เลือกหน้า

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เปิดรับข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมเพื่อขอรับการสนับสนุนเงิน ประจำปี 2567

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
เปิดรับข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมเพื่อขอรับการสนับสนุนเงิน ประจำปี 2567


วงเงินงบประมาณ 300 ล้านบาท
ประเภทเปิดรับทั่วไป 80 ล้านบาท
ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ 180 ล้านบาท
ประเภทความร่วมมือ 40 ล้านบาท

ยื่นข้อเสนอผ่านระบบออนไลน์
ตั้งแต่วันที่ 1 – 31 ตุลาคม 2566 ภายในเวลา 16.30 น.
ผู้สนใจสามารถยื่นข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมได้ทางเว็บไซต์ https://granting.thaimediafund.or.th/
หรือสแกนคิวอาร์โค้ด

ติดตาม “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ได้ที่
Website : www.thaimediafund.or.th
Facebook : กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
Youtube : www.youtube.com/c/ThaiMediaFund
Line official : @thaimediafund

Thailand Soft Power ‘’เสน่ห์ไทย’’ ครองใจโลก

(28 กันยายน 2566) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมด้วย บริษัท ท็อปนิวส์ ดิจิตัล มีเดีย จำกัด จัดแถลงข่าวเปิดตัวรายการพิเศษ

“เสน่ห์ไทย” โดยมี ร้อยโท ดร.ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวเปิดงาน จากนั้น ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ขึ้นกล่าว Special Talk ในหัอข้อ “Thailand Soft Power พลังแห่งการสร้างสรรค์ เสน่ห์ไทยครองใจโลก”

สำหรับเนื้อหาและรูปแบบของรายการ “เสน่ห์ไทย” เป็นรายการวาไรตี้ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ ทั่วไทย บอกเล่าเรื่องราวโดยสามหนุ่มอารมณ์ดี กนก รัตน์วงศ์สกุล ธีระ ธัญไพบูลย์ สันติสุข มะโรงศรี ที่จะมาเปิดมุมมองเสน่ห์เมืองไทย 6 เรื่องราว 6 ตอนพิเศษ

เพื่อส่งเสริมความเข้าใจ และการรับรู้ในการสร้างมูลค่าเชิงวัฒนธรรม เกี่ยวกับ Soft Power ของเมืองไทย ภายใต้แนวความคิด “Thailand Soft Power เสน่ห์ไทยครองใจโลก”

ซึ่งภายในงาน พิธีกรสุดฮอตทั้งสามคนได้ออกมาร่วมพูดคุยถึงความพิเศษที่เป็นไฮไลท์ของทั้ง 6 ตอน พร้อมเปิดให้ชมตัวอย่างรายการ ตอน “เสน่ห์ทุเรียน ราชาผลไม้” ที่โด่งดังไปทั่วโลก

ซึ่งภายในงาน พิธีกรสุดฮอตทั้งสามคนได้ออกมาร่วมพูดคุยถึงความพิเศษที่เป็นไฮไลท์ของทั้ง 6 ตอน พร้อมเปิดให้ชมตัวอย่างรายการ ตอน “เสน่ห์ทุเรียน ราชาผลไม้” ที่โด่งดังไปทั่วโลก

นอกจากการบอกเล่าเรื่องราวบนเวทีแล้ว ท็อปนิวส์ฯ ผู้ผลิตรายการ ยังสร้างสีสันบรรยากาศให้เห็นภาพเสน่ห์ไทยในด้านต่างๆ อาทิ “ผลไม้ไทยแปรรูป” โดยบริษัท ควีน โฟรเซ่น ฟรุ๊ต จำกัด ได้นำสารพัดเมนูทุเรียนมาไว้ในงาน เช่น ลาซานญ่าทุเรียน ทุเรียนอบ ทุเรียนสดแกะเนื้อ ช็อคโกแลตทุเรียน ยำทุเรียน ลาบทุเรียน และทุเรียนเสียบไม้แช่แข็ง เพื่อให้เห็นถึงการประยุกต์ และสร้างสรรค์สู่ระดับสากลอย่างน่าทึ่ง

ด้านเสน่ห์ครัวไทย ก็นำ “ขนมไทย” ของหวานนานาชนิด ที่พิถีพิถันในขั้นตอนการทำ มีภาพลักษณ์และรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ พร้อม “น้ำสมุนไพร” มากคุณประโยชน์ อย่าง น้ำใบบัวบก น้ำตะไคร้ และน้ำอัญชันมะนาว มาให้ชมและลิ้มลองกัน

ส่วนประเภทอาหารที่ขึ้นชื่อของบ้านเรา ที่คนทั่วโลกรู้จักในนาม “สตรีทฟู้ด” ก็นำมาโชว์และให้ผู้ที่มาร่วมงานได้ชิม โดยยกร้านก่วงเฮง ที่มีทั้งข้าวมันไก่ และกระเพาะปลามาเสิร์ฟความอิ่มอร่อยกันถึงที่

นอกจากนี้ ยังมีซุ้ม “เสน่ห์แพทย์ทางเลือก” โดยเป็นการสาธิตและนวดกันจริงๆ จากโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพน ให้ทุกคนได้ผ่อนคลาย และสัมผัสถึงมรดกวัฒนธรรมทางภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่าอีกด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าบ้านเรามีรากเหง้าทางวัฒนธรรมไทยที่หลากหลาย และเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่า “เสน่ห์ไทย” จึงเป็น soft power ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สินค้า และการบริการในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำในทุกมิติทางวัฒนธรรม

“เสน่ห์ไทย” จึงพร้อมแล้วที่จะพาทุกท่านไปพบกับเสน่ห์แบบไทยๆ ที่ยิ่งดูแล้วจะยิ่งหลงรักเมืองไทยมากกว่าเดิม และจะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไทยมากขึ้น ทั้งส่งผลไปยังแนวความคิดของคนรุ่นหลัง ให้ร่วมกันสานต่อสิ่งดีๆ และร่วมสร้างภาพลักษณ์ประเทศให้ยังคงรุ่มรวยทางวัฒนธรรม และทรงอิทธิพลของโลกได้ในอนาคต

