เลือกหน้า

กองทุนสื่อ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ มหาวิทยาลัยศรีปทุม สนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวกับการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

(๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๗) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ลงนามความร่วมมือกับ นางสาวรัชนีพร พุคยาภรณ์  อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม โดยมีผู้บริหาร ร้อยโท ดร.ธนกฤษฎ์ เอกโยคยะ รองผู้จัดการกองทุน และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กมล จิราพงษ์ คณบดีคณะดิจิทัลมีเดีย ,   ผู้ช่วยศาสตราจารย์เจียมจิต  สุวรรณน้อย คณบดีคณะนิติศาสตร์ ร่วมลงนามเป็นพยาน พร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกองทุนสื่อ และ คณาจารย์มหาวิทยาลัยศรีปทุม ร่วมเป็นสักขีพยาน

ทั้งนี้ MOU ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวกับการผลิตสื่อ การนำนวัตกรรมแขนงต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในการผลิตสื่อ และการพัฒนาผู้ผลิตสื่อให้มีความรู้ความสามารถในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ในการผลิตสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ สนับสนุนการสร้างสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ในสังคม โดยใช้เทคโนโลยีสื่อดิจิทัลและวิทยาการแขนงใหม่ และ สนับสนุนให้มีการนำศิลปวัฒนธรรมและประเพณีไทยมาประยุกต์หรือสอดแทรกในเนื้อหาของสื่อประเภทต่างๆ ซึ่งรวมถึงการนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเกมแอปพลิเคชัน ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมให้ความรู้และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสิทธิของนักแสดง ผู้ผลิตสื่อผู้พัฒนาเกมแอปพลิเคชัน และผู้ใช้สื่อ ตลอดจนบุคลากรที่เกี่ยวข้องในวงการศิลปะ วัฒนธรรม และการบันเทิง เพื่อนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานในด้านความเป็นธรรมทางกฎหมายแก่สังคม

The Turning Point จุดพลิกคลิกโอกาส ตอนที่ 1

“ผมว่าจริง ๆ คนเรามีเวลาเท่ากัน แล้วอยากให้หาตัวเองให้เจอก่อนเป็นอันดับแรก ไม่อยากให้รู้สึกว่าอยากทำเพราะใคร ๆ เขาก็ทำกัน ไม่อยากให้ทำเพราะว่าเรื่องเงินเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าคุณรู้สึกอยากจะลองเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในชีวิตตัวเอง โดยเฉพาะหน้าที่การงาน อยากให้คุยกับตัวเองแบบอย่างตั้งอกตั้งใจ ว่ามันเป็นความต้องการของเรา คุณมองเห็นภาพตัวเองในอีก 5 ปี 10 ปี ในภาพนั้นไหม เหมือนวันนี้ที่ผมรู้สึกว่า ผมมีทุกอย่างอยู่ในมือเลย รอให้ผมมาลงมือทำ ถ้ามันชัดมากขนาดนั้น แล้วทำไมเราจะไม่ทำ”

บางช่วงบางตอนจากความรู้สึกของ วุฒิภัทร ภูวเดชากร อดีตสจ๊วตหนุ่มที่ทำงานอยู่บนฟากฟ้า แต่หันมาเป็นพ่อครัวขนมไทยมือใหม่ ในอำเภอสวรรคโลก ที่สุโขทัย หลังรับรู้ถึงความรู้สึกที่เปลี่ยนไปในอาชีพที่เคยทำอยู่ โดยมีโควิด-19 เป็นตัวเร่งเร้าในการตัดสินใจพลิกบทบาทชีวิตให้ลงตัวขึ้น

