เลือกหน้า

กองทุนพัฒนาสื่อฯ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเครือข่าย มอบรางวัลการประกวดคลิปสั้น TikTok ภายใต้แคมเปญ “ฮักบ่Hate” ร่วมกันสร้างพื้นที่ออนไลน์ที่ปลอดภัยจาก Hate speech

(27 มีนาคม 2567) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย ,Tiktok Thailand, บริษัท เทลสกอร์ จำกัด ,COFACT Thailand ,มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และ เครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัย ประเทศไทย จัดเสวนาหัวข้อ “ฮักบ่Hate พื้นที่ออนไลน์ที่ปลอดภัยเพื่อการสื่อสารที่ไม่ใช้ความรุนแรง” และพิธีมอบรางวัลการประกวดคลิปสั้น TikTok แคมเปญ “ฮักบ่Hate” ภายใต้โครงการรณรงค์เสริมสร้างความตระหนักรู้เรื่องการสื่อสารที่ไม่สร้างความเกลียดชัง (Hate Speech)  ณ SCBX Next Tech  ชั้น 4 สยามพารากอน

นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงาน สรุปว่า การสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง หรือ Hate Speech ในสังคมไทย เป็นประเด็นสำคัญที่ทุกภาคส่วนและทุกสถาบันทางสังคมต้องให้ความสำคัญโดยเฉพาะการสื่อสารในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทุกคนต่างมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่มักพบสถานการณ์การสื่อสาร ทั้งด้วยข้อความ คำพูด หรือแม้แต่รูปภาพ ที่แสดงถึงการเหยียดหยาม ใส่ร้ายป้ายสี ดูถูก รวมถึงการยุยง ปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชังระหว่างกลุ่มบุคคล ในประเด็นต่าง ๆ ที่อ่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ชาติพันธุ์ ภาษา รูปลักษณ์ เพศสภาพ อาชีพ หรือแม้แต่อุดมการณ์ความเชื่อของบุคคล Hate Speech จึงเป็นบ่อเกิดความเสียหาย อับอาย ลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งผู้ถูกกระทำในหลายกรณีได้รับผลกระทบทางจิตใจ และนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าห่วงใยที่สุด ในสถานการณ์ดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ สังคมจึงต้องร่วมมือกันผลักดันให้เกิดการสื่อสารที่สร้างสรรค์เพื่อให้พื้นที่ออนไลน์เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยจาก Hate Speech สำหรับทุกคน

ภายในงานมีการเสวนาหัวข้อ “ฮักบ่Hate พื้นที่ออนไลน์ที่ปลอดภัยเพื่อการสื่อสารที่ไม่ใช้ความรุนแรง” โดย
นายชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยเเละสร้างสรรค์ นางสาวอัยยา ตันติเสรีรัตน์
Head of Partnerships & Co-Managing Director บริษัท เทลสกอร์ จำกัด นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์
ผู้ร่วมก่อตั้ง
COFACT ประเทศไทย นายสันติ ศิริธีราเจษฎ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านงานคุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง ผลกระทบโดยเฉพาะด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดจนข้อเสนอแนะ
ในการรับมือ และการส่งเสริมการสื่อสารที่สร้างสรรค์

จากนั้น มีการมอบรางวัลการประกวดคลิปสั้น TikTok แคมเปญ “ฮักบ่Hate” ซึ่งมีการเปิดรับผลงานระหว่างวันที่ 7 กุมภาพันธ์ – 8 มีนาคม 2567 และมีเยาวชน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปร่วมส่งผลงานที่เป็นการแบ่งปันมุมมอง ความเข้าใจ และความตระหนักต่อเรื่องการสื่อสารที่ไม่สร้างความเกลียดชัง เข้าร่วมการประกวดกว่า 200 คลิป โดยมีผู้ได้รับรางวัลเกียรติบัตรพร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 10,000 บาท รวมทั้งสิ้น 6 รางวัล ดังต่อไปนี้

รางวัลคลิปวิดีโอคุณภาพ จำนวน 3 รางวัล ได้แก่

(1) ผลงานเรื่อง “เรียนรู้ เข้าใจ ไม่สร้าง #HateSpeech” โดย เด็กหญิงวรกมล ไหมเพ็ชร