สำหรับรายการเสน่ห์ไทยทั้ง 6 ตอนพิเศษ ออกอากาศทางช่อง JKN 18 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.55-11.45 น. โดยสามารถรับชมย้อนหลังผ่านช่องทาง YouTube ที่มี Subtitle 2 ภาษา (อังกฤษ-จีน) โดยการผลิตจำนวน 6 ตอน มีดังนี้

•ตอนที่ 1 ทุเรียน เสน่ห์ผลไม้ไทย ออกอากาศวันอาทิตย์ที่ 8 ตุลาคม 2566
•ตอนที่ 2 นวดแผนไทย เสน่ห์แพทย์ทางเลือก ออกอากาศวันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม 2566
•ตอนที่ 3 Street Food เสน่ห์ครัวไทยครองใจโลก ออกอากาศวันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน 2566
•ตอนที่ 4 ฟ้าทะลายโจร เสน่ห์สมุนไพรไทย ออกอากาศวันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน 2566
•ตอนที่ 5 เรือนไทย เสน่ห์ไทยสถาปัตย์ ออกอากาศวันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม 2566
•ตอนที่ 6 ถนนคนเดิน เสน่ห์ชุมชนวิถีไทย ออกอากาศวันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม 2566

กองทุนสื่อ จัดติวเข้ม “Content Creator Empowerment”เตรียมความพร้อมผู้สนใจยื่นรับทุนปี 67

(26 ก.ย. 66) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดติวเข้ม “Content Creator Empowerment เตรียมความพร้อมนักสร้างสื่อ” สำหรับผู้ที่สนใจยื่นรับทุนสนับสนุนประจำปี 2567

ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ และผ่านระบบออนไลน์

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้ดำเนินการจัดสรรทุนเพื่อรณรงค์ส่งเสริมการพัฒนาสื่อ นับตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน โดยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เป้าหมายและความตั้งใจของกองทุนคือเราต้องการผู้รับทุนที่มีความคิดสร้างสรรค์ แตกต่างอย่างหลากหลาย ประชาชนเข้าถึง เข้าใจ และ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

 โดยในปี 2567 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรทุน โดยแบ่งประเภทของทุนออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

 ทุนประเภทเปิดรับทั่วไป วงเงิน 80 ล้านบาท

เป็นทุนในการสร้างพื้นที่เปิดโอกาสสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งเปิดกว้างในการผลิตเนื้อหา รวมถึงรูปแบบในการนำเสนอให้เป็นไปตามความคิดสร้างสรรค์ของผู้ขอทุน  ซึ่งเป็นทุนสำหรับผู้ผลิตหน้าใหม่ ที่สร้างโอกาสให้กับผู้คนทุกภูมิภาค โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มเด็กและเยาวชน
  • กลุ่มผู้สูงอายุ
  • กลุ่มคนพิการและผู้ด้อยโอกาส
  • กลุ่มประชาชนทั่วไป

ทุนประเภทยุทธศาสตร์ วงเงิน 180 ล้านบาท

เป็นทุนที่ต้องการให้ผลงานสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม ที่ทางกองทุนให้ความสำคัญและต้องการให้เกิดขึ้น โดยกำหนดประเด็นเนื้อหาการผลิตที่มีเป้าหมายสำคัญ 6 ประเด็นด้วยกัน คือ

1.พหุวัฒนธรรมและความหลากหลายทางสังคม

2.ทักษะการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ รวมถึงการรับมือกับข้อมูลบิดเบือน ประทุษวาจา และการระรานในโลกออนไลน์

3.การสร้างมูลค่าจากประเด็นเชิงวัฒนธรรม (Soft Power) อยากให้มองในเรื่องของการใช้นวัตกรรมสื่อ เพื่อสร้างการรับรู้ในต่างประเทศ และระดับโลก

4.ผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กและเยาวชน

5.ผลิตละครชุดเพื่อส่งเสริมศีลธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม และความมั่นคง

6.ผลิตภาพยนตร์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามัคคี และสามารถใช้ชีวิตในสังคมที่มีความหลากหลายได้อย่างเป็นสุข

 ทุนประเภทความร่วมมือ 40 ล้านบาท ที่ต้องการให้ภาคีเครือข่ายเข้ามาสร้างสรรค์ผลงานร่วมกับกองทุน

 ทั้งนี้ ‘สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม’ ที่กองทุนตั้งใจดำเนินการขยายผล โดยเป้าหมายสำคัญของการให้ทุนคือการสร้างสรรค์และสนับสนุนให้เกิดสื่อดีมีคุณภาพ ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามัคคี ใช้ชีวิตในสังคมที่มีความหลากหลายอย่างเป็นสุข และขจัดสื่อร้ายที่สร้างความเกลียดชัง ไม่ปลอดภัย ไม่สร้างสรรค์ให้น้อยลง พร้อมทั้งค้นหาผู้ผลิตสื่อที่มีความสามารถและศักยภาพเพื่อสร้างสรรค์นิเวศสื่อที่ดีให้กับสังคม

 “ฝากถึงผู้ยื่นขอรับทุนประจำปี 2567 ในการยื่นขอรับทุน ให้มีการเตรียมความพร้อมและหลีกเลี่ยงการยื่นในช่วง 5 วันสุดท้าย เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากระบบ และหวังว่าจะได้ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานดีๆออกสู่สังคมร่วมกับทุกคน”

ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

กล่าวถึงไทม์ไลน์ และ กระบวนการและหลักเกณฑ์การพิจารณา ข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรม ว่าจะเปิดระบบในเดือนตุลาคม ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 66 ซึ่งเป็นวันแรกของการเปิดรับข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมประจำปี 2567 โดยสามารถยื่นสมัครได้ผ่าน www.thaimediafund.or.th ตั้งแต่เวลา 8.30 น. ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2566 เวลา 16.30 น.