“มันเป็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราไม่เคยสังเกต ตอนที่เราเป็นวัยรุ่น อาจจะเป็นจังหวะของชีวิตด้วย ที่ทำให้เรารู้สึกว่า เราอยากจะดูแลสุขภาพมากขึ้น กิน นอน เป็นเวลามากขึ้น เงินก็ไม่มากพอ โบนัสก็ไม่มี การขึ้นเงินเดือนน้อยมาก ทำให้เรากลับมาคิดว่า เรายังอยากอยู่แบบนี้ไหม มันไม่เห็นความก้าวหน้า เรายังโอเคกับมันรึเปล่า มันทำให้เรามองหาอาชีพเสริม หรืออยากจะเปลี่ยนทิศทาง หรือเปลี่ยนอาชีพ”

วุฒิภัทร เล่าย้อนไปถึงช่วงที่ตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพจากสจ๊วตสายการบินมาเป็นพ่อครัวขนมไทย หลังเดินทางไปเที่ยวบ้านของแฟน ที่อำเภอสวรรคโลก สุโขทัย ซึ่งคุณแม่มีสูตรทำขนมไทยโบราณ ทำให้เขาสนใจอาชีพใหม่ จากคนที่ทำขนมไทยไม่เป็น ไปเรียนทำขนมและสร้างสรรค์ขนมไทยให้มีความแปลกใหม่ แต่ยังคงความหอมอร่อยและทรงคุณค่าของขนมไทยฉบับดั้งเดิมไว้ได้อย่างกลมกล่อม เชื่อมต่อกับคนรุ่นใหม่ได้อย่างน่าสนใจ ในชื่อของ ขนมไทยบ้านมยุรา ที่ได้รับเสียงตอบรับจากลูกค้าอย่างมาก ทั้งขนมชั้นหนานุ่ม ไม่แข็งกระด้าง ขนมผกากรอง แป้งนิ่ม นุ่มละมุนลิ้น หรืออาลัวรูปส้มไส้ทองเอกไข่แดงเค็ม หรือจะเป็นเปียกปูนใบเตยครีมกะทิ ที่หอมกลิ่นใบเตยผสมกับความหวานหอมของน้ำตาลโตนดได้อย่างละมุน ไม่หวานเกินไป และยังก้าวต่อไปไม่หยุด ในการพัฒนาขนมไทยให้เป็นของที่ระลึกและของฝากจากเมืองสวรรคโลก สุโขทัย

เรื่องราวของวุฒิภัทร ซึ่งเป็นหนึ่งในแขกรับเชิญในรายการทอล์ค “The Turning Point จุดพลิกคลิกโอกาส” รายการที่จะพาคุณไปรู้จักจุดพลิกของหลายคนที่กลายเป็นโอกาสเปลี่ยนเส้นทางชีวิตให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จากชีวิตของ 7 แขกรับเชิญ จากอาชีพหนึ่งสู่อีกอาชีพหนึ่ง โดยรายการนี้เกิดจากไอเดียและความชอบของ ธาดา ราชกิจ หัวหน้าโครงการและผู้ควบคุมการผลิตรายการนี้ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทเปิดรับทั่วไป ประจำปี 2564

“The Turning Point ที่เราตีความไว้ ไม่ได้พลิกชีวิตจากศูนย์ แต่จะตีความเป็นทางเลือก เช่นทำไมถึงค้นพบว่าตัวเองชอบเรียนดนตรี มันเป็นเชิงบวก ค้นหาในสิ่งที่ตัวเองเรียนเจอ ค้นหาในสื่งที่รัก หรือสิ่งที่ชอบเจอ ไม่จำเป็นต้องซัฟเฟอร์แล้วTurning Point เราอยากรู้ว่าทำไมคุณตัดสินใจแบบนี้ ตอนแรกเราวางกลุ่มเป้าหมายที่จะไปสัมภาษณ์ มีตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ เพื่อนำเสนอในหลากหลายมิติ นำเสนอในวัยเขาว่าทำไมเลือกเรียนแบบนี้ ผู้ใหญ่เจอวิกฤตอะไรทำไมถึงเปลี่ยนเส้นทางชีวิตและเลือกอาชีพนี้ หรือปัจจุบันที่สำเร็จ ทำไมมาอยู่ในจุดนี้ได้”

