เลือกหน้า

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประพันธ์บทกวีเป็นของขวัญปีใหม่ ให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช 2536 ประพันธ์บทกวีเป็นของขวัญปีใหม่ให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในงานเวทีขับเคลื่อนและพัฒนาสื่อปลอดภัย
และสร้างสรรค์ในระดับภูมิภาค ประจำปี 2566 ครั้งที่ 5 วันที่ 20 มกราคม 2567 ณ โรงแรมริเวอร์แคว
จังหวัดกาญจนบุรี

โดย อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ และมอบบทประพันธ์ เป็นของขวัญปีใหม่ให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึงบทประพันธ์ที่ให้แง่คิดเกี่ยวข้องกับการสื่อสาร และเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคปัจจุบัน

“สื่อปลอดภัยไปรอด ต้องปลอดภัย
สร้างสรรค์สิ่งยิ่งใหญ่ ต้องหมายมั่น
ต้องจริงจังจริงใจ ให้แก่กัน
สื่อปลอดภัยสร้างสรรค์ ต้องบันดาล”

”มงกุฎสื่อสาร“
พระเจดีย์ มีฐาน เป็นรากฐาน
งานสื่อสาร มีสาร อันสั่งสม
จากภูมิแดน แผ่นดิน อันอุดม
ให้เลือกชม เลือกใช้ วิจัยวิจารณ์
พระเจดีย์ มีองค์ ระฆังเด่น
สง่างาม ให้เห็น เป็นพื้นฐาน
รวมอดีต ปัจจุบัน นิรันดร์กาล
คือสื่อสาร รับรุก อยู่ทุกครา
พระเจดีย์ มีบัลลังก์ ตั้งตระหง่าน
คือสั่งสม สืบสาน และศึกษา
กลับสร้างสรรค์ สิ่งดี มีปัญญา
คือสื่อสาร หาญกล้า ปัญญาวุธ
พระเจดีย์ มีปล้อง ไฉนควั่น
เป็นเกรียวกลั่น กรองธรรม ล้ำเลอสุด
คือปลีชี้ ลูกแก้ว แวววิมุติ
เป็นมงกุฎสื่อสาร ภูมิฐานธรรมฯ

”ไอ้เอไอ“
โลกสมัยไววน อลหม่าน
มันบันดาลให้คน ต้องจนจ่อ
ถูกกำหนด สะกดจิตจ้องติดจอ
คิดจะขอ รอจะได้ อยู่ถ่ายเดียว
ตะบันบ้า รูปแบบ แบบหรูหรา
แต่เนื้อหารุ่งริ่ง แค่ติ่งเสี้ยว
ก็กลิ้งกลมกลวงในไปกลมเกลียว
บดบิดเบี้ยว ทันสมัย ไม่พัฒนา
ยิ่งเจริญก้าวหน้า ยิ่งล้าหลัง
ยิ่งคลุ้มคลั่ง ยิ่งเขม่น ยิ่งเข่นฆ่า
ยิ่งหัวร้อน หัวร้าย ยิ่งทายท้า
ยิ่งบิ่นบ้า ไปตามความเจริญ
ไอ้เอไอ ครอบงำ ความเป็นคน
มันเสกมนต์มายา พาเหาะเหิน
เดินอากาศ ดาษดาพาพลอยเพลิน
โลกก็เดินดิ่งด่ำไปตามมัน
ละครหุ่นใช้คน เชิดคนเล่น
คนก็เป็นหุ่นรำไปตามมั่น
โลกทุกวันพันพัว ยิ่งพัวพัน
ยิ่งประชัน เชิดคน เป็นกลไก!

สำรวจการจัดระดับความเหมาะสมและการขึ้นคำเตือนในทีวีดิจิทัล Netflix และ Prime Video : พบการจัดเรตต่างกันของละครที่ออกอากาศข้ามแพลตฟอร์ม

สำรวจการจัดระดับความเหมาะสมและการขึ้นคำเตือนในทีวีดิจิทัล Netflix และ Prime Video : พบการจัดเรตต่างกันของละครที่ออกอากาศข้ามแพลตฟอร์ม

เลือดสาด ซอมบี้คลั่ง ข่มขืน เสียงปืนที่ดังลั่น จะทำอย่างไรเมื่อละครเรื่องนี้มีความรุนแรงเกินกว่าที่จะให้เด็กดู ปฏิเสธไม่ได้ว่าซีรีส์ส่วนใหญ่ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน มักมีเนื้อหาตื่นเต้น เร้าใจ เรียล ๆ แสนฟินนี้มีการรับชมร่วมกันของครอบครัว ที่มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่

ด้วยปัจจุบันผู้บริโภคสื่อโทรทัศน์มีทางเลือกในการรับชมได้หลากหลาย ทั้งช่องทาง เนื้อหา เวลา วิธีการรับชม จึงมีความห่วงใยการเลือกรับเนื้อหารายการของเด็กและเยาวชน ดังนั้น การจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์จึงมีความสำคัญจำเป็นต่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ทั้งเป็นเครื่องมือปกป้องเด็กและเยาวชนจากเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับช่วงวัย

MEDIA ALERT กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงสนใจการศึกษาการจัดระดับความเหมาะสมของรายการ (การจัดเรต) ระหว่างทีวีดิจิทัลไทย และบริการ OTT 2 แพลตฟอร์ม ได้แก่ Netflix และ Prime Video ว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร ผลการสำรวจพบความแตกต่างในการจัดระดับความเหมาะสมและการขึ้นคำเตือนของรายการในทีวีดิจิทัลกับ Netflix และ Prime Video อีกทั้งยังพบการจัดระดับความความเหมาะสมของละครที่ออกอากาศข้ามแพลตฟอร์มถึง 4 เรื่องจากทั้งหมด 6 เรื่องที่เป็นหน่วยการศึกษา

การสำรวจในครั้งนี้ เป็นการมุ่งเปรียบเทียบให้เห็นถึงความเหมือนและความแตกต่างระหว่าง 1) การจัดระดับความเหมาะสมในภาพรวม 2) การขึ้นคำเตือน 3) เปรียบเทียบการจัดระดับความเหมาะสมของละครที่เผยแพร่ข้ามแพลตฟอร์ม ทั้งในทีวีดิจิทัลของไทย Netflix และ Prime Video โดยรายการที่สุ่มตัวอย่างเพื่อการสำรวจ เป็นละครที่เผยแพร่ในระหว่างวันที่ 15-30 ธันวาคม 2566

กรอบการอ้างอิงในการสำรวจ คือ

  • · แนวทางการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2556
  • ระดับความเหมาะสมของรายการทีวีและภาพยนตร์ใน Netflix
  • การจัดเรตติ้งตามกลุ่มอายุของ Prime Video

จากการเปรียบเทียบ พบว่า ทั้ง 3 แพลตฟอร์ม มีการกำหนดผู้รับชมในทุกช่วงอายุ โดยทางทีวิดิจิทัลใช้สัญลักษณ์ ท (ทั่วไป) Netflix ใช้สัญลักษณ์ ทุกวัย ในขณะที่ Prime Video ใช้สัญลักษณ์ ALL