 ภายในเดือนตุลาคมนี้ จะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ คณะทำงานพิจารณาและพัฒนาข้อเสนอโครงการฯ จากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ นักวิชาชีพ ที่มีประสบการณ์การทำงานที่ตอบโจทย์แก่กองทุน

 เดือนพฤศจิกายน สำนักงานตรวจสอบเอกสารหลักฐานเบื้องต้น และจัดทำข้อมูลสรุป

เดือนธันวาคม 66 – กุมภาพันธ์ 67 พิจารณาข้อเสนอโครงการ โดยมีคณะทำงานพิจารณาและพัฒนาข้อเสนอโครงการฯ พิจารณากลั่นกรองโครงการเบื้องต้น

 ต่อมาจะมีคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณากลั่นกรองโครงการและสุดท้ายคณะอนุกรรมการบริหารฯ พิจารณาอนุมัติโครงการ

เดือนมีนาคม 67 คณะกรรมการกองทุนฯ รับทราบผลการอนุมัติโครงการ และทำการประกาศผลการพิจารณาอนุมัติโครงการหรือกิจกรรมฯ ประจำปี 2567 และทำสัญญาภายในเดือนนี้

 ประเด็นหลักเกณฑ์การพิจารณาและคัดเลือกโครงการเพื่อรับทุนสนับสนุน ประจำปี 2567 โดยมีทั้งสิ้น 5 ข้อ ได้แก่

1.ความสอดคล้องกับโจทย์และภารกิจของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะต้องสอดคล้องกับ วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งกองทุน ตามมาตรา 5 ของ พระราชบัญญัติกองทุน พัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558

มีการแจกแจงขอบเขตงาน พร้อมรายละเอียด และวิธีการดำเนินงาน โดยมี วิธีการดำเนินงานที่สอดคล้องตามข้อกำหนดขอบเขตของงาน มีการจำแนกตัวชี้วัดที่เหมาะสม โดยให้ ความสำคัญจากการแสดงถึงรายละเอียดที่ชัดเจน สามารถดำเนินการได้จริงจำแนกเป็นขั้นตอน ครอบคลุมทุก กิจกรรม

2.คุณภาพของข้อเสนอโครงการ

คุณภาพของข้อเสนอโครงการ,แผนการดำเนินงาน และการบริหารจัดการโครงการ รวมถึงความสำคัญและความน่าสนใจ โดยจะต้องมีกิจกรรมที่ออกแบบได้น่าสนใจ มีความหลากหลายในวิธีการดำเนินการ มีความแตกต่าง โดดเด่นจากโครงการอื่น สามารถสร้างผลกระทบ (Impact) ได้ในวงกว้าง

  1. ผลกระทบเชิงบวกที่คาดว่าจะได้รับ ว่าโครงการดังกล่าวสามารถก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกได้ในระดับต่าง ๆ ได้อย่างไร

    –ผลกระทบเชิงบวกระดับที่ 1 : สามารถเห็นผลกระทบเชิงบวกกับกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ในทันที ตั้งแต่ช่วงระหว่างการดำเนินโครงการ

   –ผลกระทบเชิงบวกระดับที่ 2 : สามารถเห็นผลกระทบเชิงบวกที่อาจต่อเนื่องถึง 1 ปีหลังจากส่งมอบผลงาน และสามารถนำผลงานไปต่อยอดเพื่อขยายผลกระทบเชิงบวกในวงกว้างขึ้นกว่ากลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้

   –ผลกระทบเชิงบวกระดับ 3 : สามารถเห็นผลกระทบเชิงบวกที่มีความต่อเนื่องมากกว่า 1 ปีหลังจากส่ง มอบผลงาน และสามารถนำผลงานไปต่อยอดเพื่อขยายผลกระทบเชิงบวกในระดับประเทศหรือระดับนานาชาติ

  1. ความเหมาะสมของงบประมาณที่ขอสนับสนุน

   –มีลักษณะและจำนวนของกลุ่มเป้าหมายที่กำหนด ทั้งขอบเขตการดำเนินงาน/กิจกรรม ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่กำหนด รวมถึงขนาดของพื้นที่ในการดำเนินการ และ ความคุ้มค่าของงบประมาณเมื่อเปรียบเทียบกับผลผลิตที่ได้รับ

5.ความน่าเชื่อถือของผู้ขอรับการสนับสนุนและความเป็นไปได้ของโครงการ

   –ประวัติ และจำนวนของบุคลากรของผู้ขอรับการสนับสนุนทุนตรงกับขอบเขตของงานที่กำหนดไว้ใน ข้อเสนอโครงการ

   –ผลงานที่ผ่านมาของผู้ขอรับการสนับสนุนทุนมีความสอดคล้องกับขอบเขตของงานที่กำหนดไว้ในข้อเสนอโครงการ

 

นางสาว พัชรพร พงษ์ทัดศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ

ร่วมตอบคำถามในประเด็น “เขียนโครงการแบบไหน อย่างไร  ให้เข้าตากรรมการ”โดยแนะนำถึงหลักในการเขียนโครงการขอทุนกับกองทุนสื่อ ว่าควรสรุปรายละเอียดของทั้งโครงการให้กระชับ เข้าใจ และครบถ้วน ตอบโจทย์กับวัตถุประสงค์ของกองทุน มีความคิดสร้างสรรค์ มีความน่าเชื่อถือ และมีความเป็นไปได้

โดยยึดหลัก 5 W 1 H =Who-What-When-Where-Why + How เขียนให้สอดคล้องกับโจทย์ของผู้ให้ทุน คำนึงถึงความคุ้มค่า ค่าเหมาะสมกับงบประมาณ เพราะมีการแข่งขันที่นับว่าค่อนข้างสูง เราต้องเขียนให้ชัดเจน ตอบโจทย์ ครบประเด็น ดึงจุดเด่นของผลงาน ให้คณะกรรมเห็นชัดเจน