ธาดา เล่าถึงจุดเริ่มต้นและรูปแบบรายการทอล์คที่อาจจะสร้างแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนเส้นทางชีวิตของหลาย ๆ คนได้ โดย” The Turning Point จุดพลิกคลิกโอกาส “ เป็นรายการทอล์ค 7 ตอน ความยาวตอนละ 30 นาที นำเสนอเรื่องราวชีวิตและการตัดสินใจสู่จุดเปลี่ยนของชีวิตจนคลิกกับโอกาสของแขกรับเชิญที่น่าสนใจทั้ง 7 คน ทั้งสจ๊วตที่ลาออกจากการบินไทยในช่วงโควิด-19 ผู้กำกับละครเวทีที่เปลี่ยนมาทำคอร์สเทรนนิ่งให้บริษัทต่าง ๆ ศิลปินภาพประกอบสู่ผู้บริหารวงการแอนิเมชั่น นักออกแบบที่เปลี่ยนมาเป็นนักคิดเปลี่ยนโลก หรือแม้แต่นักเขียนบทละครชื่อดังที่กลายมาเป็นอินทีเรียดีไซน์มืออาชีพได้อย่างน่าอัศจรรย์

“The Turning Point จุดพลิกคลิกโอกาส ทั้ง 7 ตอน นำเสนอในเฟซบุ๊กและยูทูบ “The Turning Point จุดพลิกคลิกโอกาส” ได้รับความสนใจจากผู้ชมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเป็นรายการทอล์คที่ดูได้สบาย ๆ แต่เต็มไปด้วยคมความคิดและการเปลี่ยนชีวิตของแขกรับเชิญที่หลากหลาย ซึ่งอาจจะทำให้คนที่ได้ชมพบกับจุดพลิกและคลิกกับโอกาส ในการเปลี่ยนเส้นทางชีวิตให้ลงตัวและมีความสุขมากขึ้นกว่าเดิมก็เป็นได้
.
#กองทุนสื่อ #TheTurningPointจุดพลิกคลิกโอกาส
#เล่าสื่อกันฟัง #บทความเล่าสื่อกันฟัง
#ผลงานผู้รับทุนกองทุนสื่อ
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
#กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เร่งติดอาวุธทางปัญญา สร้างคนต้นแบบรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ ป้องกันสื่อร้าย กระจายสื่อดี 

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เร่งพัฒนาศักยภาพเครือข่ายให้มีความเชี่ยวชาญรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ ด้วยการสร้างต้นแบบเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญรู้เท่าทันสื่อ  Media Literacy Expert (MeLEx) ซึ่งเป็นการอบรมเพื่อสร้างทักษะ ความเชี่ยวชาญด้านการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ และนำไปถ่ายทอดให้ความรู้สร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน ให้รู้เท่าทันสื่อที่ไม่ปลอดภัย ไม่สร้างสรรค์ รวมทั้งเฝ้าระวังสื่อดังกล่าวด้วย

.

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ของสื่อเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั้งระบบการสื่อสารและสื่อสารมวลชน เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่เกิดจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล ก่อให้เกิดสื่อและบริการใหม่ๆ กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและวิธีการใช้สื่อของประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตาม พัฒนาการของสื่อเก่าและสื่อใหม่ก็ยังไม่สามารถที่จะแยกออกจากกันได้ทั้งหมด เป็นเพียงการเพิ่มบทบาทของสื่อชนิดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเท่านั้น ทำให้ประชาชนต้องมีการตระหนักรู้ถึงสื่อปลอดภัยและสื่อที่ไม่สร้างสรรค์ และด้วยวิกฤตจากภัยหลอกลวงออนไลน์สารพัดรูปแบบที่กำลังรุกหนัก  ทำให้ผู้คนโดนหลอกให้เสียหายทั้งทรัพย์สินเงินทอง ความรู้สึก เป็นจำนวนมาก 

