เลือกหน้า

การจัดเรตติ้งรายการ : ตัวกรองเนื้อหาสื่อโทรทัศน์สำหรับเด็ก

สื่อมีส่วนในการหล่อหลอมและปลูกฝัง ค่านิยม ทัศนคติ และพฤติกรรมต่าง ๆ ให้แก่ผู้รับชม หากผู้ชมได้รับเนื้อหาที่มีคุณภาพ มีสาระประโยชน์ อย่างสร้างสรรค์ ย่อมส่งผลดีต่อการพัฒนาจิตใจและสติปัญญา แต่ในทางกลับกัน หากได้รับชมสื่อที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม อาจนำไปสู่ผลกระทบเชิงลบ เช่น การเลียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าว การสร้างค่านิยมที่ผิดเพี้ยน เป็นต้น ดังนั้น สื่อโดยเฉพาะโทรทัศน์แบบบริการทั่วไป จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคสื่อ ด้วยการแจ้งเตือนว่าเนื้อหาที่นำเสนอมีความเหมาะสมกับผู้รับสื่ออย่างไร โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่ต้องได้รับการดูแล

ปัจจุบัน ผู้บริโภคสื่อโทรทัศน์มีทางเลือกในการรับชมได้หลากหลาย ทั้งช่องทาง เนื้อหา เวลา วิธีการรับชม นอกจากรายการผ่านทางโทรทัศน์แล้ว ยังมีการออกอากาศรายการผ่านบริการ OTT (Over the Top) ความน่าสนใจ คือ ควรมีมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ในการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ ไม่ว่าจะนำเสนอทางช่องทางใด การจัดระดับความเหมาะสมของรายการ (การจัดเรต) โดยเฉพาะรายการสำหรับเด็ก เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยปกป้องเด็กจากเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เช่น เนื้อหาที่มีความรุนแรง ภาษาไม่สุภาพ เนื้อหาทางเพศที่ไม่เหมาะสม

อีกทั้งช่วยเตือนผู้ปกครองให้ควบคุมการรับชม ช่วยเลือกเนื้อหาที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงเนื้อหาที่มีความรุนแรง ส่งเสริมการใช้ดุลยพินิจในการเลือกรับชม สร้างความตระหนักในบริบททางวัฒนธรรม เพราะสิ่งที่ถือเป็นเรื่องปกติในวัฒนธรรมหนึ่ง อาจถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสมในอีกวัฒนธรรมหนึ่ง การจัดเรตคือกลไกการกลั่นกรองเนื้อหาที่ควรดำเนินการอย่างมีมาตรฐานที่เชื่อถือได้ ทั้งเป็นแนวทางสำหรับการสร้างสรรค์เนื้อหาอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม

MEDIA ALERT กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ศึกษาเปรียบเทียบการจัดระดับความเหมาะสมของรายการระหว่างทีวีดิจิทัลไทย และบริการ OTT 2 แพลตฟอร์ม ได้แก่ Netflix และ Prime Video ว่ามีความเหมือน ความแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร ใน 3 ประเด็น คือ 1) ระบบการจัดระดับความเหมาะสมในภาพรวม 2) ระบบการขึ้นคำเตือนของทั้ง 3 แพลตฟอร์ม และ 3) การจัดระดับความเหมาะสมจากตัวอย่างรายการที่ออกอากาศข้ามแพลตฟอร์ม หน่วยการศึกษา คือ ละครหรือซีรีส์ และภาพยนตร์ ที่เผยแพร่ทางทีวีดิจิทัล และบริการ OTT 2 ได้แก่ Netflix และ Prime Video ระหว่างวันที่ 15-30 ธันวาคม 2566 โดยใช้วิธีสุ่มเลือก

ระบบการจัดระดับความเหมาะสมในภาพรวม

การจัดเรตของรายการทีวีดิจิทัลในประเทศไทย และการจัดเรตเนื้อหาของ Netflix และ Prime Video ใช้หลักเกณฑ์คล้ายคลึงกันในการพิจารณา อาทิ เนื้อหาทางเพศ ความรุนแรง การใช้ภาษาไม่สุภาพ มีระดับการจัดเรตติ้งที่แบ่งตามความเหมาะสมของเนื้อหาสำหรับกลุ่มอายุต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม

รายการทีวีดิจิทัลในประเทศไทย จัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหาตามประกาศของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขณะที่การจัดเรตรายการของ Netflix และ Prime Video เป็นกติการ่วมกันของผู้ประกอบการ

ในประเทศไทยนั้น การจัดเรตติ้งเนื้อหารายการและภาพยนตร์เป็นไปตามกฎหมายและการกำกับดูแลของหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ คือ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กับพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หน่วยงานเหล่านี้จะกำหนดหลักเกณฑ์และระเบียบในการจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหา โดยคำนึงถึงบรรทัดฐานทางสังคม ศีลธรรม ประเพณี และผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ

 การจัดช่วงอายุของผู้ชม ทั้ง 3 แพลตฟอร์ม มีการกำหนดผู้รับชมในทุกช่วงอายุที่เหมือนหรือใกล้เคียงกัน คือ

  • ทีวิดิจิทัลใช้สัญลักษณ์ ท (ทั่วไป)
  • Netflix ใช้สัญลักษณ์ ทุกวัย
  • Prime Video ใช้สัญลักษณ์ ALL

ความแตกต่างในการจัดช่วงอายุผู้รับชมในกลุ่มรายการสำหรับเด็ก

  • ทีวีดิจิทัลไทยแบ่งเป็น ป 3+ (3-5 ปี) และ ด 6+ (6-12 ปี)
  • Netflix แบ่งรายการสำหรับเด็กเป็น 2 ช่วงอายุ ได้แก่ 7-9 ปี (7+) และ 10-12 ปี (10+)
  • Prime Video กำหนดช่วงอายุเป็น 7-12 ปี (7+) เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น