ร้อยโท ดร. ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ  ข้อควรระวังเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญหา 

กล่าวว่า การที่เราได้ทุนไปสร้างหนัง ภาพยนตร์ สร้างผลงาน นับเป็นโอกาสที่ดีที่เราได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ขอให้ผู้รับทุนทุกท่านใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตนเองให้ได้มากที่สุด ในการสร้างสื่อไม่ว่าจะเป็นประเภทใดก็ตาม

ทรัพย์สินทางปัญญา คืองานสร้างสรรค์ประเภทต่างๆ โดยผลงานของกองทุนเองเรามีผลงานสร้างสรรค์ที่หลากหลายทั้ง ละคร ซีรี่ส์ ภาพยนตร์ ทางด้านกฎหมายจะจัดอยู่ในงานที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ 

 ในส่วนของข้อควรระวังในข้อกฎหมาย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ กฎหมายลิขสิทธิ์จะให้ความคุ้มครองงานที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมาเอง ไม่ลอกเลียนแบบ ไม่ดัดแปลง และในปัจจุบันทางกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เรามีฝ่ายเพิ่มมูลค่า ที่จะช่วยต่อยอดจากผลงานให้เกิดรายได้  ดังนั้นการทำงานจะต้องมีการตกลงร่วมกันที่ชัดเจน ทั้งด้านลิขสิทธิ์ และด้านธุรกิจ

 

ทั้งนี้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้เปิดรับข้อเสนอตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – วันที่ 31 ตุลาคม 2566 ภายในเวลา 16.30 น.

 ผู้สนใจสามารถยื่นข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมได้ทางเว็บไซต์กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ www.thaimediafund.or.th

 และติดตามข้อมูลข่าวสารทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
โทรศัพท์ 02-273-0116-9

สำรวจความสนใจโลกออนไลน์ ครึ่งแรกของปี 66 การเมือง-การเลือกตั้งนำลิ่ว ตามด้วยประเด็นบันเทิง

สำรวจความสนใจโลกออนไลน์ ครึ่งแรกของปี 66 การเมือง-การเลือกตั้งนำลิ่ว ตามด้วยประเด็นบันเทิง

Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ Wisesight สำรวจการสื่อสารทางออนไลน์ของสังคมไทยช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2566 โดยใช้เครื่องมือ ZocialEye สำรวจจาก 4 แพลตฟอร์มออนไลน์ คือ Facebook, Twitter, Instagram และ YouTube เพื่อสรุป 10 ประเด็นที่พูดถึงมากที่สุดในแต่ละเดือน

สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 ประเด็นที่ได้รับ Engagement สูงสุด 10 อันดับแรกเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการเมืองโดยเฉพาะการเลือกตั้งและการปราศรัยของพรรคการเมืองต่าง ๆ รองลงมาเป็นประเด็นเกี่ยวกับสื่อบันเทิง เช่น กิจกรรม Outing ของดารานักแสดงบริษัท GMMTV ภายใต้ #GmmtvOuting2023, ละครเรื่องมาตาลดาที่มีเนื้อหาของกลุ่ม LGBTQ, กระแสป๊อปคัลเจอร์ของเพลงธาตุทองซาวด์ของยังโอมที่ทำให้การแต่งกายในยุค Y2K หรือการนำภาพในช่วง Y2K กลับมานิยมอีกครั้ง, การประกวด Miss Grand Thailand รอบสุดท้าย รวมไปถึงการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่ประเทศกัมพูชาทั้งในประเด็นดราม่าการจัดงาน การใช้นักกีฬาโอนสัญชาติ และการส่งแรงใจไปเชียร์นักกีฬาทีมชาติในการแข่งขันครั้งนี้

 

ประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุด 10 อันดับในสื่อสังคมออนไลน์ช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2566

อันดับที่ 1 ความเห็นต่อการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคก้าวไกล

ส่วนใหญ่มาจากโพสต์การปราศรัยตามจังหวัดต่าง ๆ และการโพสต์ภาพพิธา ลิ้มเจริญรัตน์บนเวทีหาเสียงที่ติด Hashtag พรรคก้าวไกล นอกจากนั้นเป็นการโพสต์หาเสียงของผู้สมัครอื่น เช่น รักชนก ศรีนอก, ชัยธวัฒน์ ตุลาธน, วาโย อัศวรุ่งเรือง เป็นต้น โดยผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์แสดงออกในเชิงชื่นชอบการหาเสียงและนโยบายที่เน้นแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง

อันดับที่ 2 การจัดดีเบตและเชิญชวนให้ไปเลือกตั้ง

เป็นการกล่าวถึงการจัดดีเบตในที่ต่าง ๆ แล้วติด Hashtag ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เช่น การโพสต์ของผู้สมัครรับเลือกตั้งเชิญชวนออกไปเลือกตั้ง การโพสต์ของประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม

อันดับที่ 3 พรรคก้าวไกลประกาศจัดตั้งรัฐบาล

หลังจากที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประกาศจัดตั้งรัฐบาลที่มีพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เป็นนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้ประเด็นดังกล่าวถูกพูดถึงมากทั้งจากสื่อต่าง ๆ และผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ทั่วไป โดยประเด็นที่พูดถึงมากที่สุดมาจากข่าวการประกาศจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล

อันดับที่ 4 ตำหนิ กกต. จัดการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส

ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ตำหนิการจัดการเลือกตั้งของ กกต. โดยเป็นการกล่าวถึงการทำงานที่ไม่โปร่งใสของ กกต. ในบางเขต การแอบอ้างนำบัตรประชาชนของชาวบ้านไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าที่จังหวัดอำนาจเจริญ การประกาศไม่นับคะแนนจากบัตรนอกราชอาณาจักรในจังหวัดฉะเชิงเทรา ทำให้เกิดกระแสการลงชื่อเพื่อถอดถอน กกต. ในสื่อสังคมออนไลน์