(2) ผลงานเรื่อง “ครูกะเทย” โดย นายธรินทร์ญา คล้ามทุ่ง

(3) ผลงานเรื่อง “หยุด Hate Speech วาทะสร้างความเกลียดชัง” โดย นางสาววัชโรบล แก้วสุติน

รางวัลยอดรับชมสูงสุด จำนวน 2 รางวัล ได้แก่

(1) ผลงานเรื่อง “ร่วมด้วยช่วยกันนะคะ เราหยุดเขาก็หยุด” โดย นางสาวจิดาภา เข็มเพ็ชร

(2) ผลงานเรื่อง “ไม่ว่าเราจะเป็นเพศอะไร ยังไง ก็ขอแค่ให้เราเป็นคนดี และไม่ต้องคิดและสนใจกับคำพวกนั้น” โดย นายดลวีย์ คำประดิษฐ

และรางวัลถูกใจกรรมการ จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ ผลงานเรื่อง “คำพูดที่แม้แต่ตัวเองยังไม่ชอบ ก็อย่ามอบมันให้คนอื่น” โดย นายไชยวุฒิ มณีวรรณ

สามารถติดตามรับชมผลงานของผู้ได้รับรางวัลและผู้เข้าร่วมการประกวดได้ที่
TikTok : สำนักงาน กสม. (@nhrc_thailand)

เมตาเวิร์สกับสุขภาพจิต ตอนที่ 2

“ส่วนตัวกลัวความสูง พอได้เล่น VR Acrophobia มันก็จะรู้สึกหวิว ๆ ด้วยความที่เราเห็นภาพรอบตัวที่เป็นมิติความสูงมาก ๆ เราก็จะตื่นเต้น เกิดการกระตุ้นเล็กน้อย แต่ก็ยังโอเคอยู่ มันเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เราได้ประสบการณ์ ไปอยู่บนความสูงมาก ๆ ทั้งที่เราไม่ได้ไปสัมผัสด้วยตัวเองโดยตรง จริง ๆ มันก็แอบสนุก มันน่าจะช่วยให้คนกลัวความสูง ลดความกลัวลงได้” เชน อายุ 22 ปี นักศึกษา

“หลังจากได้เล่น VR Self-Talk มันเหมือนได้สร้างตัวเองขึ้นมาอีกคน เพื่อจะได้นั่งพูดคุยกันถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และให้คำแนะนำตัวเอง มันช่วยให้เราเข้าใจตัวเองมากยิ่งขึ้น ได้อยู่กับตัวเอง รู้ว่าตัวเองมีปัญหาอะไร และเรียนรู้ว่าเราควรจะให้คำแนะนำแก่ตัวเองอย่างไร เพื่อให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีสุขภาพจิตที่แข็งแรง” อาร์ม อายุ 21 ปี นักศึกษา

ความรู้สึกเหล่านี้เป็นรีแอคชั่นบางส่วนของเชนและอาร์ม วัยรุ่นที่มาร่วมเปิดประสบการณ์สู่การดูแลจิตใจผ่านโลกเมตาเวิร์ส ทดลองใช้โปรมแกรม VR Acrophobia สำหรับคนกลัวความสูง และ VR Self-Talk พูดคุยกับตัวเองในรูปแบบอวตาร เทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยดูแลพวกเขาในอนาคต ซึ่งออกแบบและพัฒนาขึ้นโดย CARIVA – AI and Robotics และ ME HUG ก่อนนำมาจัดแสดงในนิทรรศการเมตาเวิร์สกับเมนทัลเฮลท์ ที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) แล้วได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม สร้างความดีใจให้กับทีมงานผู้ผลิต ที่ได้เจอกับนวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยสื่อสารองค์ความรู้เรื่องสุขภาพจิตให้ดูเฟรนลี่และจูงใจให้คนเข้ามาเชื่อมโยงกับสิ่งนี้ได้ง่ายขึ้น