ทั้ง Netflix และ Prime Video จะมีช่องทาง Kid Safe หรือมุมเด็ก ซึ่งในโหมดนี้จะแบ่งเนื้อหารายการสำหรับเด็กไว้โดยเฉพาะ เช่น ภาพยนตร์แอนนิเมชัน การ์ตูน ฯลฯ ใน Netflix พบว่าเป็นรายการที่สามารถรับชมได้ทุกช่วงวัย (ทุกวัย) รวมถึงกลุ่ม 7-9 ปี (7+) และ 10-12 ปี (10+)  ส่วน Prime Video เป็นรายการที่มีสามารถรับชมได้ทุกช่วงวัย (All) และกลุ่ม 7-9 ปี (7+)

กลุ่มรายการสำหรับวัยรุ่น พบว่า ทีวีดิจิทัลไทย และ Netflix มีการแบ่งช่วงอายุการรับชมของวัยรุ่นที่เหมือนกัน คือ เป็นรายการที่เหมาะกับผู้ชมอายุ 13 ปีขึ้นไป  (น 13+ และ 13+)  ต่างจาก Prime Video ที่กำหนดช่วงอายุวัยรุ่นไว้ 2 ช่วง ได้แก่ 13 ปีขึ้นไป (13+) และ 16 ปีขึ้นไป (16+)

การจัดช่วงอายุการรับชมของผู้ใหญ่ พบว่า ทีวีดิจิทัลไทย และ Prime Video มีความเหมือนกันในการกำหนดช่วงอายุ คือ เป็นรายการสำหรับผู้ชมอายุ 18 ปีขึ้นไป (น 18+ และ 18+) 

นอกจากนี้ในทีวีดิจิทัลไทย ยังมีการจัดเนื้อหาเฉพาะ (ฉ) สำหรับรายการที่รับชมได้เฉพาะผู้ใหญ่ โดยออกอากาศได้ในช่วงเวลา 24.00-05.00 น. ในขณะที่ Netflix มีการจัดช่วงอายุผู้ชมในรายการสำหรับผู้ใหญ่ ไว้ 2 ช่วงอายุ คือ 16 ปีขึ้นไป (16+) และ 18 ปีขึ้นไป (18+) 

ระบบการขึ้นคำเตือนของทั้ง 3 แพลตฟอร์ม

การจัดเรตเนื้อหารายการทีวีดิจิทัลไทยให้ความสำคัญกับอายุของผู้ชมมากกว่าการแจ้งข้อควรระวัง คือ เน้นการกำหนดช่วงอายุที่เหมาะสมในการรับชมเนื้อหานั้น ๆ เป็นหลัก โดยแบ่งเป็นระดับต่าง ๆ ได้แก่ ป 3+ (3-5 ปี), ด 6+ (6-12 ปี), น 13+ เป็นรายการที่เหมาะกับอายุ 13 ปีขึ้นไป, น 18+ เป็นรายการสำหรับผู้ชมอายุ 18 ปีขึ้นไป และ เป็นรายการที่รับชมได้เฉพาะผู้ใหญ่ จะเห็นได้ว่าเกณฑ์หลักคือการบ่งบอกกลุ่มอายุที่เหมาะสมต่อการรับชมเนื้อหานั้น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบจากเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม

ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะว่าประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมลักษณะเนื้อหาบางประเภท เช่น ห้ามมีเนื้อหาลามก ส่งเสริมความรุนแรง ยั่วยุก่อการร้าย

ในขณะที่การแจ้งข้อควรระวังลักษณะเนื้อหาจะปรากฏในรูปแบบคำเตือนเสริม เช่น ระวังมีภาษาหยาบคาย, มีฉากรุนแรง หรือมีเนื้อหาทางเพศ เป็นต้น แต่ไม่ได้เป็นเกณฑ์หลักในการจัดเรตรายการของทีวีดิจิทัลไทย

กล่าวได้ว่า นโยบายการจัดเรตรายการโทรทัศน์ในประเทศไทย ให้น้ำหนักและความสำคัญกับช่วงอายุของผู้ชมเป็นหลัก เพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนอย่างเคร่งครัดกว่าลักษณะเนื้อหา โดยข้อควรระวังเนื้อหาจะมีบทบาทเป็นคำเตือนเสริม เช่น ระวังมีภาษาหยาบคาย มีฉากรุนแรง หรือมีเนื้อหาทางเพศ เป็นต้น เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบจากเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม แต่ไม่ได้เป็นเกณฑ์หลักในการจัดเรตรายการของทีวีดิจิทัลไทย

ในขณะที่การจัดเรตเนื้อหาของ Netflix และ Prime Video นั้น จะให้ความสำคัญกับการระบุลักษณะเนื้อหาที่ควรระวังหรือการแจ้งคำเตือนเป็นหลัก มากกว่าการจำกัดด้วยช่วงอายุผู้ชม กล่าวได้ว่า แนวทางการจัดเรตรายการของ Netflix และ Prime Video เน้นที่การบอกลักษณะของเนื้อหาอย่างละเอียด เช่น ภาษาหยาบคาย ความรุนแรง เนื้อหาทางเพศ สถานการณ์ที่น่ากลัวหรือก่อให้เกิดความวิตกกังวล เนื้อหาเกี่ยวกับสารเสพติด การพนัน เป็นต้น จากนั้นจึงจัดระดับความรุนแรงของเนื้อหาเหล่านั้น เพื่อให้ผู้ชมได้รับข้อมูลและตัดสินใจว่าจะรับชมหรือไม่

โดยรวมแล้ว จุดมุ่งหมายและแนวทางการจัดเรตรายการระหว่างทีวีดิจิทัลไทย กับ Netflix และ Prime Video มีความใกล้เคียงกัน แต่มีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปตามบริบททางสังคม วัฒนธรรม และกฎระเบียบของแต่ละประเทศ

