เลือกหน้า

คบเด็กสร้างบ้าน ตอนที่ 2

เรื่องราวของโรงเรียนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในชนบทอันห่างไกลของประเทศจีน ซึ่งมีนักเรียนอยู่ราว 30 คน และกำลังประสบปัญหา เมื่อคุณครูเกา ครูเพียงคนเดียวของหมู่บ้าน จำเป็นต้องลากลับบ้านเกิดเพราะแม่ป่วย ผู้ใหญ่บ้านจึงต้องออกตามหาครูจำเป็นมาสอนเด็ก ๆ แทนชั่วคราว จนได้พบกับเด็กหญิงอายุ 13 ปี ชื่อ “เว่ยหมิ่นจือ” ซึ่งไม่มีความรู้อะไรมากนัก นอกจากอ่านออกเขียนได้ แต่ตกลงรับงานนี้เพราะอยากได้ค่าจ้าง
.
โดยหน้าที่สำคัญที่คุณครูเกาสั่ง “เว่ยหมิ่นจือ” คือ เธอต้องดูแลนักเรียนไม่ให้หายไปแม้แต่คนเดียว หรือ Not One Less ซึ่งเป็นชื่อของภาพยนตร์ ของผู้กำกับชื่อดัง จางอี้โหมว ที่ใช้ชาวบ้านจริงๆ ที่ไม่ใช่นักแสดงมาเล่นในหนัง ท่ามกลางความสมจริงและเรียบง่าย แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำ ปัญหาความยากจน และโครงสร้างทางการศึกษาที่เป็นสากล จนเข้าถึงหัวใจคนดูทุกชาติทุกภาษา กระทั่งได้รับรางวัล “สิงโตทองคำ” จาก “เทศกาลหนังเวนิซ” ปี 1999
.
ผลงานระดับมาสเตอร์พีซของ จางอี้โหมว กลายเป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจให้ อมรวัฒน์ พุทธเลิศศักดิ์ ผู้ควบคุมการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “สบายดี หลวงพะบาง” อยากปั้นดินให้เป็นดาว สร้างภาพยนตร์ไทยโดยใช้ความธรรมชาติของผู้คนในท้องถิ่นมาเป็นนักแสดง แทนนักแสดงมืออาชีพ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าคนไทยก็ทำได้ และอยากให้เด็กยุคนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์มือถือ ทั้งติดเกมและติดโซเชียลเกือบตลอดเวลา และกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของหลาย ๆ ครอบครัวในสังคมไทย ได้หันมาสนใจเล่นกับเพื่อนข้างบ้านบ้าง เหมือนเมื่อครั้งตอนที่เขาเคยเป็นเด็ก จึงนำไอเดียนี้ไปเสนอขอทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กระทั่งได้รับทุนประเภทเปิดรับทั่วไป ประจำปี 2565 อนุมัติให้สร้างภาพยนตร์สั้นคบเด็กข้างบ้าน

“ผมก็อยากพิสูจน์ให้เห็นว่าเด็กอีสานบ้านเราก็เก่งและทำได้เหมือนกัน ซึ่งในเมืองไทย ยังไม่ค่อยมีใครเอาเด็กจากท้องถิ่นหรือจากในพื้นที่จริง ๆ ที่ไม่ใช่นักแสดงมาเล่นหนัง เพราะว่ามันยาก คอนโทรลยากทุกอย่าง โดยพ่อแม่ที่เอาลูกมาเล่นหนัง ต่างอยากให้ลูกหลานเล่นได้ ก็เคี่ยวเข็ญและตั้งใจกันมาก”
.
ภาพยนตร์สั้นคบเด็กข้างบ้าน ทั้ง 6 ตอน ถ่ายทอดผ่านพล็อตเรื่องที่สนุก ต้องใช้จินตนาการ โดยมีฉากแอคชั่นพาเด็กติดเกมจากยุคปัจจุบัน วาร์ปทะลุมิติเข้าไปในยุคอดีต ได้ไปสัมผัสและเล่นกับเด็กยุคโบราณจริง ๆ ผ่านการละเล่นโบราณของพื้นที่ภาคอีสาน ที่เด็ก ๆ ยุคนี้อาจยังไม่เคยได้รู้จัก ทั้ง “ตีคลีไฟ” ที่จังหวัดชัยภูมิ “อีเตย” จังหวัดเลย “ผีโผน” จังหวัดนครพนม “มะเญงญาง” จังหวัดมุกดาหาร “สะบ้า” จังหวัดยโสธร และ “จ้ำหมู่หมี่” จังหวัดหนองคาย ซึ่งในขั้นตอนการถ่ายทำหนัง อมรวัฒน์และทีมต้องใช้เวลาสร้างสรรค์เกือบ 1 ปีเต็ม กว่าที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเสร็จสมบูรณ์สวยงามตามที่ตั้งใจไว้ แม้ว่าจะต้องเปลี่ยนทีมช่างภาพมาแล้วถึง 3 ทีมก็ตาม
.
“นักแสดงเด็กวัย 6-10 ปี เขายังซนอยู่ ไม่ค่อยมีสมาธิ อีกทั้งเราตั้งใจจะใช้นักแสดงที่เป็นเด็กในท้องถิ่น เพื่อให้ดูสมจริงที่สุด จึงต้องไปแคสติ้งหานักแสดงเด็กในพื้นที่จริง และหาคุณครูหรือชาวบ้านที่มีความรู้เกี่ยวกับการละเล่นโบราณมาฝึกให้พวกเขา จากนั้นอีก 3 เดือน ค่อยไปถ่ายจริง มันยากตรงที่ต้องทำงานกับเด็ก บางคนเล่นไม่ได้ บางคนร้องไห้กลับบ้าน ทั้งที่ยังถ่ายไม่เสร็จ เรื่องนี้จึงยากมากจริง ๆ เพราะเราไม่ได้ใช้เด็กที่เป็นนักแสดงอาชีพ และการลงพื้นที่ถ่ายทำในช่วงนั้น ก็เป็นช่วงฤดูฝนพอดี ก็ยิ่งทำให้ถ่ายทำลำบากมากขึ้นไปอีก”