“ปกติเวลาเราทำงานในเชิงสุขภาพจิต ไม่ว่าคิดเงิน หรือฟรี หรือเคี่ยวเข็ญขนาดไหน ก็ไม่มีใครมาสนใจเลย ถูกเมินตลอด แต่พอเรานำความทันสมัยของเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ปรากฏว่าช่วยดึงความสนใจให้คนเข้ามาหาเรา กลายเป็นว่าเราป๊อปปูล่าที่สุดเลยในบรรดาบูธทั้งหมดที่มีในงาน ซึ่งเราไม่เคยได้รับความสนใจแบบนี้มาก่อน มันช่วยทำให้มุมมองไบแอสของคน ที่มองงานด้านสุขภาพจิตว่าเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของคนบ้า คนสติไม่ดี ไม่สนใจและไม่เข้าใจเรา มันหายไปเลย สิ่งที่พลิกโฉมไปเลย คือ มีแต่คนวิ่งเข้ามาหาเรา อุ๊ยแว่นวีอาร์ อยากลองเล่น ลองใช้ ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่เข้ามารอคิวต่อแถวกันยาวมาก แถมยังมีหน่วยงาน องค์กร และสถาบันการศึกษา ติดต่อให้ไปออกบูธความรู้เรื่องนี้เกือบทุกเดือน”

ดร.กัณฐรัตน์ เหลืองอ่อน CEO – ME HUG และนักจิตวิทยา เล่าไปยิ้มไปกับความภูมิใจที่ได้เห็นฟีดแบคที่ดีมาก ทั้งจากในแวดวงนักจิตวิทยา ที่ชื่นชมและอยากให้นำเทคโนโลยีนี้เข้าไปช่วยรักษาคนไข้ในโรงพยาบาล ได้เครือข่ายผู้เชี่ยวชาญที่ตื่นตัวและเข้ามาร่วมศึกษาเป็นจำนวนมาก ส่วนกลุ่มประชาชนทั่วไปก็สนใจอยากให้มีการจัดนิทรรศการแบบนี้อีกเรื่อย ๆ หลายคนก็อยากให้มาช่วยฝึกทักษะความมั่นใจ การเข้าสังคมให้กับพวกเขาด้วย

นอกจากเทคโนโลยี VR แล้ว ในโครงการเมตาเวิร์ส กับ สุขภาพจิต ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปี 2565 ก็ยังมีการสร้างนิทรรศการเสมือนจริงไว้ในโลกเมตาเวิร์ส ที่เว็บไซต์ spatial จัดแสดงองค์ความรู้เกี่ยวกับงานวิจัยที่รีวิวมาจากต่างประเทศ ในการนำเทคโนโลยีเมตาเวิร์สมาใช้ดูแลสุขภาพจิตในแต่ละด้าน ว่าให้ผลลัพธ์เป็นอย่างไร อีกทั้งยังมีการจัดเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้จากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความก้าวหน้าของเมตาเวิร์สกับเมนทัลเฮลท์อีกด้วย โดยองค์ความรู้ทั้งหมด ได้ถูกบันทึกและถ่ายทอดออกมาเป็นสื่ออินโฟกราฟฟิก บทความ และคลิปวิดีโอ ให้ผู้สนใจได้หาชมย้อนหลังกันได้ที่เพจเฟซบุ๊กและยูทูบ ME HUG ซึ่งในขั้นตอนนี้ถือว่าเป็นประเด็นท้าทายทีมผู้ผลิตอย่างมาก ต้องใช้เวลา 6-7 เดือน

“เป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดของทีมเรา ซึ่งถนัดเรื่องงานวิจัยและการฝึกอบรม แต่ไม่ได้ถนัดเรื่องการผลิตสื่อตอนขอทุน ซึ่งเป็นการขอครั้งแรก เราไม่รู้ว่าสามารถขอเฉพาะในส่วนของงานวิจัยและการฝึกอบรมได้ ก็เลยเสนอเรื่องการผลิตสื่อเข้าไปด้วย ซึ่งเราไม่มีความรู้เลยว่า จะมีต้นทุนและขั้นตอนการผลิตมากขนาดนี้ โดยเฉพาะสื่อวิดีโอที่เกินกำลังของเรา แถมเสนอไปตั้ง 18 ตอน ตอนละ 15 นาที ซึ่งไม่รู้ว่ามันเยอะมาก ทั้งเรื่องโปรดักชันและค่าเช่าอุปกรณ์ อีกทั้งคลิปสัมภาษณ์ความยาว 15 นาที มันก็ยาวเกินไปที่จะทำออกมาให้ดูน่าสนใจ ถ้าไม่ได้มีภาพหรือกราฟฟิกมาเสริม สุดท้ายก็ต้องหาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยผลิต”