การจัดระดับความเหมาะสมจากตัวอย่างรายการที่ออกอากาศข้ามแพลตฟอร์ม

การศึกษาเพื่อวิเคราะห์การจัดระดับความเหมาะสมของรายการที่ออกอากาศข้ามแพลตฟอร์ม หรือออกอากาศทั้งในทีวีดิจิทัลไทย และใน Netflix หรือ Prime Video ในครั้งนี้ หน่วยการศึกษาคือ ละคร 6 เรื่อง ได้แก่ พรหมลิขิต (ช่อง 3) พนมนาคา (ช่อง ONE) รากแก้ว (ช่อง 3) Home School นักเรียนต้องขัง (ช่อง GMM 25) สืบลับหมอระบาด (ช่อง 3) และ Enigma คน มนตร์เวท (ช่อง GMM 25) ผลการศึกษาพบว่า ทีวีดิจิทัลไทย ใช้สัญลักษณ์และเสียงบรรยายในการบอกระดับความเหมาะสมของอายุคนดู ตามความแตกต่างของกลุ่มรายการ โดยใช้คำเตือนหรือคำชี้แจงก่อนเข้าเนื้อหารายการในลักษณะเดียวกันทั้งหมด ไม่มีการจำแนกให้เห็นความเฉพาะของเนื้อหานั้น ๆ ตัวอย่างเช่น การใช้เสียงบรรยายเตือนว่า “รายการต่อไปนี้เหมาะสำหรับผู้ชมที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป อาจมีภาพ เสียง หรือเนื้อหา ที่ไม่เหมาะสมด้านพฤติกรรม ความรุนแรง เพศ และการใช้ภาษา ซึ่งต้องใช้วิจารณญาณในการรับชม ผู้ชมที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรได้รับคำแนะนำ”

ขณะที่ Netflix และ Prime Video มีมากกว่า 1 คำเตือนในแต่ละตอน เช่น การระบุถึงเซ็กซ์ที่รุนแรง ทารุณกรรมเด็ก การฆ่าตัวตาย ฯลฯ ที่ปรากฏในเนื้อหาละครตอนนั้น ๆ เป็นการเฉพาะ เพื่อเตือนให้ทราบก่อนตัดสินใจรับชม

เช่นเดียวกับ Prime Video ที่มีการจัดระดับความเหมาะสมในทุกตอนของละครที่เป็นหน่วยการศึกษา ตามลักษณะของเนื้อหาที่ปรากฏจริง จึงทำให้ระดับความเหมาะสมของละครแต่ละตอนมีความแตกต่างกัน ส่วนเนื้อหาที่ยังไม่มีการกำหนดระดับความเหมาะสมจะขึ้นสัญลักษณ์ NR และคำเตือน เรตติ้งอายุ NR (Not Rated) ในรายการตอนนั้น ๆ

การที่ทีวีทีวีดิจิทัลไทยจัดเรตติ้งให้ละครบางเรื่องที่เป็นหน่วยการศึกษาเป็น ท ทั่วไป (เหมาะสำหรับทุกวัย) หรือเป็น น13+  (ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 13 ควรได้รับคำแนะนำ)  แต่เมื่ออกอากาศทาง OTT กลับพบว่า มีการจัดเรตที่สูงกว่า เช่น  จาก ท เป็น น13+  หรือ จาก น13+ เป็น น 16+ ใน Netflix หรือ จาก น 13+ เป็น น 16+ ใน Prime Video แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของเกณฑ์การจัดเรตติ้งของประเทศไทยกับมาตรฐานสากล

อาจวิเคราะห์สาเหตุหลักของความแตกต่างได้ดังนี้

  1. ด้วยความแตกต่างของบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรม สิ่งที่ถือว่าเป็นเรื่องปกติหรือไม่รุนแรงในสังคมไทย อาจถูกมองว่ารุนแรงหรือไม่เหมาะสมในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมอื่น
  2. มีเกณฑ์การจัดเรตรายการที่แตกต่างกัน ประเทศไทยมักให้ความสำคัญกับการกำหนดอายุของผู้รับชมมากกว่าการระบุลักษณะเนื้อหา ขณะที่มาตรฐานสากลจะเน้นไปที่การเตือนต่อลักษณะเนื้อหามากกว่า
  3. มีกระบวนการตรวจสอบที่แตกต่างกัน การตรวจสอบเนื้อหาเพื่อจัดเรตรายการของไทยและต่างประเทศอาจมีกระบวนการและคณะกรรมการที่ต่างกัน ทำให้มีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป
  4. การคำนึงถึงลูกค้าทั่วโลก ด้วย Netflix/Prime Video ต้องคำนึงถึงกลุ่มผู้ชมทั่วโลกที่หลากหลาย จึงอาจเลือกใช้มาตรฐานการเตือนที่เข้มงวดกว่า เพื่อความปลอดภัย

สะท้อนให้เห็นว่าการจัดเรตเนื้อหาเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน ต้องพิจารณาหลายปัจจัย โดยมีความแตกต่างระหว่างสังคมวัฒนธรรม เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ  ขณะที่การมีมาตรฐานร่วมอย่างสากล เป็นความท้าทาย

กองทุนสื่อ – การบินไทย ผลักดัน Soft Power โชว์ผลงานสื่อสร้างสรรค์ วัฒนธรรมอาหาร มวยไทย และการท่องเที่ยว บนเที่ยวบิน

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยเเละสร้างสรรค์ นำผลงานสื่อสร้างสรรค์ที่สะท้อนขนบธรรมเนียมประเพณีและสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศไทย บนเครื่องบินสายการบินไทย กว่า 70 ลำที่ให้บริการภายในประเทศ ตามแนวความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยเเละสร้างสรรค์ เเละ บริษัท การบินไทย (จำกัด) มหาชน เพื่อนำเสนอสื่อสร้างสรรค์ ที่มีเนื้อหาให้ความรู้ สาระประโยชน์ สร้างการรับรู้ด้านวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย ให้กับผู้โดยสารของสายการบิน โดยนำผลงานสื่อด้านวัฒนธรรมอาหาร มวยไทย และการท่องเที่ยว เผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักแก่ประชาชนในวงกว้าง

สำหรับผลงานที่นำไปจัดฉายบนเครื่องบินสายการบินไทย ระหว่างเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2567 ได้เเก่
– รายการ Edible Story Thailand ตอน “ข้าวโป่ง”
– รายการ Edible Story Thailand ตอน “ต้มปลาร้าหัวตาล”
– รายการ The Boxer: นวอาวุธ มวยไชยา

และในช่วงเดือน มิถุนายน – กรกฎาคม 2567 จะมีการจัดฉาย สารคดีเรื่องเล่าจาก ปลายด้ามขวาน : เสน่ห์แดนใต้กับสังคมพหุวัฒนธรรม

ผู้สนใจสามารถติดตามผลงานของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ที่ www.tmfchannel.com