สำหรับการจัดช่วงอายุผู้รับชมในกลุ่มรายการสำหรับเด็กนั้นมีความแตกต่างกัน โดยทีวีดิจิทัลไทยจะแบ่งเป็น ป 3+ (3-5 ปี) และ ด 6+ (6-12 ปี) แต่ใน Netflix และ Prime Video พบว่ามีการแบ่งระดับความเหมาะสมของเนื้อหารายการสำหรับเด็กที่ต่างออกไป โดยใน Netflix จะแบ่งรายการสำหรับเด็กเป็น 2 ช่วงอายุ ได้แก่ 7-9 ปี (7+) และ 10-12 ปี (10+) ในขณะที่ Prime Video พบว่ามีการกำหนดช่วงอายุ 7-12 ปี (7+) ไว้เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ทั้งใน Netflix และ Prime Video จะมีช่องทาง Kid Safe หรือมุมเด็ก ซึ่งในโหมดนี้จะเป็นการแบ่งเนื้อหารายการสำหรับเด็กไว้โดยเฉพาะ เช่น ภาพยนตร์แอนนิเมชัน การ์ตูน ฯลฯ โดยใน Netflix พบว่าเป็นรายการที่สามารถรับชมได้ทุกช่วงวัย (ทุกวัย) รวมถึงกลุ่ม 7-9 ปี (7+) และ 10-12 ปี (10+) ส่วน Prime Video พบว่าเป็นรายการที่มีสามารถรับชมได้ทุกช่วงวัย (All) และกลุ่ม 7-9 ปี (7+)

ในขณะที่กลุ่มรายการสำหรับวัยรุ่น พบว่า ทีวีดิจิทัลไทย และ Netflix มีการแบ่งช่วงอายุการรับชมของวัยรุ่นที่เหมือนกันคือ เป็นรายการที่เหมาะกับอายุ 13 ปีขึ้นไป ทั้ง 2 แพลตฟอร์ม (น 13+ และ 13+) ต่างจาก Prime Video ที่กำหนดช่วงอายุวัยรุ่นไว้ที่ 2 ช่วง ได้แก่ 13 ปีขึ้นไป (13+) และ 16 ปีขึ้นไป (16+)

สำหรับการจัดระดับความเหมาะสมของช่วงอายุการรับชมของผู้ใหญ่ พบว่า ทีวีดิจิทัลไทย และ Prime Video จะมีความเหมือนกันในการกำหนดช่วงอายุคือ เป็นรายการสำหรับผู้ชมอายุ 18 ปีขึ้นไป (น 18+ และ 18+) นอกจากนี้ ในทีวีดิจิทัลไทย ยังมีการจัดเนื้อหาเฉพาะ (ฉ) สำหรับรายการที่รับชมได้เฉพาะผู้ใหญ่ ที่ออกอากาศได้แต่ 12.00-05.00 น. ในขณะที่ Netflix มีการจัดช่วงอายุผู้ชมในรายการสำหรับผู้ใหญ่ ไว้ 2 ช่วงอายุคือ 16 ปีขึ้นไป (16+) และ 18 ปีขึ้นไป (18+)

ทั้งนี้ กลุ่มฟรีทีวีหรือทีวีดิจิทัลไทยนั้นเป็นการออกอากาศรายการตามผัง ในขณะที่กลุ่ม OTT เป็นลักษณะการเลือกรับชมแบบ On Demand อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าการจำแนกกลุ่มช่วงอายุที่ต่างกันนั้น ถือเป็นข้อสังเกตสำคัญประการหนึ่ง ในการพิจารณาทบทวนการจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหารายการ ที่นอกจากควรครอบคลุมกลุ่มผู้รับชมทุกช่วงวัยแล้ว ยังควรต้องมีความสอดคล้องกับความเฉพาะของกลุ่มช่วงอายุผู้รับชมนั้น ๆ โดยคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่น ๆด้วย เช่น พัฒนาการด้านต่าง ๆ แนวโน้มความชื่นชอบ ฯลฯ

จากการเปรียบเทียบระบบการขึ้นคำเตือนของทั้ง 3 แพลตฟอร์ม พบความแตกต่างที่น่าสนใจ ดังนี้

1. ทีวีดิจิทัลไทย ใช้สัญลักษณ์และเสียงบรรยายในการบอกระดับความเหมาะสมของอายุคนดู ตามความแตกต่างของกลุ่มรายการ โดยใช้คำเตือนหรือคำชี้แจงก่อนเข้าเนื้อหารายการในลักษณะเดียวกันทั้งหมด โดยไม่มีการจำแนกให้เห็นความเฉพาะของเนื้อหานั้น ๆ ตัวอย่างเช่น การใช้เสียงบรรยายเตือนว่า “รายการ

ต่อไปนี้เหมาะสำหรับผู้ชมที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป อาจมีภาพ เสียง หรือเนื้อหา ที่ไม่เหมาะสมด้านพฤติกรรม ความรุนแรง เพศ และการใช้ภาษา ซึ่งต้องใช้วิจารณญาณในการรับชม ผู้ชมที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรได้รับคำแนะนำ”

2. ใน Netflix และ Prime Video มีมากกว่า 1 คำเตือนในแต่ละตอน เช่น การอ้างอิงถึงเซ็กซ์ที่รุนแรง ทารุณกรรมเด็ก การฆ่าตัวตาย ฯลฯ ที่ปรากฏในเนื้อหารายการนั้น ๆ เป็นการเฉพาะ เพื่อเตือนให้ได้รับทราบก่อนตัดสินใจรับชม

3. ใน Prime Video มีการจัดระดับความเหมาะสมทุกตอนของรายการหรือละครที่ออกอากาศ โดยแต่ละตอนอาจมีระดับความเหมาะสมที่แตกต่างกัน ตามลักษณะของเนื้อหาที่ปรากฏจริง จึงทำให้ระดับความเหมาะสมของแต่ละตอนที่ออกอากาศนั้นแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามเนื้อหาที่ยังไม่มีการกำหนดระดับจะขึ้นสัญลักษณ์ NR และคำเตือน เรตติ้งอายุ NR (Not Rated) ในรายการตอนนั้น ๆ

จากการเปรียบเทียบตัวอย่างละครที่มีการออกอากาศทั้งในทีวีดิจิทัลไทย และใน Netflix หรือ Prime Video จำนวน 6 เรื่อง พบว่า 4 เรื่อง มีการจัดระดับความเหมาะสมแตกต่างกัน ดังนี้

  1. เรื่องพรหมลิขิต เป็นระดับ ท (ทั่วไป) ในช่อง 3 แต่เป็นระดับ 13+ ใน Netflix
  2. เรื่องพนมนาคา เป็นระดับ ท (ทั่วไป) ในช่อง ONE แต่เป็นระดับ 16+ ใน Netflix
  3. เรื่องรากแก้ว เป็นระดับ น 13+ (น้อยกว่า 13 ควรได้รับคำแนะนำ) ในช่อง 3 แต่เป็นระดับ 16+ ใน Netflix
  4. เรื่อง Home School นักเรียนต้องขัง เป็นระดับ น 13+ (น้อยกว่า 13 ควรได้รับคำแนะนำ) ในช่อง GMM25 แต่เป็นระดับ 16+ใน Prime Video

จากผลการสำรวจ พบว่า ทั้งใน Netflix และ Prime Video มีการจัดระดับความเหมาะสม หรือจัดเรตในกลุ่มช่วงอายุที่สูงกว่าทีวีดิจิทัล ทั้ง 4 เรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ละครเรื่อง พรหมลิขิต และพนมนาคา ซึ่งทางทีวีดิจิทัล จัดให้เป็นระดับทั่วไป (ท)  แต่ใน Netflix จัดให้เป็นระดับ 13+ และ 16+ ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นถึงการใช้เกณฑ์ มาตรฐาน และแนวทางในการพิจารณาระดับความเหมาะสมของเนื้อหารายการที่แตกต่างกันของทั้ง 2 แพลตฟอร์ม