อันดับที่ 5 ความเห็นต่อนโยบายของพรรคเพื่อไทย

ส่วนใหญ่เป็นการกล่าวถึงนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท และการปราศรัยใหญ่ของพรรคเพื่อไทยที่เปิดตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและการกล่าวถึงการร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล

อันดับที่ 6 กิจกรรม #GmmtvOuting2023

Hashtag ดังกล่าวมาจากกิจกรรม Outing ในช่วงเดือนมีนาคมของดารานักแสดงในสังกัดบริษัท GMMTV ที่ส่งผลให้กลุ่มแฟนคลับดารานักแสดงเข้ามามีปฏิสัมพันธ์เป็นจำนวนมากจากการแชร์คลิปหรือภาพดาราที่ชื่นชอบ

 อันดับที่ 7 ดราม่าในการแข่งขันซีเกมส์ที่กัมพูชา

ส่วนใหญ่มาจากการสรุปเหรียญรางวัล การกล่าวถึงเจ้าภาพกัมพูชาที่จ้างนักกีฬาโอนสัญชาติมาแข่งกีฬา เพื่อให้ได้เหรียญทองมากที่สุดและประเด็นดราม่าอื่น ๆ เช่น การตะลุมบอนกันระหว่างนักฟุตบอลทีมชาติไทยกับทีมชาติอินโดนีเซีย ความไม่พร้อมของหมู่บ้านนักกีฬา

อันดับที่ 8 มาตาลดา ละครน้ำดีในช่วง Pride Month

ละครเรื่องมาตาลดาถูกกล่าวถึงอย่างมากในช่วงเดือนมิถุนายนที่เป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองกลุ่ม LQBTQ ทำให้ละครซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นเดียวกันนี้ถูกพูดถึงไปด้วย โดยกระแสส่วนใหญ่จะเป็นการตัดคลิปสั้น ๆ ที่เป็น Highlight ของละครมาโพสต์ในช่องทางต่าง ๆ

อันดับที่ 9 เพลงธาตุทองซาวด์กับแฟชั่นยุค Y2K

เพลงธาตุทองซาวด์ที่ถูกโพสต์ในช่วงเดือนเมษายน ส่งผลให้ได้รับความนิยมเป็นจำนวนมากและยังสร้างกระแส Y2K ต่อเนื่อง มีการโพสต์ภาพของตนเองในอดีตหรือภาพการแต่งกายในแฟชั่น Y2K เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นเพลงนี้ยังโด่งดังไกลไปต่างประเทศอย่างประเทศเกาหลีใต้ที่นำเพลงดังกล่าวไปเปิดในผับ

อันดับที่ 10 การประกวด Miss Grand Thailand รอบสุดท้าย

การประกวดรอบสุดท้ายของ Miss Grand Thailand ส่งผลให้ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นแฟนคลับการประกวดนางงามเข้ามามีปฏิสัมพันธ์จำนวนมาก รวมไปถึงดราม่าของผู้ประกวดบางคนอย่างเฌอเอม ชญาธนุส ศรทัตต์ ที่ปฏิเสธกิจกรรมการดูดวงบนเวทีต่อหน้าคุณณวัฒน์ อิสรไกรศีล ผู้จัดการประกวด เป็นต้น

สัดส่วนหมวดหมู่ประเด็นที่ได้รับความสนใจในช่วงครึ่งปีแรก

เมื่อนำ 10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในแต่ละเดือน รวม 60 ประเด็นมาจัดหมวดหมู่ โดยวิธีการอ้างอิงจากเนื้อหาสำคัญ (Content Based) ของประเด็นนั้น ๆ ตามด้วยการตรวจสอบสามเส้าด้านผู้วิเคราะห์ข้อมูล ได้เป็น 23 หมวดหมู่ พบหมวดหมู่ที่ได้รับความสนใจสูงสุด 3 อันดับแรก คือ

หมวดหมู่ เรื่องเกี่ยวข้องกับรัฐ (Politics) คือ เนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับสถานภาพความเป็นรัฐ เรื่องเกี่ยวกับรัฐ สัญลักษณ์ของรัฐ นโยบายสาธารณะ นิติบัญญัติ กฎหมาย การเลือกตั้ง การหาเสียงเลือกตั้ง ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สงคราม ความสัมพันธ์ภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงการรณรงค์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับรัฐ และความเคลื่อนไหวทาง

การเมือง เช่น การวิพากษ์วิจารณ์ ข้อพิพาททางการเมือง การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ การชุมนุมทางการเมือง ซึ่งในบริบทของการศึกษาในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งปี 2566

หมวดหมู่ สื่อ สิ่งบันเทิง (Media & Entertainment) คือ เนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับสื่อและสิ่งบันเทิง

หมวดหมู่ กีฬา (Sport) คือ เนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับกีฬา การแข่งขันกีฬา และทิศทางความสนใจในกีฬาชนิดต่าง ๆ

ทั้งนี้ หมวดหมู่เรื่องเกี่ยวข้องกับรัฐ (Politics) ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเป็นประเด็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่มีมากถึง 66% โดยส่วนใหญ่มาจากพรรคการเมือง การปราศรัยของพรรคต่าง ๆ หมวดหมู่สื่อสิ่งบันเทิง (Media & Entertainment) มาจากกิจกรรม #GmmtvOuting2023 กระแสความนิยมของละครมาตาลดา และการประกวด Miss Grand Thailand รอบสุดท้าย, หมวดหมู่ กีฬา (Sport) ส่วนใหญ่มาจากการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่ประเทศกัมพูชาที่มีประเด็นดราม่าจากการที่เจ้าภาพใช้นักกีฬาโอนสัญชาติในการแข่งขัน ความไม่พร้อมของสถานที่พักและกรรมการในการตัดสิน หมวดหมู่การขับเคลื่อนทางสังคม (Social Movement) เป็นการที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่ยกให้ละครมาตาลดาเป็นละครน้ำดีที่นำเสนอเกี่ยวกับ LGBTQ, ประเด็นส่วยทางหลวงที่พรรคก้าวไกลนำมาเสนอต่อสาธารณะทำให้กลายเป็นกระแสสังคมต่อเนื่องซึ่งในตอนแรกเป็นประเด็นเฉพาะส่วยรถบรรทุก แต่เมื่อได้รับความสนใจมากขึ้นทำให้ขยายไปในการทุจริตอื่น ๆ เช่น ส่วยแท็กซี่ ส่วยล็อตเตอรี่ เป็นต้น ส่วนหมวดหมู่อาชญากรรมและอุบัติเหตุ (Crime & Accidents) เป็นประเด็นเกี่ยวกับการรั่วไหลของ ซีเซียม – 137 ที่จังหวัดปราจีนบุรี