กองทุนสื่อ จับมือ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ลงนามความร่วมมือ ผลิตรายการโทรทัศน์และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ มุ่งสร้างสื่อน้ำดีออกสู่สังคม

(10 เมษายน 2567) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ลงนามความร่วมมือกับ พลโท ชำนาญ ช้างสาต กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก โดยมีผู้บริหาร ร้อยโท ดร.ธนกฤษฎ์ เอกโยคยะ รองผู้จัดการกองทุน และ พลโท สิริพงศ์ พชรกนกกุล รองผู้อํานวยการใหญ่ สายงานบริหาร ร่วมลงนามเป็นพยาน พร้อมคณะผู้บริหารเจ้าหน้าที่ของกองทุนสื่อ และ ผู้บริหารสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ร่วมเป็นสักขีพยานความร่วมมือในการผลิตรายการโทรทัศน์ ให้มีสื่อน้ำดีออกสู่สังคมมากยิ่งขึ้น

ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.5)

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในวันนี้ ถือเป็นโอกาสอันดี ที่ทั้งสององค์กรจะได้ร่วมกันในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ และเสริมสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนได้อย่างถูกต้อง สร้างพื้นที่ให้ประชาชนสามารถเลือกรับสื่อและเข้าถึงสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประจำวัน เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ทั้ง2หน่วยงานได้ร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจ ให้บรรลุเป้าหมาย เป็นการเติมเต็มซึ่งกันและกัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตจะได้มีโอกาสผลิตรายการร่วมกับทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก

พลโท ชำนาญ ช้างสาต กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการร่วมผลิตรายการโทรทัศน์และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในครั้งนี้ มีเจตนารมณ์ร่วมกันเพื่อให้เยาวชนและประชาชนได้รับชมรายการที่มีเนื้อหาปลอดภัยในเชิงสร้างสรรค์ และสร้างสังคมแห่งภูมิปัญญา ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ในการมุ่งมั่นทำหน้าที่สื่อที่ดี ตรงกับปณิธานของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก

ทั้งนี้ MOU ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อผลิตและเผยแพร่รายการสื่อสร้างสรรค์สังคม สร้างความร่วมมือและเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการผลิตสื่อระหว่างกัน ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการผลิตและเผยแพร่สื่อสร้างสรรค์ โดยร่วมดำเนินงานสนับสนุนบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมตลอดถึงการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างสองหน่วยงาน

กองทุนสื่อร่วมแสดงความยินดีกับงานประกาศรางวัลสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยครั้งที่ 13

(4 เมษายน 2567) งานประกาศรางวัลสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ครั้งที่ 13 (Thai Film Director Awards 2024) ถูกจัดขึ้นโดยสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ทั้งนี้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เป็นผู้ร่วมให้การสนับสนุนดการจัดงาน ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “13 ปี หนังไทย ข้า ไม่ ตาย” พร้อมเปิดตัวเว็บไซต์สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย https://www.thaifilmdirectors.com ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้า

ภายในงานได้รับเกียรติจาก นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ, ดร.ลาลีวรรณ กาญจนจารี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม, นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, คุณยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, คุณอนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย, คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายธนกร ปุลิเวคินทร์ สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ, คุณชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์, คุณสุวรรณี ชินเชี่ยวชาญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เข้าร่วมงานและมอบรางวัลให้แก่ผู้ที่ได้รับรางวัลต่าง ๆ

ในการนี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้เป็นผู้มอบรางวัลดารานำชายยอดเยี่ยม ซึ่งผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ได้แก่ อวัช รัตนปิณฑะ จากภาพยนตร์เรื่อง ดอยบอย และ
รางวัลรองชนะเลิศ นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ได้แก่ สมพล รุ่งพาณิชย์ จากภาพยนตร์เรื่อง 4 Kings 2

สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เพจ Facebook : สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย

“ทำอย่างไร ?  การสื่อสารออนไลน์จึงมีบทบาทในการขับเคลื่อนทางสังคม”

จากผลศึกษาการสื่อสารทางออนไลน์ของสังคมไทยตลอดปี 2566 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
จัดกิจกรรมเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา เพื่อระดมบทวิเคราะห์และข้อเสนอจากผู้คร่ำหวอดในงานการวิเคราะห์ข้อมูล ผู้บริหารแพลตฟอร์มยอดนิยม สื่อออนไลน์ที่เป็นที่รู้จัก นักขับเคลื่อนวาระทางสังคม และนักวิชาการจากโครงการ Thai Media Lab “ทำอย่างไร ? การสื่อสารออนไลน์จึงมีบทบาทในการขับเคลื่อนทางสังคม”

ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวเปิดงานสัมมนา พร้อมนำเสนอว่า“การสัมมนาวันนี้เป็นงานต่อเนื่องจากการศึกษาการสื่อสารทางออนไลน์ของสังคมไทยตลอดปี 2566 โดย Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ Wisesight โดยใช้เครื่องมือ ZocialEye สำรวจประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในระหว่างเดือนมกราคม – ธันวาคม 2566 บน 5 แพลตฟอร์มออนไลน์ ได้แก่ Facebook, X, Instagram, YouTube และ TikTok เพื่อวิเคราะห์ลักษณะการสื่อสาร และความสนใจใน Social ซึ่งจะเห็นได้ว่าการสื่อสารออนไลน์ในปัจจุบัน มีผู้ส่งสารเป็นจำนวนมาก ซึ่งด้วยผู้บริโภคข่าวสารมีโอกาสที่จะเป็นผู้ผลิตสื่อ หรือ ผู้ส่งสารเองได้ เช่นเดียวกันกับสื่อมวลชน Influencer องค์กรภาครัฐ และเอกชน ซึ่งงานการศึกษานี้ทำให้เห็นจุดเปลี่ยนของทิศทางการสื่อสารบนโลกออนไลน์ในประเทศไทย ที่ปัจจุบันคนไทยบริโภคสื่อออนไลน์วันละหลายชั่วโมง ที่มากกว่าสื่อโทรทัศน์ โดยกลุ่มผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียทั่วไปเป็นผู้สร้างปฏิสัมพันธ์ หรือ Engagement สูงสุด จึงน่าจะมีบทบาทที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการเมือง สื่อ
สิ่งบันเทิง กีฬา เทศกาล และอื่นๆ