จากการสำรวจยังพบว่า Prime Video มีแนวทางการจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหารายการที่แตกต่างจากทีวีดิจิทัล และ Netflix กล่าวคือ โดยทั่วไปในทีวีดิจิทัลและ Netflix จะให้วิธีการจัดระดับความเหมาะสมของรายการหนึ่ง ๆ ในภาพรวม แต่ Prime Video จะมีการระบุระดับความเหมาะสมของรายการหนึ่งๆ ทั้งในภาพรวม และรายตอน (Episode) โดยหากตอนใดตอนหนึ่งในรายการนั้น ๆ มีเนื้อหาที่มีแนวโน้มมีความรุนแรง เพศ และภาษา ที่เข้มข้นต่างจากตอนอื่น ๆ ก็จะมีการระบุระดับที่สูงขึ้น เป็นต้น

สรุปผลการศึกษา   

จากข้อค้นพบทั้ง 3 ข้อข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิด และการจัดระดับความเหมาะสมเนื้อหารายการที่แตกต่างกันของทีวีดิจิทัลไทย Netflix และ Prime Video  3 ประการ ได้แก่  1)  การจำแนกกลุ่มช่วงอายุผู้รับชมที่สะท้อนวิธีการมองและให้ความสำคัญของช่วงวัยที่แตกต่างกัน  2) การให้ความสำคัญกับระบบการขึ้นคำเตือนที่แตกต่างกันของแต่ละแพลตฟอร์ม และ 3) การจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหารายการที่มีมาตรฐานแตกต่างกัน

การสำรวจเปรียบเทียบการจัดระดับความเหมาะสมจากทั้ง 3 แพลตฟอร์มในครั้งนี้ จึงอาจนำไปสู่ข้อเสนอแนะให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีการทบทวนการจัดระดับความเหมาะสม ตลอดจนมีการบังคับใช้ระเบียบ ข้อบังคับ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับทีวีดิจิทัลของไทยอย่างเคร่งครัด แต่ในขณะเดียวกันก็มีความทันสมัย เท่าทันความเปลี่ยนแปลง สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่เป็นสากล และเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับบริการ OTT

อ่านผลการศึกษาได้ที่

รู้จริงแล้วจึงแชร์ ตอนที่ 1

กลายเป็นความสนุกสนาน เฮฮา ที่ทำให้หลายคนหลุดขำหัวเราะออกมาได้ เมื่อ “บก.วิติ้ด” สุดหล่อจากขายหัวเราะ ที่คนไทยคุ้นเคยกันมาถึง 50ปี จะกระโดดออกมาจากหนังสือการ์ตูน มารับบทพิธีกรเวอร์ชั่นการ์ตูน ในรายการ “เรื่องจริงวันนี้” รายการที่จะพาทุกท่านไปสืบค้นและตีแผ่การแชร์ข้อมูลผิด ๆ ในยุคที่สังคมไทยมีการส่งต่อข้อมูลข่าวสารมากมาย

เพื่อพิสูจน์ความจริง สู้กับข่าวปลอมหรือประเด็นที่ผู้คนสงสัย ให้คนไทยรู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอม กันได้อย่างสนุกสนาน เฮฮา ได้สาระ จากรายการเรื่องจริงวันนี้ทั้ง 10 ตอน อย่าง การใช้ปากดูดพิษงู จะตายหรือจะรอด , เหล้าขาวฆ่าโควิด ทำให้ตรวจไม่ขึ้น 2 ขีด , คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไตจริงหรือ , ไปทำงานต่างประเทศแบบง่าย ๆ ได้จริงเหรอ โดย บก.วิติ้ดคนเก่ง จะเชิญแขกรับเชิญมาให้ข้อเท็จจริง ซึ่งแขกรับเชิญของรายการนี้ยากที่รายการไหนจะเชิญมาได้ เพราะเป็นรายการในโลกการ์ตูน อย่างตอนใช้ปากดูดพิษงู ถึงกับเชิญคุณงู มาตอบคำถามในรายการเลยทีเดียว

“บก.วิติ้ดที่ทุกคนรู้จักกันดี มาเป็นพิธีกรคล้ายกับรายการข่าว เช่น รายการแฉ หรือเรื่องเล่าเช้านี้ ที่เราคุ้นเคยกันในโลกความเป็นจริง โดยบก.วิติ้ดจะเชิญแขกรับเชิญที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเฟคนิวส์นั้นๆ ออกมา อย่างเรื่องการดูดพิษงู ก็จะมีคุณหมอมาปะทะกับงู ที่มีความเชื่อแตกต่างกัน แล้วตัวละครก็มีการถกเถียงกันว่า อันไหนเป็นเฟคนิวส์ อันไหนเป็นความจริง และตอนจบก็จะมีสรุปความรู้ว่าอันไหนเป็นเฟคนิวส์ และเราจะสามารถป้องกันตัวเองได้ยังไงบ้าง”

พิมพ์พิชา อุตสาหจิต หัวหน้าโครงการรู้จริงแล้วจึงแชร์ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปี 2565 เล่าถึงความสนุกของการผลิตคลิปการ์ตูน รายการ “เรื่องจริงวันนี้” ทั้ง 10 ตอน ผ่านโลกการ์ตูนที่อยู่คู่คนไทยมายาวนาน เพื่อช่วยสื่อสาร สร้างองค์ความรู้ให้คนไทยรู้เท่าทันเฟคนิวส์ ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อและยังสามารถช่วยกันแชร์ข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในประเด็นทางสังคมและประวัติศาสตร์ ที่หลายคนสงสัยหรือเข้าใจผิดกันมาโดยตลอด

“เพราะด้วยความเป็นการ์ตูน มันสามารถเอาคาแรคเตอร์เหนือจริงมาออกได้ เช่น เราเอางูมาพูดในรายการ หรือถ้าเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ เราสามารถเอาคนในประวัติศาสตร์ที่ไม่มีชีวิตในปัจจุบันแล้วกลับมาพูดได้ เป็นคาแรคเตอร์ที่สร้างความสนุกได้ใน 10 ตอน มีทั้งเรื่องสุขภาพ การเงินการลงทุน กฎหมายPDPA และประวัติศาสตร์ความเชื่อของคนไทย”

พิมพ์พิชา พูดถึงความเหนือชั้นของรายการในโลกการ์ตูน ซึ่งช่วยให้ผู้ชมได้รับความสนุกสนาน จากความน่ารักของตัวการ์ตูน มุขขำขันที่เป็นจุดเด่นของขายหัวเราะ สอดแทรกเข้าไปให้ความรู้ในแต่ละเรื่องได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะช่วง “เอ๊ะยังไงเนี่ย” ท้ายรายการ ซึ่งจะอธิบายว่าข้อมูลนี้มาจากไหน มีรากฐานความเชื่ออย่างไร จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดขึ้นได้ อย่างตอน“ใช้ปากดูดพิษงูจะตายหรือรอด” เกิดจากในยุคสมัยที่ความรู้ทางการแพทย์ยังไม่ก้าวไกล จึงถูกส่งต่อข้อมูลมารุ่นต่อรุ่น แถมในหนังหรือละครหลายเรื่อง ก็ยังมีฉากดูดพิษงูเพื่อช่วยชีวิต แต่ในความเป็นจริงนอกจากไม่ช่วยอะไรแล้ว คนที่ดูดพิษงูจากแผลอาจจะได้รับอันตรายอีกด้วย รวมทั้งยังมีอีกหลายความเชื่อในเรื่องนี้ ทั้งการขันชะเนาะ หรือแม้แต่สุนัขลิ้นดำถูกงูพิษกัดจะไม่ตาย ซึ่งไม่เป็นความจริงและมีคำเฉลยอยู่ในรายการเรื่องจริงวันนี้ คลิปการ์ตูนที่เด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดี เพราะทั้งสนุกและได้สาระ

