เลือกหน้า

ถอดรหัส “ครูกายแก้ว” ในโลกออนไลน์: ชาวเน็ตคิด-สื่อสารอย่างไร เมื่อพูดถึง “ครูกายแก้ว”

ถอดรหัส “ครูกายแก้ว” ในโลกออนไลน์: ชาวเน็ตคิด-สื่อสารอย่างไร เมื่อพูดถึง “ครูกายแก้ว”

เดือนสิงหาคม 2566 เป็นอีกเดือนที่มีเหตุการณ์สำคัญหลากหลายประเด็น เช่น การเมืองคือ เศรษฐา ทวีสินได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 บันเทิง คือ มาตาลดาตอนจบ , เดบิวต์บอยแบนด์ จากรายการ 789 Survival  ขณะที่เรื่องความเชื่อที่ได้รับความสนใจ คือ ครูกายแก้ว แม้จะไม่อยู่ใน 10 อันดับแรก แต่เป็นประเด็นในสื่อสังคมออนไลน์สนใจ สื่อสาร และมีส่วนร่วม ที่เริ่มจากเหตุการณ์รูปปั้นครูกายแก้วขนาดใหญ่ ไม่สามารถผ่านสะพานลอยบริเวณถนนรัชดาภิเษกได้ จนถึงข่าวลือเรื่องการบูชายันต์ด้วยชีวิตลูกสุนัขลูกแมว เมื่อสมหวังจากการขอพรหรือการบนบาน

กลุ่มเนื้อหาการสื่อสารเรื่อง “ครูกายแก้ว” จาก 5 แพลตฟอร์มที่ศึกษา

 Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ Wisesight ใช้เครื่องมือ ZocialEye รวบรวม ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับครูกายแก้วใน 5 แพลตฟอร์มออนไลน์ตลอดช่วงเดือนสิงหาคม 2566 พบว่า ครูกายแก้วได้รับความสนใจในสื่อสังคมออนไลน์จำนวน 7,494,728 Engagement แบ่งเป็น TikTok ถูกกล่าวถึงมากที่สุดประมาณ 3.6 ล้าน Engagement รองลงมาได้แก่ Facebook, X, YouTube และ Instagram ตามลำดับ

          โดย Engagement ส่วนใหญ่จะมาจากผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ทั่วไปประมาณ 3.3 ล้าน Engagement รองลงมาได้แก่ สื่อสำนักข่าวประมาณ 2.4 ล้าน Engagement ผู้มีอิทธิพลบนสื่อสังคมออนไลน์ประมาณ 1.8 ล้าน Engagement

          เมื่อวิเคราะห์เนื้อหาเกี่ยวกับครูกายแก้วใน 5 แพลตฟอร์มที่ศึกษา ได้แก่ 1) Facebook 2) X  3) Instagram  4) YouTube และ 5) TikTok ในภาพรวมจัดกลุ่มเนื้อหาได้ 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 เหตุการณ์รถขนรูปปั้นครูกายแก้วติดคานสะพานลอยรัชดาภิเษก

กลุ่มที่ 2 ข้อถกเถียงเรื่องที่มา หลักฐานการมีอยู่ของครูกายแก้ว

กลุ่มที่ 3 ความเชื่อ ความศรัทธาและความศักดิ์สิทธิ์ของครูกายแก้ว

 โดยการวิเคราะห์เนื้อหาในแต่ละกลุ่มผ่านการ Sentiment Analysis เพื่อจัดกลุ่มความเห็นเป็น 3 ประเภทคือ 1) ความเห็นเชิงบวก เป็นข้อความในเชิงสนใจ เชื่อ นับถือครูกายแก้ว 2) ความเห็นเชิงกลาง เป็นข้อความในลักษณะให้ข้อมูล สอบถามข้อเท็จจริง ทักทาย 3) ความเห็นเชิงลบ เป็นข้อความในเชิงตำหนิ ไม่ชอบ

เหตุการณ์รถขนรูปปั้นครูกายแก้วติดคานสะพานลอยรัชดาฯ  (342,058 Engagement)

“ครูกายแก้ว” เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายครั้งแรกจากข่าวรูปปั้นครูกายแก้วขนาดใหญ่ไม่สามารถผ่านสะพานลอยบริเวณถนนรัชดาภิเษกขาเข้า ส่งผลให้การจราจรติดขัด สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้สัญจรในบริเวณดังกล่าว โดยพบใน Facebook มากที่สุดที่ 72 % รองลงมาได้แก่ YouTube, TikTok, Instagram ตามลำดับ โดยกลุ่มของผู้สื่อสารที่มีอิทธิพลมากที่สุดเป็น สื่อ 66% เช่น โหนกระแส ข่าวสด อมรินทร์ทีวี เป็นต้น รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ 26% และผู้ใช้งานทั่วไป 8 