แม้จะเหนื่อยยากเพียงใด แต่อุปสรรค์ที่มาพร้อมกับความท้าทาย ก็กลายมาเป็นความภูมิใจของ อมรวัฒน์ ที่ท้ายที่สุดแล้ว เขาก็สามารถปั้นให้เด็กอีสาน เด็กบ้าน ๆ มาเล่นหนังได้จริง ๆ
.
“ครั้งแรกที่เจอเด็ก ๆ เขาไม่ยอมเล่น ไม่ให้ความร่วมมือเลย แต่พอเราเข้าถึง เราสนิทกับเขาได้ ทำให้เขารู้สึกว่าเราเป็นเพื่อนกับเขา เขาก็แสดงให้เราได้อย่างราบรื่น มันเป็นความภูมิใจที่เราไม่ได้เลือกเอานักแสดงอาชีพมาเล่น เราเอาเด็กบ้าน ๆ เด็กที่ไม่เคยเห็นกล้องมาถ่าย ไม่รู้ว่าต้องทำสีหน้ายังไง หรือควรหันมุมไหนให้กล้อง พอมีบทมีสคริปให้พูด เขาก็ตั้งใจกลับไปท่อง บางคนจำได้แม่นเลย พอมาถึงก็พูดได้ชัดเจน”
.
หลังภาพยนตร์เรื่องนี้ออกอากาศ ก็ได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี มีเสียงชื่นชมจากหลายภาคส่วน หลายโรงเรียนมาขอนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน ส่วนหน่วยงานท้องถิ่นในหลายจังหวัด ก็ขอนำไปเผยแพร่ต่อ เพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวและวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น ใครที่ยังไม่เคยชม สามารถรับชมได้ทางแอปพลิเคชัน TPTV และช่องทีวีรัฐสภา ซึ่งมีรีรันทุกวันเสาร์ เวลา 08.20 น. ยาวไปจนถึงสิ้นปีนี้ หรือชมย้อนหลังได้ที่ยูทูบ Thai Media Fund กับภาพยนตร์สั้นคบเด็กข้างบ้าน ภาพยนตร์ที่มาพร้อมกับความภูมิใจของทีมงาน ความภูมิใจของเด็กบ้าน ๆ และกลายเป็นความภูมิใจของคนไทย ซึ่งท้ายที่สุดอาจจะกระตุ้นให้ลูกหลานหันมาคบเด็กข้างบ้านลดการเล่นเกมส์ลงบ้าง
.
#กองทุนสื่อ #คบเด็กข้างบ้าน
#เล่าสื่อกันฟัง #บทความเล่าสื่อกันฟัง
#ผลงานผู้รับทุนกองทุนสื่อ
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
#กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
.
ติดตาม “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ได้ที่
Website : www.thaimediafund.or.th
Facebook : กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
Youtube : www.youtube.com/c/ThaiMediaFund
Line Official : @thaimediafund

พฤศจิกายน 66 วันลอยกระทงได้รับความสนใจสูงสุดในโซเชียลมีเดียและ TikTok ยังเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยม

เดือนพฤศจิกายน 2566 มีวันสำคัญคือ วันลอยกระทง ซึ่งอยู่ในกลุ่มเนื้อหาเทศกาล จึงได้รับความสนใจสูงสุดในโซเชียลมีเดีย แต่ก็เป็นอีกเดือนที่ กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ได้รับความสนใจมากถึง 7 ใน 10 อันดับ คือ กระแสละครเรื่องพรหมลิขิต, การประกวด Miss Universe 2023, Billkin Tempo Concert Presented by Lazada, อิงฟ้า-ชาล็อต ร่วมงานกับ Wink White, The Grand Concert Engfa Live in Philippines, คอนเสิร์ต ANKNOWNA The Unexpected Experiment และ อิงฟ้า-ชาล็อต ร่วมงานแคมเปญ Shopee 11.11 ส่วนอีก 2 อันดับเป็น กลุ่มเนื้อหา อาชญากรรม อุบัติเหตุ คือ เสี่ยแป้ง นาโหนด หนีการคุมขังและยังไม่สามารถจับกุมตัวได้ และ ดีเจโก ตฤณ เสียชีวิต  

เมื่อจำแนก Engagement ตามกลุ่มเนื้อหา พบว่า กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง มี 7 ประเด็นคิดเป็น 58.94% ในขณะที่กลุ่มเนื้อหาเทศกาลซึ่งมีเพียง 1 ประเด็น แต่มีสัดส่วนถึง 36.50% ส่วนกลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ ซึ่งมี 2 ประเด็น มีสัดส่วนเพียง 4.56%  

Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ Wisesight ศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยในเดือนพฤศจิกายน 2566 โดยใช้เครื่องมือ ZocialEye สำรวจจาก 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่ 1) Facebook 2) X 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok หลังจากนั้นใส่คำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เช่น กระแสละครเรื่องพรหมลิขิต วันลอยกระทง เสี่ยแป้ง นาโหนดหนีการคุมขังและยังไม่สามารถจับกุมตัวได้ เป็นต้น จากนั้นนำข้อมูลที่ได้จากเครื่องมือ ZocialEye มารวบรวมและเรียงลำดับตามจำนวน Engagement พบ 10 อันดับประเด็นที่โลกออนไลน์ให้ความสนใจในเดือนพฤศจิกายน 2566 คือ

1.      วันลอยกระทง

2.      กระแสละครเรื่องพรหมลิขิต

3.      การประกวด Miss Universe 2023

4.      Billkin Tempo Concert Presented by Lazada

5.      อิงฟ้า-ชาล็อต ร่วมงานกับ Wink White

6.      เสี่ยแป้ง นาโหนดหนีการคุมขังและยังไม่สามารถจับกุมได้

7.      ดีเจโก ตฤณ เสียชีวิต

8.      The Grand Concert Engfa Live in Philippines

9.      คอนเสิร์ต ANKNOWNA The Unexpected Experiment

10.  อิงฟ้า-ชาล็อต ร่วมงานแคมเปญ Shopee 11.11

10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจ มีการสื่อสารและมีส่วนร่วมมากที่สุดในโลกออนไลน์ เดือนพฤศจิกายน 2566

อันดับที่ 1 วันลอยกระทง

          ลอยกระทงเป็นประเพณีที่คนไทยปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน ด้วยความเชื่อว่าเป็นการขอขมาพระแม่คงคา วันลอยกระทงจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ตามจันทรคติ ซึ่งปีนี้คือวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 นอกจากการออกมาลอยกระทงตามประเพณีแล้ว ยังมีการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อแชร์คอนเทนต์ เช่น การโพสต์ภาพการมาร่วมงานลอยกระทงในสถานที่ต่าง ๆ การโพสต์ภาพกระทงที่ตกแต่งอย่างสวยงาม ทั้งยังพบข้อเสนอให้ยกเลิกการลอยกระทง เนื่องจากสร้างมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม แม้ปัจจุบันคนส่วนใหญ่จะพยายามใช้กระทงที่ทำจากวัสดุจากธรรมชาติก็ตาม

อันดับที่ 2 กระแสละครเรื่องพรหมลิขิต

          พรหมลิขิต ติดอันดับ 2 ประเด็นที่โลกออนไลน์ให้ความสนใจทั้งในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ต่อเนื่องเดือนพฤศจิกายน สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมของละครเรื่องนี้ โดยในเดือนนี้ความสนใจส่วนใหญ่จะมาจากเพลงข้ามเวลา เพลงประกอบละครที่ร้องโดย วี วิโอเลต วอลเทีย และการกล่าวถึงฉากสำคัญ เช่น ฉากการทำอาหารของพุดตาน ฉากขุนหลวงปลอมตัวเข้าไปในเมืองกับองครักษ์ เป็นต้น