คลิปการ์ตูนรายการ “เรื่องจริงวันนี้” ที่ดำเนินรายการโดย บก.วิติ้ด หนึ่งในตัวการตูนขายหัวเราะขวัญใจคนไทย ทั้งหมด 10 ตอน ความยาวตอนละประมาณ 3 นาที ใช้เวลาผลิตนานเกือบ 1ปี ตั้งแต่คัดเลือกหัวข้อที่เป็นประโยชน์ จนถึงขั้นตอนการผลิตออกมาเป็นคลิปการ์ตูนน่ารัก ๆ เผยแพร่ทั้งทางช่องยูทูบขายหัวเราะ ที่มีผู้ติดตามหลายล้านคน และยังเผยแพร่ทางเฟซบุ๊กและตัดเป็นคลิปสั้น ๆ ในติ๊กต็อก ซึ่งได้รับความสนใจจากแฟน ๆ ขายหัวเราะและผู้ที่ได้ชมเป็นอย่างมาก

“จุดประสงค์ของโครงการนี้ สอดคล้องกับเป้าหมายของขายหัวเราะอยู่แล้วด้วย เพราะเราก็ต้องการใช้ความเชี่ยวชาญในเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ การ์ตูนคาแรคเตอร์อารมณ์ขันของเราไปทำประโยชน์ให้กับสังคมบ้าง ซึ่งโครงการนี้ก็เปิดโอกาสให้เราได้ทำสิ่งนี้ได้มากขึ้น ก็รู้สึกภูมิใจที่ความเชี่ยวชาญของเรา ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่นักวิชาการ และคนส่วนมากก็มองว่าการ์ตูนเป็นเรื่องของความบันเทิง แต่ว่าตอนนี้เราได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญมาสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนแล้ว ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราภูมิใจที่สุด”

พิมพ์พิชา ทิ้งท้ายถึงความภูมิใจของทีมงานขายหัวเราะ ที่ช่วยกันสร้างสรรค์คลิปการ์ตูนรายการ “เรื่องจริงวันนี้” ผ่านการดำเนินรายการด้วยตัวการ์ตูนอย่าง บก.วิติ้ด แห่งขายหัวเราะ ที่สร้างเสียงหัวเราะให้คนไทยมายาวนาน มาถึงวันนี้ยังสร้างเสียงหัวเราะแถมด้วยความรู้ดี ๆ ให้คนไทยได้ดู เพื่อช่วยกันสร้างสังคมที่รู้จริงแล้วจึงแชร์ ให้มากขึ้น

วันคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่ได้รับความสนใจสูงสุดในโซเชียลมีเดีย และ Instagram เป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมแทน TikTok

วันคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่ได้รับความสนใจสูงสุดในโซเชียลมีเดีย
และ Instagram เป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมแทน TikTok

 

เดือนธันวาคม 2566 มีวันสำคัญ คือวันคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตามเกณฑ์การศึกษา จัดอยู่ใน กลุ่มเนื้อหาเทศกาล ได้รับความสนใจสูงสุดในโซเชียลมีเดีย แต่เป็นอีกเดือนที่กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ได้รับความสนใจมากถึง 6 ใน 10 อันดับ คือ ละครพรหมลิขิต 7 ตอนสุดท้าย, เดบิวต์วง BUS Because of you I shine, GMMTV STARLYMPIC 2023, Big Mountain Music Festival ครั้งที่ 13, ศิลปินดาราร่วมแคมเปญ Lazada 12.12 และ
THE UNIVERSE OF SUPERSTARS งานเปิดตัว EMSPHERE ส่วน กลุ่มเนื้อหา อาชญากรรม อุบัติเหตุ คือ
ลุงพลถูกตัดสินจำคุก 20 ปี จากคดีน้องชมพู่, แจ้งความสมรักษ์ คำสิงห์ กระทำผิดต่อหญิงวัย 17 ปี และ
กลุ่มเนื้อหาศาสนา ความเชื่อ คือ อาจารย์น้องไนซ์ เชื่อมจิต

เมื่อจำแนก Engagement ตามกลุ่มเนื้อหา พบว่า กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง มี 6 ประเด็น เป็นสัดส่วน 50.95%
กลุ่มเนื้อหา เทศกาล มี 1 ประเด็น คิดเป็น 35.04% กลุ่มเนื้อหา อาชญากรรม อุบัติเหตุ มี 2 ประเด็น คิดเป็น 11.28% และ กลุ่มเนื้อหา ความเชื่อ ศาสนามี 1 ประเด็น คิดเป็น 2.73%

Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ Wisesight ศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยในเดือนธันวาคม 2566 โดยใช้เครื่องมือ ZocialEye สำรวจจาก 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่ 1) Facebook 2) X 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok โดยใส่คำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เช่น คริสต์มาส, ปีใหม่, พรหมลิขิต, Because of you I shine, ลุงพล เป็นต้น จากนั้นนำข้อมูลที่ได้จากเครื่องมือ ZocialEye มารวบรวมและเรียงลำดับตามจำนวน Engagement พบ 10 อันดับประเด็นที่โลกออนไลน์
ให้ความสนใจในเดือนธันวาคม 2566 คือ

1. เทศกาลคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่

2. ละครพรหมลิขิต 7 ตอนสุดท้าย

3. เดบิวต์วง BUS Because of you I shine

4. ลุงพลถูกตัดสินจำคุก 20 ปี จากคดีน้องชมพู่

5. GMMTV STARLYMPIC 2023

6. Big Mountain Music Festival ครั้งที่ 13

7. อาจารย์น้องไนซ์ เชื่อมจิต

8. ศิลปินดาราร่วมแคมเปญ Lazada 12.12

9. แจ้งความสมรักษ์ คำสิงห์ กระทำผิดต่อหญิงวัย 17 ปี

10. THE UNIVERSE OF SUPERSTARS งานเปิดตัว EMSPHERE

10 ประเด็นที่ได้รับความสนใจ มีการสื่อสารและมีส่วนร่วมมากที่สุดในโลกออนไลน์ เดือนธันวาคม 2566

อันดับที่ 1 เทศกาลคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่

เดือนธันวาคมเป็นช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสและส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ จึงเป็นโอกาสที่มีการสื่อสารเพื่อแบ่งปันข้อมูล ประสบการณ์ ความรู้สึก ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ภาพต้นคริสต์มาสขนาดใหญ่ตามสถานที่ต่าง ๆ โปรโมชันสินค้าส่งท้ายปีเก่า การรวมตัวกันเฉลิมฉลอง เป็นต้น ส่งผลให้เทศกาลคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่ สามารถสร้าง Engagement ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 1 ในเดือนธันวาคม 66