ในวันนี้วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้าน ข้อมูล แพลตฟอร์ม องค์กรสื่อ นักวิชาการ จะร่วมกันพูดคุยพร้อมวิเคราะห์ วิจารณ์ ทิศทางต่าง ๆ ของการสื่อสารบนโลกออนไลน์ เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนสื่อและสังคม อันเป็นเจตนารมณ์ของ Media Alert ซึ่งมุ่งสะท้อนปรากฎการณ์ในสังคม ผ่านการศึกษาวิจัยด้านการสื่อสาร โดยเฉพาะประเด็นในวันนี้ที่เป็นการชี้ชวนให้เห็นว่าการสื่อสารออนไลน์จะมีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคมอย่างไร รวมถึงทำอย่างไรให้พื้นที่ออนไลน์เป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่เด็ก เยาวชน และกลุ่มผู้ด้อยโอกาสได้รับผลประโยชน์จากการสื่อสาร”

สำหรับผลการศึกษาเรื่อง “การสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยในปี 66” โดย Media Alert และ Wisesight พบว่า 10 ประเด็นการสื่อสารที่มียอด Engagement สูงสุดในโลกออนไลน์ในปี 66 เป็นประเด็นทางการเมืองมากถึง 9 ใน 10 อันดับ ในขณะที่ผลการการสำรวจประเด็นที่โลกออนไลน์มีการสื่อสารสร้าง Engagement สูงสุด 10 อันดับแรกในแต่ละเดือน จากเดือนมกราคม – ธันวาคม รวมทั้งหมด 120 ประเด็น  พบว่า เป็นเนื้อหาการเมือง 58.02% สื่อ สิ่งบันเทิง 28.68% เทศกาล 4.59% อาชญากรรม 4.03% กีฬา 1.57% เทคโนโลยี 1.07% การขับเคลื่อนทางสังคม 0.82% สัตว์ 0.57% สิ่งแวดล้อม 0.35% ศาสนา ความเชื่อ 0.16% คมนาคม 0.06% การศึกษา 0.04% และ แฟชั่น 0.04%

เมื่อพิจารณาแพลตฟอร์มพบว่า TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถสร้าง Engagement ได้มากที่สุด (50%) ตามด้วย Facebook (23%), X หรือ Twitter (13%), Instagram (11%) และ YouTube (3%) ในด้านผู้สื่อสาร พบว่า กลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป คือกลุ่มที่มีสัดส่วนในการสร้าง Engagement มากที่สุดถึง 50% หรือครึ่งหนึ่งของการสื่อสารที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ทั้งหมด  รองลงมาได้แก่ สื่อ สำนักข่าว (25%) ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (23%) ภาคการเมือง แบรนด์ และภาครัฐ (2%) ตามลำดับ

กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า “ผลการศึกษานี้ไม่ได้สะท้อนเรื่องที่เราไม่เคยรู้มาก่อน แต่เป็นการสรุปปรากฎการณ์ต่างๆทางสังคมในปีที่ผ่านมา ที่พบว่า คนส่วนใหญ่สนใจและสื่อสารเรื่องการเมืองมากที่สุด เพราะในปี 2566 เป็นปีที่มีการเลือกตั้ง จึงไม่ใช่สภาวะปกติ เช่นเดียวกันกับงานการศึกษาของต่างประเทศในปีที่มีการเลือกตั้ง ก็จะเห็นข้อมูลและปรากฎการณ์คล้ายๆ กันกับผลการศึกษาชิ้นนี้ ที่ชี้ให้เห็นว่าจากเดิมคนมักคิดว่าคนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมือง แต่งานครั้งนี้ทำให้เห็นว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น แม้ความสนใจร่วมดังกล่าวจะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ส่วนเรื่องบันเทิงก็มักเป็นเรื่องที่คนทั่วไปสนใจสื่อสาร เช่นเดียวกับในต่างประเทศ โดยหนึ่งในวิธีการศึกษาและทำความเข้าใจสังคม ก็คือการทำความเข้าใจการสื่อสารผ่าน Social Media ซึ่งหากมีการตีพิมพ์งานวิจัยชิ้นนี้เป็นภาษาอังกฤษ ก็จะเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่สามารถนำไปต่อยอด เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่อยากทำความเข้าใจปรากฎการณ์ทางสังคมของไทย

ปัจจุบันโครงสร้างของสื่อเปลี่ยนไป มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ที่หลากหลาย ทั้งภาครัฐ แพลตฟอร์มที่มีความเป็นสากลมากขึ้น สื่อมวลชนที่จากเดิมต้องเป็นองค์กรขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบันใครก็เป็นสื่อได้ รวมถึงผู้ใช้งานทั่วไปที่แบ่งได้เป็นหลายกลุ่ม มีทั้งกลุ่มคนดูคนฟังที่เปิดรับข้อมูลเพียงอย่างเดียว (Passive) กลุ่มแฟนคลับที่มีความตื่นตัวในการสื่อสาร (Active) การวัดผลการทำงานของสื่อจึงไม่ใช่การสร้างการรับรู้เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการวัดด้วยยอดปฏิสัมพันธ์ (Engagement) เช่น การกดถูกใจ (Like) การแสดงความเห็น (Comment) การส่งต่อข้อมูล (Share) อีกทั้งยังสามารถสร้างผลกระทบ (Impact) จากข้อมูลดังกล่าวได้ด้วย เช่น พฤติกรรมการซื้อของลูกค้า การรวมตัวกันของประชาชน หรือความร่วมมือของประชาชนในประเด็นต่างๆ เป็นต้น โดยข้อมูลจาก Social Media สามารถนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการอธิบายว่าสังคมกำลังขับเคลื่อนไปในทิศทางใด