การเปลี่ยนแปลงของ Engagement แต่ละหมวดหมู่ในช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2566

นอกจากการจำแนกให้เห็นหมวดหมู่ประเด็นที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ให้ความสนใจในภาพรวม 10 อันดับแรก ตลอดช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 แล้ว เมื่อสำรวจความเคลื่อนไหวของ Engagement ในแต่ละกลุ่มประเด็น พบความสนใจในการสื่อสารและการมีส่วนร่วมของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในประเด็นการเมืองเริ่มเพิ่มมากขึ้นในสัดส่วนที่มากกว่าประเด็นอื่น ๆ ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม เป็นต้นมา

จากแผนภาพที่ 3 เห็นได้ว่า ความสนใจในประเด็นเกี่ยวข้องกับภาครัฐ โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่ได้รับความสนใจอย่างมากนั้น แบ่งได้เป็น 4 ช่วง ได้แก่

1. ก่อนวันเลือกตั้ง ในช่วงเดือนมกราคมจนถึงวันที่ 20 มีนาคม หรือวันที่ประกาศยุบสภา เห็นได้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นประเด็นเกี่ยวกับสื่อบันเทิงต่าง ๆ

2. โค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง ในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงช่วงก่อนวันที่ 14 พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงการหาเสียง การดีเบตตามเวทีต่าง ๆ โดยพรรคก้าวไกลถูกกล่าวถึงอย่างมากเกี่ยวกับนโยบายที่เน้นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคม ส่วนพรรคเพื่อไทยเป็นนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท

3. วันเลือกตั้ง วันที่ 14 พฤษภาคม เป็นการโพสต์ว่าไปเลือกตั้งโดยผู้ใช้งานทั่วไป การโพสต์เชิญชวนให้ไปเลือกตั้งโดยดารา ผู้มีอิทธิพลบนสื่อสังคมออนไลน์ หน่วยงาน ฯลฯ การให้ร่วมสังเกตการณ์การนับคะแนนการเลือกตั้งโดยกลุ่มรณรงค์เคลื่อนไหวการมีส่วนร่วมของประชาชน

4. หลังการเลือกตั้ง ช่วงหลังวันที่ 14 พฤษภาคม การพูดถึงการเลือกตั้งจะลดลง เนื่องจากเป็นช่วงที่รอ กกต. รับรองผลการเลือกตั้ง และเป็นช่วงที่พรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมาก ทำการเจรจาทางการเมืองกับพรรคอื่น เพื่อเตรียมจัดตั้งรัฐบาล

หมวดหมู่สื่อ สิ่งบันเทิง ได้รับความสนใจต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน มาจากการจัดกิจกรรม Outing ของบริษัท GMMTV ภายใต้ #GmmtvOuting2023 และในเดือนเมษายนมาจากการประกวด Miss Grand Thailand รอบสุดท้าย แต่กระแสจะตกไปในช่วงเดือนพฤษภาคม

ส่วนหมวดหมู่การขับเคลื่อนทางสังคม ในเดือนมิถุนายน มาจากกระแส Pride Month และละครเรื่องมาตาลดาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ LGBTQ

กล่าวโดยสรุป ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน 2566 ความสนใจของสื่อสังคมออนไลน์มีความสอดคล้องกับเหตุการณ์บ้านเมือง กล่าวคือ ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จะให้ความสนใจในการปราศรัยหาเสียง การเลือกตั้ง และท่าทีของพรรคการเมืองที่ตนเลือกหลังจากประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว แต่หลังการเลือกตั้ง พบว่า กระแสความสนใจในเรื่องการเมืองลดลง เนื่องจากเป็นช่วงรอ กกต. รับรองผลการเลือกตั้ง จึงเป็นที่น่าสนใจว่าในสถานการณ์สำคัญทางการเมือง เช่น ช่วงโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และหลังจากได้นายกรัฐมนตรีแล้ว สื่อสังคมออนไลน์จะมีทิศทางและลักษณะความสนใจในการเมืองอย่างไร จะมีการสื่อสารถกเถียงกันในประเด็นหรือหมวดหมู่ใด อย่างไร ที่สำคัญคือการสื่อสารดังกล่าวจะสร้างแรงกระเพื่อมและสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในด้านใด

Media Alert และ Wisesight จะรายงานผลการสำรวจการสื่อสารของสื่อสังคมออนไลน์ให้ทราบอย่างต่อเนื่อง ต่อไป

กรกฎาคม 66 ประเด็นการเมืองยังเป็นที่สนใจของสื่อสังคมออนไลน์ โดยมี Facebook, TikTok, Twitter เป็นแพลตฟอร์มยอดนิยม

10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจ มีการสื่อสาร และมีส่วนร่วมมากที่สุดในโลกออนไลน์ เดือนกรกฎาคม 2566

อันดับที่ 1 การโหวตนายกฯ และท่าทีของพรรคก้าวไกล

ส่วนใหญ่มาจากช่องทางอย่างเป็นทางการของพรรคก้าวไกลใน TikTok โดยประเด็นที่ได้รับความสนใจจะเป็นแถลงการณ์ให้ความเชื่อมั่นต่อประชาชนในการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 1 ส่วนโพสต์อื่น ๆ จะมีทั้งการทำคลิปให้กำลังใจพรรคก้าวไกลจากประชาชน นักร้อง นักแสดง รวมถึงโพสต์จากสื่อต่าง ๆ ที่มีประชาชนเข้าไปแสดงความคิดเห็นต่อท่าทีของพรรคก้าวไกล