อันดับที่ 2 ละครพรหมลิขิต 7 ตอนสุดท้าย

ในเดือนธันวาคม 66 ละครพรหมลิขิตเข้าสู่ 7 ตอนสุดท้าย และยังคงเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในสื่อสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนตุลาคม สำหรับเดือนธันวาคมนี้ เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการกล่าวถึงฉากสำคัญ เช่น การเปรียบเทียบฉากงานแต่งงานรุ่นพ่อแม่กับรุ่นลูก ฉากพี่ผินพี่แย้มกล่าวถึงพุดตานว่ามีกิริยาเหมือนการะเกด เป็นต้น

อันดับที่ 3 เดบิวต์วง BUS Because of you I shine

หลังจากได้ผู้ชนะในรายการ 789 Survival ที่ค้นหาศิลปินมาร่วมในวงบอยแบนทั้งหมด 12 คน ตั้งแต่ 26 พฤษภาคม 2566 ล่าสุด เมื่อ 6 ธันวาคม 2566 ได้มีการเดบิวต์วง ชื่อ BUS Because of you I shine พร้อมกับปล่อยเพลงแรกของวง คือ Because of you I shine ที่ได้รับความนิยม นอกจากนี้ยังพบกลุ่มผู้ที่ติดตามศิลปินในวง เช่น ภีม วสุพล, ไทย ชญานนท์ ฯลฯ ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์

อันดับที่ 4 ลุงพลถูกตัดสินจำคุก 20 ปี จากคดีน้องชมพู่

วันที่ 20 ธันวาคม 2566 ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 20 ปี ลุงพล หรือ นายไชย์พล วิภา จากคดีน้องชมพู่ ในสองข้อหา คือ กระทำการโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี โดยปราศจากเหตุอันสมควร ด้วยในเวลาร่วม 3 ปีที่ผ่านมา ลุงพล เป็นบุคคลที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์ จึงทำให้ประเด็นนี้ได้รับ Engagement สูงเป็นอันดับ 4

อันดับที่ 5 GMMTV STARLYMPIC 2023

GMMTV STARLYMPIC 2023 มหกรรมกีฬาและคอนเสิร์ตที่ทาง GMMTV จัดขึ้นเมื่อ 23 ธันวาคม โดยรวมศิลปินดารากว่า 100 ชีวิต แบ่งเป็น 2 ทีม เพื่อแข่งขัน 3 กีฬา คือ ฟุตซอล บาสเก็ตบอล และแบดมินตัน ซึ่งกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบนักแสดงจากช่อง GMMTV ให้ความสนใจกับมหกรรมนี้ และร่วมแบ่งปันภาพในวันงานผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ

อันดับที่ 6 Big Mountain Music Festival ครั้งที่ 13

เทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย Big Mountain Music Festival ในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 8 ถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2566 โดยมีศิลปินกว่า 200 คนที่ร่วมสร้างความสนุก เนื้อหาทางออนไลน์ส่วนใหญ่เป็นการแบ่งปันภาพและวิดีโอของผู้ที่เข้าร่วมงาน โดยศิลปินที่ถูกกล่าวถึงแล้วได้ Engagement สูง เช่น ระเบียบวาทศิลป์ , โจอี้ ภูวศิษฐ์ , 4EVE เป็นต้น

อันดับที่ 7 อาจารย์น้องไนซ์ เชื่อมจิต

น้องไนซ์ ด.ช. นิรมิต เทวาจุติ อายุ 8 ปี ที่รู้จักกันในชื่อ อาจารย์น้องไนซ์ เชื่อมจิต กลายเป็นกระแสบนสื่อสังคมออนไลน์ เนื่องจากมีการกล่าวอ้างว่าเป็นเทพลงมาจุติเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ สามารถเชื่อมจิตได้ ทำให้มีลูกศิษย์หลายพันคน โดยเนื้อหาที่ได้รับความสนใจ คือ คำสอนที่ไม่ตรงกับหลักธรรมของพุทธศาสนา การอ้างว่าบรรลุอนาคามี การอวดอ้างอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ เป็นต้น

อันดับที่ 8 ศิลปินดาราร่วมแคมเปญ Lazada 12.12

Lazada จัดแคมเปญสุดพิเศษส่งท้ายปี 2566 กับ “12.12 เซลลดแรง! ส่งท้ายปี!” พร้อมกับศิลปินดารากว่า 40 ชีวิต เช่น เจมิไนน์ นรวิชญ์, โฟร์ท ณัฐวรรธ์, วิน เมธวิน, ไบร์ท วชิรวิชญ์ เป็นต้น โดยมีกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบศิลปินดาราเข้ามาสร้าง Engagement ในแคมเปญดังกล่าว

อันดับที่ 9 แจ้งความสมรักษ์ คำสิงห์ กระทำผิดต่อหญิงวัย 17 ปี

สมรักษ์ คำสิงห์ อดีตนักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิก ถูกหญิงอายุ 17 ปี กล่าวหาว่ากระทำล่วงละเมิดทางเพศ หลังจากเที่ยวสถานบันเทิงแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม โดยเนื้อหาที่เป็นความสนใจ คือ คำให้การของเพื่อนผู้เสียหายที่ไม่ตรงกัน ประเด็นผับเปิดให้เยาวชนอายุ 17 ปี เข้าไปใช้บริการ รวมถึงการสัมภาษณ์ เบสท์ รักษ์วนีย์ ลูกสาวของสมรักษ์ คำสิงห์ ถึงคดีดังกล่าวว่าให้เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย

อันดับที่ 10 THE UNIVERSE OF SUPERSTARS งานเปิดตัว EMSPHERE

The Universe of Superstars งานเปิด EMSPHERE เมื่อ 1 ธันวาคม 2566 มีศิลปินดาราจำนวนกว่า 100 คนเข้าร่วมงาน เช่น แอนโทเนีย โพซิ้ว, คิมมินกยู, ใหม่ ดาวิกา เป็นต้น มีผู้ที่ชื่นชอบศิลปินดาราร่วมโพสต์แบ่งปันและมีส่วนร่วมบนสื่อสังคมออนไลน์ จนสร้าง Engagement สูงติดอันดับ 10 ของประเด็นที่ได้รับความสนใจในเดือนธันวาคม 2566

โดยสรุป ทิศทางของการสื่อสารในโลกออนไลน์ของเดือนธันวาคม 2566 จาก 5 แพลตฟอร์มที่เป็นหน่วยการศึกษา คือ 1) Facebook 2) X 3) Instagram 4) YouTube และ 5) TikTok พบว่าเป็นกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง 6 ประเด็นคิดเป็น 50.95% กลุ่มเนื้อหาเทศกาล 1 ประเด็น (35.04%) กลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ 2 ประเด็น (11.28%) และ ความเชื่อ ศาสนา 1 ประเด็น (2.73%)

เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2566 พบว่า กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ได้รับความสนใจลดลง จาก 7 ประเด็นในเดือนพฤศจิกายน เหลือ 6 ประเด็น ในเดือนธันวาคม โดยส่วนใหญ่ยังคงมาจากละครพรหมลิขิต