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย)  กล่าวต่อไปว่า “ส่วนตัวมองว่า Stakeholder ต่างๆ ที่กล่าวไป ล้วนจุดหมายเดียวกัน คืออยากให้สังคมดีขึ้น ด้วยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership หรือ PPP) เพราะรัฐเพียงฝ่ายเดียวไม่สามารถผลักดันสังคมได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากเอกชนในการสร้างสังคมที่ดีขึ้น สร้างเศรษฐกิจที่ดีขึ้น สร้างเสถียรภาพ และสร้างสันติสุข ประเทศไหนที่มี PPP มากก็จะมีแนวโน้มในการขับเคลื่อนสังคมได้สูง คนทั่วไปก็มีแนวโน้มที่จะให้ความร่วมมือ ซึ่งหากเราร่วมมือกันได้ทุกภาคส่วน มีการกำหนดเป้าหมายร่วมกันได้ ก็น่าจะเป็นกลไกขับเคลื่อนสังคมไทยที่ทรงพลังอย่างมากในอนาคต  

 ชนิดา คล้ายพันธ์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ TikTok ประเทศไทย  ให้ข้อมูลว่า “TikTok ของเราเป็นสื่อสร้างความบันเทิง เป็นแพลตฟอร์มที่มีเนื้อหานำ โดยเนื้อหาถูกสร้างขึ้นจากผู้ใช้งาน (User-Genarated Contents) เป็นเนื้อหาที่มีขนาดสั้น เป้าหมายของแพลตฟอร์มคือการสร้างแรงบันดาลใจความคิดสร้างสรรค์ และ ความบันเทิง และยิ่งไปกว่านั้นเราอยากให้แพลตฟอร์มของเราเป็นแพลตฟอร์มความบันเทิงที่ปลอดภัยและมีความน่าเชื่อถือของสังคม โดยตัวแพลตฟอร์มมีเนื้อหา (Content) เป็นศูนย์กลาง ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยเนื้อหา (Content) รายล้อมด้วยตัวผู้ใช้ (User) ตัวนักคิด (Creator) และ แบรนด์ ซึ่งผลการศึกษานี้ทำให้เราเห็นผลสะท้อนของแพลตฟอร์มเรามากขึ้น ทำให้สามารถนำไปปรับปรุงตัวเองได้มากยิ่งขึ้น Tiktok ไม่ใช่เป็นแพลตฟอร์มแบบข่าวด่วน แต่จะเป็นแพลตฟอร์มที่มีความต่อเนื่องของความสนใจในชีวิตประจำวันของผู้ใช้งาน ซึ่งทำให้เห็นว่าถ้ามีเหตุการณ์ที่สำคัญในชีวิต มันก็จะสะท้อนออกมาจากการโพสต์ การรับชมต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของ Media Alert และ Wisesight ที่พบว่า “การเมือง” เป็นเนื้อหาที่สร้าง Engagement สูงสุด ซึ่งแพลตฟอร์มได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงมีนโยบายไม่อนุญาตให้มีการโฆษณาทางการเมืองฉะนั้นสิ่งที่ทุกท่านเห็นนั้นเป็นเนื้อหาที่ได้มาโดยธรรมชาติจากผู้ใช้งาน (Organic) ยิ่งไปกว่านั้น การศึกษาในครั้งนี้ยังพบการสื่อสารใน เนื้อหาด้านเทศกาล การแยะขยะ ที่เป็นเนื้อหาเชิงสังคม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ Tiktok ในการพัฒนาสังคมไทยใน 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และ การศึกษา

 ในมุมของแพลตฟอร์ม เราก็อยากให้เกิดการใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนสังคม ทั้งตัวแพลตฟอร์มเองก็ต้องสร้างฟีเจอร์ที่ดี ที่ปลอดภัย รวมไปถึงความรับผิดชอบของผู้ใช้งานด้วย ที่จะทำให้การสื่อสารในสังคมเป็นไปเชิงบวกไม่ทำร้ายกัน และ ในขณะเดียวกันก็เป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานกำกับดูแลที่จะทำให้การสื่อสารออนไลน์มีความปลอดภัย มีความสมดุลกับเสรีภาพในการแสดงออกเป็นการสื่อสารเป็นไปในเชิงบวก และสร้างอิมแพคที่ดีให้กับสังคม

 สำหรับการสนับสนุนให้สังคมออนไลน์มีบทบาทในการขับเคลื่อนทางสังคมนั้น หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ TikTok ประเทศไทย  มองว่า “จำเป็นต้องมีความร่วมมือกันจากภาครัฐ เอกชน ผู้รับชมหรือผู้ใช้สื่อ (Audience) หน่วยงานที่ไม่แสวงหาผลกำไร (NGO)  ซึ่งต้องมีการวางแผนร่วมกันที่ชัดเจนตั้งแต่ต้น มีการตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าผลที่เราต้องการคืออะไร ก็จะทำให้พลังในการขับเคลื่อนทางสังคมมีความเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายปลายทางที่เราตั้งใจไว้ได้

อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา บรรณาธิการบริหารไทยรัฐออนไลน์ กล่าวว่า ในฐานะของคนที่ทำงานสื่อ พบว่าเราจะต้องอยู่กับสื่อออนไลน์แทบจะตลอดเวลา และแก่นสำคัญของการทำงานคือ การวัดผลด้วยยอด Engagement แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องตระหนักว่า มีหลายเรื่องที่ยอด Engagement เพียงอย่างเดียวไม่สามารถบอกอะไรได้ทั้งหมด ตรงนี้อยากเสริมในผลการศึกษาว่า Engagement อาจเป็นตัวชี้วัดนำทางที่ทำให้รู้ว่า คนทีเรากำลังสื่อสารด้วยกำลังสนใจและติดตามอะไร แต่ในทางกลับกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าเรื่องไหนที่ไม่มียอด Engagement หรือมีตัวเลขที่ไม่สูงจะไม่มีความหมาย จะเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในความสนใจ

 เนื้อหาที่มียอด Engagement สูง ได้รับความนิยม ได้รับความสนใจ ซึ่งสื่อมักเรียกกันว่าเป็นเนื้อหาที่ทำงานได้ คือเนื้อหาที่คนรับสารมีทัศนคติ (Attitude) ร่วมกับสิ่งนั้น ตัวอย่างเช่นเรื่องการเมืองในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องที่คนมีทัศนคติร่วมและมีความขัดแย้งอยู่ในนั้น จึงอาจทำให้มียอด Engagement สูง เป็นต้น ไม่ได้หมายถึงแค่การเมือง อีกเรื่องคือ เนื้อหาที่สื่อสารออกไปแล้วเกิดเป็น Viral Content ยิ่งมีคนดูจำนวนมาก ก็ยิ่งมีกำลังใจจึงเป็นเป้าหมายของการทำงานสื่อ  ซึ่งถือเป็นความเติบโตด้วยวิธีคิดแบบ Influencer  ฉะนั้น การทำรายงานเชิงสืบสวน การทำเนื้อหาเชิงลึกอย่างเดียว จึงไม่เพียงพอ แต่สื่อในปัจจุบันจำเป็นต้องคิดถึงวิธีการเล่าเรื่องแบบ Influencer ซึ่งทำให้คนเล่าเรื่องมีความสำคัญ อีกทั้งยังต้องปรับตัวตามโครงสร้างการเล่าเรื่องที่แต่ละแพลตฟอร์มให้ความสำคัญหรือเน้นวิธีการเล่าเรื่องที่แตกต่างกัน

แต่ก็จะมีเนื้อหาอีกจำนวนนึงหนึ่งที่คนให้ความสนใจ แต่แค่ดูเฉยๆ ไม่ได้มีส่วนร่วมกับเนื้อหานั้น อาจเพราะไม่ต้องการให้รู้ว่าชอบหรือสนใจในอะไร หากสื่อจับแต่ประเด็นที่มียอด Engagement มาก ก็จะตกอยู่ในระบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก เป็นภาพลวงตา ทำให้เนื้อหาที่มีคนสนใจและเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่มียอด Engagement หรือมียอดรองลงมา หายไปจากพื้นที่การสื่อสาร ซึ่งเป็นสิ่งที่สื่อต้องคำนึงถึง และมองให้ลึกไปกว่ายอดภูเขาน้ำแข็ง  ขณะที่สื่อต้องปรับตัวในการทำงานที่ต้องคำนึงถึงทั้งเรื่องรายได้ ความนิยม แต่ก็ไม่ควรละทิ้งประเด็นที่มีความสำคัญและจำเป็น ต้องใช้เวลาและการลงทุนในการเล่าเรื่อง

สำหรับการใช้โลกออนไลน์ให้มีบทบาทในการขับเคลื่อนทางสังคม บรรณาธิการบริหารไทยรัฐออนไลน์ มองว่า  “เราต้องเริ่มจากการตั้งเป้าหมาย การเข้าใจตัวเองว่ากำลังทำอะไร เพื่ออะไร เข้าใจกลุ่มผู้รับสาร เข้าใจธรรมชาติของแพลตฟอร์มที่มีความโดดเด่นที่แตกต่างกัน มีฟังก์ชันที่เหมาะกับการเล่าเรื่องเพื่อขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ที่ต่างกัน จึงควรเริ่มจากจุดนี้     

 สุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion ให้ความเห็นว่า งานนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและสามารถนำไปต่อยอดได้อีก โดยเฉพาะการติดตามข้อมูลอย่างมีหลักฐาน มีข้อมูลยืนยันจริง (Evidence-based Monitoring)  ที่กองทุนสื่อฯ สามารถพิจารณาลงทุนเพิ่มขึ้น ในการติดตามผลลัพธ์ หรือการติดตามสถานการณ์ เพื่อที่จะทำให้การลงทุนในเรื่องนี้มีประสิทธิภาพกับสังคมกับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงประเด็นข่าวลวง ที่ทวีความรุนแรงจาก เทคโนโลยี AI ที่ซับซ้อน สามารถสร้างข่าวหรือเนื้อหาที่ไม่จริง และแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็วและติดตามได้ยาก ซึ่งในยุโรปกำลังร่างกฎหมาย เพื่อผลักดันการติดตามตรวจสอบ (Monitoring) กันเองของเครือข่ายแพลตฟอร์ม ซึ่งเอาข้อมูลจริงมาเทียบว่า แพลตฟอร์มใดที่มีการใช้งานเพื่อเผยแพร่ข่าวลวง ข่าวบิดเบือนได้มากที่สุด รวมถึงการติดตามพฤติกรรมการสื่อสารที่มีความเสี่ยงสูง มีการกระจายที่ไม่เหมาะสม หรือ มีความเสี่ยงต่อสังคม เช่น ข่าวสารที่มีความรุนแรง ที่ทำให้เกิดการเลียนแบบ เรื่องทางเพศ การล่อลวงเด็กและเยาวชน เป็นต้น กลไกการติดตาม (Monitor) เหล่านี้สามารถทำได้จริง หากมีความร่วมมือทางวิชาการที่แข็งแรง มีการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง และรายงานกลับไปที่สื่อ สำนักข่าว แพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อจัดการข้อมูลที่มีความเสี่ยงนั้น ได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับบทบาทของในการขับเคลื่อนสังคมผ่านการสื่อสารออนไลน์นั้น ผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion มองว่า “จำเป็นต้องมีการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน รวมถึงการกำหนดว่าเป้าหมายดังกล่าวจะต้องมีวิธีการทำงานร่วมกัน หรือมีการวัดผลที่ชัดเจนได้อย่างไร โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจและใช้เวลากับปัญหาสังคม หรือประเด็นที่เราต้องการขับเคลื่อน ยกตัวอย่างเข่น การทำงานของสื่อที่มักถูกแทรกแซงด้วยระบบสปอนเซอร์ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่สื่อจะไม่สามารถนำเสนอข้อเท็จจริงได้อย่างรอบด้าน เช่น ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่มีความซับซ้อน จึงควรมีการสร้างโอกาสให้สื่อต่างๆ สามารถทำงานได้อย่างอิสระ ซึ่งกองทุนฯ สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์อภิสิทธิ์ ศุภกิจเจริญ  รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง และนักวิชาการกลุ่ม Thai Media Lab  ขยายความเพิ่มเติมจากผลการศึกษาในครั้งนี้ว่า ผมลองนำข้อมูลผลการศึกษามาจัดกลุ่ม ซึ่งพบว่า TikTok มี ยอด Engagement  สูงสุด ใน 6 กลุ่มเนื้อหา ได้แก่ เทคโนโลยี การเมือง เทศกาล สิ่งแวดล้อม อาชญากรรม และ สื่อ/สื่อบันเทิง, Facebook มีกลุ่มเนื้อหาที่มี ยอด Engagement สูงสุดใน 6 กลุ่มเนื้อหา ได้แก่ แฟชั่น สัตว์เลี้ยง/สัตว์ทั่วไป คมนาคม การศึกษา ศาสนา/ความเชื่อ กีฬา, Instagram มีกลุ่มเนื้อหาที่มียอด Engagement สูงสุด 1 กลุ่ม ได้แก่ การขับเคลื่อนสังคม และ YouTube เป็นแพลตฟอร์มที่มี ยอด Engagement ต่ำที่สุดในเกือบทุกกลุ่มเนื้อหา แต่หากเทียบกับจำนวนผู้ใช้งาน (Active User) จะพบว่าแพลตฟอร์มยูทูปมีจำนวน Active User สูงมาก แต่ถ้าใช้เฉพาะยอด Engagement ไปจับ และเปรียบเทียบกับแพลตฟอร์มอื่น ตัวเลขยูทูปออกมาในหลักหน่วย จึงอาจเป็นประเด็นที่สามารถต่อยอดหรือตั้งคำถามได้ว่า ยูทูปมีจำนวนคนดูมาก แต่เหตุใดจึงมียอด Engagement น้อย  อย่างไรก็ตาม การไม่มียอด Engagement ไม่ได้แปลว่าไม่มีคุณค่า เพราะมีหลายเรื่องที่ Engagement เพียงอย่างเดียวไม่สามารถบอกอะไรได้   