ดร.กัณฐรัตน์ เน้นย้ำทิ้งท้ายว่า แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ทีมงานผู้ผลิตกว่า 20 คน ก็ภูมิใจที่โครงการนี้ได้ ทำให้เรื่องของสุขภาพจิตดูเป็นมิตรมากขึ้น ช่วยเผยแพร่องค์ความรู้และสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องเมทัลเฮลท์ เพื่อให้สังคมเห็นว่าสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่จำเป็นต้องป่วย ก็เข้ามาศึกษาและดูแลได้ จึงอยากชวนทุกคนมาดู มั่นใจว่าต้องมีหนึ่งในหลายตอนที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์กับคุณแน่นอน

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานโล่และเกียรติบัตรแก่ผู้ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่น รางวัลชมเชย และ ผู้สนับสนุนงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 โดยผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อฯ ได้เข้ารับรางวัลในฐานะผู้จัดพิมพ์หนังสือดีเด่นอันเป็นผลงานผู้รับทุนด้วย

(28 มี.ค. 67) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดงาน สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 22
ณ ฮอลล์ 7 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ในการนี้ได้ทรงมีพระราชดำรัสเปิดงาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22”
(52st National Book Fair & 22st Bangkok International Book Fair 2024) พร้อมเสด็จพระราชดำเนินไปฉายพระรูปร่วมกับคณะกรรมการจัดงานภาครัฐ และภาคเอกชน ทั้งนี้ ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เข้ารับพระราชทานโล่และเกียรติบัตรผู้ชนะการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2567 ผลงานจากผู้รับทุน ประจำปี 2565 ประเภทเปิดรับทั่วไป กลุ่มเด็กและเยาวชน นิทานเรื่อง “เมื่อมะลิผลิบาน”

นางสาวศรัญญ์ทิตา ชนะชัยภูวพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาสื่อสำหรับเด็กแชะเยาวชน เข้ารับพระราชทานโล่และเกียรติบัตร รางวัลชมเชยหนังสือสวยงาม ผลงานจากผู้รับทุน ประจำปี 2565 ประเภทเปิดรับทั่วไป กลุ่มเด็กและเยาวชน นิทานเรื่อง “ วิทยาศาสตร์น่ารู้ สู่หัวใจเรียนรู้รักษ์สิ่งแวดล้อม”

นายปิยพงษ์ เชื้ออาษา ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารองค์กร ร่วมเข้ารับพระราชทานโล่ ในฐานะที่ให้การสนับสนุนงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 22 ด้วย

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นอีกหน่วยงานที่ร่วมสนับสนุน และได้จัดบูธนิทรรศการ สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ อาทิ สัมมาทิฏฐิ ทะลุมิติมายา, โขนภาพยนตร์ HANUMAN WHITE MONKEY, A Time To Fly บินล่าฝัน, ครูของฉัน, มีนา-ฟ้าใส น้องกระต่ายตื่นตูม, Edible story Thailand SS.2 และ มหัศจรรย์เมล็ดพันธุ์เหนือมิติ เป็นต้น

ทั้งนี้ “งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22”
จัดตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม – 8 เมษายน 2567 ณ ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ผู้ที่สนใจสามารถมาเยี่ยมชมได้ ที่บูธนิทรรศการ A22 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โซนหนังสือต่างประเทศ

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัด “โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตสื่อ (บ่มเพาะ) ปีที่ 2”พื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร พร้อมมอบใบประกาศออนไลน์ผู้ผ่านการอบรมทั่วประเทศ