คอนเสิร์ตภายในประเทศ และงานอีเวนต์ อย่างไรก็ตาม กลุ่มเนื้อหาที่ได้รับความสนใจสูงสุดของเดือนธันวาคม 66 ก็สอดคล้องกับวาระช่วงปลายปี คือ กลุ่มเนื้อหาเทศกาลที่ต่อเนื่องจากประเด็นวันลอยกระทงในเดือนพฤศจิกายน เป็นประเด็นเทศกาลคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่ในเดือนธันวาคม ส่วนกลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม และอุบัติเหตุมี 2 ประเด็น คือ ลุงพลถูกตัดสินจำคุก 20 ปี จากคดีน้องชมพู่ และ แจ้งความสมรักษ์ คำสิงห์ กระทำผิดต่อหญิงวัย 17 ปี สุดท้ายคือกลุ่มเนื้อหา ความเชื่อ ศาสนา คือ อาจารย์น้องไนซ์ เชื่อมจิต ที่มี Engagement น้อยกว่า กลุ่มเนื้อหา เทศกาล กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง และกลุ่มเนื้อหา อาชญากรรมและอุบัติเหตุ ค่อนข้างมาก

กลุ่มเนื้อหาที่ได้รับความสนใจมากที่สุด จำแนกตามผู้สื่อสาร และแพลตฟอร์ม

จาก 10 ประเด็น ที่ได้รับความสนใจและมีการสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุด ในเดือนธันวาคม 2566 สามารถจำแนกเนื้อหาออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง รวม 113,962,150 Engagement จาก 6 ประเด็น
คือ ละครพรหมลิขิต 7 ตอนสุดท้าย (40,403,582 Engagement), เดบิวต์วง BUS Because of you I shine (32,465,017 Engagement), GMMTV STARLYMPIC 2023 (17,999,578 Engagement), Big Mountain Music Festival ครั้งที่ 13 (13,263,330 Engagement), ศิลปินดาราร่วมแคมเปญ Lazada 12.12 (5,244,954 Engagement), THE UNIVERSE OF SUPERSTARS งานเปิดตัว EMSPHERE (4,585,689 Engagement)
กลุ่มเนื้อหา เทศกาล คือ เทศกาลคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่ จำนวน 78,368,591 Engagement กลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ คือ ลุงพลถูกตัดสินจำคุก 20 ปี จากคดีน้องชมพู่ (20,456,612 Engagement)
และ แจ้งความสมรักษ์ คำสิงห์ กระทำผิดต่อหญิงวัย 17 ปี (4,771,675 Engagement) กลุ่มเนื้อหาความเชื่อ
ศาสนา คือ อาจารย์น้องไนซ์ เชื่อมจิต (6,102,932 Engagement)

กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้ใช้งานทั่วไป (63.62%) รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (21.79%), สื่อ สำนักข่าว (14.22%) และอื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ พรรคการเมือง และ ภาครัฐ รวม 0.37% โดยมี Instagram เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 28.82% รองลงมาได้แก่ TikTok (27.47%), X (22.44%), Facebook (19.60%), YouTube (1.67%)

กลุ่มเนื้อหาเทศกาล มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ ผู้ใช้งานทั่วไป (51.71%) รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (44.57%), แบรนด์ (2.34%) สื่อ สำนักข่าว (1.34%) อื่น ๆ ได้แก่ ภาครัฐ พรรคการเมือง และนักการเมืองรวม 0.04% โดยมี Instagram เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 37.12% รองลงมาได้แก่ TikTok (25.99%), X (24.31%), Facebook (11.52%), YouTube (1.06%)

กลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ สื่อ สำนักข่าว (59.10%) รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (20.64%), ผู้ใช้งานทั่วไป (20.17%) และอื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ และ พรรคการเมือง รวม 0.09% โดยมี Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 46.96% รองลงมาได้แก่ TikTok (33.93%), YouTube (10.44%), X (6.19%), Instagram (2.48%)

กลุ่มเนื้อหาความเชื่อ ศาสนา มีกลุ่มผู้สื่อสารที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม หรือมี Engagement มากที่สุด คือ สื่อ สำนักข่าว (48.23%) รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (39.07%), ผู้ใช้งานทั่วไป (12.66%) และอื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ และ พรรคการเมือง รวม 0.04% โดยมี Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดที่ 53.98% รองลงมาได้แก่ TikTok (32.32%), X (8.02%), YouTube (3.35%), Instagram (2.33%)

เมื่อพิจารณาแพลตฟอร์มการสื่อสารในภาพรวมพบว่า เดือนธันวาคม 2566 Instagram เป็นแพลตฟอร์มอันดับหนึ่งแทนที่ TikTok เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่เน้นในการแชร์ภาพ และคลิปวิดีโอสั้น ทำให้เหมาะกับการแบ่งปันประสบการณ์ต่าง ๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่ ที่มีการตกแต่งสถานที่ การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้ผู้คนอยากแชร์หรือเก็บภาพช่วงเวลาเหล่านั้นไว้

สำหรับกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ในเดือนธันวาคม 2566 พบว่า แพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุดกลับเป็น Instagram ที่ 28.82% ตามด้วย TikTok (27.47%), X (22.44%), Facebook (19.60%), YouTube (1.67%) แตกต่างจากเดือนพฤศจิกายน 66 ที่ Facebook เป็นแพลตฟอร์มหลักในการสื่อสารของกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ในขณะที่ ผู้สร้าง Engagement ได้สูงที่สุดคือ ผู้ใช้งานทั่วไป ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น จาก 51.53% ในเดือนพฤศจิกายน 2566 เป็น 63.62% ในเดือนธันวาคม 2566 โดยส่วนใหญ่มาจากกลุ่มแฟนคลับดารา ศิลปิน ที่แบ่งปันรูปภาพ วิดีโอ ของช่วงเวลาประทับใจผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Instagram และ TikTok ในสัดส่วนที่ใกล้กันมากคือ Instagram (28.82%) และ TikTok (27.47%) เช่นเดียวกับกลุ่มเนื้อหาเทศกาล คือ วันคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่ที่ผู้สร้าง Engagement มากที่สุด ในสัดส่วน 51.71% คือ ผู้ใช้งานทั่วไป โดยมี Instagram เป็นแพลตฟอร์มหลักในการสื่อสาร ในสัดส่วนที่ 37.12% และ TikTok 25.99% ส่วนกลุ่มเนื้อหา อาชญากรรม อุบัติเหตุ และความเชื่อ ศาสนา Engagement ส่วนใหญ่ จะมาจากสื่อ สำนักข่าว มากที่สุด และแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement มากที่สุด
คือ Facebook

เปรียบเทียบผลการศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของเดือนธันวาคม 2566 ใน 3 ประเด็นคือ ลุงพลถูกตัดสินจำคุก 20 ปี จากคดีน้องชมพู่ , อาจารย์น้องไนซ์ เชื่อมจิต, แจ้งความสมรักษ์ คำสิงห์ กระทำผิดต่อหญิงวัย 17 ปี

ประเด็นที่ได้รับความสนใจในกลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ: ลุงพลถูกตัดสินจำคุก 20 ปี จากคดีน้องชมพู่

Engagement ส่วนใหญ่ของประเด็นลุงพลถูกตัดสินจำคุก 20 ปี จากคดีน้องชมพู่ มาจาก Facebook ที่ 56.19% ตามด้วย TikTok (22.84%), YouTube (12.37%), X (5.79%) และ Instagram (2.81%) โดยโพสต์ที่มี Engagement มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ อันดับที่ 1 มาจาก Facebook บัญชี อีจัน โพสต์คลิป นายชัยรัตน์ ยอด