ด้วยเหตุนี้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างคนให้มีทักษะและศักยภาพ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ เพื่อนำไปถ่ายทอดความรู้แก่ผู้อื่นต่อไป  จึงได้จัดให้มีการอบรมต้นแบบเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญรู้เท่าทันสื่อ Media Literacy Expert (MeLEx) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อ สถานการณ์สื่อปัจจุบัน ทักษะการวิเคราะห์สื่อ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อ เทคนิคการสอนและการบรรยายไปยังเครือข่าย รวมทั้งยังส่งเสริมการพัฒนา สร้างทักษะ และสร้างภูมิคุ้มกันในการรู้เท่าทันสื่อให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปด้วย

ทั้งนี้ในการเปิดรับสมัครมีผู้ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมอบรมจำนวนมากและมีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้ารับการอบรมทั้งหมด  60 ท่าน จากหลากหลายอายุ อาชีพ ทั้งนักศึกษา วัยทำงาน และวัยเกษียณ โดยจัดอบรมทั้งหมด 4 ครั้ง ตั้งแต่วันเสาร์ที่  27 มกราคม 2567 ถึงวันเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 โดยวิทยากร นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายองค์กร ผู้ที่ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรและคัดเลือกผู้ผ่านคุณสมบัติขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญรู้เท่าทันสื่อของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

สาระสำคัญในกิจกรรมการอบรมที่ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้รับ จะมีเรื่องสถานการณ์ของสื่อ ที่จะต้องอัปเดตอยู่ตลอดเวลา ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้าง พัฒนาการตั้งแต่สื่อเก่า จนถึงสื่อใหม่มาสู่สื่อดิจิตอล โดยจะได้เรียนรู้ 4 หลักสูตร ดังนี้

1.พื้นฐานสื่อ(สถานการณ์สื่อปัจจุบัน)

2.ทักษะการวิเคราะห์สื่อเพื่อการรู้เท่าทันสื่อ

3.กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อ

4.เทคนิคการสอนและการบรรยาย

วันที่อบรม

หัวข้อการอบรม

27 ม.ค.67

สถานการณ์สื่อ

·     การจำแนกประเภทสื่อ

·     สื่อแฝงและสื่อที่มีผลต่อผู้ชม

3 ก.พ. 67

ทักษะการวิเคราะห์สื่อเพื่อการรู้เท่าทัน

·     ทำไมต้องเท่าทันสื่อ

·     ทฤษฎีรู้เท่าทันสื่อ

·     แหล่งที่มาของสื่อ

·     การวิเคราะห์เนื้อหาของสื่อ

·     สื่อกับสุขภาพกายและสุขภาพจิต

10 ก.พ. 67

พื้นฐานสื่อ

·     สื่อสมัยใหม่ใกล้มากกว่าที่คิด

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อ

·     กฎหมายเรื่องลิขสิทธิ์กับการใช้สื่อที่ถูกต้อง

·     กฎหมายPDPAกับการใช้สื่อที่ถูกต้อง

·     กฎหมายและข้อควรรู้เกี่ยวกับการใช้สื่อ

17 ก.พ. 67

ทักษะการวิเคราะห์สื่อเพื่อการรู้เท่าทัน

·     การหลอกลวงออนไลน์

การสอนและการบรรยาย

·     บุคลิกภาพผู้สอน

·     การผลิตสื่อการสอน

·     วิเคราะห์รูปแบบของกลุ่มเป้าหมาย

ทางด้านคุณกาญจนาถ อุดมสุข อาจารย์สื่อสารการกีฬา มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ(วิทยาเขตสมุทรสาคร) หนึ่งผู้เข้าร่วมอบรม ได้กล่าวถึงกิจกรรมในครั้งนี้ว่า เป็นการเข้าร่วมอบรมครั้งที่ 2 เพื่ออัพเดทสถานการณ์สื่อ ซึ่งเรื่องสื่อเป็นเรื่องที่ปรับเปลี่ยนไปไวมาก ต้องอัปเดตอยู่ตลอดการอบรมครั้งนี้ทำให้เราจะได้สถานการณ์ใหม่ๆ ได้กรณีศึกษาใหม่ๆ และนำไปถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้รับให้กับนักศึกษาต่อไป