(23-24 มีนาคม 2567) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดอบรม “โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตสื่อ (บ่มเพาะ) ปีที่ 2” โดยผู้เข้าอบรมประกอบด้วย นักจัดรายการวิทยุ ผู้กำกับภาพยนตร์ นักเขียน ช่างภาพ content creator และอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในเขตภาคกลางและกรุงเทพมหานคร ณ โรงแรม TK Palace กรุงเทพมหานคร 
โดยก่อนหน้านี้ได้มีการจัดอบรมขึ้นที่ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครพนม และภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งภายในงานมีการมอบใบประกาศนียบัตรแบบออนไลน์แก่ผู้ผ่านการอบรมทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 143 คน

ภายในงาน ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นวิทยากร
ร่วมกับทีมนักวิชาการด้านสื่อและการสื่อสาร ได้แก่ อ.ดร.ภัทธิรา ธีรสวัสดิ์, ผศ.ดร.ศศิธร ยุวโกศล
และคุณภานุพันธ์ สุภาพันธ์
Executive Creative Director คอยให้คำแนะนำผู้เข้าอบรมในการเขียนโครงการให้สามารถสร้างผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ โดยผู้เข้าร่วมการอบรมยังได้รับฟังประสบการณ์ตรงจากผู้ที่เคยได้รับทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อฯ และช่วงท้ายของกิจกรรมยังได้มีการนำเสนอโครงการพร้อมรับคำแนะนำเพื่อปรับปรุงข้อเสนอโครงการ (Pitching Project) อีกด้วย

ทั้งนี้ ภายหลังจากการจัดกิจกรรมในพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม
รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้กล่าวปิดโครงการว่า โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านการบ่มเพาะความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคนิคการเขียนโครงการเพื่อพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้อย่างตรงตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ในประเด็นของการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของ “จรรยาบรรณ” และ “ความรับผิดชอบ” ในผลกระทบต่อสังคมจากการผลิตสื่อที่จะเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ ซึ่งผู้เข้าอบรมจะได้รับประโยชน์และมองเห็นแนวทางในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม สร้างรายได้ให้กับประเทศ และเกิดเครือข่ายความร่วมมือขับเคลื่อนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งในพิธีปิดโครงการได้มีผู้เข้าร่วมโครงการจากทุกภูมิภาคเข้าร่วมงานผ่านระบบประชุมออนไลน์ โดยมีตัวแทนผู้เข้าอบรมในแต่ละภาคแสดงความรู้สึกเกี่ยวกับประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมอบรมในโครงการนี้อีกด้วย

เมตาเวิร์สกับสุขภาพจิต ตอนที่ 1

“ปัญหาสุขภาพจิต ที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของคนบ้า คนสติไม่ดี จึงไม่สนใจและไม่เข้าใจ” เป็นอคติที่สั่งสมมานานและกลายมาเป็นอุปสรรคด่านสำคัญของนักจิตวิทยา ที่พยายามจะสื่อสารความรู้ด้านสุขภาพจิตให้กับผู้คนในสังคม ได้รู้เท่าทันและมีภูมิคุ้มกันในการดูแลตัวเองและคนรอบข้าง

ดร.กัณฐรัตน์ เหลืองอ่อน CEO – ME HUG และนักจิตวิทยา ซึ่งสนใจเรื่องการขยายโอกาสการเข้าถึงบริการและการส่งเสริมป้องกันปัญหาด้านสุขภาพจิต พยายามทะลายกำแพงนี้ ด้วยการเริ่มศึกษาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการดูแลเมนทัลเฮลท์ มาตั้งแต่ 7-8 ปีก่อน

“เราเห็นทางโลกตะวันตก ขยายโอกาสการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เขาพัฒนากันไปเยอะแล้ว เราก็อยากทำในเมืองไทยบ้าง แต่คนในสังคมรวมถึงบุคลากรด้านสุขภาพจิต ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้ ว่าตัวเทคโนโลยีออนไลน์จะเข้ามาช่วยได้อย่างไร กระทั่งโควิดระบาด ทุกคนต้องเปลี่ยนมาใช้ระบบออนไลน์กันหมดเลย ซึ่งต้องใช้เวลาเรียนรู้กันอยู่นาน ทำให้มีคนเจ็บป่วยที่ตกหล่นไม่ได้รับการดูแลอยู่เยอะมาก เรารู้สึกพลาดโอกาสในการรับมือกับมันล่วงหน้า ในฐานะนักจิตวิทยาคนหนึ่ง ไม่อยากให้เทคโนโลยีมาดิสรัปชั่นเราแล้ว จึงอยากเรียนรู้และตั้งรับมันให้เร็วที่สุด”