จากความคิดเห็นของสื่อสังคมออนไลน์พบว่า 84% เป็นการกล่าวถึงปัญหาจราจรติดขัดจากเหตุรูปปั้นครูกายแก้ว ซึ่งเป็นความคิดเห็นเชิงลบ เพราะสร้างความเดือดร้อนให้ผู้ใช้รถบริเวณถนนรัชดาภิเษก ตัวอย่างเช่น บัญชี ไทยรัฐนิวส์โชว์ และอีจัน ส่วน 16% เป็นข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับครูกายแก้ว ซึ่งจัดเป็นความเห็นเชิงกลาง เช่น บัญชี Khaosodonline และ Amarin News เป็นการแจ้งว่ารูปปั้นที่ติดอยู่บริเวณถนนรัชดาภิเษกคือรูปปั้นครูกายแก้ว เป็นต้น

ข้อถกเถียงเรื่องที่มาหลักฐานการมีอยู่ของครูกายแก้ว (2,215,192 Engagement)

 หลังเหตุการณ์การขนย้ายรูปปั้นขนาดใหญ่ครูกายแก้วทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดอย่างมากบริเวณถนนรัชดาภิเษกขาเข้า จนเป็นที่กล่าวถึงในสื่อสังคมออนไลน์ ตามมาด้วยการสื่อสารเรื่องที่มา และหลักฐานการมีอยู่ของครูกายแก้วจากนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ที่สรุปได้ว่า ไม่พบการมีอยู่ของครูกายแก้วทั้งในประวัติศาสตร์ของไทยและกัมพูชา ทั้งมีการวิเคราะห์รูปลักษณ์ครูกายแก้วว่ามีลักษณะคล้ายกับการ์กอยล์  หรือ ปนาลี ที่เป็นความเชื่อทางยุโรป อย่างไรก็ตาม ความเห็นนักวิชาการ เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ เห็นว่าครูกายแก้วเป็นตัวแทนของความไม่มั่นคงของสังคมโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ และการเมือง ทั้งวิเคราะห์ว่าสอดคล้องกับเป็นช่วงเวลาที่บ้านเมืองไม่มีเสถียรภาพ ทำให้ครูกายแก้วได้รับความเคารพนับถือและเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ

          โดยแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดคือ TikTok 57% รองลงมาได้แก่ Facebook 23%, YouTube 11%, X 6% และ Instagram 3% ตามลำดับ ในแง่กลุ่มผู้สื่อสาร พบว่า เป็นกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป 53% รองลงมาคือ สื่อ 29% และผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ 18% ตามลำดับ

         จากความเห็นของผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับเรื่องหลักฐานที่มาการมีอยู่ของครูกายแก้ว พบว่า 97% เป็นการให้ข้อมูลเรื่องที่มาของครูกายแก้วโดยนักวิชาการจากผู้ทำการสื่อสาร คือ สำนักข่าวและผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น บัญชี Honekrasae_official, หมอแล็บแพนด้า ที่กล่าวถึงที่มาของครูกายแก้วจากนักประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นความเห็นเชิงกลาง ส่วน 3% เป็นการพูดถึงความเชื่อที่งมงาย และวิเคราะห์ว่ามีเหตุจากความไม่มั่นคงในการดำรงชีวิตของคนไทย จนต้องพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างครูกายแก้ว ซึ่งเป็นความเห็นเชิงลบ

ความเชื่อ ความศรัทธา และความศักดิ์สิทธิ์ของครูกายแก้ว (4,937,478 Engagement)