อันดับที่ 2 ความนิยมของละครมาตาลดา

มาจากการตัดคลิปละครสั้น ๆ โดยเฉพาะฉากที่มีนางเอกเต้ย จรินทร์พร โดยเสียงตอบรับของผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ยังคงชื่นชอบละครเรื่องนี้ทั้งในเรื่องความสนุก มีสาระ นอกจากนั้นยังมีการแสดงความคิดเห็นว่าละครเรื่องนี้มีส่วนให้สังคมไทยผ่อนคลายความเครียดจากการดูข่าวการเมือง

อันดับที่ 3 พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

หลังจากการโหวตนายกทั้ง 2 ครั้งไม่สำเร็จ ทำให้พรรคก้าวไกลต้องถอยให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ด้วยท่าทีทางการเมืองที่พรรคเพื่อไทยจะไปรวมกับพรรคฝ่ายอดีตรัฐบาล ทำให้ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์โพสต์เตือนสติพรรคเพื่อไทย ต่อมาพรรคเพื่อไทยประกาศร่วมกับพรรคอดีตรัฐบาล ส่งผลให้ได้รับคำตำหนิเป็นจำนวนมาก  

อันดับที่ 4 ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.

ในช่วงการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. โดยโพสต์ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดเป็นโพสต์จากสำนักข่าวที่เสนอภาพช่วงพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เดินออกจากห้องประชุมสภาฯ ส่วนความเห็นของผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่ตำหนิความไม่เป็นธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ

อันดับที่ 5 การโหวตครั้งที่ 2 ให้พิธาเป็นนายกฯ

เป็นการกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมรัฐสภามีมติให้การเสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งนั้นขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา รวมทั้งกล่าวถึงการมีองค์กร เช่น สภาทนายความออกแถลงการณ์ให้การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีซ้ำ สามารถทำได้เนื่องจากไม่มีข้อจำกัดในรัฐธรรมนูญ ทั้งไม่สามารถอ้างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 ที่ใช้กับการยื่นญัตติทั่วไปมาบังคับใช้

อันดับที่ 6 พรรคก้าวไกลและเพื่อไทยเสนอวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาฯ

ก่อนหน้าการเสนอชื่อวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาฯ มีข่าวลือว่าพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับพรรคก้าวไกลที่จะได้ตำแหน่งประธานสภาฯ ส่งผลให้มีการประชุมของทั้งสองพรรคที่ได้ข้อสรุปว่าจะยกตำแหน่งประธานสภาฯ ให้กับวันมูหะมัดนอร์ มะทา และหลังจากที่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ตำหนิพรรคเพื่อไทยอย่างมาก ในทางตรงกันช้ามก็ให้กำลังใจพรรคก้าวไกลที่แม้จะได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่งแต่กลับไม่ได้ตำแหน่งใดในสภา

อันดับที่ 7 พลายศักดิ์สุรินทร์เดินทางจากศรีลังกากลับไทยเนื่องจากอาการป่วย

พลายศักดิ์สุรินทร์เป็นช้างที่ทางการไทยส่งไปเป็นทูตสันถวไมตรีที่ศรีสังกา ตั้งแต่ปี 2544 ภายหลังพบว่าพลายศักดิ์สุรินทร์มีสุขภาพที่ย่ำแย่เนื่องจากการถูกใช้งานอย่างหนัก ทางภาครัฐนำโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ กระทรวงการต่างประเทศได้ติดต่อรัฐบาลศรีลังการเพื่อให้นำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมารักษาที่ประเทศไทย โดยผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์เห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ขอบคุณทางการไทยที่นำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมารักษาที่ประเทศไทย

อันดับที่ 8 #ธุรกิจสว. และ #เมียน้อยสว. ตอบโต้ สว. ที่ไม่โหวตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล

การที่พรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ส่วนหนึ่งมาจาก สว. ไม่ให้การรับรอง ส่งผลทำให้เกิดการตอบโต้จากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่พอใจ สว.ด้วยการติดแฮชแท็ก #ธุรกิจสว. เพื่อแบนธุรกิจของ สว.และครอบครัว รวมไปถึงภาคธุรกิจบางส่วนที่ไม่ให้สว. กกต. หรือ บุคคลที่เกี่ยวข้องมาใช้บริการธุรกิจของตน ส่วนการติดแฮชแท็ก #เมียน้อยสว. เป็นการนำภาพเก่าของสว.คนหนึ่งที่ถ่ายภาพคู่กับผู้หญิงที่ไม่ใช้ภรรยาของตนมาประจานบนสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในช่วงเวลาดังกล่าว

อันดับที่ 9 สส. เสรีพิศุทธ์ ให้พรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน

จากเหตุการณ์ที่ สส. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช ร่วมแถลงการณ์กับพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยโดยมีถ้อยคำที่ต้องการผลักให้พรรคก้าวไกลเสียสละไปเป็นฝ่ายค้านที่สื่อนำไปเผยแพร่เป็นข่าว ทำให้ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ตำหนิ สส. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช เป็นวงกว้าง โดยเฉพาะจากกลุ่มคนที่โหวตเลือกพรรคก้าวไกลและคาดหวังให้ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

อันดับที่ 10 การอภิปรายของ สส. ชาดา ในการโหวตครั้งที่ 1 ให้พิธาเป็นนายกฯ

ข่าวการอภิปรายของ สส. ชาดา ไทยเศรษฐ์ ในวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรก โดยมุ่งเน้นที่การไม่สนับสนุนพรรคการเมืองที่มีจุดยืนในการแก้ไข มาตรา 112  รวมทั้งท่าทีและท่วงทำนองการอภิปรายที่ดุดัน ทำให้เกิดเป็นกระแส และสร้างความสนใจในสื่อสังคมออนไลน์ในการสืบหาประวัติของ สส. ชาดา เป็นจำนวนมาก