ดร.กัณฐรัตน์ เล่าถึงแรงบันดาลใจ ที่เป็นแรงขับให้ตัวเองและทีมงานซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและเทคโนโลยีเมตาเวิร์ส ลุกขึ้นมาศึกษาเรื่องเมตาเวิร์สกับสุขภาพจิต เสนอโครงการขอรับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กระทั่งได้รับทุนประเภทเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปี 2565นำมาสร้างนิทรรศการเสมือนจริงไว้ในโลกเมตาเวิร์ส จัดแสดงองค์ความรู้เกี่ยวกับงานวิจัยที่รีวิวมาจากต่างประเทศ ว่าตอนนี้มีการนำเทคโนโลยีเมตาเวิร์สมาใช้ในการดูแลสุขภาพจิตในด้านไหน และให้ผลลัพธ์เป็นอย่างไรบ้าง เช่น การรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ออทิสติก อัลไซเมอร์ ผู้ติดยาเสพติด และผู้ป่วยจิตเภท ฯลฯ โดยผู้ที่สนใจรายละเอียดเชิงลึกสามารถกดลิงค์เข้าไปดูงานวิจัยต้นฉบับได้ด้วย

“ปกติเวลาเราจะดูนิทรรศการก็ต้องไปเดิน ซึ่งผู้จัดต้องใช้พื้นที่ และงบประมาณค่อนข้างเยอะในการจัดนิทรรศการขึ้นมาในแต่ละครั้ง แต่อันนี้เป็นนิทรรศการในโลกเมตาเวิร์ส ผู้ที่สนใจสามารถสร้างตัวอวตารเข้าไปเดินชมนิทรรศการได้เลย โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ไม่มีข้อจำกัดเรื่องสถานที่ จะดูผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ก็ได้ เพียงแค่ล็อกอินเข้าไปในเว็บไซต์spatial ก็ชมได้แล้ว”

นิทรรศการเมตาเวิร์สกับเมนทัลเฮลท์ จัดขึ้นครั้งแรกที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เป็นเวลา 1 เดือน ภายในงานนอกจากมีการนำนิทรรศการเมตาเวิร์สที่อยู่ในเว็บไซต์spatialมาให้ชม มีการจัดเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ในหัวข้อต่าง ๆ เช่น เมตาเวิร์สกับกลุ่มLGBTQ เมตาเวิร์สกับสุขภาพจิต เมตาเวิร์สกับกลุ่มเด็กและครอบครัว ฯลฯ แล้วยังมีการนำนวัตกรรม Virtual Reality หรือ VR ที่ CARIVA – AI and Robotics และ ME HUG ร่วมกันพัฒนาขึ้น มาให้ทดลองใช้ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นไฮไลท์ที่ได้รับความสนใจอย่างมาก

“VR ที่เรานำมาให้ทดลอง มีทั้งโปรแกรมรักษาอาการกลัวความสูง ปัญหาความเครียดและความสัมพันธ์ ที่จะได้ทดลองพูดคุยกับอวตารของตัวเองในโลกเสมือน ได้ลองให้กำลังใจ ขอโทษ หรือขอบคุณตัวเอง เพื่อมอบความรักให้กับตนเอง ซึ่งได้รับสนใจอย่างมากทั้งจากเด็กและผู้ใหญ่ จนมีหลายหน่วยงานมาเชิญให้ไปจัดนิทรรศการเกือบทุกเดือน”

สำหรับใครที่ยังไม่มีโอกาสได้ชมนิทรรศการชุดนี้ ก็สามารถมาร่วมเดินทางสำรวจโลกเมตาเวิร์ส กับสุขภาพจิตกันได้ที่เว็บไซต์ spatial เทคโนโลยีความก้าวหน้าที่จะช่วยให้คุณรู้จัก เข้าใจ และเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตได้ง่ายขึ้น