กลุ่มเนื้อหา ความเชื่อ ความศรัทธาและความศักดิ์สิทธิ์ของครูกายแก้ว ที่สื่อสังคมออนไลน์กล่าวถึงนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่ปฏิเสธความเชื่อครูกายแก้ว กลุ่มนี้มองว่าไม่ควรเคารพสักการะครูกายแก้วเนื่องจากไม่เป็นสิริมงคล เป็นอสูรกาย และเป็นเรื่องงมงาย โดยเป็นการสื่อสารจากผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ ด้านศาสนา ความเชื่อ เช่น พระพะยอม กัลยาโณ, ไพรวัลย์ วรรณบุตร, ริว จิตสัมผัส โหรมาเฟีย เป็นต้น 2) กลุ่มที่เห็นว่าความศรัทธาเป็นเรื่องของบุคคล หากไม่มีพิษภัยก็สามารถนับถือได้ และ 3) กลุ่มที่เชื่อและศรัทธาครูกายแก้วโดยเป็นกลุ่มลูกศิษย์ และผู้ศรัทธา รวมถึงกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์ เช่น ถูกล็อตเตอรี่ ผู้จำหน่ายเหรียญที่ระลึก เป็นต้น
จากความเชื่อความศรัทธาในครูกายแก้วซึ่งมีรูปลักษณ์ที่น่ากลัว ทำให้เกิดข่าวลือมากมายทั้งการเปิดรับบริจาคสัตว์เลี้ยงมาบูชายันต์ ทำให้ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ประนามการกระทำดังกล่าว จนกลุ่มลูกศิษย์และผู้ที่ศรัทธาต้องออกมาแจ้งว่าเป็นข่าวปลอม แต่ก็ไม่ทำให้สังคมคลายความกังวล
แม้ประเด็นเกี่ยวกับครูกายแก้วมักไปในทิศทางที่ไม่ค่อยดี แต่สิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ความสนใจในมิติความเชื่อได้ คือ สื่อ สำนักข่าว ยังคงให้ความสนใจกับเหตุการณ์การบวงสรวงเบิกเนตรรูปปั้นครูกายแก้วที่บริเวณแยกรัชดา – ลาดพร้าว ทั้งมีการผลิตซ้ำทางความเชื่อผ่านสื่อ เช่น การนำเสนอข่าวของบุคคลที่มาบนบานแล้วสำเร็จ การนำเสนอข่าวผู้มีชื่อเสียงเชิญชวนให้มาสักการะครูกายแก้ว เป็นต้น
โดยแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดคือ TikTok 46% รองลงมาได้แก่ Facebook 35% , X 14% และ Instagram 3% ,YouTube 2% ตามลำดับ ในแง่กลุ่มผู้สื่อสารพบว่า เป็นกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป 42% รองลงมาคือ สื่อ 33% และผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ 25% ตามลำดับ
เมื่อวิเคราะห์ความคิดเห็นของผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ พบว่า ในประเด็นความเชื่อ ความศรัทธาและความศักดิ์สิทธิ์ของครูกายแก้ว พบว่า 59% เป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับพิธีกรรม/การบูชาครูกายแก้ว ซึ่งจัดเป็นความเห็นเชิงกลาง เนื่องจากเป็นการให้ข้อมูล ตัวอย่างเช่น จากบัญชีหนึ่งใน TikTok ได้โพสต์วิธีการเดินทางไปสักการะครูกายแก้วที่บริเวณสี่แยกลาดพร้าว และวิธีสักการะบูชา ตามด้วย ความเห็น 37% ที่กังวลต่อข่าวลือเรื่องฆ่าสัตว์บูชายัญจากบัญชี ไพรวัลย์ วรรณบุตร และทาสแมวบอกต่อ ที่โพสต์ตำหนิการบูชายันต์หมา แมว ซึงเป็นความเห็นเชิงลบ ที่เหลือ 4% เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับโชคลาภจากการบูชาครูกายแก้ว เช่น บัญชีโหนกระแส และ  Amarin News โพสต์ข่าวผู้ที่ถูกลอตเตอรี่จากเลขทะเบียนรถครูกายแก้ว ข่าวการขอพรของผู้ที่ศรัทธาครูกายแก้ว ซึ่งเป็นความเห็นเชิงบวก 

สรุป 

ประเด็น “ครูกายแก้ว” ในสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อศึกษาผ่าน 5 แพลตฟอร์ม ตลอดเดือนสิงหาคม 2566 พบว่า ถูกกล่าวถึงใน TikTok มากที่สุดที่ 48% รองลงมาได้แก่ Facebook 33% , X 11% ,YouTube 5% และ Instagram 3% ตามลำดับ โดยกลุ่มผู้สื่อสารส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใช้งานทั่วไป 44% รองลงมาได้แก่ สื่อ 33% และ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ 23% ตามลำดับ ด้านประเด็นสามารถแบ่งได้ 3 ประเด็น คือ 


ประเด็น 1 เหตุการณ์รถขนรูปปั้นครูกายแก้วติดสะพานลอยบริเวณถนนรัชดาภิเษกพบใน Facebook มากที่สุดที่ 72 % รองลงมาได้แก่ YouTube 12%, TikTok 10% และ Instagram 6% ตามลำดับ โดยกลุ่มผู้สื่อสารที่มีอิทธิพลมากที่สุดเป็น สื่อ 66% เช่น โหนกระแส ข่าวสด อมรินทร์ทีวี เป็นต้น รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ 26% และผู้ใช้งานทั่วไป 8%


ประเด็นที่ 2 ข้อถกเถียงเรื่องที่มา หลักฐานการมีอยู่ของครูกายแก้ว พบ TikTok สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 57% รองลงมาได้แก่ Facebook 23% , YouTube 11% , X 6% และ Instagram 3% ตามลำดับ ในด้านกลุ่มผู้สื่อสาร พบว่า เป็นกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป 53% รองลงมาคือ สื่อ 29% และผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ 19% ตามลำดับ
ประเด็นที่ 3 ความเชื่อ ความศรัทธา และความศักดิ์สิทธิ์ของครูกายแก้ว พบมากที่สุดใน TikTok 46% รองลงมาได้แก่ Facebook 35% , X 14% ,  Instagram 3% และ YouTube 2% ตามลำดับ ในด้านกลุ่มผู้สื่อสาร พบว่า เป็นกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป 42% รองลงมาคือ สื่อ 33% และ ผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ 25% ตามลำดับ

รองผู้จัดการกองทุนสื่อ เป็นตัวแทนเข้าร่วมรับโล่ผู้สนับสนุนการจัดงาน ในพิธีเปิดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 (Book Expo Thailand 2023) “Book Dreams: เพราะหนังสือช่วยเติมเต็มความฝันให้สมบูรณ์ขึ้น”

วันนี้ (12 ต.ค. 2566) ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยเเละสร้างสรรค์ มอบหมาย ร้อยโท ดร.ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยเเละสร้างสรรค์ เป็นตัวแทนในการเข้าร่วมรับโล่ผู้สนับสนุนการจัดงาน ในพิธีเปิดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 (Book Expo Thailand 2023)
“Book Dreams: เพราะหนังสือช่วยเติมเต็มความฝันให้สมบูรณ์ขึ้น” มอบโดย นางสาวเเพทองธาร ชินวัตร
ประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์เเห่งชาติ ณ เวทีกลาง ชั้น LG ฮอลล์ 5 ศูนย์การประชุมเเห่งชาติสิริกิติ์

โดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยเเละสร้างสรรค์ ร่วมกับสมาคมผู้จัดพิมพ์เเละผู้จำหน่ายหนังสือเเห่งประเทศไทย (pubat) เเละหน่วยงานอื่น ๆ ร่วมจัดงานมหกรรมหนังสือในครั้งนี้ขึ้น เพื่อร่วมกันวางแผนรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนรักการอ่านตั้งเเต่เยาว์วัยอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อเป็นการกระตุ้นให้สังคมได้เห็นถึงความสำคัญของการอ่านหนังสือมากขึ้น

สามารถเข้าร่วมงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 ได้ตั้งเเต่วันนี้ – 23 ตุลาคม 2566 ณ ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG ศูนย์การประชุมเเห่งชาติสิริกิติ์ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : Thai Book Fair

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดอบรม “รู้จัก รู้ลึก รู้ทัน ปัญญาประดิษฐ์ สำหรับงานวงการสื่อ”

(10 ตุลาคม 2566) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยคณะอนุกรรมการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “รู้จัก รู้ลึก รู้ทัน ปัญญาประดิษฐ์ สำหรับงานวงการสื่อ” โดยมี ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และ นายอภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อมวลชน
ในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และประธานอนุกรรมการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ณ โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพฯ

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า วันนี้นับเป็นจุดริเริ่มในการที่จะให้ประชาชนทุกคนเรียนรู้ให้เท่าทันกับข้อมูลข่าวสาร เพราะในปัจจุบัน ทุกคนเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสื่อ ข้อมูลข่าวสารที่เราได้รับในแต่ละวัน เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าต้นทางอยู่ที่ไหน เป็นเรื่องจริงหรือไม่ เพราะข้อมูลต่างๆสามารถสร้างได้ด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) เราจึงต้องทำความเข้าใจในเรื่องนี้เพื่อไม่ให้เราเองตกเป็นเหยื่อ กองทุนสื่อจึงต้องมีการจัดเก็บข้อมูลว่า “สื่อ” สามารถสร้างผลกระทบในโลกดิจิทัลได้อย่างไร ทั้งผลกระทบเชิงบวกและผลกระทบเชิงลบ อีกทั้งกองทุนสื่ออยากให้ประชาชนทุกคน รู้จัก รู้ลึก รู้ทัน เพื่อป้องกันผลกระทบเชิงลบที่มาจากสื่อที่ไม่ปลอดภัย และเสริมสร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ทันข้อมูลข่าวสารในโลกดิจิทัล สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือเราอยากเห็นนักสร้างสื่อ คนในแวดวงสื่อ นำปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ ให้เกิดประโยชน์เพื่อสร้างสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ออกสู่สังคม

นายอภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อมวลชน ในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และประธานอนุกรรมการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า อนุกรรมการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีหน้าที่ในการทำงานให้ตอบโจทย์ในแง่ของการทำงานของสื่อ โดยเน้นเรื่องการนำนวัตกรรมสิ่งใหม่ๆ มาขยายผลและพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด หากเราพูดถึงเครื่องมือสมัยใหม่ ถ้าเรายังไม่ได้ทำให้คนรุ่นใหม่หรือคนทำสื่อเข้าใจ โอกาสในการผลิตสื่อสมัยใหม่ ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ยาก เราจึงต้องจัดงานอบรม
“รู้จัก รู้ลึก รู้ทัน ปัญญาประดิษฐ์ สำหรับงานวงการสื่อ” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในพื้นฐานเกี่ยวกับนวัตกรรม พัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ในโลกเสมือน
หรือ Metaverse Experience เพื่อเปิดโอกาสแห่งการเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยี Platform ใหม่ ๆ ที่กำลังได้รับความสนใจว่าอาจจะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลก ในปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (Artificial Intelligence) สามารถทำงานได้อย่างหลากหลาย ซับซ้อน หากเรามีการป้อนข้อมูลที่มีประโยชน์ มีการจัดการที่ดี
ก็จะสามารถพัฒนาและผลิตผลงานสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ออกสู่สังคมได้มากยิ่งขึ้น

โดย งานอบรม “รู้จัก รู้ลึก รู้ทัน ปัญญาประดิษฐ์ สำหรับงานวงการสื่อ” ได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มาร่วมแบ่งปันความรู้ทั้ง 2 ท่าน ได้แก่ ดร.นน อัครประเสริฐกุล อนุกรรมการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผู้เชี่ยวชาญส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ผศ.ดร.รัชนี กุลยานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ภายในงานมีผู้ทรงคุณวุฒิ นายยศพร ปัญจมะวัต ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสุขภาพจิต ในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รองประธานอนุกรรมการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ , นางสุนทรี ทับทิมไทย ชัยสัมฤทธิ์โชค กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ นายกฤษกร รอดช้างเผื่อน อนุกรรมการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ นายเทินพันธ์ แพนสมบัติ ผู้อำนวยฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาสื่อสำหรับประชาชน และบุคลากรของกองทุนสื่อ สื่อมวลชน องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงาน

สำหรับการจัดงานอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ มีหัวข้อที่น่าสนใจ ได้แก่ Technologies in Media Creation and Beyond ,AI (Artificial Intelligence) คืออะไร AI เรียนรู้ได้อย่างไร ในภาษาที่เข้าใจง่าย , AI สามารสร้างสื่อให้เราได้มากน้อยขนาดไหนในยุคปัจจุบัน , รู้เท่าทันเครื่องมือ AI เช่น ChatGPT และกรณีศึกษาต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม Challenge Statement ให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ลองใช้เครื่องมือ AI เพื่อดึงศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมหลังการอบรมได้ที่ www.thaimediafund.or.th

ผู้จัดการกองทุนสื่อ ร่วมแสดงความยินดีกับ นพคุณ แก่นสาร (เค้ก) เจ้าหน้าที่กองทุนฯ ที่ได้เป็นผู้ชนะเลิศคนพิการทางการได้ยินในรายการ สื่อยอดนักสืบ

ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมแสดงความยินดีกับ นพคุณ แก่นสาร (เค้ก) เจ้าหน้าที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่ได้เป็นผู้ชนะเลิศคนพิการทางการได้ยินในรายการ สื่อยอดนักสืบ

 

“สื่อยอดนักสืบ” ซึ่งเป็นรายการในรูปแบบการตอบคำถามจากประเด็นการรู้เท่าทันสื่อ หรือ Quiz show ที่เปิดโอกาสให้คนพิการทางการเห็น 12 คน และคนพิการทางการได้ยิน 12 คน ร่วมการแข่งขันเพื่อเป็นสุดยอดผู้นำด้านการรู้เท่าทันสื่อ ภายใต้แนวคิด “เข้าถึง เข้าใจ และใช้ประโยชน์จากสื่ออย่างรู้เท่าทัน เพื่อจัดการข้อมูลข่าวสารสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างสังคมแห่งความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน” 

โดยมี แคน-อติรุจ กิตติพัฒนะ พิธีกรในรายการ รับหน้าที่พิธีกร ร่วมกับ การ์ตูน พิธีกรคนหูหนวก ทอฟฟี่ พิธีกรคนตาบอด พร้อมด้วย Commentators ดร.ตรี บุญเจือ ผู้อำนวยการสำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงาน กสทช. คุณรัดเกล้า อามระดิษ และคุณณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์

 

ติดตามชมรายการ “สื่อยอดนักสืบ” ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30 วันเสาร์และอาทิตย์ เวลา 11.00 – 11.30 น. (ออกอากาศวันสุดท้ายอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม 2566) และช่องทางเผยแพร่ย้อนหลังผ่านสื่อออนไลน์ที่เฟซบุ๊กเพจ “สื่อยอดนักสืบ”

 

#สื่อยอดนักสืบ #กสทช #กทปส

สิงหาคม 66 แม้โลกออนไลน์ของไทย สนใจบันเทิงเป็นอันดับต้น แต่โดยรวมสัดส่วนความสนใจในประเด็นการเมืองยังสูงกว่าเล็กน้อย ขณะที่ TikTok ขึ้นแท่นแพลตฟอร์มยอดนิยม

สิงหาคม 66 แม้โลกออนไลน์ของไทย สนใจบันเทิงเป็นอันดับต้น แต่โดยรวมสัดส่วนความสนใจในประเด็นการเมืองยังสูงกว่าเล็กน้อย ขณะที่ TikTok ขึ้นแท่นแพลตฟอร์มยอดนิยม

ประเด็นบันเทิงที่สังคมออนไลน์สนใจสูงสุดในเดือนสิงหาคม 66 คือ ละครมาตาลดาตอนจบ นอกนั้นเป็นเรื่อง เดบิวต์บอยแบนด์ในรายการ 789 Survival, The Grand Concert อิงฟ้า มหาชน ฯลฯ  ส่วนประเด็นการเมืองที่ได้รับความสนใจในอันดับต้น ๆ คือ พรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลและพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน , ชื่นชม ช่อ พรรณิการ์ วานิช และ สส. พรรคก้าวไกล ฯลฯ โดยใน 10 อันดับที่ได้รับ Engagement มากที่สุดนั้น เป็นการเมือง 5 ประเด็น และบันเทิง 5 ประเด็น เท่ากัน  แต่กลุ่มการเมืองมียอด Engagement ในสัดส่วนที่สูงกว่า คือ 53%  ส่วนบันเทิง 47%     

Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ Wisesight ศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยในเดือนสิงหาคม 2566 โดยใช้เครื่องมือ ZocialEye สำรวจจาก 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่ 1) Facebook 2) Twitter 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok หลังจากนั้นใส่คำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยประกาศจัดตั้งรัฐบาล, การทำงานของสส. พรรคก้าวไกล, เศรษฐา ทวีสินรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นต้น จากนั้นนำข้อมูลที่ได้จากเครื่องมือ ZocialEye มารวบรวมและเรียงลำดับตาม Engagement พบ 10 อันดับประเด็นที่โลกออนไลน์ให้ความสนใจในเดือนสิงหาคม 2566 คือ