ในแง่ของผู้เข้าร่วมอบรมฯ เจนใหม่อย่างน้องแอลม่อน หรือ ปารณีย์ เพียรชูชัยพันธ์ นักเรียนชั้นม.6 โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ที่ถือเป็นตัวแทน Gen Z ที่ให้ความสนใจกับการอบรมครั้งนี้ ได้พูดถึงจุดประสงค์ในการเข้าอบรมว่า เพราะมีความสนใจในเรื่องของสื่อ และการรู้เท่าทันสื่อ และต้องการนำความรู้ความเข้าใจไปใช้ในการเรียนต่อทางด้านสื่อสารมวลชน จึงเห็นว่าการอบรมครั้งนี้จะมีประโยชน์ทั้งต่อตัวเอง และต่อผู้อื่นเป็นอย่างมาก

สำหรับบรรยากาศในการอบรม ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้ทั้งความรู้จากการบรรยาย การร่วมคิดวิเคราะห์ และทำกิจกรรมเวิร์คช็อปร่วมกัน เพื่อผนึกกำลังในการต้านทานสื่อไม่ดี และร่วมสร้างสรรค์สื่อที่เป็นประโยชน์ไปด้วยกัน

ดร.ธนกร กล่าวทิ้งท้ายว่า การจัดการอบรมเครือข่ายผู้รู้เท่าทันสื่อครั้งนี้ เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของกองทุน ที่จะรณรงค์ส่งเสริมเรื่องของการรู้เท่าทันสื่อ เพราะสื่อที่ส่งผลกระทบเชิงลบ มีมากมายมหาศาล เราจึงคิดว่าควรมีผู้เชี่ยวชาญที่จะสามารถไปถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับประชาชนได้อีกทอดหนึ่ง โครงการนี้จึงเป็นการเทรนด์ เดอะเทรนเนอร์ ให้ความรู้ติดอาวุธทางความคิดและทักษะที่จำเป็น เพื่อให้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านพัฒนาสื่อจริงๆ แล้วหวังว่าจะมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายและนำความรู้ที่ได้ไปสู่ประชาชน เพื่อให้เกิดการรู้เท่าทันสื่อ ป้องกันสื่อร้าย ไม่ให้สร้างความเสียหาย พร้อมกับการเป็นผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ดีๆ ไปด้วย

รู้จริงแล้วจึงแชร์ ตอนที่ 2

เมื่อ บก.วิติ้ด สุดหล่อจากการ์ตูนขายหัวเราะ ที่สวมมาดพิธีกรในคลิปการ์ตูน รายการเรื่องจริงวันนี้ กำลังเข้ารายการด้วยการพูดถึงข่าวลือที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ในไทยตอนนี้ ที่ลงทุนแค่หลักพัน แต่ได้กำไรเป็นล้าน พร้อมเปิดตัวคุณจ้อบเจ้าของธุรกิจที่ว่า มาเป็นแขกรับเชิญในรายการ
“แค่คุณลงทุนกับผม ผมจะทำให้คุณมีอิสระทางการเงิน คุณจะรวยจนต้องร้องขอชีวิต” คุณจ้อบเชิญชวนสั้น ๆ ใช้ความอยากรวยมาล่อใจ ทำให้ บก.วิติ้ด ถึงกับเคลิบเคลิ้ม กำลังจะยกออมสินหมูให้

กริ้ง!!! ก่อนที่บก.วิติ้ด จะตกเป็นเหยื่อ เสียงโทรศัพท์จากภรรยาสุดที่รักก็ดังขึ้น พร้อมกับตือนให้ตรวจสอบให้ดีก่อนลงทุน บก.วิติ้ด จึงให้คุณจ้อบอธิบายที่มาของธุรกิจ จนสุดท้ายพบว่าเป็นธุรกิจแชร์ลูกโซ่พร้อมการโต้ตอบของทั้งสองคน
บก.วิติ้ด : “เสียใจด้วยนะ เงินผมอยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว”
คุณจ้อบ : “ธนาคารงั้นเหรอ”
บก.วิติ้ด : “หึ เมีย ให้เงินมากินแค่วันละ 150 บาท เนี่ย”