พรม หรือ ปู่มหามุนีนำพวงหรีดมาให้กำลังใจลุงพล แต่โดนแฟนคลับลุงพลไม่พอใจจนประทะคารมกัน โพสต์ดังกล่าวได้รับการมีส่วนร่วม 274,307 Engagement อันดับที่ 2 มาจาก Facebook บัญชี Thairath – ไทยรัฐออนไลน์ โพสต์คลิปย้อนรอยคดีน้องชมพู่ จนถึงวันตัดสินคดีลุงพล ได้รับ 247,046 Engagement อันดับที่ 3 มาจาก TikTok บัญชี honekrasae_official โพสต์คลิปวิเคราะห์หลังศาลตัดสินพิพากษาคดีลุงพล จำคุก 20 ปี ได้รับ 200,374 Engagement

ด้านผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่สื่อสารเนื้อหา ลุงพลถูกตัดสินจำคุก 20 ปี จากคดีน้องชมพู่ พบว่า เป็นสื่อ สำนักข่าว 13.02 ล้าน Engagement คิดเป็น 63.64% รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ 4.43 ล้าน Engagement คิดเป็น 21.64% ผู้ใช้งานทั่วไป 2.99 ล้าน Engagement คิดเป็น 14.61% อื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ และ พรรคการเมือง รวม 22,612 Engagement คิดเป็น 0.11% โดยส่วนใหญ่ เป็นรายงานข่าวเกี่ยวกับการพิพากษาจากศาลชั้นต้น การวิเคราะห์คำพิพากษา และหลักฐานใหม่ คือ เส้นผมน้องชมพู่ ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญ

ประเด็นที่ได้รับความสนใจในกลุ่มเนื้อหาศาสนา ความเชื่อ: อาจารย์น้องไนซ์ เชื่อมจิต

Engagement ส่วนใหญ่ของประเด็นอาจารย์น้องไนซ์ เชื่อมจิต มาจาก Facebook ที่ 53.98% ตามด้วย TikTok (32.32%), X (8.01%), YouTube (3.36%) และ Instagram (2.33%) โดยโพสต์ที่มี Engagement มากที่สุด 3 อันดับแรก มาจาก TikTok บัญชี amarintvhd โพสต์คลิป อาจารย์จาตุรงค์ จงอาษา ที่ตำหนิการห้ามไหว้พระด้วยดอกไม้สีเหลือง การกล่าวอ้างว่าเป็นพญานาค เป็นเทพ เป็นอนาคามี ซึ่งทั้ง 3 สิ่งอยู่คนละภพภูมิ โพสต์ดังกล่าวได้รับการมีส่วนร่วม 211,109 Engagement อันดับที่ 2 มาจาก TikTok บัญชี amarintvhd โพสต์คลิปพระพยอม กล่าวถึงความไม่เหมาะสมของการตัดต่อหน้าน้องไนซ์ใส่ในภาพพระพุทธเจ้า ได้รับ 186,996

Engagement อันดับที่ 3 มาจาก TikTok บัญชี pondonnews โพสต์คลิปน้องไนซ์อธิบายการเชื่อมจิต ได้รับ 167,802 Engagement

ด้านผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่สื่อสารเนื้อหาอาจารย์น้องไนซ์ เชื่อมจิต พบว่า เป็นสื่อ สำนักข่าว 2.94 ล้าน Engagement คิดเป็น 48.23% รองลงมาได้แก่ ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ 2.38 ล้าน Engagement หรือสัดส่วน 39.07% ผู้ใช้งานทั่วไป 7.72 แสน Engagement (12.66%) อื่น ๆ ได้แก่ แบรนด์ ภาครัฐ และ พรรคการเมือง รวม 2,072 Engagement คิดเป็น 0.04% โดยส่วนใหญ่เป็นการรายงานข่าว การสรุปข่าว และการติงน้องไนซ์ที่ไม่เผยแพร่พระธรรมตามหลักพุทธศาสนา รวมถึงการอวดอ้างอิทธิฤทธิ์จากกลุ่มผู้ศรัทธาน้องไนซ์

ประเด็นที่ได้รับความสนใจในกลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ: แจ้งความสมรักษ์ คำสิงห์ กระทำผิดต่อหญิง
วัย 17 ปี

Engagement ส่วนใหญ่ของประเด็นแจ้งความสมรักษ์ คำสิงห์ กระทำผิดต่อหญิงวัย 17 ปี มาจาก TikTok ที่ 81.48% ตามด้วย X (7.94%), Facebook (7.36%), YouTube (2.16%) และ Instagram (1.06%) โดยโพสต์ที่มี Engagement มากที่สุด 3 อันดับแรก มาจาก TikTok บัญชี gurion99 โพสต์คลิปสัมภาษณ์ สมรักษ์ คำสิงห์ ที่กล่าวว่าได้กำลังใจจากลูก และหลังจากจบเรื่องนี้จะย้ายไปอยู่ฝรั่งเศส โพสต์ดังกล่าวได้รับการมีส่วนร่วม 344,418 Engagement อันดับที่ 2 มาจาก TikTok บัญชี gurion99 โพสต์คลิป สัมภาษณ์ เบสท์ รักษ์วนีย์ ลูกสาวสมรักษ์ คำสิงห์ กล่าวถึงการบอกเลิกแพทริค แฟนหนุ่ม และติดแฮชแท็คสมรักษ์ คำสิงห์ ได้รับ 265,657

Engagement อันดับที่ 3 มาจาก TikTok บัญชี onenews31 โพสต์ข่าวเพื่อนของหญิงวัย 17 ปี ยืนยันว่า สาววัย 17 ไม่กลับโต๊ะและไปกับสมรักษ์เอง ได้รับ 261,742 Engagement

ด้านผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่สื่อสารเนื้อหาแจ้งความสมรักษ์ คำสิงห์ กระทำผิดต่อหญิงวัย 17 ปี พบว่า เป็นผู้ใช้งานทั่วไป 2.09 ล้าน Engagement คิดเป็น 44.00% รองลงมาได้แก่ สื่อ สำนักข่าว 1.89 ล้าน Engagement คิดเป็น 39.65% ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ 7.80 แสน Engagement คิดเป็น 16.35% โดยส่วนใหญ่ เป็นการโพสต์เกี่ยวกับข่าวการแจ้งความสมรักษ์ คำสิงห์ การสัมภาษณ์สมรักษ์ คำสิงห์, เบสท์ รักษ์วนีย์ และการอัพเดทข้อมูลเกี่ยวข้องต่างๆ เช่น เพื่อนสาว 17 ยืนยันว่าสาว 17 ปี ไม่กลับโต๊ะและอยากไปกับสมรักษ์เอง ภาพจากกล้องวงจรปิด เป็นต้น

การสื่อสารออนไลน์ในเดือนธันวาคม 2566 กลุ่มเนื้อหาที่ได้รับความสนใจที่สุดยังคงเป็น กลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง มีสัดส่วน Engagement โดยรวมที่ 50.95% ตามด้วยกลุ่มเนื้อหาเทศกาล (35.04%) กลุ่มเนื้อหาอาชญากรรม อุบัติเหตุ (11.28%) และ กลุ่มเนื้อหาความเชื่อ ศาสนา (2.73%) จะเห็นได้ว่า กลุ่มเนื้อหาเทศกาล และกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง มีสัดส่วนรวมกันถึง 85.99% สอดคล้องกับการวิเคราะห์ผลการศึกษาการสื่อสารออนไลน์เดือนพฤศจิกายน 2566 ที่สรุปว่าประเด็นที่สามารถสร้าง Engagement ได้สูงมักเป็นประเด็นที่เป็นความสุข
ความบันเทิง ในเทศกาลต่าง ๆ และประเด็นที่เป็นความชื่นชอบในบุคคล/สื่อ/กิจกรรมทางบันเทิง