ด้วยทิศทางการสื่อสารในโลกออนไลน์ของเดือนกรกฎาคม 2566 จาก 5 แพลตฟอร์มที่เป็นหน่วยศึกษา คือ 1) Facebook 2) Twitter 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok พบว่า ส่วนใหญ่เป็นประเด็นการเมือง  Media Alert และ Wisesight จึงเห็นพ้องกันในการเลือกศึกษา 3 ประเด็นทางการเมืองที่ได้รับความสนใจและวิพากษ์วิจารณ์บนสื่อสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ในอันดับต้น ๆ จากจำนวน Engagement ตลอดเดือนกรกฎาคม 2566 คือ 1) การโหวตนายกฯ และท่าทีของพรรคก้าวไกล 2) พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และ 3) ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

เห็นได้ว่า Engagement ส่วนใหญ่มาจากสองช่องทางหลัก คือ TikTok 43% และ Facebook 34%  โดยประเด็นที่มี Engagement มากที่สุด 2 อันดับแรกมาจาก TikTok Official Account ของพรรคก้าวไกลโดยได้ Engagement เฉลี่ยโพสต์ละ 1.7 ล้าน Engagement ส่วนอันดับที่ 3 มาจาก Account Themodevan ที่แต่งเพลงให้กำลังใจพรรคก้าวไกล ได้ Engagement ประมาณ 1.2 ล้าน Engagement

ด้านผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับประเด็นของพรรคก้าวไกลโดยเฉพาะโพสต์ประกาศจัดตั้งรัฐบาลตามเจตนารมณ์ของประชาชนเพื่อหยุดการสืบทอดอำนาจ โพสต์แถลงการณ์จากพรรคก้าวไกลก่อนวันเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 1 และโพสต์แถลงการณ์ของพรรคก้าวไกลหลังไม่สามารถได้เสียงโหวตพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีจากประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 เมื่อแยกตามประเภทผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ พบว่า เป็นบุคคลทั่วไปมากถึง 52 ล้าน Engagement รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ 30.3 ล้าน สื่อหรือสำนักข่าว 10.7 ล้าน พรรคการเมือง 6.4 ล้าน และอื่น ๆ ประมาณ 7,000 Engagement ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการให้กำลังใจพรรคก้าวไกล การชื่นชมศิลปินที่แต่งเพลงสนับสนุนพรรคก้าวไกลโดยผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก

Engagement ส่วนใหญ่จะมาจากสองช่องทางหลัก คือ Facebook 41% และ TikTok 35% โดยประเด็นที่ถูก Engagement มากที่สุด 3 อันดับแรกมาจาก TikTok Zocialnews ที่โพสต์ข่าวพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวในประเด็นหากก้าวไกลตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จจะหลีกทางให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล, จาก Account Facebook Paul Pattarapon พอล ภัทรพล ที่โพสต์เตือนสติพรรคเพื่อไทยไม่ให้ไปรวมกับพรรคอดีตรัฐบาล และ จาก TikTok Pondonnews ที่กล่าวถึงเพลงเสียดสีพรรคเพื่อไทยของแอ๊ด คาราบาว

ด้านความสนใจเกี่ยวกับประเด็นพบว่า มาจากสื่อจำนวน 25 ล้าน Engagement รองลงมาได้แก่ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ 8.3 ล้าน Engagement  มาจากพรรคการเมืองและนักการเมือง 3.3 ล้าน ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ 3.2 ล้าน และอื่น ๆ เช่น แบรนด์ และภาครัฐประมาณ 3 ล้าน Engagement ตามลำดับ โดยเสียงส่วนใหญ่เรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยเคารพการตัดสินใจของประชาชนและจับมือกับพรรคก้าวไกลไปจนกว่า สว. จะหมดสมาชิกภาพ รวมไปถึงการเหน็บแนมแอ๊ด คาราบาวถึงที่ดินที่เขากระโดงหลังจากที่แอ๊ดแต่งเพลงเสียดสีพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล

Engagement ส่วนใหญ่จะมาจากสองช่องทางหลัก คือ Facebook 38% และ TikTok 27% โดยประเด็นที่มี Engagement มากที่สุด 3 อันดับแรกมาจากช่อง PPTV และจากช่อง ONE31 เป็นข่าวพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เดินออกจากรัฐสภาหลังจากศาลรัฐธรรมนูญให้หยุดปฏิบัติหน้าที่, คลิปจากสำนักข่าว BBC ในประเด็นพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ถูกศาลรัฐธรรมนูญให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

ด้านความสนใจของผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นนี้พบว่า มาจากสื่อจำนวน 17.3 ล้าน Engagement รองลงมาได้แก่ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ 15 ล้าน, ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ต 9.7 ล้าน Engagement , มาจากพรรคการเมืองและนักการเมือง 303,669 Engagement ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่ไปในทิศทางเดียวกัน คือ ตำหนิการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีบางส่วนกล่าวว่าไม่ศรัทธาในคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญและตั้งคำถามถึงที่มาขององค์กรอิสระอื่นอย่าง กกต. สว. ที่ไม่ได้มาจากประชาชน

กล่าวโดยสรุป ในเดือนกรกฎาคม 2566 ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ยังคงให้ความสนใจในประเด็นทางการเมืองมากถึง 8 จาก 10 ประเด็น โดยประเด็นที่ได้รับความสนใจส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการโหวตนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคก้าวไกลทั้งสองครั้ง, ประเด็นพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลหลังจากพรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งได้สำเร็จ โดยอีก 2 ประเด็นที่เหลือเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสื่อ สิ่งบันเทิง อย่างละครมาตาลดา และประเด็นเกี่ยวกับสัตว์ คือพลายศักดิ์สุรินทร์เดินทางกลับเมืองไทย