  1. มาตาลดาตอนจบ
  2. พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลและพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน
  3. ชื่นชม ช่อ พรรณิการ์ วานิชและ สส. พรรคก้าวไกล
  4. เดบิวต์บอยแบนด์ในรายการ 789 Survival
  5. The Grand Concert อิงฟ้า มหาชน
  6. เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30
  7. การประชุมสภาเพื่อโหวตนายกฯ ครั้งที่ 3
  8. Gemini Fourth ConcertD1 ของคู่จิ้น เจมีไนน์- โฟร์ท
  9. ทักษิณกลับประเทศไทย
  10. การประกวด Miss Universe Thailand 2023 รอบ Final

10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจ มีการสื่อสาร และมีส่วนร่วมมากที่สุดในโลกออนไลน์ เดือนสิงหาคม 2566

อันดับที่ 1 มาตาลดาตอนจบ

หลังจากที่มาตาลดาได้สร้างกระแสบนโลกออนไลน์ต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน จนถึงตอนจบในวันที่ 15 สิงหาคม โดยความเห็นของผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือชื่นชอบละคร อินไปกับละคร รวมถึงการแคปเจอร์ฉากที่ประทับใจมาโพสต์

อันดับที่ 2 พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลและพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน

หลังจากพรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จึงให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทยเข้าร่วมกับพรรคอดีตรัฐบาล ส่งผลให้พรรคก้าวไกลต้องเป็นฝ่ายค้าน จนเกิดการต่อต้านจากประชาชนบางกลุ่มที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะกลุ่มอดีตมวลชนเสื้อแดงและกลุ่มทะลุวังที่รวมตัวกันประท้วงหน้าพรรคเพื่อไทย พบผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายสนับสนุนพรรคเพื่อไทยที่มองว่าหากไม่รวมกับพรรคอดีตรัฐบาลจะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ กับฝ่ายที่ตำหนิพรรคเพื่อไทยที่ไม่ยึดมั่นในอุดมการณ์

 

อันดับที่ 3 ชื่นชม ช่อ พรรณิการ์ วานิช และ สส. พรรคก้าวไกล

มาจากคลิป Highlight ช่อ พรรณิการ์ ออกรายการเปิดปากช่องไทยรัฐทีวีและ คลิปเหตุการณ์สภาล่มในวันที่ 31 สิงหาคม ที่พรรคก้าวไกลเสนอให้ประธานสภานับองค์ประชุม พบว่ามีผู้แสดงตนเพียง 96 คน โดยความเห็นผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่ชื่นชมการปฏิบัติงานของพรรคก้าวไกลที่ยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์แม้จะถูกผลักให้ไปเป็นพรรคฝ่ายค้านก็ตาม

อันดับที่ 4 เดบิวต์บอยแบนด์ในรายการ 789 SURVIVAL

รายการ 789 SURVIVAL รายการ Reality ทางช่อง One31 เพื่อหา Idol กลุ่มใหม่ที่มีความสามารถ เหตุที่รายการในเดือนส.ค.ได้รับความสนใจมากที่สุด เนื่องจากการประกาศขายบัตรคอนเสิร์ต 789 SPECIAL STAGE THE TIME CAPSULE และข่าวการปล่อยข้อมูลเท็จการรับงานของศิลปินพร้อมช่องทางการติดต่อ ที่ทำให้ทางค่าย SONRAY MUSIC ต้องออกมาชี้แจงอย่างเป็นทางการ

อันดับที่ 5 The Grand Concert อิงฟ้า มหาชน

ส่วนใหญ่เป็นการโปรโมทคอนเสิร์ตของอิงฟ้า ภาพในงานคอนเสิร์ตจากกลุ่มแฟนคลับและ การกล่าวถึงแขกรับเชิญพิเศษ เช่น ชาลอต ออสติน, ณวัฒน์ อิสรไกรสิน เป็นต้น

อันดับที่ 6 เศรษฐา ทวีสิน ได้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30

ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ตั้งคำถามถึงพรรคเพื่อไทยที่ได้เป็นรัฐบาลและความเหมาะสมที่เศรษฐา ทวีสิน รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 โดยบางส่วนกล่าวถึงการที่นายเศรษฐาไม่เคยแสดงวิสัยทัศน์ ไม่เคยไปดีเบตทางสื่อต่าง ๆ รวมถึงไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง แต่กลับได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี มีการติดแฮชแท็ก #นายกคนที่30 #นายกส้มหล่น #โหวตนายกครั้งที่3

อันดับที่ 7 ประชุมสภาเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3

การประชุมสภาเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3 ในวันที่ 22 สิงหาคม พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคอดีตฝ่ายรัฐบาล คือ พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ ทำให้ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์สนใจว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ จะฝ่าด่านสำคัญอย่าง สว. ได้หรือไม่ โดยสุดท้ายแม้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่พรรคเพื่อไทยก็ต้องเสียมวลชนบางส่วนไป