อันดับที่ 3 การประกวด Miss Universe 2023

          การประกวด Miss Universe 2023 จัดขึ้นที่ประเทศเอลซัลวาดอร์ โดยปีนี้ แอนโทเนีย โพซิ้ว มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2023 เป็นตัวแทนจากประเทศไทย และได้ตำแหน่งรองอันดับ 1 ความสนใจของโลกออนไลน์ต่อการประกวดครั้งนี้  ส่วนใหญ่เป็นการร่วมเชียร์ การให้กำลังใจผู้เข้าประกวดจากประเทศไทย การชื่นชมชุดประจำชาติ ที่ได้แรงบันดาลใจจากรูปปั้นพระแม่ธรณีในสมัยอยุธยา

อันดับที่ 4  Billkin Tempo Concert Presented by Lazada

          คอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกของ บิวกิ้น พุฒิพงศ์ ที่ Impact Arena โดยในคอนเสิร์ตมีแขกรับเชิญจำนวนมาก แต่ผู้ที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดคือ พีพี กฤษฏ์ โดยเฉพาะในช่วงที่ถูกบิวกิ้น พุฒิพงศ์ หอมแก้มบนเวที ทำให้มีกลุ่มแฟนคลับของศิลปินทั้งสองคน ถ่ายภาพนั้นแล้วนำมาโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์

อันดับที่ 5 อิงฟ้า-ชาล็อต ร่วมงานกับ Wink White

          อิงฟ้า วราหะ และ ชาร์ล็อต ออสติน ร่วมโปรโมทสินค้าจากแบรนด์ Wink White และสร้างแฮชแท็ก #WinkwhiteWxENGLOT ให้ติดเทรนด์ X โดยมีการโพสต์มากถึง 1 ล้านโพสต์ในช่วงที่มีการไลฟ์โปรโมทผลิตภัณฑ์ นอกจากนั้นแบรนด์ยังได้พาอิงฟ้าและชาล็อตไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นเพื่อโปรโมทผลิตภัณฑ์ ทำให้กลุ่มผู้ที่ชื่นชอบอิงฟ้าและชาล็อตแสดงความชื่นชอบต่อแบรนด์ Wink White

อันดับที่ 6 เสี่ยแป้ง นาโหนด หนีการคุมขังและยังไม่สามารถจับกุมได้

          นายเชาวลิต ทองด้วง หรือแป้ง นาโหนด นักโทษหลายคดี เช่น คดีเกี่ยวกับ พ.ร.บ.อาวุธปืน ฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่า อีกทั้งยังถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ในจังหวัดพัทลุง ได้หลบหนีจากการควบคุมของเจ้าหน้าที่ระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาล ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2566 แม้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะระดมทีมค้นหาและใช้เวลากว่า 40 วัน แต่ก็ยังไม่พบ ในวันที่ 24 พฤศจิกายน แป้ง นาโหนด ได้อัดคลิปเผยสาเหตุที่ต้องหนี ทำให้โลกออนไลน์ให้ความสนใจมากขึ้นโดยเฉพาะการตั้งคำถามถึงความสามารถของตำรวจที่ไม่สามารถตามจับกุมได้

อันดับที่ 7  ดีเจโก ตฤณ เสียชีวิต

          ดีเจโก ตฤณ เรืองกิจรัตนกุล หรือที่รู้จักกันในชื่อ ดีเจโก ตฤณ แห่งกรีนเวฟ 106.5 FM เสียชีวิตจากการตกจากชั้นดาดฟ้าโรงแรมดังในซอยสุขุมวิท 20 โดยโลกออนไลน์ต่างแสดงความเสียใจกับการจากไปของดีเจโก รวมถึงการแชร์ภาพในงานฌาปนกิจที่มีดีเจ ดารานักแสดง มาร่วมไว้อาลัยดีเจโกเป็นครั้งสุดท้าย

อันดับที่ 8 The Grand Concert Engfa Live in Philippines

          อิงฟ้า วราหะ เดินทางไปประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อร่วมงาน The Grand Concert Engfa Live in Philippines พร้อมแขกรับเชิญสุดพิเศษอย่างชาล็อต ออสติน และ สแน็ก อัจฉรีย์ ศรีสุข โดย Engagement ส่วนใหญ่มาจากช่องทางหลักของอิงฟ้า ชาล็อต และ สแน็ก ที่โพสต์รูปภาพและวิดีโอ ทำให้กลุ่มแฟนคลับเข้ามาแสดงความยินดี ชื่นชม ในการแสดงคอนเสิร์ตที่ประเทศฟิลิปปินส์ครั้งนี้

อันดับที่ 9 คอนเสิร์ต ANKNOWNA The Unexpected Experiment

          ANKNOWNA The Unexpected Experiment เป็นคอนเสิร์ตของ หยิ่น อานันท์ หว่อง นักแสดงซีรีย์วาย โดยในโลกออนไลน์มีการแชร์ภาพและคลิปในคอนเสิร์ตเป็นจำนวนมาก รวมถึงชื่นชมความตื่นตาตื่นใจของคอนเสิร์ตในธีม (Theme) โลกอนาคต

อันดับที่ 10 อิงฟ้า-ชาล็อต ร่วมงานแคมเปญ Shopee 11.11

          อิงฟ้า-ชาล็อต ร่วมโปรโมทแคมเปญ 11.11 ของ Shopee โดยการไลฟ์สดแจกโค้ดส่วนลดภายในแอปพลิเคชัน  Engagement ส่วนใหญ่มาจากช่องทางหลักของอิงฟ้า ชาล็อต รวมถึงเพจ Shopee ที่โพสต์โปรโมทแคมเปญดังกล่าว

          โดยสรุป ทิศทางของการสื่อสารในโลกออนไลน์ของเดือนพฤศจิกายน 2566 จาก 5 แพลตฟอร์มที่เป็นหน่วยการศึกษา คือ 1) Facebook 2) X 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok พบว่าเป็น กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง 7 ประเด็นคิดเป็น 58.94% กลุ่มเนื้อหาเทศกาล 1 ประเด็น (36.50%) และ กลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ 2 ประเด็น (4.56%)

          เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2566 พบว่า แม้กลุ่มเนื้อหา สื่อ สิ่งบันเทิง จะยังคงได้รับความสนใจ ถึง 7 อันดับ โดยส่วนใหญ่มาจากกระแสละครพรหมลิขิต งานอีเวนต์ และการจัดคอนเสิร์ตภายในประเทศและในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤศจิกายนมีวันลอยกระทง ซึ่งเป็นประเด็นในกลุ่มเนื้อหาเทศกาล สามารถสร้าง Engagement เป็นอันดับที่ 1 เนื่องจากเป็นเทศกาลประจำปีที่ถือปฏิบัติมายาวนาน ผนวกกับมีการจัดงานของหลายภาคส่วน จึงเป็นประเด็นในความสนใจ แต่ก็มีประเด็นเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่เสนอให้ยกเลิกการลอยกระทงที่โลกออนไลน์ก็ให้ความสนใจเช่นกัน ส่วนกลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม และอุบัติเหตุ มี 2 ประเด็น คือ เสี่ยแป้ง นาโหนด หนีการคุมขังและยังไม่สามารถจับกุมได้กับประเด็น ดีเจโก ตฤณ เสียชีวิต โดยประเด็นในกลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม และอุบัติเหตุ มีจำนวน Engagement น้อยกว่า กลุ่มเนื้อหาเทศกาล และ กลุ่มเนื้อหา สื่อ สิ่งบันเทิง ในสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก

กลุ่มเนื้อหาที่ได้รับความสนใจมากที่สุด จำแนกตามผู้สื่อสาร และแพลตฟอร์ม

          จาก 10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจและมีการสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุด ในเดือนพฤศจิกายน 2566 สามารถจำแนกเนื้อหาออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง รวม 137,914,641 Engagement จาก 7 ประเด็น คือ กระแสละครพรหมลิขิต (70,516,692 Engagement), การประกวด Miss Universe 2023 (40,872,570 Engagement), Billkin Tempo Concert Presented by Lazada (8,636,272 Engagement), อิงฟ้า-ชาล็อต ร่วมงานกับ Wink White (7,814,819 Engagement), The Grand Concert Engfa Live in Philippines (3,871,612 Engagement), คอนเสิร์ต ANKNOWNA The Unexpected Experiment (3,266,637 Engagement), อิงฟ้า-ชาล็อต ร่วมงานแคมเปญ Shopee 11.11 (2,936,039 Engagement)  กลุ่มเนื้อหาเทศกาล คือ วันลอยกระทง จำนวน 85,408,502 Engagement กลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ จำนวนรวม 10,685,894 Engagement คือ เสี่ยแป้ง นาโหนดหนีการคุมขังและยังไม่สามารถจับกุมได้ (5,443,183 Engagement),  และ ดีเจโก ตฤณ เสียชีวิต (5,242,711 Engagement)

กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้ใช้งานทั่วไป (51.53%) รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (31.04%), สื่อ สำนักข่าว (17.30%) และอื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ พรรคการเมือง และ ภาครัฐ รวม 0.13% โดยมี Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 34.11% รองลงมาได้แก่ X (23.48%), TikTok (22.36%), Instagram (18.04%), YouTube (2.01%)

กลุ่มเนื้อหาเทศกาล มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้ใช้งานทั่วไป (53.29%) รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (40.81%), สื่อ สำนักข่าว (4.76%) อื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ ภาครัฐ พรรคการเมือง และนักการเมืองรวม 1.14% โดยมี TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 63.37% รองลงมาได้แก่ Facebook (18.90%), Instagram (13.10%), X (3.95%), YouTube (0.68%)

กลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ สื่อ สำนักข่าว (45.66%) รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (27.77%), ผู้ใช้งานทั่วไป (26.36%) และอื่น ๆ ได้แก่ พรรคการเมือง และแบรนด์ รวม 0.21% โดยมี Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 51.96% รองลงมาได้แก่ TikTok (33.13%), YouTube (6.26%), Instagram (5.41%), X (3.24%)

ผลการศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยในเดือนพฤศจิกายน 2566 พบว่า แต่ละกลุ่มเนื้อหามีสัดส่วน Engagement ของผู้สื่อสาร และแพลตฟอร์มการสื่อสารที่แตกต่างกัน เมื่อพิจารณาแพลตฟอร์มการสื่อสารในภาพรวมพบว่า เดือนพฤศจิกายน 2566 TikTok ยังคงเป็นแพลตฟอร์มอันดับหนึ่ง สาเหตุที่ TikTok ได้รับความนิยมสูง โดยผู้ที่ใช้มากที่สุด คือ ผู้ใช้งานทั่วไป ด้วยการโพสต์ภาพหรือวิดีโอสั้นเป็นหลัก อาจเพราะ TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่เข้าถึงและรับรู้ได้ง่าย ไม่ต้องใช้เวลาในการพิจารณาเนื้อหามากนัก เพียงแค่ชมวิดีโอประมาณ 1 นาที ก็สามารถเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดได้ TikTok จึงยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถสร้าง Engagement ได้จำนวนมาก

แต่เมื่อโฟกัสเฉพาะกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง พบว่าแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดกลับเป็น Facebook ที่ 34.11% ตามด้วย X (23.48%), TikTok (22.36%), Instagram (18.04%), YouTube (2.01%) แตกต่างจากรายงานการสำรวจการสื่อสารออนไลน์ของเดือนตุลาคม 66 ที่ TikTok เป็นแพลตฟอร์มหลักในการสื่อสารของกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง แต่สำหรับเดือนพฤศจิกายน 66 ความน่าสนใจ คือ ผู้สื่อสารที่สร้าง Engagement ได้สูง มักเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็น และช่องทางหลักในการมีส่วนร่วมก็เป็นไปตามแพลตฟอร์มที่ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นใช้ในการสื่อสาร เช่น ประเด็นกระแสละครพรหมลิขิต ที่มี Facebook เป็นแพลตฟอร์มหลักในการสร้าง Engagement โดยเฉพาะจากเพจ Broadcast Thai Television ซึ่งเป็นผู้ผลิตละคร โดยโพสต์ส่วนใหญ่เป็นการตัดเหตุการณ์สำคัญในละครมาโพสต์บนเพจของตนเอง ประเด็นการประกวด Miss Universe 2023 ที่ Instagram เป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุด เพราะเป็นช่องทางหลักที่ แอนโทเนีย โพซิ้ว ใช้ในการอัพเดทข่าวสารทั้งงานประกวดและชีวิตความเป็นอยู่ ประเด็นอิงฟ้า วราหะ และ ชาร์ล็อต ออสติน ร่วมงานโปรโมทสินค้าจากแบรนด์ Wink White และสร้างแฮชแท็ก #WinkwhiteWxENGLOT ให้ติดเทรนด์ X โดยมีการโพสต์มากถึง 1 ล้านโพสต์ในช่วงที่มีการไลฟ์โปรโมทผลิตภัณฑ์  และประเด็นอิงฟ้า-ชาล็อต ร่วมโปรโมทแคมเปญ 11.11 ของ Shopee ที่มีการไลฟ์สดแจกโค้ดส่วนลดภายในแอปพลิเคชัน โดย Engagement ส่วนใหญ่มาจาก Facebook ซึ่งเป็นช่องทางหลักของอิงฟ้า ชาล็อต รวมถึงเพจ Shopee ที่โพสต์โปรโมทแคมเปญดังกล่าว

 เปรียบเทียบผลการศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของเดือนพฤศจิกายน 2566 ใน 3 ประเด็นคือ วัยลอยกระทง – การประกวด Miss Universe 2023 – เสี่ยแป้ง นาโหนดหนีการคุมขังและยังไม่สามารถจับกุมได้ 