 Instagram และ TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สร้าง Engagement ได้สูงจากรูปแบบที่เน้นการแบ่งปันวิดีโอ
และภาพ

จากผลการศึกษาการสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยใน 5 แพลตฟอร์ม (Facebook, TikTok, YouTube, Instagram และ X) ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า ความนิยมในการใช้แพลตฟอร์มการสื่อสาร จะมีความสัมพันธ์กับกลุ่มเนื้อหา โดยเฉพาะในกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ที่มักพบ Engagement สูงใน TikTok เนื่องจากสามารถสื่อสารความบันเทิงผ่านวิดีโอสั้น ได้ง่าย แต่ผลการศึกษาในเดือนธันวาคม 2566 กลับพบว่า นอกจาก TikTok แล้ว Instagram ก็เป็นอีก
1 แพลตฟอร์มที่สามารถสร้าง Engagement ได้สูงเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในกลุ่มเนื้อหาเทศกาล อย่างช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่ และกลุ่มเนื้อหาสื่อ สิ่งบันเทิง ที่สัดส่วนระหว่าง Instagram กับ TikTok มีความใกล้เคียงกัน คือ กลุ่มเนื้อหาเทศกาล Instagram มีสัดส่วนที่ 37.12% ส่วน TikTok ที่ 25.99% ส่วนกลุ่มเนื้อหาสื่อสิ่งบันเทิงมีสัดส่วน Instagram ที่ 28.82% และ TikTok ที่ 27.42% ข้อค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่าแพลตฟอร์มอาจมีส่วนสำคัญในการสื่อสารในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่ ที่ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์มักจะแบ่งปันภาพหรือวิดีโอจากสถานที่ที่ตกแต่งในวาระเทศกาลผ่านช่องทาง Instagram หรือ TikTok มากกว่าแพลตฟอร์มอื่น

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง คือ ในกลุ่มเนื้อหาเทศกาล วันคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่ ผู้สื่อสารในกลุ่มแบรนด์ต่าง ๆ สามารถสร้าง Engagement ขึ้นมาได้เป็นอันดับ 3 แทนที่ สื่อ สำนักข่าว โดย Engagement ส่วนใหญ่มาจากข้อมูล/ภาพการตกแต่งสถานที่ในเทศกาลวันคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่ของห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เช่น ไอคอนสยาม สยามพารากอน การจัดโปรโมชันหรือส่วนลดของแบรนด์ต่างๆ ในเทศกาลเฉลิมฉลองช่วงปลายปี สะท้อนให้เห็นว่า เนื้อหาที่สอดคล้องกับความรู้สึกและอารมณ์ร่วมในวาระเทศกาลเฉลิมฉลองช่วงปลายปี ผ่านทางแพลตฟอร์มที่สื่อสารภาพหรือวิดีโอ สร้างความสนใจได้สูง จนทำให้ผู้สื่อสารในกลุ่มแบรนด์ต่าง ๆ สามารถสร้าง Engagement ขึ้นมาได้เป็นอันดับ 3

กองทุนสื่อ – นิเทศฯ จุฬา รวมศิลปินเพลงทั่วฟ้าเมืองไทยกว่า 80 ชีวิต ร่วมบันทึกประวัติศาสตร์ งานคอนเสิร์ต 84 ปี ลูกทุ่งไทย

(14 มกราคม 2567) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดงานคอนเสิร์ต 84 ปีลูกทุ่งไทย ภายใต้โครงการลูกทุ่งสร้างสรรค์
ผสานสมัย พลังศิลปวัฒนธรรมไทยสู่สากล ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนประเภทเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Grant) ในประเด็นการสร้างมูลค่าจากประเด็นเชิงวัฒนธรรม (Soft Power) ประจำปี 2566
เพื่อสร้างสรรค์การแสดงคอนเสิร์ตเพลงลูกทุ่ง ที่สะท้อนคุณค่าวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ไทย ขยายเครือข่ายเยาวชนคนรุ่นใหม่และประชาชนทั่วไปในการเข้าถึง รู้จัก อนุรักษ์ และสร้างสรรค์ต่อยอดอุตสาหกรรมลูกทุ่งไทย
ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ภายในงานได้รับเกียรติจากนางลาลีวรรณ กาญจนจารี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม , ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ,ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม, ศิลปินนักร้อง สื่อมวลชน และประชาชนที่มีใจรักในเสียงเพลงลูกทุ่งเข้าร่วมงานกว่า 1,700 คน

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ตลอดการดำเนินงานที่ผ่านมา กองทุนพัฒนาสื่อฯ ได้ให้การสนับสนุนโครงการฯ ทั้งในประเด็นที่เกี่ยวข้อง
กับสังคม ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมถึงประเด็นการสร้างมูลค่าจากประเด็นเชิงวัฒนธรรม (Soft Power) “โครงการลูกทุ่งสร้างสรรค์ผสานสมัย
พลังศิลปวัฒนธรรมไทยสู่สากล” จากการริเริ่มสร้างสรรค์ของ ผศ. ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย วิรัชกิจ และเชื่อมโยงสังคม คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการฯ
โดยกองทุนพัฒนาสื่อฯ มุ่งหวังว่าโครงการนี้จะช่วยพัฒนา ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน และก่อให้เกิดความตระหนักถึงการสืบสานวัฒนธรรมผ่านบทเพลงลูกทุ่ง ซึ่งถือว่าเป็นเพลงที่สะท้อนวิถีชีวิต สภาพสังคม อุดมคติ และวัฒนธรรมไทย มีท่วงทำนอง คำร้อง สำเนียง ลีลาการร้อง การบรรเลงเพลงที่เป็นแบบแผนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ขอชื่นชมและขอบคุณทีมงานทุกท่านทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ศิลปิน ครูเพลง ที่ได้ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ อนุรักษ์ สืบสาน สร้างสรรค์ผลงานเพลงลูกทุ่งไทย ให้กระแสเพลงลูกทุ่งฟื้นคืนชีพในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ให้เกิดกระแสเพลงลูกทุ่งผ่านมิติเชิงศิลปะการขับร้องเพลงและดนตรี

สำหรับงานคอนเสิร์ต 84 ปี ลูกทุ่งไทย ในครั้งนี้มีศิลปินชื่อดังทั่วฟ้าเมืองไทยกว่า 80 ชีวิต มาถ่ายทอดเสียงเพลง อาทิ ผ่องศรี วรนุช ,ชาย เมืองสิงห์,เพลิน พรหมแดน ,สุรชัย สมบัติเจริญ ,อ๊อด โฟร์เอส ,
สุนารี ราชสีมา , สลา คุณวุฒิ ,สลักจิต ดวงจันทร์,จันทน์จวง ดวงจันทร์,ทศพล หิมพานต์ ,ยิ่งยง ยอดบัวงาม ,สดใส รุ่งโพธิ์ทอง สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : เพจ 84 ปี ลูกทุ่งไทย สร้างสรรค์สู่สากล