อันดับที่ 8 Gemini Fourth ConcertD1 ของคู่จิ้น เจมีไนน์- โฟร์ท

เจมิไนน์ นรวิชญ์ และ โฟร์ท ณัฐวรรธน์ โด่งดังจากซีรีย์เรื่อง แฟนผมเป็นประธานนักเรียน ที่ออกอากาศทางช่อง GMM25 จากกระแสความโด่งดังของนักแสดงทั้งสอง จึงมีการจัดคอนเสิร์ตของทั้งคู่ขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันที่ 27 สิงหาคม 2566 โดยคำสนทนาส่วนใหญ่ในสื่อสังคมออนไลน์เป็นของกลุ่มแฟนคลับ และเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่จัดคอนเสิร์ต

อันดับที่ 9 ทักษิณกลับประเทศไทย

แม้อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร จะเลื่อนการกลับประเทศไทยมาหลายครั้ง แต่ยังคงมีมวลชนที่เฝ้ารอการกลับมาของอดีตนายกฯทักษิณ กระทั่งในเช้าวันที่ 22 สิงหาคม เครื่องบินส่วนตัวของทักษิณได้ลงจอดที่สนามบินดอนเมือง สิ่งที่สื่อและประชาชนให้ความสนใจมากที่สุดคือ การปรากฏตัวของทักษิณที่สนามบินดอนเมือง และการก้มกราบพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10  ก่อนถูกนำตัวไปศาลฎีกา เพื่อการพิจารณาโทษ

อันดับที่ 10 การประกวด Miss Universe Thailand 2023 รอบ Final

โพสต์ส่วนใหญ่จะมาจากแฟนคลับที่เชียร์นางงามที่ชื่นชอบ, โพสต์จากสื่อสังคมออนไลน์ของผู้เข้าประกวดโดยเฉพาะ วีนา ปวีนา ซิงห์ ผู้เข้าประกวดจากจังหวัดภูเก็ต แม้ว่าสุดท้าย แอน แอนโทเนีย โพซิ้ว ผู้เข้าประกวดจากจังหวัดนครราชสีมา จะได้รับตำแหน่งไป

โดยสรุป ทิศทางการสื่อสารในโลกออนไลน์ของเดือนสิงหาคม 2566 จาก 5 แพลตฟอร์มที่เป็นหน่วยการศึกษา คือ 1) Facebook 2) Twitter 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok พบว่าประเด็นทางการเมืองยังคงได้รับ Engagement สูง คือ 53% ของ 10 ประเด็นที่ได้รับ Engagement มากที่สุด

จาก 10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจและมีการสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุดในเดือนสิงหาคม 66 สามารถจำแนกหมวดเนื้อหาได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเนื้อหาทางการเมือง 5 ประเด็นได้แก่ พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลและพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน, ชื่นชม ช่อ พรรณิการ์ วานิช และ สส. พรรคก้าวไกล, เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30, การประชุมสภาเพื่อโหวตนายกครั้งที่ 3, ทักษิณกลับประเทศไทย และประเด็นสื่อ สิ่งบันเทิง อีก 5 ประเด็น ได้แก่ มาตาลดาตอนจบ, เดบิวต์บอยแบนด์ในรายการ 789 SURVIVAL, The Grand Concert อิงฟ้า มหาชน, Gemini Fourth ConcertD1 ของคู่จิ้น เจมีไนน์- โฟร์ท, การประกวด Miss Universe Thailand 2023 รอบ Final โดยเมื่อพิจารณาการมีส่วนร่วม หรือ Engagement พบว่า กลุ่มประเด็นเนื้อหาการเมืองมี 155,569,064 Engagement คิดเป็น 53%

ในกลุ่มการเมือง พบว่า กลุ่มผู้ส่งสารที่มีอิทธิพลหรือสามารถสร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) มากที่สุด คือกลุ่ม สื่อที่ 45% รองลงมาได้แก่ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ 32% ผู้ใช้งานทั่วไป 20% พรรคการเมือง 2% และอื่น ๆ 1% ตามลำดับ โดย TikTok เป็นช่องทางที่มี Engagement มากที่สุดที่ 35% รองลงมาได้แก่ Facebook 33% Twitter 18% Instagram 8% YouTube 5% ตามลำดับ

กลุ่มสื่อ สิ่งบันเทิง มี 136,016,290 Engagement คิดเป็น 47% โดยมีกลุ่มผู้ส่งสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมมากที่สุดคือ ผู้ใช้งานทั่วไป 76% รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ 22% และสื่อ 2% ตามลำดับ โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุด ที่ 43% รองลงมาได้แก่ Twitter 24% Instagram 17% Facebook 15% YouTube 1% ตามลำดับ

เห็นได้ว่า Engagement ส่วนใหญ่จะมาจากสองช่องทางหลัก คือ Facebook 38% และ TikTok 32% โดยประเด็นที่มี Engagement มากที่สุด 3 อันดับแรกมาจากผู้ใช้งาน TikTok บัญชี nathanatanitthies โดยเนื้อหาของคลิปเป็นการเผาเสื้อและปฏิทินของคนเสื้อแดง โพสต์ดังกล่าวได้รับ 437,500 Engagement อันดับสองบัญชี sparkupdate  มีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้มาตรา 112 เป็นข้ออ้างในการไม่ร่วมงานกับพรรคก้าวไกล ได้รับ 430,342 Engagement ส่วนอันดับที่ 3 จากบัญชี ratsadonnews112  โพสต์วิดีโอในวันที่มีการประท้วงหน้าที่ทำการพรรคเพื่อไทย หลังทราบข่าวพรรคเพื่อไทยร่วมมือกับพรรคที่เป็นอดีตรัฐบาลได้รับ 321,947 Engagement