ประเด็นที่ได้รับความสนใจในกลุ่มเนื้อหาเทศกาล: วันลอยกระทง

          Engagement ส่วนใหญ่ของประเด็นวันลอยกระทงมาจาก TikTok ที่ 63.37% ตามด้วย Facebook (18.90%), Instagram (13.10%), X (3.95%) และ YouTube (0.68 %) โดยโพสต์ที่มี Engagement มากที่สุด 3 อันดับแรกมาจาก TikTok บัญชี patt_napapa56 หรือคุณแพท ณปภา ตันตระกูล โพสต์คลิปการไปเที่ยวงานวันลอยกระทงในกรุงเทพมหานครพร้อมกับครอบครัว โพสต์ดังกล่าวได้รับการมีส่วนร่วม 1,405,881 Engagement อันดับที่ 2 มาจากบัญชี keddddddg โพสต์ภาพของตายายคู่หนึ่งมาลอยกระทงร่วมกันในจังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับ 1,329,157 Engagement อันดับที่ 3 มาจากบัญชี bas_patchaya โพสต์คลิปลอยกระทง ลอยโคมยี่เป็ง ที่มีความสวยงามจากจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับ 1,327,661 Engagement 

          ด้านผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่สื่อสารเนื้อหาวันลอยกระทง พบว่า ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถสร้างการมีส่วนร่วมมากถึง 45.51 ล้าน Engagement คิดเป็น 53.29% รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ 34.86 ล้าน Engagement คิดเป็น 40.81%, สื่อ สำนักข่าว 4.06 ล้าน Engagement คิดเป็น 4.76%, และอื่น ๆ ได้แก่ ภาครัฐ พรรคการเมือง นักการเมือง รวม 24,894 Engagement คิดเป็น 1.14% โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการแชร์ภาพ วิดีโอ จากเทศกาลลอยกระทงตามสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย

ประเด็นที่ได้รับความสนใจในกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง: การประกวด Miss Universe 2023 

          Engagement ส่วนใหญ่มาจาก Instagram ที่ 32.46% ตามด้วย Facebook (24.97%), X (22.61%), TikTok (19.43%) และ YouTube (0.53%) โดยโพสต์ที่มี Engagement มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ บัญชี TikTok namtanlita หรือ น้ำตาล ชลิตา ส่วนเสน่ห์ Miss Universe 2016 โพสต์เชิญชวนชาวไทยให้เชียร์ แอนโทเนีย โพซิ้ว ในการประกวด Miss Universe 2023 ที่ประเทศเอลซัลวาดอร์ โพสต์ดังกล่าวได้รับการมีส่วนร่วม 456,907 Engagement อันดับที่ 2 มาจากบัญชี Instagram porxild หรือ แอนโทเนีย โพซิ้ว โพสต์ภาพชุดประจำชาติด้วยสาระสำคัญหรือธีม (theme) The Goddess of Ayothaya ได้รับ 451,173 Engagement อันดับที่ 3 มาจากบัญชี Instagram Missuniverse.in.th โพสต์ภาพชุดราตรีในธีม Star in The Universe ได้รับ 353,156 Engagement

          ด้านผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่สนใจสื่อสารเกี่ยวกับการประกวด Miss Universe 2023 พบว่า เป็นผู้ใช้งานทั่วไป 23.10 ล้าน Engagement คิดเป็น 56.53% รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ 11.89 ล้าน Engagement คิดเป็น 29.10% สำนักข่าว 5.78 ล้าน Engagement คิดเป็น 14.15% อื่น ๆ ได้แก่ ภาครัฐ และ พรรคการเมือง รวม 3,074 Engagement คิดเป็น 0.22% โดยส่วนใหญ่จะเป็นการให้กำลังใจ แอนโทเนีย โพซิ้ว
ให้ได้รับตำแหน่ง
Miss Universe 2023 และการชื่นชมชุดที่เตรียมใช้ในการประกวด

 

ประเด็นที่ได้รับความสนใจในกลุ่มเนื้อหา อาชญากรรม อุบัติเหตุ : เสี่ยแป้ง นาโหนดหนีการคุมขังและยังไม่สามารถจับกุมได้

Engagement ส่วนใหญ่มาจาก Facebook ที่ 74.71% ตามด้วย TikTok (11.26%), YouTube (11.01%), Instagram (2.63%) และ X (0.39%) โดยโพสต์ที่มี Engagement มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ บัญชี Facebook Amarin News ได้รับการมีส่วนร่วม 163,912 Engagement อันดับที่ 2 บัญชี TikTok Thairath_news ได้รับ 131,359 Engagement อันดับที่ 3 บัญชี Facebook เรื่องเล่าเช้านี้ ได้รับ 81,635 Engagement ซึ่งทั้งสามคลิปมีเนื้อหาเดียวกันคือเป็นคลิปที่เสี่ยแป้งชี้แจงสาเหตุที่หนีเพราะไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งแต่ละสำนักข่าวได้นำคลิปต้นฉบับไปตัดต่อแล้วนำมาโพสต์
ด้านผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่สนใจสื่อสารเกี่ยวกับเสี่ยแป้ง นาโหนดหนีการคุมขังและยังไม่สามารถจับกุมได้
พบว่า เป็นสื่อ สำนักข่าว 3.83 ล้าน Engagement คิดเป็น 70.41% รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ 1.37 ล้าน Engagement คิดเป็น 25.23% ผู้ใช้งานทั่วไป 2.21 แสน Engagement คิดเป็น 4.07% อื่น ๆ ได้แก่ พรรคการเมือง และ แบรนด์ รวม 15,613 Engagement คิดเป็น 0.29% โดยส่วนใหญ่ เป็นข่าวความคืบหน้าของการค้นหาเพื่อจับกุมเสี่ยแป้ง นาโหนด และข่าวคลิปเสี่ยแป้งกล่าวถึงสาเหตุที่ต้องหนีจากการคุมขังเนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรม

สื่อ สิ่งบันเทิงยังคงได้รับความนิยม

กล่าวโดยสรุป การสื่อสารออนไลน์ของเดือนพฤศจิกายน 2566 ประเด็นที่ได้รับความสนใจสูงสุด คือ วันลอยกระทง ใน กลุ่มเนื้อหาเทศกาล มีสัดส่วน Engagement ถึง 36.50% แต่ในภาพรวม กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ซึ่งมีถึง 7 ประเด็น มีสัดส่วน Engagement โดยรวมที่ 58.94% และเป็นอีกเดือนที่ กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ได้รับความสนใจมากที่สุด ส่วนอีก 1 อันดับเป็น กลุ่มเนื้อหา อาชญากรรม อุบัติเหตุ ที่มีสัดส่วน Engagement เพียง 4.56%