สำหรับข้อมูลเรื่องยอด Engagement ของกลุ่มผู้ใช้งาน เมื่อลองจัดกลุ่มใหม่ พบว่า ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถสร้างยอด Engagement  สูงสุดใน 6 กลุ่มเนื้อหา ได้แก่  สื่อ/สื่อบันเทิง เทศกาล เทคโนโลยี การขับเคลื่อนทางสังคม การเมือง กีฬา, ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ สามารถสร้างยอด Engagement สูงสุดใน 2 กลุ่มเนื้อหา ได้แก่  การศึกษา สิ่งแวดล้อม และ สื่อ/สำนักข่าว สามารถสร้างยอด Engagement สูงสุดใน 5 กลุ่มเนื้อหา ได้แก่ คมนาคม ศาสนา/ความเชื่อ อาชญากรรม แฟชั่น สัตว์เลี้ยง/สัตว์ทั่วไป สิ่งที่พบสามารถสะท้อนให้เห็นความแตกต่างในความสนใจสื่อสารของแต่ละกลุ่ม ซึ่งหากสื่ออยากทำเนื้อหาที่มีคนเข้ามามีส่วนร่วมมากๆ ก็ควรทำในเรื่องหรือประเด็นที่ผู้ใช้งานทั่วไป หรืออินฟลูเอนเซอร์สนใจ

ข้อมูลข้างต้น สะท้อนว่า ผู้ใช้งานทั่วไปมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน (Engagement) กับความสนใจเฉพาะ (Personalized หรือ Niche) ซึ่งอาจมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ช่วงเวลา กระแส และความสนใจพื้นฐาน รวมถึงเรื่องบางเรื่องที่อาจสนใจ แต่ไม่อยากให้สาธารณะหรือคนทั่วไปรับรู้ ซึ่งหากต้องการให้คนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ต้องพิจารณาเรื่องการสร้าง Entry Point หรือการเปิดประตูความสนใจของคนแต่ละกลุ่มให้ได้ เพื่อนำไปสู่ประเด็นที่สังคมต้องการขับเคลื่อนร่วมกัน และต้องเปลี่ยนความคิดว่า คนต้องการข้อมูลประเด็นทางสังคมที่สอดคล้องกับความสนใจ เพราะการใช้แพลตฟอร์ม สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมได้ สื่อจึงสามารถเข้ามาช่วยสนับสนุน เพื่อให้ประเด็นเหล่านั้นมีการขับเคลื่อนมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนการขับเคลื่อนทางสังคม รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง และนักวิชาการกลุ่ม Thai Media Lab   มองว่า “หากเรื่องใดที่สังคมมีความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน การขับเคลื่อนสามารถเกิดขึ้นได้ไม่ยาก แต่หากเรื่องใดที่มีความซับซ้อนมาก หรือเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง อาจจำเป็นต้องใช้เวลา และอาศัยพลังจากทุกภาคส่วน (Node) ของสังคมในการร่วมมือกันขับเคลื่อน

ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวสรุปและปิดท้ายงานสัมมนาในครั้งนี้ว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เล็งเห็นถึงความสำคัญในการหาทางออก หาแนวทางเพื่อทำให้ประเด็นในการขับเคลื่อนสังคมเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เราเห็นความสำคัญของสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ การสื่อสารออนไลน์สามารถที่จะขับเคลื่อน สะท้อนนโยบายต่าง ๆ สามารถผลักดันการแก้ไขประเด็นต่าง ๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็น ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ด้านมลภาวะ สุขภาพ ความเสี่ยงบนโลกออนไลน์  ทั้งนี้ ทีมงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ Media Alert จะรับข้อเสนอและโจทย์ในวันนี้ ไปผลักดันให้เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับต่าง ๆ เพื่อกระตุ้น และสนับสนุนให้เกิดเนื้อหาสื่อ ทั้งการสื่อสารที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยอาศัยชุดข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องจากหน่วยงานผ่านความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ ต่อไป  

สำหรับงานสัมมนาประจำปี Media Alert “ทำอย่างไร? การสื่อสารออนไลน์จึงมีบทบาทในการขับเคลื่อนทางสังคม” จัดขึ้นเพื่อรับฟังความเห็น ข้อเสนอแนะจากวิทยากรทุกท่านต่อผลการศึกษาการสื่อสารทางออนไลน์ของสังคมไทยตลอดปี 2566 โดย Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) ซึ่งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะนำข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่าง ๆ ในวันนี้ ไปใช้
ในการกำหนดยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างนิเวศสื่อที่ปลอดภัย
และสร้างสรรค์ และเพื่อให้การสื่อสารออนไลน์ มีบทบาทสำคัญในการสร้างพลเมืองเพื่อร่วมขับเคลื่อนทางสังคม