ภาพตัวการ์ตูนที่คนไทยคุ้นเคยมานานอย่าง บก.วิติ้ด แห่งขายหัวเราะ ที่มาสร้างความสนุกสนาน กับมุขขายขำเบา ๆ ในรายการเรื่องจริงวันนี้ ในตอน “ลงทุนหลักพันได้กำไรเป็นหมื่นเป็นแสน” พร้อมกับสอดแทรกความรู้ แนะวิธีการลงทุนที่ถูกวิธี เพื่อไม่ให้คนไทยตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่ หรือเว็บพนันออนไลน์ เหมือนที่หลายคนเคยเจอมาแล้ว เช่นเดียวกับรายการเรื่องจริงวันนี้ ทั้งหมด 10 ตอน ซึ่งล้วนแต่เป็นประเด็นเฟคนิวส์ เรื่องที่ผู้คนสงสัยหรือเคยเข้าใจผิดทั้งสุขภาพ การลงทุน หรือแม้แต่ประวัติศาสตร์ ในโครงการรู้จริงแล้วจึงแชร์ ซึ่งทีมงานขายหัวเราะร่วมกันผลิตขึ้น โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปี 2565 ใช้ตัวการ์ตูนที่คนไทยคุ้นเคยมาสื่อสารเรื่องราวที่มีประโยชน์ต่อสังคม แบบสั้น ๆ เพียงตอนละ 3 นาที ให้เข้าใจง่าย ๆ ได้อย่างอารมณ์ดี

“ในทีมคิดว่าการ์ตูนของเรา ที่มีคาแรคเตอร์ต่าง ๆ ที่มีฐานแฟนจำนวนมากทั่วประเทศ เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ดีมาก ๆ ในการสื่อสารเรื่องที่มีประโยชน์ต่อสังคม คือไม่ได้ให้ความบันเทิงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่สื่อสารเรื่องที่มีสาระ มีประโยชน์กับสังคม โดยใช้การ์ตูนหรืออารมณ์ขัน หรือคาแรคเตอร์ของการ์ตูนที่เข้าถึงคนได้ทุกเพศทุกวัย มาช่วยให้เข้าใจเข้าถึงได้มากขึ้น”

พิมพ์พิชา อุตสาหจิต หัวหน้าโครงการรู้จริงแล้วจึงแชร์ อธิบายให้เห็นถึงจุดแข็งของการใช้ตัวการ์ตูนมาช่วยในการสื่อสารให้ผู้คนในสังคม คลายความสงสัยและไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมได้อย่างน่ารักและเข้าใจง่ายขึ้น

นั่นทำให้หลังคลิปการ์ตูน รายการเรื่องจริงวันนี้ ที่มี บก.วิติ้ด ดำเนินรายการทั้ง 10 ตอน ที่เผยแพร่ทั้งทางช่องยูทูบขายหัวเราะที่มีผู้ติดตามหลายล้านคน รวมทั้งตัดคลิปลงในติ๊กต็อกและเฟซบุ๊ก ได้รับเสียงตอบรับล้นหลาม เห็นได้จากกิจกรรมที่ให้คนเข้ามาคอมเมนต์ก่อนเผยแพร่คลิป ให้มาช่วยกันแชร์ประสบการณ์ที่เจอกับเฟคนิวส์ และหลังเผยแพร่คลิปในแต่ละตอน ยังโพสต์เป็นเกมหรือคำถามให้ผู้ชมเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นกันด้วย ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก จากที่ตั้งเป้าไว้หลักแสนวิว แต่รวมทุกแพลตฟอร์มกลับพุ่งทะลุหลักล้านวิว