จะเห็นได้ว่ากลุ่มเนื้อหา สื่อ สิ่งบันเทิง, เทศกาล เป็นกลุ่มที่สร้าง Engagement ได้สูงในเดือนพฤศจิกายน อาจสรุปได้ว่าประเด็นที่เป็นความสุข ความบันเทิงในเทศกาล ประเด็นที่เป็นความชื่นชอบในบุคคล/สื่อ/กิจกรรมทางบันเทิง สามารถสร้าง Engagement ได้ดีกว่าประเด็นที่มีความจริงจัง ที่กระทบกระเทือนจิตใจ เช่น กลุ่มประเด็นอาชญากรรม อุบัติเหตุ แม้แต่การเสียชีวิตของผู้มีชื่อเสียงด้านการบันเทิง อาจเพราะสังคมออนไลน์รู้สึกว่าประเด็นดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อคนส่วนมาก เหมือนประเด็นจริงจัง เช่น การเมือง การเลือกตั้ง การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับความสนใจสูงจากสื่อสังคมออนไลน์ ในการศึกษาที่ผ่านมา

แพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement ได้สูงเป็นไปตามความนิยมใช้ของผู้ส่งสารที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเนื้อหา

จากผลการศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยใน 5 แพลตฟอร์ม (Facebook, TikTok, YouTube, Instagram และ X) ที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า ความนิยมในการใช้แพลตฟอร์มการสื่อสาร จะมีความสัมพันธ์กับกลุ่มเนื้อหา โดยเฉพาะในกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ที่มักพบ Engagement สูงใน TikTok เนื่องจากสามารถสื่อสารความบันเทิงผ่านวิดีโอสั้น ได้ง่าย ขณะที่ในกลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ มักพบ Engagement สูงใน Facebook เนื่องจาก สื่อ สำนักข่าวต่าง ๆ นิยมรายงานข่าวผ่านแพลตฟอร์มนี้

แต่ผลการศึกษาการสื่อสารออนไลน์ในเดือนพฤศจิกายน 66 กลับพบว่า ในกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง มีการสื่อสารในแพลตฟอร์มที่หลากหลาย โดยผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นนั้น ๆ เช่นประเด็นกระแสละครพรหมลิขิต พบว่า มี Facebook เป็นแพลตฟอร์มหลักในการสร้าง Engagement โดยผู้สื่อสารที่สามารถสร้าง Engagement สูง คือ เพจ Broadcast Thai Television ซึ่งเป็นผู้ผลิตละครพรหมลิขิต ประเด็น Miss Universe 2023 ที่พบว่า แอนโทเนีย โพซิ้ว มักจะใช้ Instagram ในการสื่อสารมากกว่าแพลตฟอร์มอื่น ทำให้เกิด Engagement สูงเป็นอันดับที่ 1
ใน
Instagram เช่น เดียวกับประเด็น Billkin Tempo Concert Presented by Lazada และ คอนเสิร์ต ANKNOWNA The Unexpected Experiment ที่พบว่ามี X เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement เป็นอันดับ 1 เนื่องจาก บิวกิ้น พุฒิพงศ์ และ หยิน อานันท์ หว่อง ใช้ X ในการสร้าง Engagement

ข้อค้นพบนี้แตกต่างจากผลการศึกษาในเดือนต่าง ๆ ก่อนหน้านี้ที่พบว่า TikTok เป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมในการสื่อสารของกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง จึงอาจสรุปได้ว่า ความนิยมในแพลตฟอร์มเป็นไปตามการเลือกใช้แพลตฟอร์มของผู้ส่งสารที่สามารสร้างความสนใจได้สูง ผลการศึกษาของเดือนพฤศจิกายน 66 ยังพบว่า ในกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง โดยเฉพาะในประเด็น สื่อ/กิจกรรม/บุคคล ในวงการบันเทิง ในวงการประกวดความงาม
ผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นเป็นผู้สื่อสารที่สร้าง
Engagement ได้สูงทางแพลตฟอร์มที่เลือกใช้ หรืออาจกล่าวได้ว่า แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถใช้ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ การสื่อสารการตลาด
การสร้างความนิยมในสื่อ/กิจกรรม/บุคคล ของวงการบันเทิง/ความงาม

คบเด็กข้างบ้าน ตอนที่ 1

ท่ามกลางความงดงามของผืนป่าที่เขียวขจี บนผาหัวนาค ในอุทยานแห่งชาติภูแลนคา ที่ชัยภูมิ ภาพขณะที่พ่อและแม่กำลังเพลิดเพลินดื่มด่ำกับความสวยงามของธรรมชาติในบรรยากาศหลังฝนตก แต่น้องต้นกล้า ลูกชายกลับปลีกตัว ไปนั่งเล่นเกมในโทรศัพท์มือถืออยู่เพียงลำพัง บนลานมอหินขาว จุดชมวิวหน้าเสาหิน 5 ต้น จดจ่ออยู่กับเกมในหน้าจอมือถือ จนแบตหมด และจู่ๆฟ้ากลับเปลี่ยนสีอย่างฉับพลัน เมฆหมอกเคลื่อนตัวออกห่างดวงอาทิตย์ ต้นกล้าได้ทะลุมิติไปพบกับเพื่อนรุ่นพี่กลุ่มหนึ่ง ที่แต่งตัวคล้ายเด็กโบราณ ชวนไปหัดเล่นตีคลีไฟ การละเล่นตามประเพณีไทย คล้ายๆกับกีฬาฮอกกี้ในปัจจุบัน ซึ่งชาวบ้านใช้เชื่อมความสัมพันธ์และสืบทอดกันมาตั้งแต่ยุคอดีต
.
กลายเป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์สั้น คบเด็กสร้างบ้าน ตอน การละเล่น “ตีคลีไฟ” จังหวัดชัยภูมิ
ที่ดึงผู้ชมให้เข้าไปสัมผัสกับการละเล่นไทยโบราณได้อย่างแนบเนียน ตามความตั้งใจของ อมรวัฒน์ พุทธเลิศศักดิ์ หัวหน้าโครงการและควบคุมการผลิตสารคดีชุดนี้ ซึ่งเคยควบคุมการสร้างภาพยนตร์ชื่อดัง อย่าง“สบายดี หลวงพะบาง” มาแล้ว โดยสารคดีชุดคบเด็กสร้างบ้าน สร้างจากแรงบันดาลใจของ อมรวัฒน์ ที่อยากเห็นเด็ก ๆ ในยุคนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ติดเกมติดโซเชียลอยู่กับโทรศัพท์มือถือเกือบตลอดเวลา ได้ออกไปเล่นกับเพื่อนข้างบ้าน ได้ออกกำลังกาย รู้จักเข้าสังคมและมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนตัวจริง ๆ เหมือนกับเด็กในยุคก่อน

