้าถึงง่ายและรวดเร็ว มีการพัฒนาระบบค่าตอบแทนในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อเพิ่มแรงจูงใจ ให้คนวงกว้างร่วมกันตรวจสอบ

โดยผลการศึกษา ได้ออกแบบแผนการบูรณาการการทำงานของหน่วยภาคีตรวจสอบข้อเท็จจริงออกเป็น 3 ระยะคือระสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ผ่านการบูรณาการ 4 ประเด็น ได้แก่

  1. คน : ในระยะสั้นพยายามให้ความรู้ด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงแก่บุคลากรที่มีอยู่ และขยายไปสู่ระยะกลางในการสร้างบรรณาธิการตรวจสอบและผู้ที่สามารถฝึกอบรมเพื่อไปขยายผล

และในระยะยาวนำไปสู่การพัฒนาบุคคลากรในการบริหารจัดการองค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริง

  1. เงิน : ในระยะสั้นมีการระดมแนวทางในการหาทุน ไปสู่ระยะกลางที่จะมีการระดมทุนจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับสื่อทั้งในและนอกประเทศ

และในระยะยาวจะมีการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการใช้เงินค่าปรับจากการทำความผิดด้านข้อมูลข่าวสารมาใช้ในการทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง

  1. วัสดุอุปกรณ์ : ในระยะสั้นจะเป็นการจัดหาเครื่องมือที่จำเป็นในการทำงานตรวจสอบ ระยะกลางเป็นการขยายระบบงานเทคโนโลยีให้มีความเชื่อมต่อกัน

และในระยะยาวควรมีการพัฒนาระบบที่จะเป็นฐานข้อมูลกลางทั้งในการตรวจสอบเผยแพร่ข้อมูล และนำเทคโนโลยี AI มาช่วยในการทำงาน

  1. การบริหารจัดการ : ในระยะสั้นควรมีการสร้างเครือข่ายในเชิงพื้นที่และเชิงประเด็น และมีการพัฒนายกระดับความสัมพันธ์ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นในระยะกลาง

และในระยะยาวพยายามสานต่อการทำงานร่วมกันไปจนถึงการผลักดันให้เกิดการยกระดับองค์กรตรวจสอบให้ได้รับการรองรับตามมาตรฐานสากล เช่น IFCN เป็นต้น

“มโนราห์ คุณค่าไทยสู่สากล”

(19 ส.ค. 2666) “มโนราห์ คุณค่าไทยสู่สากล”

รายการโทรทัศน์ที่ได้รับทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  นำเสนอศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของประเทศไทยที่สะท้อนให้เห็นถึงมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่เต็มไปด้วยอัตลักษณ์โดดเด่นทางด้านศิลปะการแสดงที่มีพัฒนาการสืบทอด และส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นอย่างยาวนาน

อีกทั้งยังเป็น “นาฏยลักษณ์แห่งปักษ์ใต้”  ที่ผู้คนรู้จักกันดีในฐานะมหรสพการแสดงที่งดงาม ทรงพลัง และเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวแห่งวิถีชีวิต ที่ให้อรรถรสครบในทุกมิติการแสดง ทั้งเครื่องแต่งกาย อันปราณีตมีสีสันงดงามเป็นเอกลักษณ์ ท่วงท่าการร่ายรำที่แข็งแรงคล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง บทเพลงขับขานที่เปี่ยมไปด้วยไหวพริบปฏิภาณในการด้นกลอนสดด้วยสำเนียงท้องถิ่น

ตลอดรวมไปจนถึงเครื่องดนตรีหลากหลายชนิดที่บรรเลงเพลง เคาะจังหวะ จนทำให้การแสดง “โนรา” เต็มไปด้วยมนต์ขลังมานานนับศตวรรษ จนได้รับการการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒

บรรยากาศพิธีไหว้ครูโนราเพื่อแสดงความกตเวทิตาคุณต่อครูหมอโนราและเปิดฤกษ์เอาชัยในการถ่ายทำรายการ “มโนราห์ คุณค่าไทยสู่สากล” จัดขึ้นที่ โนราบ้าน 168 ถ.นครใน อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งเป็นสถานที่ที่รวบรวมศิลปะพื้นบ้านโนรา กลิ่นอายการแสดงออกถึงชาติพันธุ์ความเป็นใต้ ศาสตร์เก่าแก่ที่อยู่คู่ชาติไทยมาอย่างยาวนาน

ในวันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม 2566 โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เข้าร่วมเป็นประธานในพิธีดังกล่าวร่วมกับ อาจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ที่ปรึกษารายการ  ภายในงานนอกจากมีพิธีไหว้ครูแล้ว ยังมี “การร่ายรำมโนราห์” เพื่อถวายแก่ครูหมอโนรา โดยนักศึกษาจากสาขาวิชาศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณสงขลา

 

รายการ “มโนราห์ คุณค่าไทยสู่สากล” จะออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 MCOT กด 30 ทุกวันเสาร์
ช่วงเวลาระหว่าง 09.00 น. – 09.30 น. ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 เป็นต้นไป