“เราดีใจที่ได้ทำโครงการนี้ เพราะเป็นโครงการที่เชื่อว่ามีประโยชน์กับผู้ชมมากจริง ๆ ทุกวันนี้แม้จบโครงการแล้ว เราก็ยังย้อนไปดูคลิปการ์ตูนที่ทำอยู่ รู้สึกว่ามันมีประโยชน์จริง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาที่ได้อ่านคอมเมนต์ ตอนแรกเราก็ไม่ได้คิดว่าฟีดแบคมันจะดีแบบนี้ มีคอมเมนต์แฟน ๆ เข้ามาชมว่า ขายหัวเราะทำได้ดีมากเลย เขาดูแล้วรู้สึกว่าสิ่งนี้มันมีสาระ หรือบางคนก็เข้ามาคอมเมนต์ว่าเดี๋ยวจะเอาไปให้พ่อแม่ดูนะ อยากให้ขายหัวเราะทำสื่อแบบนี้ออกมาอีก บางคนถึงขั้นดูดคลิปการ์ตูนของเราไปแชร์ต่อเองในกรุ๊ปไลน์หรือช่องทางต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ช่องทางสื่อสารของเรา ซึ่งจริงแล้วเป็นเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ในแง่ของผู้ผลิตสื่อที่ไม่ได้หวังผลกำไร ก็อยากให้เกิดการรับชมในวงกว้าง นำสื่อนี้ไปทำประโยชน์ให้กับผู้คนในทุกช่องทาง อีกด้านหนึ่งก็เป็นการพิสูจน์ได้เหมือนกันว่า มีคนที่เห็นประโยชน์จริง ๆ ที่ติดตามและเห็นว่าคอนเทนต์นี้มีประโยชน์กับเขา”

พิมพ์พิชา เล่าด้วยความภูมิใจในความสำเร็จของคลิปการ์ตูนชุดนี้ โดยเฉพาะตัวการ์ตูนอย่าง บก.วิติ้ด ที่ทำหน้าที่พระเอก นำเรื่องราวที่ทีมงานตั้งใจสื่อสารไปยังผู้คนในสังคมในวงกว้าง เพื่อให้คนไทยรู้เท่าทันข่าวปลอมได้อย่างอารมณ์ดี เหมือนที่ขายหัวเราะสร้างรอยยิ้มและความสุขให้คนไทยมาตลอด 50 ปี

สามารถรับชมได้ที่ ยูทูบ ขายหัวเราะ

https://www.youtube.com/watch?v=CAK3dkI6maQ&list=PL2AY1TpITmN9KbSY2ug9bcog4uXaiKxtb 

#กองทุนสื่อ #รู้จริงแล้วจึงแชร์
#เล่าสื่อกันฟัง #บทความเล่าสื่อกันฟัง
#ผลงานผู้รับทุนกองทุนสื่อ
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
#กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  จับมือนิเทศศาสตร์ จุฬาฯเปิดหลักสูตรออนไลน์ ชวนประชาชนเรียนรู้เท่าทันสื่อ

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จัดทำโครงการหลักสูตรการเรียนการสอนออนไลน์เกี่ยวกับการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ มุ่งสร้างการตระหนักรู้ สร้างความรู้เกี่ยวกับสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ให้กับกลุ่มประชาชน ผ่านการเรียนการสอนแบบออนไลน์ช่องทางเว็บไซต์ โดยเปิดให้บริการฟรีสำหรับประชาชนทุกคน ตั้งเป้ามีผู้เข้าเรียนไม่น้อยกว่า 1,000 คน