“เห็นได้ชัดจากคนใกล้ตัว หลานผมเป็นเด็กติดเกมที่ห่างจากมือถือไม่ได้เลย อาจเป็นเพราะพ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาดูแล พอปล่อยให้เล่นแต่มือถือ เสพสื่อแบบผู้ใหญ่ เขาก็มีความเป็นเด็กน้อยลง เติบโตแบบผิดวิธี จริตจะก้านโตเกินวัย ไม่น่ารัก แทนที่จะได้เล่นกับเด็กในวัยเดียวกัน โตไปด้วยกัน เหมือนสมัยก่อน”
.
และในช่วงที่คิดโปรเจกต์นี้ อมรวัฒน์ก็อยู่ระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง ท่าแร่ ยูไนเต็ด ที่จังหวัดสกลนคร พอดี มีโอกาสได้เห็นวิถีชีวิตของชาวอีสาน ที่เขารู้จักกันเกือบทั้งอำเภอ มีการรวมตัวกัน มีพิธีกรรมและวัฒนธรรมประเพณีที่เข้มแข็ง เด็ก ๆ ในพื้นที่ยังเล่นปีนต้นไม้ เล่นกระโดด มีการละเล่นแบบพื้นบ้าน ต่างจากเด็กในเมืองใหญ่ที่แทบไม่รู้จักกัน เขาจึงยกตัวอย่างการละเล่นโบราณในพื้นที่ภาคอีสานมาสร้างเป็นภาพยนตร์สั้น เสนอไอเดียต่อกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กระทั่งได้รับทุนประเภทเปิดรับทั่วไป ประจำปี 2565
.
“ที่อยากนำเสนอการละเล่นแบบสมัยก่อน เพราะอยากให้เกิดการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของสมัยก่อนไว้ด้วย จริง ๆ แล้วมันเป็นเสน่ห์ แล้วก็มีประโยชน์ ทั้งการส่งเสริมให้ออกกำลังกายและฝึกการเข้าสังคม โดยพล็อตเรื่องในภาพยนตร์จะสร้างให้เด็กยุคปัจจุบันไปเจอกับเพื่อนข้างบ้าน ซึ่งเป็นเด็กโบราณที่ย้อนมาจากอดีต มาสอนให้เขาเล่นการละเล่นแบบโบราณ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กยุคใหม่อยากออกไปเล่นกับเพื่อนข้างบ้านมากขึ้น”

เด็กตัวละครเอกในภาพยนตร์สั้นคบเด็กข้างบ้าน ทั้ง 6 ตอน ล้วนเป็นตัวแทนเด็กติดเกม ซึ่งจะได้ไปเจอกับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ก่อนที่จะวาร์ปข้ามมิติเข้าไปในยุคอดีต ได้ไปสัมผัสและได้เล่นกับเด็กโบราณจริง ๆ ผ่านการละเล่นโบราณในพื้นที่ภาคอีสานทั้ง 6 ชนิด “ตีคลีไฟ” ที่จังหวัดชัยภูมิ “อีเตย” จังหวัดเลย “ผีโผน” จังหวัดนครพนม “มะเญงญาง” จังหวัดมุกดาหาร “สะบ้า” จังหวัดยโสธร และ “จ้ำหมู่หมี่” จังหวัดหนองคาย ออกอากาศตอนแรกไปเมื่อวันเด็ก
14 มกราคม ที่ผ่านมา ทางช่องทีวีรัฐสภา และแอปพลิเคชัน TPTV แม้ว่าจะจบไปแล้ว แต่ก็ยังมีการนำมารีรันให้ชมทุกวันเสาร์ เวลา 08.20 น. ยาวไปจนถึงสิ้นปีนี้ และยังสามารถชมย้อนหลังได้ที่ยูทูบ Thai Media Fund
.
มาร่วมย้อนวันวานชมการละเล่นในยุคโบราณไปด้วยกันกับ“ภาพยนตร์สั้นคบเด็กข้างบ้าน” ภาพยนตร์เรื่องแรก ๆ ของเมืองไทย ที่ใช้เด็กและชาวบ้านในพื้นที่จริง ที่ไม่ใช่นักแสดงมืออาชีพ มาร่วมแสดงในหนังได้อย่างสมจริงไม่แพ้มืออาชีพ บนความท้าทายของผู้สร้าง ที่ต้องอยากพิสูจน์ให้เห็นว่าเด็กอีสานของไทยก็เก่งและทำได้เหมือนกัน ที่สำคัญอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนให้ลูกหลานที่บ้าน หันมาสนใจการละเล่นแบบไทย ๆ ในสมัยพ่อแม่ และค่อย ๆ ถอยห่างจากเกมในมือถือได้มากขึ้น
.
#กองทุนสื่อ #คบเด็กข้างบ้าน
#เล่าสื่อกันฟัง #บทความเล่าสื่อกันฟัง
#ผลงานผู้รับทุนกองทุนสื่อ
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
#กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
.
ติดตาม “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ได้ที่
Website : www.thaimediafund.or.th
Facebook : กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
Youtube : www.youtube.com/c/ThaiMediaFund
Line Official : @thaimediafund

กองทุนสื่อเข้ารับโล่ผู้สนับสนุนการจัดงาน “เกียรติยศคนหนังสือพิมพ์”ในโอกาสครบรอบ 82 ปี สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

(24 ธ.ค. 66) ฯพณฯ ชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภา และอดีตนายกรัฐมนตรี  กล่าวปาฐกถาพิเศษ และมอบรางวัลเกียรติยศคนหนังสือพิมพ์ ในโอกาสครบรอบ 82 ปี ของสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ใน
พระบรมราชูปถัมภ์ (สนท.)  ณ หอประชุมเมืองไทยประกันชีวิต

นายนคร วีระประวัติ   สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนท.)    กล่าวถึงการจัดงานมอบรางวัลในครั้งนี้เพื่อเชิดชูเกียรติให้แก่นักหนังสือพิมพ์ที่มีคุณูปการ และเป็นแบบอย่างแก่วงการหนังสือพิมพ์ไทย  โดยคณะกรรมการฯ  ได้ลงมติมอบรางวัล’เกียรติยศคนหนังสือพิมพ์’แก่ นักหนังสือพิมพ์อาวุโส 2 ท่าน ได้แก่ นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และนายมานิจ สุขสมจิตร บรรณาธิการอาวุโสหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และอดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และได้มอบรางวัลเชิดชูเกียรติ ให้แก่องค์กรในเครือสื่อมวลชนที่ทำคุณประโยชน์ต่อองค์กรวิชาชีพและการศึกษา ให้แก่ 5 มูลนิธิ ได้แก่ 1. มูลนิธิไทยรัฐ
2. มูลนิธิแสง-ไซ้กี เหตระกูล (เครือเดลินิวส์) 3. มูลนิธิ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ (เครือมติชน) 4. มูลนิธิอิศรา อมันตกุล 5. มูลนิธิแสงชัย สุนทรวัฒน์  ในงานนี้  ฯพณฯ ชวน หลีกภัย ได้มอบโล่เกียรติคุณให้กับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยเเละสร้างสรรค์  ในฐานะองค์กรสนับสนุนการจัดงาน  โดยมี  ร้อยโท ดร.ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยเเละสร้างสรรค์  เป็นผู้แทนรับมอบ