ด้านผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับประเด็นของพรรคเพื่อไทยหลังจากประกาศจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีพรรคก้าวไกล เมื่อแยกตามประเภทผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ พบว่า สื่อหรือสำนักข่าวสามารถสร้างการมีส่วนร่วมมากถึง 25.1 ล้าน Engagement รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ 21.1 ล้าน ผู้ใช้งานทั่วไป 11.6 ล้าน พรรคการเมือง 1.2 ล้าน และอื่น ๆ ประมาณ 21,000 Engagement ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่แสดงความผิดหวังต่อพรรคเพื่อไทย และบางส่วนแสดงความเห็นว่าจะเลือกพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งหน้า

Engagement ส่วนใหญ่มาจาก TikTok 59% ตามด้วย Facebook 25% Instagram 13% โดยประเด็นที่มี Engagement มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ บัญชี iu_jameji ที่เป็นคลิปของเจมส์ จิรายุ ซึ่งเป็นนักแสดงนำของละคร ได้รับ 1,119,161 Engagement, บัญชี maker_family โพสต์ Highlight ละคร 1,008,661 Engagement, บัญชี jirayu.jj6 โพสต์คลิปเจมส์ จิรายุ แล้วติด #มาตาลดา ได้รับ 978,414 Engagement
ด้านผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับมาตาลดาตอนจบ แยกตามประเภท พบว่า เป็นผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ทั่วไปมากถึง 47.7 ล้าน Engagement รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ 22.4 ล้าน Engagement สื่อ สำนักข่าว ประมาณ 400,000 Engagement และ อื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ ภาครัฐ 434 Engagement โดยส่วนใหญ่เป็นการโพสต์ของกลุ่มแฟนคลับละครที่โพสต์ฉากหรือนักแสดงที่ตนชื่นชอบ รวมไปถึงนักแสดงที่ใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ในการโปรโมตละครและแฟนคลับเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ในโพสต์ดังกล่าว

โดยสรุป ในเดือนสิงหาคม 2566 ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ยังคงให้ความสนใจในประเด็นทางการเมืองมากถึง 5 จาก 10 ประเด็น โดยประเด็นที่ได้รับความสนใจ คือ พรรคเพื่อไทยประกาศจัดตั้งรัฐบาลและพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน, ชื่นชม ช่อ พรรณิการ์ วานิชและ สส. พรรคก้าวไกล, เศรษฐา ทวีสิน ได้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30, ประชุมสภาเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3และทักษิณกลับประเทศไทย ส่วนประเด็นสื่อ สิ่งบันเทิงที่ได้รับความสนใจ ได้แก่ มาตาลดาตอนจบ, เดบิวต์บอยแบนด์ในรายการ 789 Survival, The Grand Concert อิงฟ้า มหาชน, Gemini Fourth ConcertD1 ของคู่จิ้น เจมีไนน์- โฟร์ท และการประกวด Miss Universe Thailand 2023 รอบ Final
ในภาพรวม ผู้ส่งสารส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้งานทั่วไป รองลงมาเป็นผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ สื่อ สำนักข่าว แบรนด์ และภาครัฐ ตามลำดับ แต่เมื่อนำมาวิเคราะห์ร่วมกับประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในเดือนสิงหาคม 66 ความสนใจของสื่อสังคมออนไลน์ยังเป็นประเด็นทางการเมืองโดยแสดงออกด้วยการใช้แฮชแท็ก เช่น #นายกคนที่30 #นายกส้มหล่น #notmypm #โหวตนายกครั้งที่3 #ประชุมสภา อย่างไรก็ตามผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ยังคงให้ความสนใจในสื่อบันเทิงด้วยการสร้างกลุ่มที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน เช่น กลุ่มของแฟนคลับดาราที่แชร์คอนเทนต์แล้วติดแฮชแท็กที่เกี่ยวกับละครหรือนักแสดงที่ตนชื่นชอบร่วมกัน
ขณะที่ TikTok ยังคงเป็นช่องทางหลักที่สร้างปฏิสัมพันธ์ได้เป็นอันดับ 1 เช่นเดียวกับเดือนกรกฎาคม 66 ที่ผ่านมา สำหรับเดือนสิงหาคมพบประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้ใช้งาน TikTok ส่วนใหญ่ เป็นผู้ใช้งานทั่วไปมากถึง 60% ของ Engagement ทั้งหมดของ TikTok เมื่อเปรียบเทียบกับ แพลตฟอร์มหลักอย่าง Facebook ที่มีสัดส่วนผู้ใช้งานทั่วไปเพียง 14% ของ Engagement ทั้งหมดของ Facebook นับเป็นการตอกย้ำถึงความนิยมของ TikTok ทั้งนี้ อาจด้วยเหตุที่ใช้งานง่าย จนเข้าถึงผู้ใช้งานได้ทุกเพศ ทุกวัย