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย
และสร้างสรรค์ มีภารกิจสร้างการรู้เท่าทันสื่อและการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ กองทุนสื่อ
มีบทบาทหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนด้านการรู้เท่าทันสื่อระหว่างผู้เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อในประเทศไทย โดยการดำเนินการส่งเสริมทักษะการรู้เท่าทันและการส่งเสริมพัฒนาการตระหนักรู้ ความรู้เกี่ยวกับสื่อที่ไม่ปลอดภัย และไม่สร้างสรรค์ให้กับกลุ่มประชาชนที่มีความหลากหลาย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะต้องผลักดันให้
เข้าสู่ระบบการศึกษาผ่านสังคมพลวัติและโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน จึงได้ริเริ่มดำเนินการจัดหาช่องทางในการเพิ่ม
รูปแบบการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการรู้เท่าทันสื่อ เพื่อเป็นการขยายผู้มีส่วนร่วมและสร้างการรับรู้ในวงกว้างมากขึ้น จึงได้จัดทำโครงการผลิตหลักสูตรการเรียนการสอนออนไลน์ที่เกี่ยวกับการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ โดยสื่อสารผ่านช่องทางที่เรียกว่า MOOCs (Massive Open Online Course) หรือตามที่รู้จักกัน คือ นวัตกรรมหลักสูตรการเรียนการสอนแบบออนไลน์ผ่านช่องทางเว็บไซต์ แบบเปิดเสรีสำหรับประชาชนทุกคนสามารถเข้าเรียนได้โดยไม่จำกัดจำนวน

รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันวิถีชีวิตของคนไทยเริ่มเปลี่ยนไปสู่ชีวิตดิจิทัลด้วยเทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้น จำนวนคนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ต ในชีวิตประจำวันเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มีความนิยมใช้สื่อสังคมออนไลน์ติดต่อสื่อสารอย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวัน ทำให้การสื่อสารเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีที่เข้ามา ทุกคนสามารถนำเสนอเรื่องราวผ่านสื่อสังคมออนไลน์
โดยไม่มีการตรวจสอบ มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างงผู้ส่งสารและผู้รับสารได้ตลอดเวลา ทำให้บางครั้งสื่อออนไลน์
ก็เป็นช่องทางในสร้างปัญหาทางสังคมอาทิ การสร้างสังคมบลูลี่ออนไลน์ การสร้างข่าวปลอม การโฆษณาเกินจริง จนก่อเกิดการสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจตามมา ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องแสวงหาหนทาง
ในการสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชนในการรับรู้เท่าทันการใช้สื่อในยุคปัจจุบันมากขึ้น จึงเกิดโครงการหลักสูตรการเรียนการสอนออนไลน์เกี่ยวกับการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ เพื่อให้ประชาชนได้มีช่องทางในการเรียนรู้ที่ถูกต้อง ซึ่งการดำเนินงานใช้การออกแบบที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยผสมผสานหลักการของการออกแบบสากลเพื่อการเรียนรู้ (Universal Design for Learning: UDL) รองรับผู้เรียนที่มีความ
หลากหลาย เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เรียน เข้าถึงเนื้อหาได้

ทั้งนี้หลักสูตรการเรียนการสอนออนไลน์เพื่อการเรียนรู้เรื่องรู้เท่าทันสื่อสำหรับประชาชนทั่วไปมีทั้งหมด 4 หน่วยการเรียน ได้แก่ หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 การเข้าถึงสื่อในชีวิตประจำวัน หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 การรับสื่ออย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 ทักษะการรู้เท่าทันสื่อ และหน่วยการเรียนรู้ที่ 4 การพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อ ทั้งนี้ เนื้อหาบทเรียนในแต่ละหน่วยการเรียนรู้จะมีทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติ เพื่อให้ผู้เรียนได้รับ ประสบการณ์การเรียนรู้ที่ครบถ้วนและมีประสิทธิภาพในการนำไปประยุกต์ใช้ได้ ผู้เรียนตามเกณฑ์ที่กำหนดจะได้รับ
ใบประกาศนียบัตรอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย โดยกลุ่มเป้าหมายได้แก่ เด็กและเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ประชาชน และผู้สนใจทั่วไป โดยคาดว่าจะมีผู้สนใจเรียนรู้ไม่น้อยกว่า 1,000 คน

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารได้ที่
“รู้สื่อรู้safe” ในช่องทาง Facebook ,Instagram, X ,TikTok และ Shorts (Youtube)