ฉันจะไปอนุสาวรีย์ ตอนที่ 2

 “ตอนนี้ผมอายุ 50ปีแล้ว พึ่งไปผ่าตัดมะเร็งมา เชื่อว่าน่าจะอีกไม่กิน 10 ปี ตัวเองก็น่าจะตายแล้ว แต่สารคดีชุดนี้น่าจะยังอยู่ อาจจะอยู่ได้อีกเป็นร้อยปี ตราบใดที่มีอินเทอร์เน็ตอยู่ อย่างน้อยก็อยากให้ผู้ชมได้ซึมซับและอยากไปต่อยอดหาความรู้เพิ่ม ได้รู้ความจริงแล้วไปสื่อสาร ไปคุยกันต่ออย่างถูกต้อง”

ธันวา เสียงหวาน หัวหน้าโครงการและควบคุมการผลิตสารคดีท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ชุด “ฉันจะไปอนุสาวรีย์” บอกเล่าถึงความตั้งใจในการทำสารคดีชุดนี้ เพื่อบอกเล่าเรื่องราว เกร็ดน่ารู้ และแง่มุมใหม่ ๆ เกี่ยวกับอนุสาวรีย์ในไทย ทั้ง 52 แห่ง รวมทั้งหมด 52 ตอน เหมือนให้คนรุ่นใหม่ได้ท่องเที่ยวและย้อนอดีตไปเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ ผ่านอนุสาวรีย์ต่าง ๆ ทั่วไทยได้อย่างสนุกสนานมากขึ้น

“ผมให้น้องในทีมไปถ่าย อนุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 ที่ประดิษฐานอยู่ตรงสะพานพุทธ แล้วน้องก็แคปเจอร์ภาพส่งมาให้ดูว่าใช่ไหมครับ ก็ตกใจว่าน้องเขาอายุ 35 แล้ว น้องไม่รู้จักรัชกาลที่ 1 เหรอ นี่แหละแรงผลักดันที่ทำให้เราอยากทำให้ อย่างน้อย ๆ หนึ่งในทีมงานได้รู้ว่าอนุสาวรีย์ตรงนี้คืออะไร ขนาดทีมงานเรายังไม่รู้จักเลย แล้วคนที่เหลือละ อาจจะเป็นเพราะว่าปัจจุบันคนเลือกเสพสื่อเฉพาะที่อยากฟัง จะดูเฉพาะที่อยากดู แต่ความจริงไม่อยากฟัง”

โดยสารคดีชุดนี้ พาไปเที่ยวชมความหลากหลายของเรื่องราวและเกร็ดน่ารู้ของอนุสาวรีย์ต่าง ๆ แบบสบาย ดูง่าย ดูสนุก ได้สาระความรู้  ทั้งอนุสาวรีย์ของบูรพกษัตริย์ไทย อย่างอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่หน้าพระราชวังสราญรมย์ นอกจากทรงเป็นนักดาราศาสตร์ไทยผู้ยิ่งใหญ่แล้ว พระองค์ยังมีพระปรีชาสามารถด้านการต่างประเทศด้วย หรืออนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่6  ที่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่ามีอนุสาวรีย์พระองค์ท่านอยู่ที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ สารคดีชุดนี้ได้เสนอแง่มุมพระมหากษัตริย์
นักอักษรศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของไทย หรือ อนุสาวรีย์สมเด็จย่า ในอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  และยังมีอนุสาวรีย์บุคคลที่มีชื่อเสียงและสร้างคุโณปการให้กับประเทศไทยในแต่ละด้านอีกมากมาย
ทั้งอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ปูชนียบุคคลด้านศิลปะ อนุสาวรีย์ครูเอื้อ สุนทรสนาน ครูแห่งวงการเพลงไทย  อนุสาวรีย์โผน กิ่งเพชร แชมป์มวยสากลคนแรกของไทย ที่หัวหิน   

แต่ละตอน เราพยายามนำเสนอแง่มุมใหม่ ๆ ที่บางคนอาจจะยังไม่รู้ เช่น พระแม่ธรณีบีบมวยผม ตรงสนามหลวง ที่หลายคนคิดว่าสร้างเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ แท้ที่จริงแล้วมันคือก๊อกน้ำ ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่5 ที่มีการทำน้ำประปา เพื่อให้ประชาชนได้มีน้ำสะอาดใช้ หรืออนุสาวรีย์ช้างสามเศียร ที่บริเวณหัวลำโพง ก็คือก๊อกน้ำเช่นกัน

 

ธันวา เล่าถึงความทุ่มเทของทีมงานที่พยายามค้นหาข้อมูลอนุสาวรีย์ทั้งบุคคล สถานที่ เรื่องราว และแง่มุมต่าง ๆ ที่คนอาจจะยังไม่รู้ และจุดประกายให้ไปหาข้อมูลที่ลึกขึ้น

“ส่วนตัวเราชอบตอน จิตร ภูมิศักดิ์ ชอบมาก ๆ ชอบตรง “เขาตายในชายป่าเลือดแดงทาดินเข็ญ” นี่คือ คอมเมนต์แรกเลยจากผู้ชม ถ้าเราไม่ได้ไปสืบค้นและดูอนุสาวรีย์ของท่าน ก็ไม่มีทางรู้เลยว่า ท่อนหินที่สร้างเป็นที่นั่งทั้ง 3 แท่ง มีนัยยะสำคัญอะไร หินชิ้นหนึ่งชี้ไปต้นมะพร้าวเป็นจุดที่เขาโดนจับได้ หินก้อนที่สองชี้ไปยังจุดที่ถูกยิง ชิ้นที่สามชี้ไปยังจุดที่เขาเสียชีวิต อยากให้ผู้ชมชมแล้วอยากรู้ต่อ อยากไปศึกษาต่อ และเมื่อได้รู้เรื่องจริงแล้ว เขาจะนำข้อมูลที่ถูกต้องไปสื่อสารต่อกับคนอื่น”

สารคดีท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ชุด “ฉันจะไปอนุสาวรีย์” ทั้ง 52 ตอน ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปี 2564 นำเสนอผ่านช่องยูทูบ “ฉันจะไปอนุสาวรีย์ Will Go To Monument” มียอดรับชมจำนวนมาก แต่ยังอยากให้คนไทยได้ดูกันทุกคน
“อยากให้เข้ามาดูสารคดีชุดนี้กัน ถ้าดูแล้วจะได้รู้ในสิ่งที่ไม่รู้ ดูแล้วจะได้เข้าใจ ไม่มีใครหรอกที่ตายไปแล้วคนแช่งแล้วจะมาทำอนุสาวรีย์ให้ คนที่ตายไปแล้วเขาทำอนุสาวรีย์ให้คือคนดีทั้งนั้น ดูเถอะจะได้รู้ความจริง ไม่ต้องมาถกเถียงกัน จนกลายเป็นความขัดแย้งในสังคม”

ธันวาทิ้งท้ายไว้อย่างภูมิใจกับผลงานสารคดีชุดนี้ของเขา ที่อยากให้ทุกคนได้ไปอนุสาวรีย์ เช่นเดียวกับคนที่ได้ชมสารคดีชุด ”ฉันจะไปอนุสาวรีย์” มาแล้ว